Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Whisper of the Heart

$
0
0

กำลังอยู่ในช่วงเก็บตกหนังของ Ghibli ที่ไม่ได้ดูในอดีตครับ (ส่วนใหญ่เป็นหนังที่ไม่ได้กำกับโดยมิยาซากิ)

Whisper of the Heart เป็นหนังปี 1995 ตัวเรื่องเป็นแนวสมจริง ไม่มีแฟนตาซี (แอบมีนิดเดียวในความคิดของนางเอก) เป็นหนังแนว coming of age ที่สนุกและสมบูรณ์มาก

นางเอกเป็นนักเรียนชั้น ม.ต้น ที่กำลังจะขึ้น ม.ปลาย เป็นคนชอบอ่านนิยาย งานอดิเรกคือยืมนิยายในห้องสมุดต่างๆ มาอ่านที่บ้าน เธอมีความฝันแบบลอยๆ จะเป็นนักเขียน ส่วนปมของเรื่องมี 2 ปมใหญ่ๆ คือ ความรักครั้งแรกของสาวน้อย และการตามหาความใฝ่ฝันของตัวเองว่าตกลงชีวิตข้างหน้าอยากจะทำอะไรกันแน่ (ซึ่งหนังผูกสองปมเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี)

อารมณ์ของหนังจะคล้ายๆ กับ From Up on Poppy Hillแต่การเล่าเรื่องของ Whisper of the Heart สมบูรณ์กว่ากันเยอะ เล่าครบจบประเด็นได้ในตัว ไม่งงๆ ขาดๆ แบบในเรื่อง Poppy Hill ส่วนงานภาพก็สมบูรณ์ไร้ที่ติตามสไตล์หนังของ Ghibli ที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลาอยู่แล้ว (คือผมว่าต่อให้เอา Nausicaa มาฉายในปัจจุบันมันก็ยังเทพอยู่ดี)

นอกจากนี้หนังยังมีไม้เด็ดคือ "เพลง"ซึ่งเลือกใช้เพลง Take Me Home, Country Roads มาเป็นเพลงธีมหลักของเรื่อง แถมตัวเพลงยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องอีกด้วย

สุดท้าย แมวในเรื่องก็ได้รับความนิยมมากจนได้มีหนังของตัวเองคือ The Cat Returns ในภายหลังอีกด้วย (ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน)

สรุปว่าเป็นหนังของ Ghibli อีกเรื่องที่สนุกมากๆ เลยครับ (ผมชอบมากกว่าหนังยุคหลังๆ อย่าง Spirited Away อีกนะ)

Keyword:


Money and Meaning

$
0
0

คำว่า startup คงเป็นคำศัพท์คำหนึ่งที่ฮ็อตมากในวงการไอทีไทยรอบปี 2012 (ซึ่งเป็นเรื่องดี)

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ startup มาแล้วหลายครั้ง แต่เพิ่งเคยเขียนลงไทยรัฐออนไลน์ในบทความชื่อ มาเปิด Startup กันเถอะ!

ปกติแล้วเวลาเขียนคอลัมน์ลงไทยรัฐที่เป็นผู้อ่านกลุ่ม mass ผมพยายามจะเขียนเล่าเรื่องให้ง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (ไอดอลเรื่องงานเขียนของผมคือ Walt Mossberg แห่ง Wall Street Journal ซึ่งเขาเขียนเรื่องไอทีลง นสพ. กระแสหลักได้เข้าใจง่ายแต่ได้สาระมาก) ดังนั้นบทความเรื่อง startup ในไทยรัฐจึงไม่ได้ลงลึกมากนัก

แต่ประเด็นหนึ่งที่เขียนถึงเอาไว้และอยากขยายความอีกหน่อยคือคำว่า M&M หรือ money & meaning ซึ่งผมมองว่าเป็น "เป้าหมาย"ของ startup สายไอทีทุกราย

moneyอันนี้ชัดเจนว่าคนทำ startup ทุกคนอยากรวยแบบบิล เกตส์ หรือซัคเคอร์เบิร์ก ถึงแม้ในความเป็นจริงจะรวยขนาดนั้นได้ยากมาก แต่เอาแค่มีบริษัทยักษ์ใหญ่มาซื้อกิจการไปก็เหลือเฟือแล้ว

meaningนอกจากความร่ำรวยแล้ว ผมเชื่อว่า startup ต้องการสร้างผลงานที่มีความหมายต่อผู้คน (ถ้าไม่ถึงขนาดเปลี่ยนโลก) คือมันไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเห็นผลงานของตัวเองสามารถสร้างผลกระทบบางประการต่อคนหมู่มากได้ด้วย (ถ้าอยากได้เงินอย่างเดียว เล่นหุ้นอาจจะง่ายกว่า)

เป้าหมายสองอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และการทำงานเป็นพนักงานกินเงินเดือนอาจมี "กรอบ"หลายอย่างที่ไม่อนุญาตให้เราบรรลุเป้าหมายทั้งสองนี้ ดังนั้นการออกมาทำ startup ย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายทั้งสองประการ (แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จเสมอไป และต้องใช้ความพยายามมากกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนปกติมากมาย)

ในเชิงของกระบวนการแล้ว เราจึงเห็น "มาตรการ"หรือ "เครื่องมือ"หลายอย่างที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ startup ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น เช่น VC, incubator, angel ฯลฯ ซึ่งอันนั้นต้องลงรายละเอียดกันต่อไป

Keyword:

Android 4.2 Multi-user

$
0
0

Multi-user เป็นฟีเจอร์ของ Android 4.2ที่ฟังดูแล้วเฉยๆ ธรรมดา แต่พอลองใช้งานจริงแล้ว ผมพบว่ามันเป็น killer use case ของการใช้แท็บเล็ตเลยแหละ

การใช้งานแท็บเล็ตนี่มี use case หลายแบบมาก เท่าที่เห็นตามท้องถนนก็มีคนพกแท็บเล็ตออกนอกบ้าน เป็นอุปกรณ์ท่องเน็ตยามว่าง อันนี้แบบหนึ่ง หรือมีบางกรณีก็เห็นคนใช้แท็บเล็ตเป็นหน้าจอสำหรับดูหนังนอกสถานที่ ก็จะเน้นการใช้เคสที่มีขาตั้ง เป็นต้น

การใช้งานของผมคือไม่พกแท็บเล็ตออกนอกบ้าน ด้วยเหตุผลว่า 1) ต้องพกโน้ตบุ๊กอยู่แล้วในกรณีที่ไปทำงาน และ 2) ถ้าไม่ต้องหิ้วโน้ตบุ๊ก ปกติไม่สะพายกระเป๋าใดๆ เดินตัวปลิวตลอด

ดังนั้นสำหรับผมแล้ว แท็บเล็ตจึงมีประโยชน์ในฐานะ living room device หรือ bedroom device เท่านั้น ซื้อรุ่น Wi-Fi ที่ความจุต่ำสุดเป็นพอ เพราะเราไม่คิดจะนำมันไปใช้ในสถานการณ์อื่น

ฟีเจอร์ multi-user มันมีประโยชน์ตรงนี้ล่ะครับ คือ แท็บเล็ตจะถูกวางทิ้งไว้เป็นอุปกรณ์สามัญประจำบ้าน (common object) ไม่ใช่อุปกรณ์ส่วนตัว (personal device) แบบเดียวกับสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊ก (กรณีคล้ายๆ กันคือ Chromebook เคยถูกรีวิวสำนักหนึ่งเรียกว่าเป็น kitchen computer ซึ่งผมว่าเป็นคำเรียกที่ดีมาก)

เราจึงมีสถานการณ์แนวๆ ว่า

  • ขอยืมแท็บเล็ตหน่อย จะดูแผนที่ก่อนออกจากบ้าน (เพราะเปิดด้วยสมาร์ทโฟนมันเล็ก จะไปเปิดคอมก็เสียเวลา)
  • browsing หาข้อมูลเป็นระยะเวลาสั้นๆ
  • เช็คเมล เช็คโซเชียล แบบด่วนๆ

การใช้งานบางประเภท เช่น browsing เป็นงานทั่วไปที่ทำบนแท็บเล็ตของคนอื่นได้ไม่ยากนัก (เจ้าของแท็บเล็ตอาจรู้สึกถูกรุกราน browsing session อยู่บ้าง) แต่การเช็คเมลหรือโซเชียลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ผูกกับบัญชีเฉพาะตน ย่อมสร้างอาการไม่สะดวกใจกันทั้งฝ่ายเจ้าของแท็บเล็ตและคนขอยืมใช้งาน

multi-user ออกแบบมาแก้ปัญหานี้ได้อย่างสวยงาม เพราะเพียงแค่หยิบแท็บเล็ต (ที่วางอยู่บนโต๊ะกินข้าว) ขึ้นมา ปลดล็อคหน้าจอ แล้วปัดไปทางซ้ายหรือขวาหนึ่งครั้ง "แท็บเล็ตของคนอื่น"จะแปลงกายกลายเป็น "แท็บเล็ตของเรา"โดยสมบูรณ์ในพริบตา และเมื่อใช้เสร็จแล้ว เจ้าของก็ปัดกลับไปหนึ่งครั้งเพื่อแปลงมันกลับไปเป็นเวอร์ชันของตัวเองได้

อันนี้พูดแบบกลางๆ คือฟีเจอร์แบบนี้ควรมีบนแท็บเล็ตทุกๆ แพลตฟอร์มด้วย ไม่ควรจำกัดเฉพาะบน Android อย่างเดียว

หมายเหตุ: ในแง่การใช้งานจริงมันยังมีปัญหาจุกจิกอยู่บ้าง เช่น Google Talk ใช้ได้เฉพาะ user ที่เป็นเจ้าของเครื่องเท่านั้น (อันนี้กูเกิลห่วยเอง) แต่ปัญหาพวกนี้คงค่อยๆ ถูกแก้ไขไปในอนาคต

Rice Saga

$
0
0

ต้องออกตัวว่าผมไม่รู้เรื่องข้าวเลยสักนิด ถึงแม้จะเคยไปแตะๆ ช่วย TDRI และ ธกส. เรื่องระบบไอทีเพื่อการเกษตรมาบ้าง (สมัยประกันรายได้เกษตรกรในยุครัฐบาล ปชป.) แต่ถ้าถามว่าจำนำหรือประกัน อันนี้ผมตอบไม่ได้จริงๆ ความรู้ไม่พอที่จะแยกแยะได้ว่านโยบายแบบไหนดีกว่ากัน (คือพอจะแยกแยะข้อดีข้อเสียของทั้งคู่ได้ แต่ให้เทียบกันแล้วไม่รู้)

ช่วงนี้มีมหากาพย์เรื่องนโยบายจำนำข้าวของสุดยอดนักวิชาการแห่งยุค 4 ท่านพอดี ก็มาจดเก็บไว้หน่อยครับ

สิ่งหนึ่งที่พอสรุปได้จากวิวาทะชุดนี้คือ นิธิ+เกษียร ใช้กรอบวิเคราะห์เรื่องโครงสร้างสังคม-รัฐศาสตร์ ส่วนนิพนธ์+อัมมาร ใช้กรอบวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายการคลังเป็นหลัก

ในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศแล้ว ผมว่ากรอบของนิธิ+เกษียรนั้นใหญ่กว่ากรอบของ TDRI นะ (ไม่ได้บอกว่า TDRI ผิด แต่การวิเคราะห์ของนิพนธ์+อัมมาร ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่องสังคม-รัฐศาสตร์-การกำหนดนโยบายเช่นกัน ซึ่งอาจไม่ตรงกับกรอบของนิธิ+เกษียรก็ได้ ซึ่งอันไหนดีกว่ากันก็ยังมาถกเถียงกันได้)

และแน่นอนว่าในบทความของนิธิ+เกษียร นั้นละเลยรายละเอียดเชิงเศรษฐศาสตร์ สถิติ และตัวเลขไป (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้จากงานของคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว)

Zipang 35

$
0
0

Zipang 35

ผมเป็นแฟนของ Kaiji Kawaguchi ผู้เขียน Silent Service มานาน คนที่อ่านงานของพี่แกเหมือนกันคงรู้ซึ้งในความสามารถอยู่แล้ว แต่ Zipang #35 มีวิธีการดำเนินเรื่องที่มีชั้นเชิงมากๆ จนต้องมาเขียนบล็อกไว้หน่อย

หลังจากปูเรื่องมานาน 30 กว่าเล่ม ในที่สุด Zipang ก็เริ่มขมวดปมเข้ามา นำ "ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์"มาเปลี่ยนเป็น "ความขัดแย้งเชิงกายภาพ"ซึ่งก็หมายถึงการสู้รบและสงคราม (ตามหลักการ์ตูนสงครามที่ดีมันย่อมต้องยิงกัน)

ทีนี้คำว่า "ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์"ของ Zipang นั้นแปรความหมายของ "คู่ขัดแย้ง"ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (อเมริกา vs จักรวรรดิญี่ปุ่น) ให้เปลี่ยนมาเป็น "สงครามสามฝ่าย"โดยใช้การเล่าเรื่องแบบ "ตัวแทนของพลังอำนาจ"ในรูปของ "กองเรือ"

  • สหรัฐอเมริกาผ่านกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ (ไม่มีตัวแทนเดี่ยวเชิงสัญลักษณ์ แต่แสดงออกผ่านแสนยานุภาพของกองเรือ)
  • alternative ญี่ปุ่นแห่งอนาคตที่แตกต่างไปจากจักรวรรดิญี่ปุ่นในอดีต ผ่าน "มิไร" (ซึ่งก็มีความหมายว่า "อนาคต"ในภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว) เรือเดี่ยวลำเล็กแต่มีแสนยานุภาพสูงจากอนาคต
  • alternative จักวรรดิญี่ปุ่นที่แตกต่างไปจากจักรวรรดิญี่ปุ่นในความเป็นจริง ผ่าน "กบฎยามาโตะ"ของคุซากะ ทาคุมิ ที่ใช้ตัวแทนสัญลักษณ์โดยยึดเรือรบ "ยามาโตะ"ซึ่งเป็นตัวแทนแสนยานุภาพของจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงต้นสงคราม

พูดง่ายๆ คือ คู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งยังเป็นสหรัฐเช่นเดิม แต่แทนที่จะนำกองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นมาสู้กับสหรัฐตามประวัติศาสตร์ (ซึ่งผลก็คือญี่ปุ่นแพ้) ผู้เขียนเลือกจะสร้าง "ญี่ปุ่นแบบอื่น"ขึ้นมาท้าทายกองเรือของสหรัฐแทน เพื่อท้าทายดูว่าญี่ปุ่นแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่จักรวรรดิญี่ปุ่นเดิม จะสามารถเอาชนะแสนยานุภาพของสหรัฐได้หรือไม่

พูดในอีกแง่ก็คือ ผู้เขียนพยายาม "แก้ปม"เรื่องความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในอดีต โดยสร้าง scenario แบบอื่นๆ ขึ้นมาสนอง need ทางใจของคนญี่ปุ่นนั่นเอง (นิยายเรื่อง Red Storm Rising ของ Tom Clancy ก็สร้างขึ้นมาสนอง need ของคนอเมริกันที่อยากรบกับโซเวียต)

แต่ชั้นเชิงมันอยู่ที่ว่า ผู้เขียนกลับสร้าง "ญี่ปุ่นอื่น"ขึ้นมาถึง 2 แบบ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทบทวนดูว่าเอาเข้าจริงแล้ว ญี่ปุ่นแบบไหนกันแน่ที่ควรจะเป็นทางที่ถูกเลือก

จะเห็นว่า "จักรวรรดิญี่ปุ่นแบบเดิม"ถูกถอดออกไปจากสงครามครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง ผ่านการแสดงออกทางสัญลักษณ์คือ คุซากะ (ตัวแทนของจักรวรรดิใหม่ที่ยึดอำนาจในเรือ) สั่งให้ทหารเรือของจักรวรรดิทั้งหมด ถอนตัวและลงจากเรือยามาโตะไปเสีย

ชั้นเชิงอย่างต่อมาก็คือ "ญี่ปุ่นอื่น"ทั้ง 2 ฝ่ายก็กำลังต่อสู้กันเองด้วยรูปแบบการต่อสู้ที่ไม่ใช่สงครามในแบบ (conventional warfare)

  • ในฝั่งของมิไร ต่อสู้เพื่อสันติภาพและมนุษยธรรม โดยใช้ปฏิบัติการทางทหารแบบใหม่ที่เน้นประสิทธิภาพและการบรรลุเป้าหมายตามภารกิจ แทนการทำลายล้างศัตรู แต่ผู้เขียนก็ยัง realistic มากพอ โดย "สั่งสอน"ให้ลูกเรือของมิไรรู้ว่าสงครามจริงย่อมต้องมีการสูญเสีย แม้ว่าจะตั้งใจดีหรือมีเทคโนโลยีดีกว่าแค่ไหนก็ตาม
  • ฝั่งของยามาโตะ ต่อสู้เพื่อยุติสงครามเพื่อรักษาจักรวรรดิไว้ ตัวปฏิบัติการทางทหารยังไม่ชัดเจน (อุบไต๋ไว้อยู่) แต่ก็มี "ไพ่ตาย"อย่างนิวเคลียร์เก็บไว้ในมือ

การต่อสู้ 3 ฝ่ายเป็นปฏิบัติการทางกายภาพที่เป็น "ตัวแทน"ของยุทธศาสตร์ใหญ่ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งของอุดมการณ์ ในฝ่ายญี่ปุ่นทั้งสองแบบที่มีผู้บัญชาการเรือรบเป็นเสมือน "ประมุขแห่งรัฐ"อยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาในการสั่งการ แต่ฝั่งของอเมริกาที่มีกลไกการตัดสินใจที่ซับซ้อน จึงต้องให้ประธานาธิบดี (ในที่นี้คือ รูสเวลต์ FDR) เป็นคนตัดสินใจ

ช่องทางการสื่อสารของฝั่งสหรัฐจึงถูกสร้างขึ้นในเล่ม 34 และ 35 โดยมีจุดประสงค์ให้รูสเวลต์เป็นคนตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ด้วยตัวเองโดยตรง พูดง่ายๆ คือ สงครามครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันของคาโดะมัตสึ (มิไร) คุซากะ (ยามาโตะ) และรูสเวลต์ (อเมริกา)

เผอิญว่ามันเป็นการต่อสู้ในยุค 1940s ช่องทางการสื่อสารของประธานาธิบดีจึงเปลี่ยนจากดาวเทียมล้ำยุค มาเป็นโทรเลขที่ส่งกันไปมาเกือบครึ่งซีกโลก (ตัดสินใจด้วยข้อมูลแบบ text-based) ก็คลาสสิคไปอีกแบบ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการตัดสินใจของ "รูสเวลต์"กับยุทธการครั้งนี้ ซึ่งรูสเวลต์ไม่ได้สู้เพื่อกำจัดเรือเสี้ยนหนามทั้งสองลำ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อรักษา "อำนาจของอเมริกาหลังสงคราม"

เรือรบแค่สองลำ (แถมพังๆ อีกต่างหาก) ไม่ว่าเก่งแค่ไหนก็ไม่มีทางเอาชนะกองเรือของอเมริกาทั้งหมดได้ ดังนั้นการกำจัดเรือสองลำจึงเป็นเรื่องง่ายมาก เพียงแต่สิ่งที่เรือทั้งสองลำถือครองอยู่ กลับมีผลต่อ "อเมริกาหลังสงคราม"

  • ยามาโตะ ถือครองระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกในยุคนั้น
  • มิไร ถือครองเทคโนโลยีเรือรบแห่งอนาคต

ดังนั้นการตัดสินใจของรูสเวลต์ในยุทธการครั้งนี้ จึงเป็นการตัดสินใจว่าอเมริกาจะตอบสนองอย่างไรกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกทั้งสองอย่าง (ซึ่งก็จะค่อยๆ พูดถึงในเล่มถัดๆ ไป)

การต่อสู้ครั้งนี้ในภาพกว้างจึงเป็น "การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์"ที่ข้อมูลสำคัญเพียงแค่นิดเดียว อาจทำให้ผลของสงครามเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และที่น่าสนใจคือทุกฝ่ายในการต่อสู้ครั้งนี้ ต่างก็มีข้อมูลของฝ่ายอื่นๆ ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างเที่ยงตรง

ใส่ดราม่าซ้อนอีกชั้น ผู้เขียนดันแต่งให้มี "นายทหารของกองเรือสหรัฐ"หนึ่งคนที่เข้าใจความเป็นไปของสงครามทั้งหมด อยู่ในกองเรือของสหรัฐด้วย แต่ดันอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครฟังเขาพูด และล่าสุดถูกจับขังคุกทหารไปเรียบร้อยแล้ว

Zipang มี 43 เล่มจบ สู้ต่อกันไปอีกนานครับ

Result: Tech Prediction 2012

$
0
0

เขียน Tech Prediction 2012เอาไว้นานจนลืมไปแล้ว เผอิญว่าวันนี้สแปมเข้าเลย มันโผล่กลับมาในสายตาอีกครั้ง (ขอบคุณสแปมจริงๆ T_T)

ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว ก็มาประเมินผลกันหน่อยครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้คิดเกรดได้ด้วย ก็นับคะแนนเต็มข้อละ 2 คะแนน (ถูกเป๊ะให้ 2 ถูกบางส่วนให้ 1)

Smart TV จะยังจุดไม่ติด ไม่ว่าจะเป็น Apple/Google/Microsoft (MS มีภาษีดีสุดแต่ก็ยังจุดไม่ติด) เหตุผลสำคัญคือ a) เทคโนโลยีมันยังไม่ breakthrough และ b) ปัญหาเรื่องเจ้าของ content ยังไม่กล้าปล่อยบนเน็ต ดังนั้นใครฝากความหวังไว้ที่ศาสดาคงต้องผิดหวัง

เป๊ะ (2/2)

ปีหน้าน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์การพัฒนาของ Android คือกูเกิลจะถูกบีบให้เปิดกว้างการพัฒนามากขึ้น (อย่างน้อยก็ในกลุ่ม OHA) ทีนี้เราตอบไม่ได้ว่ากูเกิลจะเปิดหรือไม่ ถ้าเปิดก็จบไปไม่มีอะไร (จะคล้ายๆ กับ Mozilla/Fedora/OOo ในยุคแรก) แต่ถ้าไม่ยอม ก็อาจจะเห็น Android Fork ได้ในช่วงปลายๆ ปี

ผิดครับ มีถูกนิดหน่อยตรงเปิดเรื่องไดรเวอร์ให้กลุ่ม OHA มากขึ้น นิดเดียว และเปิด Nexus ให้หลายบริษัทมากขึ้น แต่เรื่องกระบวนการพัฒนาก็ยังปิดเหมือนเดิม (0/2)

Facebook จะต้องทำมือถืออย่างแน่นอน เพราะพื้นฐานของบริษัทเองมีแต่ social network มันไม่พอ ส่วนจะใช้ Android เป็นแกนหลักหรือไม่นั้นไม่สำคัญนัก เพราะผู้บริโภคก็ไม่ได้แคร์อะไรมากเรื่องนี้ (ต้องการมือถือ-แท็บเล็ตที่มันเล่น Facebook ได้ดีๆ เท่านั้น อย่างอื่นของแถม) นอกจากนี้เราอาจเห็น Facebook ทำเบราว์เซอร์หรือระบบปฏิบัติการแบบ Chrome OS ด้วย (เป็น Facebook Kiosk) เป็นไปได้ว่าจะซื้อ RockMelt เลย ง่ายดี

ผิดครับ แต่ผมยังเชื่อว่า Facebook จะทำมือถืออยู่นะ (0/2)

Twitter น่าจะยังงงๆ กับชีวิตต่อไป ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรสำคัญในปีหน้า และถ้าเป็นอย่างงี้ต่อไปจะเริ่ม fall down

อันนี้ถูกตรงที่ยังงงๆ กับชีวิต แต่ยังไม่ถึงขนาด fall down แต่ก็เริ่มนิ่งๆ ละ (1/2)

ปี 2012 น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของ RIM เช่นกัน ความเป็นไปได้มากที่สุดคือโดน MS ซื้อ เอาเซอร์วิสมารันบน WP และเอาฝ่ายฮาร์ดแวร์มาทำ WP แต่ทิ้ง BlackBerry OS ไปเลย

ผิด คือมีข่าวจะถูกซื้อแต่ไม่เกิดขึ้น และ RIM เลือกวิธีเดินหน้าลุยกับ BB10 แทน (0/2)

เราน่าจะเห็นระบบปฏิบัติการมือถือขั้วที่สี่ ที่เป็นขั้วเล็กๆ สำหรับตลาด niche ของเหล่าแฮกเกอร์ ที่ไม่พอใจอะไรบางอย่างใน Android และไม่มีทางออกอื่น เพียงแต่ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นค่ายไหนกันแน่

การเกิดขึ้นของ Jolla และ Firefox OS ก็น่าจะใช่ในความหมายนี้ เพียงแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดังประสงค์ (2/2)

การกลับมาของ Sony (ในระดับหนึ่ง) และสิ่งที่อยากเห็นคือ Vita Phone ที่ออกมาแก้ไขความผิดพลาดของ Xperia Play

Sony เริ่มดีขึ้นจริง ถึงจะไม่มี Vita Phone แต่การปรับปรุง PS Mobile ก็ไปในทิศทางนี้ (1/2)

การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของ Motorola หลังควบกิจการแล้ว เช่น Droid Nexus หรือการันตีมือถือ Moto ทุกเครื่องจะได้ Android รุ่นใหม่ในวันแรก นอกจากนี้คงมีเรื่อง set-top ที่อาจจะเริ่มทยอยมาใช้แพลตฟอร์ม Google TV (แต่เรื่องนี้อาจเป็นปี 2013 แทน)

สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดไม่เกิดขึ้นเลย เพราะกระบวนการซื้อ Moto ช้ากว่ากำหนดมาก เราเห็นเพียงแค่ประกาศว่าตอนนี้เป็น New Motorola แล้วนะ แต่แผนการอื่นๆ รอปีหน้า (1/2)

ผมคิดว่าแอปเปิลเลยจุดสูงสุดมาแล้ว (พร้อมกับการตายของศาสดา) และยังไม่เห็น growth engine อันใหม่ของแอปเปิล ในช่วงอนาคตอันใกล้คงดาวน์ลงมาหน่อย แต่ไม่แย่เพราะบุญเก่ามีเยอะ โมเมนตัมของ iOS ยังคงไปได้ แต่ไม่น่าจะโตแบบก้าวกระโดดได้อีกแล้ว

ถูกต้อง (2/2)

ซัมซุงกับแอปเปิลคงจะซัดกันหนักกว่าเดิม

เป๊ะเวอร์ (2/2)

นวัตกรรมสำคัญในตลาดไอทีปีหน้า น่าจะเป็นเรื่อง cross device sync ทำงานข้ามเครือข่ายภายในบ้าน (= PAN ความฝันที่ Bluetooth ทำไม่สำเร็จ) และในขณะเดียวกันก็ซิงก์กับโลกออนไลน์ไปได้ทุกที่ด้วย (ตามคำขวัญ three screens and the cloud ของ MS)

อันนี้ก็ชัดเจนเรื่อง AirPlay, Xbox SmartGlass, Android Remote และ Wii U (2/2)

สรุป

รวมคะแนนแล้ว 13/22 ก็ประมาณ 60% พอใช้ได้อยู่

Lessons from The Daily

$
0
0

ข่าวใหญ่ในวงการสื่อตะวันตกประจำสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ อวสาน The Dailyโครงการหนังสือพิมพ์ดิจิทัลบนแท็บเล็ตของ News Corporation (ถ้าไม่รู้จัก อ่านรายละเอียดของ The Daily)

สิ่งที่ทำให้ The Daily เป็นจุดสนใจมาโดยตลอดคือ

  • ความพยายามทำ original newspaper on tablet เป็นครั้งแรกของสื่อใหญ่
  • เกาะกระแส iPad
  • News Corp. และ Rupert Murdoch
  • หนุนหลังโดย Steve Jobs

เมื่อ The Daily ไปไม่รอด ก็มีกูรูด้านสื่อจำนวนมากออกมาประเมินหรืออธิบายสาเหตุของความผิดพลาด ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นบทเรียนที่ดีเหมือนกันสำหรับคนทำสื่อดิจิทัลอย่างตัวผมเองด้วย

The Daily

เท่าที่ลองอ่านๆ และรวบรวมดู คิดว่า The Daily มีปัญหาทั้งแนวคิด ตัวผลิตภัณฑ์ และกระบวนการ

กระบวนการ

ขอยกอันนี้ขึ้นมาเป็นอันแรกเพราะน่าจะสำคัญที่สุด The Daily เป็น "ธุรกิจ" (แปลว่าต้องทำกำไร แม้จะอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่อีกทีหนึ่ง) ปัญหาที่ทำให้ The Daily เจ๊งไม่ใช่คนอ่านน้อย (ยอดสมาชิกตั้ง 100,000 คน) แต่เป็นเพราะ "ขาดทุน"คือรายได้ไม่พอกับรายจ่าย

The Daily เลือกใช้วิธีลงทุนเยอะๆ กะเอาทีเดียวดัง แล้วไปปั๊มยอดสมาชิกทีหลัง ซึ่งหามาได้ 100,000 คนก็ถือว่าเก่งมาก แต่ยอดประเมินของบริษัทเองบอกว่าจะคุ้มทุนต้อง 500,000 คน (ค่าสมาชิกอาทิตย์ละ 0.99 ดอลลาร์) แถมสื่อบางรายอย่าง Guardianประเมินว่าอาจต้อง 750,000-1,000,000 คนด้วยซ้ำ ถ้าคิดว่ามีคนที่สมัครสมาชิกแล้วบอกเลิกทีหลัง

ดังนั้นปัญหาจริงๆ คงอยู่ที่การจัดการต้นทุนของ The Daily เองที่บริหารไม่ดี ใช้คนมากถึง 200 คนแถมเป็นระดับดาราจากวงการสื่อที่ค่าตัวแพง ๆ

จากประสบการณ์ของผมเองที่ทำสื่อออนไลน์มา ฐานผู้อ่านโตขึ้นเรื่อยๆ แต่รายได้มันไม่ได้เยอะเหมือนสื่อแบบเก่า (ซึ่งรายได้ก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน) อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทางแก้ (ในตอนนี้) คือคิด cost model ที่ลดต้นทุนให้มากที่สุด เพื่อยืนระยะให้ได้ในระยะยาว ซึ่งโมเดลก็มีหลายแบบ เช่น user-generated content หรือการใช้ทีมนักเขียนไม่ดังแต่คุณภาพดี ซึ่งอันนี้คงต่างกันไปตามแต่ละ publication

มีอดีตนักเขียนคนหนึ่งของ The Daily เขียนเรื่องราวเบื้องหลังไปลง Gizmodo ถ้ามีเวลาอ่านก็สนุกดีครับ What It Was Like Launching the Doomed iPad Magazine The Daily

แนวคิด

ตัวผลิตภัณฑ์ของ The Daily เองก็มีปัญหาเชิงแนวคิด (concept ตั้งต้น) หลายอย่าง เช่น

  • เลือกรอบการออกเป็น "รายวัน"เหมือนกับหนังสือพิมพ์รายวันแบบดั้งเดิม ซึ่งในยุคอินเทอร์เน็ตเองมันไม่ได้แล้วแหละ มีคนพูดว่าการออกหนังสือพิมพ์เป็นรายวัน (หรือรายอะไรก็ตาม เป็นแนวคิดเรื่อง bundled content) ก็เพราะข้อจำกัดด้านการพิมพ์และการจัดจำหน่าย ทำให้ต้องทำแพกเกจเพื่อส่งออกไปในครั้งเดียว แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ reproduction and distribution cost มันถูกมาก ข่าวหรือบทความก็ควรจะถูกเผยแพร่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ต้องรอรอบการออกประจำวัน
  • แนวทางเนื้อหาของ The Daily ไม่มีความแตกต่างไปจากแหล่งข่าวฟรีอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายบนอินเทอร์เน็ต คำถามคือทำไมเราถึงต้องเสียเงินให้กับเนื้อหาที่หาได้ทั่วไปอยู่แล้ว
  • การปิดเนื้อหาของตัวเองให้อยู่เฉพาะในแอพ ไม่มีเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตด้วย ทำให้คนไม่รู้ว่าตกลงแล้วเนื้อหาดีแค่ไหน ควรซื้อมาอ่านหรือไม่ และตกกระแสของ "การแชร์ข่าว"ในโลกโซเชียลไปอย่างสิ้นเชิง

อีกประเด็นที่พูดถึงกันคือ The Daily เป็นแบรนด์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีชื่อเสียงมาก่อน จะไปแข่งในเชิงข่าวกับหนังสือพิมพ์เก่าแก่ชื่อดัง คนก็ยังไม่เชื่อถือ

อันนี้ผมคิดว่ามีผลบ้างแต่ก็ไม่มากนัก เพราะที่ผ่านมาเราเห็นสื่อออนไลน์หน้าใหม่ๆ สามารถทำลายกำแพงสื่อเก่าเข้ามายืนอย่างเต็มภาคภูมิ เช่น เครือ The Verge ที่เพิ่งก่อตั้งแต่ก็มีเนื้อหาโดดเด่น, Huffington Post ที่เจาะตลาดด้วยบล็อกของคนดัง, บล็อกก๊อซซิปดาราอย่าง Perez Hilton เป็นต้น คือต้องมีเนื้อหาเฉพาะที่หาจากที่อื่นไม่ได้ก่อน คนถึงจะให้ความสนใจ

ผลิตภัณฑ์

The Daily พยายามเกาะกระแส iPad ในช่วงที่ iPad เพิ่งเริ่มวางขาย ผลคือคนยังใช้ iPad กันไม่เยอะเท่าที่ควร (เป็นข้อเสียด้านกลับของ first mover เช่นกัน) ในขณะที่ The Daily ทิ้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างสมาร์ทโฟนทั้ง Android/iPhone ที่ทำตลาดมานานแล้ว กว่าจะทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้สำเร็จก็ทิ้งช่วงไปนาน เลยกลายเป็นการตัดโอกาสลูกค้าของตัวเองในช่วงที่กระแสกำลังดี

เนื่องจาก The Daily มีเฉพาะบน iPad ในช่วงแรกๆ ผมเลยไม่เคยมีโอกาสได้ลองอ่านว่าเป็นอย่างไร และจนบัดนี้ก็ยังไม่เคยอ่านอยู่ดี แถมจะอ่านบนเน็ตเพื่อลองสักหน่อยก็ไม่ได้อีก

เท่าที่อ่านดู ผู้ที่เคยลองอ่าน The Daily บ่นเรื่องขนาดของไฟล์ที่ใหญ่มาก (บางทีมากถึง 1GB) ต้องใช้เวลา 10-15 นาทีโหลดให้ครบแล้วค่อยอ่านได้ ซึ่งความอยากอ่านมันหายไปนานแล้ว (พวกแมกกาซีนดิจิทัลบ้านเรา ก็ติดอยู่ในกับดักอันนี้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุด)

สรุป

โดยสรุปแล้ว The Daily มีข้อผิดพลาดหลายอย่าง แต่ทุกอย่างคือการทดลอง ซึ่งตอนนี้โลกแห่งสื่อก็พอจะทราบแล้วว่า การทำสื่อดิจิทัลที่ไม่เวิร์คมันเป็นอย่างไรบ้าง (ส่วนสูตรการทำให้เวิร์คคงต้องค้นหากันต่อไป) ก็ต้องขอบคุณเงินของ Murdoch ที่ลงทุนให้พวกเราๆ รับรู้ความเป็นจริงเหล่านี้

ข้อมูลอ้างอิง

Google Drive Desktop in English

$
0
0

Setting up my new Windows 8 machine and I just realize Google Drive Windows client recognizes my locale as 'Thai'.

The problem is not about UI but the default folder name is in Thai, "Google ไดร์ว" while I want it be just "Google Drive".

The story is more complex as there is no Language Preference in Google Drive client yet. So you need some workarounds by adding

LANG=en_US

in Windows Environment Variables.

See detailed procedure at Google Drive Forum


The Adventures of Tintin

$
0
0

ไม่เคยอ่านหนังสือใดๆ ของ Tintin มาก่อน โผล่มาก็ซัดหนังเลย (แถมดูช้ามา 1 ปี) ประเด็นมีสั้นๆ ดังนี้

  • การเดินเรื่องกระชับฉับไวมาก เร็วจนตามไม่ค่อยทัน ไม่มีเวลาพัก เปลี่ยนฉากรัวๆ
  • เข้าใจว่ามันเป็นข้อจำกัดของนิยายเชิงสืบสวน ที่จะให้เวลาผู้อ่านได้ใช้ความคิดในฉบับหนังสือ แต่พอเป็นหนัง เวลาจำกัดเลยต้องด่วนจี๋แบบนี้ (เรื่องที่มีปัญหาแบบเดียวกันนี้คือ The Da Vinci Code)
  • หนังเปิดเรื่องมาปุ๊บก็เข้าโครงเรื่องหลักเลย ไม่มีการแนะนำตัว Tintin ให้ผู้ชมรู้จักก่อนว่าเป็นใครมาจากไหน
  • ฉากแอคชั่นลื่นไหลดีมากๆ และมีความเป็นการ์ตูนมากๆ คือเน้นความเวอร์และไม่สมจริง
  • หนังพยายามใส่ตัวละครเจ้าประจำในซีรีส์ Tintin เข้ามาเพื่อเอาใจแฟนๆ แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนกลับรู้สึกน่ารำคาญในหลายจุด โดยเฉพาะคาแรกเตอร์ของตำรวจคู่แฝด

โดยรวมๆ ก็สนุกดีครับ สนุกกว่าหนังแนวเดียวกันอย่าง Polar Express แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นแอนิเมชันในดวงใจตลอดกาล อะไรเทือกนั้น

Keyword:

One Day in Mandalay

$
0
0

เพิ่งมาเที่ยวได้หนึ่งวัน ยังไม่ทันพ้นคืนแรก เขียนเท่าที่เห็นและสัมผัส

Mandalay Palace

  • มัณฑะเลย์ หรือ Mandalay เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายของพม่าในยุคราชอาณาจักร อยู่ตอนกลางค่อนไปทางตอนบนของประเทศ
  • ปัจจุบันมี AirAsia บินตรงจากกรุงเทพไปมัณฑะเลย์ ไม่ต้องไปต่อเครื่องที่ย่างกุ้งเหมือนก่อน ใช้เวลาบินประมาณ 2 ชม.
  • ตัวเมืองมัณฑะเลย์มีความเป็นมาไม่นานนัก อายุประมาณ 150 ปี สร้างหลังกรุงเทพนานพอสมควร (ในขณะที่เมืองหลวงเก่าอย่างพุกาม มีอายุเกินพันปี) เหตุที่สร้างทีหลังเป็นเพราะกษัตริย์พม่ามีธรรมเนียมสร้างเมืองหลวงใหม่เพื่อล้างซวยอยู่เรื่อยๆ
  • ในละแวกของมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน มีเมืองหลวงเก่าอย่างกรุงอังวะ และกรุงอมรปุระ (คนพม่าอ่าน อะมะระปุระ) อยู่ใกล้ๆ คือเป็นเวิ้งเดียวกัน
  • มัณฑะเลย์มีกษัตริย์ปกครองแค่ 2 พระองค์ คือ พระเจ้ามินดุง ผู้ย้ายกรุงมาจากอมรปุระ และพระเจ้าสีป่อ (คนพม่าอ่าน ตี่ปอ) โอรสของพระเจ้ามินดุง จากนั้นก็เสียเอกราชให้อังกฤษ จากนั้นอังกฤษก็ย้ายเมืองหลวงไปย่างกุ้ง
  • พระราชวังมัณฑะเลย์มีอาณาบริเวณใหญ่มาก (ใหญ่กว่าวังไทยแน่นอนแต่คงไม่เท่าวังจีน) แต่ชะตาน่าเศร้าเพราะตอนสงครามโลก เจออังกฤษ vs ญี่ปุ่น เผาราบไปหมดแล้ว ไม่เหลืออะไรเลย พระราชวังปัจจุบันเป็น replica สร้างใหม่ตามภาพถ่ายเดิม
  • มีพระตำหนักเดียวที่รอดชีวิตมาจากสงครามโลกได้ คือ พระตำหนักของพระเจ้ามินดุง ซึ่งพระเจ้าสีป่อเอาไปถวายวัดนอกวังเนื่องจากกลัวผีพ่อตัวเอง งานไม้ล้วนๆ แกะสลักทุกดีเทล วิจิตรมาก (ขนาดทองลอกไปหมดแล้ว)
  • มัณฑะเลย์เป็นที่ราบติดแม่น้ำอิระวดี (คนพม่าเรียก เอยาวดี) และใกล้ๆ วังมีภูเขาเล็กๆ โดดขึ้นมาหนึ่งลูก เรียก Mandalay Hill เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกยามค่ำคืน

Sunset at Mandalay Hill

  • เมืองมัณฑะเลย์ยังไม่คึกคักมากเท่ากับย่างกุ้ง ไฟถนนยังมีไม่เยอะนัก ไฟดับบ่อยครั้ง ไม่มีเธคผับใดๆ ไม่มีถนนคนเดินเพราะรัฐบาลห้าม มีร้านขายเบียร์และเนื้อย่างเท่านั้น
  • คนพม่ายังนุ่งโสร่งเป็นหลัก (นุ่งโสร่งขับมอเตอร์ไซด์เป็นปกติ) แต่ก็เห็นวัยรุ่นนิยมนุ่งกางเกงกันมากกว่า อีกอย่างที่เห็นเยอะคือร้านขายโทรศัพท์มือถือ มีเยอะมากทุกมุมเมือง ดูท่าทางซัมซุงจะได้รับความนิยมมากที่สุด ป้ายโฆษณามีอยู่ทุกสี่แยก บางป้ายไซส์จัมโบ้แต่อยู่บนเกาะกลางถนนด้วยซ้ำ
  • รถเก๋งนิยมโตโยต้า รถมอเตอร์ไซด์ส่วนใหญ่เป็นของจีนเพราะถูกมาก รสบัสเป็นมือสองจากญี่ปุ่น
  • มัณฑะเลย์อยู่ค่อนข้างใกล้กับจีน (เดินทาง 10 ชั่วโมงด้วยรถยนต์) ไกด์เล่าว่าคนจีนเริ่มมาอาศัยอยู่เยอะ ร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นของคนจีน
  • เท่าที่สัมผัสมา รู้สึกอารมณ์ของมัณฑะเลย์จะคล้ายๆ กับฮานอย มากกว่าไทยหรือลาว คือเป็นเมืองที่กำลังเปิด คนเริ่มสนใจวัตถุนิยมแต่ก็ยังมีวิถีชาวบ้านอยู่มาก และสินค้าหลายอย่างมากจากจีน ป้ายโฆษณาเป็นภาษาอังกฤษ
  • คนพม่าฟังเพลงพม่าและเพลงฝรั่ง ไม่ฟังเพลงไทยและเพลงจีน
  • อินเทอร์เน็ตที่นี่ไม่บล็อคอะไร แต่ช้าบ้างเป็นพักๆ ซึ่งอาจเป็นปัญหาของเน็ตโรงแรมเองด้วย เท่าที่สังเกต Google ช้ากว่า Facebook เยอะ
  • วัดวาปราสาททุกแห่งต้องถอดรองเท้าเดินเป็นระยะทางไกลๆ คือบางวัดเริ่มตั้งแต่ประตูวัด ใครมาควรใส่รองเท้าแตะ เท่านั้นตีนดำเป็นเรื่องปกติ ปล่อยให้มันดำไปเถอะแล้วไปล้างทีเดียวที่โรงแรม
  • คุยกับไกด์บอกว่า คนพม่าในปัจจุบันรู้สึกเฉยๆ กับอังกฤษ เพราะเวลาผ่านมานานแล้ว ตอนนี้ไม่ชอบทหารมากกว่า ความบันเทิงอย่างหนึ่งของพม่าคือ พรีเมียร์ลีก และภาพประทับใจช็อตหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ เด็กชายพม่าอายุไม่เกิน 5 ขวบ วิ่งเล่นอยู่ข้างถนนโดยใส่เสื้อ AON (เสียดายถ่ายไม่ทัน เฟอร์กี้น่าจะได้โนเบลสาขาสันติภาพจริงๆ)

ทั้งสองภาพถ่ายด้วยโหมด Panorama ของ Android 4.1/Nexus S

The Week of Apps

$
0
0

ไปพม่ามาหนึ่งสัปดาห์ เรียกว่าแทบตัดขาดจากโลกไอทีเพราะอินเทอร์เน็ต+เวลามีจำกัด

วันนี้มานั่งไล่ข่าวดูจาก Techmeme พบว่าเป็นสัปดาห์แห่งการอัพเดต-ออกแอพใหม่จริง ๆ นับเฉพาะที่ดังๆ ก็ตามนี้

เข้าใจว่าอัพเดตพวกนี้เป็น last batch ของการทำงานของโปรแกรมเมอร์ฝั่งอเมริกัน ประมาณว่ารีบๆ ออกแอพให้เสร็จ จะได้หยุดกันสักที

นอกจากข่าวแอพอัพเดตแล้ว ยังมีข่าวไม่อัพเดตแอพ (ที่เป็นข่าวใหญ่) อีกด้วย

The Children of Aung San

$
0
0

ไปพม่ารอบนี้ ผมได้ความรู้ใหม่เรื่องหนึ่ง (ที่หลายคนอาจรู้กันมาก่อนนานแล้ว) จากไกด์ท้องถิ่นว่า "อองซานซูจี"ไม่ได้เป็นลูกเพียงคนเดียวของ "นายพลอองซาน"ผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของพม่า

ตามสื่อทั่วไปเรามักเห็นคำพูดทำนองว่า "ซูจี"เป็นลูกของ "อองซาน"ผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้เราพลอยเข้าใจไปว่าอองซานมีลูกเพียงคนเดียว (เพราะพูดถึงอยู่คนเดียว) นั่นเอง

สรุปสั้นๆ แล้ว อองซานมีลูกทั้งหมด 4 คนครับ ซูจีเป็นคนที่สาม

รายชื่อลูกของนายพลอองซาน กับพยาบาลสาว "ขิ่นจี" (Khin Kyi) ผู้เป็นภรรยา ตามใน Wikipediaคือ

  1. อองซานอู่ (Aung San Oo) บุตรคนโต โอนสัญชาติเป็นอเมริกันแล้ว อาชีพวิศวกร สนิทกลับรัฐบาลทหารพม่า และไม่ค่อยเห็นด้วยกับจุดยืนทางการเมืองของซูจี
  2. อองซานลิน (Aung San Lin) บุตรคนที่สอง ตายตอนอายุ 8 ขวบเนื่องจากจมน้ำ
  3. อองซานซูจี
  4. อองซานชิต (Aung San Chit) บุตรีคนที่สอง ตายไม่กี่วันหลังคลอด

สรุปคือมีลูก 4 แต่เหลือโตมาได้ 2 คน ได้แก่ อองซานอู่ กับซูจี นั่นเอง

Aung San Family

ภาพนี้ถ่ายมาจากรถบัสในพม่าที่นั่งไปมาระหว่างทางครับ คนขับนำมาแปะไว้ แต่ไกด์ก็บอกว่าคนพม่ารุ่นใหม่ๆ สนใจการเมืองน้อยลงมาก หันไปสนใจเรื่องเศรษฐกิจกับการทำมาหากินกันแทน

Mayan Calendar

$
0
0

ไม่เคยสนใจเรื่องโลกจะแตกปี 2012 เลย (แถมหนังก็ไม่ได้ดู) แต่เนื่องในโอกาสที่โลกจะแตกพรุ่งนี้แล้ว ก็หาข้อมูลเพิ่มหน่อยว่ามันแตกยังไง :P

สรุปแบบรวบรัดคือ วันที่ 21/12/2012 เป็นวันครบรอบ long count ของปฏิทินมายันพอดี คนทั่วไปที่อาจไม่เข้าใจระบบปฏิทินมายัน เลยพลอยตกใจว่ามันคือ "สุดปฏิทิน"แล้วนั่นเอง

เท่าที่ลองหาข้อมูลดู ปฏิทินมายันต่างไปจากปฏิทินแบบ Gregorian ที่อิงตามรอบพระอาทิตย์ หรือ Lunar calendar ที่นับตามรอบพระจันทร์ (แบบปฏิทินไทยหรือจีน) อยู่มาก

หน่วยย่อยที่สุดของปฏิทินมายันคือ "วัน"เหมือนกัน แต่หน่วยที่ใหญ่กว่านั้นมันจะนับด้วยเลขฐาน 20 (base-20) ซึ่งตรงนี้นักคอมพิวเตอร์คิดกันสบายแฮ (จริงๆ แล้วไม่ได้ base-20 เป๊ะๆ คือมันจะมีเลขบางหลักเป็น base-18 บ้าง แต่เพื่อความง่ายเราถือว่ามันเป็น base-20 ละกันนะครับ)

ทีนี้ วันตั้งต้นของมายัน 0.0.0.0.1 เทียบได้กับวันที่ 11 สิงหาคม ก่อน ค.ศ. 3114 ปี แล้วก็รันเลขมาเรื่อยๆ (ใครนับ EPOCH หรือ Unix time เป็นก็หลักการเดียวกัน)

วันที่ 21 ธันวาคม 2012 มันจะนับเป็นเลข 13.0.0.0.0 คือหลักที่ห้า (long count ในภาษามายัน) จะขึ้นเลขตัวใหม่พอดี

จะเห็นว่ามันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย เพราะ long count ก็ไม่ใช่เลขหลักที่สวยงามอะไร (13 ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ เราผ่าน 12, 11, 10, ... มาหลายรอบแล้ว) ถ้าเอาเฉพาะการนับแบบ 5 หลัก เลขยังวิ่งไปได้ถึง 19.19.19.19.19 ในอนาคตอันไกลโพ้น และวันถัดไปหลังจากนั้นก็จะกลายเป็นเลข 6 หลัก หรือ 1.0.0.0.0.0 (เทียบได้กับปี 4772 โน่น) เท่านั้นเอง

อ้างอิง

Nexus 7 Review

$
0
0

ได้มาพักใหญ่แล้ว เพิ่งนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้เขียนถึง (บน Blognone มีท่านอื่นรีวิวไปให้แล้ว)

ในฐานะคนเคยใช้ Galaxy Tab รุ่นแรกมา ผมเชื่อสุดใจว่าแท็บเล็ตขนาด 7"ดีกว่าแท็บเล็ตขนาด 10"มาก เพียงแต่ execution หลายๆ อย่างของ Tab ตัวแรกมันยังไม่สมบูรณ์มากนัก โดยเฉพาะขนาดและน้ำหนักที่ยังหนา-หนักมากเกินไป

พอได้ Nexus 7 มาก็พบว่าไม่ผิดหวัง และไม่แปลกใจเลยที่รีวิวต่างประเทศชมกันมาก เพราะขนาดและน้ำหนักกำลังดี เหมาะแก่การถือด้วยมือเดียวมาก (เช่น ใช้ในส้วม หรือใช้ตอนกินข้าว) จุดที่เป็นเอกลักษณ์และผมชอบเป็นพิเศษคือ ฝาหลังที่ใช้วัสดุเลียนแบบหนัง ทำให้จับได้กระชับมือกว่าแท็บเล็ตฝาหลังเป็นโลหะหรือพลาสติกลื่น

Nexus 7

ข้อด้อยที่สำคัญของ Nexus 7 คือไม่มีกล้องหลังครับ ผมพบว่าถึงแม้เราไม่ได้นำแท็บเล็ตออกนอกบ้านไปถ่ายโน่นนี่ แต่มันก็มีเรื่องให้ต้องถ่ายวัตถุ (เช่น ปกหนังสือ อาหาร หรือ สิ่งของ) อยู่ดี การที่ Nexus 7 ไม่มีกล้องหลังทำให้ประสบการณ์ใช้งานแย่ลงมาก

ปัญหาอีกอย่างของ Nexus 7 (ซึ่งรวมถึงแท็บเล็ตตัวอื่นๆ ด้วย) คือขนาดที่สมมาตรกันทั้งเครื่อง ถึงแม้มันจะดูดีเนื่องจากความสมมาตร แต่ในการใช้งานจริง เวลาหยิบขึ้นมาเราแยกแยะได้ยากมากว่า "ด้านบน"อยู่ทิศไหน (iPad ก็มีข้อเสียอันนี้แต่พอคลำปุ่ม Home ช่วยได้บ้าง ในขณะที่ Nexus 7 ด้านหน้ามีแต่กระจก)

ในฐานะคนใช้ Nexus S ที่ออกแบบให้มี "ก้น"พบว่ามันช่วยได้เยอะมากในการแยกแยะหาทิศทางของเครื่อง และผมเข้าใจว่าแท็บเล็ตอสมมาตรแบบ Sony Tablet S ก็น่าจะดีกว่าในเรื่องนี้อีกเช่นกัน

จุดด้อยเล็กๆ อีกจุดคือปุ่มปลดล็อคเครื่องที่เล็กไปหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่พอใช้งานได้ (จริงๆ แล้วผมอยากได้ gesture เพื่อปลดล็อคหน้าจอแบบ PlayBook ซึ่งเจ๋งที่สุดแล้ว) หน้าจอคุณภาพพอใช้ได้ในระดับหนึ่ง (แต่ไม่ถึงเรตินา) แบตอยู่อึดประมาณหนึ่ง และประสิทธิภาพเครื่องก็แรงพอสำหรับเกมทั่วๆ ไป

ปัญหาในการใช้งาน Nexus 7 ส่วนใหญ่ (ถ้าไม่นับเรื่องไม่มีกล้องหลัง) ไปอยู่ที่ซอฟต์แวร์มากกว่า ผมใช้ Android 4.2.1 รุ่นล่าสุด พบว่าการใช้งานโดยรวมของระบบน่ะโอเคแล้ว แต่จุดด้อยคือ Chrome for Android ที่ยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพมาก (จนน่าแปลกใจ) ซึ่งอันนี้ข้อดีเรื่องความเปิดของ Android ก็ช่วยให้เราดาวน์โหลดเบราว์เซอร์ตัวอื่นมาใช้แทนได้ตามใจชอบ

สุดท้าย นวัตกรรมที่สำคัญอีกอย่างของ Nexus 7 คือ "ราคา"ดังนั้นสเปกระดับนี้ในราคา Google Play (ผมฝากเพื่อนหิ้วมาให้) จึงถือว่าคุ้มค่ามากมาย

Obama's Second Campaign

$
0
0

เคยเขียนเรื่อง เบื้องหลังแคมเปญหาเสียงของโอบามาปี 2008ไปแล้ว

ล่าสุดใน TIME ฉบับที่ยกให้โอบามาเป็นบุคคลแห่งปี 2012มีเขียนถึงแคมเปญการหาเสียงรอบ 2012 ไว้บ้างนิดหน่อย จุดสำคัญอยู่ตรงนี้

Of course, Romney turned out to be Obama’s biggest ally in that narrative. But back at campaign headquarters, Simas slapped a poster on his office wall that told an even bigger story. It had three lines: two showing the rise of per capita GDP and productivity in the U.S. since 1992 and one flat line showing household income. He opened all his presentations with the same chart. “Above it was just a phrase from a focus group — ‘I’m working harder and falling behind,’” Simas says. “That was the North Star. Everything we did and everything we said was derivative of that sentiment.” The words of the faceless focus-group participant passed from the rented room to the computer screens in Chicago and eventually right into the President’s stump speech. “As long as there are families who are working harder and harder but falling further behind,” Obama told crowds, “our work is not yet done.”

เรื่องคือ กลางปี 2011 ก่อนการเลือกตั้งรอบสองเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง ทีมของโอบามาลงพื้นที่ swing state ไปสำรวจความเห็นของผู้ลงคะแนนอย่างละเอียด เพื่อหา essence ในหมู่ผู้ลงคะแนน และสิ่งที่ได้กลับมาก็คือประโยคว่า "I’m working harder and falling behind"ซึ่งสะท้อนความในใจของคนอเมริกันยามเศรษฐกิจตกต่ำ

แนวทางการหาเสียงทั้งหมดจึงเริ่มตั้งต้นจากจุดนี้ (เพื่อแก้ความรู้สึกของคนตามประโยคนี้) ไม่ว่าจะเป็นสไลด์บรรยาย โฆษณา หรือสปีซของโอบามาเองก็จะมีประเด็นนี้เป็นที่ตั้ง

นี่คือพลังของ science


พม่าเสียเมือง-วังมัณฑเลย์

$
0
0

หนังสือเรื่องพม่าชื่อดังของบ้านเรา เขียนโดยคึกฤทธิ์ อยากอ่านมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสสักที จนกระทั่งต้องไปพม่าเลยมีเหตุอันควรให้อ่าน

ปัญหาคืออ่านไม่จบ ผ่านไปได้แค่ครึ่งเล่มก็ถึงเวลาต้องไปพม่าเสียก่อน ดังนั้นกลับมาแล้วก็เอาให้จบ

พม่าเสียเมือง

เรื่องแบบสรุปรวบยอดก็คือ คึกฤทธิ์เขียนถึง "พระเจ้าสีป่อ" (คนพม่าเรียก "ทีปอ") พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า ก่อนเสียเอกราชให้อังกฤษ แต่ประเด็นหลักไม่ใช่เรื่องการเสียเอกราช กลับเป็น "ดราม่าในราชสำนัก"อันเป็นเหตุให้พม่าในตอนนั้นอ่อนแอลงมาก จนเป็นเหตุให้เสียเอกราชในภายหลัง

การครองราชย์ของพระเจ้าสีป่อ ต้องย้อนไปถึงพระเจ้ามินดุง พระบิดาผู้ย้ายเมืองหลวงจากอังวะมายังมัณฑเลย์ (มันอยู่ใกล้ๆ กัน อารมณ์แบบธนบุรี-กรุงเทพ) ตอนนั้นพม่าเสียดินแดนตอนใต้ให้อังกฤษไปสักระยะแล้ว แต่ยังรักษาเอกราชตอนเหนือไว้ได้

พระเจ้ามินดุงเป็นกษัตริย์ที่เก่งใช้ได้ แต่มีปัญหาเรื่องการตั้งผู้สืบราชสมบัติ และโดน "ดราม่ารุ่นแม่"คือพระมเหสีองค์หนึ่ง อยากให้ลูกสาวตัวเอง "พระนางศุภยลัต"เป็นราชินีองค์ต่อไป (ราชินีบังคับต้องเป็นพี่น้องของกษัตริย์ แบบเดียวกับสมัย ร.4-ร.5 ของไทย คือเป็นแค่พี่น้องร่วมพ่อ ไม่ร่วมแม่) ก็เลยสมคบกับบรรดาอำมาตย์ ผลักดัน "พระเจ้าสีป่อ"โอรสองค์ที่ไม่เด่นและอ่อนแอขึ้นมาเป็นกษัตริย์ได้

พอพระเจ้ามินดุงสวรรคต พระเจ้าสีป่อขึ้นครองราชย์ พระนางศุภยลัต ราชินีองค์ใหม่ก็เริ่มปฏิบัติการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ฆ่าพี่น้องคนอื่นๆ ของพระเจ้าสีป่อทิ้งเสียเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในอนาคต การฆ่าล้างเช็ดราชวงศ์-ขุนนางขั้วตรงข้ามลักษณะนี้ ทำให้พม่าอ่อนแอลง และประชาชนเองก็เอาใจออกห่าง แถมบางส่วนยังเอาตัวออกห่าง หนีเข้าเขตอังกฤษไปอยู่แบบสบายๆ แทนด้วย

ตอนจบก็คือ ราชสำนักพม่าหันไปคบฝรั่งเศสเพื่อถ่วงดุลย์กับอังกฤษ (ที่คนพม่าเกลียดมาก) หวังจะให้ฝรั่งเศสช่วยเหลือ แต่ฝรั่งเศสมองว่าพม่านั้นเล็กๆ ไม่คุ้มค่าจะไปทะเลาะกับอังกฤษ เลยช่วยพม่าแต่ในนาม แต่พม่ากลับเข้าใจว่าช่วยจริงๆ ก็เลยเหิมเกริมไปแกล้งบริษัทป่าไม้ของอังกฤษ จนอังกฤษไม่พอใจ ยกทหารขึ้นจากตอนใต้ของพม่าขึ้นมาตีมัณฑเลย์ ซึ่งก็ชนะง่ายดายเพราะพม่ายอมแพ้ตลอดทาง

สุดท้ายอังกฤษเนรเทศพระเจ้าสีป่อ กับพระนางศุภยลัตไปที่อินเดีย พระเจ้าสีป่อสวรรคตที่อินเดีย ส่วนพระนางศุภยลัตย้ายกลับมาที่ย่างกุ้ง ปัจจุบันยังมีสถูปอยู่แถวๆ เจดีย์ชเวดากองครับ

โดยรวมแล้วก็สนุกตามสไตล์คึกฤทธิ์ อ่านพอเพลินๆ แต่รายละเอียดทางประวัติศาสตร์คงไม่ถูกต้องนัก เพราะคึกฤทธิ์ตั้งใจเขียนแบบเรื่องเล่า และใส่สีใส่ไข่เพิ่มเติมลงไปมาก แถมยังเปรียบเทียบราชสำนักพม่ากับราชสำนักสยาม ตามแนวทางที่รู้ๆ กันอยู่

ไหนๆ ไปเที่ยวมัณฑเลย์มาด้วยแล้ว ก็ปิดท้ายโดยรูปภาพสถานที่ที่เกี่ยวข้องสักหน่อย

Mandalay Palace

มณฑปของพระราชวังมัณฑเลย์ สร้างใหม่บนพื้นที่เดิม (ของเดิมถูกเผาไปตอนสงครามโลกหมดแล้ว)

Mandalay Palace

แผนผังของวัง

Mandalay Palace

ท้องพระโรง

Mandalay Palace

ราชบัลลังก์ของพระเจ้ามินดุง

Mandalay Palace

พระเจ้ามินดุง

Mandalay Palace

วังสร้างไม่ค่อยเนียนครับ ไกด์พม่าก็บ่น

Mandalay Palace

พระเจ้ามินดุง อีกห้องหนึ่ง

Mandalay Palace

สถาปัตยกรรมพม่า

Mandalay Palace

เตียงของพระเจ้าแผ่นดิน (จำลอง)

Mandalay Palace

พระตำหนักของนางสนม หญ้ารกเชียว

Mandalay Palace

หอคอยที่พระเจ้าสีป่อสร้างขึ้นเพื่อดูสภาพภายนอกวัง ตอนหลังพระนางศุภยลัตมาดูเรืออังกฤษที่บุกมาทางแม่น้ำนอกเมืองบนหอคอยนี้

Mandalay Palace

หอคอย

Mandalay Palace

โซนตรงกลางของวัง รู้สึกว่าจะสร้างด้วยไซส์ที่ลดลงจากไซส์เดิมนะครับ

Mandalay Palace

ที่เห็นบ้านขาวๆ ข้างบนคือ ห้องให้ยามไปนั่งเพื่อไล่นกแร้งในสมัยโบราณ แบบว่าไม่เป็นมงคล

Mandalay Palace

ตำหนักพระมเหสี มี 4 คนตามทิศต่างๆ หน้าต่างทรุดโทรมเชียว

Mandalay Palace

มณฑปกลาง อีกสักรอบ

Mandalay Palace

พระตำหนักชั้นใน ที่อยู่ของบรรดามเหสี สนม นางกำนัล

Mandalay Palace

หลังคาของเดิมเป็นไม้ ของใหม่เป็นสังกะสีทาสี

Shwenandaw Monastery

ทั้งหมดที่เห็นนั่นคือของใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ของต้นฉบับเหลืออยู่หลังเดียว คือ ตำหนักเก่าของพระเจ้ามินดุง ซึ่งพระเจ้าสีป่อกลัวผีพ่อตัวเอง เลยบริจาคให้วัดที่อยู่นอกเมือง (ใครจะตามไปเที่ยวลองหาชื่อ "ชเวนันดอ"หรือ Shwenandaw) และกลายเป็นโชคดีเพราะรอดจากสงครามโลกมาได้

ดีเทลของเดิมขั้นเทพมาก จนน่าเสียดายพระราชวังที่ถูกทำลายลงไป

Shwenandaw Monastery

Shwenandaw Monastery

Shwenandaw Monastery

ทั้งหมดเป็นไม้สักทองปิดทอง แม้ทองจะเลือนๆ ไปบ้างแล้ว แต่งานฝีมือเข้าขั้นสุดยอด

Shwenandaw Monastery

Shwenandaw Monastery

Shwenandaw Monastery

เกล็ดทองยังเหลือเล็กน้อย

Shwenandaw Monastery

ป้ายเขาเรียก Golden Palace Monastery

Shwenandaw Monastery

NBTC Public Forum: 1 Year of NBTC

$
0
0

วันนี้ไปเป็นวิทยากรงาน NBTC Public Forum ครั้งที่ 11 หัวข้อ “1 ปี กสทช. กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย” (รายละเอียดงานดูตามลิงก์) ประเมินผลการทำงานของ กสทช. ครบรอบ 1 ปี หัวข้อของผมเป็นเรื่องกิจการโทรคมนาคมครับ

พูดเสร็จแล้วก็มาแปะสไลด์เผยแพร่ตามปกติ (เดี๋ยวจะเขียนเป็นบทความในภายหลัง)

Google Data Highlighter

Android's Triumph

$
0
0

จากบทความ 2012: The year Android truly challenged iOS

ผมคิดว่าช่วงหลังๆ Android รบชนะค่าย iOS ในหลายเรื่อง (การรบชนะไม่น่าแปลกใจเพราะยุทธศาสตร์กองทัพมดมันก็ต้องชนะอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือชนะในเรื่องไหนบ้าง) ที่เห็นผลชัดเจนคือ

  • แท็บเล็ต 7 นิ้วที่อัดกันมาเป็นชุดตั้งแต่ Galaxy Tab, Kindle Fire, Nexus 7 อันนี้เป็นเพราะแอปเปิลออก iPad mini ช้าเองด้วย เลยกลายเป็นแค่ me-too product
  • มือถือจอใหญ่อันนี้ต้องยกความดีให้ Galaxy Note จนทำให้เราเห็นกองทัพ phablet ตามมาอีกเป็นชุดใหญ่ และมีผลให้ iPhone 5 ถูกกดดันจนจอต้องใหญ่ขึ้นอีกนิดนึง
  • ปากกาต้องยกความดีให้ Note อีกเหมือนกัน คือมันเป็นจุดขายสำหรับตลาด niche บางกลุ่มได้ และถ้าแอปเปิลทำตามในตอนนี้ก็จะกลายเป็น me-too อีกเหมือนกัน
  • ควอดคอร์ราคาถูกอันนี้ยังไม่เห็นผลมากนัก แต่การถือกำเนิดของ Nexus 4 จะช่วยดันราคาของ mid range phone ลงไปอีกเกินครึ่ง ทำให้ฝั่ง iOS สู้สงครามราคา/สเปกลำบากขึ้นไปอีก

หมายเหตุ: ตลาดที่ Android รบแพ้ก็มีนะครับ ที่ชัดๆ คือแท็บเล็ต 10 นิ้ว ยังไม่เคยตีฐานของ iPad ได้เลย กับเรื่อง content store ที่ยังตามหลังแอปเปิลอยู่ (แม้ว่า Google Play จะดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม)

Tech Prediction 2013

$
0
0

ของปีที่แล้ว Tech Prediction 2012, ประเมินผล

ปีนี้ก็ขอลองอีกสักรอบครับ

  • Smartphone จีนบุกโลกพระเอกของวงการมือถือในปีนี้ ไม่น่าจะเป็นแอปเปิล-ซัมซุง-โนเกีย แต่จะกลายเป็น Huawei-ZTE-Lenovo-Meixu-Xiaomi แทน ที่น่าจับตามองที่สุดคือ Lenovo ที่จะขยายออกมานอกจีน (สักที) และสมาร์ทโฟนจีนจะทะลุทะลวงด้วยสเปก-ราคาที่เหนือกว่าค่ายอื่น
  • NFC จะกลายเป็นฟีเจอร์มาตรฐานบนมือถือ แต่ไม่มีที่ใช้งานมือถือระดับ mid-range ขึ้นไปคงมี NFC แปะเข้ามาหมด (ให้รู้สึกว่ามีคุณค่า) แต่ฝั่ง demand ตาม supply ไม่ทัน ดังนั้นได้มาก็จะไม่ค่อยมีที่ให้ใช้ NFC เท่าไรนัก อย่างไรก็ตามมันจะเป็นฐานให้การใช้ NFC ฝั่ง supply เริ่มจุดติดในปี 2014
  • Windows 8.1ผมเชื่อว่าไมโครซอฟท์จะปรับรอบของซอฟต์แวร์มาออกเป็นรายปีแทน เพราะไม่งั้นแข่งกับ Android/iOS ไม่ได้ เราคงเห็น Windows 8.1 และ Windows Phone 8.1 ช่วงกลางปี และ 8.2 ในปีต่อไป
  • Amazon Somethingค่ายที่สั่งสมพลังมาแบบเงียบๆ ได้สักระยะแล้วคือ Amazon ซึ่งปี 2013 น่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ ออกสู่ตลาดสักตัว ยังเดาไม่ออกว่าเป็นอะไร (Amazon Phone?) แต่เชื่อว่าจะมี
  • New Android Allianceปี 2013 เราน่าจะเห็นการจับกลุ่มของผู้ผลิตมือถือ Android ที่ไม่รวมกูเกิล โดยพัฒนา Android ร่วมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย และอาจกลายเป็น fork ในระยะยาว
  • Slow Console Salesไมโครซอฟท์น่าจะเปิดตัว Xbox Next ในปีหน้า ส่วน PS4 น่าจะยัง แต่ไม่ว่าจะเปิดตัวอะไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเกมคอนโซลเริ่มโตช้า กระแสตลาดไปอยู่ที่ mobile gaming กันหมด คอนโซลทางเลือกอย่าง Ouya หรือ Steam Box น่าจะได้รับความสนใจพอควร แต่คงไม่ถึงขั้นขายดีถล่มทลาย
  • New Augmented Reality Movementหลังจากดังวูบวาบมาพักนึงแล้วแป๊กไปนาน ปี 2013 เราน่าจะเห็นการใช้งาน augmented reality แบบ "คิดใหม่ทำใหม่"และมีเคสเจ๋งๆ ออกมาให้เห็น (เท่าที่ลองเล่น Ingress ดูก็ใกล้เคียง แต่คงเป็นแอพที่มีประโยชน์กับชีวิตประจำวันมากกว่าเกม)
  • สงครามสิทธิบัตรลดระดับลงยังมีการฟ้องร้องกันอยู่ แต่จะไม่แรงเท่าปี 2012 ด้วยเหตุผลว่าทุกคนเริ่มเหนื่อย (แต่ก็หยุดไม่ได้)
  • Ubuntu Losing Momentumยุทธศาสตร์ของ Ubuntu ผิดพลาดหลายอย่างในช่วงหลัง พยายามจะทำทุกอย่างแต่ไม่ดีสักอย่าง และตลาดจะสนใจว่า Ubuntu ทำอะไรน้อยลงมาก (ในทางกลับกัน Red Hat จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ)
  • More Convergence of iOS+OSXปีหน้าแอปเปิลน่าจะควบรวม iOS + OSX เข้าด้วยกันอีกระดับ ที่พอเป็นไปได้คงเป็นการรันแอพ iOS บน OSX หรืออาจจะมี Hybrid Macbook Air
  • Android@Home Returnผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของกูเกิลในปี 2011 แต่เงียบหายไปเลยในปี 2012 น่าจะกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้งใน Google I/O 2013

Keyword:

Viewing all 557 articles
Browse latest View live




Latest Images