Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Widgetsoid - Notification Bar Widget

$
0
0

ก่อนหน้านี้ใช้รอม MIUI มาพักใหญ่ ฟีเจอร์ที่ติดใจมากคือปุ่ม toggle อยู่บน notification เลย ทำให้ไม่ต้องกดกลับ homescreen เพื่อกดเปลี่ยนค่าบน Power Control Widget อีกทีหนึ่ง (ช่วยได้มากเวลาอยู่บน Google Maps เพราะออกจากแอพแล้วมันจะเสีย GPS position)

(เข้าใจว่าฟีเจอร์นี้บน CM ก็มีนะครับ แต่เผอิญผมไม่ค่อยชอบ CM เพราะมันรก)

แต่ล่าสุดเปลี่ยนมาใช้ Stock ICS มันไม่มีฟีเจอร์นี้มาให้ ทำให้หงุดหงิดเหมือนกันเพราะไม่สะดวกเวลาเปลี่ยนค่าต่างๆ

ช่วงหยุดปีใหม่พอมีเวลา เมื่อวานเลยนั่งหาแอพที่มาใช้แทนฟีเจอร์นี้ของ MIUI

Requirement ของผมมี 2 อย่าง

  1. ต้องเป็น notification bar widget ส่วนจะมีบน homescreen widget หรือเปล่าอันนี้ไม่ซีเรียส
  2. ต้องมี data toggle ด้วย (ซึ่งแอพหลายตัวไม่มีเพราะตัวระบบไม่อนุญาตให้เข้าถึงค่านี้)

ลองเล่นอยู่หลายตัว สุดท้ายมาลงตัวที่ Widgetsoid2.x ซึ่งแจกฟรีซะด้วย Widgetsoid

Widgetsoid2.x เป็นแอพรวม widget โดยเน้นที่ homescreen เป็นหลัก แต่เราสามารถสั่งให้แสดงบน notification bar ได้ด้วย

ความสามารถมีค่อนข้างเยอะ มี toggle ให้เลือกใช้มาก ที่เจ๋งคือสามารถตั้งค่าของ toggle หลายๆ ตัวได้ละเอียด เช่น เลือกตั้งค่าของ brightness toggle ว่าจะให้มีกี่ state (ตามระดับความสว่าง) ส่วนอันที่ชอบที่สุดคือ data toggle จะเปิด-ปิดที่ตัวระบบปฏิบัติการเลย ไม่ใช่การเปลี่ยนค่า APN ที่บางครั้งจะเจ๊งๆ จนเน็ตไม่ติด (ต้อง root นะครับ)

ข้อเสียคือหน้าจอตั้งค่ามันยุ่งยากซับซ้อนไปหน่อย (แถมภาษาที่ใช้จะงงๆ เข้าใจยาก อารมณ์คล้ายๆ ADW) ต้องลองกดเล่นสักระยะแล้วถึงจะเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไรครับ


Top Moments of 2011

$
0
0

ปีที่แล้วไม่ได้ทำ resolution เลยประเมินความสำเร็จลำบาก (จริงๆ ก็ไม่ได้ทำมาหลายปี) เขียนเรื่องราวที่ประทับใจ/เกินคาด/ไม่ได้คาดฝันว่าจะได้ทำไว้เป็นที่ระลึกแล้วกัน

ไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา เอาเท่าที่นึกออก (อาจมีตกหล่น)

  • ซื้อมือถือให้พ่อครับ ถึงแม้มันจะเป็นแค่ C2-01 แต่บ้านผมไม่ค่อยนิยมซื้อของให้กันเท่าไร ก็ถือเป็นเรื่องน่าจดจำ (นอกจากนี้ยังซื้อพัดลมให้แม่ 1 ตัว แต่แม่มาบ่นว่าเสียงดังมาก เปิดแล้วนอนไม่ได้ ฮา)
  • ได้อ่าน เพชรพระอุมา สักที จากที่ตั้งใจมาหลายปีมาก
  • ทำ Kindle พัง ตกใจจริงๆ นะ และภายหลังก็ดีใจที่บล็อกอันนี้ช่วยเหลือคนอื่นได้เยอะ
  • ได้ไปเป็น คนดังนั่งเทียน คนดังนั่งเขียน ในไทยรัฐ กลับสู่ชีวิตการเขียนคอลัมน์รายสัปดาห์อีกครั้ง (โคตรเหนื่อยเลย) ทุกวันนี้ยังเขินๆ เวลาเจอหน้าตัวเองใน นสพ. อยู่
  • ได้ไปออก Thai PBS ในฐานะ "ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ" แบบงงโคตร ไม่รู้เหมือนกันว่ามาถึงเราได้ไง
  • ผ่านประสบการณ์เว็บเจอ super spike load ขั้นสูงสุด ไม่รู้ชาตินี้จะได้เจออีกไหม
  • จัดงานสัมมนาประมาณ 10 กว่างานใน 2 ควอเตอร์ ชนิดว่าเห็นตารางงานแล้วตะลึงว่าทำได้ไง (แต่มันก็ผ่านมาได้น่ะนะ) งานที่น่าประทับใจคือ งานสัมมนาอินเตอร์ ที่มีอดีตเลขาธิการอาเซียนมาพูดให้ (และจากการประสานงานที่ผิดพลาด ทำให้เราไปรับเขาที่สนามบินไม่ทัน T_T ถึงจะไม่มีปัญหาอะไรเพราะเขามีคนมารับอยู่แล้ว แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญโคตรๆ)
  • เพิ่มสกิลขับรถทางไกลหลายสิบเลเวล เหตุเพราะน้ำท่วมทำให้สถานการณ์บังคับอย่างยิ่ง จากขับได้แค่ 2-3 ชม. ต่อวัน ตอนนี้ 6-7 ชม. สบายๆ
  • ได้ไปงานเลี้ยงวันชาติของสถานทูต เกิดมาเพิ่งเคยไป นักการเมืองเดินกันว่อน ทูตเดินชนกันตาย
  • ลงบทความใน "อ่าน" ไม่รู้จะได้ทำอีกไหม
  • นั่งรถจาก กทม. ไปเชียงราย และนั่งกลับในอีกไม่กี่วันถัดมา เป็นครั้งแรกที่เคยนั่งรถระยะไกลขึ้นภาคเหนือแบบจริงๆ จังๆ ขนาดนั่งอย่างเดียวไม่ได้ขับยังเหนื่อยมาก (คนขับขั้นเทพ ขับคนเดียวตลอดทริป!)
  • ไปเที่ยวครบ 5 ภาคครั้งแรกในปีเดียว ได้แก่ เชียงใหม่-เชียงราย, หาดใหญ่-สงขลา, กาญจนบุรี, ขอนแก่น-หนองคาย, ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา
  • ลอยอังคารในแม่น้ำโขง
  • ลงบทความภาษาอังกฤษใน New Mandala ประมาณสามครั้ง
  • คนใกล้ชิดมีหลาน (เพิ่งเคยมีครั้งแรก) และเพื่อนสนิทแต่งงาน (งานแต่งเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกของรุ่น)
  • ได้สัมภาษณ์ยอดคนมากมาย ขอสัญญาว่าเราจะเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปต่อยอดและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
  • ขับรถขึ้นดอยอินทนนท์ครั้งแรก แถมดันขับในวันหมอกหนาจัดๆ รอดมาได้ก็เก่งมากแล้ว
  • ไปเที่ยวมาเลเซียแบบ extensive และจำใจปฏิเสธทริปอินโดนีเซีย 2 ครั้งติดในเดือนเดียวด้วยเหตุผลว่าคิวชน ทำให้ยังไม่เคยไปอินโดต่อไป
  • โดนขโมยขึ้นออฟฟิศ ค่าเสียหายคือกล้อง 2 ตัว ฮาร์ดดิสก์ 1 ตัว ทำให้ต้องติดเหล็กดัดจนได้
  • พยายามจะเรียนปริญญาเอก ซึ่งก็ไม่สำเร็จตั้งแต่ก้าวแรก

Resolution 2012

$
0
0

เขียนเตือนใจไว้สักนิดละกันนะ เอาเรื่องสำคัญๆ พอ

  • จัดการกับการ multi-tasking งานให้ได้ ต้อง scale out ไม่ใช่ scale up
  • ดันโครงการใหญ่ๆ และโครงการไม่ใหญ่ให้เกิด
  • ลดความอ้วน ออกกำลังกาย
  • จัด environment สำหรับอ่านหนังสือ non-fiction ให้มีสมาธิอย่างต่อเนื่อง
  • เล่น social network ให้น้อยลง เสียเวลาทำการทำงาน
  • หัดถ่ายรูปแบบโปร (เคยพยายามอยู่พักนึง ตอนนี้โหมด P ตลอดเวลาแทน -_-'')

ก้ามทอง อ.ปักธงชัย

$
0
0

ร้านในตำนานอีกร้านครับ ร้านนี้ผมกินมาตั้งแต่เด็กๆ อร่อยเด้งมาก คนต่างถิ่นจะไม่รู้จักเพราะมันจะลึกลับซับซ้อนนิดนึงครับ แต่ถ้าใครผ่านไป อ.ปักธงชัย ก็ควรค่าแก่การแวะไปชิมนะ

ร้านจะอยู่ทางไปเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ถ้ามาจาก กทม. ทางถนน 304 ก็เลี้ยวซ้ายที่แยกไปเขื่อนลำพระเพลิง เข้าไปนิดนึงร้านจะอยู่ซ้ายมือ (พิกัด Foursquare) ที่จอดรถมีด้านในร้าน

แต่เดิมร้านจะเป็นเพิงมุงจากตั้งอยู่ริมท้องนา บรรยากาศรื่นรมย์ อากาศโปร่งสบาย ไปรอบล่าสุดมีเรือนปูนมาตั้งแทนหนึ่งฝั่ง และที่ข้างๆ ไม่ใช่ท้องนาอีกแล้ว

อาหารเด่นของร้านนี้คือ "กุ้ง" ตามชื่อร้านครับ (มันก็ชวนคิดเป็น "ปู" ได้อยู่เหมือนกันนะ) แต่ก็มีอย่างอื่นให้เลือกสั่งอีกเยอะใช้ได้

เมนู ก้ามทอง

อย่างแรก "กุ้งคลุกฝุ่น" หรือกุ้งชุบเกล็ดขนมปังทอด เมนูเบสิคสำหรับเด็กๆ แต่ร้านนี้ทำอร่อย กุ้งคุณภาพดี ตัวใหญ่ อัดแน่น ทอดกรอบ จิ้มกับน้ำจิ้มบ๊วยหรือจะกินเปล่าๆ ก็ได้

กุ้งคลุกฝุ่น

กุ้งคลุกฝุ่น

กุ้งผัดน้ำพริกเผา สั่งมากินกับข้าว ตัวน้ำผัดอร่อยแต่ใช้ระบบกุ้งทอดแทนกุ้งสด แล้วกุ้งดันทอดแข็งมากจนทำให้อาหารไม่อร่อย

กุ้งผัดน้ำพริกเผา

แกงเลียงกุ้ง จานนี้ก็อร่อยครับ ให้ผักเยอะ และน้ำซุปเข้มข้น เผ็ดร้อน ตอนน้ำเหลือคอดหม้อแล้ว เห็นเนื้อกุ้งปริมาณมหาศาล

แกงเลียง

กุ้งเต้น อาหารมาตรฐานของร้านขายกุ้งลักษณะนี้ ดูสีน่ากลัวแต่ก็ไม่เผ็ดมาก

กุ้งเต้น

ข้าวผัดกุ้ง ร้านนี้มีชื่อเสียงมาก ผัดอร่อย ใช้สูตรผัดแห้งๆ และกุ้งทอดก่อนเอามาผัด เสียแต่ว่ารอบล่าสุดที่ไปกินนี้รออาหารจานนี้นานมาก (ไม่รู้เป็นเพราะอะไร เพราะจานอื่นก็ได้เร็ว) เลยหมดอารมณ์ตอนรอไปพอสมควร

ข้าวผัดกุ้ง

Keyword:

IKEA in Thailand

$
0
0

เคยไป IKEA มาครั้งหนึ่งแล้วตอนอยู่อังกฤษ ดังนั้นเลยไม่ค่อยตื่นเต้นกับ IKEA ในเมืองไทยเท่าไรนัก (เพราะเหมือนกันแทบทุกประการ) แต่ไหนๆ มีโอกาสก็ขอไปเดินเล่นสักหน่อยครับ

Remark เท่าที่นึกออก

  • IKEA ที่เมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าที่เรียกว่า Mega Bangna ซึ่งจะมีอย่างอื่นด้วย (เข้าใจว่าคล้ายๆ outlet) แต่ตอนนี้มีแต่ IKEA ที่ทำเสร็จ
  • เปิด 10 โมงเช้า ถ้าอยากคนน้อยก็ควรไปเช้าๆ
  • เฟอร์นิเจอร์บางอย่างก็ถูก บางอย่างก็แพง
  • ถึงจะไปเมื่อคนซาๆ แล้ว แต่คนยังเยอะอยู่ เด็กวิ่งกันเจี๊ยวจ๊าว ชนกันกระจาย ยังมีสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเมืองไทย) ไม่ใช่ร้านขายของเท่าที่ควร
  • ร้านอาหารคนเยอะมาก แถมไม่มีตัวเลือกอื่น ดังนั้นถ้าอยากสัมผัสมีทบอลก็ต้องไปกินให้ไว หรือไม่งั้นก็กินให้เสร็จมาเรียบร้อยก่อนเดิน หรือกินข้างนอกครับ
  • ตอนผมเดินอยู่เมืองนอกก็เฉยๆ แต่พอมาเดินรอบนี้ในไทยรู้สึกว่ามันฝรั่งจ๋ามาก ทั้งการตกแต่ง ข้อความ วิธีการนำเสนอ รูปแบบการซื้อสินค้า ดูแล้วคิดว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับจริตคนไทยเท่าไรนัก IKEA อาจจะเจาะตลาดเฟอร์นิเจอร์เมืองไทยได้น้อยกว่าที่ควร
  • คุยกับคนรู้จักหลายคนที่ซื้อของ IKEA ได้รับเสียงก่นด่าเรื่องการส่งของอย่างหนักหน่วง (ถึงจะเป็นบริษัทเอาท์ซอร์ส แต่ก็เป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม IKEA ต้องลงโฆษณาขอโทษลูกค้าในหนังสือพิมพ์

วันต่อมาไปเดิน Index ก็พบกับบรรยากาศที่หาไม่ได้ใน IKEA แน่ๆ นั่นคือ "ชายชุดดำ" ยกของมาส่งให้ถึงรถ พร้อมแพ็ก-ห่อ-ต่อมาให้สำเร็จเรียบร้อย คอนทราสต์มาก!

Keyword:

[Howto] Upgrading HTC Desire to Android 2.3 Gingerbread

$
0
0

น้องชายใช้ HTC Desire เดินมาบ่นว่าหน่วยความจำ internal storage อันน้อยนิดไม่พอสำหรับการลงแอพ ทำไงดี

คำตอบของผมคือลองลงรอมตัวอื่นที่ไม่ใช่ SenseUI อาจได้เนื้อที่เพิ่มขึ้น

Desire สามารถปลดล็อคได้ ด้วยวิธีอย่างเป็นทางการ (ข่าวสดๆ) แต่ลองเช็คข้อมูลแล้วพบว่ามันจะต้องอัพเป็นเฟิร์มแวร์รุ่นล่าสุดก่อน ซึ่งเฟิร์มแวร์ตัวนี้จะไม่ปล่อยผ่าน OTA ต้องลงด้วยมือเท่านั้น (ข่าวเก่าเรื่องนี้)

ดังนั้นบล็อกนี้จะเป็นครึ่งแรกของเรื่อง นั่นคืออัพเกรดเฟิร์มแวร์ของ Desire ซึ่งปัจจุบันหยุดอยู่ที่ 2.2 ให้มาใช้เฟิร์มแวร์ 2.3 รุ่นสำหรับนักพัฒนาของ HTC ครับ

ขั้นตอนก็ไม่ได้ยากอะไร แค่เตรียมสาย USB ไว้ให้พร้อม และต้องทำบนวินโดวส์เท่านั้น (เพราะตัวอัพเดตเป็น .exe) ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะทำตาม แต่แบตของ Desire เหลือน้อยก็เอาไปชาร์จรอเลยครับ

HTC Sync

1) ถ้ายังไม่ได้ลง HTC Sync ก็ต้องลงก่อนเพื่อให้วินโดวส์รู้จักมือถือของเราอย่างถ่องแท้ (เพราะไดรเวอร์อยู่ในนั้น) โหลดได้จาก HTC Help

HTC Sync

มันจะบังคับให้เราลง Adobe AIR ด้วย ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน แต่ก็ยอมๆ เขาไปเถอะนะ

ลงเสร็จแล้วจะมีไอคอนของ HTC Sync โผล่ขึ้นมาที่ tray เป็นรูปตัวกากบาทสีแดง ให้เราเอามือถือต่อสาย Micro USB เลือกโหมดบนมือถือเป็น HTC Sync รอโหลดไดรเวอร์สักพัก โปรแกรม HTC แสดงรูปภาพเป็น Desire ก็ใช้ได้แล้วครับ

HTC Dev

2) ขั้นถัดมาเข้าไปที่ Kernel Source Code บนเว็บ HTC Dev เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ HTC Desire Android 2.3 Upgrade ขนาด 161MB ตอนที่เขียนบล็อกอันนี้แสดงเป็นลิงก์อันบนสุด

3) เราจะได้ไฟล์ .rar มาอันนึงชื่อ HTC_Desire_Android_2.3_Upgrade.rar แตกไฟล์แล้วจะพบกับไฟล์ย่อยอีก 4 ไฟล์ครับ

ไฟล์ที่เราจะใช้จริงๆ คือ HTC Desire Android 2.3 Upgrade.zip (พี่จะ zip ซ้อนกันมาใน rar ทำไม!) ส่วนไฟล์ที่เหลือเป็นแอพและวอลล์เปเปอร์ที่ถูกตัดออกมาจากรอมเพื่อประหยัดเนื้อที่ เผื่อมาให้สำหรับคนที่อยากลง (ซึ่งเราก็ไม่อยาก)

4) แตก zip ไฟล์ข้างต้น จะได้ไฟล์ .exe ชื่อ RUU_HTC Desire Android 2.3 Upgrade (Gingerbread).exe ซึ่งคราวนี้เป็นตัวจริงเสียที

5) เรียกไฟล์อัพเกรดให้ทำงาน มันจะถามนู่นถามนี่ ให้เรายืนยันเรื่องข้อมูลหายและการรับประกันเล็กน้อย ก็ตอบโอเคไปตามเรื่อง

6) ตัวอัพเกรดจะไม่ทำงานถ้าแบตน้อยกว่า 30% ดังนั้นชาร์จเอาไว้ให้พอ (ของผมแบตเหลือเยอะไม่มีปัญหา แต่เข้าใจว่าถ้าแบตน้อยกว่า 30% ต่อให้ชาร์จไปด้วยมันก็ไม่ยอมนะ)

7) ยืนยันการอัพเกรดเฟิร์มแวร์ ข้ามทีเดียวหลายเวอร์ชัน (ของอิมเมจ)

8) ที่เหลือก็รอครับ ประมาณ 5 นาที Desire ก็จะบูตตัวเองขึ้นมาใหม่พร้อมกับ Android 2.3 Gingerbread (พร้อม HTC Sense)

โอกาสต่อไปจะมาดูวิธีปลดล็อคเครื่องกันต่อ

วัดเล่งเน่ยยี่ 2

$
0
0

ไปโดยบังเอิญไม่ได้เตรียมตัว เลยไม่มีกล้องติดไปด้วย ภาพทั้งหมดถ่ายด้วย Nexus S ครับ แสงจะโอเวอร์นิดนึง

เพิ่งเคยมาครั้งแรก (จากที่เคยเห็นภาพมาก่อนแล้ว) โดยรวมๆ ถือว่าอลังการงานสร้างมาก น้องๆ วังจักรพรรดิเลยทีเดียว

ตึกหลักอย่างกับวัง มีบันไดมังกรด้วย

วัดเล่งเน่ยยี่ 2 เป็นวัดที่ texture สวยมาก เลยเน้นถ่าย texture เสียเยอะครับ (เสียดายน่าจะมีกล้องดีกว่านี้ติดไปด้วยนะ)

สามพระพุทธ

เทพเจ้าสิงโต

เซ็ตหลังคา

เซ็ตเหลี่ยมหลังคา

หมื่นพุทธะ จำลองแดนสุขาวดี

พานอรามา

พานอรามาครับ ถ่ายด้วยฟีเจอร์ใหม่ของ ICS (ถือกล้องแนวตั้ง มันต่อพานอรามาได้ด้วยนะ!) แล้วแต่งเพิ่มอีกนิดใน Picnik

หลวงจีน

หน้าตายังกะตัวละครในการ์ตูนดิสนีย์

Android Gallery with No Album Art

$
0
0

เจอปัญหาว่า Android Gallery จะนำภาพที่เป็น album art จากโฟลเดอร์เพลงที่ใส่ไว้ใน SD เข้ามาแสดงด้วย ซึ่งภาพพวกนี้เราไม่ต้องการให้แสดงแน่ๆ อยู่แล้ว และมันเสียเวลาโหลด (เข้าใจไหมกูเกิล!)

ทางแก้มีสองวิธี

  1. สร้างไฟล์เปล่าชื่อ .nomedia ใส่ไว้ในโฟลเดอร์ จะเป็นการบอกระบบของ Android ว่าไม่ต้องเอาข้อมูลพวกนี้ไปแสดงในฐานะ "สื่อมีเดีย" ปัญหาคือไฟล์เพลงก็จะถูก exclude ไปด้วย (ซึ่งเราไม่ต้องการ)
  2. เปลี่ยนชื่อภาพเป็น albumart.jpg ระบบจะเข้าใจเองว่าเป็นภาพอัลบั้ม และไม่แสดงภาพใน Gallery (ถ้าทำตามแล้ว อาจต้อง refresh Gallery ใหม่)

อ้างอิงจาก Android Support Forum (1), Android Support Forum (2)

ส่วนเรื่องการนำภาพจาก Picasaweb มาแสดงนั้น ใน Android รุ่นก่อนๆ เราสามารถปิดซิงก์ Picasa ได้ แต่พอเป็น ICS มันจะทำให้ฟีเจอร์ Instant Upload ของ Google+ ใช้งานไม่ได้ไปด้วย (ซึ่งสำคัญมากสำหรับผม) ทางแก้เท่าที่หาดูคือ "ไม่มี" ยกเว้นจะใช้ Gallery ตัวอื่นแทนครับ


When Twitter is Not Interesting Anymore

$
0
0

รู้สึกว่า Twitter ไม่น่าสนใจมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่หาคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ว่าทำไม วันนี้เจอคุณ @warong ได้สนทนากันในเรื่องนี้ ก็ตกผลึกเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ

สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ความคิด final ของผม แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ค่อนข้างตกผลึกพอสมควร 1) รูปแบบการ conversation ของ Twitter เองมีปัญหาในตัวมันเองอยู่แล้ว

ธรรมชาติของทวิตเตอร์มี content type เพียงชนิดเดียวคือ tweet (ซึ่งจำกัดความยาว 140 ตัวอักษร) ด้วย constrain เหล่านี้ทำให้

  • เราไม่สามารถแยกตัวข้อความต้นเรื่อง (ภาษา Drupal คือ node หรือถ้าเป็นภาษา WordPress ก็คือ Post) ออกจากคอมเมนต์ได้ (พอแยกได้บ้าง ถ้าคิดเงื่อนไขว่าคอมเมนต์ต้องขึ้นด้วย @mention)
  • การสนทนาจะเป็นแบบ 1-1 แต่หลายๆ อัน เช่น ผมโพสต์รูปภาพลงในทวีต มีคนตอบมา 2 คนคือคุณ A และคุณ B ซึ่งถ้าสองคนนี้ไม่ได้ฟอลโลว์กันจะไม่เห็นข้อความคอมเมนต์ของอีกฝ่ายที่คุยกับผมอยู่ ทำให้โอกาสที่คนจะเข้ามาร่วมวงสนทนา (conversation) ต่ำลง
  • หรือต่อให้คนคอมเมนต์ฟอลโลว์ซึ่งกันและกัน กระบวนการตาม (track) การสนทนาก็ทำได้ลำบาก นั่นคือต้องเมนชั่นทุกคนที่เข้ามาคุย ซึ่งจะเจอกับข้อจำกัด 140 ตัวอักษรทำให้พื้นที่การพูดคุยในหนึ่งทวีตลดลงไปอีก (มีบริการพวก Storify พอช่วยได้บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด และก็ไม่ใช่กระแสหลัก)

เทียบกับคู่แข่งอย่าง FB/Google+ สามารถแยกแยะตัวเนื้อหา (post) และคอมเมนต์ออกจากกันได้ และคอมเมนต์ต่อกันได้หลายๆ คน ทำให้เราสามารถสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่า (หรือเสริมคุณค่าของเนื้อหาหลัก) ได้จากคอมเมนต์ด้วย

2) คุณภาพตัวเนื้อหาใน message มีข้อจำกัดมาก

ในข้อความทวีตหนึ่งๆ มีข้อจำกัดคือ 140 ตัวอักษร ในแง่ดีมันก็ช่วยให้ข้อความสั้นกระชับ ส่งต่อง่าย อ่านสะดวก แต่ในแง่เสียมันก็ทำให้คุณภาพของการสนทนาหรือตั้งประเด็นลดลง เราไม่สามารถใช้การสนทนายาวๆ ได้ (พิมพ์ต่อกันหลายๆ ทวีตได้แต่ก็ไม่สะดวกในการติดตาม ตามข้อ (1)) การสนทนาเชิงลึกถึงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ Twitter ยังรองรับชนิดของข้อมูล (data type) แค่ไม่กี่แบบคือ

  • ข้อความ
  • URL (พูดภาษาเครือข่ายก็บอกว่า payload)
  • พิกัด (ซึ่งก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี)

ซึ่ง Twitter ก็จะ recognize payload เฉพาะบางอันเท่านั้น เช่น ภาพจาก TwitPic หรือ Instagram จะแสดงพรีวิวให้ ในขณะที่ภาพจาก PicPlz หรือ Molome ก็ฝันไปเถอะ ส่วนลิงก์ก็ไม่แสดงพรีวิวเลย

นโยบายนี้ของ Twitter ทำให้คุณภาพของเนื้อหา (content quality) มีความน่าสนใจลดลง เทียบกับคู่แข่งอย่าง FB/Google+ ที่พรีวิวเนื้อหาให้ด้วย (หลังๆ FB พรีวิวเก่งโคตร) ตัวเนื้อหาจึงมีความ rich มากกว่า เช่น พูดถึงวิดีโอ โพสต์วิดีโอ คนอ่านก็กดดูวิดีโอได้จากตรงนั้นเลย (กรณีของ G+)

ต่างจาก Twitter ที่เราต้องคลิกไปอีกหลายครั้ง (อย่างน้อยหนึ่งครั้ง) เพื่ออ่านเนื้อหาในโพสต์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี (และการคลิกบนอุปกรณ์พกพาที่มีความเร็วต่ำๆ เช่น EDGE โดยไม่รู้ว่าปลายทางคืออะไร ก็ไม่สนุกนะครับ)

3) ตัวสังคมของ Twitter เอง

ประเด็นนี้เป็นข้อสังเกตจาก @warong ครับ ข้อสรุปที่ผมเห็นร่วมกับคุณ @warong คือคนที่อยู่ในสังคมไทยที่ควรจะเล่น Twitter ก็เข้ามาใช้ Twitter จนหมดแล้ว ทำให้ "อัตราความน่าสนใจ" ค่อนข้างคงตัว และโอกาสที่เราจะเจอคนใหม่ๆ ที่น่าสนใจใน Twitter ต่ำลงมาก

แน่นอนว่าคุณภาพของสังคมขึ้นกับคนที่เราฟอลโลว์ด้วย แต่เท่าที่แยกแยะได้ ประเภทของการสนทนาที่พบได้บ่อยสำหรับคนไทยใน Twitter ได้แก่

  • เซเล็บคุยกับเซเล็บ ส่วนมากก็คุยกันเองในช่องทางอื่นๆ อยู่แล้ว
  • เซเล็บคุยกับแฟนคลับ อันนี้ก็ไม่ค่อยมีอะไร ตอบคำถามทั่วไป อวยพรวันเกิด ฯลฯ
  • คนทั่วไป (คนที่เราฟอลโลว์) คุยกับคนทั่วไป (ซึ่งอาจไม่จำเป็นคนที่เราฟอลโลว์) ซึ่งเรื่องก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ
  • การสื่อสารแบบแจ้งข่าว เช่น เลื่อนนัดนะ ส่งเมลให้แล้วนะ อันนี้คงไม่เกี่ยวกับคนนอกวงเท่าไร

ในกรณีที่เราเป็นเซเล็บก็คงไม่มีปัญหาอันใด

ในกรณีที่เราไม่ได้เป็นเซเล็บ โอกาสที่เซเล็บจะคุยกับเราแบบยาวๆ คงมีน้อย (เพราะเขาไม่รู้จะคุยไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร) คงเป็นการตอบเป็นครั้งคราวมากกว่า

ส่วนการคุยกับคนธรรมดาด้วย การพูดคุยที่ "ถูกคอถูกใจ" ก็น่าจะพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์แบบยาวๆ ในช่องทางอื่นๆ (เพราะ Twitter มีข้อทางเทคนิคจำกัดตามข้อ (1) และ (2)) เช่น การเป็นเพื่อนกันใน Facebook, Google+, Google Talk หรือการเจอหน้าทำกิจกรรมกันแทน

สรุป

เมื่อเทียบกันแล้ว Facebook มีประเภทใช้งานค่อนข้างชัดคือเป็นการคุยระหว่างคนรู้จัก สนิทสนมกันอยู่แล้ว (ส่วนใครที่รับแอดดะ นั่นเป็นอีกปัญหาหนึ่งของตัวผู้ใช้เอง ไม่ใช่ของระบบ) ส่วน Google+ ก็มีปัญหาของมันเองที่ต่างออกไป (ซึ่งคงจะไม่เขียนถึงในบล็อกอันนี้)

ส่วน Twitter ก็มีประโยชน์นะครับ ไม่ใช่ไม่มี แต่มันเหมาะเป็นการสื่อสารแบบแจ้งข่าวสั้นๆ เหตุการณ์ด่วน (แล้วกระจายผ่าน RT) มากกว่าจะเป็นการสนทนาที่น่าสนใจ ระหว่างคนที่มีความคล้ายกันในระยะยาว ซึ่งระบบการแชร์ของ Facebook ก็เริ่มเข้ามาตี Twitter ในมิติด้านนี้บ้างแล้ว (ถึงจะยังไม่ได้ตีหนักหน่วงมากนัก)

ผมคิดว่าโอกาสที่จะได้คุยกับคนที่ผมสนใจ (ซึ่งแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน) ผ่านช่องทาง Twitter น่าจะเหลือน้อยมาก คนที่เราสนใจก็ได้คุยเกือบหมดแล้ว และพัฒนาความสัมพันธ์กันผ่านช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ไปเยอะแล้ว ทำให้ความอยากจะเข้ามายัง Twitter เพื่อพูดคุยสนทนาหายไปเยอะ แต่ก็ยังต้องเข้ามาอยู่บ้างด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น มีคนยังติดต่อเราผ่านช่องทางนี้อยู่ หรือติดตามข่าวสารแบบสั้นๆ รวดเร็ว (ซึ่งเป็นสิ่งที่ Twitter ยังทำได้ดีอยู่)

คำถามคือจะไปใช้อันไหนแทน ผมพยายามจัดสัมพันธ์ของตัวเองกับ social network ต่างๆ ก็ได้ข้อสรุปดังนี้

  • คุยกับคนที่เราสนิท รู้จัก ไว้ใจ = Facebook
  • คุยตอนอยู่นอกสถานที่ เน้นถ่ายภาพ สนทนาสั้นๆ (ด้วยข้อจำกัดเรื่องการป้อนข้อมูล) = Twitter
  • คุยตอนอยู่ในสถานที่ บ้าน ออฟฟิศ สำหรับคนที่ไม่สนิท = Google+ (ด้วยเหตุผลเรื่องการโพสต์ลิงก์ที่ดีกว่าตามข้อ (2) และความเปิดกว้างของมันตามระบบ Circle)

Smart (Phone) Camera

$
0
0

กำลังสนใจเรื่อง "ความเปลี่ยนไป" ของกล้องถ่ายรูป

ถ้าเอากล้องถ่ายรูปสมัยใหม่ที่ถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล มาเป็นจุดเริ่มต้นของการนับเส้นเวลาแล้ว

เราจะแบ่งพัฒนาการของกล้องออกมาได้เป็น 2 สายใหญ่ๆ คือ

  1. กล้องดิจิทัล (digital camera) ซึ่งจะแยกย่อยเป็น point & shoot, DSLR, micro 4/3, mirrorless อีกทึหนึ่ง
  2. กล้องมือถือ (cameraphone) ซึ่งภายหลังก็กลายเป็นกล้องที่อยู่ในสมาร์ทโฟน (smartphone camera) พัฒนาการของกล้องกลุ่ม (1) ส่วนมากเป็นพัฒนาการในเชิง mechanism ของการถ่ายภาพ เช่น เลนส์ดีขึ้น เซ็นเซอร์รับภาพใหญ่ขึ้น เมกะพิกเซลเยอะขึ้น ซอฟต์แวร์ประมวลผลฉลาดขึ้น ฯลฯ รวมๆ แล้วมันคือพัฒนาการในเชิงประสิทธิภาพ (performance) มากกว่าจะเป็นพัฒนาการด้านขีดความสามารถ (capability)

ส่วนพัฒนาการของกล้องในกลุ่ม (2) น่าสนใจกว่าตรงว่าเป็นผู้นำในด้านขีดความสามารถ เพราะกล้องมือถือได้พาโลกแห่งการถ่ายภาพเดินเข้าไปยังแอเรียใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครเข้าไปได้ เช่น

  • โลกแห่งพิกัดเชิงกายภาพ : ระบบ geolocation ของมือถือไม่ว่าจะผ่านเครือข่ายหรือใช้ GPS ทำให้ภาพถ่ายเชื่อมกับโลกความเป็นจริงผ่าน geolocation metadata ได้
  • โลกแห่งการเผยแพร่: การที่มันเป็น connected device ทำให้เราสามารถถ่ายภาพปุ๊บแล้วเผยแพร่ได้จากตัวกล้องโดยตรง ยิ่งพอมี data network ที่สปีดพอใช้ และพื้นที่ครอบคลุมมากๆ ทำให้การเผยแพร่ภาพ ณ บัดนั้น (real-time publishing) กลายมาเป็นความจริงได้ ไม่เชื่อก็ต้องดู Instagram

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพนั้นก็เดินตามหลังกล้องกลุ่ม (1) มาเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำอยู่แล้ว ที่สำคัญด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบ mass production (เช่น ชิปเซ็นเซอร์กล้องสำเร็จรูป) ก็ช่วยให้การเดินตามกลุ่ม (1) ง่ายและถูกขึ้นมาก

ความน่าสนใจในตอนนี้ก็คือ พัฒนาการของกล้องกลุ่ม (2) กำลังจะถูกกล้องกลุ่ม (1) นำไปใช้ ดังจะเห็นได้จากงาน CES ปีนี้ เราจะเห็นกล้องดิจิทัลระดับคอนซูเมอร์ที่มี Wi-Fi มากขึ้นเยอะ (คือมันก็มีมานานแล้วแต่เพิ่งจุดติดจริงๆ จังๆ) ซึ่งคำถามก็คือสุดท้ายแล้ว กล้องทั้งสองแบบจะรวมร่างกันกลายเป็นหนึ่งหรือเปล่า?

Nationalism, Reinterpreted

$
0
0

ภารตวิทยา

หนังสือที่อ่านอยู่ตอนนี้คือ "ภารตวิทยา" ของกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ซึ่งอธิบายพื้นฐานของ "วัฒนธรรมอินเดีย" หลายเรื่องอย่างละเอียด

ประเด็นที่น่าสนใจมีก็มาก แต่ประเด็นที่ผมติดใจ (แต่ผู้เขียนไม่ได้เน้นไว้สักเท่าไร) คือกระบวนการนิยามความเป็นชาติ (defining the nation) ของอินเดียยุคอาณานิคม

ต้องย้อนความก่อนว่า "อินเดีย" เป็นชาติที่มีรากมาจากศาสนาพราหมณ์และพุทธ (ซึ่งถือเป็นสกูลใกล้เคียงกัน) แต่ภายหลังถูกปกครองโดยมุสลิมมายาวนาน และตามด้วยการปกครองของอังกฤษอีกเป็นร้อยปี ก่อนจะมีขบวนการฟื้นฟูความเป็น "อินเดีย" ในยุคสมัยของ Indian National Congress

จุดที่น่าสนใจคือกระบวนการนิยามความเป็นอินเดียขึ้นมาในสมัยใหม่ เราจะเห็นคนอย่างเนห์รู เขียนหนังสือ The Discovery of India ตั้งคำถามและพยายามอธิบายว่าตกลงแล้ว "อินเดีย" คืออะไรกันแน่ หรือ งานเขียนของรพินทรนาถ ที่นำข้อความบางช่วงในคัมภีร์พระเวทมาตีความใหม่เป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ เป็นต้น

คุณ @warong อธิบายว่าปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชาติอาณานิคมหลายแห่ง ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการ "หลักทางความคิด" เพื่อรองรับการเรียกร้องเอกราช ซึ่งจะต้องเดินตั้งแต่รากเหง้าทางความคิดของคนที่จะเรียกร้องเอกราชว่า "ฉันก็มีดีนะ" และ "ฉันสู้ฝรั่งได้" ดังนั้นกระบวนการนี้จะต้องกลับไปยัง "รากเหง้า" ของวัฒนธรรมเดิมอีกครั้ง (ซึ่งฝังอยู่ใน ways of life ของคนในชาติอยู่แล้ว) แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ตรงๆ ได้เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป จึงต้อง "ตีความใหม่" (reinterpret) ให้เข้ากับยุคสมัย และตอบโจทย์ทางการเมืองด้วย

ของเมืองไทยที่คล้ายที่สุดคงเป็นงานของหลวงวิจิตรวาทการ ที่นิยาม "รัฐไทยสมัยใหม่" ผ่านเพลง ละคร นิยาย ฯลฯ

เรื่องนี้ยังเป็นแค่ข้อสังเกตของผมที่ต้องพัฒนาต่อไป คือต้องไปดูประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของชาติอื่นๆ นอกจากนี้ด้วย

Drupal with Open Graph Meta Tags

$
0
0

ความเดิมจากตอนก่อน How to Create Google+ Snippet

ทุกวันนี้การแชร์โพสต์ลงใน social network กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว เว็บไซต์ที่เดิมที่ต้อง optimized for search engine ก็ต้องปรับตัวให้เพิ่มการ optimized for social network ด้วย ซึ่งจุดนี้ CMS เองยังก้าวตามไม่ทัน และต้องลงปลั๊กอินช่วยอยู่บ้าง

จุดสำคัญของการ optimized for social network (ในที่นี้คือ Facebook/Google+) คือต้องแสดง "ภาพ" เป็นตัวอย่างว่าลิงก์ปลายทางจะมีอะไรบ้าง เพื่อเรียกลูกค้าให้เข้าไปชมดู (แน่นอนอยู่แล้วว่า "มีภาพ" มันชวนกดกว่า "ไม่มีภาพ") ปัญหาก็คือหลายครั้งหลายตอน (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ด้วย) ผมเขียนบล็อกที่ไม่มีภาพประกอบ เหตุผลก็เพราะง่าย และเนื้อหาของบล็อกนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบอยู่แล้ว แต่มันก็เป็นอุปสรรคต่อการแชร์เนื้อหาลงใน Facebook/Google+ ทำให้ไม่ชวนกดเข้ามาอ่านอยู่บ้าง

ทางแก้ก็คือเซ็ต default image thumbnail สำหรับการแชร์ลงใน social network โดยเฉพาะขึ้นมา ภาพนี้จะไม่แสดงในหน้าเว็บ แต่จะปรากฏอยู่ในแท็ก og:image ใน head ของเว็บ ซึ่งเป็นแท็กที่ Facebook จะมองหาเมื่อมีการแชร์โพสต์ในระบบ (รายละเอียดดูใน Open Graph Protocol)

ส่วนวิธีการก็ไม่ยากสำหรับคนใช้ Drupal เพราะมีคนทำโมดูล Open Graph meta tags ไว้ให้แล้ว ติดตั้งเสร็จก็ใช้งานได้ทันที

วิธีการตั้งค่าอยู่ใน Configuration โดยเลือกชนิดของเนื้อหาที่ต้องการใส่ Open Graph meta tags, ตั้งชื่อเว็บ, เลือกชนิดของข้อมูล (กรณีของเราเลือกเป็น blog แต่ถ้ามีข้อมูลชนิดอื่นก็เลือกให้เหมาะสม) ส่วนรูปภาพก็อัพโหลดขึ้นไปแล้วใส่ URL ในช่อง fallback image

Drupal Open Graph Meta Tags

ลองทดสอบดู ผลก็คือรูปขึ้นตามที่คาด ทั้งบน Facebook และ Google+

Facebook Snippet

Google+

วิธีการหารูปของทั้ง Facebook/Google+ คือมันจะ crawl เพื่อดูว่าในบล็อกแต่ละอันของเรามี "ภาพขนาดใหญ่" ที่น่าจะเป็นภาพประกอบเนื้อหาหรือไม่ ถ้ามีก็ใช้ภาพนั้นเป็น thumbnail ใน snippet แต่ถ้าไม่มีก็จะเรียกภาพจาก og:image ซึ่งเป็นภาพที่เราตั้งค่าไว้นั่นเอง

หมายเหตุ: โมดูลตัวนี้ยังอนุญาตให้เรา override ค่ามาตรฐานที่เซ็ตไว้ในหน้า Configuations โดยจะเพิ่มตัวเลือกหมวด Open Graph meta tags ให้ใส่ข้อมูลลงไปเองตอน Create/Edit Post ครับ

เมื่อกรุงเทพธุรกิจ ลอกงานข้าพเจ้า

$
0
0

อัพเดต ดูอัพเดตบทความด้านล่างสุด

เปิดเว็บ กสทช. หาข้อมูล แล้วไปเปิดหน้า newsclipping (ตัดข่าวที่ลงตามสื่อต่างๆ) ก็เจอกับสิ่งที่น่าสนใจครับ

เป็นข่าวเกี่ยวกับ dtac ของ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ BizWeek ลงวันที่ 16 มกราคม 2555 (เนื้อหาบนเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, ฉบับ newsclipping ของ กสทช., ฉบับ archive บน Scribd)

อ่านแล้วก็พบว่ามันคุ้นๆ

ลองเทียบกับบทความ วิกฤตศรัทธา dtac – เมื่อลูกค้าเริ่มไม่ feel good อีกต่อไป ที่ผมเขียนลงใน SiamIntelligence.com เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 ดูครับ

จุดที่ 1

ฉบับ Bangkok Bizweek

เมื่อคนไม่ Feel good เกิดสัญญาณ(อันตราย)ว่า dtac จะเสียแชมป์เบอร์ 2 ให้กับ true สถานะของ dtac ตอนนี้จึงถูกบีบอัดทั้งจากพี่ใหญ่AISและน้องเล็ก

เมื่อความรู้สึกดีๆ ที่ลูกค้าส่วนหนึ่งหรือแทบจะเป็นส่วนใหญ่เคยมอบให้กับดีแทค (บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด) แบบ Feel good ดูเหมือนจะไม่ได้ Feel good อีกต่อไป หลังจากที่ค่ายมือถือแห่งนี้เกิดปัญหาสัญญาณล่มถึง 3 ครั้งซ้อน

ฉบับ SIU

จุดที่ 2

ฉบับ Bangkok Bizweek

เกิดเป็น “วิกฤติศรัทธา” ของลูกค้าที่มีต่อดีแทค ที่มี TELENOR ASIA PTE LTD (เทเลนอร์) บริษัทสัญชาตินอร์เวย์ ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 42.61%

ฉบับ SIU

จุดที่ 3

ฉบับ Bangkok Bizweek

แม้จะยอมรับกันได้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะเกิดปัญหานี้ขึ้นเมื่อไร พื้นที่ใด ก็ได้ แต่กรณีของดีแทคแตกต่างและส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เพราะเป็นสัญญาณล่ม "ซ้ำซาก" แถมขยายวงกว้าง ทำลูกค้าหัวเสียกันทั่วบ้านทั่วเมือง จนเกิดคำถามถึงความเป็น “มืออาชีพ” ในการบริหารจัดการปัญหา และมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ ปล่อยให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งแรก มีอีกครั้ง และมีอีกครั้ง !!!

ฉบับ SIU

แน่นอนว่าปัญหาแบบที่เกิดขึ้นกับเครือข่าย dtac ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิด ถึงแม้ว่าปัญหาเครือข่ายล่มบางจุดจะเป็นเรื่องปกติของวงการโทรคมนาคม แต่การล่มเป็นวงกว้างแบบของ dtac ย่อมถือว่าไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ

จุดที่ 4

ฉบับ Bangkok Bizweek

จากนั้นได้รีแบรนด์ตัวเองใหม่ด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก TAC มาเป็น dtac ในปี 2544 พร้อมกับความพยายามการหาตัวตนทางการตลาดที่ชัดเจน ด้วยหลากกลยุทธ์ จนพบ อาทิ การพลิกกลยุทธ์บัตรเติมเงินดีพรอมพ์ (Dprompt) มาเป็น Happy ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูเด็กลง สดใส เป็นมิตรกับลูกค้า ก่อนจะงัดไม้เด็ดโดนๆ กับแคมเปญ “ใจดี” ออกมาจนติดอกติดใจของลูกค้า

ฉบับ SIU

สุดท้าย dtac สามารถหาจุดยืนที่เหมาะสมของตัวเองจนเจอ และสุดท้ายกลายเป็นจุดแข็งขององค์กรในเวลาต่อมา

เดิมที dtac (ในช่วงที่รีแบรนด์จาก TAC เป็น DTAC ใหม่ๆ) ยังหาจุดยืนทางการตลาดที่เหมาะกับตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อระดมสมองจนสามารถพลิกแบรนด์เติมเงิน Dprompt มาเป็น Happyที่เน้นความสดใส เข้าถึงง่าย ใจดี ก็จับกระแสตลาดติด (รายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ Happy คนพลิกแบรนด์ แบรนด์พลิกคน ของธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหารของ dtac) และได้รับเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น

dtac ยิงกลยุทธ “ใจดี” โดยลงลึกถึงขนาดตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ตระกูล “ใจดี” ออกมามากมาย เช่น ใจดีแบ่งให้ ใจดีให้ยืม ฯลฯ และตัวผลิตภัณฑ์เองก็มีความสดใหม่ เช่น ให้ยืมเงินกรณีที่เงินหมด หรือ สามารถแบ่งเงินหรือวันให้เพื่อนหรือคนรู้จักได้ ถือเป็นการเซ็ตเทร็นด์ของตลาดที่คู่แข่งต้องเล่นเกมตามอยู่พักใหญ่

จุดที่ 5

ฉบับ Bangkok Bizweek

หันมามองทรู ผู้เล่นอันดับที่ 3 ในเวลานี้ เข้ามาทำตลาดโทรคมฯ ในช่วงแรกเน้นไปที่ตลาดวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ตามมาด้วยการเน้นภาพลักษณ์ผู้นำมัลติมีเดีย คอนเทนท์ และการผสานกับบริการอื่นๆ (คอนเวอร์เจนท์) ในเครือทรู

ระยะหลังๆ ทรูยังให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำ “High Technology” เห็นได้จากการขาย iPhone เป็นรายแรกในไทย ผลักดันการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือ รวมทั้งการสร้างจุดขายในเรื่องเครือข่ายที่ทันสมัย คือ ทรูมูฟ เอช ที่มาจากการซื้อกิจการฮัทช์ ก็ช่วยสร้างภาพความเป็นผู้นำด้าน 3G ได้พอสมควร

ปี 2555 ทรูยังคงสานต่อยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ พร้อมพัฒนานวัตกรรมบริการหลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกไลฟ์สไตล์ เร่งขยายบริการทรูมูฟ เอช บนเครือข่าย 3G+ เต็มรูปแบบ ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากยิ่งขึ้น รองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งขยายบริการทรูมูฟ เอช แบบเติมเงิน เน้นโปรโมชั่นให้ความคุ้มค่าสูงสุด ตอบสนองทุกรูปแบบการใช้งานของลูกค้า

ฉบับ SIU

ในขณะที่ TRUE ในฐานะผู้เล่นอันดับสามของตลาด บุกเข้ามายังตลาดด้วยภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ กล้าคิดกล้าทำ ใช้สีสันสดใส (ตามแบรนด์ Orange ในขณะนั้น) ภายหลังเมื่อรีแบรนด์พร้อมกับกลุ่ม TRUE ก็ขยับมาเน้นภาพลักษณ์ด้านมัลติมีเดีย ด้านคอนเทนต์ และการผสานกับบริการอื่นๆ ในเครือ TRUE เข้าด้วยกัน (โดยเฉพาะ TRUE Visions) นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีหลัง TRUE ยังพยายามสร้างภาพลักษณ์ “ไฮเทค” ขึ้นมาอีกทางหนึ่ง เริ่มจากการขาย iPhone เป็นรายแรกในไทย ผลักดันการพัฒนาแอพบนมือถือ และความพยายามล่าสุดกับเครือข่ายทันสมัย TRUEMOVE H ที่มาจากการซื้อกิจการ Hutch ก็ช่วยสร้างภาพความเป็นผู้นำด้าน 3G ได้พอสมควร

จุดที่ 6

ฉบับ Bangkok Bizweek

เพราะดีแทคในฐานะผู้เล่นอันดับ 2 ในตลาด มีสภาพไม่แตกต่างจาก "แซนด์วิช" ที่อยู่ตรงกลาง ที่ถูกบีบทั้งจากข้างบน คือ AIS ที่เป็นผู้นำตลาด เพราะไม่สามารถแข่งขันในเรื่องพื้นที่บริการได้ดีเท่า ส่วนข้างล่างทรูก็เล่นสงครามราคาและชูความเป็น High Technology อย่างต่อเนื่อง

ฉบับ SIU

ส่วน dtac ในฐานะผู้เล่นอันดับสอง ก็ถูกบีบจากทั้งด้านบนด้านล่าง เพราะไม่สามารถแข่งขันเรื่องพื้นที่บริการและความเป็นพรีเมียมกับ AIS ได้ ในขณะเดียวกันก็โดน TRUE ตีในสงครามราคา

จุดที่ 7

ฉบับ Bangkok Bizweek

ฉบับ SIU

อัพเดต 16/Jan 22:55

ผมใช้ช่องทางส่วนตัวฝากเรื่องไปยัง บ.ก.ของ BizWeek ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าจะสอบสวนเรื่องนี้โดยด่วนครับ ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องที่ช่วยเหลือ และ บ.ก.ของ BizWeek ที่ตอบมาอย่างรวดเร็วด้วยครับ

PandoDaily

$
0
0

บล็อกตอนนี้ต่อจาก The Future of Tech Blogging

ข่าวใหญ่วันนี้ของวงการ tech journalism ของฝรั่งก็คือการเปิดตัว PandoDaily เว็บใหม่ของ Sarah Lacy หญิงเปรี้ยวของวงการไอที

ความน่าสนใจของ PandoDaily คือมันเป็น "ผู้สืบทอดทางจิตวิญญาณ" ของ TechCrunch หลังมีปัญหากับ AOL (อ่านข่าวหมวด TechCrunch ใน Blognone กันเอง) พูดง่ายๆ คือ PandoDaily จะรวมทีมที่แตกออกมาจาก TechCrunch ส่วนหนึ่ง โดยมี Sarah Lacy เป็นผู้นำ และทำข่าวเรื่อง startup เหมือนเดิม

ส่วนจุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจ (ในฐานะ tech journalist) มี 2 ประการใหญ่ๆ ประการแรกคือ จุดยืนเชิงอุดมการณ์ของ PandoDaily ที่ประกาศไว้ในบล็อกตั้งต้น

  • ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อขายเว็บ โดย Lacy บอกว่าเมื่อขายแล้วจะประสบความสำเร็จในแง่ตัวเงินจริง แต่จะเสีย "พลัง" ของความน่าเชื่อถือไป (เธอใช้คำว่า "The product may live on but the voice, the ambition and the culture almost always gets squashed") ซึ่งตรงนี้ตัว Lacy เองมองว่าจะมาชดเชยความผิดพลาดของ TechCrunch ที่ขายให้ AOL
  • นโยบายการทำงานกับคู่แข่ง พยายามเป็นรายแรกที่รายงานข่าว (breaking) แต่ถ้าไม่ทันก็ยอมลิงก์ไปยังเว็บคู่แข่งแทน
  • เชิญคู่แข่งมายังงาน event ของตัวเอง และจะไปทำข่าวงาน event ของคู่แข่ง
  • ตีพิมพ์บทวิจารณ์ (rant) แต่ก็บาลานซ์กับความเป็นข่าว โดย rant ที่ไม่ได้อัพเดตอะไร จะไปอยู่ในเซคชันเฉพาะแทน
  • จะเคารพ embargo หรือรายงานข่าวตามที่เวลาตกลงไว้กับบริษัทเจ้าของข่าว (ในกรณีเปิดตัวสินค้า ส่วนมากบริษัทจะมีเงื่อนไข embargo ว่าให้ข้อมูลก่อน แต่ตัวข่าวจะปล่อยได้ในเวลาที่ระบุ เช่น หลังงานแถลงข่าว) แต่จะใส่ไว้ในหมวดข่าวสั้น PandoTicker เท่านั้น ถ้าอยากอยู่ในข่าวหลักของเว็บก็ต้องให้ข่าว exclusive กับเว็บ (เป็นการบาลานซ์ความสัมพันธ์กับบริษัทอื่น และการสร้างมูลค่าให้ข่าว)

แนวทางเรื่อง embargo ของ PandoDaily เป็นสิ่งที่ผมเคยเจอกับ Blognone ซึ่งทางแก้ก็คล้ายๆ กันคือเราเปิดหมวด Press Release ขึ้นมาให้ PR และบริษัทต่างๆ มาแปะข่าวด้วยตัวเอง (แต่ถ้าอยากลงข่าวหลักก็ต้องมีเนื้อหาน่าสนใจจริงๆ หรือไม่ก็ซื้อ advertorial)

สรุปก็คือแนวทางของ PandoDaily น่าสนใจ และสามารถใช้เป็นตัวอย่างสำหรับการวางนโยบายของสื่อออนไลน์อื่นๆ (ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อไอทีก็ได้) ได้ด้วย

ส่วนประเด็นที่สองคือกระบวนการสร้าง PandoDaily ของ Lacy ที่เอาจริงก็ไม่ยุ่งยากอะไร

  • จ้างพี่เลี้ยงมาคอยดูแลลูก (เพราะเพิ่งคลอดลูก และน่าสนใจตรงสร้างเว็บใหม่ตอนเพิ่งมีลูกเนี่ยแหละ)
  • จ่ายเงินจ้างดีไซเนอร์ทำเว็บด้วย WordPress 80,000 ดอลลาร์
  • จ้างทีมบล็อกเกอร์เต็มเวลาจำนวนหนึ่ง
  • ขอให้ดาราดังๆ ของวงการ tech blog (ซึ่งในที่นี้รวม Arrington) มาเป็นนักเขียนรับเชิญ

แน่นอนว่างานของ Lacy ดูง่ายๆ แบบนี้เป็นเพราะคอนเนคชันของตัวเธอเองด้วย เธอเลยได้นักลงทุนบิ๊กเนมอย่าง Marc Andreesen (Netscape) และ Peter Thiel (นักลงทุนรายแรกใน Facebook) มาร่วมวง พร้อมกับนักลงทุน-บริษัทลงทุนอื่นๆ อีกเพียบ

แต่ประเด็นที่ยกมานี้คือ การระดมทีมทำเว็บมันไม่ได้ยากเย็นอะไรมาก มีทุนจำนวนหนึ่ง มีทีม มีคอนเนคชันระดับหนึ่ง มันก็ทำได้แล้ว

กรณีของ PandoDaily เป็นเว็บบิ๊กเนม ก็มีเรื่องสายสัมพันธ์อยู่เยอะและเงินดูเยอะหน่อย แต่ถ้าเริ่มเว็บโนเนมจริงๆ มันก็ไม่ต้องใช้เงินอะไรขนาดนั้น (Blognone เริ่มด้วยเงิน 800 บาทเป็นค่าโฮสต์และโดเมน ผมเป็นคนไปโอนเองผ่านตู้ ATM หน้าสนามบาสที่เกษตร) ขอเพียงมีไอเดียและความตั้งใจก็ทำได้แล้ว

Pali and Sanskrit

$
0
0

สมัยเด็กๆ ผม (และน่าจะคนอื่นๆ ด้วย) ก็รับทราบจากแบบเรียนว่าภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาที่ใช้ในสมัยของพระพุทธเจ้า โดยศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลีที่เข้าถึงมวลชนมากกว่า และภาษาสันสกฤตมีตัวอักษรมากกว่าภาษาบาลี เช่น ฤ ฤา อะไรแบบนี้ (ต้องท่องไปสอบ)

พอโตขึ้นมาไม่ได้ประกอบอาชีพด้านภาษา และไม่ได้หาเรื่องไปค้นต่อ ความรู้เรื่องนี้ของผมหยุดอยู่แค่นั้น

พอมาอ่านหนังสือ ภารตวิทยา พบว่าผู้เขียน กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย อธิบายเรื่องนี้ไว้ละเอียด น่าสนใจมาก

กำเนิดภาษา

อารยธรรมอินเดียมีกำเนิดมาจาก "เผ่าอารยัน" (Aryan) ที่เดิมทีก็ไม่ได้อยู่ในอินเดียปัจจุบัน แต่อยู่แถวๆ อิหร่าน-อัฟกานิสถานในปัจจุบัน แล้วค่อยๆ บุกเข้ามาทางปากีสถานในปัจจุบัน และครอบครองอินเดียฝั่งเหนือ ต่อสู้กับชนเผ่าพื้นเมืองเดิม (ที่ไม่มีชื่อเรียกชัดเจน) และเผ่าทราวิฑ (Dravidian) ทางตอนใต้ สถาปนาเป็นอารยธรรมอินเดียขึ้น

การรุกเข้ามาของอารยันในอินเดีย ก่อให้เกิด "คัมภีร์พระเวท" (Veda ใน Gundam 00 น่ะเอง) และศาสนาพราหมณ์ ที่ปัจจุบันยังหาจุดกำเนิดที่แน่ชัดไม่ได้ แต่สรุปๆ คืออารยธรรมอินเดีย-พราหมณ์มีแกนหลักอยู่ที่ "พระเวท" (แบบเดียวกับ อารยธรรมยิวต้องยึดกับคัมภีร์ Old Testament)

ภาษาที่ใช้ในอารยธรรมอินเดียยุคแรกถูกเรียกว่า "ภาษาพระเวท" ซึ่งภายหลังก็พัฒนาตัวเองออกไปเป็นภาษาอื่นๆ ในตระกูลเดียวกันอีกมาก แต่สายหลักๆ ก็มีสองสายคือ

  • สันสกฤต (Sanskrit) ซึ่งเป็นตัวแทนของอารยธรรม-ศาสนาแบบพราหมณ์
  • บาลี (Pali) ซึ่งเป็นตัวแทนของอารยธรรม-ศาสนาแบบพุทธ

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าพุทธหรือพราหมณ์เป็นคนคิดสองภาษานี้ แต่เลือกจะนำภาษาที่มีอยู่แล้วมาใช้สื่อสารในกลุ่มของตัวเอง จนกลายเป็นภาษาประจำกลุ่มไป

ภาษาสันสกฤตเป็นตัวแทนของคนชั้นสูง เป็นภาษาที่วรรณะพราหมณ์ใช้พูดกัน มีรูปแบบที่ "รุ่มรวย" (หรือถ้ามองในแง่ลบก็ต้องเรียกว่า "รุงรัง") ส่วนบาลีเป็นภาษาที่คนในสมัยนั้นสื่อสารกันจริงๆ ความซับซ้อนก็จะน้อยกว่า

ทั้งสองภาษาถูกใช้ในอารยธรรมพุทธ-พราหมณ์ ซึ่งสองอารยธรรมนี้ก็ผลัดกันครองความเป็นเจ้าในอินเดียมานานเป็นพันปี ก่อนที่สุดท้ายจะ "แพ้ทั้งคู่" ให้กับอารยธรรม-ศาสนาอิสลามที่เข้ามาตอนหลัง ซึ่งใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาของราชสำนัก (และต่อมาก็ประดิษฐ์ภาษาอูร์ดู ขึ้นมาเป็นสะพานระหว่างอิสลาม-พราหมณ์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นภาษาราชการของปากีสถาน)

ภาษาบาลี-สันสกฤตเลยกลายเป็นภาษาที่ตายไปจากนั้น เพราะหมดยุคอิสลามในอินเดีย ก็ต่อด้วยยุคอาณานิคมของอังกฤษอีกก๊อกหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม งานวรรณคดีจำนวนมากของอินเดียยังอยู่ในรูปบาลี-สันสกฤต ทำให้ตอนนี้สองภาษานี้มีสถานะเป็นภาษาโบราณแบบเดียวกับภาษาละตินของฝั่งยุโรปนั่นเองครับ (หรือจะมองว่าเป็นคู่ "กรีก-โรมัน" ก็ได้เหมือนกัน)

ทั้งสองภาษานี้เขียนได้ด้วยตัวอักษรหลายแบบ แต่แบบที่ใช้กันในพื้นที่คือตัวอักษรเทวนาคลี หรือ Davanagari (ตัวอย่าง = नागरी) ซึ่งพอมาใช้ในบ้านเราก็ใช้เสียงของบาลี-สันสกฤต แต่สะกดด้วยตัวอักษรไทยแทน

บาลี vs สันสกฤต

ภาษาไทยยืมคำจากบาลี-สันสกฤตมาเยอะมาก แต่เผอิญเราใช้กันจนชิน+ใช้โดยไม่สนใจอะไร เลยไม่ค่อยรู้ว่าคำไหนมาจากบาลี-สันสกฤตบ้าง (ตอนอ่านหนังสือแล้วจะ อ๋อๆๆๆ)

จุดที่น่าสนใจคือ คำที่มีความหมายเดียวกันในบาลีและสันสกฤต แต่ออกเสียงต่างกัน พอมาเป็นคำในภาษาไทยแล้ว บางทีก็มีความหมายต่างกันไปด้วย (ทั้งที่ต้นฉบับมีความหมายเดียวกัน)

ตัวอย่างคำที่มีความหมายเหมือนกัน [สันสกฤต] [บาลี] = [ไทย]

  • อัคนี, อัคคี = ไฟ
  • หฤทัย, หทัย = ใจ
  • สิงห์, สีห์ = สิงโต
  • สูรย์, สุริยะ = อาทิตย์
  • วัชระ, วชิระ = สายฟ้า
  • ศิลปะ, สิปปะ = ศิลปะ

คำที่มีความหมายเริ่มต่างกัน หรือใช้ในบริบทต่างกัน

  • ไมตรี, เมตตา = เมตตา
  • มัธยม, มัชฌิมา = กลาง
  • ประถม, ปฐม = ต้น
  • โทษ, โทสะ = ความทุกข์
  • อาจารย์, อาจริย/อาเจรา = ครู
  • เสน่ห์, สิเน่หา = ความรัก
  • ศัพท์, สัททะ = เสียง/คำพูด
  • อารยะ, อริยะ = ความเจริญ
  • อาชญา, อาณา = อำนาจ/โทษ
  • สัตย์, สัจจะ = ความจริง

คำที่กลายเป็นสองคำไปเลย

  • อาศจรรย์, อัจฉริยะ = ความแปลก
  • ราษฎร, รัฎฐะ = ประชาชน/เขตแดน
  • สถาน, ฐาน = ที่ตั้ง
  • วิสดาร, วิตถาร = ความหมายเดิมคือ "ละเอียด"
  • เกษตร, เขตต์ = ความหมายเดิมคือ "พื้นที่/ขอบเขต"

ข้าวมันไก่โก๊ะตี๋

$
0
0

ได้ยินเสียงร่ำลือมานานแต่ไม่เคยมีโอกาสไปลอง เผอิญเมื่อวานนี้เสี่ยใหญ่แห่ง MXPhone นัดเลี้ยงประจำปี ร้านติดกับข้าวมันไก่โก๊ะตี๋ สาขาตรง Town in Town เลยลองซะหน่อย

ร้านค่อนข้างใหญ่ 2 คูหา โลโก้เท่ซะ พนักงานรับออเดอร์ด้วยอุปกรณ์พกพาสักชนิด (ดูไม่ค่อยออก+ไม่ได้ตั้งใจดู)

จานธรรมดาราคา 40 บาท มาพร้อมกับถ้วยน้ำจิ้มและน้ำซุป 1 ถ้วย

น้ำจิ้มบนโต๊ะมีวางให้ 1 กระปุก พร้อมซีอิ๊วดำสำหรับคนที่อยากกินแบบข้าวมันไก่สิงคโปร์ แต่ไม่มีพริก-กระเทียม-ขิงมาให้เติมเอง (รวมมาให้ในขวดแล้ว)

ตัวข้าวมันไก่จานหลัก ไก่นุ่มใช้ได้ แต่ข้าวแข็งไปหน่อย (ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับไปตอนเย็นหรือเปล่า) รวมๆ แล้วถือว่าโอเคประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงกับติดใจมากครับ

ให้เกรด

  • ข้าว = แข็งและแห้งไปหน่อย
  • ไก่ = นุ่มใช้ได้ มันเยอะไปนิด
  • น้ำจิ้ม = โอเคเลย แต่ยังไม่ถึงขั้นเทพ
  • น้ำซุป = ใช้ได้ ให้เนื้อไก่มาเยอะทีเดียว

อาหารทำรวดเร็ว นั่งปุ๊บได้ปั๊บ วิธีการจ่ายเงินต้องเดินไปจ่ายที่แคชเชียร์ด้านในร้าน ตอนแรกจะงงๆ นิดนึง

สรุปว่า คุณภาพใช้ได้เมื่อเทียบกับราคา แต่รสชาติยังไม่ถึงขนาดต้องดั้นด้นเดินทางไปกิน

Keyword:

News Timeline

$
0
0

The Verge เป็นเว็บไซต์ที่นักเขียนกลุ่มหนึ่งของ Engadget แยกตัวออกมา โดยจับมือกับบริษัท SBNation ที่เดิมทำเว็บข่าวกีฬา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น VOX Media)

นอกจาก The Verge จะเป็นเว็บใหม่แล้ว ทีมงานยังถือโอกาสลองทำอะไรใหม่ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งก็ดีบ้างแย่บ้างสลับกันไป (ตัวอย่างคือ วิธีการจัดหน้าแบบ a day สมัยก่อน ที่มันอ่านยากมาก)

แต่อันที่เวิร์คมากๆ และน่านำไปพัฒนาต่อได้คือแนวคิดของ news timeline หรือการแสดงพัฒนาการของข่าว/ประเด็นหนึ่งๆ

ตัวอย่าง

ลองดูภาพ news timeline ของกรณี SOPA ครับ

verge-timeline

จะเห็นว่าวิธีการเรียงข่าวแบบนี้จะช่วยให้ผู้อ่านที่ติดตามประเด็นที่ซับซ้อนมากๆ สามารถตามอ่านข่าวในประเด็นต่าง ๆ ได้ง่าย เริ่มตั้งแต่มีภาพ headline ดึงดูด และคำอธิบายแนวคิดคร่าวๆ ว่ามันคืออะไร ก่อนจะแสดง timeline เรียงลงไป (เรียงกลับทิศได้) พร้อมบอกระยะเวลาที่ข่าวเผยแพร่ว่านานเท่าไรแล้ว และ metadata เสริมอื่นๆ เช่น คอมเมนต์ล่าสุด เป็นต้น

รวมๆ แล้วมันดูได้ง่ายกว่าการเรียงตาม tag แบบปกติพอสมควร

แต่ผมคิดว่าแนวทาง news timeline อาจจะพัฒนาต่อได้ดังนี้

  • ส่วนของ summary อาจจะต้องมีลิงก์ไปยัง article ที่อธิบายเรื่องนี้โดยเฉพาะแบบยาวๆ (ถือเป็นการ sticky ให้ article นี้ไม่ไหลไปตาม timeline)
  • แสดงรายชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ พร้อมคำอธิบายแบบคร่าวๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ widget ของ CrunchBase ที่แสดงใน TechCrunch อาจจะนำมาแสดงข้าง ๆ ได้
  • ให้น้ำหนักกับ article แต่ละชิ้นใน timeline แตกต่างกัน เช่น article อันไหนเป็นเรื่องใหญ่ก็อาจจะใส่ตัวใหญ่ๆ + พร้อมรูป ส่วนประเด็นเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องเล็กน้อยก็ใส่แค่ headline พอ
  • กราฟเทียบกับเวลาตามอย่าง Google News ก็น่าสนใจ น่าจะช่วยให้การติดตามประเด็นและดูระยะห่างของเรื่องราวทำได้ง่ายขึ้น

news timeline แบบนี้น่าจะใช้ได้กับประเด็นข่าวในทุกๆ เรื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวไอทีอย่างเดียว สมมติว่าเราใช้รูปแบบการนำเสนอลักษณะนี้กับข่าวเพชรซาอุ หรือ ข่าวกองทุนฟื้นฟู มันน่าจะสนุกไม่ใช่เล่น

Drawing Arrow on GIMP

$
0
0

ความลำบากของคนใช้ GIMP คือ งานหลายอย่างที่ควรจะทำได้ง่ายๆ (หรือโปรแกรมคู่แข่งทำได้ง่าย) มันกลับยากเกินความจำเป็น

ฟีเจอร์อย่างหนึ่งที่ต้องการมานานแล้วคือ การวาด "ลูกศร" ซึ่งใช้บ่อยเวลา capture หน้าจอแล้วเขียนคำอธิบาย + โยงลูกศรชี้จุด ซึ่งการ capture + ใส่ข้อความทำได้ไม่ยาก แต่การทำลูกศรเป็นเรื่องยากมาก

เมื่อวานนี้เขียนบล็อก News Timeline แล้วต้องทำภาพประกอบ เลยทนไม่ไหวลองหาดู และพบว่ามีคนเจอปัญหาแบบเดียวกัน เลยทำปลั๊กอิน Draw Arrow ไว้ให้ใช้เสร็จสรรพ

รายละเอียดอ่านได้ตามลิงก์ แบบสรุปก็คือโหลดไฟล์ arrow.scm ไปไว้ในไดเรคทอรี scripts ของ GIMP (ควรจะอยู่ที่ ~/.gimp-2.6/scripts) พอเปิดโปรแกรมขึ้นมาใหม่ จะมีคำสั่ง Arrow อยู่ในเมนู Tools

วิธีการคือเราต้องวาด path ก่อนว่าจะให้ลูกศรอยู่ตรงไหน แล้วค่อยเลือกใส่ Arrow จากเมนู Tools อีกทีหนึ่ง การตั้งค่าจะวุ่นวายเล็กน้อยแต่ลองมั่วไปเรื่อยๆ ไม่น่าจะยากเกินความสามารถ

Keyword:

Reading List on SOPA

$
0
0

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าว SOPA/PIPA กลบซะมิด (รวมถึง Megaupload ที่เกี่ยวข้องกันด้วย) ทำให้โลกตะวันตกมีบทความแสดงความคิดเห็นออกมามากมาย อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง ในโอกาสนี้ก็ขอจดบทความที่อ่านแล้วคิดว่าเวิร์คและน่าสนใจเอาไว้เป็นหลักฐาน อนาคตจะได้ตามหาง่ายๆ

  • RFS 9: Kill Hollywood ของ Y Combinator ซึ่งเป็น VC ชื่อดังรายหนึ่งของวงการไอทีสหรัฐ บทความนี้น่าจะให้ภาพกว้างของเรื่องราวได้มากที่สุด สรุปรวมๆ มันคืออุตสาหกรรมใหญ่ของสหรัฐ 2 อันกำลังจะปะทะกัน ซึ่งก็คือ Hollywood vs Silicon Valley นั่นเอง แนวโน้มนี้คงหลีกเลี่ยงได้ยากถ้าไม่สามารถหา common ground ได้
  • A Post PIPA Post ของ Fred Wilson ซึ่งเป็น VC ที่เขียนบล็อกได้สนุกโคตรๆ คนหนึ่ง เขาเข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมืองในวอชิงตันด้วย บล็อกนี้เขาพูดสามประเด็น
    • อย่างแรกคือ ฝั่งอุตสาหกรรมบันเทิงร่าง SOPA/PIPA แล้วไปหลอกนักการเมืองในคองเกรสว่า คุยกับอุตสาหกรรมไฮเทคมาเรียบร้อยแล้วนะ ช่วยสนับสนุนที (ผลเสียของฝั่งไอทีไม่มีล็อบบี้ยิสต์)
    • ผลงานการประท้วงผ่านเน็ตสร้างกระแสได้มาก และเป็นเหตุสำคัญที่ช่วยหยุด SOPA ได้ อันนี้เป็นผลมาจาก distributed architecture ของอินเทอร์เน็ต คือไม่มีใครเป็นศูนย์กลางการประท้วง
    • ความจำเป็นในการหา common ground ระหว่างสองอุตสาหกรรม ซึ่ง Fred บอกว่าพอคิดออกบ้างแล้วแต่ยังไม่เฉลย
  • Former Sen. Chris Dodd, MPAA CEO, Blasts Congress For Halting SOPA and PIPA ข่าวนี้น่าสนใจตรงที่มันแสดงให้เห็นพลังของการล็อบบี้ของวงการบันเทิง เพราะซีอีโอของ MPAA ที่เป็นแกนนำคนสำคัญของฝั่ง SOPA ก็เป็นอดีตวุฒิสมาชิกด้วยซ้ำ (ทำให้การเจรจาหรือล็อบบี้กับสภาทำได้ง่ายขึ้นมาก)

คำถามที่ควรสนใจ (และต้องตอบให้ได้) คือ ถ้ามี bad internet bill ถูกเสนอเข้ามาในรัฐสภาไทย (แบบที่เคยเกิดแล้วกับ พ.ร.บ. คอมฯ) เราจะมีวิธีการต่อสู้กับมันอย่างไรที่สร้างอิมแพคได้ในระดับเดียวกัน

ในเบื้องต้นผมคิดว่าคงต้องใช้ 2 วิธีควบคู่กันไป คือ ทั้งการประท้วงแบบ en mass และการล็อบบี้วงใน

Drafting the Constitution

$
0
0

Democracy Monument

สองวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คณะนิติราษฎร์ "จัดหนัก" เสนอแก้กฎหมาย 2 ฉบับสำคัญ

ในโอกาสนี้ก็บันทึกความเห็นไว้สั้นๆ สักหน่อย

  • กฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นปัญหาต่อการเมืองการปกครองไทยแน่นอน แต่ความสำคัญในการแก้ย่อมไม่เท่ากัน กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนกว่า อยู่มานานกว่า คงต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะแก้ได้สำเร็จ โฟกัสปีนี้ควรจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ (ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องแก้) - รายละเอียด
  • โมเดลการตั้งคณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ 25 คนของนิติราษฎร์ ถือว่าน่าสนใจในเชิงวิชาการ และในการปฏิบัติจริงน่าจะคล่องตัวกว่า แต่ politically และ tactically แล้ว ผมคิดว่าโมเดลการใช้ สสร.3 น่าจะยังเวิร์คกว่าในบริบทของปัจจุบัน
  • ส่วน "เนื้อหา" ใน รธน. ตามที่นิติราษฎร์เสนอ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจหลายจุด (นอกเหนือไปจากเรื่อง "ประมุขต้องสาบานตน" ที่เป็นข่าวตามสื่อหลายฉบับ) ซึ่งคงต้องใช้เวลาย่อยอีกพอสมควร และนิติราษฎร์เองก็ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดในบางประเด็นที่น่าสนใจ (เช่น "ยุบเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่ไม่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหา") อันนี้ต้องจับตาดูกันต่อไป

ผมคิดว่าช่วงนี้ถือเป็นโอกาสอันที่กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ น่าจะออกมาเสนอ "แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ" ของตัวเอง เพื่อทดสอบไอเดีย และข้อเสนอว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์ค น่าจะเป็นประโยชน์กว่าการวิจารณ์แนวทางของนิติราษฎร์เพียงอย่างเดียว

เอาจริงแล้ว เราต้องการ ร่างรัฐธรรมนูญของพันธมิตร (จะเป็น 70:30 ก็ได้) ร่างของสยามประชาวิวัฒน์ ร่างของหมอตุลย์ ร่างของบรรหาร ร่างของประชาธิปัตย์ ร่างของ นปช. ฯลฯ เอามาเปรียบเทียบกัน และต่อสู้กันในเชิงความคิดว่าของใครเวิร์คกว่ากัน

Viewing all 557 articles
Browse latest View live




Latest Images