Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Begun the Civil War Has


การเมืองในวันพีซ ตอนที่ 1: ภูมิรัฐศาสตร์ของวันพีซ (Geopolitics of One Piece)

$
0
0

บทความชุดนี้เขียนไว้นานแล้วแต่ไม่มีเวลา edit + หารูปภาพเลยดองไว้นาน ช่วงนี้สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนแรงพอดี ก็เลยถือโอกาสนำมาปรับปรุงแก้ไขลงบล็อกสักหน่อยครับ

10390074_785547214803257_2352643752134408730_n

ภาพประกอบข้างต้นจากเพจ Thai One Piece FC (ภาพต้นฉบับ)

ภูมิรัฐศาสตร์ของวันพีซ

ก่อนเข้าเรื่องการเมือง-ขั้วอำนาจในโลกของวันพีซ เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าสภาพทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” (geopoliticsหรือที่อธิบายเป็นคำง่ายๆ คือ “ภูมิศาสตร์ที่กำหนดการเมือง”) ของโลกในเรื่องวันพีซนั้นเป็นอย่างไร

ตัวอย่างการอธิบายแนวคิดเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในโลกจริงก็อย่างเช่น สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศต่างๆ เมื่อเกิดสงคราม ก็จะเป็นสิ่งที่กำหนดแนวโน้มหรือทิศทางของสงครามได้ด้วย เช่น รัสเซียในสงครามโลกสามารถเอาตัวรอดจากกองทัพเยอรมันได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมืองหลวงอยู่ลึกเข้ามาในพรมแดนมาก การส่งกำลังบำรุงของศัตรูจึงลำบาก เมื่อบวกกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นอยู่แล้ว (ซึ่งถือเป็นสภาพทางภูมิศาสตร์ประการหนึ่ง) ทำให้เยอรมันต้องแพ้กลับไป

โลกของวันพีซนั้นค่อนข้างพิสดารหน่อยคือเป็นโลกที่เต็มไปด้วยทะเล ประเทศต่างๆ มีสภาพเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยเต็มไปหมด (ถ้าใครเคยเล่น Civilization จะรู้จักว่าโลกแบบนี้เรียก archipelagoหรือ “หมู่เกาะ”) เมื่อการคมนาคมถูกบีบให้ใช้ทางทะเลเท่านั้น อารยธรรมในแต่ละเกาะจึงค่อนข้างต่างกันและไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อกันเท่ากับประเทศที่อยู่บนผืนทวีปเดียวกัน

ทะเลทั้งสี่

ทะเลในวันพีซเองก็มีความซับซ้อนในตัวมัน เพราะถึงแม้น้ำจะไหลไปมาระหว่างกันได้ แต่การเคลื่อนที่ของ “คน” บนทะเลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มี “เรดไลน์” ผืนทวีปแนวยาว ตัดกับ “แกรนด์ไลน์” ทะเลพิเศษที่ถูกขวางกั้นด้วยกระแสน้ำ calm belt ทำให้ทะเลถูกตัดแบ่งเป็น 4 ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกันนัก

Seas of One Piece

ทะเลมาตรฐานทั้งสี่ที่อยู่นอกแกรนด์ไลน์ถูกเรียกตามทิศทางคือ นอร์ธบลู อีสต์บลู เวสต์บลู เซาธ์บลู โดยเรื่องราวช่วงแรกของวันพีซนั้นอยู่ในทะเลอีสต์บลู พรรคพวกกลุ่มแรกๆ ของลูฟี่ (นับถึงอุซป) ก็มาจากอีสต์บลูกันเกือบหมด

ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลมากนักว่าการเดินทางข้ามไปมาระหว่างทะเลทั้งสี่ทำได้อย่างไร (เพราะต้องข้ามแกรนด์ไลน์หรือไม่ก็เรดไลน์) ในเรื่องมีอธิบายบ้างแล้วว่าทหารเรือใช้เทคโนโลยีพิเศษในการข้ามคาล์มเบลต์ แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนนักว่าคนทั่วไปใช้วิธีไหนในการเดินทาง (แต่ก็มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ซันจิ เกิดในนอร์ธบลู แต่มาทำงานที่อีสต์บลู)

แกรนด์ไลน์ (Grand Line)

Grand Line

แฟนๆ วันพีซคงรู้จักแกรนด์ไลน์กันดีอยู่แล้ว แกรนด์ไลน์ถือเป็นทะเลพิเศษที่อยู่นอกเหนือจากทะเลทั้งสี่ (จะเรียกว่าเป็น “เซ็นทรัลบลู” ก็พอได้) เป็นพื้นที่ทางทะเลที่อยู่รอบเส้นศูนย์สูตรในโลกของวันพีซ และมีลักษณะที่สำคัญอยู่ 2 ประการ

  • มีกระแสน้ำคาล์มเบลต์ (calm belt) ที่ไม่มีลมพัด และมีสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อาศัยอยู่ ทำให้เป็นปราการธรรมชาติที่ป้องกันไม่ให้คนทั่วไปเข้ามายังแกรนด์ไลน์ได้โดยง่าย
  • มีสภาพอากาศแปรปรวน เดินเรือได้ยาก ทำให้รูปแบบของการเดินทางถูกจำกัดว่าจะเดินเรือซี้ซั้วไม่ได้ แต่ต้องใช้ “ล็อคโพส” อุปกรณ์พิเศษในการจับกระแสแม่เหล็กระหว่างเกาะแทน

ด้วยสภาพพิเศษของแกรนด์ไลน์นี้ ทำให้การเดินทางบนแกรนด์ไลน์ไม่ใช่การล่องเรือไปเรื่อยๆ ตามทิศทางบนแผนที่ แต่กลายเป็นการเดินทางแบบ “จุดต่อจุด” อาศัยเส้นทางระหว่างเกาะต่างๆ ค่อยๆ เชื่อมต่อไปยังปลายทางที่ต้องการนั่นเอง (ซึ่งจากในการ์ตูนก็บอกว่ามีเส้นทางเริ่มต้น 7 เส้นทาง ซึ่งมันจะมุ่งสู่จุดสุดท้ายที่เดียวกัน)

Grand Line Travel

แกรนด์ไลน์เองยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามจุดตัดกับผืนทวีปเรดไลน์ โดยจุดตัดแรกคือ ภูเขารีเวิร์สเมาเท่น ปากทางเข้าเพียงทางเดียวของแกรนด์ไลน์

Reversed Moutain

ส่วนจุดตัดที่สองก็อยู่ตรงข้ามกันของซีกโลก ที่ซึ่งมีนครศักดิ์สิทธิ์ แมรี่โจส์ (Mariejois) เมืองหลวงของรัฐบาลโลกตั้งอยู่

ครึ่งแรกของแกรนด์ไลน์ นับจากรีเวิร์สเมาเท่นไปยังแมรี่โจส์ มีชื่อเรียกว่า “พาราไดส์” (Paradise) ชื่อนี้เป็นคำเรียกของคนที่ผ่านแกรนด์ไลน์ครึ่งหลังแล้วกลับมาครึ่งแรกอีกครั้ง พบว่ามันเปรียบดังกับ “สวรรค์”

ครึ่งหลังของแกรนด์ไลน์ ถือเป็น “โลกใหม่” (New World) ที่ยังไม่ใครพิชิตลงได้ เกาะเป้าหมายสุดท้าย รัฟเทล (Raftel) ก็อยู่ในบริเวณนี้ ถ้าเราคิดแบบง่ายๆ มันก็ควรจะอยู่อีกฝั่งหนึ่งของรีเวิร์สเมาเท่น (เดินทางรอบโลกครบหนึ่งรอบพอดี) แต่ด้วยความพิสดารของมันก็อาจจะไม่สามารถเดินทางด้วยวิธีปกติได้ (รอ อ.โอดะ เฉลยต่อไป)

เรดไลน์ (Red Line)

Red Line

เรดไลน์เป็นทวีปเดียวในโลกของวันพีซ เป็นเทือกเขาสูงขนาดใหญ่ที่คอยกั้นทะเลเอาไว้ ตอนนี้เรายังรู้ข้อมูลของเรดไลน์น้อยมาก นอกจาก “จุดตัด” เพียงสองแห่งเท่านั้น

จุดตัดที่รีเวิร์สเมาเท่นนั้นไม่มีเมืองใดๆ อยู่ในบริเวณนั้นเลย

ส่วนจุดตัดอีกด้านก็มีนครศักดิ์สิทธิ์แมรี่จัวส์ตั้งอยู่ด้านบนทวีป และใต้น้ำก็มี “ทางลอด” ที่มีอาณาจักรเงือกตั้งอยู่ตรงนั้น

red-line-topred-line-bottom

พื้นที่อื่นๆ ของเรดไลน์นั้นเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย

กล่าวโดยสรุปแล้ว ภูมิรัฐศาสตร์ของวันพีซทำให้ประเทศแต่ละแห่งกระจายตัวและเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน แต่ก็รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ภายใต้ “รัฐบาลโลก” ซึ่งควบคุมอำนาจทางการทหารและการคมนาคมระหว่างเกาะเอาไว้

อย่างไรก็ตาม โลกของวันพีซยังมีความ “ดิบเถื่อน” (wild) อยู่พอสมควร ทำให้การมีอยู่ของขุมพลังท้องถิ่นต่างๆ ก็ยังคงอยู่ได้ในแต่ละพื้นที่โดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลโลกมากนัก ด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างเดียวกันว่า สภาพเกาะเยอะทะเลกว้างทำให้รัฐบาลโลกไม่สามารถควบคุมเกาะต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์

ช่องว่างทางอำนาจที่เกิดจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ จึงกลายเป็นโอกาสของ “โจรสลัด” ในการผุดขึ้นมาท้าทายอำนาจของรัฐบาลนั่นเอง

ตอนหน้าเราจะไปดูปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยเรื่องภูมิศาสตร์ นั่นคือ "ประวัติศาสตร์การเมือง" (political history) จากนั้นจะอธิบายว่าทั้งสองปัจจัยนี้มีส่วนกำหนดสภาพทางการเมืองในโลกของวันพีซยุคปัจจุบันได้อย่างไรครับ

อัพเดต:การเมืองในวันพีซ ตอนที่ 2: ประวัติศาสตร์การเมืองของวันพีซ (Political History of One Piece)

การเมืองในวันพีซ ตอนที่ 2: ประวัติศาสตร์การเมืองของวันพีซ (Political History of One Piece)

$
0
0

ตอนก่อนปูพื้นเรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์” ในวันพีซไปแล้ว คราวนี้จะมาปูพื้นในมิติทางด้านประวัติศาสตร์เชิงการเมือง (political history) เพื่อให้เข้าใจบริบทในอดีตว่าทำไมกลุ่มพลังต่างๆ ของวันพีซจึงมีแนวคิดหรือแรงจูงใจไปในทิศทางนั้นๆ

ohara

เนื่องจากว่าโลกของวันพีซไม่มีระบบศักราชหรือปฏิทินเป็นตัวเลขที่อ้างได้ง่ายๆ (แบบกันดั้มที่มีปฏิทิน UC) ดังนั้นจะใช้การอ้างเวลาแบบคร่าวๆ เน้นความเข้าใจง่ายเป็นหลักนะครับ (ใครอยากอ่านแบบเต็มๆ มีให้อ่านใน One Piece Wikia)

ศตวรรษที่สาบสูญ (Void Century)

ประวัติศาสตร์ช่วงที่สำคัญมากของโลกวันพีซอยู่ที่ช่วง “800 ปีก่อน” เนื้อเรื่องปัจจุบัน ที่เกิด “มหาสงคราม” ระหว่าง

อาณาจักรไม่ทราบชื่อตรงนี้ กลุ่มนักวิจัยที่โอฮาร่ารู้ชื่อ แต่โดนเก็บไปก่อนที่จะหลุดปากออกมา ในฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า Ancient Kingdom ก็ขอเรียกตามนี้นะครับ

Ancient Kingdom

Ancient Kingdom Name

อีกฝ่ายคือ กลุ่มพันธมิตร 20 อาณาจักรซึ่งภายหลังพัฒนาตัวเองเป็น "รัฐบาลโลก" (จะกล่าวต่อไป)

นับตามเนื้อเรื่องปัจจุบัน เรายังไม่ทราบข้อมูลว่าแรงจูงใจของ “มหาสงคราม” ครั้งนี้คืออะไรกันแน่ แต่รู้ว่าสงครามหรือความขัดแย้งครั้งนี้กินเวลาประมาณ 100 ปี (Void Century หรือศตวรรษที่สาบสูญ) และจบลงด้วยชัยชนะของ “กลุ่มพันธมิตร 20 อาณาจักร” กับความล่มสลายของ Ancient Kingdom

ข้อมูลอื่นๆ เท่าที่ทราบคือ อาวุธทำลายล้างทั้ง 3 ประการคือ Poseidon, Pluton และ Uranus ถูกนำมาใช้ในช่วงนี้ โดยไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใดใช้อาวุธอันไหน แต่ทราบคร่าวๆ ว่า Poseidon หมายถึงความสามารถในการควบคุมสัตว์ทะเล, Pluton หมายถึง “เรือ” ติดอาวุธทำลายล้างสูง และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Uranus เลย

uranus

Pluton โผล่มาในเรื่องแค่แปลน

pluton

Poseidon สุดท้ายแล้วคือเจ้าหญิงเงือกที่ควบคุม sea king ได้

posiedon

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก “ศตวรรษที่สาบสูญ” ในแต่ละฝ่ายมีดังนี้

ฝ่ายผู้ชนะ

อาณาจักรทั้ง 20 แห่งที่เข้าร่วมสงคราม (อาณาจักรสำคัญเท่าที่รู้ชื่อคือ อลาบาสตา และ เดรสโรซา) พัฒนาตัวต่อมาเป็น “รัฐบาลโลก” (World Government) ที่ปกครองโลกยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มพระราชาและราชวงศ์ 19 ประเทศ (ยกเว้นอลาบาสตา) สละสถานะความเป็นราชวงศ์ ย้ายเข้ามาอยู่ในนครศักดิ์สิทธิ์แมรี่จัวส์ กลายมาเป็นชนชั้นสูงของโลกหรือ “เผ่ามังกรฟ้า” (World Nobles หรือภาษาญี่ปุ่นเรียก Tenryubito ซึ่งแปลว่า “มังกรสวรรค์”) มีสิทธิพิเศษเหนือคนทั่วไป

การปกครองของรัฐบาลโลกพยายาม “ลบ” ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามครั้งนั้นออก (โดยยังไม่ทราบสาเหตุ) ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น สั่งห้ามค้นคว้าอักษรโพเนกลิฟ หรือ เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกาะโอฮารา (อดีตของโรบิน)

โดยสรุปคือ อุดมการณ์ฝ่ายผู้ชนะกลายมาเป็น “ระเบียบโลก” (world order) นับตั้งแต่สงครามมายังยุคเนื้อเรื่องปัจจุบัน กินเวลาประมาณ 800 ปี และยังสามารถปกครองโลกได้อยู่ (รายละเอียดของรัฐบาลโลก โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างอำนาจ จะกล่าวถึงในตอนหน้า)

ฝ่ายผู้แพ้

Ancient Kingdom หายสาบสูญ แต่ก็ยังทิ้งเชื้อทางอุดมการณ์เอาไว้ผ่านตัวอักษรโพเนกลิฟ สลักไว้บนหินที่ไม่มีทางทำลายได้ แล้วกระจายหินเหล่านี้ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

poneglyph

ตอนนี้ยังไม่มีคนอ่านรู้ว่าข้อความในโพเนกลิฟคืออะไร แต่คาดว่ามันคงเล่าถึง “ศตวรรษที่สาบสูญ” แต่ก็มีตัวละครในเรื่องหลายกลุ่มที่อ่านตัวอักษรนี้ออก

  • นิโคโรบิน อ่านออกแน่ๆ โดยสืบทอดความรู้มาจากนักปราชญ์ที่โอฮารา (แต่เธอดันไม่เคยบอกผู้อ่านว่าอ่านเจออะไรบ้าง ยกเว้นเรื่องของ Joy Boy ที่เกาะเงือก)
  • โกลด์ โรเจอร์ จ้าวแห่งโจรสลัดน่าจะอ่านได้ด้วยพลังพิเศษ (ที่ยังไม่ชัดเจนอีกนั่นแหละว่าคืออะไร) และกลุ่มพรรคพวกของจ้าวแห่งโจรสลัดก็น่าจะรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ด้วย (ที่ชัวร์ๆ คือราลีย์ที่บอกว่ารู้หมดทุกอย่าง แต่แชงคูสก็น่าจะพอรู้บ้างเช่นกัน)
  • กลุ่มกองทัพปฏิวัติที่นำโดยดราก้อน ก็น่าจะรับทราบข้อมูลพวกนี้มาบ้าง (แถมอาจเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งในการปฏิวัติด้วยซ้ำ) แต่ในเรื่องยังไม่ได้บอกตรงๆ

history

โดยสรุปแล้วคือ Ancient Kingdom แพ้แต่ทิ้งเชื้อเอาไว้ และโพเนกลิฟหรือประวัติศาสตร์ที่สาบสูญนี้กลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงโจรสลัดหรือกลุ่มอำนาจที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลโลกเข้าไว้ด้วยกัน อุดมการณ์ของ Ancient Kingdom ยังคงอยู่ และเราคงได้เห็นเนื้อเรื่องในช่วงต่อๆ ไปขยายผลไปสู่ความขัดแย้งแบบสองขั้ว (รัฐบาลโลก vs พันธมิตรโจรสลัด-กองทัพปฏิวัติ) ในไม่ช้า

Poneglyph

ตอนนี้เรายังเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มโจรสลัด กับกลุ่มกองทัพปฏิวัติ ที่แยกกันอยู่ แต่สุดท้ายแล้วมันจะรวมเป็นฝ่ายเดียวกันด้วยเหตุผลเชิงอุดมการณ์ "ต่อต้านรัฐบาลโลก"ที่สืบทอดมาจาก Ancient Kingdom นั่นเอง

ยุคทองของโจรสลัด

ถัดมาจากช่วง 800 ปีก่อนก็มีประวัติศาสตร์ในอดีตอันใกล้ที่สำคัญไม่แพ้กัน (และต่อเนื่องกัน) นั่นคือ 22 ปีก่อนเหตุการณ์ตอนเริ่มเรื่อง (24 ปีก่อน ถ้านับถึงเหตุการณ์ปัจจุบันในเรื่อง)

“เจ้าแห่งโจรสลัด” โกลด์ โรเจอร์ สามารถเก็บเควสต์โพเนกลิฟได้ครบทุกชิ้น รับทราบเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่สูญหาย และเดินทางไปถึงเกาะสุดท้าย “ราฟเทล” ครอบครอง “วันพีซ” ได้สำเร็จ

rogers

หลังเจ้าแห่งโจรสลัดได้ครอบครองวันพีซแล้ว ก็มี “เหตุผลบางอย่าง” ที่ทำให้เขาไปมอบตัวกับทางการและถูกประหาร (เท่าที่มีข้อมูลในปัจจุบัน เหตุผลหนึ่งคือเรื่องสุขภาพ) วาทะก่อนตายของเขาทำให้เกิดกระแสตื่นตัวอยากเป็นโจรสลัด หรือว่า “ยุคทองของโจรสลัด” ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

roger

การที่จ้าวแห่งโจรสลัดสามารถเก็บเควสต์ที่เป็นมรดกตกทอดของ Ancient Kingdom ได้ครบ ย่อมทำให้สมดุลย์ของรัฐบาลโลกที่รักษามา 800 ปีเริ่มเสียไป ถึงแม้เจ้าแห่งโจรสลัดจะตาย แต่มรดกตกทอดของเขา (ที่รับมาจาก Ancient Kingdom อีกที) ก็ยังเก็บไว้ที่ราฟเทลเพื่อรอ “คนรุ่นหลัง” มาค้นพบและขยายผลต่อไป

ด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองในอดีตแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักว่าทำไมรัฐบาลโลกจึงอยาก "ปราบ"หรือควบคุมโจรสลัดเป็นอย่างมาก (แต่ก็ไม่มีปัญญาทำได้ 100% ด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ของวันพีซที่เป็นเกาะกระจายตัวกัน อย่างที่เขียนถึงไปแล้วในตอนก่อน)

ตอนหน้าจะว่าด้วย "ขั้วอำนาจทางการเมือง"ของวันพีซในยุคปัจจุบันครับ

White Vengeance งานเลี้ยงที่หงเหมิน

$
0
0

จากกรณี "เชิญแกนนำ 7 ฝ่ายเข้าหารือ แล้วรวบตัว ประกาศยึดอำนาจ"เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ที่ผ่านมา ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จีนที่คล้ายๆ กันคือ งานเลี้ยงหงเหมินหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Feast at Hong Gate

ภาพยนตร์จีนรุ่นหลังๆ ที่นำเอาเรื่องราวของการต่อสู้กันระหว่าง "รัฐฉู่"ของเซี่ยงหวี่ กับ "รัฐฮั่น"ของหลิวปัง ที่มีฉาก "งานเลี้ยงหงเหมิน"อยู่ด้วยคือเรื่อง White Vengeanceหรือชื่อภาษาไทยยาวเฟื้อยว่า "ฌ้อปาอ๋อง ศึกแผ่นดินไม่สิ้นแค้น"นั่นเองครับ (หนังปี 2011)

สำหรับคนที่อ่านประวัติศาสตร์จีนช่วงหลังราชวงศ์ฉินมาสู่การก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น (ไม่ว่าจะดูจากนิยาย การ์ตูน หรือละครก็ตาม) คงทราบกันดีถึงการขับเคี่ยวกันระหว่าง "ฌ้อป๋าอ๋อง เซี่ยงอวี่"ผู้อหังการ กับ "หลิวปัง"นายอำเภอผู้ยากจน ในการชิงแผ่นดินมาจากราชวงศ์ฉินที่กำลังล่มสลาย สุดท้ายการต่อสู้ครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของหลิวปัง และการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์แรกของจักรวรรดิจีนที่อยู่ต่อเนื่องยาวนานมาถึง 400 ปี

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสงครามครั้งนี้คือ เซี่ยงหวี่ที่เป็นผู้บัญชาการของหลิวปัง (แต่ไปยึดเมืองหลวงของราชวงศ์ฉินคือเมืองเซียงหยางช้ากว่าหลิวปัง) ได้ออกอุบายเชิญให้หลิวปังเข้าร่วมงานเลี้ยงที่หงเหมิน แต่จริงๆ แล้วคือล่อให้เข้าสู่ถ้ำเสือแล้วฆ่าทิ้งเสีย อย่างไรก็ตาม ดวงคนมันจะได้เป็นฮ่องเต้ ทำให้หลิวปังสามารถหนีออกมาได้แบบหวุดหวิด และทำสงครามระยะยาวกับเซี่ยงหวี่ (ฝรั่งเรียก Chu–Han Contention) จนเอาชนะได้ในภายหลัง เซี่ยงหวี่ต้องฆ่าตัวตายอย่างน่าเสียดายในฝีมือ

การต่อสู้ระหว่างหลิวปังและเซี่ยงหวี่มีประเด็นที่น่าสนใจเชิงกลยุทธ์มากมาย เช่น ต่อให้มีอำนาจล้นฟ้าแบบเซี่ยงหวี่ แต่ถ้าประมาทและไม่สามารถยืนระยะได้ยาวก็จะพ่ายแพ้, หลิวปังไม่ได้เก่งเท่ากับเซี่ยงหวี่ แต่มีผู้ช่วยเยอะ เข้าข่ายสามัคคีคือพลัง สามารถเอาชนะเซี่ยงหวี่ได้ในท้ายที่สุด

ภาพยนตร์เรื่อง White Vengeance ก็จับความเอาการต่อสู้ระหว่างหลิวปังกับเซี่ยงอวี่ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงราชวงศ์ฉิน ยาวมาจนถึงการสถาปนาราชวงศ์ฮั่นของหลิวปัง เพียงแต่จะเน้นหนักไปที่ "งานเลี้ยงหงเหมิน"ค่อนข้างเยอะหน่อยครับ

  • หนังภาพสวยดี (เครื่องประดับและอุปกรณ์ประกอบฉากสุดยอดมาก เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในหนังเรื่องนี้) ซีจียังดูหลอกๆ ตาอยู่บ้างแต่ให้อภัยได้
  • หลิวอี้เฟย ขวัญใจผมที่ช่วงหลังดูจะดร็อปๆ ไปบ้าง เล่นเป็นนางเอกของเรื่องนี้คือ "อวี่จี"สนมรักของเซี่ยงหวี่ ในหนังได้แต่งให้หลิวปังแอบหลงรักเธอด้วย (อันนี้ก็แล้วแต่จะตีความกัน) บทบาทไม่ค่อยเยอะนัก ออกมายืนสวยอย่างเดียว
  • การประกบคู่ในหนังแบ่งออกเป็น 2 คู่คือ ระดับแกนนำ หลิวปัง vs เซี่ยงหวี่ และระดับกุนซือ จางเหลียง vs ฟ่านเจิ้ง ซึ่งเอาไปเอามาคู่หลังจะดูเด่นกว่าด้วยซ้ำ
  • หนังเล่าเรื่องที่มาที่ไปได้ไม่ค่อยดีนัก ถึงขั้นว่าถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์จีนช่วงนี้มาก่อนจะงงแน่นอน (ขนาดผมรู้แล้วยังต้องมานึกว่าตัวละครตัวนี้คือใครในประวัติศาสตร์) จุดที่ยังปูพื้นไม่ค่อยดีคือ ความสัมพันธ์ระหว่างหลิวปังกับเซี่ยงหวี่ในช่วงแรกๆ และขุนพลหรือเสนาธิการในสังกัดของหลิวปังว่าเป็นใคร ทำอะไรบ้าง จุดที่แย่ที่สุดคือ อ๋องแห่งรัฐฉู่ ที่มีสถานะเป็นกษัตริย์นั้น ไม่มีการอธิบายเลยว่าทำไมการอวยยศของเขาจึงมีความสำคัญในเรื่อง (ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญในครึ่งแรกของเรื่องเลย)
  • ในยอดฝีมือของหลิวปัง 3 คนนั้น เรื่องค่อนข้างเทน้ำหนักไปที่ จางเหลียง กุนซือ, ตามด้วย หานซิ่น ในฐานะยอดขุนพล ในขณะที่ เซียวเหอ เสนาบดี นั้นมีบทอยู่นิดเดียวเอง
  • หนังยังก้ำกึ่งระหว่างการขับเคี่ยวกันของผู้นำรัฐสองคนตามปกติ กับการใช้ทริคสู้กันของกุนซือสองคน มันเลยดูงงๆ ว่าจะไปในทิศทางไหนกันแน่ (คือจะเป็นหนังทริคก็ไปไม่สุดทาง)
  • ลำดับการตัดต่อยังงงๆ อยู่บ้างเพราะชอบย้อนไปย้อนมาโดยไม่บอกกล่าว
  • คนที่แสดงดีคือ เซี่ยงหวี่ (จนน่าจะเป็นพระเอกมากกว่าด้วยซ้ำ) ฟ่านเจิ้ง และจางเหลียง ส่วนหลิวปัง (หลี่หมิง) ยืนนิ่งๆ งงๆ ทั้งเรื่อง แทบไม่ได้ทำอะไร ลูกน้องจัดการให้หมด (เป็นฮ่องเต้ที่โชคดีจริงๆ)
  • ฉากที่ดีที่สุดในเรื่องคงเป็นการเล่นโกะ

โดยรวมแล้วก็ถือว่าสนุกดีประมาณหนึ่ง ไม่ถึงกับดีมาก ดูแล้วได้รู้ประวัติศาสตร์จีนช่วงนี้ดีครับ

การเมืองในวันพีซ ตอนที่ 3: ขั้วอำนาจทางการเมือง (Political Powers in One Piece)

$
0
0

บทความในชุด: ตอนที่หนึ่ง, ตอนที่สอง

การเมืองวันพีซตอนนี้จะพูดถึง “พลังอำนาจ” (power) ทางการเมืองการปกครองในโลกของวันพีซครับ

เท่าที่ลองประเมินแล้วพบว่าเราสามารถจัด “ขั้วอำนาจ” ในโลกของวันพีซได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ รัฐบาลโลก, โจรสลัด, กองทัพปฏิวัติ

Gorosei

รายละเอียดของแต่ละขั้วอำนาจก็ตามนี้ครับ

1) รัฐบาลโลก

รัฐบาลโลก (World Government) ประกอบด้วยประเทศจำนวนหนึ่งที่เป็นสมาชิกของรัฐบาลโลก โดยมี “สภาแห่งกษัตริย์” (Council of Kings หรือ Reveries) เป็นที่ประชุมของตัวแทนจากประเทศต่างๆ (ซึ่งคอบร้า ราชาแห่งอลาสบาสตาก็เคยเข้าประชุมให้เห็นด้วย)

โมเดลของรัฐบาลโลกเปรียบเสมือน “สหพันธรัฐ” (federation) ที่มี “รัฐ” (state) หลายแห่งมารวมตัวกันอย่างหลวมๆ แต่ละรัฐมีรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตัวเอง แต่ภารกิจหลักๆ เช่น การทหาร ก็มอบให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง (federal government) ความเป็นปึกแผ่นก็จะไม่เป็นเนื้อเดียวกันมากนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็คงเพราะสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นเกาะ เดินทางลำบาก ควบคุมยาก

ที่มาของรัฐบาลโลกนั้นเขียนไปแล้วในตอนที่ 2 เรื่องประวัติศาสตร์การเมือง

เป้าหมายของรัฐบาลโลกก็คือการปกครองให้โลกอยู่อย่างมีสันติสุข (world order) และไม่มีขั้วอำนาจอื่นใดมาท้าทายอำนาจของรัฐบาลโลกได้ รัฐบาลโลกถือเป็นรัฐที่มีชนชั้น คือมี “ชนชั้นสูง” ซึ่งเป็นผู้สืบทอดสายเลือดมาจาก 20 กษัตริย์ที่ร่วมก่อตั้งรัฐบาลโลกในอดีต 800 ปีก่อน โดยปัจจุบันถูกเรียกว่า “เผ่ามังกรฟ้า” (World Nobles หรือ Tenryūbito ในภาษาญี่ปุ่น)

การจัดลำดับการปกครองของรัฐบาลโลกที่รับอำนาจมาจากสภาแห่งกษัตริย์ ก็กลายเป็นโครงสร้างทางการบริหารที่แบ่งชั้นดังนี้

ห้าผู้เฒ่า (Gorosei)

เป็น “คณะกรรมการ” ทางการบริหารที่กุมอำนาจสูงสุดของรัฐบาลโลก มีทั้งหมด 5 คนแต่มาถึงตอนนี้เรายังไม่รู้จักชื่อกันสักคน (แต่ที่แน่ๆ คือ อ.โอดะ เอาตัวอย่างคาแรกเตอร์มาจากผู้นำโลกชัวร์ๆ 2 คน คือ คนที่ใส่ชุดแบบอินเดียที่เอามาจากคานธี และคนที่มีรอยปานบนหัว เอามาจากมิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของโซเวียต)

gorosei-f

รูปแบบการใช้ “คณะกรรมการสูงสุด” คอยปกครองจะคล้ายๆ กับประเทศที่ใช้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ เช่น โซเวียดในอดีต หรือจีนในปัจจุบัน ที่มีคณะกรรมการโปลิตบูโร (Politburoแปลว่า “คณะกรรมการการเมือง” นะครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับตำรวจ) จำนวนหนึ่งคอยปกครองประเทศ มีอำนาจเหนือประธานาธิบดี-นายกรัฐมนตรีของประเทศนั้นๆ

ผู้บัญชาการกองกำลังสูงสุด

คาดว่าถัดจาก 5 ผู้เฒ่าแล้วก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลโลกอีกมาก แต่ในสายของ “ทหาร” หรือ “กองกำลังรบ” อำนาจจะถูกรวมอยู่ที่ “ผู้บัญชาการสูงสุด” (Commander-in-Chief หรือจะเรียกว่า “จอมทัพ” ก็ได้)

kong

จอมทัพในเรื่องที่เปิดตัวออกมาแล้วคือ Kong อดีตผู้บัญชาการทหารเรือที่ได้เลื่อนชั้นมาเป็น ผบ.สูงสุด

ในแง่อำนาจแล้ว เขาน่าจะเป็นรองแค่ 5 ผู้เฒ่าเท่านั้น เรายังไม่ค่อยรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับตัวของ Kong (ยกเว้นการที่เคยเป็น ผบ. กองเรือมาก่อน) ซึ่งเขาก็น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคตต่อไป

หน่วยงานที่รับบัญชาการจาก ผบ.สส. ที่แน่ๆ มี 3 หน่วยงานคือ

  • ทหารเรือ (Marines)
  • หน่วยสืบราชการลับ (Cipher Pol)
  • เจ็ดเทพโจรสลัด (Shichibukai)

1.1) ทหารเรือ (Marines)

โลกของวันพีซเต็มไปด้วยทะเล ดังนั้นเราจึงเห็นมีทหารแค่เหล่าเดียวคือเหล่าทหารเรือ ซึ่งก็ถือเป็นกองกำลังหลักของรัฐบาลโลกในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศในสังกัด

navy

เท่าที่เห็นในเรื่อง ทหารเรือมีอำนาจดูแลพื้นที่ของทหารเรือเองและพื้นที่ท้องทะเลระหว่างเกาะ แต่ถ้าเกาะนั้นมีประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยตั้งอยู่ มีกองทหารของตัวเอง (เช่น อลาบาสตา) ทหารเรือก็ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ เว้นเสียแต่ว่าได้รับการร้องขอจากประเทศนั้นๆ ให้ช่วยเหลือเท่านั้น

การจัดสายการบังคับบัญชาของทหารเรือ มีผู้บัญชาการทหารเรือ (fleet-admiral) เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในกองทัพ และมี “พลเอก” (admiral) จำนวน 3 คนคอยช่วยเหลืองาน ผู้กุมอำนาจเหล่านี้สามารถใช้ “บัสเตอร์คอลล์” อำนาจพิเศษทำลายล้างของกองทัพเพื่อถล่มเกาะใดๆ ได้

marine

นอกจากสายบัญชาการหลักของกองทัพเรือ (เช่น พวกของสโมกเกอร์) แล้ว กองทัพเรือก็ยังมีหน่วยพิเศษอย่างห้องแล็บคิดค้นอาวุธใหม่ๆ ของ ดร. Vegapunk (ที่ยังไม่โผล่หน้ามาในเรื่อง) อีกด้วย รายละเอียดของกองทัพเรือไว้ว่ากันในโอกาสหน้า

1.2) หน่วยสืบราชการลับ Cipher Pol

Cipher Pol เป็นหน่วยสืบราชการลับในโลกของวันพีซ แยกเป็นกองกำลังต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับทหารเรือ หน้าที่จะคล้ายๆ พวก CIA หรือ KGB ที่เป็นอีกหน่วยงานแยกจากกองทัพ

cp9

ปัจจุบันเรารู้ว่า Cipher Pol มีทั้งหมด 10 หน่วยย่อยคือ CP1-8 (หน่วยปกติ), CP9 (หน่วยพิเศษ) และล่าสุดคือ CP0 (ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด)

1.3) เจ็ดเทพโจรสลัด (Shichibukai)

เจ็ดเทพโจรสลัดคือ Shichibukai นำโมเดลของ “โจรสลัดรับจ้าง” (privateer) ในโลกความเป็นจริงมาใช้ คำว่าโจรสลัดรับจ้างในที่นี้หมายถึงโจรสลัดที่มีความสัมพันธ์กับรัฐ แต่ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นโจรสลัดอยู่ โดยหน้าที่หลัก (ตามประวัติศาสตร์จริง) ก็คือไล่ปล้นเรือของประเทศศัตรูเพื่อลดทอนกำลังของฝ่ายตรงข้ามลง มีปัญหาอะไรรัฐก็โบ้ยว่าเป็นฝีมือของโจรสลัด ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นทางการ

shichibukai

ในโลกของวันพีซ เจ็ดเทพโจรสลัดคือโจรสลัดกลุ่มต่างๆ ที่ยอมอยู่ใต้อาณัติของรัฐบาลโลก (เป็นบางส่วน) แลกกับอำนาจที่ได้รับในการปกครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถสร้างเขตอิทธิพลของตัวเองได้ และไม่มีค่าหัวอีกต่อไป (เพราะกลายเป็นโจรสลัดแบบถูกกฎหมายไปแล้ว) แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือรัฐบาลสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ เช่น สั่งให้ไปรบกับหนวดขาวก็ต้องไปรบ เป็นต้น

เป้าหมายของการใช้งานเจ็ดเทพโจรสลัดของรัฐบาลโลกคงเป็นเพราะว่าพื้นที่ของแกรนด์ไลน์นั้นกว้างขวางมาก จะใช้คนของรัฐบาลโลกเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ไหว รัฐบาลโลกจึงต้องยอมแบ่งอำนาจบางส่วนให้กับโจรสลัด (ที่ควบคุมได้) บ้าง แต่ในทางปฏิบัติแล้วเราก็เห็นว่ารัฐบาลโลกคุมเจ็ดเทพโจรสลัดไม่ค่อยได้ ทั้งกรณีคร็อคโคไดล์ไปตั้งองค์กรใต้ดิน Baroqueworks, โมเรียไปตั้งศูนย์วิจัยซอมบี้, โดฟลามิงโกกลายเป็นนายหน้าขายอาวุธใต้ดินให้กับโจรสลัดคนอื่นๆ

1.4) หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลโลก

หน่วยงานพวกนี้อยู่ใต้สังกัดรัฐบาลโลก แต่ยังไม่ชัดว่ารับคำสั่งตรงจากผู้บัญชาการกองทหารสูงสุดหรือไม่นะครับ

  • Enies Lobbyเปรียบเสมือนหน่วยตุลาการของรัฐบาลโลก ทำหน้าที่ตัดสินคดีความ
  • Impel Downคุกหลักของรัฐบาล

รายละเอียดของหน่วยงานพวกนี้คงไม่ต้องลงลึก เพราะไม่ได้มีส่วนกับ "พลังอำนาจ"ในโลกโดยตรงอยู่แล้ว ถือเป็นหน่วยงานตามสายการบังคับบัญชาธรรมดา ขอข้ามรายละเอียดไปนะครับ

2) โจรสลัด

“โจรสลัด” เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของกองกำลังอิสระที่อยู่ในโลกของวันพีซ โจรสลัดแต่ละกลุ่มเป็นอิสระต่อกัน มีภารกิจที่แตกต่าง แต่ที่เหมือนกันคือไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลโลก และมีสถานะ “นอกกฎหมาย” ถือเป็นอาชญากรในมุมมองของรัฐบาลโลก บางครั้งก็มี “ค่าหัวนำจับ” ตามระบบของรัฐบาลโลกด้วย

yonko

ในโลกของวันพีซมีโจรสลัดเยอะมาก แต่โจรสลัดที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ได้มี 4 กลุ่มที่เรียกกันว่า Yonko หรือที่ภาษาไทยเรียก "สี่จักรพรรดิ" (Four Emperors)

  • กลุ่มโจรสลัดผมแดงของแชงคูส
  • กลุ่มโจรสลัดบิ๊กมัม
  • กลุ่มโจรสลัดของ Kaido (ยังไม่ปรากฏตัวในเรื่อง)
  • กลุ่มโจรสลัดหนวดดำ ที่มาแทนโจรสลัดหนวดขาวเดิม

พื้นที่ปฏิบัติการของ Yonko อยู่ใน “โลกใหม่” โดย Yonko แต่ละกลุ่มจะทำตัวเป็น “เจ้าพ่อ” หรือ “ขุนศึก” (warlord) แผ่อิทธิพลอำนาจของตัวเองไป “คุ้มครอง” เกาะต่างๆ ของแกรนด์ไลน์

ตัวอย่างที่ชัดเจนในการชิงอิทธิพลเหนือเกาะใดๆ คือเกาะเงือก ที่เดิมทีอยู่ใต้อิทธิพลของโจรสลัดหนวดขาว พอหนวดขาวตายไปก็ย้ายไปอยู่กับบิ๊กมัมแทน

นอกจากกลุ่ม Yonko ที่เป็นโจรสลัด 4 กลุ่มใหญ่ ก็ยังมีโจรสลัดดาวรุ่งมาแรงอีก 9 กลุ่ม (แต่นับได้ 11 คนโดยเรียกว่า Eleven Supernovas) ซึ่งก็หมายถึงกลุ่มของลูฟี่ คิด ลอว์ ฯลฯ ด้วย ถือเป็นกลุ่มโจรสลัดที่มาแรงและกำลังสั่งสมอิทธิพลขึ้นไปท้าทาย Yonko ในอนาคต

3) กองทัพปฏิวัติ

กองทัพปฏิวัติหรือ revolutionary army ยังเปิดเผยข้อมูลออกมาเพียงเล็กน้อย เรารู้หลักๆ แค่ว่าหัวหน้าของกองทัพปฏิวัติคือ มังกี้ ดี ดราก้อน พ่อของลูฟี่, มีฐานอยู่ที่เกาะ Baltigo และกองทัพปฏิวัติเป็นศัตรูกับรัฐบาลโลก

rev-army

เป้าหมายของกองทัพปฏิวัติเท่าที่ทราบคือการยึดประเทศหรือเกาะใดๆ มาอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายตนแทนที่จะเป็นของฝ่ายรัฐบาลโลก ส่วนเป้าหมายระยะไกลกว่านั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร (ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับอุดมการณ์หรือมรดกตกทอดจาก “อาณาจักรโบราณที่สาบสูญ” เมื่อ 800 ปีก่อน)

ตรงนี้พอทีมของซาโบ เริ่มเข้ามามีบทบาทในเรื่องภาคเดรสโรซา น่าจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่านี้ครับ

ดุลยภาพแห่งอำนาจ

ในเรื่องเองก็มีการพูดถึง "สามมหาอำนาจ" (Three Great Powers) โดยแบ่งเป็น กองทัพเรือ, เจ็ดเทพโจรสลัด และสี่จักรพรรดิ

ถ้าเราแยกแยะด้วยกรอบด้านขั้วอำนาจข้างต้น จะเห็นว่ารัฐบาลโลกครอบงำ "ขั้วอำนาจ"ได้เกือบ 2 ใน 3 คือ สามารถสั่งการกองทัพเรือได้ 100%, สามารถสั่งการเจ็ดเทพโจรสลัดได้ในระดับหนึ่ง และไม่สามารถสั่งการสี่จักรพรรดิได้เลย ผลก็คือความสงบเรียบร้อยของโลกยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลโลกอยู่

power

แต่ความวุ่นวายของโลกในช่วงหลังๆ เราจะเห็นความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลโลกอยู่ไม่น้อย ทั้งในกองทัพเรือเอง (การต่อสู้กันระหว่างอาคาอินุกับอาโอคิยิที่ทำให้กองทัพแตกแยก) และการเปลี่ยนแปลงตัวสมาชิกของเจ็ดเทพโจรสลัดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโลกเองเริ่มอำนาจลด และพยายามแก้ปัญหาโดยการดึงโจรสลัดหน้าใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพเป็นเจ็ดเทพโจรสลัดแทนหน้าเดิมๆ

ส่วนดุลยภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลโลกกับฝ่ายโจรสลัดที่นิ่งมานาน ก็สูญสลายไปใน summit war ระหว่างรัฐบาลโลกกับ “หนวดขาว” หนึ่งในสี่ของ Yonko (โดยมีเอซหมัดอัคคีเป็นชนวนขัดแย้ง) ผลคือฝ่าย Yonko สูญสลายไปหนึ่งกอง ส่วนรัฐบาลโลกก็สูญเสียมากมายในส่วนของกองทัพเรือจนต้องปรับกระบวนทัพใหม่ครั้งใหญ่ (ถึงขนาดต้องย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือ)

ตอนหน้าจะมาลงรายละเอียดเรื่อง summit war ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ "การเมือง"ในโลกของวันพีซครับ

Ender's Game Movie

$
0
0

หนังปีที่แล้ว เพิ่งได้ดูเมื่อวานนี้ เนื้อหาเอามาจากนิยายไซไฟชื่อเดียวกัน

ในฐานะแฟนซีรีส์ Enderคิดว่าหนังทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ครับ (คือไม่หวังสูงเรื่องหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือนัก)

ประเด็นเท่าที่นึกออก

  • เอฟเฟคต์ทำดีใช้ได้เลย กำกับศิลป์ก็ทำสวยดี
  • หนังเล่าเรื่องค่อนข้างรวบรัดไปนิดนึง (อาจเป็นเพราะหนังสือมันมีรายละเอียดเยอะพอสมควรด้วย) คนที่ไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อนอาจจะงงๆ ที่มาที่ไปของเนื้อเรื่องหลายจุดอยู่บ้าง เช่น ทำไมทุกคนถึงฝากความหวังไว้ที่เอนเดอร์, ทำไมต้องใช้เด็กเป็นทหาร, ทำไมเมเซอร์ เร็กแฮมยังไม่ตาย, เกมจิตใจ mind game คืออะไร
  • ฉากต่อสู้ใน Battle School ทำสวยมาก แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความยาวทำให้เราไม่เห็นพัฒนาการของเอนเดอร์ในการเรียนรู้ "กลยุทธ์"ไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นว่าจู่ๆ เอนเดอร์เทพเลย ชนะศึกได้ง่ายๆ แบบที่คนไม่เคยอ่านคงงงว่า มันเจ๋งตรงไหนกัน
  • จุดที่หนังไม่ตรงกับหนังสืออย่างแรงคือ ตอนที่เอนเดอร์ชนะสงครามจำลองสุดท้าย เหล่าผู้การทั้งหลายไม่ดีใจแม้แต่น้อย (หันไปคุยกันแบบงงๆ) ซึ่งถือว่าพลาดจุด plot twisted ของเรื่องไปอย่างมาก
  • นักแสดงในเรื่องเลือกมาได้ค่อนข้างดี (โดยเฉพาะเด็กๆ) แต่ที่โผล่หน้าบนจอทีไรก็สะดุดกึ๊กทุกทีต้องยกให้ แฮร์ริสัน ฟอร์ด คือไม่ใช่พี่แกแสดงไม่ดี แต่เวลาโผล่มาผมจะรู้สึกว่า "นี่คือแฮร์ริสัน ฟอร์ด"เรากำลังเห็นฮาน โซโล คุมโรงเรียนยุทธการมากกว่าเห็นผู้บังคับการกราฟตามในหนังสือ (ถ้าเอาคนอื่นที่ไม่ดังเท่านี้มาเล่นคงลื่นกว่านี้)

Keyword: 

The Wolf of Wall Street ความโฉดชั่วของโบรกเกอร์

$
0
0

หนังชีวประวัติของ Jordan Belfort โบรกเกอร์จอมเจ้าเล่ห์แห่งวอลล์สตรีทในยุค 80s-90s ที่แสดงโดยลีโอนาโด ดิคาปริโอ ก่อนเข้าส่วนคอมเมนต์ก็ดูเทรลเลอร์กันก่อนครับ

สรุปคือ

  • หนังเล่าเรื่องได้น่าสนใจมากๆ เพราะเปิดเรื่องมาด้วยชีวิตอันแสนโลดโผนของ Belfort ที่ร่ำรวยมาจากการขายหุ้นแบบฮาร์ดเซลส์+เทคนิคตุกติก ใช้ชีวิตแบบไฮไลฟ์ มีบ้าน-รถ-เรือสุดหรู สาวๆ รายล้อม ปาร์ตี้ตลอดเวลา ถึงแม้เราจะรู้อยู่แล้วว่า "จบไม่สวย"แต่คำถามคือ "จบไม่สวยอย่างไร"กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าติดตามมาก
  • จุดเด่นของ Belfort คือสร้างตัวขึ้นมาจากศูนย์ เขาเป็นนักค้าหุ้นธรรมดาที่มีความกระหายที่จะรวยอย่างแรงกล้า เอาตัวรอดมาจากเหตุการณ์ตลาดหุ้นเจ๊ง Black Monday ปี 1987ด้วยประสบการณ์ความกะล่อนจากโบรกเกอร์รุ่นพี่ แล้วมาผสมกับ "โอกาส"ในการทำกำไรจากหุ้นเล็กที่ขายนอกตลาด (pink sheet) ที่โบรกเกอร์กระแสหลักไม่สนใจ ไต่เต้าขึ้นมาจนกลายเป็นบริษัทดาวรุ่งที่ "คนกระหายเงิน"ทุกคนอยากมาทำงานด้วย
  • ลีโอนาโดเล่นได้สมบทบาทมาก ทุ่มเทสุดๆ เพราะ Belfort เล่นยาหนักมาก ต้องอัดยาตลอดเวลา หยิ่งผยอง เจ้าเล่ห์ ไร้ความจริงใจ (คนในบริษัทเรียกเขาว่า wolfie) แต่ก็มีการแสดงออกต่อหน้าผู้คนที่ใสซื่อ ดูเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
  • จุดที่เป็นทั้งจุดเด่นและจุดอ่อนของหนังเรื่องนี้คือ ความรุนแรง โดยเฉพาะความโฉดชั่วทั้งหลายที่แสดงออกกันอย่างเต็มที่ (ยา เซ็กซ์ อาชญากรรม) ปล่อยกันไม่ยั้งจนดูสมจริง (และชวนให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย "อยากมีชีวิตแบบนี้บ้างว่ะ"ในครึ่งแรกของเรื่อง) ซึ่งในมุมกลับแล้วมันก็อาจจะรุนแรงไปสำหรับตลาดคนดูกระแสหลัก
  • หนังโดดเด่นมากในครึ่งแรก (ชีวิตบวกของ Belfort) แต่ช่วงจุดเปลี่ยนเข้าสู่ความตกต่ำนั้นจังหวะของหนังค่อนข้างจะเบาลงกว่าช่วงแรกหน่อย (คือผมรู้สึกว่ามันน่าจะบีบเค้นได้มากกว่านี้อีกนิด)

โดยรวมแล้วถือว่าหนังสนุก น่าติดตาม พระเอกเล่นดี นางเอกฮ็อต (น่าจับตาเธอคนนี้มาก Margot Robbie) แต่ดูแล้วเป็นหนังดราม่าชีวิตหักมุมทั่วไป ดูเพลินในแง่ความบันเทิงอย่างเดียว ถ้าอยากได้ข้อมูลในวงการโบรกเกอร์วอลล์สตรีทมาประดับความรู้ ก็คงไม่ได้อะไรเท่าไรนัก

Keyword: 

ประสบการณ์ส่งซ่อมรางปลั๊ก Toshino

$
0
0

ในยุคสมัยเครื่องใช้ไฟฟ้าครองเมือง รางปลั๊ก (หรือ "ปลั๊กพ่วง"แล้วแต่จะเรียก) กลายเป็นสิ่งจำเป็น คำถามต่อมาคือซื้อรางปลั๊กยี่ห้ออะไรดี

ในหมู่รางปลั๊กทั้งหลายที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ยี่ห้อ Toshino (แบรนด์ไทย ตั้งชื่อญี่ปุ่น) ดูจะโดดเด่นที่สุดเพราะมีขายทุกที่ ทุกรุ่น ทุกแบบ ทุกราคา และถึงแม้จะโดนด่าในโลกออนไลน์ถึงคุณภาพงานที่มีปัญหาอยู่เรื่อยๆ แต่สุดท้ายผมก็ซื้อมาจนได้เพราะถูก+ซื้อง่าย

Toshino Plug

และแล้ววันหนึ่งก็มาถึง เสียบปลั๊กผิดท่า ทำให้รางปลั๊กช็อต ใช้งานไม่ได้ครับ อาการไม่น่าจะมีอะไรมากคือฟิวส์ขาด ตอนแรกกะว่าจะแงะมาซ่อมเอง แต่ก็พบว่าส่วนของฟิวส์ (ใต้โลโก้ Toshino ในภาพ) ถูกบัดกรีเข้ากับตัวปลั๊กเลยไม่สามารถแกะเองได้ง่ายๆ

ปลั๊กเจ๊ง ต้องใช้ จะซื้ออันใหม่ไม่ใช่ปัญหา แต่อันเก่าจะปล่อยให้เสียแล้วทิ้งไว้เฉยๆ ก็คงไม่ดีเช่นกัน ผมเลยหาข้อมูลและพบว่า Toshino รับประกัน ส่งซ่อมได้ฟรีโดยกรณีส่วนใหญ่จะซ่อมได้ฟรีหมด

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดว่าส่งซ่อมได้ที่ไหนนั้นมีบนหน้าเว็บไม่เยอะนัก ผมเลยเข้าเว็บ Toshinoแล้วโทรไปถาม (เบอร์ในหน้าเว็บ เผื่อเว็บเจ๊ง คือ 02-412-5620) ก็ได้รับคำตอบว่าส่งซ่อมได้ที่เดอะมอลล์ทุกสาขา (แผนกเครื่องมือช่าง) และเซ็นทรัลเป็นบางสาขา

เนื่องจากผมอยู่ใกล้เซ็นทรัลลาดพร้าวที่สุด ก็ได้รับข้อมูลว่าเซ็นทรัลลาดพร้าวก็รับส่งซ่อม อยู่ที่ชั้น 5 แผนกเครื่องมือช่าง หลังจากนั้นเลยลองไปส่งดูครับ พนักงานจะออกใบส่งสินค้าซ่อมให้เรา จากนั้นก็รอสักพักใหญ่ๆ (จำวันไม่ได้ละเอียด แต่น่าจะราวๆ เกือบเดือนได้) พนักงานจะโทรมาแจ้งว่าซ่อมเสร็จแล้ว ให้ไปเอาได้เลย

สุดท้ายสรุปได้ว่า Toshino ส่งซ่อมได้ฟรี เพียงแต่อาจจะนานหน่อยครับ ใครที่คิดจะซื้อรางปลั๊กของ Toshino ก็ควรนำปัจจัยนี้มาพิจารณา

เท่าที่เคยใช้มาหลายแบรนด์ ปลั๊ก Toshino ของผมก็เพิ่งพังเป็นตัวแรกหลังจากใช้มานานพอสมควร แถมยังมีเรื่องส่งซ่อมได้ฟรี (อยู่ต่างจังหวัดอาจจะไม่สะดวกนัก เพราะต้องส่งพัสดุไปรษณีย์เข้ามา) เมื่อพิจารณาเทียบกับราคาแล้ว ก็ถือว่าโอเคมากๆ เลยเหมือนกันนะ

Keyword: 


Pacific Rim นี่ล่ะ หนังหุ่นยนต์แห่งยุคสมัย

$
0
0

หนังหุ่นยนต์สู้สัตว์ประหลาดจากฝั่งตะวันตก ที่เพื่อนๆ ผู้ชายหลายคนกรี๊ดกร๊าดกันมากเมื่อปีที่แล้ว เพิ่งมีโอกาสได้ดูก็พบว่า สามารถอธิบายด้วยคำว่า 'fresh'มากๆ เลยครับ

ในภาพรวมแล้วถือว่า บาลานซ์ของหนังทำดีมาก ทั้งสิ่งที่เป็น "ตลาด"ต้องขายคนหมู่มาก และสิ่งที่เป็นเรื่อง "แปลกหรือใหม่"ที่ใส่เข้ามา ในระดับที่กำลังพอดี

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างหนัง genre เดียวกันอย่าง Transformer ถือเป็นหนังตลาดมากๆ สุดไปทางหนึ่ง เน้นขายฉากต่อสู้อลังการ หุ่นยนต์เท่ นางเอกเอ็กซ์ มุขตลกเจ็บตัว

ในอีกทางหนึ่งเราก็เคยเห็นการ์ตูนหุ่นยนต์แนวซีเรียส สมจริงหน่อย อย่างกันดั้ม (บางภาค) หรือ Evangelion ที่ไม่ได้เน้นฉากบู๊ไร้สมองมากนัก แต่เน้นไปที่ความสมจริงของเนื้อเรื่อง การเล่าเรื่อง ตัวละคร ฯลฯ แทน หนังแนวนี้ก็จะเครียดๆ หน่อยไม่เหมาะกับตลาดแมสเท่าไร

แต่ Pacific Rim รวบความต้องการจากสองสุดปลายแล้วเอามาเล่าได้แบบพอดีๆ ซึ่งถือว่าเจ๋งมากครับ

ความเจ๋งของ Pacific Rim เริ่มตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องแล้ว เพราะลูกค้าที่จะชม Pacific Rim มีความต้องการขั้นสูงสุดคือ "อยากดูฉากบู๊หุ่นยนต์กับสัตว์ประหลาด"ซึ่งหนังก็จัดให้โดยการเล่าเรื่องปูพื้นแบบเร็วๆ แล้วเริ่มเรื่องด้วยการให้หุ่นยนต์ซัดกับสัตว์ประหลาดเลย

ฉากบู๊ลักษณะนี้ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ทันที แต่มันก็ไม่ใช่ฉากบู๊ไร้สมองเพราะดันจบลงด้วยพี่ชายพระเอกตาย พระเอกบาดเจ็บ หุ่นพัง และนำไปสู่ภาวะที่เปลี่ยนไปของสงคราม (ซึ่งถือเป็นเนื้อเรื่ององค์หลัก) เริ่มมีความซีเรียสแทรกเข้ามาแล้วใช่ไหมครับ

เนื้อเรื่ององค์หลักยังดึง element ของหนังบู๊ตลาดแนวๆ นี้เข้ามา เช่น การรวมหุ่นยนต์จากหลายประเทศ ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป (Street Fighter หรือ G Gundam ก็ได้) แต่ก็มีเนื้อหาเชิงลึก เช่น ความสัมพันธ์หรือปูมหลังของนักบินแต่ละคน คอยตามประกบไว้ไม่ให้หลุดไปไกลมากนัก

โลกเรามีหนังหุ่นยนต์ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดมาเยอะแล้ว แต่ Pacific Rim ก็ยังแทรก element ที่เป็นของใหม่ (fresh) เข้ามาให้หนังดูแปลกตาออกไปบ้างหลายจุด เช่น

  • ระบบนักบินสองคนที่ต้องซิงก์กัน เอื้อให้เกิดประเด็นขัดแย้งระหว่างนักบินได้ง่าย
  • ฉากต่อสู้ที่เปลี่ยนจากการสู้ในเมืองแบบที่เราคุ้นเคย มาเป็นการต่อสู้ในท้องทะเล
  • เนื้อเรื่องที่สัตว์ประหลาดบุกโลก ไม่ได้มาจากบนฟ้า แต่มาจากช่องว่างมิติใต้ทะเลลึกแทน

ในประเด็นเรื่องความซีเรียสสมจริง หนังก็ไม่ได้ไปไกลเกินกว่าที่ควร (จนตลาดแมสรับไม่ได้) เราจึงยังเห็นช่องโหว่ของพล็อตอยู่หลายจุด เช่น การซิงก์ข้อมูลระหว่างคู่ตัวเอกทั้งสองคู่ในเรื่อง (อเมริกา-ออสเตรเลีย) ที่บทจะซิงก์กันได้ง่ายๆ ก็จบเลย, ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำตัวเป็น comic relieft (แถมทำได้ไม่ค่อยดีนัก) มากกว่าจะเป็นทีมยุทธศาสตร์ แต่โดยรวมแล้วจุดโหว่พวกนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ และพอจะลืมๆ ไปได้

นอกจากเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องแล้ว สิ่งที่หนังทำได้ดีมากๆ คือ art direction ที่ไม่ไฮเทคสุดกู่แบบ Transformer แต่จะออกแนว steampunk เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นบางเรื่อง ดูแปลกตาไปอีกแบบ เรื่อง visual effect ก็ทำได้สวยงามไม่มีที่ติครับ (ค้นข้อมูลดูแล้ว เป็นฝีมือ ILM)

จุดด้อยของหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องการไม่ค่อยเน้นคาแรกเตอร์ของสัตว์ประหลาด (Kaiju) มากเท่าที่ควร เท่าที่อ่านมา ทีมสร้างหนังออกแบบ Kaiju เยอะมาก และแต่ละตัวก็มีคาแรกเตอร์ต่างกันไป แต่ด้วยสภาพการต่อสู้หรือ visual ที่ไม่ได้เน้นมากนัก ทำให้รู้สึกว่า Kaiju ทุกตัวหน้าตามันเหมือนๆ กันไปหมด แยกแยะความแตกต่างไม่ได้เลย (ผมจำได้แค่ ตัวสุดท้ายใหญ่สุด)

โดยรวมแล้วสามารถพูดได้เลยว่า นี่คือหนังหุ่นยนต์แห่งยุคสมัยใหม่ (ในขณะที่ Transformer เป็นการรีเมคของเก่า) ใส่ element ที่สดใหม่เข้ามา และน่าติดตามต่อว่า Pacific Rim จะสามารถขยายตัวเองเป็นซีรีส์หนัง-เกม-ของเล่น ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้อย่างไร

ตำนาน บาร์ใหม่ ม.เกษตรศาสตร์ - แล้วบาร์เก่าล่ะ อยู่ที่ไหน

$
0
0

นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งอดีตและปัจจุบัน น่าจะคุ้นเคยกับ "บาร์ใหม่"หรือ "โรงอาหารกลาง 1"เป็นอย่างดี

บาร์ใหม่ โรงอาหารกลาง 1

ชื่อ "บาร์ใหม่"เป็นชื่อที่ถูกเรียกต่อๆ กันมาโดยไม่มีการถ่ายทอดบอกความหมายหรือที่มาชัดเจนนัก (จนบาร์มันเก่าและโทรมสุดๆ ก็ยังเรียกกันว่า "บาร์ใหม่")

ถึงแม้เราพอเดาได้จากชื่อว่า "บาร์"หมายถึงสถานที่ขายอาหาร และ "ใหม่"ก็คือแห่งใหม่ (จนทำให้เกิดชื่อ "บาร์ใหม่กว่า") แต่เราก็ไม่เคยสนใจกันว่า "บาร์เก่า"ที่สร้างขึ้นก่อนบาร์ใหม่ อยู่ที่ไหนกันแน่

ผมสงสัยเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี วันนี้ได้คำตอบสักทีครับ

ผู้ที่อธิบายเรื่องนี้คือ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ซึ่งเป็นญาติของผมเอง ท่านเป็นทั้งอดีตนิสิตเก่า ม.เกษตร บางเขน ยุคดั้งเดิม (รุ่น 14), อาจารย์ภาควิชาพืชสวน และรองอธิการบดี วิทยาเขตกำแพงแสน

คำตอบที่ได้คือ "บาร์เก่า"เดิมทีเป็นสถานที่ขายนมและไข่ไก่ที่ได้จากฟาร์มของมหาวิทยาลัยเอง ภายหลังก็พัฒนามาขายอาหารเพิ่มเติมด้วย โดยนิสิตในยุคนั้นใช้วิธี "ผูกปิ่นโต"กับแม่ค้าขายอาหารแต่ละเจ้า จ่ายเงินเป็นรายเดือนเพื่อมากินอาหารชุดตามที่แม่ค้าเตรียมไว้ให้ (กับข้าวจำกัด เติมข้าวไม่จำกัด)

สถานที่ของบาร์เก่านั้นอยู่แถวๆ สนามฟุตบอล/รักบี้ ของ ม.เกษตรในปัจจุบัน ส่วนเหตุผลที่ย้ายก็เป็นเพราะคับแคบและอยากจัดสรรที่ใหม่ เลยย้ายมาสร้างเป็น "บาร์ใหม่"ในปัจจุบัน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกอย่างคือ ร้านอาหารที่ขายมาตั้งแต่สมัย "บาร์เก่า"คือร้านเจ๊เล็ก ที่ขายมาตั้งแต่รุ่นแม่ ปัจจุบัน "เจ๊เล็ก"ที่เป็นลูกสาวก็ยังเปิดร้านอยู่ในบาร์ใหม่ครับ

บาร์ใหม่ โรงอาหารกลาง 1

โชคดีอีกเหมือนกันว่าวันนี้แวะไปบาร์ใหม่ แล้วพบว่าปิดปรับปรุง 6 เดือน โดยย้ายผู้ขายอาหารออกมาที่เต็นต์ด้านนอก (ตรงแถวหน้า 7-Eleven) ต้องรอดูว่าปรับปรุงเสร็จแล้วจะออกมาหน้าตาสวยไฉไลขนาดไหนกันครับ

บาร์ใหม่ โรงอาหารกลาง 1

ป.ล. เกร็ดอีกอย่างที่เพิ่งทราบวันนี้คือ ร้านอาหาร Dairy Queen ที่อยู่ด้านหน้า ม.เกษตร บางเขน ฝั่งถนนงามวงศ์วาน เดิมทีเป็นร้านขายผลผลิตทางการเกษตรของมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะนมวัว) ภายหลังเอาท์ซอร์สให้คนนอกเข้ามาดูแล และเมื่อขยับขยายพื้นที่ เจ้าของจึงย้ายออกไปตั้งด้านนอกมหาวิทยาลัย แต่ยังใช้ชื่อเดิมอยู่ครับ

First Time Taiwan

$
0
0

เมื่อต้นเดือนมีโอกาสได้ไปไต้หวันเป็นเวลาสั้นๆ 3 วัน (เพิ่งหาเวลามาเขียนลงบล็อกได้เพราะกลับมาแล้วยุ่งเกือบทุกวัน) แม้จะไม่มีโอกาสไปไหนเยอะเพราะตารางงานแน่นเอี๊ยด อยู่แต่ในโรงแรมกับศูนย์ประชุมเป็นหลัก แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีใช้ได้เลยครับ

Taipei 101

อารมณ์รวมๆ แล้วไต้หวันคือ "จีน"ที่ไม่มั่วแบบจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ไม่เป็นระเบียบเคร่งครัดมากขนาดสิงคโปร์ เรียกได้ว่าบวกกันหารสองแล้วออกมาลงตัวกำลังดี โดยส่วนตัวแล้วผมว่าท้องถนนดูสะอาดและเป็นระเบียบกว่าเมืองไทยอยู่ 1-2 ขั้น (แต่เพื่อนไต้หวันของผมเถียงว่าไม่จริง เพราะผมไม่เห็นโซนที่มันสกปรกต่างหาก)

  • คนไต้หวันหน้าตาค่อนข้างดีตามค่าเฉลี่ยเอเชียครับ เดินงาน Computex ก็พริตตี้เต็มงาน ไม่ด้อยไปกว่าเมืองไทยเท่าไร
  • ตามท้องถนนคนไม่พูดภาษาอังกฤษกัน แต่ไปเดินงาน Computex ทุกบูตเห็นหน้าเราเอเชียจะจู่โจมเข้าหาด้วยภาษาจีนชุดใหญ่ พอเราทำหน้าเอ๋อๆ พูดไม่ได้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพริตตี้หรือแม่ค้าโรงงานแท็บเล็ต จะสามารถสลับเป็นภาษาอังกฤษได้ทันที (ประทับใจ)
  • ค่าเงินเท่าๆ กับเงินไทย คำนวณง่ายมาก ส่วนค่าครองชีพ เท่าที่ซื้อของตาม 7-11 รู้สึกจะถูกกว่าเมืองไทยอยู่นิดนึงนะ
  • เกาะไต้หวัน ภูเขาเยอะ บริเวณในเมืองจะสูงๆ ต่ำๆ และมีต้นไม้ค่อนข้างเยอะ รถก็ติดในระดับหนึ่งแต่เทียบกับกรุงเทพหรือจาการ์ตาแล้วยังเด็กๆ

แม่น้ำของไทเปจะกันพื้นที่ข้างแม่น้ำไปทำเป็นสวน บ้านหรือสิ่งปลูกสร้างจะไม่อยู่ติดแม่น้ำแบบเมืองไทย เข้าใจว่าคงช่วยป้องกันเรื่องน้ำท่วมด้วยส่วนหนึ่ง สะพานข้ามแม่น้ำจะทาสีแตกต่างกันไป ทางด่วนตอม่อสูงกว่าเมืองไทยมาก

P6021245

แท็กซี่สีเหลืองล้วน คนขับมีตังทอนแม้จ่ายแบงค์ใหญ่ (ไปกันทั้งทริป ทุกคนจ่ายใบละ 1,000 คนขับมีทอนเสมอ) ค่าโดยสารเริ่มต้น 70 ดอลลาร์

P6021208

คนเลี้ยงหมากันเยอะมาก และพาหมามาเดินเล่นนอกบ้านกันเยอะมาก ที่ประทับใจคือไม่มีขี้หมาเลย

WP_20140601_20_16_08_Pro

ชาไข่มุขอร่อยจริงคอนเฟิร์ม ขนาดมีเวลาเที่ยวไม่เยอะยังซัดไป 2-3 แก้ว แก้วนึงประมาณ 40-50 บาทบ้านเรา เสียดายว่าไม่ได้ไปกินร้านต้นฉบับ

Coco Tea

P6021242

ห้างร้านต่างๆ ก็คล้ายกับที่เมืองไทยมี 7-Eleven, Family Mart, Carrefour (7-Eleven มีโอเด้งขาย แบบเดียวกับ 7-Eleven ญี่ปุ่นด้วย)

P6011134

สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดใน 7-Eleven คือมันเผาครับ มีก้อนหินทำเหมือนวางอยู่บนถ่านด้วยนะ อลัง!

WP_20140603_13_07_35_Pro

คนที่นี่จอดมอเตอร์ไซด์เบียดกันมากๆ ล้อชนล้อ แฮนด์ชนแฮนด์ (ชนิดว่ามาจอดเมืองไทยนี่มีต่อยกันแน่ๆ) และมอเตอร์ไซด์ทั้งหมดจะเป็นรถแนวๆ สกู๊ตเตอร์ มีกระบังหน้า คันป้อมๆ น่ารักครับ

P6011137

Regent Hotel Taipei

เสียดายว่าไปรอบนี้ไม่มีโอกาสกินเต้าหู้เหม็นกับเดินตลาดกลางคืนครับ (ไม่ได้ขึ้น Taipei 101 ด้วยแต่ก็โฉบไปโฉบมาอยู่แถวๆ นั้น) โดยรวมแล้วถือว่าดีใช้ได้เลย ไว้โอกาสหน้าจะมาใหม่ มาเที่ยวแบบดีๆ

Lumia 1020 Video Recording กับการลองถ่ายคอนเสิร์ต

$
0
0

มี Lumia 1020 ในครอบครองมาเกือบปี เคยเขียนเรื่องคุณภาพของภาพถ่ายจาก 1020ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาแทบไม่เคยใช้ฟีเจอร์เรื่องการถ่ายวิดีโอของ 1020 (ที่โนเกียคุยว่าดีทั้งภาพดูนิ่งและเสียงคมชัด) เลย เพราะส่วนใหญ่ก็แทบไม่มีเรื่องต้องถ่ายวิดีโอ แถม use case ที่โนเกียชอบโปรโมทก็คืองานคอนเสิร์ต (ห้องมืด+สั่น+ต้องการเสียงคุณภาพสูง) เราก็ไม่ได้ไปอยู่ในสภาวะแบบนั้นสักเท่าไร

เดือนที่ผ่านมาโอกาสก็มาเยือนแบบติดๆ กัน ก็เลยได้เวลาลองของกันสักหน่อยครับ

เริ่มจากงานแต่งน้องชาย ที่มีคุณสุเทพ วงศ์กำแหง มาเป็นแขกและร้องเพลง "ระฆังทอง"ให้คู่บ่าวสาว

อีกงานหนึ่งคืองาน AIS Blogger Party (ดูรายละเอียดงานได้จากบล็อกของหนูเนยละกันนะ) ที่มีมินิคอนเสิร์ตของวง "ลิปตา"มาแสดง (คัตโตะนี่เอนเตอร์เทนเก่งจริงๆ ยอมรับเลย)

คลิปแรก ช่วงท้ายไม่ค่อยดีเท่าไร เหมือนกล้องหลุดโฟกัสไป (เป็นบ่อยหลังอัพ 8.1 Dev Preview)

เจอปัญหาข้างต้นเลยกดหยุดถ่าย แล้วถ่ายใหม่อีกครั้ง ออกมาเรียบร้อยดี

โดยรวมก็ถือว่าใช้ได้เลยสำหรับกล้องมือถือขนาดพกพาใส่กระเป๋ากางเกงได้ ที่เหลือก็ต้องรอติดตามดูว่าปีนี้ โนเกียจะออก "ตัวต่อ"ของ 1020 ที่คุณภาพดีขึ้นอีกมากแค่ไหนกันครับ

ความโดดเดี่ยวของ Founder

$
0
0

ช่วงหลังๆ ได้คุยกับ founder หลายๆ ท่านในแวดวง startup เมืองไทย ทุกคนเจอปัญหาเรื่องนี้ และ Tech in Asia เพิ่งลงบทความเกี่ยวกับ "การแก้ปัญหาทางอารมณ์ของผู้ประกอบการ" (Dealing with entrepreneur depression the Asian way) เลยคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและควรเขียนลงบล็อกสักหน่อย

Holding On To What Is Real, At Least

บทความอ้างคำพูดของ Steven Goh ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ migme เขาบอกว่า หลายคนอาจบอกว่าการเป็นซีอีโอนั้นเป็นตำแหน่งที่โดดเดี่ยว (บล็อกเก่า ซีอีโอเป็นตำแหน่งที่ "โดดเดี่ยวที่สุดในโลก") แต่การเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและซีอีโอก็ยิ่งโดดเดี่ยวคูณสองมากยิ่งขึ้น

ความกดดันของธุรกิจที่ "อาจล้มเหลวได้ทุกเมื่อ"และ "คนรอบข้างดูแคลนตลอดเวลา"บวกกับสถานภาพของผู้ก่อตั้งที่ "ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง"สร้างความเครียดอย่างมหาศาล และความรู้สึกแบบนี้เป็นสิ่งที่คนนอกยากจะเข้าใจได้ แถมยิ่งค่านิยมแบบเอเชียที่ต้อง "รักษาหน้า"ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้ความกดดันเพิ่มเป็นทวีคูณ

บทความยังอ้าง Lim Der Shing ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์หางาน JobsCentral ที่ขายกิจการให้บริษัทอเมริกาได้สำเร็จ หน้าฉากของเขาถูกสังคมมองว่าเป็น "ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ"แต่เขาก็เล่าว่าหลังฉากนั้นโหดร้ายมากทีเดียว ต้องผ่านช่วงหกเดือนที่เงินร่อยหรอลงเรื่อยๆ จนมีความกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่ายพนักงาน และเขาก็เคยรู้สึกว่า "เกือบจะยอมแพ้อยู่แล้ว"

ทางแก้คงไม่มีอย่างอื่นนอกจากปลอบใจกันเอง ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนที่บทความอ้างถึง บอกว่าพอช่วงดาวน์ๆ ตกต่ำ ก็ต้องช่วยกันเชียร์ให้มีกำลังใจมากขึ้นและกลับมาสู้กับปัญหาได้อีกครั้ง คนรอบตัว เพื่อนสนิท ครอบครัว มีผลมากในเรื่องนี้

Goh ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า มันเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญ จงยอมรับสภาพ (get over it) ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง ก็ไม่มีทางเลือกอื่น just do it

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็น dilemma คือมันเครียดก็ต้องระบายออก แต่ด้วยสถานะของ founder ไม่สามารถแสดงความอ่อนแอออกมาได้ในยามที่กิจการมีปัญหา เพราะลูกน้องจะยิ่งตื่นตระหนกและสถานการณ์จะแย่กันไปใหญ่ เรียกง่ายๆ ว่าต้อง "หน้าชื่นอกตรม"ตามสุภาษิตโบราณนั่นเอง

ดังนั้นทางออกที่เหมาะสมก็คงเหมือนกับที่ในบทความเขียนเอาไว้คือ ระบายปัญหาในกลุ่มปิดเฉพาะกับคนสนิทที่ไว้ใจได้เท่านั้น และในกลุ่มผู้ก่อตั้งองค์กรด้วยกันก็ต้องช่วยกัน support ซึ่งกันและกันในยามที่ใครสักคนท้อ (ถ้ามาเดี่ยวนี่ก็ไม่รู้จะช่วยยังไงเหมือนกันนะครับ ไม่เคยเผชิญสภาวะแบบนั้น)

Image Credit: Andrew W

Keyword: 

เที่ยวไทเป - หอประวัติเจียงไคเช็ค

$
0
0

บล็อกเที่ยวไต้หวันแบบสั้นๆ ครับ เนื่องจากเวลาว่างมีน้อยเพราะไปทำงาน ก็ต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า โชคดีที่งานจัดตอนเที่ยงทำให้มีเวลาตอนเช้านิดหน่อย ผมเลยตัดสินใจรีบกินอาหารเช้า แล้วออกไป "ตามหาเจียงไคเช็ค"สักหน่อยครับ

Chiang Kai-shek Memorial Hall

จอมพลเจียงไคเช็ค เป็นบอสใหญ่ของจีนคณะชาติพรรคก๊กมินตั๋ง ผู้สืบทอดอำนาจจากซุนยัตเซ็น บิดาแห่งสาธารณรัฐจีน ที่ดันตายไปเสียก่อนจะเห็นการปฏิวัติสำเร็จ

ถึงแม้ในบั้นปลาย เจียงไคเช็คจะพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง จนต้องหนีข้ามทะเลมายังเกาะไต้หวัน แต่เขาก็ถือเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่"และบิดาผู้สร้างชาติไต้หวันอยู่เสมอมา

หอประวัติเจียงไคเช็ค หรือ Chiang Kai-shek Memorial Hall อยู่กลางเมืองไทเปเลย มีสถานีรถไฟใต้ดินของตัวเองชื่อเดียวกันคือ Chiang Kai-shek Memorial Hall เดินทางง่ายและสะดวก (รถไฟสายสีแดง) แถมเผอิญโรงแรมอยู่ใกล้กับสถานี Zhongshan ที่อยู่บนรถไฟเส้นสีแดงเหมือนกัน ก็ง่ายเลยครับ เดินจากโรงแรมไปลงใต้ดินใกล้นิดเดียว นั่งไปสามป้าย โผล่มาแล้วก็เจอเลย

หมายเหตุ:หอประวัตินี้ไม่ใช่สุสานนะครับ ศพของเจียงไคเช็คถูกฝังอยู่ที่อื่นในไต้หวัน เจ้าตัวมีความฝันว่าอยากกลับไปหลับอยู่ที่บ้านเกิดในจีนแผ่นดินใหญ่ เลยเก็บศพเอาไว้ "เผื่อ"จะได้กลับไป

รถไฟใต้ดินไทเปครับ หน้าตาสะอาดดี แต่วันที่ไปเป็นวันหยุดพอดี คนเลยน้อยด้วย

Taipei Metro

หน้าตาของสถานี Chiang Kai-shek Memorial Hall ใหญ่โต มีสองชั้น ไปถึงสถานีแล้วก็เดินตามป้ายไปเรื่อยๆ ครับ (ถ้าจำไม่ผิดจะเป็น Exit 5) ไม่มีอะไรยาก

Taipei Metro

เมื่อโผล่ขึ้นมาบนดินแล้วจะเจอสวนหย่อมเล็กๆ ให้เดินทะลุสวนนั้นไปครับ สถานที่จะอยู่ด้านหลังเราทั้งหมด

พื้นที่ตรงหอประวัติเจียงไคเช็คเป็น "จัตุรัส"ขนาดใหญ่ Memorial Hall Square ที่ล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างทั้ง 4 ด้าน

  • หอประวัติเจียงไคเช็ค
  • โรงละครแห่งชาติ (National Theater)
  • โรงคอนเสิร์ตแห่งชาติ (National Concert Hall)

โรงละครแห่งชาติกับโรงคอนเสิร์ตแห่งชาติ เป็นสิ่งปลูกสร้างสไตล์จีน (แต่สร้างใหม่นะ) ที่เกือบเหมือนกัน (แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว) ตั้งหันหน้าเข้าหากันครับ ดังนั้นจัตุรัสจะมีหน้าตาเหมือนในภาพ (ถ่ายจากหน้า National Theater ที่อยู่ติดกับสถานี MRT)

20140602_084031

อันนี้ National Concert Hall แบบชัดๆ ครับ

National Concert Hall

National Theater

WP_20140602_07_49_10_Pro

National Theater อีกมุม สถานีรถไฟ MRT ก็คือตรงเก๋งหลังคาสีน้ำเงินที่ขวามือสุดของภาพ

WP_20140602_07_42_45_Pro

ข้างนอกดูจีนโบราณ ข้างในมันก็ฮอลล์ยุคใหม่ดีๆ นี้เอง

WP_20140602_07_50_00_Pro

หลังคาหลายชั้น สวยงาม

WP_20140602_07_51_32_Pro

WP_20140602_07_50_40_Pro

ส่วนหอประวัติของเจียงไคเช็ค หน้าตาชัดๆ ก็แบบนี้ (พบว่าควรมาตอนบ่ายจะถ่ายรูปสวยกว่า ตอนเช้าจะย้อนแสงนะ)

20140602_084527_Richtone(HDR)

หันกลับไปดูด้านหลัง มี "เสาธงแห่งชาติ"ตั้งอยู่ตรงกลาง

WP_20140602_07_47_10_Pro

ประตูชัยครับ เขียนว่า "Liberty Square" ("自由廣場") เอามาจากวิกิ

WP_20140602_07_51_05_Pro

WP_20140602_07_43_46_Pro

หอประวัติเจียงไคเช็คนี่เข้าไปดูข้างในได้ครับ แต่ของผมนี่เวลาไม่พอจริงๆ เลยดูแต่ข้างนอกนิดหน่อยเท่านั้น (เสียดายเหมือนกัน ไว้แก้ตัวคราวหน้า)

WP_20140602_07_38_20_Pro

ด้านหลังของ National Theater ครับ ถ่ายจากฝั่งติดถนน (ตรงข้างๆ สถานี MRT)

WP_20140602_07_36_52_Pro

พาเที่ยว Tamsui แหล่งชิวริมน้ำ เมืองปากแม่น้ำของไทเป

$
0
0

บล็อกตอนสุดท้ายของซีรีส์เที่ยวไต้หวันแบบรีบๆ ครับ คราวนี้จะพาไปชมเขต Tamsui ที่อยู่ริมแม่น้ำเหนือกรุงไทเปขึ้นไปอีกหน่อย มีแหล่งชิวริมน้ำที่คนไต้หวันเค้ามาเดินกันเต็มไปหมดเลย

20140601_193906

เรื่องมีอยู่ว่า สมัยเรียน ป.โท มีเพื่อนไต้หวันอยู่คนหนึ่ง หลังจากเรียนจบแล้วก็คุยกันอยู่บ้าง (ขอบคุณโลกนี้ที่มี Facebook ในช่วงนั้นพอดี สายสัมพันธ์พวกนี้เลยยังอยู่) มันเคยมาเที่ยวเมืองไทยครั้งหนึ่ง เราก็ไปพบหน้า พอรอบนี้เราไปไต้หวันบ้างก็เรียกมาเจอสักหน่อย

บอกเพื่อนไว้ว่ารอบนี้มีเวลาน้อย ก็เลยนัดให้มาเจอที่โรงแรม กะว่านั่งคุยกันขำๆ ครึ่งชั่วโมงคงเสร็จ แต่เอาจริงแล้วพอมันโผล่หน้ามาก็บอกว่า "ขึ้นรถ"แล้วขับพาไปที่ไหนก็ไม่รู้ครับ โอ้ว! (เน็ตก็ไม่มีเพราะไม่ได้ซื้อซิม เลยไปแบบไม่รู้อะไรเลย)

สรุปว่าสถานที่ที่เพื่อนผมพาไปคือเขต Tamsui (หรือบ้างก็เรียก Danshui) ซึ่งอยู่เหนือกรุงไทเปขึ้นไปอีก อยู่ติดทะเลเลย และเป็นปากแม่น้ำ Tamsui ที่ไหลมาจากไทเป

เขต Tamsui ถือเป็นคนละจังหวัดกับไทเปแต่ก็อยู่ติดกันครับ อารมณ์เหมือนไปรังสิตหรือบางปู อะไรเทือกนั้น

tamsui

ไปเสร็จแล้ว กลับมาต้องขอบคุณเพื่อนที่พาไป เพราะไม่รู้จักอะไรใดๆ ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน และต่อให้รู้จัก ถ้าต้องมาเองก็คงยากกว่านี้เยอะ (เพื่อนผมขับรถ ผมเดินตามอย่างเดียว)

เพื่อนผมพาไป 2 จุดในเขต Tamsui ซึ่งเป็นจุดสำคัญทั้งคู่ครับ พิกัดคร่าวๆ ดูจากแผนที่ข้างต้นละกันนะ

Tamsui Old Street

ตรงนี้เป็น "ถนนคนเดิน"เส้นสำคัญของ Tamsui ครับ เป็นตรอกเล็กๆ อยู่ใกล้แม่น้ำที่คนเดินกันขวักไขว่ และถนนเส้นริมน้ำที่ขนานกันก็มีร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจริมน้ำที่คนไต้หวันมาเดินกันเยอะมากมาก (เป็นคนท้องถิ่นเกือบหมด ไม่ค่อยมีทัวริสต์ชาติอื่น)

Tamsui Old Street นี่มาง่ายหน่อยเพราะรถไฟใต้ดิน MRT มาถึง (เส้นสีแดง สถานี Tamsui ที่อยู่สุดปลายทางเหนือเลย) เพื่อนผมบอกว่าควรมาด้วย MRT นั่นแหละดีแล้วเพราะหาที่จอดรถยากมาก คราวที่ไปกันนี้หาที่จอดรถแบบเสียเงินไม่ได้ เลยต้องไปจอดกันในโรงเรียนประถมบริเวณนั้นแทน (โรงเรียนไม่เก็บตังด้วย ใจดีมากให้รถจอดกันเต็ม ถ้าเป็นเมืองไทยคงกลายเป็นธุรกิจใหญ่ไปแล้ว)

20140601_193227

จุดเด่นของโซนนี้คือ "ของกิน"ครับ มีทั้งอาหารหนักและของกินเล่นสัพเพเหระที่เยอะมาก (ไม่ด้อยกว่าเมืองไทยเลยให้ตายเหอะ ไอ้พวกของกินเล่นเนี่ย) ราคาก็ไม่ได้แพงมาก เผลอๆ บางอย่างถูกกว่าบ้านเราด้วยซ้ำ

เริ่มจากเครื่องดื่มก่อน เพื่อนผมพากิน "น้ำบ๊วย"ของขึ้นชื่อครับ (sour plum drink) แปลกดี เปรี้ยวๆ ใส่เกลือเล็กน้อย

20140601_185956

20140601_185902

สิ่งที่เพื่อนผมภูมิใจนำเสนอมากคือ การละเล่นต่างๆ ที่มีร้านเปิดให้เด็กๆ และครอบครัวมาเล่นกัน เผอิญว่าบ้านเราคุ้นเคยกับงานวัดอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยตื่นเต้นนัก

ที่แปลกหน่อยก็อย่างการตักปลา บ้านเราไม่ค่อยมีให้เห็น แต่ใครอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นคงคุ้นเคย

20140601_190005

พวกขนมเก่า ของเล่นเก่า ที่ผลิตใหม่แต่ตั้งใจให้มันดูย้อนยุค ก็ไม่ด้อยไปกว่ากันนะ

20140601_190054

20140601_190058

ปาเป้าครับ

20140601_193520

โยนห่วงคล้องตุ๊กตา

20140601_193626

อันนี้ไม่เกี่ยวเท่าไรครับ แต่มันคือ "แผงขายหวย"ของไต้หวัน

20140601_193642

อาหารขึ้นชื่อของแถวนี้เรียกว่า A-Gei มันคือ วุ้นเส้นในเต้าหู้ทอด ใส่มาในน้ำซุปคล้ายๆ ซอสเย็นตาโฟหรือน้ำจิ้มสุกี้ (แบบเต้าหู้ยี้) มักกินคู่กับซุปน้ำใสใส่ลูกชิ้นปลา

20140601_191533

ดูเหมือนชามเล็ก แต่วุ้นเส้นอัดแน่นมากครับ (ผมกินแล้วเฉยๆ แต่ลูกชิ้นปลาอร่อยมาก)

20140601_191654

ร้านที่เพื่อนผมพาไปกินน่าจะดังที่สุด ชื่ออะไรไม่รู้แต่คนเยอะมาก เหยียบกันตาย

20140601_190506

ร้านมีสามชั้น คนต้องรอกันบนบันได

20140601_190947

คนเยอะขนาดนี้ แต่พนักงานเอาอยู่ครับ เราจะสั่งใส่กระดาษที่อยู่บนโต๊ะแล้วยื่นให้พนักงาน กระดาษจะมีเบอร์ และแต่ละชั้นจะมีพนักงานคุมอยู่ อาหารจะถูกส่งมาทางลิฟต์ทีละชุดใหญ่ๆ เมื่ออาหารมาแล้ว พนักงานจะตะโกนเรียกตามเบอร์ แล้วคนจากแต่ละโต๊ะก็เดินไปหยิบเอาเอง (ไปเองคนเดียวไม่มีทางได้กินแน่ๆ)

20140601_191443

บรรยากาศด้านนอกร้านครับ มองจากชั้นสอง อันนี้คือคนรอคิวร้านอื่นนะ

20140601_191155

ถ่ายรูปหน้าร้านที่เค้ากำลังทำอาหารครับ บรรยากาศอย่างกะสงคราม

20140601_192538

อาหารขึ้นชื่ออีกอย่างของ Tamsui คือ "ไข่เหล็ก" (Iron Egg) หน้าตาคล้ายไข่เยี่ยวม้าแต่รสชาติไม่ใช่เลย เค้าจะเอาไข่ไปต้มซีอิ๊วจนมันแข็งเป๊ก กัดแล้วจะหยุ่นๆ กว่าไข่เยี่ยวม้าหลายเท่า แต่รสชาติจะจืดๆ ไม่อร่อยเท่าไข่เยี่ยวม้านะ

20140601_192738

พวกของทอดตรงแผงลอยมีให้เลือกสารพัดอย่าง ผมก็แทบไม่ได้ลองเท่าไรครับ

20140601_192915

ริมน้ำมีแสดงดนตรีเป็นระยะๆ ด้วย เจ๋งดี คือเดินแล้วชอบ รู้สึกมันเป็นพื้นที่สันทนาการของเมืองที่สบายๆ ดี ขนาดวันที่ไปค่อนข้างร้อนพอสมควรยังรู้สึกดี ถ้าไปเดินตอนอากาศเย็นๆ คงดีกว่านี้มาก

20140601_193139

Hot-star เพื่อนผมบอกว่าเป็นไก่ทอดร้านดัง

20140601_193308

มันฝรั่งแผ่นเสียบไม้ทอด แบบที่หั่นไม่ขาดออกจากกัน บ้านเราก็เห็นมีขายอยู่บ้างนานๆ ที

20140601_193403

คนไต้หวันเหมือนจะชอบปลาหมึกกันมาก เท่าที่เดินๆ ดูมีปลาหมึกทำอะไรสักอย่างขายประมาณ 30-40% ของแผงลอยทั้งหมด

20140601_193416

ร้านนี้เทพเจ้าแห่งปลาหมึกครับ มาเรียงกันแบบนี้ดูมันหลอนๆ นะ

20140601_194621

20140601_194627

ร้านอาหารซีฟู้ดมีตู้กระจกเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งแบบบ้านเรา แต่เหนือกว่าตรงที่เค้าตักใส่จานมาเตรียมรอ โชว์ไว้ให้ดูหน้าร้านด้วย!!!

20140601_193933

ไส้กรอกทอด

20140601_194213

เนื้อ (หรือหมูหว่า) ย่าง

20140601_194329

ไส้กรอกไต้หวัน (คล้ายๆ กุนเชียงบ้านเรา) กับลูกชิ้นปลาทอด

20140601_194337

ไข่นกกระทา บ้านเค้ามีใส่แผงขนมครกเหมือนกัน แต่ต่างไปตรงต้องเสียบไม้ด้วย

20140601_194812

บรรยากาศฝั่งถนนคนเดิน ก็จะเป็นถนนแคบๆ มีร้านสองข้างทาง ของขายนอกจากของกินแล้วก็มีกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า คล้ายบ้านเรา

20140601_195518

น้ำอ้อยก็มีขาย คั้นให้ดูกันสดๆ

20140601_195819

ไส้กรอกอีกรอบ

20140601_195954

ถนนนี้มีร้าน Naraya มาเปิดด้วย แฟนเพื่อนผมบอกว่าดังเลยแหละ ร้านนี้

20140601_195848

McDonald's กับ 7-Eleven ไต้หวัน (ไม่ได้เข้า)

20140601_200155

ขนมปังไส้เนย คนต่อคิวเยอะมาก เค้าจะอบขนมปังออกมาร้อนๆ กลิ่นฉุย แล้วผ่าครึ่ง เอาเนยยัดเข้าไป ใส่ถุงแล้วขายครับ (อิ่มแล้วเลยไม่ได้ชิม)

20140601_200346

20140601_200328

ชาไข่มุกร้านดัง CoCo Tea (เหมือนเมืองไทยจะมีร้านนี้) คนซื้อเยอะมาก ราคาก็ถูกเลยทีเดียว

Coco Tea

Coco Tea

สรุปว่าเจ๋งเลยครับแถวนี้ เดินแล้วชอบ ถ้ามีโอกาสก็อยากมาอีกนะ (แต่จะซื้อของได้ไหมหว่า)

Tamsui Fisherman's Wharf

เสร็จจากที่แรก เพื่อนผมพาขับรถขึ้นไปจนเหนือสุดติดปากแม่น้ำเลย เป็นท่าเรือเก่าที่พัฒนากลายมาเป็นโซน waterfront สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีร้านอาหาร โรงแรม

Fisherman's Wharf จะอยู่ติดแม่น้ำ แต่จะมีคลองเล็กๆ ขนานกับแม่น้ำด้วย สองฝั่งคลองนี้เป็นร้านอาหารเรียงเป็นทิวแถว และมีสะพานแขวนข้ามคลองเป็นตัว A เอียงๆ ดังภาพ

WP_20140601_20_09_14_Pro

ถ่ายจากบนสะพานครับ ที่เห็นตรงกลางคือคลอง ส่วนไฟเยอะๆ ฝั่งตรงข้ามคือร้านอาหารทั้งหลายทั้งปวง และอาคารสูงที่อยู่ไกลๆ คือโรงแรม

WP_20140601_19_58_43_Pro

สะพานเปลี่ยนสีตลอดเวลา

WP_20140601_20_03_44_Pro

สะพาน ฝั่งขาไป คนเดินกันเยอะมากขนาดดึกมากแล้ว (3-4 ทุ่ม) ที่น่าสนใจคือคนพาเด็กและหมามาเดินกันเยอะมาก (เพื่อนผมบอกว่าน่าสนใจเหมือนกันว่าทำไมเด็กถึงมากันดึกๆ เยอะขนาดนี้) ที่จอดรถนี่เต็มหมดนะครับต้องวนรถกันอยู่หลายรอบกว่าจะหาได้

WP_20140601_19_56_28_Pro

ร้านอาหารริมน้ำ และทีมหมาไต้หวัน

WP_20140601_20_16_08_Pro

อันนี้คือริมแม่น้ำจริงๆ ครับ ลงไปไม่ได้เพราะเป็นเขื่อนคอนกรีตยาวตลอดแนว คนไต้หวันก็จะมานั่งจีบกันคู่ หรือ มานั่งเล่นกันเป็นครอบครัวก็มี (อารมณ์แบบบ้านเราหิ้วเสื่อมานั่งกินส้มตำกัน)

WP_20140601_20_29_29_Pro

WP_20140601_20_24_10_Pro

WP_20140601_20_05_22_Pro

ที่ Fisherman's Wharf นี่ถ้าไม่มีรถมาเองก็คงยากครับ ต้องขอบคุณเพื่อนผมที่พามาเปิดหูเปิดตา อนาคตไม่รู้จะได้มาอีกหรือเปล่า

ใครที่จะตามรอยต้องบอกว่า "รถติดมาก"เพราะมีถนนเส้นหลักเส้นเดียวจากไทเปมา Tamsui ตอนไปเป็นวันอาทิตย์เย็น (ที่วันจันทร์หยุด) ขาไปใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ขากลับสองชั่วโมงครับ


ความกดดันของ Founders

$
0
0

เขียนเรื่อง ความโดดเดี่ยวของ Founderไป เหมือนคนจะชอบกันเยอะ (สงสัยตรงกับชีวิตจริงกันถ้วนหน้า)

วันก่อนฟลุ๊กไปเจอ สกู๊ปพิเศษของ The Economist เรื่อง Startupมีบทความเรื่อง The dark side: Founder’s bluesที่พูดถึง "ด้านลบ"ของวงการ Startup ก็เลยเอามาจดลงบล็อกหน่อยครับ

Stress Therapy

ภาพประกอบจาก Flickr: Rafael De Oliveira

บทความของ The Economist เน้นไปที่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ การทำงานหนัก-ความเครียด กับ ความไม่หลากหลายทางประชากรศาสตร์ของผู้ประกอบการฝั่งตะวันตก (เป็นฝรั่งหรือเอเชีย เพศชาย ผู้หญิงน้อยมาก) บล็อกนี้ขอเน้นเฉพาะประเด็นแรกเท่านั้นนะครับ

กรณีที่รุนแรงที่สุดของวงการ startup คือการฆ่าตัวตายของ Jody Sherman ผู้ก่อตั้งร้านขายของออนไลน์สำหรับเด็ก Ecomom ที่ล้มเหลวและมีปัญหาการเงิน (ข่าว TechCrunch, สกู๊ป Business Insider)

Economist อ้างบล็อกของ Jason Calacanis เซเล็บคนดังของโลกไอทีฝั่งอเมริกา ที่เขียนถึงเรื่องนี้ว่าเราอาจต้องมาทบทวนกันว่า "ความกดดันของผู้ก่อตั้งในการตามหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่"มีความเกี่ยวข้องกับความตายในกรณีเหล่านี้หรือไม่

the pressure of our community's relentless pursuit of greatness, in some way contributed to their deaths

ตัวของ Calacanis มองว่าการเป็นผู้ก่อตั้งนั้น "ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ"และคนที่ผ่านเรื่องนี้มาแล้วก็มักจะเห็นด้วย และถ้าเราเคยอ่านชีวประวัติของผู้ก่อตั้งที่ประสบความสำเร็จ ก็มักจะเห็นเรื่องการใช้ชีวิตโหดๆ เป็นปกติ เหตุเพราะการเป็นผู้ก่อตั้งเป็นงานที่ต้องทุ่มสุดตัว ผู้ก่อตั้งจำนวนมากจึงเครียด กดดัน และสับสนว่าเรามาทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร

I've always believed that being a founder is an unhealthy pursuit at times, and few have disagreed -- certainly not those who have done it. Read any biography of a successful founder and you'll find collateral damage around -- and certainly in -- those individuals.

Startups are a full-contact sport. This is a good time for all of us to pause and think about why we're doing this. And the impact it's having on us and the people around us.

I'm not an expert on suicide, but I am an expert on being a founder. Many of the founders I know have been desperate, depressed and overwhelmed in their careers. For everyone that shared this with me, I'm certain 10 more didn't.

Economist บอกว่าแนวคิดตั้งต้นของผู้ก่อตั้งมัก "อยากเปลี่ยนโลก"เหมือนๆ กันหมด แต่งานของผู้ก่อตั้งคือการเสกสิ่งมหัศจรรย์ออกมาจากความว่างเปล่า (a founder’s job is to create something out of nothing) ทำให้ต้องหว่านล้อม ชักจูง คนรอบข้างให้เชื่อแบบเดียวกับสิ่งที่เรามองเห็น (อยู่คนเดียว)

การเป็นผู้ก่อตั้งที่ต้องแบกรับทุกอย่างไว้ ทำให้อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลาตามสถานการณ์ของบริษัท เช่น "ตอนเช้าทุกอย่างปกติ ตอนเย็นทุกอย่างงานเข้า"ส่งผลให้เกิดความเครียด และเกิดอารมณ์ว่า "วันนี้ไม่อยากลุกจากเตียงไปทำงานเลย"

ปัจจัยเสี่ยงหลักของ startup ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องเงิน เพราะนักลงทุนมักให้เงินทุนตั้งต้นมาน้อย ผู้ก่อตั้งต้องระวังการใช้เงินก้อนนี้ให้เหมาะสมที่สุด มีจ่ายลูกน้องนานที่สุด จึงต้องหักเงินเข้าตัวเองให้น้อยและอยู่อย่างประหยัด มีผู้ก่อตั้งรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า "ถ้าคุณไม่เคยจ่ายเงินเดือนลูกน้องไม่ตรงเวลา คุณไม่ใช่ผู้ประกอบการตัวจริง!"

ปัจจัยกดดันอีกอย่างคือ ผู้ก่อตั้งมักไม่มีโลกหรือสังคมภายนอกบริษัท บริษัทคือทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อลูกน้องที่อยู่ด้วยกันมานานหรือผู้ร่วมก่อตั้งลาออก ความรู้สึกเศร้าจึงรุนแรงกว่าปกติ (ผู้ก่อตั้งรายหนึ่งเล่าว่า "เหมือนโดนเมียหย่า"เมื่อผู้ก่อตั้งอีกคนลาออก)

ส่วนปัจจัยเรื่องความอ่อนไหวต่อความล้มเหลว เป็นเรื่องที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ (เอเชียอาจรู้สึกเสียหน้าเยอะกว่า?) และบุคคล แต่คนจำนวนหนึ่งที่เคยล้มเหลวก็มัก "อยากลองอีกครั้ง"เรียนรู้ความผิดพลาดและเริ่มต้นใหม่ ผู้ประกอบการต่อเนื่อง (serial entrepreneur) รายหนึ่งบอกว่า ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ เราต้องถามตัวเองว่าเรียนรู้อะไรบ้างและเดินหน้าต่อไป (“It’s part of the game. You have to ask yourself what you have learned and move on")

ทาบสีกับแผ่นฟ้า Color Hunting พลังแห่งการดีไซน์

$
0
0

เขียนไว้ใน Facebook เอามาเรียบเรียงใหม่ลงบล็อกครับ

คลิปข้างล่างนี้คือคลิปบ้าอะไรก็ไม่รู้ยาว 5 นาที ไม่มีเสียงพากย์ มีแต่เสียงเครื่องยนต์เรือหนวกหูชิหาย ในคลิปมีคนใส่หมวกรุงรัง 2-3 คนเข้าไปในป่าดงดิบ เอากระดาษสีห้อยเป็นพวงๆ กับต้นไม้ ทาบกับโคลน ใบไม้ น้ำ แค่นั้น

แต่เรื่องราวหลังคลิปนี้ไม่ธรรมดาครับ

เมื่อวาน มีโอกาสคุยกับยอดยุุทธ์แห่งวงการดีไซน์ คุณเก่งแห่ง RGB 72เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง น่าประทับใจจนผมต้องไปหาคลิปมาดูครับ

คลิปนี้คือ "กระบวนการทำงาน" (working procedure) ของแบรนด์ Issey Miyake สำหรับคอลเลคชั่นเสื้อผ้าปี 2009 ที่ใช้ธีมว่า Amazon

ทีมงานของ Issey บุกไปถึงบราซิล ไม่ได้ไปดูบอลโลกแต่ไปยังแม่น้ำ Amazon จริงๆ ขนกระดาษเทียบสีไปเป็นมัดๆ แล้วเอาไป "ทาบ"กับสีจริงในธรรมชาติว่าสีไหนบ้างในชุดสีที่แบกมาจากญี่ปุ่นนั้น "ตรง"กับสีวัตถุของจริงมากที่สุด ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก

ซีนหนึ่งในวิดีโอคือซีนที่เอากระดาษสีพวกนี้ไป "ขึง"ไว้เหนือแม่น้ำ แล้วนั่งเรือดูจากระยะไกล ซึ่งเราจะเห็นจากในคลิปว่าถ้าดูไกลๆ เส้นเชือกพวกนี้จะดู "กลืน"ไปกับฉากหลังมาก

นั่นแปลว่าทีมงาน Issey Miyake ประสบความสำเร็จในการ "ล่าสี" (color hunting) อย่างที่ต้องการแล้ว

โปรระดับโลกนี่เขาทำงานกันสมราคาจริงๆ

ค้นจากกูเกิลดู พบปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่นมีนิทรรศการเรื่องนี้ด้วย รายละเอียดดูใน เว็บนี้และ เว็บนี้จะเห็นภาพเขาเอากระดาษไปทาบกับวัตถุต่างๆ เต็มไปหมด

คลิปรายการทีวีญี่ปุ่น สัมภาษณ์หัวหน้าทีมของ Issey Miyake

อีกคลิปพาดูนิทรรศการ

ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ ที่กรมการขนส่งหมอชิต

$
0
0

ต่อทุกปีลืมทุกปี โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ต้องจ่าย (เตรียมเงินไม่ถูกสักที) มาจดไว้เผื่ออนาคต

กรณีของผมเนื่องจากอยู่ใกล้กรมการขนส่งทางบก หมอชิต ก็จะสะดวกวิธี "เลื่อนล้อต่อภาษี"มากที่สุดนะครับ สำหรับวิธีการอื่นๆ ดูข้อมูลอย่างเป็นทางการได้จาก เว็บกรมขนส่งทางบก: ช่องทางการเสียภาษีประจำปี สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

เอกสารต้องใช้

  1. ตัวเล่มทะเบียนรถยนต์ (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ใบคู่มือจดทะเบียน)
  2. หลักฐานการซื้อประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ที่เรียกกันว่า พ.ร.บ. นั่นแหละ)
  3. รถยนต์อายุมากกว่า 7 ปี ต้องใบรับรองการตรวจสภาพรถ

ตัวเล่มเรามีอยู่คู่กับรถยนต์อยู่แล้ว เอกสาร 2 อย่างที่เหลือหาได้จากแถวๆ ขนส่งหมอชิตครับ

  • อย่างแรกเลยไปตรวจสภาพรถที่ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)ที่ซอยด้านหลังกรมขนส่งหมอชิต ร้านไหนก็ได้ ราคาเท่ากันหมด รถผมไม่ติดแก๊ส 200 บาทแถมน้ำ 1 ขวด (ปีก่อนๆ เคยไปวันอาทิตย์ ตรอ. หยุดกันเกือบหมด แต่ก็ยังมีบางร้านเปิดอยู่บ้าง)
  • ต่อมาคือซื้อ พ.ร.บ. ซึ่งที่ไหนก็มีขาย ถ้าจะเน้นสะดวกก็ซื้อที่ ตรอ. ก็ได้ (เค้าบอกว่าราคาเท่ากันหมด) ของผมซื้อที่อาคาร 2 กรมขนส่งทางบก (อาคารที่อยู่ใกล้ประตูทางเข้าฝั่งพหลโยธินที่สุด เข้าไปอยู่ซ้ายมือ เจอเลย) ชั้นหนึ่งติดกับฝั่งตู้เอทีเอ็ม มีขายอยู่ 2 บริษัทคือ วิริยะ กับ เทเวศน์ ราคา 600 บาท สิ่งที่เราต้องใช้คือหางตั๋วของ พ.ร.บ. แผ่นเล็กๆ ยื่นให้เจ้าหน้าที่ของกรมขนส่งเท่านั้น ส่วนตัวเอกสารฉบับเต็มเก็บเอาไว้กับเรา

เมื่อได้เอกสารครบแล้ว ก็วนรถเข้าไปจุดเลื่อนล้อต่อภาษี (drive-through) ยื่นเอกสาร 3 อย่าง ค่าภาษีอีก 899 บาท (คำนวณตามซีซีรถยนต์) สองนาทีก็เรียบร้อยตามคำโฆษณา เราก็จะได้ป้ายติดกระจกพร้อมใบเสร็จรับเงิน และสมุดเล่มทะเบียนกลับคืนมา (เจ้าหน้าที่จะเก็บหางตั๋ว พ.ร.บ. กับใบตรวจสภาพรถยนต์ไป)

เวลาเปิดทำการของจุดเลื่อนล้อต่อภาษีคือ 7.30-15.30 นะครับ (เคยพลาดมาแล้วทีนึง ไปไม่ทัน) เรื่องคิวนี่เคยได้ยินมาว่าถ้ามาเช้าๆ หน่อยคนจะไม่เยอะมากครับ เคยมาคราวก่อนตอนเที่ยงๆ คนเยอะ คิวยาวเหมือนกัน

ถ้าไม่สะดวกมาต่อวันธรรมดา และอยู่ในกรุงเทพ สามารถไปจ่ายได้ที่ Big C บางสาขา (รายละเอียดตามลิงก์ข้างต้น) แต่ถ้ารถอายุไม่เกิน 7 ปีก็สะดวกหน่อย เพราะสามารถจ่ายที่ Counter Service ได้เลย โดยกรมการขนส่งทางบกจะส่งป้ายวงกลม (ที่ปัจจุบันกลายเป็นสี่เหลี่ยมแล้ว แต่ยังเรียกป้ายวงกลม...) ไปให้ที่บ้านทางไปรษณีย์แทน

Keyword: 

Faceblog Talk #1 บันทึกประสบการณ์และที่มาที่ไป

$
0
0

งาน Faceblog Talk ครั้งที่หนึ่งผ่านไปได้ด้วยดี (วิดีโอจาก Hangouts on Air, วิดีโอแบบสวยๆ กำลังตามมา) ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานนี้ (นิดนึงน่ะ) ก็อยากบันทึกลงบล็อกไว้สักหน่อย

Faceblog Talk 1

ที่มาที่ไปของ Faceblog Talk คือผม "บอก" (คำที่ถูกต้องจริงๆ คือ "กดดัน"ฮ่า) คุณน้อง @buumoon ให้จัดงานของเว็บ Faceblog สักที โดยล่อหลอกมานั่งคุยที่ออฟฟิศแล้วมัดมือชก กำหนดวันงานให้เรียบร้อย (ห้ามหนี)

หลังจากเจ้าตัวอิดออดเล็กน้อยพอเป็นพิธีในช่วงแรก (แต่ใจก็ว็อนต์อยู่แล้ว ฮ่า) ส่วนที่เหลือก็เป็นฝีมือของ @buumoon ล้วนๆ ต้องให้เครดิตครับ

ไอเดียเรื่อง Faceblog Talk ของเจ้าของเว็บจะเป็นอย่างไรก็คงไม่ทราบ แต่สำหรับผมแล้วคิดว่ากระแส social ไหลบ่าท่วมประเทศไทยเป็นสิ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปมากมายมหาศาล (อันนี้รู้กันอยู่แล้วไม่ต้องอธิบายเยอะ)

สิ่งที่ตามมาคืออีเวนต์มากมายสารพัดด้านโซเชียลที่ระดมเอา "กูรู"ทั้งหลายมาสอน พูด เล่าเรื่อง บรรยาย แต่งานลักษณะที่ว่านี้มักเป็นเชิง commercial เต็มรูปแบบ เน้นกลุ่มลูกค้าเป็นแบรนด์ใหญ่ เอเยนซี่ มีเดีย ฯลฯ ซะเยอะ

สิ่งที่เรายังขาดอยู่คือ "เวที"สำหรับคนตัวเล็กๆ ที่ใช้พลังของโซเชียลให้เกิดประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ เราเห็นเรื่องราวความสำเร็จของเพจขายเสื้อผ้าคนไลค์หลักล้าน แต่ยังขาดพื้นที่สำหรับร้านขายเสื้อคนไลค์หลักยังไม่ถึงแสน (พื้นที่โฆษณา) เราเห็นเพจแปลกๆ ไอเดียดี คอนเทนต์น่าสนใจมากมาย แต่ยังไม่เป็นที่นิยมในกระแสหลัก (จะด้วยเหตุผลอะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง) คนเหล่านี้เจ๋งในวิถีของตัวเอง ขาดเพียงแค่ "เวที"ในการแสดงออกถึงความสามารถเท่านั้น

Faceblog ในฐานะเว็บไซต์ social network ที่ไม่เน้น "พลังของการตลาดในแบบฉบับเดิม" (conventional marketing) น่าจะเป็นพื้นที่ให้คนตัวเล็กๆ เหล่านี้ได้ และ Faceblog Talk ก็น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญอีกชนิดหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายนั้น

ในฐานะทีมงานอย่างไม่เป็นทางการคนหนึ่ง (ไม่มีทีมอย่างเป็นทางการสักคนนี่หว่า!) ก็อยากรอดูวิวัฒนาการของ Faceblog Talk ว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหนครับ มีเสียงสนทนาแว่วๆ เกิดขึ้นในงานว่า "ปีหน้าขอ Royal Paragon Hall"!

ป.

$
0
0

น่าจะเป็นบล็อกที่ชื่อสั้นที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา แต่ก็น่าจะสื่อความหมายได้ครบถ้วน เพราะคนรุ่นหลังอย่างเรามักเรียกชื่อท่านว่า "ป."เฉยๆ ไม่ใช่ "แปลก"หรือ "ป.พิบูลสงคราม" (ยศจอมพลนั่นไม่นับ)

ป.พิบูล

ท่ามกลางกระแสนิยมประชาธิปไตยในรอบหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดเจนมากคือการนำ "คณะราษฎร"กลับมาศึกษาอีกครั้ง โดยมี "ปรีดี"เป็นแกนกลางในฐานะนักคิด นักทฤษฎีคนสำคัญที่รักสงบ นิยมสันติ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จากการกู้ชาติในช่วงเสรีไท

ในขณะที่ฝั่งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แกนนำคณะราษฎรอีกปีกหนึ่ง กลับไม่ถูกพูดถึงมากนัก อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของ จอมพล ป. ที่ถูกมองไปในทางผู้นำเผด็จการ ผู้ทำลายอัตลักษณ์ของสยามเดิม และที่เลวร้ายที่สุดคงเป็น "ผู้ยอมสยบให้ญี่ปุ่น"ซึ่งแพ้สงครามในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังๆ มานี้เราเริ่มเห็น จอมพล ป. ถูกนำมาตีความใหม่ (reinterprete) มากขึ้น และนิตยสาร "สารคดี"เล่มล่าสุดฉบับเดือน มิ.ย. 57 (เปลี่ยนแปลงการปกครอง!) ก็มีสกู๊ปเรื่อง จอมพล ป. พอดี

สกู๊ปเรื่องจอมพล ป. ในสารคดี ไม่ยาวมากนักแต่ก็สรุปประเด็นได้ครบถ้วนดีทีเดียว เหมาะสำหรับคนที่แทบไม่รู้อะไรเลย (แบบผม) ประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้

  • การตัดตัวอักษรไทยออกไปเป็นจำนวนมากนั้น เป็น "ข้ออ้าง"ของจอมพล ป. ที่ไม่ต้องการให้คนไทยถูกบังคับเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะตอนนี้คนไทยกำลัง "เรียนภาษาไทยใหม่อยู่ ขอผัดเรื่องเรียนญี่ปุ่นไว้ทีหลังละกันนะ"
  • จอมพล ป. เคยถูกลอบสังหาร 2 ครั้ง วางยาพิษ 1 ครั้ง (2481) หลังจากเหตุการณ์นั้น ท่านผู้หญิงละเอียด ทำอาหารให้จอมพล ป. กินแทบทุกมื้อ
  • จากคำเล่าของลูกสาว จอมพล ป. ไม่ได้เป็นคนคิด "ผัดไทย"อย่างที่เล่าๆ กัน แค่ผลักดันให้คนกินเส้นก๋วยเตี๋ยวเยอะๆ เท่านั้น ส่วนผัดไทยเกิดขึ้นมาได้ไงยังตามหากันไม่เจอ
  • สมุดสั่งงานของจอมพล ป. ที่เขียนด้วยลายมือ ทั้งหมด 12 เล่มถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ จปร. 100 ปี ที่ จปร. นครนายก (ไว้ว่างๆ จะหาโอกาสแวะไปดู)
  • พุทธมณฑล เป็นผลงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายของจอมพล ป. ในปี 2500 ก่อนโดนรัฐประหาร โดยนำไอเดียมาจากโปรเจคต์ "พุทธบุรีมณฑล"สระบุรี ช่วงสงครามโลก (ที่ไม่ได้สร้าง) ไอเดียนี้คือ "เอาพระเข้าช่วย"สร้างพุทธบุรีดักหน้าเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นใช้พื้นที่ จ.สระบุรี เป็นฐาน
  • จุดแตกหักของจอมพล ป. กับ ปรีดี มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ สงครามโลก (จอมพล ป. เข้าข้างญี่ปุ่น, ปรีดี เข้าข้างสัมพันธมิตร) และกรณีสวรรคต ที่จอมพล ป. ปล่อยให้ฝ่ายนิยมเจ้าโจมตีปรีดีจนหมดอนาคตทางการเมือง
  • หลังรัฐประหาร 2500 จอมพล ป. เขียนจดหมายถึงปรีดี "ผมถูกสฤษดิ์เขาทำรัฐประหารเพราะเหตุอะไร ผู้สันทัดกรณีก็ย่อมรู้"

โดยสรุปแล้วผมคิดว่า ป. น่าจะคล้ายกับ "โจโฉ"คือถูกคนรุ่นหลังมองในภาพที่แตกแยกกันไป 2 ทิศทางคือนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ และทรราชย์ผู้สร้างความเดือดร้อนให้แผ่นดิน ซึ่งเป็นสภาวะมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

Keyword: 

Viewing all 557 articles
Browse latest View live




Latest Images