Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Microsoft Surface

$
0
0

ประกาศราคามาแล้ว 32GB 499 ดอลลาร์ ถูกกว่าคู่แข่งร่วมโลกอย่าง iPad ที่ตั้งราคา list price ไว้เท่ากันแต่เป็นรุ่น 16GB

ส่วนคู่แข่งฝั่ง Android จะได้ราคาถูกกว่าสักหน่อยถ้าวัดที่รุ่น 32GB เท่ากัน คือ Transformer Prime 32GB ตอนนี้ซื้อได้ราคา 449 ดอลลาร์ (list price เป็น 499 ดอลลาร์เท่ากัน) หรือถ้าเป็นฝั่งซัมซุงก็อาจพอเทียบได้กับ Note 10.1 32GB ตั้งราคา 549 ดอลลาร์ (คิดเสียว่า 50 ดอลลาร์เป็นค่าปากกาละกัน)

กล่าวโดยสรุปก็คือ ไมโครซอฟท์กดราคาออกมาใช้ได้เลยครับ ราคานี้แข่งได้

(หมายเหตุ: ในความเป็นจริงผมว่าตัวที่เหมาะแก่การซื้อหามาใช้งานคงเป็นชุด 32GB + Touch Cover ราคา 599 ดอลลาร์มากกว่ารุ่นไม่มีคีย์บอร์ดนะ แต่อันนี้ก็เทียบจากการตั้งราคารุ่นต่ำสุดที่เป็น entry point ละกัน)

ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของไมโครซอฟท์ละ ในการสร้าง ecosystem ของ WinRT ขึ้นมาให้จงได้ ใช้กลยุทธทุกอย่างที่มี นำแอพดังๆ จากแพลตฟอร์มอื่นมาลงให้ได้ เพราะ Surface ตัวแรกที่เป็น Windows RT ไม่สามารถรันแอพ x86 ได้เลย ไมโครซอฟท์ต้องแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า "แค่แอพแบบใหม่ก็พอเพียงกับความต้องการแล้ว" ซึ่งไม่ง่ายเลย

ผมเคยเขียนในบล็อกนี้ไว้สักพักแล้ว Windows 8 Metro Problem ว่า Windows 8 จะประสบความสำเร็จได้ ไมโครซอฟท์ต้องกล้าทิ้งความแค้น จับมือกับกูเกิลพอร์ตแอพดังๆ มาลงให้จงได้ ฝั่งกูเกิลเองก็ควรฉลาดมองไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรช่วยกันปิดล้อมแอปเปิล (ซึ่งผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วกูเกิลจะเลือกทางนี้ แต่อาจจะนานหน่อย ซึ่งเป็นผลเสียกับไมโครซอฟท์มากกว่ากูเกิล)

ส่วนแอพยี่ห้ออื่นๆ ที่เคยจดเอาไว้

Dropbox, Flickr, Twitter, Facebook, LinkedIn, Nook, บริการทั้งหลายของ Yahoo!, Angry Birds, แอพตระกูล Adobe Touch เป็นต้น

เวลาผ่านมาสามสี่เดือนยังไม่ค่อยเห็นความคืบหน้า ยกเว้นกรณีของ Nook ที่ไปเซ็นสัญญากันตั้งเป็นบริษัทลูกแล้วเท่านั้นเอง แบบนี้ ไมโครซอฟท์คงต้องเหนื่อยอีกเยอะ

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เกม WinRT เป็นเกมระยะยาวของไมโครซอฟท์ที่จะ transform ตัวเองไปสู่ยุคสมัยใหม่ คงไม่สามารถประเมินกันในระยะสั้นๆ 6 เดือนถึง 1 ปีได้ครับ คนดูอย่างเราก็คงต้องดูกันยาวๆ ต่อไป


New Media and Thailand’s Politics

$
0
0

This is my research on Thailand's cyber politics, published by Friedrich-Ebert-Stiftung (FES).

เป็นงานวิจัยที่ผมเขียนให้กับมูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) ของเยอรมนี เป็นหนึ่งในซีรีส์ FESmedia Asia ที่ทำงานวิจัยเรื่องการเมืองออนไลน์ในทวีปเอเชียหลายๆ ประเทศ

เขียนเสร็จสักพักแล้วว่าจะนำมาเผยแพร่ แต่เผอิญเพิ่งหาไฟล์ต้นฉบับบนเว็บไซต์ของ FES เจอว่ามันอยู่ตรงไหน (คือมันอยู่ในเว็บภาคภาษาเยอรมัน ผมไปหาในเว็บภาคอังกฤษอยู่ตั้งนานเลยหาไม่เจอ) ก็เลยเพิ่งได้มาแปะลงบล็อกไว้เป็นหลักฐานครับ

สำหรับผู้สนใจเรื่องการเมืองออนไลน์ในเอเชีย อ่านงานวิจัยของประเทศอื่นๆ ได้จาก FES ครับ

Free Space of Expression: New Media and Thailand's Politics

Jack Dorsey and Time Management

$
0
0

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter (และเป็น "คนคิด" ไอเดียของ Twitter) อย่าง Jack Dorsey ได้รับการยกย่องจากสื่อต่างประเทศ ว่าในอนาคตเขาจะกลายเป็น "สตีฟ จ็อบส์ คนต่อไป" แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขามากนัก

ล่าสุด Forbes มีบทสัมภาษณ์ Jack Dorsey ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเขามากขึ้น

จริงๆ ตอนนี้ Dorsey ทำงานที่ Twitter ไม่เยอะนัก มีบทบาทเป็นที่ปรึกษาเสียมากกว่า ส่วนงานเกือบทั้งหมดเป็นหน้าที่ของ Dick Costolo ซีอีโอ (ที่เคยเป็นผู้ก่อตั้ง FeedBurner) ซึ่งเรื่องของ Costolo อ่านได้จาก The New York Times นะครับ

งานหลักของ Dorsey ไปอยู่ที่ Square บริษัทจ่ายเงินผ่านมือถือที่กำลังมาแรง ตอนนี้ได้บิ๊กเนมอย่าง Starbucks มาเป็นลูกค้า (และได้ Howard Schultz มานั่งเป็นบอร์ดให้ด้วย ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับบริษัทที่มีพนักงาน 400 คน) อย่างไรก็ตาม Dorsey ยังถือว่าทำงานให้ Twitter อยู่

คำถามที่น่าสนใจมากๆ คือ Dorsey แบ่งเวลาอย่างไร ถึงสามารถบริหารจัดการบริษัทไอทีดาวรุ่ง 2 บริษัทได้พร้อมกัน ซึ่งผู้สื่อข่าวของ Forbes ก็ทำการบ้านได้ดีและถามประเด็นนี้อย่างละเอียด

คำตอบของ Dorsey คือการจัดตารางเวลาว่าแต่ละวันในสัปดาห์ จะให้น้ำหนักกับงานเรื่องใดบ้าง และยึดตามนั้นอย่างเคร่งครัด

  • Monday, he says, is for addressing management issues;
  • Tuesday he focuses on product engineering and design;
  • Wednesday Dorsey zeros in on marketing and communications, and growth;
  • Thursday he holds meetings with outside partners and developers;
  • Friday is about “company and culture” and recruiting;
  • Saturday he takes off; in particular he likes to hike;
  • Sunday Dorsey thinks about strategy and conducts job interviews.

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการดีไซน์ "ระบบการทำงานขององค์กร" ให้เขาสามารถติดตามเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรได้ง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น

  • นั่งทำงานในพื้นที่เปิด พนักงานคนไหนก็สามารถเดินมาคุยกับเขาได้
  • เดินไปเดินมาทั่วบริษัท ฟังการสนทนาของพนักงานที่ไม่ได้ขึ้นกับเขาโดยตรง
  • แชร์ข้อมูลภายในบริษัทระหว่างกันและกัน Square มีกฎว่าการประชุมทุกครั้งที่มีคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป จะต้องจดโน้ตสั้นๆ และส่งเมลหาพนักงานทุกคน เรื่องนี้ช่วยให้องค์กรรู้ว่ากำลังมีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง (เขาบอกว่าได้โน้ตวันละ 30-40 ฉบับ และอ่านในเวลาว่าง)

สุดท้ายคงเป็นปัจจัยทางกายภาพ นั่นคือสำนักงานของ Square, Twitter และอพาร์ทเมนต์ของเขาอยู่ไม่ไกลกันนัก (รวมถึงอยู่ในย่านสำคัญของซานฟรานซิสโกด้วย) เลยลดภาระเรื่องการเดินทางและการพบปะกับพนักงานลงไปได้มาก

He has worn a trench between Square, his previous apartment around the corner and the offices of Twitter, a few blocks away.

โดยสรุปแล้ว การจัดการเวลาของ Dorsey คงมี 2 ประเด็นสำคัญคือ มีวินัยในชีวิต และออกแบบการทำงานให้เอื้อประโยชน์ต่อการติดตามเรื่องราวต่างๆ ให้ใช้พลังและทรัพยากรน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งมันเป็นเรื่องเจ๋งทั้งคู่

My Comment on 3G Auction

$
0
0

ผมเขียนไปเยอะแล้ว ไม่มีประเด็นอะไรจะเขียนถึงอีก แต่มารวบรวมให้เป็นหลักเป็นแหล่งละกันนะครับ

Disclaimer ต้องแจ้งอีกรอบ (และควรจะทำทุกรอบ) ว่าผมได้รับการแต่งตั้งจาก กสทช. เป็นหนึ่งใน "คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced" มีบทบาทในการร่างหลักเกณฑ์การประมูล 3G ครั้งนี้ด้วย (รายชื่อคณะอนุกรรมการทั้งหมด) โดยมีผลงานออกเป็น "ร่างหลักเกณฑ์การประมูล" ส่งให้ กทค. พิจารณา (ซึ่ง กทค. ก็ปรับแก้ประเด็นเรื่อง 15-15-15 นั่นเอง) ตามหลักการก็ถือว่ามีส่วนร่วมกับเกณฑ์การประมูล ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม

ความเห็นในที่นี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นของคณะอนุกรรมการทั้งคณะ และไม่เกี่ยวอะไรกับ กทค. หรือ กสทช. ครับ

ความเห็นต่อการประมูล 3G

อีกประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับ 3G แต่เกี่ยวกับ กสทช. และผมคิดว่าจะเป็นปัญหาในอนาคตด้วย (ประมูลปีหน้า) คือเรื่อง Digital TV ครับ ถ้า กสทช. จบเรื่องประมูล 3G ได้ไม่สวย การประมูลคลื่นทีวีจะมีอุปสรรคอย่างมากแน่ๆ

A Brief History of Modern Cambodia

$
0
0

ข่าวของเจ้าสีหนุ ทำให้ผมตระหนักว่า "ตูไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เขมรเลยนี่หว่า!" ว่าแล้วก็ไปอ่านเพื่อจับใจความมาสักหน่อย เอาเฉพาะ "เขมรยุคใหม่" หลังสงครามโลกเป็นต้นมา

เขมรเคยรุ่งเรืองสุดๆ ในยุคจักรวรรดิ (สร้างนครวัด-นครธม) แล้วล่มสลายลงไป จากนั้นก็ตกเป็นประเทศราชของอยุธยา และรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา ก่อนจะโดนฝรั่งเศสยึดไปจากกรณีพิพาทอินโดจีน แล้วเป็นส่วนหนึ่งของ French Indochina นั่นเอง

เขมรในยุครัตนโกสินทร์ปกครองโดยราชวงศ์นโรดม ซึ่งมีสองสายย่อย ภายหลังฝรั่งเศสหันไปหนุน "เจ้านโรดมสีหนุ" ซึ่งเป็นหลานอาของกษัตริย์องค์ก่อนหน้าแทน (เจ้าสีหนุเป็นกษัตริย์องค์ที่ห้าของราชวงศ์)

หลังสงครามโลก ฝรั่งเศสถอนตัวจากอินโดจีน กัมพูชาได้รับอิสรภาพในปี 2496 ยุคสมัยอันวุ่นวายของกัมพูชาก็เริ่มขึ้น อำนาจเปลี่ยนมือกันเป็นว่าเล่นระหว่างขุมกำลังฝ่ายต่างๆ

ราชอาณาจักรกัมพูชา

ปี ค.ศ. 1953-1970, ปี พ.ศ. 2497-2513, Wikipedia

เจ้าสีหนุเป็นกษัตริย์อยู่พักหนึ่ง แล้วสละบัลลังก์มาเล่นการเมือง ผู้ที่เป็นกษัตริย์แทนคือพระบิดา "พระนโรดม สุรามฤต" ส่วนเจ้าสีหนุชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ช่วงนี้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่เจ้าสีหนุ การเมืองโลกผันผวนเพราะสงครามเย็น เจ้าสีหนุต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ไว้ใจสหรัฐ เลยใช้นโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ภายหลังพอเวียดนามเหนือทำท่าจะชนะ ก็เลยสนับสนุนเวียดนามเหนือ ทำให้ฝ่ายทหารที่ได้แรงหนุนจากสหรัฐไม่พอใจ

ปี 2513 นายกรัฐมนตรีและนายพล ลอน นอล (บางที่เรียก ลน นล) ก็นำกองกำลังฝ่ายขวารัฐประหารเจ้าสีหนุ ส่วนเจ้าสีหนุลี้ภัยไปจีน

สาธารณรัฐเขมร

ปี ค.ศ. 1970-1975, ปี พ.ศ. 2513-2518, Wikipedia

ฝ่ายของลอน นอล ที่สนับสนุนสหรัฐสามารถยึดอำนาจได้ก็เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ โดยมีราชตระกูลที่อยู่ตรงข้ามกับตระกูลของเจ้าสีหนุ (คือตระกูลพระสีสุวัตถิ์) เป็นพันธมิตร แต่ภายหลังลอน นอล ก็รวบอำนาจ แล้วกำจัดฝ่ายเจ้าออกไป

ช่วงนี้การเมืองโลกยังมีภาวะสงครามเย็น ฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือ "เขมรแดง" ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม (ในฐานะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน) ออกไปนอกเมืองหลวงและทำสงครามกองโจร ฝ่ายของลอน นอล อ่อนแอทางทหารและมีปัญหาคอร์รัปชันในทางการปกครอง เลยแพ้ให้กับฝ่ายเขมรแดง พนมเปญถูกยึดในปี 2518

ลอน นอล หนีออกไปอยู่ในสหรัฐ ส่วนผู้นำเขมรที่เหลือโดนเขมรแดงสังหาร

กัมพูชาประชาธิปไตย

ปี ค.ศ. 1975-1979, ปี พ.ศ. 2519-2522, Wikipedia

ชื่อฟังดูเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วเป็น "สาธารณรัฐสังคมนิยม" ที่ปกครองโดยเขมรแดง ผู้นำสูงสุดคือพล พต และมีกลุ่มคณะผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ เช่น เขียว สัมพัน, นวน เจีย, เอียง ซารี ฯลฯ

เขมรแดงยึดหลักคอมมิวนิสต์ แต่จริงๆ แล้วคงเรียกว่าเป็นเผด็จการมากกว่า เขมรแดงไม่เชื่อในเมือง ย้ายคนออกไปอยู่ในชนบท และทำคอมมูนการเกษตร ห้ามนับถือศาสนา และสังหารปัญญาชน ทำให้ระบบเศรษฐกิจ-สังคมของเขมรล่มสลายไปในช่วงนี้ คนจำนวนมากอพยพลี้ภัยไปยังฝั่งไทย ตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงนี้ว่ากันว่าประมาณ 2 ล้านคน

เดิมทีเขมรแดงเป็นพันธมิตรกับเวียดนาม แต่ตอนหลังก็แตกแยกกัน ฝ่ายเขมรคอมมิวนิสต์อีกสายที่ได้รับการหนุนหลังจากเวียดนาม (นำโดยเฮง สัมริน) ออกไปตั้งดินแดนทางฝั่งตะวันออกของประเทศ (ที่ติดกับเวียดนาม) ลุกฮือต้านเขมรแดง

ฝ่ายต่อต้านพล พต มีทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ (ที่เวียดนามหนุนหลัง) และกลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ (เช่น กลุ่มของเจ้าสีหนุ) ต่อสู้กับเขมรแดง แต่กลุ่มที่มีกำลังกล้าแข็งที่สุดคือกลุ่มของเฮง สัมริน ยึดพนมเปญได้ในปี 2522

เขมรแดงหนีออกมาตั้งฐานที่มั่นทางภาคตะวันตก ที่ติดกับประเทศไทย

สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา

ปี ค.ศ. 1979-1993, ปี พ.ศ. 2522-2536, Wikipedia

กัมพูชายุคนี้ปกครองโดยกลุ่มฝ่ายซ้ายที่สนิทสนมกับเวียดนาม มีทหารของเวียดนามข้ามพรมแดนมาเป็นกองกำลังจำนวนมาก เขมรช่วงนี้มีปัญหาเศรษฐกิจเพราะต้องฟื้นฟูประเทศจากการทำลายของเขมรแดง

ในแง่การทหาร ฝ่ายของเฮง สัมริน "เอาอยู่" แต่ในแง่การทูต เวียดนามไม่ได้รับการยอมรับจากโลกเสรี (เพราะสู้ชนะอเมริกา) ทำให้สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (People's Republic of Kampuchea) พลอยไม่มีที่นั่งในสหประชาชาติตามไปด้วย

ช่วงนี้เขมรฝ่ายอื่นๆ ที่เป็นศัตรูกับเขมรฝ่ายเวียดนาม ก็ผนึกกำลังกันหลวมๆ เป็น "แนวร่วมเขมรสามฝ่าย" ได้แก่

  • กลุ่มเขมรแดง นำโดยพล พต และ เขียว สัมพัน (ฝ่ายซ้ายไม่เอาเวียดนาม)
  • พรรคฟุนซินเปก ของเจ้าสีหนุ (ฝ่ายเจ้า)
  • แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร ของ ซอนซาน (ฝ่ายกลางๆ ที่สนิทกับตะวันตก)

กลุ่มนี้รวมตัวกันหลวมๆ โดยฝ่ายที่มีกองกำลังเข้มแข็งที่สุดคือเขมรแดง ซึ่งสนิทกับจีนและไทย

สงครามกลางเมืองระหว่าง "เขมรสามฝ่าย" กับ "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" ยืดเยื้อมาเรื่อยๆ ช่วงนี้มีเหตุการณ์การเมืองโลกคือโซเวียตล่มสลาย ความช่วยเหลือจากเวียดนาม (ที่สนิทกับโซเวียตแต่ทะเลาะกับจีน) จึงลดลง เวียดนามต้องถอนทหาร อิทธิพลของเฮง สัมริน ลดลง และฮุน เซน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ฝ่ายปกครองของเขมรก็ต้องปฏิรูปประเทศให้มีความเป็นคอมมิวนิสต์น้อยลง ช่วงหลังปี 2532 เป็นต้นมาก็เป็นกระบวนการเจรจาสันติภาพของเขมรสี่ฝ่าย โดยมีนายกชาติชาย เป็นตัวเชื่อม และนานาชาติให้การสนับสนุน ทุกฝ่ายเซ็นสัญญาสันติภาพที่ปารีสในปี 2534 และตั้งเป้าเลือกตั้งในปี 2536 โดยสหประชาชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้งให้

ราชอาณาจักรกัมพูชา (ครั้งที่สอง)

ปี ค.ศ. 1993-ปัจจุบัน, ปี พ.ศ. 2536-ปัจจุบัน

เขมรยุครวมชาติกลับมาใช้ระบอบกษัตริย์ โดยเจ้าสีหนุกลับมานั่งบัลลังก์อีกรอบ และให้บุตรชายคือ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ รับช่วงพรรคฟุนซินเปกต่อ

การเลือกตั้งในปี 2536 พรรคฟุนซินเปกชนะการเลือกตั้ง ส่วนพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซน ได้อันดับสอง ทั้งสองฝ่ายจับมือกันตั้งรัฐบาล โดยเจ้ารณฤทธิ์ เป็นนายกคนที่หนึ่ง และฮุนเซน เป็นนายกคนที่สอง

ฝ่ายเขมรแดงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และยึดปราสาทพระวิหารเอาไว้ กลายเป็นกลุ่มนอกกฎหมายเพราะถูกโดดเดี่ยวจากเขมรฝ่ายอื่น

กัมพูชาหลังรวมชาติยังขาดเสถียรภาพ พรรคฟุนซินเปกแตกแยกภายใน โดยสม รังสี แยกตัวออกไป (ปัจจุบันเป็นฝ่ายค้าน) ตอนหลังพรรคฟุนซินเปกทะเลาะกับฝ่ายของฮุน เซน และฮุน เซนก่อการรัฐประหารในปี 2540 ส่วนเจ้ารณฤทธิ์ ลี้ภัยไปปารีส

กัมพูชาเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในปี 2541 เจ้ารณฤทธิ์ กลับมาสมัครเลือกตั้งอีกรอบ แต่พรรคฟุนซินเปกได้อันดับสอง พรรคประชาชนของฮุน เซน เลยจับมือกับพรรคฟุนซินเปกตั้งรัฐบาลผสม และฮุน เซน ครองอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ (เลือกตั้งอีกครั้งในปี 2546 เป็นรัฐบาลผสมของฮุน เซน กับพรรคฟุนซินเปกอีก) ภายหลังเจ้ารณฤทธิ์ถูกขับออกจากพรรคฟุนซินเปก และตั้งพรรคของตัวเองชื่อพรรคนโรดม รณฤทธิ์ แทน

เจ้านโรดม สีหนุ สละบัลลังก์ในปี 2547 ด้วยปัญหาสุขภาพ ให้บุตรชายคนเล็กที่ไม่ได้เล่นการเมือง คือ เจ้านโรดม สีหมุนี สืบทอดบัลลังก์ต่อมา

สรุป

เขมรยุคใหม่วุ่นวายเพราะขั้วอำนาจหลายขั้วที่สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน ชิงประเทศกัน ผลัดกันปกครองประเทศ

  • ฝ่ายเจ้า ผู้นำคือเจ้าสีหนุ และเจ้ารณฤทธิ์
  • ฝ่ายซ้าย ไม่สนับสนุนเวียดนาม คือ เขมรแดง
  • ฝ่ายซ้าย สนับสนุนเวียดนาม คือ เฮง สัมริน และฮุน เซน
  • ฝ่ายขวาของ ลอน นอล และภายหลังก็มีฝ่ายเสรีของ ซอน ซาน

สุดท้ายเกมจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายที่มีกำลังทหารมากที่สุดคือ ฝ่ายสนับสนุนเวียดนาม แต่ก็ถูกกระแสการเมืองโลกบีบให้ต้องปรับตัวเข้ากับฝ่ายอื่นๆ ด้วย

ผู้ชนะคนสุดท้ายคือฮุน เซน ที่สามารถยึดอำนาจในฝ่ายของตัวเองจากเฮง สัมริน มาได้ด้วยซ้ำ

Perfect Media Box

$
0
0

หลังๆ มานี้ผมเริ่มตระหนักว่าผลิตภัณฑ์กล่องต่อเชื่อมทีวีเพื่อเล่นเนื้อหาผ่านเน็ต ไม่ว่าจะเป็น Apple TV, Google TV, Roku, Boxee และอื่นๆ คงไม่ใช่โมเดลที่เวิร์คในเมืองไทย

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ แต่เป็นเรื่อง content right และโครงสร้างของอุตสาหกรรมสื่อทีวีที่ต่างกันมากระหว่างไทยกับสหรัฐ (ผมไม่ทราบข้อมูลวงในแม้แต่น้อย เชื่อว่าผู้บริหารวงการทีวีคงรู้จักเทคโนโลยีพวกนี้ดี แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ถ้าให้ประเมินคือเราคงไม่ได้เห็นการขาย "แรงเงา" เป็นตอนๆ ผ่านระบบดิจิทัลในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน)

ในเมื่อเราไม่สามารถซื้อหรือเช่าคอนเทนต์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ที่มาของคอนเทนต์สำหรับกล่องอินเทอร์เน็ตทีวีในไทย คงมาได้จาก 3 ทาง

  1. BitTorrent
  2. YouTube
  3. อัดมาจากทีวีตรงๆ (DVR หรือ digital video recorder)

โมเดล (1) นั้นใช้กันแพร่หลายอยู่แล้ว โดยผ่านสินค้ากลุ่ม HD Player หรือกล่องสำหรับเล่นไฟล์มีเดียจากฮาร์ดดิสก์ (ที่ก็อปมาจากบิตอีกทีหนึ่ง หรือบางกล่องก็โหลดบิตได้ในตัวเลย) ถ้าลองติดตามวงการนี้จะพบว่ามันฮิตมากๆ

โมเดล (2) เราเห็นกันคุ้นตาในวงการแท็บเล็ตและมือถือ แต่สำหรับวงการทีวี (ในไทย) ก็เริ่มเห็นกล่อง HD Player บางยี่ห้อลง Android มาให้เป็นระบบปฏิบัติการที่สอง การดู YouTube คงไม่ใช่เรื่องยากนัก (คือแอพ YouTube มันก็เหลือเฟือสำหรับการดูวิดีโอโดยไม่ใช้คอม)

โมเดล (3) อันนี้ต้องแยกเป็น 2 กรณีคือ (3.1) อัดจากสัญญาณที่แพร่ในอากาศโดยตรง (ผ่าน tv tuner) ซึ่งบ้านเรายังทำไม่ได้เพราะยังไม่มีทีวีระบบดิจิทัล กับ (3.2) อัดจากข้อมูลในสาย AV in ที่ต่อมาจากแหล่งอื่นๆ เช่น กล่องดาวเทียม อีกทีหนึ่ง

เท่าที่ลองหาข้อมูลดู สินค้ากลุ่ม HD Player ทุกตัวทำงานข้อ (1) ได้ บางตัวทำงานข้อ (2) ได้ แต่รุ่นที่อัดรายการ (DVR) ได้กลับมีน้อยมากๆ แถมราคาก็ยังรู้สึกว่าค่อนข้างแพงคือราวๆ 4,000 บาทไม่รวมฮาร์ดดิสก์ที่ต้องซื้อมาใส่แยกเอง

ฟีเจอร์ DVR อาจดูไม่ค่อยสำคัญแล้วในสมัยนี้ (เราสามารถดู "แรงเงา" ที่มีคนอัดไปลง YouTube ได้) แต่ผมกลับรู้สึกว่ามีคอนเทนต์หลายๆ อย่างที่ยังจำเป็นต้องทำผ่าน DVR อยู่ เช่น ทุกวันนี้ผมดูแชมเปี้ยนส์ลีกตอนตีสองไม่ไหวแล้ว แต่ก็ยังอยากติดตามเกมแบบเต็มๆ อยู่ ซึ่งรูปแบบการเข้าถึงดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย แทบไม่มีวิธีการดูย้อนหลังที่สะดวกๆ เลย

เมืองนอกนั้นระบบ DVR เกิดมานานมากจากกระแสของ TiVo จนปัจจุบัน TiVo แทบจะล้าสมัยไปแล้ว (และอุตสาหกรรมทีวีกำลังเข้าสู่ระบบการซื้อหรือเช่าคอนเทนต์โดยตรงแทน) แต่อย่างที่เขียนไปคือเมืองไทยยังล้าหลังมากในเรื่องนี้ ระบบการซื้อคอนเทนต์ยังห่างไกลความจริงอยู่มาก

โดยสรุปคือผมพยายามหาสินค้า HD Player ที่ทำงานได้ทั้ง (1) (2) (3) ซึ่งก็พบว่ายังไม่มีที่โดนใจ

อีกทางเลือกที่เป็นไปได้คือทำเอง โดยใช้วิธีประกอบ media center PC (หรือบางที่เรียก HTPC) ที่ปัจจุบันมีโซลูชันกึ่งสำเร็จรูปอยู่แล้ว คือประกอบพีซีที่ใช้ form factor ขนาดเล็ก (เช่นพวก Micro ITX) แล้วลงซอฟต์แวร์อย่าง MythTV หรือ XBMC ที่มีความสามารถเหลือเฟือ

แต่ผมยังรู้สึกว่าโซลูชันนี้ยืดหยุ่นก็จริงแต่มัน overkill ไปหน่อย ทั้งในแง่ค่าใช้จ่าย ขนาด และราคา คืองาน 3 อย่างที่ว่ามามันไม่ใช่เรื่องยากอะไรมากนัก ในยุคสมัยนี้แล้วมันควรจะมี appliance สำเร็จรูป ขนาดสักประมาณ OUYA (ใหญ่กว่าสักหน่อยก็ยังได้) ที่ซื้อมาแล้วเปิดกล่อง ใช้งานได้เลย

จริงๆ แล้วอุปกรณ์อย่าง Nexus Q มันควรจะทำอะไรแบบนี้ได้ แต่ราคาแพงไปมากและกูเกิลเองก็ไม่เปิดให้ปรับแต่งตัวซอฟต์แวร์ Google TV ได้มากเท่าไรนัก

ถ้ามีพลัง+เวลามากพอ น่าไปทำเป็นโครงการใน KickStarter กับเขาบ้างนะเนี่ย

ความผิดพลาด 18 ประการของ Startup

$
0
0

ช่วงหลังๆ มานี้ผมเริ่มสนใจความรู้ด้าน startup, funding และ venture capital ที่เรียกว่า "ความรู้" ก็คือเป็นองค์ความรู้ที่มีกระบวนการสั่งสมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมานานแล้วในโลกตะวันตก (โดยเฉพาะในวัฒนธรรมซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐ) เพียงแต่ยังไม่ค่อยกระจายมาถึงเมืองไทยมากนัก

โชคดีที่สมัยนี้มีอินเทอร์เน็ต ความรู้ที่อยู่ในรูปบทความเหล่านี้จึงสามารถหาอ่านได้ง่าย (ตราบเท่าที่มีแรงตามอ่าน) ช่วงนี้เลยพยายามสะสมฐานความรู้ด้านนี้โดยอ่านไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก ว่างก็มาจดลงบล็อกบ้าง

บล็อกเกอร์ที่ทรงอิทธิพลในด้านนี้ สำหรับผมแล้วมี 2 คนที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเวิร์ค ได้แก่ Paul Graham แห่ง Y Combinator กับ Fred Wilson แห่ง Union Square (ถ้าใครรู้จักคนอื่นที่เจ๋งๆ ก็แนะนำเข้ามาได้)

ผมเคยแปลงานของ Paul Graham ไว้หนึ่งชิ้นที่ Paul Graham: วิธีการเริ่มต้นเปิดบริษัทของตัวเอง ซึ่งการแปลเต็มขั้นแบบนี้ต้องใช้พลังเยอะมาก บล็อกอันนี้จึงใช้วิธีสรุปประเด็นจากบล็อกของ Graham แบบคร่าวๆ และบวกด้วยความเห็นจากประสบการณ์ตรงแทนนะครับ

ต้นฉบับจาก The 18 Mistakes That Kill Startups

Paul Graham สนใจว่าอะไรเป็น "ปัญหา" ที่ startup มักประสบพบเจอ เขาจึงอีเมลไปถามผู้ก่อตั้งบริษัทที่ Y Combinator ให้ทุนสนับสนุนมาหลายชั่วรุ่น และรวบรวมปัญหาที่พบบ่อยออกมาได้ 18 ประการ

  1. Single Founder หรือการมีผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียว มีปัญหาเพราะผู้ก่อตั้งไม่รู้จะไปคุยหรือปรึกษาใคร รวมถึงไม่มีใครคอยให้กำลังใจยามเจออุปสรรค (ซึ่งมันสำคัญมาก จริงๆ นะ)
    • ประสบการณ์ตรงที่เจอกับตัวคือ ทำคนเดียวมันเหนื่อย มันต้องพักบ้างแต่ธุรกิจหยุดไม่ได้ การมีผู้ก่อตั้งหลายคนช่วยให้สลับๆ กันไปพักผ่อนได้
  2. Bad Location เรื่องทำเลที่ตั้งอันนี้คงเป็นลักษณะเฉพาะตัวของประเทศด้วย กรณีของสหรัฐ การไปตั้งบริษัทในพื้นที่ทีมีวัฒนธรรม startup เข้มแข็ง งานหลายๆ อย่างเช่น การหาทุนหรือหาคน จะทำได้ง่ายขึ้นเพราะมันมีพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องขวนขวายไปทำเองมากนัก
    • สำหรับบ้านเราที่ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ "ประเทศกรุงเทพ" คงไม่ต้องอธิบายกันมาก แต่ก็ได้ยินว่าเชียงใหม่เองก็มีวัฒนธรรม startup ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
  3. Marginal Niche อันนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ อธิบายเป็นภาษาไทยก็คือ startup กลัวความล้มเหลวและการแข่งขัน เลยตั้งโจทย์ของตัวเองเล็กๆ ไว้ก่อน ซึ่งในระยะสั้นช่วยได้เพราะโจทย์เล็กแก้ปัญหาง่าย แต่บริษัทจำนวนมากก็ติดกำแพงว่า โจทย์เล็กเกินไปจนขยายตัวไม่ได้ จะเปลี่ยนโจทย์ก็ไม่ทันเพราะลงทุนไปเยอะแล้ว
    • ประสบการณ์ส่วนตัว Blognone ต้องการเป็น "best of original online content network" ส่วน SIU คือ "influential private think tank" ซึ่งถือเป็นโจทย์ค่อนข้างใหญ่ทั้งคู่ ถือว่าโชคดีที่ set direction ได้เหมาะสม
  4. Derivative Idea หรือความล้มเหลวจากไอเดียที่ไปลอกคนอื่นที่ประสบความสำเร็จมา ในขณะที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จ มักเกิดจากความพยายามแก้ปัญหาอะไรสักอย่างที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือถ้ามีคนทำก็ทำได้ไม่ดีนัก
    • ประสบการณ์ส่วนตัว Blognone เกิดจากข่าวไอทีในตอนนั้นมันห่วยเลยทำเองดีกว่า ส่วน SIU ก็คล้ายๆ กันคือประเทศไทยไม่มีหน่วยงานวิจัยเชิงนโยบายที่มาจากภาคเอกชนเลย ก็ทำเองดีกว่าอีกเหมือนกัน
  5. Obstinacy ความดื้อดึงหรือการยึดติดกับไอเดียแรกเริ่มของตัวเองมากเกินไป ทรัพย์สมบัติที่มีค่าที่สุดของ startup คือคนในทีมงานตั้งต้น ถ้าคนมีคุณภาพเสียอย่าง เปลี่ยนไอเดียก็ทำงานออกมาได้ดี และในเมื่อเราไม่มีทางรู้ว่าไอเดียของเรามันเวิร์คจริงหรือไม่ ทางแก้ก็คือลองไปเรื่อยๆ ถ้าไม่เวิร์คก็ต้องยอมปรับเปลี่ยน
    • กรณีศึกษาที่ดีที่สุดคงเป็น Flickr ที่ตอนแรกอยากทำเกมออนไลน์ เอาไปเอามากลายเป็นเว็บฝากรูปเฉยเลย
  6. Hiring Bad Programmers อันนี้เป็นปัญหาเรื่องทรัพยากรบุคคล โดยผู้ก่อตั้งที่มาจากสายธุรกิจ เขียนโปรแกรมไม่เป็นแต่อยากทำบริษัทไอที ต้องแก้ปัญหาโดยการจ้างพนักงานมาเขียนโปรแกรม แต่โปรแกรมเมอร์เจ๋งๆ มีลักษณะเด่นว่าจะทำงานกับโปรแกรมเมอร์เจ๋งๆ ด้วยกันเท่านั้น เลยทำให้บริษัทพวกนี้ได้พนักงานไม่เก่งเท่าไรนักไปทำงาน ธุรกิจเลยเคลื่อนตัวช้ากว่าเมื่อเทียบกับบริษัทที่มีโปรแกรมเมอร์เก่งๆ ปัญหานี้แก้ยากมาก Paul Graham เสนอว่าผู้ก่อตั้งควรเป็นโปรแกรมเมอร์เก่งๆ เสียเองจะได้รู้ว่าลูกน้องคนไหนเก่งหรือไม่เก่ง
    • อันนี้คงเป็นโชคดีของผมด้วยที่มาสายไอทีแต่แรก พอมีปัญหาหรือความต้องการเทคนิคเกิดขึ้น หลายอย่างเราทำเองได้ (ประหยัดเงิน-เวลา) หรือถ้าทำเองไม่ได้ เราก็รู้ว่าจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร ในขณะที่เว็บข่าวบางแห่งที่ผู้ก่อตั้งเป็นสายสื่อมวลชน พอระบบเว็บมีปัญหาเนื่องจากบริษัทที่จ้างทำไว้ไม่ได้ และไม่รับผิดชอบงาน ก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของเว็บไปอีกนานเลย เสียเวลา+พลังโดยใช่เหตุ
  7. Choosing the Wrong Platform เลือกแพลตฟอร์มผิดโดยเก็งตลาดผิด ทำให้ลงทุนไปเยอะแต่ดอกผลไม่ออกดังที่หวัง และจะกลับตัวก็ไม่ทันเสียแล้ว
    • ประโยคเด็ด Java applets were probably the most spectacular example. This was supposed to be the new way of delivering applications. Presumably it killed just about 100% of the startups who believed that.
  8. Slowness in Launching ในโลกของ startup เน้นการออกผลิตภัณฑ์รุ่นทดสอบมารับฟังความเห็นจากผู้ใช้ก่อน ดังนั้นบริษัทที่มัวแต่ขัดเกลาผลิตภัณฑ์จนคิดว่าเจ๋งแล้วค่อยเปิดตัว จะล้มเหลวได้ง่ายกว่า เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเสียเวลาอีก 3-4 เดือนไปขัดเกลาหรือเพิ่มฟีเจอร์บางอย่างให้มากกว่าเดิม ผู้ใช้จะชอบหรือไม่
  9. Launching Too Early ในทางกลับกัน การเปิดตัวเร็วไปก็ใช่ว่าจะดี เพราะอาจก่อให้เกิดประสบการณ์ในทางลบจากผู้ใช้ได้ ทาง Paul Graham แนะนำว่าควรเปิดตัวผลิตภัณฑ์เมื่อ core product ใช้งานได้และสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้จริงๆ (writing the smallest subset of it that does anything useful) แล้วค่อยฟีเจอร์เอาทีหลัง
  10. Having No Specific User in Mind อันนี้หลักการตลาดทั่วไป คือเราต้องวางเป้าว่าจะเจาะผู้ใช้กลุ่มไหนอย่างแจ่มชัดไว้ตั้งแต่ต้น เช่น นักเรียนชั้น ม.4-6 ผู้หญิง หรือ ผู้ชายอายุ 50 ขึ้นไปที่ทำงานบริษัทรับเงินเดือน การจะบอกว่าผลิตภัณฑ์ของเราเจาะกลุ่ม "นักศึกษา" หรือ "คนทำงาน" นั้นเหมือนการหว่านพืชไปมั่วๆ แล้วหวังว่าจะปลูกขึ้น
    • ประสบการณ์ส่วนตัว Blognone เกิดขึ้นโดยตั้งเป้าหมายว่าจะจับกลุ่ม tech geek เท่านั้นจริงๆ คนกลุ่มนี้ไม่มีสื่อภาษาไทยเอาไว้อ่านในสมัยนั้น การเจาะกลุ่มเน้นๆ แบบนี้เลยได้ผล แต่ภายหลังพอเว็บเติบโตก็ค่อยๆ ขยายตลาดทีหลังได้ แต่ครั้งแรกสุดต้องชัดเจนจริงๆ ว่าลูกค้าเป็นใคร
  11. Raising Too Little Money ระดมทุนจากนักลงทุนน้อยไป เงินไม่พอใช้สำหรับช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีรายได้เข้ามา กลายเป็นว่าบริษัทเงินหมดต้องเจ๊งไปก่อนจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้จริงจัง
    • อันนี้ผมไม่มีประสบการณ์ระดมทุนจากนักลงทุน ตอบไม่ได้แฮะ แต่เรื่องเงินไม่พอใช้ในช่วงตั้งต้นนั้นเป็นเรื่องจริงอย่างมาก ต้องหาวิธีดิ้นรนกันไปเอาให้มันรอด
  12. Spending Too Much ใช้เงินที่ระดมทุนได้มามากเกินไป เช่น จ้างพนักงานเยอะๆ หวังจะทำงานได้เสร็จเร็ว (ซึ่งมันไม่จริง) ซึ่ง Graham แนะนำว่าอาจตอบแทนพนักงานด้วยหุ้นของบริษัทแทนเงินสด และจ้างพนักงานเพียง 2 ประเภทคือ คนสร้างโปรแกรม กับคนหาลูกค้า เท่านั้นพอในช่วงแรก
    • พนักงานเยอะแปลว่าค่าใช้จ่าย fixed cost ต่อเดือนจะเยอะไปด้วย เพราะตามกฎหมายแรงงาน จ้างแล้วจะปลดออกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นต้องคิดให้ดีมากๆ และรอบคอบก่อนจ้างพนักงานเพิ่ม งานหลายอย่างใช้วิธี outsource ไปเฉพาะชิ้นได้ ไม่ต้องจ้างประจำ
  13. Raising Too Much Money ข้อนี้กลับกันกับข้อ 11 คือระดมทุนมากเกินไป ปัญหาจะเกิดขึ้นคือนักลงทุนเริ่มเข้ามายุ่มย่าม (เพราะขอเงินไปเยอะ) ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเองและถูกกดดันว่าต้องรีบทำเงินเพื่อหาเงินมาคืนโดยเร็ว
  14. Poor Investor Management บริหารความสัมพันธ์กับนักลงทุนไม่ดี ทั้งในแง่เพิกเฉยจนไม่สนใจนักลงทุนเลย หรือให้ความสำคัญกับนักลงทุนมากเกินไป ต้องหาจุดสมดุลตรงกลางที่เหมาะสมของตัวเอง
  15. Sacrificing Users to (Supposed) Profit อย่ายอมขายผู้ใช้ในช่วงแรกเพื่อแลกกับกำไรเบื้องต้น เพราะทรัพย์สมบัติที่สำคัญคือจำนวนผู้ใช้ในระยะยาว แล้วค่อยแปรเปลี่ยนมันเป็นเงินในภายหลัง แต่ถ้ายอมเข้าสู่สายมืดตั้งแต่แรก หาเงินโดยทำให้ผู้ใช้รำคาญใจ ชื่อเสียงและฐานผู้ใช้จะเสียหาย
  16. Not Wanting to Get Your Hands Dirty โปรแกรมเมอร์บางคนหยิ่ง อยากทำแต่งานเขียนโปรแกรม โดยไม่ยอมลงไปคลุกทำงานที่จำเป็น (แต่ไม่สนุก) บางอย่าง เช่น การหาลูกค้า การขายโฆษณา การหานักลงทุน ฯลฯ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกูเกิลในตอนแรกก็ไม่อยากทำเป็นธุรกิจเต็มตัว อยากทำระบบค้นหาดีๆ แล้วไปขายให้จบๆ เรื่องไปมากกว่า
    • ประสบการณ์ส่วนตัว ผมก็อยู่ในหมวดเดียวกันนี้คืองานที่ไม่สนุกบางอย่างมันก็ไม่น่าทำจริงๆ สุดท้ายก็เรียนรู้ว่าถ้าตัวเราไม่ทำ มันก็ไม่มีใครมาทำให้เราหรอกนะ ต้องทำอยู่ดี
  17. Fights Between Founders ผู้ก่อตั้งทะเลาะกันเอง อันนี้ปกติเพราะ Graham ให้ตัวเลขว่า 20% ของบริษัทที่รับทุนจาก YC จะมีผู้ก่อตั้งสักคนแยกทางออกไปเสมอ อย่างไรก็ตาม Graham แนะนำว่าควรเปิดบริษัทกับคนที่เราชอบคบหาด้วย สนิทและไว้ใจกันตั้งแต่แรก ดีกว่ายอมเปิดบริษัทกับคนที่ไม่ค่อยชอบนิสัยแต่จำเป็นต้องทำงานร่วมเพราะมีทักษะที่ขาด
    • ประสบการณ์ส่วนตัว การทะเลาะกันเกิดขึ้นเป็นปกติ มันเหมือนคนเป็นแฟนกัน ต้องใช้เวลาเรียนรู้จุดยืนและนิสัยของอีกฝ่ายอยู่พักใหญ่ เมื่อปรับตัวกันได้แล้วมันจะทะเลาะกันน้อยลงไปเอง ระหว่างนั้นก็ทะเลาะได้แต่อย่าเพิ่งแตกหักกันจะดีที่สุด
  18. A Half-Hearted Effort ไม่ทุ่มเทจริงจัง Graham อธิบายว่าปัญหาของ startup ที่พบบ่อยคือไม่ทำอะไรเลย ซึ่งมักเกิดกับบริษัทที่ผู้ก่อตั้งยังไม่ลาออกจากงานประจำมาทำเต็มตัว ทำให้งานของ startup กลายเป็นภารกิจรองที่ทำเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก ยุ่งก็เอาไว้ก่อน ผลเลยออกมาไม่ดีเพราะ startup จำเป็นต้องทุ่มเทเวลา พลัง ทรัพยากรไปกับมันอย่างจริงจังนั่นเอง

ThinkPad X230

$
0
0

เริ่มรู้สึกว่า ThinkPad X200si ที่ใช้มาเกือบ 3 ปีมันช้าเกินไปละ บวกกับมีเพื่อนกลับมาจากสหรัฐฯ พอดี เลยฝากหิ้ว X230 กลับมาหนึ่งตัวครับ ได้ของเรียบร้อย ขอบคุณเพื่อนแด้ที่หิ้วมาให้เป็นอย่างดี (อ่านรีวิว X230 ของ @fordantitrust)

ThinkPad X230

หน้าตามันดูเผินๆ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่เอาจริงแล้วเปลี่ยนดีเทลเยอะพอตัว (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ X200 ที่ข้ามมา 4-gen) แต่จริงๆ คงไม่มีใครซื้อ ThinkPad เพราะดีไซน์อยู่ดี ผมซื้อเพราะมันเป็น best engineered laptop ที่คุ้มค่าที่สุดในแง่สเปก-ฟีเจอร์-ราคา (ใจจริงอยากได้ X1 Carbon ครับแต่สอบตกเรื่องราคาแน่นอน)

สเปก

ตัวนี้เป็น custom order สั่งจากหน้าเว็บ มาจดสเปกเก็บไว้หน่อยเผื่อได้ใช้

  • Intel Core i5-3210M Processor (3M Cache, up to 3.10 GHz)
  • Genuine Windows 7 Professional (64 bit)
  • 12.5" HD (1366x768) LED Backlit Display, Mobile Broadband Ready, 2x2 Antenna
  • Intel HD 4000 Graphics in Intel Core i5-3210M Processor
  • 4 GB PC3-12800 DDR3 (1 DIMM)
  • UltraNav™ with TrackPoint® and buttonless multi-touchpad
  • 320GB Hard Disk Drive, 7200rpm
  • No Optical Drive
  • 6 Cell ThinkPad Battery X44+

จอตัวนี้รู้สึก Lenovo Thai จะไม่เอามา ส่วนแบตนี่ใจจริงผมอยากได้ 9 cell เอาให้ใช้ยาวๆ แต่กลัวแบกไม่ไหวก็เลยกลับมาอยู่ที่ 6 cell นี่แหละกลางๆ

ราคากดมาได้ที่ 755 ดอลลาร์ ก็ราว 23,500 บาท รวมภาษีของสหรัฐและส่วนลดของ Lenovo แล้ว (ตอนสั่งเจอโปรโมชั่นลดราคาพอดี)

SSD mSATA

ผมอยากได้โน้ตบุ๊กติด SSD มานานแล้วเพราะวันหนึ่งๆ ต้องเปิดแท็บบนเบราว์เซอร์เยอะมาก พอ sleep แล้วปลุกให้ตื่นมันชักช้าเหลือเกิน คราวนี้เลยได้ฤกษ์ติดอาวุธให้มันสักหน่อย (ถือว่าเอาส่วนลดค่าเครื่องที่ได้มาเป็นค่า SSD แล้วกัน)

ปรึกษากับ @ripmilla และ @fordantitrust แล้ว ThinkPad X มีช่อง mSATA สำหรับติด WAN card ว่างอยู่ (ตัวเก่าผมมี WAN port แต่รอบนี้ไม่ได้สั่งมาด้วยครับ หลังๆ พบว่าเปิด wifi hotspot เอาง่ายกว่านะ) ก็ใช้ SSD ติดช่อง mSATA แทนการเปลี่ยนแทนฮาร์ดดิสก์จะดีกว่า เพราะจะได้ใช้ SSD คู่กับ HDD ได้พร้อมกัน ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความเร็วและความจุ

ลองกูเกิลดูคร่าวๆ แล้วพบว่า SSD บ้านเราที่เป็น mSATA มีขายไม่เยอะเท่าไร ผมเลยเลือก OCZ Noctiน่าจะมาตรฐานที่สุด ซื้อมาจากร้าน MemoryToday ได้ 4,990 บาทสำหรับรุ่น 120GB ครับ บริการดีติดตั้งให้ด้วยเลย (แต่พนักงานยังแกะ ThinkPad ไม่ค่อยคล่องเท่าไรนะ ฮา)

รีวิวเจ้า OCZ Nocti ที่ค้นเจอ (ของคนรู้จักกันทั้งนั้นเลยเนี่ย)

20121105_114330.jpg

หนึ่งวันกับ X230

รีวิวแบบเป็นเรื่องเป็นราวก็อ่านของ @fordantitrust เอาละกันนะครับ

  • มันเบาและแบนกว่า X200 พอตัว
  • AC adapter ย้ายไปอยู่ด้านหลัง มีปัญหาเวลาจิ้ม เมื่อเทียบกับของเดิมที่อยู่ด้านข้าง
  • คีย์บอร์ดใหม่ ปุ่มตัวอักษรไม่มีปัญหาหรอก แต่ปุ่ม F-key ดันติดกันเป็นพรืด คลำยากมาก อย่างน้อยก็น่าจะเว้นวรรคสักนิด
  • ลำโพงเสียงดังมาก ตกใจ

บ้านทะเลดาว หัวหิน

$
0
0

เมื่อวันพฤหัส-ศุกร์ที่ผ่านมา ไปหัวหินอีกครั้งเพราะได้รับคำเชิญจากทีมของ Thai PBS ให้ไปบรรยายกับงานเวิร์คช็อปภายในสำนักงาน ถือเป็นการไปหัวหินครั้งที่สองในรอบปีของผม (ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ไปกับ กสทช) เวลาผ่านมาเพียง 6 เดือนพบว่าหัวหินเปลี่ยนไปเยอะมาก คอนโดขึ้นกับพรึ่บพรั่บ ชนิดว่าถ้าไม่ได้มานานกว่านี้คงจำกันแทบไม่ได้เลย

รอบนี้ได้พักที่รีสอร์ทชื่อ บ้านทะเลดาวอยู่เลยตัวเมืองมานิดเดียว (เลย Cicada มานิดนึง) ทางไปเขาตะเกียบนั่นเองครับ ถือเป็นรีสอร์ทแบบวิลล่าที่เหลืออยู่ไม่มาก เพราะเพื่อนร่วมถิ่นกลายเป็นโรงแรม-คอนโดไปหมดแล้ว

ผมมีกล้องติดไปด้วย 4 ตัวคือ กล้องถ่ายภาพหนึ่ง และมือถืออีกสาม (พกอะไรกันเยอะแยะ) ก็สลับๆ กันไปตามแต่จะคิดออกนะครับ รูปข้างบนเป็น panorama ที่ถ่ายด้วย Nexus S โดยใช้ฟีเจอร์มาตรฐานของ Android ที่มีตั้งกะ ICS นั่นแหละ

บ้านทะเลดาวเป็นรีสอร์ที่หน้าแคบอยู่บ้าง คือมีเรือนไทยหลังใหญ่ที่มีมาแต่เดิม ด้านล่างเป็นร้านอาหาร ส่วนด้านบนเป็นห้องอบรมสัมมนาขนาดเล็ก (ได้ประมาณ 30 คน) อีกฝั่งหนึ่งก็มีสระว่ายน้ำเล็กๆ แค่นี้ก็หมดแล้ว

จากภาพข้างล่าง ผมถ่ายที่กำแพงฟากสระว่ายน้ำ มองไปยังเรือนไทย ที่เห็นกำแพงสีเหลืองๆ ด้านขวาก็เป็นกำแพงอีกฝั่งหนึ่งนั่นแหละ

บ้านทะเลดาว หัวหิน

มุมเดียวกัน ถ่ายด้วย Acer CloudMobile S500 ครับ ภาพดีกว่าที่คิดมากนะ

ชายหาด รีสอร์ทโซนนี้สร้างสูงกว่าระดับน้ำทะเลเยอะอยู่ ต้องไต่ลงไปพอควรถึงจะเจอหาด

หน้าหาดเป็นโซนทานอาหาร อันนี้ถ่ายตอนเช้าเหลือแต่โต๊ะ

เขาตะเกียบอยู่แค่นี้เอง

ห้องสัมมนา ชั้นสองของเรือนไทย

ภายในห้องพักครับ ห้องมีหลายประเภท ตึกหลายแบบ ผมอยู่ตึกด้านหลังสุด ชั้นสาม ก็เป็นส่วนตัวดีแต่เดินขึ้นเยอะหน่อย

บ้านทะเลดาว หัวหิน

บ้านทะเลดาว หัวหิน

ราคาอย่าถามเพราะเป็นแขก นอนฟรี ก็จบลงสั้นๆ เท่านี้ละกันครับ

Tech President 2012

$
0
0

บล็อกนี้ปรับแก้จากโพสต์ใน Google+

เสร็จศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โลกไอทีอเมริกาก็หันมาพูดถึงการใช้เทคโนโลยีกับการเลือกตั้งกันเสียเยอะ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งก่อนปี 2008 ฝั่งโอบามาใช้เครื่องมือออนไลน์ได้อย่างโดดเด่นมาก ทั้งเว็บ my.barackobama.com และโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ

รายละเอียดของการเลือกตั้งปี 2008 อยู่ในหนังสือ The Audacity to Winที่เขียนโดยผู้จัดการแคมเปญของโอบามา ใครสนใจก็แนะนำให้อ่านเพราะมันส์มาก ผมเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ในบทความ ย้อนความสำเร็จ ถอดบทเรียน วิธีหาเสียงออนไลน์ของบารัค โอบามาตามไปอ่านเอาใจความแบบสรุปกันได้ (แต่แนะนำให้อ่านเล่มเต็มอยู่ดี)

การใช้ไอทีที่เป็นเรื่องของเครื่องมือ (tools) มันทำตามกันได้ และจังหวะการ breakthrough ของเทคโนโลยีมันไม่ได้เกิดบ่อยนัก เวลาผ่านมาอีก 4 ปี ในการเลือกตั้งปี 2012 เราจึงไม่เห็นนวัตกรรมทางด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คมากเท่าไรนัก แคมเปญของโอบามายังใช้เว็บ Twitter/Facebook/YouTube เจาะตลาดผู้ลงคะแนนเหมือนเดิม จะมีเพิ่มมานิดหน่อยก็พวก Google+/Pinterest/Reddit ซึ่งก็ไม่ใช่จุดหลักสักเท่าไร ฝั่งของรอมนีย์ก็มีเทียบเท่ากันหมดทุกอย่าง

จุดที่เป็นนวัตกรรมจริงๆ ในเรื่องไอทีกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในรอบนี้ คือการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ลงคะแนน ซึ่งเป็นศาสตร์เรื่อง analytics เป็นหลัก โดยมีเครื่องมือตระกูล big data มาช่วยบ้าง (แต่โมเดลการวิเคราะห์ก็ยังสำคัญที่สุด)

หลังการเลือกตั้งปี 2012 ประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจมี 2 เรื่อง 2 พรรค ซึ่งผลออกมาคนละแบบเลย ก็ขอจดประเด็นไว้ดังนี้ (หลายลิงก์ผมก็ยังไม่ได้อ่าน แปะเป็น resource ไว้ก่อน)

1) โมเดล prediction โดยใช้ข้อมูลสมัยใหม่ (big data) ของฝ่ายโอบามาแม่นยำมาก ทำได้ถึงระดับมีนักวิเคราะห์คนหนึ่งสามารถทำนายผลการเลือกตั้งได้ถูกต้องทั้ง 50 รัฐ (ลองค้นชื่อ Nate Silver)

2) ปัญหาของทีมไอทีฝั่งมิตต์ รอมนีย์ ที่พยายามทำแอพประมวลข้อมูลวันเลือกตั้ง แต่ไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง (อาสาสมัครในพื้นที่ ได้รหัสผ่านเข้าแอพในคืนก่อนวันเลือกตั้ง โดยไม่เคยทดลองใช้งานมาก่อน) และกลายเป็นความล้มเหลวอีกประการหนึ่งของฝั่งรอมนีย์

งานนี้จะสรุปว่าเพราะฝ่ายไอทีของรอมนีย์ห่วยกว่า เลยแพ้การเลือกตั้งก็คงไม่ถูก มันมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก (คนแพ้ทำอะไรก็ผิด) แต่โดยรวมคงพออนุมานได้ว่า ฝ่ายสนับสนุนโอบามานั้นเป็นสายไอทีเสียเยอะ การที่ทีมไอทีของโอบามาจะดีกว่าก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก และพรรครีพับลิกันคงต้องทำการบ้านกันอีกเยอะหน่อยในปี 2016

My 2012

$
0
0

อาจเขียนเร็วไปสักนิดเพราะยังไม่สิ้นปีดี แต่ก็ควรเขียนวันนี้เพราะถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในชีวิต

ปี 2012 (ผมนับปีเป็น ค.ศ.) เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง เอาเรื่องงานก่อน ผมจดทะเบียนบริษัทที่สอง (ที่เริ่มทำเป็นงานแรก) เมื่อต้นปีนี้อันนี้ควรทำมานานแล้วแต่ลีลาเยอะเองเลยช้ากว่าที่ควร แต่ก็เป็นสัญญาณอันดีต่อคนภายนอกและตัวทีมงานเองด้วยว่า we're getting serious about this

ส่วนบริษัทที่หนึ่งก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าปีนี้จะมีความยากลำบากและอุปสรรคหลายอย่างเข้ามาเผชิญหน้า แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปเมื่อเทียบกับวงการธุรกิจทั่วไป และเป็นสิ่งเตือนใจว่าเราต้องปรับฐานของตัวเองให้เข้มแข็งกว่านี้ในทุกๆ เรื่อง ก่อนจะเดินหน้าไปยังระดับถัดไป นอกจากนี้ยังมีโอกาสของโครงการใหญ่ยักษ์ในระดับที่ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะ"เอาอยู่"โผล่เข้ามาให้เห็นรำไร ตอนที่เขียนนี้ยังไม่มีความแน่นอน แต่ก็เป็นเป้าหมายที่มีไว้พุ่งชน ไม่ว่าสุดท้ายผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในระยะยาว เป้าหมายทุกอย่างยัง on track ไม่ไปไหน

นอกจากนี้ยังมี "บริษัทที่สาม"ที่ผมคงไม่ได้ทำอะไรนอกจากเป็นผู้ถือหุ้นและช่วยออกไอเดีย แต่ก็เป็นกิจการของเพื่อนรักอีกคนหนึ่งที่ผ่านการระดมสมองกันมายาวนาน ก็ต้องเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จ อันนี้กว่าจะได้เริ่มดำเนินการจริงๆ คงเป็นปีหน้า

ปีนี้ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับ กสทช. ในฐานะอนุกรรมการถึง 2 ชุด ชุดแรกคืองานใหญ่ระดับชาติอย่างการประมูล 3G ซึ่งแน่นอนว่าในการทำงานย่อมมีทั้งประเด็นที่เห็นตรงและเห็นต่าง ไม่ว่า 3G ไทยจะเดินหน้าหรือล้มเหลว ผมมั่นใจว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว (จริงๆ อนุกรรมการนี่เป็นงานสบายมากนะครับ คอมเมนต์อย่างเดียว คนที่งานหนักจริงๆ คือคณะทำงานที่มาจากสำนักงาน กสทช.) และได้ประสบการณ์การวางแผนนโยบายสาธารณะกับการทำงานระดับอนุกรรมการของรัฐมากมาย (ส่วนอนุกรรมการอีกชุดหนึ่งคือเรื่องคลื่น 1800MHz ที่ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก)

งานด้านการเขียนของผมคงไม่มีอะไรต่างไปจากปีก่อนๆ มากนัก ยกเว้นงานวิจัย Free Space of Expression: New Media and Thailand’s Politicsที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม ต้องใช้พลังอย่างสูงในระดับใกล้เคียงกับการทำ dissertation ในสมัยเรียนโท (แถม editor ของงานนี้โหดกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาด้วยซ้ำ) แต่เมื่อเขียนจนเสร็จและมองย้อนกลับไปดู เราก็ได้เห็นการทดสอบขีดจำกัดของตัวเองว่าไปได้ถึงระดับไหน ซึ่งถ้าไม่ถูก push ด้วยความหนักหน่วงขนาดนี้ ก็คงเขียนงานระดับนี้ออกมาไม่ได้ ถือเป็นความสำเร็จส่วนตัว (personal achievement) อีกประการหนึ่ง และคงต้องพัฒนายกระดับมันต่อไป ในแง่ของเนื้อหาเองก็เป็นเรื่องที่ผมสนใจอยู่แล้ว และคิดว่ามันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งก็หวังว่างานชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ รวมถึงงานในอนาคตของตัวเองด้วย

แง่ของการเดินทาง เป็นอีกปีที่ไปต่างประเทศหลายทริป ไปลาวถึงสามครั้งในรอบสองเดือน และครั้งหนึ่งได้ผ่านเส้นทางที่น่าสนใจอย่างการตัดผ่านลาวตอนกลางด้วยรถยนต์ ไปออกเวียดนามตอนกลางและเขยิบขึ้นเหนือไปถึงฮานอยด้วย ช่วยเปิดหูเปิดตาเรื่อง logistics รับ AEC มาก นอกจากนี้ยังได้ไปเที่ยวยุโรปช่วงพรมแดนฝรั่งเศส-เยอรมัน ในเส้นทางที่คงไปเที่ยวเองได้ยาก (และทัวร์ไม่มีจัด) อีกด้วย เป็นโอกาสสำคัญในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อันนี้ต้องขอบคุณคุณพ่อของผมที่จัดทริปสองทริปนี้ขึ้นมาด้วย

ปี 2012 เป็นปีที่สุขภาพค่อนข้างดี ตั้งแต่ต้นปีมายังไม่เป็นหวัดเลยซึ่งหาได้ยากยิ่ง แต่ก็เป็นโรคอื่นๆ เล็กน้อยไม่มีนัยยะสำคัญอะไรมากนัก อาจเป็นเพราะผมพยายามบาลานซ์รูปแบบการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งก็เห็นผลทางบวกเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็เริ่มรับรู้ถึงข้อจำกัดร่างกายตัวเองที่คงหมดช่วง "ทำอะไรก็ไม่เหนื่อย"ไปแล้ว ต่อจากนี้ไปต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีกว่าเดิม

สุดท้ายเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว วันนี้เป็นวันที่ชีวิตก้าวข้ามหลักไมล์สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือผมแต่งงานอย่างเป็นทางการ ในแง่รายละเอียดคงไม่พูดถึงเยอะในที่นี้เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว วิถีชีวิตนับจากพรุ่งนี้เป็นต้นไป คงไม่มีอะไรเปลี่ยนจากเมื่อวานนี้มากนัก แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนคอยให้ตัวเองได้ตระหนักและระลึกอยู่เสมอว่า เราจะลุยไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนที่รออยู่ข้างหลัง ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว...

Mobile Trends 2012

$
0
0

เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง Mobile Trends ให้กับฝ่ายมัลติมีเดียของ Thai PBS เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2012

สไลด์นี้ใช้รูปภาพเสียเยอะ และระหว่างการบรรยายก็เปิดคลิปจาก YouTube สาธิตเทคโนโลยีหลายๆ อย่างให้ดูด้วย (เพื่อให้เห็นภาพ) ไอเดียโดยรวมคือเสนอ "ทิศทาง"ในแง่เทคโนโลยีว่าโลกของ mobile กำลังจะมีอะไรเกิดขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และมีนัยยะสำคัญอะไรต่อ "ทีวีสาธารณะ"อย่าง Thai PBS ที่ต้องปรับตัวให้เป็นมากกว่า "สถานีทีวี"ด้วย

Skyfall

$
0
0

ไม่ได้เข้าโรงหนังมานานเกือบปี กลับไปอีกครั้งเพื่อ "เจมส์ บอนด์"โดยเฉพาะ

คำวิจารณ์ฉบับเต็มอ่านได้จาก Skyfall 007 : กับภารกิจพาเจมส์ บอนด์กลับ’บ้าน’ส่วนบล็อกนี้เป็นแบบสั้นๆ ตามสไตล์ และแน่นอนว่า "สปอยล์"

  • Skyfall เป็นชื่อที่เท่มาก
  • การเล่าเรื่องของหนังคล้ายกับ MI4คือแบ่งเรื่องเป็นองค์ ตามสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่ละองค์เดินเรื่องกันกระชับฉับไว ไม่ร่ำไรเสียเวลา ตัวละครไม่ฟุ่มเฟือย สงสัยหนังสายลับสมัยใหม่จะต้องเข้าฟอร์มนี้เกือบหมด
  • ตัวพล็อตเรื่องไม่มีอะไรใหม่แต่ก็ยังสนุก คือพล็อตว่าผู้ร้ายเป็นอดีตสายลับขององค์กรนี่ใช้กันมาเยอะแล้ว (ใน Goldeneye ก็มี 006)
  • ตัวเอกของภาคนี้คือ M ไม่ใช่บอนด์ แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นบทบาทหรือชีวิตของ M เท่าที่ควรจะมี (คือเกือบดีแล้วแต่ยังไม่สุด ถ้าใส่เรื่องฝั่งของ M เข้าไปอีกนิดจะสมบูรณ์กว่านี้) สุดท้ายมันเป็นเรื่องของ M ในฐานะ "mom"ของ MI6 ตามที่สมาชิกในองค์กรเรียก (และบอนด์คือลูกชายคนโปรด)
  • สิ่งที่โดดเด่นที่สุดใน Skyfall คือการกำกับศิลป์ที่สวยงามมาก ผมเห็น @warong วิจารณ์ว่ามันเป็นการเปรียบเทียบ "ความใหม่" (ฉากหลังของ MI6 กับเซี่ยงไฮ้) ในช่วงต้น และ "ความเก่า"ในช่วงท้ายเรื่อง (Skyfall) ให้คอนทราสต์กันมากๆ จนเป็นสัญลักษณ์ อันนี้จะคล้ายกับ Star Wars Episode III ที่ทำแบบเดียวกัน ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือ "กลับสู่รากเหง้าเดิม"
  • ความคอนทราสต์ของความใหม่และเก่ายังสะท้อนไปถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรื่อง เมื่อผู้ร้ายในบอนด์สมัยใหม่ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีไฮเทคได้เฉกเช่นเดียวกับ Q (และทำได้ดีกว่า Q ด้วยซ้ำ) การต่อกรกับผู้ร้ายให้ชนะจึงมีเพียงทางเดียวคือ ไปในที่ที่เข้าไม่ถึงสารสนเทศใดๆ และแยกตัวเป็นเอกเทศจากโลกสมัยใหม่อย่าง Skyfall
  • ฉากที่ดีไซน์เท่มากๆ ของภาคนี้คือเซี่ยงไฮ้ การต่อสู้บนตึกที่ใช้กระจกโปร่งและ "แสง"เป็นเครื่องมือ เป็นฉากต่อสู้สมัยใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก (การออกแบบฉากต่อสู้ที่แปลกใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับหนังแอคชั่นคลาสสิค ฉากที่ผมชอบคือ Star Wars Episode I ตอนดวลกับดาร์ธ มอล)
  • ประเด็นเรื่อง "แสง"ยังเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากใน Skyfall เพราะนอกจากไฟนีออนในเซี่ยงไฮ้ เรายังเป็น "โคมและเชิงเทียน"ในมาเก๊า แสงแดดบนเกาะร้าง ฝุ่นควันในห้องไต่สวนที่ลอนดอน และไฟสปอตไลท์จากเฮลิคอปเตอร์-เพลิงพิโรธในสกอตแลนด์
  • "การกลับสู่ราก"ของบอนด์ใน Skyfall เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ถ้าเราเปรียบ Casino Royale เป็น "new style of Bond"หรือบอนด์แนวใหม่เน้นเรียลลิสติก เราก็คงต้องเรียก Skyfall เป็น "Bond, reinterpreted"หรือบอนด์แบบเดิมที่ถูกนำมาตีความใหม่อีกครั้ง
  • การกลับมาของ Q และ Moneypenny ในรูปโฉมใหม่ (Q เป็นแฮ็กเกอร์ และ Moneypenny ลงภาคสนามได้) รวมถึงการเปลี่ยนตัว M คนใหม่กลับเป็นผู้ชายเท่ๆ มีความลึกอย่าง ราล์ฟ ไฟน์ ถือเป็นการ reinterpret บอนด์แบบเก่าเสียใหม่ โครงเดิมแต่เปลี่ยนสไตล์การนำเสนอออกไป
  • การเผยชีวิตวัยเด็กของบอนด์ที่ Skyfall ชวนให้คิดถึงเรื่องแนว "พระเอกมีปม"อย่าง Harry Potter เพียงแต่ Skyfall รวบรัดไป ความซับซ้อนของปมวัยเด็กตัวละครจึงไม่เยอะเท่ากับ Harry Potter
  • ที่ผมคาใจมากคือเนื้อหาในภาคนี้กลับไม่พูดถึง Quantum เลยสักนิด ทั้งที่ปูทางมาแล้วสองภาคก่อนหน้าว่าจะเป็น "ตัวร้ายผู้ยิ่งใหญ่" (จริงๆ Quantum of Solace เหมือนเป็นภาค sidestory มากกว่าเป็นภาคหลักนะ) ก็ต้องรอดูกันภาคหน้าว่า บอนด์จะเดินทางต่อไปในแนวทางเรื่องแบบต่อเนื่อง (มี Quantum เป็นผู้ร้ายหลัก) หรือจะแยกเป็นตอนเอกเทศเหมือนกับใน Skyfall นี้

โดยสรุปแล้วคิดว่า Skyfall ดีกว่า Quantum of Solace เยอะ แต่ยังเป็นรอง Casino Royale อยู่เล็กน้อย

From Up on Poppy Hill

$
0
0

ผมเขียนบล็อกเกี่ยวกับหนังทุกเรื่องจะสปอยล์เนื้อหา ใครไม่อยากอ่านก็ข้ามไปได้ตามสะดวกครับ

From Up on Poppy Hill

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Studio Ghibli แต่เป็นหนังกลุ่ม non-fantasy เหมือนกับพวก Grave of the Fireflies หรือ Only Yesterday มากกว่า

ลองค้นดูแล้ว เนื้อเรื่องเอามาจากการ์ตูนผู้หญิงชื่อเดียวกันในยุค 80s ซึ่งไม่โด่งดังเท่าไรนัก โครงการนี้กำกับโดย Gorō Miyazaki ลูกชายของ Hayao Miyazaki ที่เคยเดบิวผลงานเรื่อง Tales from Earthseaแบบไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีพ่อและคนเขียนบทของเรื่อง Arrietty มาช่วยแบ็คอัพให้

เนื้อเรื่องจับความเอาญี่ปุ่นในยุค 60s โดยนางเอกชื่อ ยูมิ (Umi) เป็นสาวมัธยมปลายที่อยู่ในเมืองริมทะเล (ในเรื่องไม่ได้บอกไว้ แต่รู้ภายหลังว่ามันคือโยโกฮาม่า) เธอกับยายและน้องๆ อาศัยอยู่ในบ้านที่แชร์ร่วมกับคนอื่นๆ อีกสองสามคน ทุกๆ เช้าเธอจะตื่นมาชักธงสัญญาณหน้าบ้านเพื่อส่งข้อความไปถึงพ่อที่ตายไปแล้ว ก่อนจะมาทำกับข้าวเลี้ยงดูคนอื่นในบ้านต่อไป ส่วนแม่เธอไปอยู่ไหน ตายไปหรือยัง อันนี้ไม่ทราบ

ประเด็นหลักของเรื่องคือยูมิไปเจอหนุ่มที่โรงเรียนชื่อชุน ทำงานอยู่ชมรมหนังสือพิมพ์ ต่างฝ่ายต่างก็ปิ๊งกันแบบเงียบๆ (การจีบกันของสองคนนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เจ๋งมาก) ระหว่างนั้น ชุนและผองเพื่อนก็ต้องต่อสู้กับการตัดสินใจของฝ่ายบริหารโรงเรียน ที่ต้องการทุบตึกกิจกรรมที่เหล่าชมรมต่างๆ ในโรงเรียนต่างสิงสถิตอยู่มานาน

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อยูมิชวนชุนมาที่บ้าน และเล่าเรื่องครอบครัวของเธอให้เขาฟัง พร้อมโชว์รูปถ่ายของพ่อในวัยหนุ่มอย่างภูมิใจ ชุนกลับเปลี่ยนไป เหตุเพราะชุนค้นพบว่าตัวเองเป็นลูกเลี้ยง และพ่อเลี้ยงของเขาเล่าให้ฟังว่า [พ่อของยูมิ] เป็นคนพาเขาในวัยทารกมาขอให้ช่วยเลี้ยงให้ ซึ่งครอบครัวของพ่อเลี้ยงเพิ่งเสียลูกชายไปพอดี ก็เลยรับชุนไว้อุปการะด้วยความยินดี

พ่อเลี้ยงยังบอกกับชุนว่า ยิ่งชุนโตขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเหมือน [พ่อของยูมิ] มาก

สรุปก็คือ ชุนกับยูมิเป็นพี่น้องกัน! พล็อตน้ำเน่าดีมาก

ชุนเลยหมางเมินกับยูมิ จนเธอต้องออกปากถาม ชุนขอให้ยูมิคงความสัมพันธ์กับเขาเป็นแค่เพื่อนเหมือนเดิม ระหว่างนั้นทุกคนในโรงเรียนก็ร่วมกันปกป้องตึกกิจกรรมโดยทำความสะอาดตึกให้เป็นระเบียบสวยงาม (เป็นฉากที่เจ๋งมากอีกฉากหนึ่ง) และส่งชุน ยูมิ กับประธานนักเรียน ไปโตเกียวเพื่อคุยกับนักธุรกิจใหญ่ (ซึ่ง "น่าจะ"เป็นประธานโรงเรียน) ให้ยกเลิกการตัดสินใจทุบตึก

นักเรียนทั้งสามคนประสบความสำเร็จในการชักจูงให้ประธานมาดูสภาพล่าสุดของตึกก่อนการตัดสินใจ แต่ยูมิที่หลงรักชุนเข้าแล้ว กลับไม่ประสบความสำเร็จในการกลับมาคืนดีกับชุน

ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายเมื่อยูมิกลับบ้าน และพบกับ "แม่"ที่หนังอธิบายว่าเพิ่งกลับมาจากการไปเรียนต่อที่อเมริกา แม่ของยูมิอธิบายว่าแท้จริงแล้ว ชุนเป็นลูกของ "เพื่อนพ่อ"ที่ตายไปก่อนหน้า พ่อรับมาเลี้ยงเพราะไม่ต้องการให้ลูกเพื่อนเป็นเด็กกำพร้า แต่ก็เลี้ยงไม่ไหวเพราะแม่ท้องยูมิพอดี เลยนำไปฝากเพื่อนอีกคนเลี้ยงแทน

สรุปว่า ชุนมีพ่อ 3 คนคือ พ่อที่แท้จริง (ตาย) พ่อของยูมิ (ตายตอนหลัง) และพ่อเลี้ยงคนปัจจุบัน (ไม่รู้ความจริงว่าเป็นลูกของพ่อคนแรก)

เรื่องก็เลยลงเอยด้วยดี ชุนกับยูมิไม่ได้เป็นพี่น้องกัน

ปัญหาที่สำคัญของ From Up on Poppy Hill คือหนังไม่ได้เล่าเรื่องแบบที่เข้าใจได้ ไม่ได้ปูพื้นในหลายๆ จุด เช่น แม่ไปไหน แม่ตายหรือยัง ทำไมยูมิต้องเป็นคนทำกับข้าวเลี้ยงทุกคนในบ้าน ทำไมต้องมาอยู่บ้านแชร์กัน ฯลฯ ทำให้การเดินเรื่องมันติดๆ ขัดๆ งงๆ และทำให้เราไม่เข้าใจในประเด็นหลายๆ อย่างที่หนังพยายามจะสื่อมากนัก

ผมเข้าใจเอาเองว่า ประเด็นเหล่านี้ถูกปูพื้นในฉบับหนังสือการ์ตูน แต่เมื่อมันถูกดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์ ก็นำมาแต่ตัวละครเสริมซึ่งไม่ได้เล่าเรื่องของตัวละครเหล่านี้ด้วย (ซึ่งคงจะกินเวลามาก) ทำให้เราขาดรายละเอียดหลายๆ อย่างที่ควรรู้ไป (ถ้า Ghibli นำเรื่องนี้มาทำเป็นซีรีส์แทนที่จะเป็นหนัง มีเวลาปูพื้นตัวละครมากขึ้นอีกหน่อย มันจะเทพมากๆ แน่นอน)

ปัญหามีข้อเดียวนั่นล่ะครับ ทำให้ภาพยนตร์ที่มีศักยภาพสูงมาก ๆ เรื่องนี้มีข้อบกพร่องอย่างน่าเสียดาย เพราะส่วนอื่นในหนังเรียกได้ว่าแทบจะ "เพอร์เฟคต์"

งานภาพของ From Up on Poppy Hill เป็นงานวาดด้วยมือที่น่าจะอยู่ในขั้นเกือบสุดของ Ghibli แล้ว (ใกล้เคียงกับเรื่อง Arrietty) เพลงประกอบก็เพราะมากและลงตัว ส่วนที่เป็นเสน่ห์ของ Ghibli อย่างตัวละครรองที่ทำอะไรน่ารักๆ ก็ยังเยี่ยมยอด (ตัวละครรองๆ ในเรื่องนี้คือเหล่านักเรียนทั้งหลาย ที่ไม่ได้โชว์อะไรแฟนตาซีแต่ก็ร่วมกันทำความสะอาดตึกได้แบบอลังการ)

ที่เจ๋งที่สุดคงเป็นคาแรกเตอร์ของยูมิ นางเอกของเรื่องที่ใครดูก็ต้องหลงรัก เธอเป็นสาวน้อยแสนดีที่มีภาระต้องดูแลทุกคนในบ้าน (ซึ่งดูจนหนังจบแล้วก็ไม่อธิบายว่าทำไม) แต่ก็เริ่มสนใจคบหาเพื่อนๆ ทำกิจกรรมที่โรงเรียนตามวัย และเริ่มมี "รักครั้งแรก"กับหนุ่มเท่ประจำโรงเรียนอย่างชุน

โดยรวมแล้วเป็นหนังที่ดูดีมีความสุขมาก เพียงแต่ปัญหาเรื่องการเล่าเรื่องที่ยังขาดๆ เกินๆ (จนสงสัยว่าผ่านมือ Miyasaki มาได้อย่างไร) ทำให้ความสมบูรณ์ของหนังยังเป็นรอง Arrietty อยู่พอสมควร

Keyword:

Windows 9 Leak

$
0
0

เขียนข่าวดักไว้ล่วงหน้า 2 ปี หน้าตาของ Windows 9 มันจะออกมาประมาณนี้แหละครับ นี่คืออนาคตที่ต้องเผชิญ ไม่มีทางเลือกอื่น

ที่เหลือขึ้นกับว่า ไมโครซอฟท์จะกล้าตัดเดสก์ท็อปออกไปในรุ่นนี้หรือเปล่า (คาดว่ายัง)


Net Neutrality and Smart TV

$
0
0

นี่เป็นเรื่องที่ผมเคยคาดไว้ว่าจะมีปัญหาในอนาคตอันใกล้ แต่ไม่นึกว่าจะเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วที่เกาหลี

วันนี้ไปงานสัมมนาวิชาการ ITS 2012 ที่ กสทช. ร่วมจัด เข้าห้องเรื่อง Digital TV มีสาวนักวิจัยจากเกาหลีหน้าตาดีคนหนึ่ง มาพรีเซนต์เปเปอร์หัวข้อว่า KT ซึ่งเป็นยักษ์โทรคมนาคมของเกาหลี สั่งบล็อคทราฟฟิกของ Samsung Smart TV เสียอย่างงั้น

เหตุผลที่ KT ระบุไว้คือ Smart TV กินแบนด์วิธสูงมาก เลยบล็อคทีวีจากซัมซุงซะ

KT Samsung Smart TV

เหตุผลแบบซับซ้อนหน่อยก็คือ

  • เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ใช้บริการ IPTV เยอะมาก คือใช้แทนเคเบิลทีวีหรือดาวเทียมของบ้านเรา และประชากรทั้งประเทศดู IPTV แบบเสียเงิน
  • KT เป็นผู้ให้บริการ IPTV รายใหญ่ของประเทศ สัดส่วนประมาณ 70-80% ของตลาด
  • ด้วยโครงสร้างของ IPTV คือการฉายโปรแกรมตามตารางเวลาเป็นหลัก ทำให้สามารถออกแบบโครงข่ายรองรับปริมาณการโหลดได้ง่าย เป็น CDN แล้วส่งทราฟฟิกที่เหมือนๆ กันออกไป
  • แต่พอเป็น Smart TV ที่ดูรายการได้แบบ on demand ทำให้ทราฟฟิกจะไปคับคั่งที่ backbone ของ KT
  • LG ทำ Smart TV ที่สามารถดู IPTV ตามระบบของ KT ได้ด้วย แต่ซัมซุงไม่ยอมทำ
  • ยักษ์สองตัวปะทะกัน ก็เลยมีคดีบล็อคกันเช่นนี้แล

ตัวอย่างนี้เป็นประเด็นเรื่อง net neutrality ของยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ที่น่าจะกระทบคนใช้ทีวีตรงๆ (ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นเท่าไรนักในประเทศอื่นๆ ผมเคยเห็นเรื่องว่าโอเปอเรเตอร์อังกฤษไม่พอใจ BBC iPlayer ที่ใช้ทราฟฟิกเยอะเหมือนกัน แต่เข้าใจว่ายังไม่ถึงขั้นบล็อค)

เรื่องนี้ซับซ้อนไปอีกเพราะ กสทช. เกาหลีใต้ก็มี conflict of interest และมีนโยบายเรื่อง net neutrality ที่ผมยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก ก็คงเขียนถึงได้แค่นี้ครับ

ความโชคดีอย่างหนึ่งก็คือ session นี้มี รศ. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ หนึ่งใน กสทช. สาย broadcast เป็น chair พอดี และ อ.ธวัชชัย ก็พูดขึ้นมาเองเลยว่า "เรื่องนี้สำคัญมาก"เราก็หวังว่าจะได้เห็น กสทช. มีท่าทีต่อปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ในบ้านเราต่อไปครับ

Acquisition Test

$
0
0

ช่วงนี้ประเด็นร้อนของโลกไอทีฝรั่งคือ HPกับ Autonomyและมีกูรูหลายรายออกมาวิเคราะห์เรื่องการซื้อกิจการที่ (น่าจะเรียกว่า) ล้มเหลวครั้งนี้

สำหรับไอเดียรวมๆ ลองดูที่ NYT: H.P.’s Misstep Shows the Risk in Big Ideas

เรื่องที่จะเขียนในบล็อกนี้มาจาก Forbesที่ยกเคสของ HP-Autonomy มาวิเคราะห์เรื่องการซื้อกิจการที่สำเร็จ-ล้มเหลว โดยใช้ทฤษฎีของ Porter คิดว่าน่าสนใจดี

ผู้เขียน Peter Cohan บอกว่าการซื้อกิจการที่ดีต้องผ่านการประเมิน 4 ข้อ เพื่อความสะดวกจะเรียกบริษัทที่เข้าซื้อว่า A และบริษัทที่ถูกซื้อว่า B

  1. The Industry Attractiveness Testอุตสาหกรรมที่ B อยู่ต้องมีศักยภาพที่จะทำกำไรในภาพรวม (ไม่ใช่เฉพาะแค่ B ที่ต้องมีศักยภาพจะมีกำไร) แปลว่าบริษัทใดๆ ในอุตสาหกรรมนี้โดยเฉลี่ยแล้วต้องมีศักยภาพที่จะกำไร การซื้อ B (ที่อาจเป็นผู้เล่นเก่งๆ ในอุตสาหกรรมนี้) จึงมีความเสี่ยงต่ำที่จะล้มเหลว
  2. The “Better Off” Testหลังการซื้อกิจการแล้ว A+B ต้องมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม และมีโอกาสที่จะเติบโตมากกว่าเดิม ถ้ารวมกันแล้วอ่อนแอลง ก็แปลว่าสอบตกการประเมินข้อนี้
  3. The Net Present Value (NPV) > 0 Testกระแสเงินสด (cash flow) ที่จะเข้ามาในอนาคตจากการซื้อบริษัท จะต้องมากกว่าเงินที่ A จ่ายเพื่อซื้อกิจการในปัจจุบัน
  4. The Integration Testเรื่องวัฒนธรรมองค์กร A และ B ต้องตกลงกันว่าบริษัทใหม่จะมีโครงสร้างและวัฒนธรรมอย่างไร ซึ่ง A ต้องระวังมาก เพราะทำไม่ดี คนเก่งๆ ใน B จะลาออกไปหมด

บริษัทที่ผ่านการทดสอบ 4 ข้อนี้คือ EMC ซื้อ VMware แต่ผู้เขียนก็ระบุชัดว่าตอนนี้มองย้อนกลับไปประเมินน่ะมันง่าย แต่คนที่ซื้อกิจการในปัจจุบันจะรู้ได้ไงว่ามันเวิร์คหรือไม่ ก็เป็นเรื่องยากอยู่ดี

Journalism is not a Profession Anymore

$
0
0

อ.พิรงรอง รามสูต เขียนบทความ ถึงเวลาปฏิรูปองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือยัง ?ตั้งคำถามถึง "วิชาชีพสื่อ"ที่ถูกตั้งคำถามมากๆ ในช่วงหลัง ทั้งประเด็นเรื่องสื่อไปร่วมทริปดูงานของรัฐสภา หรือประเด็นเรื่อง "ไร่ส้ม"รวมถึง "องค์กรวิชาชีพสื่อ"ที่ถูกวิจารณ์ว่าเอียงข้างทางการเมืองเช่นกัน

อาจารย์ให้ความเห็นว่า "ความเห็นสาธารณะ"ต่อประเด็นเรื่อง "วิชาชีพสื่อ"แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "รับไม่ได้"กับ "เฉยๆ สงวนท่าที"ซึ่งรายละเอียดคงต้องไปอ่านกันเองตามต้นฉบับ

ความเห็นผมไปอีกทาง เลยต้องขอบันทึกลงบล็อกหน่อย คือผมคิดว่า "วิชาชีพสื่อตายแล้ว"ดังนั้นดีเบทเรื่อง "วิชาชีพสื่อ"จึงกลายเป็นประเด็นที่ล้าสมัยไปแล้ว อย่างน้อยก็สำหรับคนกลุ่มหนึ่งในสังคม

ที่ว่า "วิชาชีพสื่อตายแล้ว"หมายถึงว่าเทคโนโลยีช่วยให้ "ใครๆ ก็เป็นสื่อได้" (ตามที่เนชั่นโฆษณา) เราเห็นปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายในช่วงหลัง เช่น เคสของครูอังคณา (YouTube ทำให้เด็กคนหนึ่งเป็นสื่อได้) หรือเคสแก่ใจดีสปอร์ตกทม. (แคปหน้าจอมือถือมาโพสต์ก็เป็นสื่อได้)

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ "ตัวละคร"ของเรื่องราวสามารถเป็นสื่อได้เอง (ผ่านบล็อก ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ) ดาราเองจากที่เคยง้อสื่อบันเทิง ก็เปลี่ยนมากำหนดหัวข่าวเอง (setting agenda) ด้วยภาพถ่ายที่ตัวเองจงใจปล่อยออกมา เป็นต้น (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความ Instagram กับวงการสื่อบันเทิงไทย)

เมื่อใครๆ ก็เป็นสื่อได้ ความเป็นสื่อจึงแปรสภาพจาก "วิชาชีพ"ที่เคยจำกัดไว้เฉพาะคนกลุ่มนี้ (และมีธรรมเนียมปฏิบัติเฉพาะคนกลุ่มนี้ เพื่อตรวจสอบและควบคุมกันเอง) เป็น "ทักษะ"ที่ใครก็ได้ในสังคมสามารถมีได้เช่นกัน

ดังนั้นกลไกการควบคุม "วิชาชีพ"แบบต่างๆ (เช่น ปลูกฝังจริยธรรมสื่อไว้ตั้งแต่ตอนเรียน หรือมีองค์กรวิชาชีพมากำกับดูแลกันเอง) จึงไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะต่อให้ "คนในวิชาชีพ"อยู่ในระเบียบกันทั้งหมด (ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว) ก็ตาม มันก็มี "คนนอกวิชาชีพ"ที่ทำแบบเดียวกันและอยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กรวิชาชีพอยู่ดี

เดิมทีจรรยาบรรณสื่อกำหนดไว้ว่า "ต้องเป็นกลาง"เพราะการเป็นสื่อมันยากและจำกัดแต่ดันมีอิทธิพลต่อสังคมสูง สื่อจึงควร "เป็นกลาง"เพื่อไม่เข้าข้างกลุ่มพลังใดในสังคมมากเกินไป และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม (ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่อีกเรื่องนึง ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่ามันทำได้ไม่จริง)

แต่เมื่อ "ใครๆ ก็เป็นสื่อได้"ผมคิดว่าแนวคิด "สื่อต้องเป็นกลาง"ล้าสมัยไปในทันที เราควรปล่อยให้ "สื่อเลือกข้างอย่างอิสระ"แล้วให้สื่อแต่ละข้างเนี่ยแหละมาต่อสู้กันเองในเชิงข้อมูลและเรื่องราว สุดท้ายผู้เสพสื่อจะเป็นคนตัดสินด้วยตัวเองว่าควรจะเลือกใคร

อธิบายง่ายๆ เมื่อก่อนสมมติว่ามีสื่อ 1 ราย สื่อก็ควรนำเสนอออกมา "กลางๆ" (อย่างน้อยก็พยายาม) เพราะเสนอเข้าข้างใดข้างหนึ่งมันมีผลกระทบมากต่ออีกฝั่ง (และการสร้างสื่อขึ้นมาอีกรายต้องใช้ทรัพยากรเยอะเกินไป)

แต่ตอนนี้เรามีสื่อ 100 ราย เราไม่สมควรจะมีสื่อกลางๆ 100 ราย แต่ควรมีสื่อเลือกข้างให้ชัดเจนหลายสิบราย (ไม่เฉพาะเลือกข้างการเมือง แต่หมายถึงทุกเรื่อง) เช่น 3 กลุ่มกลุ่มละ 30-40 ราย แล้วสื่อแต่ละฝ่ายก็แข่งขันกันช่วงชิงผู้อ่านให้ "เชื่อว่า"แนวทางของตัวเองถูกต้อง

เราควรเชื่อว่าผู้บริโภค ผู้เสพสื่อ สามารถเลือกดูว่าสื่อชนิดไหนน่าเชื่อถือ มีสาระ เพราะมีกลไกการตรวจสอบกันเองของสื่อแต่ละฝ่าย (พูดง่ายๆ คือสื่อขั้วตรงข้ามกันทำให้การตรวจสอบสื่อเพิ่มสูงมาก การแฉกันเองเละเทะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนทำสื่อที่โดนแฉ แต่สังคมได้ประโยชน์) แทนการมองว่า "ผู้บริโภคโง่งม"และควรได้รับการสกรีนเนื้อหาจากสื่ออย่างที่แล้วๆ มา

แน่นอนว่าวิธีคิดของผมเป็นสาย new media ไม่ใช่สื่อกระแสหลักแบบเดิม ซึ่งที่สัมผัสมาก็พบว่าผู้บริหารสื่อแบบเก่าๆ ก็พูดแบบนี้ว่าทุกคนเป็นสื่อได้ แต่เอาเข้าจริงก็แบ่งแยกว่าเราเป็น "สื่ออาชีพ"ในขณะที่สื่อใหม่เป็นแค่ "สื่อสมัครเล่น"ไม่ควรให้ความสำคัญมากเท่าไรหรอก

China Model

$
0
0

ผมเคยสงสัยเรื่องนี้มานานแล้ว เขียนไว้ที่บล็อก สาวกจีน

มันเป็น myth อย่างหนึ่งของคนไทยจำนวนเยอะมากๆ ที่มองว่า "ไทยควรใช้โมเดลการปกครองแบบจีน"คือเป็นเผด็จการอ่อนๆ ทีนี้พอจีนเศรษฐกิจเติบโต เลยเป็น "ความชอบธรรม"ของโมเดลนี้ไปโดยปริยาย

โชคดีมากว่าผมไม่ได้คิดไปเองคนเดียว คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ (@nuling) ถามเรื่องนี้ใน Facebook และได้ อ.เกษียร เตชะพีระ ให้คำตอบใน "เชิงวิชาการด้านรัฐศาสตร์"เดี๋ยวต้องลองเอาไปให้พวกสาวกจีนอ่านดู อยากรู้ว่าจะตอบข้อถกเถียงของ อ.เกษียร ได้อย่างไร

อ่านได้ที่ Facebook Kasian Tejapiraขอคัดสำเนาไว้ตรงนี้กันโพสต์หายในอนาคต

ปุจฉา-วิสัชนา: จีนโมเดลกับประชาธิปไตยแบบมีพรรคการเมืองเดียว

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ตั้งปุจฉาว่า:

วันก่อน ...... TNews พูดใน FM 101 เรื่องประเทศไทยควรใช้โมเดลจีน คือมีพรรคการเมืองเดียว แล้วเสรีเรื่องเศรษฐกิจ ไทยไม่ควรเดิน ปชต ตามตะวันตก เพราะตะวันตกไปไม่รอด แต่จีนดีกว่ามาก น้านนนน

ทีแรกก็ คิดว่ามีคนบ้าอยู่ไม่กี่คน แต่ที่ไหนได้ ผมไปประชุมในวงหนึ่ง ซึ่งก็พวกที่ไปสนามม้านั่นแหละ ที่ต้องไปเพราะมันเกี่ยวกับงานของมูลนิธิ แต่พอหลังเวที เราคุยกันเรื่องการเมือง เพราะเขารู้ว่าผมรณรงค์ใส่ชุดหนาว มีการแซวกันไปมาพอสมควร แต่ที่ผมตกใจคือ พวกนี้คุยกันเรื่อง จีนโมเดล และอธิบายแบบที่.......พูดว่า ควรมีพรรคการเมืองเหลือพรรคเดียว

เห็นทีต้องขอแรง อ.ช่วยอธิบายเรื่องจีนโมเดล กับ ประชาธิปไตยแบบมีพรรคการเมืองเดียว

ผมทดลองตอบขั้นต้นว่า:

โมเดลจีนโดยแก่นแท้ผมเห็นว่าเป็น authoritarian capitalism คือเศรษฐกิจทุนนิยมภายใต้การเมืองแบบอำนาจนิยม จะเรียกว่า market stalinism (ลัทธิสตาลินแบบอิงตลาด) ก็ได้ ถ้ามองจากมุมซ้าย

ผมไม่แปลกใจที่มีคนเพ้อฝันถึงมัน เอาเฉพาะหน้า มี ๓ เรื่องต้องคิด

๑) ไม่มีประชาธิปไตยแน่ ๆ คือสภาตรายางและการเลือกตั้งที่มีเก๊ทั้งนั้น หลังฉากจัดตั้งของพรรคคุมเข้มตลอด

๒) ประชาชนลำบากเดือดร้อนก็หาทางประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐลำบาก การรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนหนักข้อมาก เมืองไทยเฮง ๆ ซวย ๆ ก็ยังดีกว่าเยอะ คือมีสื่อเสรี มีองค์กรประชาชน ถ้าเอาแบบจีน สมัชชาคนจนอยู่ไม่ได้ด้วยซ้ำ และทีวีเสรีต่าง ๆ จะถูกคุมหนักกว่ากรมประชาสัมพันธ์อีก

๓) ไม่มีหลักนิติรัฐครับ ยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะพรรคอยู่เหนือศาลและอยู่เหนือความพร้อมรับผิดทางการเมืองและกฎหมาย

เอาเข้าจริง ทักษิณและพรรคไทยรักไทยยุคแรกมีช่วงที่เพ้อฝันถึงรูปแบบเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมอำนาจนิยมเช่นกัน จึงอยากจะเป็นแบบสิงคโปร์/มาเลเซีย และหนังเรื่อง Hero ที่ให้ความชอบธรรมกับทรราชย์จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นที่จับใจของผู้เชียร์ทักษิณ หลายคน เช่น อ.สุวินัย ภรณวลัย (สมัยนั้น) เป็นต้น แต่พอเจอกับพลังอำมาตย์เข้าและต้องพึ่งพลังประชาชนเสื้อแดง ทักษิณจึงหันมามีท่าทีเสรีประชาธิปไตยบ้าง

ที่บอกว่าจีนมีพรรคเดียวนั้น จริงแค่กึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งคือพรรคคอมมิวนิสต์เสมือนพระผู้เป็นเจ้า ใช้อำนาจอภินิหารอยู่ทุกหนแห่งแต่ไม่มีใครมองเห็น หมายความว่า ใช้อำนาจผ่านหน่วยจัดตั้งพรรคที่ซ่อนรูปอยู่ในองค์การรัฐและเอกชนต่าง ๆ เต็มไปหมด คอยชี้นำบงการอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่มีตัวตนให้ถูกฟ้องร้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือทางอาญาได้เลย อำนาจแบบไม่เป็นทางการและลับ ๆ ล่อ ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนี้ มีส่วนคล้ายอำนาจของเครือข่ายอำมาตย์อยู่ คือเป็น informal power ทำให้สามารถชี้นำการตัดสินใจขององค์รทางการของรัฐอยู่หลังฉากได้ แต่ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทางกฎหมาย

ถ้าคุณสมบัติถูกนสพ.ของรัฐบาลจีนรังแกกล่าวหา คุณสมบัติก็ฟ้องได้แต่นสพ.หรือหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ โอกาสชนะน้อยมาก เพราะศาลไม่อิสระ (ตุลาการมีหน้าที่รับใช้การปฏิวัติจ้า และพรรคเป็นแกนนำกองหน้าของการปฏิวัติ) แต่คุณสมบัติจะไม่มีวันเอื้อมถึงพรรคเลย

พวกที่พูด ๆ กันเนี่ยไม่รู้เรื่องหรอกครับ เห็นแต่ผิวเผินฉาบฉวย บ้าบรม พอเห็นจีนรวย ก็อวยตามเขา ไม่รู้ว่าแก่นแท้เป็นไง และยังมีหน้ามาอ้าง “ความเป็นไทย” “เอกลักษณ์ไทย” หาว่าคนที่ค้านตน “ตามก้นฝรั่ง” ทีตัวเอง “ตามก้นจีน” แนบชิดกลับบอกว่า “พังซี่อ้า” บ่อเถ่าบ่อเน่า

China Model, Part 2

$
0
0

เพิ่งเขียนเรื่อง China Modelโดยอ้างโพสต์ของ อ.เกษียร ไปไม่นาน

"ใบตองแห้ง"ก็เขียนบทความประเด็นเดียวกัน แต่เล่าจากคนที่เคย "เข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์"อ่านสรรนิพนธ์ประธานเหมา ฝักใฝ่แนวทางสังคมนิยม ฯลฯ ตามแนวทางของจีนแดงในอดีต

คัดมาบางส่วนแล้วกัน

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพวกเขามองหาประเทศเผด็จการที่ประสบความสำเร็จไม่เจอ เลยหันมาคว้าจีนนี่แหละ เป็นแบบอย่าง ว่าเห็นไหม ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ไม่ต้องเปิดประชาธิปไตย ไม่ต้องให้สิทธิเสรีภาพ จีนก็เจริญได้ โตพรวดพราดกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกอยู่ไม่กี่วันนี้ ทีแรก พวกไม่เอาเลือกตั้งสนใจศึกษาแบบอย่างอิหร่าน อิหร่านมีเลือกตั้ง แต่ต้องให้ผู้นำศาสนาปั๊มตรารับรองผู้สมัครก่อน พวกนี้ก็คิดว่าเมืองไทยน่าจะมีคณะบุคคลที่อาจจะมาจากองคมนตรี ราษฎรอาวุโส ตุลาการ ผู้จงรักภักดี ฯลฯ ให้การรับรอง “คนดี” มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ทฤษฎีอิหร่านสู้จีนไม่ได้ เพราะจีนเป็นมหาอำนาจและเศรษฐีใหญ่ในสายตาพวกเขา ก็เลยคิดใหม่ว่า เมื่อจีนปกครองด้วยชาวพรรคคอมมิวนิสต์ผู้มีอุดมการณ์สูงส่ง เมืองไทยก็ควรปกครองด้วยคณะบุคคลดังกล่าว สหายเอ๋ย คนเหล่านี้ท่าจะเมาสารตกค้างในกระเทียมจีน หรือไม่ก็เผลอเอาพลาสติกจีนเข้าปาก (วันก่อนผมไปเดินตลาด เห็นของเล่นสีสวยน่าซื้อไปฝากหลาน หยิบขึ้นมา ไอ๊หยา Made in China เหมาะสำหรับเด็กอายุ 18+)

ที่เหลืออ่านใน ใบตองแห้งออนไลน์: มหาอำนาจพลาสติก กับลัทธิตามก้นจีนย้อนยุค

Viewing all 557 articles
Browse latest View live




Latest Images