Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Strategic Business Development

0
0

ฮีโร่โลกไอทีของผมคนหนึ่งคือ Marc Andreesen ผู้ก่อตั้ง Netscape ในฐานะ "เดวิด" ที่หาญกล้าไปต่อสู้กับ "โกไลแอท" อย่างไมโครซอฟท์ (และทำให้ไมโครซอฟท์ต้องสะเทือนในระดับบิล เกตส์ ต้องตื่นกลางดึกเป็นครั้งแรก)

ถึงแม้ Netscape จะพ่ายแพ้ไปอย่างน่าเจ็บใจ แต่วิสัยทัศน์หลายอย่างก็ถูกสานต่อโดย Google, Mozilla และชุมชนโอเพนซอร์ส

Netscape ขายบริษัทให้ AOL ในปี 1999 ถึงแม้จะเสียเอกราชแต่มันกลับเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องมากๆ ของผู้ถือหุ้น Netscape (และกลายเป็น AOL ซวยไปแทนในแง่ตัวเงิน คือสงครามครั้งนั้นไมโครซอฟท์ยิ่งใหญ่มากจนใครก็สู้ไม่ชนะ) จากนั้น Andreessen ลาออกไปตั้งบริษัทใหม่ชื่ออะไรสักอย่าง

ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจมากนักว่าเขาหายไปทำอะไรกันแน่ (รู้แค่ว่าเงียบมาก) ผนวกกับบริษัทใหม่ของ Andreessen เจาะตลาดองค์กร (ที่ห่างไกลกับผมมากในตอนนั้น) มาได้ยินชื่ออีกทีก็ตอนเขาโผล่มาทำ Ning ในยุคโซเชียลรุ่งเรืองเลย

ตอนนี้เราสามารถหาข้อมูลได้ว่าช่วงนั้น Andreessen หายไปจากโลกไคลเอนต์อย่าง Netscape แล้วไปเปิดบริษัทใหม่ชื่อ Loudcloud ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆ ที่ให้บริการ cloud computing (อารมณ์เหมือน hosting สำหรับเซิร์ฟเวอร์องค์กร) ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Opsware และขายให้ HP ด้วยมูลค่า 1.7 พันล้านในปี 2007 ทำให้ Andreessen สร้างตำนานเปิด 2 บริษัท ขายได้ระดับพันล้านทั้งคู่ (Netscape ขาย 4.2 พันล้าน) และเขาก็เอาเงินก้อนนี้มาทำกองทุน Andreesen Horowitz ในทุกวันนี้ (ภายหลังซื้อ Skype แล้วขายให้ศัตรูเก่าอย่างไมโครซอฟท์ได้อีก 8.5 พันล้าน)

ร่ายมาตั้งนานเพื่อจะบอกว่ามีบทความความยาว 5 ตอนตีพิมพ์ใน Fortune เขียนโดย John O'Farrell ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งใน Loudcloud/Opsware (ตอนนี้ก็ย้ายมาอยู่ที่ Andreessen Horowitz ด้วย) เล่าประสบการณ์ต่างๆ ตอนทำงานที่ Loudcloud/Opsware ในขณะนั้น นับตั้งแต่เริ่มกิจการจนกระทั่งขายบริษัทให้ HP

ในแง่ประวัติศาสตร์ของวงการไอที บทความนี้ถือว่ามีประโยชน์พอสมควร (แต่ไม่มากเท่าไรเพราะบริษัทมันไม่ได้ดังอะไรมากมาย) แต่สิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ กลับเป็น "บทเรียนทางธุรกิจ" ของตัวผู้เขียน O'Farrell เองในการทำงานที่ Loudcloud/Opsware ต่างหาก

Loudcloud/Opsware ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย ทั้งช่วงฟองสบู่ดอทคอมแตก และเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งทำให้ตลาดไอทีซบเซาลงมาก เงื่อนไขพวกนี้บีบให้บริษัทต้องมองหายุทธศาสตร์ใหม่ๆ นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจตามปกติ (พัฒนาผลิตภัณฑ์-หาช่องทางขาย) เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไปได้

ยุทธศาสตร์พวกนี้ก็ได้แก่ ขายกิจการบางส่วน จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นๆ รวมไปถึงการขายกิจการทั้งหมด ตัวของ O'Farrell เรียกยุทธศาสตร์พวกนี้รวมๆ ว่า Strategic Business Development หรือการพัฒนาธุรกิจอย่างมียุทธศาสตร์ โดยทีมเฉพาะที่เรียกว่า Strategic BD (คล้ายกับเซลส์แต่ไม่ใช่เซลส์ ทำหน้าที่สร้างสายสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์มากกว่าเน้นขาย)

หลังจากผมมาเปิดบริษัทเองอยู่พักหนึ่ง ยิ่งพบว่าประสบการณ์พวกนี้ถือว่าล้ำค่ามากครับ คือมันไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาเผยแพร่บอกกันสักเท่าไร (ด้วยเหตุผลเรื่องความลับธุรกิจ) แต่กลับเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจมักจะต้องเผชิญอยู่เสมอ ดังนั้นสถานการณ์จะกลายเป็นว่าต่างคนต่างเจอ ต่างแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (จะรอดไม่รอดอีกเรื่องหนึ่ง) หลังจากนั้นเรื่องราวพวกนี้จะหายไปกับสายลม คนรุ่นหลังมาเจอปัญหาซ้ำก็ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์กันต่อไป ซึ่งผลลัพธ์อาจกลายเป็นองค์กรล้มเหลวไปก็ได้

ดังนั้นพอมาเจอบทความซีรีส์นี้ จึงพบว่าเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าดั่งทอง นำมาบันทึกลงบล็อกไว้เป็นหลักเป็นฐานสักหน่อย

บทความตอนที่ 1

อธิบายแนวคิดเบื้องต้นของ Strategic Business Development ว่าต้องทำอะไรบ้าง หลักๆ ก็คือทำงานที่ฝ่ายวิศวกรรม (ในแง่ของบริษัทไอที) และฝ่ายเซลส์ไม่ได้ทำทั้งหมด โดยหลักคือคิดยุทธศาสตร์ระยะยาวของบริษัทว่าทำอย่างไรบ้างบริษัทถึงจะไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และวางหมากสำคัญๆ พวกนั้นรอไว้ล่วงหน้าก่อน (อาจจะสัก 2-3 ปีเลยด้วยซ้ำ) เพื่อว่าถ้าจำเป็นต้องใช้งานจะได้เรียกใช้ได้ทันที

บทเรียนแรกของ Loudcloud คือปี 2002 ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจาก 2 ปัจจัยคือ dot com crash และ 9/11 ทำให้ยอดขายตกลงมากเพราะลูกค้าไม่มีเงิน ความซวยบังเกิดเมื่อลูกค้ารายใหญ่ที่สุดบอกว่าจะล้มละลาย ทำให้รายได้ของ Loudclod หายไป 20% เอาดื้อๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้บริษัทก็อาจเจ๊งตามไปด้วย

ทางออกของ Loudcloud คือขายธุรกิจบริการโฮสติ้งออกไปให้กับ EDS แล้วเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทที่ขายเฉพาะซอฟต์แวร์บริหารระบบเซิร์ฟเวอร์เพียงอย่างเดียว (และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Opsware) ความเจ๋งของเรื่องนี้คือ Loudcloud ตกลงเงื่อนไขในการขายกับ EDS ด้วยว่า EDS จะต้องซื้อซอฟต์แวร์ของ Opsware เป็นระยะเวลา 3 ปี จ่ายเงินเป็นรายไตรมาสรวมแล้ว 52 ล้านดอลลาร์ การดีลทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนเท่านั้น

ข้อตกลงนี้ทำให้ Opsware กลายเป็นองค์กรใหม่ที่ขนาดเล็กลงครึ่งหนึ่ง (พนักงานเหลือ 100 คนจากเดิม 240 คน) มีผลิตภัณฑ์ในมืออยู่แล้วไม่ต้องสร้างใหม่ตั้งแต่ศูนย์ มีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ 3 ปี (constant revenue stream นี่สำคัญมากสำหรับธุรกิจ) ไม่มีหนี้สินแถมมีเงินสดในมือจากการขายกิจการ 65 ล้านดอลลาร์ และมีลูกค้ารายใหญ่หนึ่งรายคือ EDS

ตำแหน่งทางธุรกิจของ Opsware หลังขายแล้วถือว่าดีมาก ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบมาก ซึ่งเรื่องนี้ O'Farrell บอกว่าเกิดจากผลงานสะสมของหน่วย strategy business development ที่ทำไว้ก่อนหน้านั้น 1 ปีเป็นหลัก

1 ปีก่อนหน้านั้น Loudcloud อยากเจรจาธุรกิจกับบริษัทไอทีใหญ่ๆ หลายราย เช่น IBM และ EDS ทำให้ทีม Strategic BD เข้าไปคุยกับผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้มาก่อนแล้ว รู้ว่าต้องคุยกับผู้บริหารคนไหน และผู้บริหารแต่ละคนมีนิสัยใจคออย่างไรบ้าง ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องขายบริษัท ก็สามารถเปิดการเจรจาต่อได้ทันทีนั่นเอง (O'Farrell บอกว่าถ้าไม่เคยลงทุนเรื่องนี้มาก่อนเลย แค่จะหาว่าต้องคุยกับใครเรื่องขายบริษัทอาจจะต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ซึ่ง Loudcloud อาจเจ๊งไปนานแล้ว)

บทเรียนที่น่าสนใจอีกอันคือกระบวนการขายบริษัทครั้งนั้น ทีม Strategic BD ประสานงานกันดีมาก ทุกอย่างที่จะคุยกับ "ว่าที่ผู้ซื้อกิจการ" ต้องเขียนสคริปต์ล่วงหน้า เพื่อ "สร้างภาพ" ของบริษัทที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเจรจาเรื่องราคา

บทความตอนที่ 2

บทความตอนนี้เล่าถึงภาคต่อของ Opsware หลังปรับโครงสร้างกิจการใหม่แล้ว ว่าใช้ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างไรต่อจากนั้น

จุดอ่อนของ Opsware ตอนนั้นคือมีผลิตภัณฑ์อย่างเดียว (ซอฟต์แวร์บริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์) และมีลูกค้ารายเดียว (EDS) แต่ก็มีจุดแข็งคือทีมวิศวกรที่เข้มแข็งมาก (เพราะสร้างสั่งสมมานาน) และเงินสดในมือจำนวนมาก

เส้นทางเดินต่อไปของ Opsware คือเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น (อันนี้มาตรฐาน) และเร่งขยายกิจการโดยการซื้อบริษัทอื่นๆ

Opsware รู้ว่า "สิ่งที่ขายได้" ของธุรกิจตัวเองคือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ครบชุดในตลาดศูนย์ข้อมูล พอตัวเองมีระบบซอฟต์แวร์เซิร์ฟเวอร์อยู่แล้ว ก็เลยไล่ซื้อบริษัทเล็กๆ ที่ทำซอฟต์แวร์ลักษณะคล้ายกันมาเสริมทัพ เช่น ระบบจัดการเครือข่าย และระบบจัดการสตอเรจ

การซื้อลักษณะนี้นอกจากได้ผลิตภัณฑ์และได้บุคคลากรแล้ว ยังได้ฐานลูกค้าเพิ่มเติมด้วย ผลคือ Opsware กลายเป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ครบชุดสำหรับศูนย์ข้อมูล และมีลูกค้าในมือเป็นจำนวนมาก

เทคนิคการซื้อกิจการของ Opsware คือตั้งเป้าก่อนว่าจะซื้ออะไร แล้วค้นหาผู้เล่นในตลาด ประเมินข้อดีข้อเสียของเป้าหมายแต่ละบริษัท (ทั้งในแง่เทคนิค การเงิน ทีม วัฒนธรรมองค์กร) จากนั้นก็ติดต่อเข้าไปยังบริษัทเหล่านั้นทุกราย และ "บอกใบ้" ให้แต่ละบริษัทรู้ว่าเรากำลังสนใจจะซื้อบริษัทลักษณะนี้ รวมถึงคู่แข่งของบริษัทนั้นๆ ด้วย

ข้อดีของเทคนิคนี้คือทำให้บริษัทต่างๆ เสียอำนาจต่อรองลงไป และแข่งขันยื่นข้อเสนอขายที่ดีกว่ามาให้ Opsware ซึ่งตรงนี้ดีกว่าการที่ Opsware จะยื่นข้อเสนอซื้อไปยังบริษัทที่ดีที่สุดมาก

บทความตอนที่สาม

ตอนนี้พูดเรื่อง partnership กับบริษัทที่ใหญ่กว่า โดย Opsware เคยเซ็นสัญญาพันธมิตรกับบริษัทใหญ่มา 2 ครั้งคือ HP ในปี 2003 และ Cisco ในปี 2006 ทั้งสองสัญญามีแนวทางคล้ายกันคือ บริษัทใหญ่จะช่วยขายผลิตภัณฑ์ของ Opsware ให้

กรณีของ HP ล้มเหลวเพราะการดีลกับบริษัทใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย (อำนาจต่อรองต่ำ) ซึ่ง Opsware ไม่ต้องการอะไรมากนอกจากชื่อ HP มาเสริมความน่าเชื่อถือ

แต่กรณีของ Cisco ประสบความสำเร็จมาก การที่ Cisco เจ้าพ่อเครือข่ายช่วยขายซอฟต์แวร์บริหารจัดการเครือข่ายของ Opsware ทำให้ปิดเกม เอาชนะคู่แข่งร่วมอุตสาหกรรมแบบเบ็ดเสร็จได้เลย (ลองนึกภาพว่าเซลส์ของบริษัทคู่แข่งเข้าไปขายซอฟต์แวร์ แล้วเครือข่ายของลูกค้าที่เป็น Cisco มีซอฟต์แวร์ของ Opsware พ่วงมาด้วยหมดแล้ว)

บทเรียนในตอนนี้คือการเจรจาต่อรองกับ Cisco เพราะทั้งสองฝั่งก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ความสำเร็จในแง่ข้อตกลงทางธุรกิจของ Opsware คือสามารถชักจูงให้ Cisco การันตีรายได้ขั้นต่ำต่อไตรมาสให้ได้ด้วย ในขณะที่ยังแบ่งส่วนรายได้กับ Opsware กรณีที่ขายเกินขั้นต่ำ

เงื่อนไขนี้ช่วยให้ Opsware มีรายได้เข้ามาคงตัวเป็นเวลาอีก 3 ปี และบีบให้ Cisco ต้องเร่งขายสินค้าเพื่อมาจ่ายเงินให้ Opsware (Cisco เองก็ได้กำไรด้วย แต่เหมือนมีเส้นตายมาบีบ) นอกจากนี้เงื่อนไขการเจรจายังอนุญาตให้ Cisco ตั้งราคาขายสินค้าได้ตามใจ (แต่มีราคาขั้นต่ำที่ห้ามลดไปกว่านั้น) ทำให้ Cisco สามารถขายของแพงได้ (เพราะเป็น Cisco) แล้วส่งผลให้ Opsware รวยเพิ่มขึ้นไปด้วย

สิ่งที่ Cisco ต้องการคือห้ามคนของ Opsware ไปขายแข่งกับเซลส์ของ Cisco ซึ่งตรงนี้ Opsware ยอมรับ และแก้ปัญหาเรื่องเซลส์สองบริษัทหมั่นไส้กันโดยจ่ายเงินให้เซลส์ของตัวเอง ในกรณีที่เซลส์ของ Cisco ขายของได้ในพื้นที่นั้นๆ วิธีการนี้ช่วยให้เซลส์ของ Opsware ช่วยเซลส์ของ Cisco เต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ขาดทุนอะไรเพราะได้ส่วนแบ่งรายได้จาก Cisco อยู่ดี แถมเซลส์ของ Opsware ยังสามารถตามเข้าไปขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ซอฟต์แวร์เครือข่ายได้ด้วย ช่วยให้ทีมเซลส์ของ Opsware เข้าถึงลูกค้าหน้าใหม่ๆ รายใหญ่ๆ ที่ไม่เคยฝันถึงได้มาก

บทความตอนที่สี่

พูดถึงการขายบริษัทให้ HP โดย O'Farrell บอกว่า Opsware ตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจ ไม่ได้เน้นขาย แต่ก็ไม่ควรปิดโอกาสตัวเอง และควรทำความคุ้นเคยกับ "ว่าที่ผู้ซื้อ" ไว้ด้วย

สถานการณ์ในตอนนั้น Opsware เหมาะแก่การขายมาก เพราะตอนนั้นผลประกอบการดี มีพันธมิตรรายใหญ่อย่าง Cisco แต่การเติบโตของบริษัทเริ่มลดลง เมื่อได้ราคาเสนอซื้อสูงกว่าราคาหุ้น 74% และบวกกับโชคดีด้วย คือขายก่อนวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐไม่นานนัก ดีลนี้เลยจบลงแบบสวยงามมาก

O'Farrell บอกว่าตามปกติแล้ว ผู้บริหารของ Opsware จะคุยเรื่องผลประกอบการกับบอร์ดทุกไตรมาส ซึ่งเป็นการคุยทั่วๆ ไป แต่ทุกรอบปีจะคุยเรื่องยุทธศาสตร์ของบริษัท ซึ่งการประชุมนี้จะประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจของบริษัท ทั้งอุตสาหกรรม ตลาด คู่แข่ง และว่าที่ผู้ซื้ออยู่ตลอด ทำให้ Opsware รู้จังหวะของตัวเองเป็นอย่างดี

Opsware จะพบกับผู้บริหารของ "ว่าที่ผู้ซื้อ" ทุกปี และจะนำเสนอสถานการณ์ของบริษัท โดยพยายามขายจุดดึงดูดของบริษัทว่ากำลังเป็นดาวรุ่งมาแรง ผลประกอบการดี ผลิตภัณฑ์เยี่ยม เพื่อให้ซีอีโอของบริษัทใหญ่ๆ ต้องฉุกใจคิดว่า "เราควรซื้อบริษัทนี้ดีไหม จะโดนใครตัดหน้าไหม"

ยุทธศาสตร์การขายกิจการแบบนี้น่าสนใจมาก ต้นฉบับใช้คำว่า

The key is subtly to convince the acquirer that they have no option but to acquire you, but that you have multiple attractive alternatives

การกระตุ้นพวกนี้ไม่ต้องบอกออกมาตรงๆ แต่ทุกโอกาสที่เป็นไปได้ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหน ต้องสร้าง "ความรู้สึก" ลักษณะที่ว่าให้เกิดขึ้นจนกว่าจะเซ็นสัญญากันเรียบร้อย

บทความตอนที่ห้า

พอทีมผู้บริหารตัดสินใจว่าจะลองเดินหน้าเสนอขายดู โดยพบปะกับ "ว่าที่ผู้ซื้อ" จนมีคนสนใจเข้ามาเจรจา เมื่อได้ข้อเสนอซื้อรายการแรก ทาง Opsware คิดว่าน้อยไป (พรีเมียม 38%) จึงประกาศไปยังผู้สนใจทุกรายว่าต้องการราคาขั้นต่ำเท่าไรบ้าง และเจรจาหลายฝ่ายเพื่อให้ได้ราคาตามต้องการ (เจรจาไป 10 บริษัท)

Opsware มีปัญหาเรื่องเทคนิคบัญชีจนเหลือผู้เสนอซื้อรายเดียวคือ HP ที่ลดราคาลงมากว่าราคาที่เรียกเล็กน้อย แต่สุดท้ายทีมผู้บริหารก็ใช้เกมจิตวิทยาเข้าช่วยให้ HP ยอมจ่ายตามต้องการ (แกล้งไม่รับโทรศัพท์และแสร้งทำเป็นประชุมบอร์ดอยู่) -- อันนี้ผมว่าโชคช่วยด้วย

ใครมีกิจการก็แนะนำให้อ่านทั้ง 5 ตอนอย่างละเอียดครับ น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย


Creative Commons FAQ

0
0

มีคนติดต่อให้ไปพูดเรื่อง Creative Commons อีกครั้ง เลยขุดงานเก่าๆ มาแก้ไขปรับปรุงใหม่เพื่อเป็นเอกสารแจกภายในงาน

ไหนๆ ทำแล้วก็มาเผยแพร่ไว้ที่นี่ด้วย เผื่อจะมีประโยชน์ครับ ตัวงานใช้สัญญาอนุญาตแบบ CC-BY

ไขข้อสงสัยที่พบบ่อยกับ Creative Commons

Q: Creative Commons (CC) คืออะไร

CC คือ "ชุดของเงื่อนไข" ที่เราจะอนุญาตให้คนอื่นนำผลงานของเราไปใช้งาน คำว่า "ชุดของเงื่อนไข" แปลว่ามีเงื่อนไขได้หลายแบบ ขึ้นกับความต้องการใช้งานของเจ้าของลิขสิทธิ์

Q: การใช้ CC จะทำให้ลิขสิทธ์ในผลงานของเราเสียไปหรือไม่

ไม่เสีย ลิขสิทธิ์ทั้งหมดของผลงานของเราเหมือนเดิม จะยังเป็นของเราไม่หายไปไหน ไม่ได้ยกให้ใคร

แต่การใช้ CC จะทำให้ผู้ที่ต้องการนำผลงานของเราไปใช้ต่อ สามารถนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาต (ตราบเท่าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรากำหนด เช่น ไม่นำไปใช้ในการค้า อ้างอิงต้นฉบับ) ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาของทั้งสองฝ่าย

Q: การใช้ CC ต่างจาก C (Copyright) ตามปกติอย่างไร

การประกาศลิขสิทธิ์ Copyright หรือ C เป็นการบ่งบอกว่า เนื้อหาชิ้นนี้เป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกประการ ผู้ที่อยากนำไปใช้ต่อ ต้องติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเสมอ

การประกาศลิขสิทธิ์แบบ Creative Commons หรือ CC เป็นการบ่งบอกว่า เนื้อหาชิ้นนี้เป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกประการ แต่อนุญาตให้นำไปใช้ต่อในบางกรณี โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน (แต่การแจ้งบอกว่านำไปใช้ เป็นสิ่งที่ควรทำตามมารยาท)

Q: การใช้ CC มีข้อดีอย่างไรบ้าง

ขึ้นกับมุมมองของแต่ละฝ่าย แต่คร่าวๆ มีดังนี้

สำหรับเจ้าของผลงาน

  • การใช้ CC กับผลงาน จะทำให้การนำงานของเราไปอ้างอิงหรือใช้ต่อทำได้ง่ายขึ้น (เช่น นำไปลงเผยแพร่หนังสือ นิตยสาร) ส่งผลให้ผลงานของเราถูกเผยแพร่ไปในวงกว้างมากขึ้น ถ้าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานหน้าใหม่แล้ว ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้มีชื่อเสียงเร็วกว่าเดิม
  • การประกาศใช้ CC จะเป็นการย้ำเตือนให้ชัดว่า "ผลงานนี้เป็นของผู้สร้าง" (เพียงแต่ผู้สร้างประกาศให้นำไปใช้งานในบางลักษณะได้) ซึ่งเมื่อเทียบกับการไม่ประกาศลิขสิทธิ์ หรือ การประกาศลิขสิทธิ์ด้วยตัว (C) ซึ่งไม่เด่นชัดแล้ว จะทำให้ผู้ที่ต้องการนำผลงานของเราไปใช้ ตระหนักได้ง่ายขึ้นว่าผลงานนี้มีเจ้าของ และมีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตาม

สำหรับผู้ต้องการนำผลงานไปใช้

  • ลดความยุ่งยากในการติดต่อขอสิทธิ์ใช้งานเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งผลให้นำผลงานของเราไปอ้างอิงหรือนำไปใช้ต่อได้สะดวกมากขึ้น ในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับคนทั่วไป

  • การที่กระบวนการการติดต่อขอผลงานลิขสิทธิ์ไปใช้ถูกตัดออกไป ทำให้การต่อยอดผลงานทำได้ง่ายขึ้นมาก สิ่งที่คนทั่วไปและสังคมจะได้รับในระยะยาว คือ ผลงานสร้างสรรค์ดีๆ ที่เกิดจากการต่อยอดงานเก่าจะเพิ่มขึ้นเยอะอีกมาก เช่น การมิกซ์เพลง, หนังสั้นที่ใช้ฟุตเตจที่มีอยู่แล้ว, การ์ตูนล้อเลียนหรือที่เรียกว่าโดจิน เป็นต้น

จะเห็นว่าการประกาศใช้ CC ไม่มีข้อเสียเลย และถ้างานไหนที่ไม่ต้องการประกาศใช้เป็น CC ก็จะถือเป็นลิขสิทธิ์เต็มของเจ้าของดังเช่นปกติ

Q: มีใครบ้างที่นำ CC ไปใช้แล้ว

CC ครอบคลุมผลงานสร้างสรรค์ทุกชนิด ถ้าให้แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็ได้ดังนี้

  • เพลง: ศิลปินในต่างประเทศ วง Nine Inch Nails
  • หนังสือ: Joys วารสารการ์ตูน, นิตยสารโอเพ่น
  • งานเขียนบนเว็บ: Blognone, GotoKnow, Thaigoodview, วิชาการ.com
  • การ์ตูน: i-phan, phuphu
  • งานวิจัย: TDRI, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ห้องสมุด มศว.

รายชื่อฉบับเต็มดูได้จากเว็บไซต์ของ Creative Commons

Q: จะใช้ CC ได้อย่างไร

แค่ประกาศว่าผลงานของเราใช้สัญญาอนุญาต (license) แบบ Creative Commons และลิงก์กลับไปยังสัญญาฉบับเต็มบนเว็บไซต์ของ Creative Commons หรือจะสามารถแปะแบนเนอร์รูป CC เล็กๆ ไว้ด้วย เท่านั้นกระบวนการการประกาศใช้ CC ก็เสร็จสิ้น

บนเว็บไซต์ของ Creative Commons มีเครื่องมือสำหรับช่วยแปะตรา CC ได้สะดวก แค่ copy&paste ไว้บนเว็บไซต์เท่านั้น เข้าไปดูได้ที่ http://creativecommons.org/choose/

Q: ชุดเงื่อนไขของ CC มีอะไรบ้าง

ชุดเงื่อนไขของ CC ประกอบด้วยเงื่อนไขย่อย 1+3 แบบ ดังนี้

  • อย่างแรกเป็นสิ่งที่บังคับใช้ใน CC ทุกแบบ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Attribution (ใช้ตัวย่อว่า by) หรือ "ยอมรับสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์" คือทุกคนที่นำผลงานของเราไปใช้ไม่ว่ากรณีใดๆ จะต้องอ้างอิงที่มาต้นฉบับว่าเป็นผลงานของใครเสมอ

ส่วนอีก 3 อย่าง เจ้าของผลงานสามารถเลือกใช้เฉพาะบางเงื่อนไขได้ตามต้องการ หรือ ใช้ครบทั้งสามเงื่อนไขเลยก็ได้

  • "ไม่ใช้เพื่อการค้า" (Non-Commercial หรือตัวย่อ nc) - ผู้ที่นำผลงานของเราไปใช้ ไม่สามารถนำไปใช้หาประโยชน์เชิงการค้าหรือหาประโยชน์ได้
  • "ห้ามดัดแปลง" (No Derivative หรือตัวย่อ nd) - ผู้ที่นำผลงานของเราไปใช้ ต้องใช้ตามต้นฉบับดั้งเดิมเท่านั้น ห้ามดัดแปลงเป็นอื่น
  • "ใช้สัญญาอนุญาตแบบเดียวกัน" (Share-alike หรือตัวย่อ sa) - ผู้ที่นำผลงานของเราไปใช้ จะต้องใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons ที่มีชุดของเงื่อนไขแบบเดียวกันทุกประการ กับผลงานใหม่ที่อิงจากผลงานของเราด้วย

ตัวอย่าง: ถ้าเกิดเราไปเจอผลงานที่ใช้สัญญาอนุญาตแบบ CC ชุด by-nc-nd ก็หมายความว่า เราสามารถนำผลงานนี้ไปใช้ได้ โดยห้ามนำไปใช้ทางการค้า ห้ามดัดแปลง และต้องอ้างอิงที่มาเสมอ

Q: ถ้าผู้ที่ต้องการใช้งานของเราที่เป็น CC มีความต้องการอื่นๆ นอกเหนือจากเงื่อนไขใน CC

สามารถติดต่อมาที่เจ้าของผลงานโดยตรงได้ ดังเช่นงานลิขสิทธิ์ทั่วไป เพราะลิขสิทธิ์เต็มยังเป็นของเจ้าของผลงานอยู่

สมมติว่ามีงาน A ที่ประกาศใช้เป็น CC

  • คนที่ต้องการใช้ผลงาน A ภายใต้เงื่อนไขของ CC สามารถนำไปใช้ได้ทันที ไม่ต้องแจ้งมายังเจ้าของผลงาน A
  • คนที่ต้องการใช้ผลงาน A ในเงื่อนไขอื่นนอกจากที่ระบุ สามารถติดต่อมายังเจ้าของผลงาน A โดยตรง และเจ้าของสามารถอนุญาตเป็นรายกรณีไป

Q: ถ้ามีคนละเมิดเงื่อนไขใน CC สามารถฟ้องร้องได้หรือไม่

เงื่อนไขของ CC นั้นสอดคล้องตามหลักลิขสิทธิ์สากลทุกประการ ในต่างประเทศได้มีการฟ้องร้องผู้ที่ละเมิดเงื่อนไขใน CC และได้รับชัยชนะจำนวนหลายคดี

ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก

เอกสารชิ้นนี้บน Google Docs

The Second Bakery Attack

0
0

The Second Bakery Attack

รวมเรื่องสั้นของมุราคามิ ชุดเดียวกับ Lexington Ghosts แต่อันนี้เป็นเล่มที่สองในชุด (Lexington Ghosts เป็นเล่มที่สาม)

รอบนี้ไม่ต้องเกริ่นแล้ว วิจารณ์เลย

  • คำสาบร้านเบเกอรี The Second Bakery Attack เป็นเรื่องจิตๆ เล็กๆ ของมุราคามิที่ค่อนข้างลงตัว คือเอาปมในจิตใจตัวเอกมาเดินเรื่องต่อได้แบบสั้นกระชับและจบในตัว แถมให้บรรยากาศที่ร่วมสมัยดี
  • ช้างหาย The Elephant Vanished เรื่องนี้ทำทางมาดีแต่จบไม่ลง เหมือนเป็นแค่ตอนแรกของนิยายขนาดสั้นมากกว่า
  • พี่ชาย น้องสาว Family Affair ผมชอบที่สุดในเล่มนี้ มันคืองานของอาดาจิ มิตซึรุ (ความผูกพันของคนในครอบครัวที่ไม่แน่ว่ากลายเป็นความรักหรือเปล่า) เอามาปรุงแต่งด้วยกลิ่นแบบมุราคามิเข้าไป (แต่ก็ไม่ใช่มุราคามิแบบเปลี่ยวเหงาสักเท่าไร คือเรื่องเต็มไปด้วยบทสนทนาเผ็ดร้อน)
  • ฝาแฝดและทวีปที่จมดิ่ง The twins and the sunken continent ภาคต่ออย่างไม่เป็นทางการของซีรีส์ The Rat โดยพูดถึงเหตุการณ์หลัง Pinball, 1973 ตัวเอกคนเดิมนั่งระลึกถึงและเพ้อหาฝาแฝดสาวทั้งสองคนนั้น ตัวเรื่องไม่มีอะไรนอกจากเพ้ออย่างเดียว แต่ในแง่ "ภาคต่อ" ก็ช่วยให้เรารับรู้ความเป็นไปของตัวละครที่คุ้นเคยว่าเป็นอย่างไรต่อ
  • อาณาจักรโรมันล่มสลาย ชาวอินเดียลุกฮือเมื่อปี 1881 ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ และโลกแห่งสายล้มเกรี้ยวกราด The Fall of the Roman Empire, The 1881 Indian Uprising, Hitler's Invasion of Poland, The Realm of Raging Wind (ชื่อยาวแบบนี้จริงๆ นะ) เป็นเรื่องสั้นแนวทดลอง สั้นมากประมาณ 10 หน้านิดๆ ถือว่าแปลกดี
  • ตำนานนกไขลาน The Wind-Up Bird and Tuesday's Women อันนี้เป็นเวอร์ชันเรื่องสั้นของ "บันทึกนกไขลาน" ที่เขียนก่อนฉบับนิยายยาว ฉบับเรื่องสั้นนี้แทบจะยกตอนต้นของ "บันทึกนกไขลาน" มาแบบเป๊ะๆ แต่พอตัดจบเฉพาะส่วนต้น ความหมายโดยรวมถือว่าออกมาสุดขั้วกันเลย ตรงนี้ต้องยอมรับว่าพี่แกเจ๋งมาก (ถ้าอ่านเรื่องนี้ก่อนโดยไม่อ่าน บันทึกนกไขลาน มันจะกลายเป็นนิยายงงๆ ธรรมดา)

Staying Relevant in Digital Era

0
0

วันนี้ไปพูดให้กับงานเสวนาของชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ที่จัดร่วมกับ TCDC มาครับ เลยนำสไลด์มาแปะไว้เป็นหลักเป็นฐาน

เนื้อหาคงไม่มีอะไรมาก เพราะเป็นการ recap ประเด็นที่คนในวงการติดตามอยู่แล้ว 2 ประเด็น

  • การปรับตัวของ publisher ในยุค digital ที่โครงสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป
  • การปรับตัวของ librarian ในยุค information explosion ที่มุมมองของการจัดเก็บ สืบค้นสารสนเทศเปลี่ยนไป

ขอบคุณวิทยากรร่วมคุณ iTeau ที่เชิญมาด้วยนะครับ ภาพมีนิดหน่อยผมโพสต์ไว้ที่ Google+ (Instant Upload นี่มันดีจริงๆ)

Euro 2012: Fewer Football Stars

0
0

ดูฟุตบอลคู่อิตาลี-อังกฤษจบแล้วนอนไม่หลับ (คือนอนไม่หลับเพราะนอนไม่หลับนะครับ ไม่เกี่ยวกับการอกหักหรือผิดหวังในการเชียร์) ก็เลยมานั่งเขียนบล็อกดีกว่า

ผมไม่ได้ดูยูโร 2012 ทุกคู่ (คือมันมาดึก เหมือนดูแชมเปี้ยนส์ลีกติดต่อกันทุกคืน และช่วงหลังมีปัญหาว่าตื่นมาดูบอลกลางดึกแล้วมีปัญหาเรื่องการนอนต่อหลังบอลจบ) แต่รู้สึกว่ายูโรคราวนี้ค่อนข้างเงียบๆ กรณีของเมืองไทยถ้าไม่มีประเด็นเรื่อง GMMZ มาเกี่ยวข้องคงเงียบฉี่

เรื่องนี้เข้าใจว่าไม่ได้คิดไปเอง เพราะเคยอ่านคอลัมน์ของคุณเอกราช เก่งทุกทาง ใน นสพ. คมชัดลึก ก็เขียนไว้คล้ายๆ แบบนี้เหมือนกัน

หลังจากดูมาหลายคู่แล้ว พบว่าสิ่งที่ยูโร 2012 รอบนี้ไม่ค่อยดึงดูดเท่าไร น่าจะเป็นว่า "ซูเปอร์สตาร์" ของวงการฟุตบอลน้อยลงมาก

อันนี้เป็นประเด็นที่ผมไม่แน่ใจว่าคิดไปเองแค่ไหน อาจเป็นเพราะช่วงหลังๆ ติดตามวงการฟุตบอลน้อยลง (พูดง่ายๆ ว่าไม่มีเงินติด True นั่นแหละครับ) ทำให้รู้จักนักเตะหน้าใหม่ๆ น้อยลงตามไปด้วย แต่ในอีกทางก็รู้สึกว่านักเตะใหม่ๆ ขาดแคลนความเป็นดาราอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่าง

  • ทีมชาติอังกฤษชุดนี้ ดารารุ่นเก่าๆ เลิกเล่นกันไปหลายคน และดาวรุ่งหลายคนที่ขึ้นมาอย่างวัลคอตต์ เวลเบ็ค คาร์โรลล์ แชมเบอ์เลน ฯลฯ ยังไม่ค่อยโดดเด่นนัก นี่ถ้าไม่มีตัวอย่างรูนีย์ เจอร์ราด เทอรี คงจืดสนิท
  • อิตาลีเองก็เหมือนกัน กองหน้าอย่างบาโรเตลลี ยังห่างชั้นมากเมื่อเทียบกับสมัยของอินซากี ในทีมชุดนี้เหลือที่เด่นๆ ก็คงแค่บุฟฟอนกับปีร์โล สตาร์ชุดแชมป์โลก 2006 ก็เลิกเล่นกันไปเกือบหมดแล้ว
  • โปรตุเกสชุดนี้ก็แทบไม่เหลือสตาร์เลย มีโรนัลโด้เด่นอยู่คนเดียว แล้วก็พวกที่เล่นในอังกฤษอย่างนานีกับเมไรเลส
  • เช็คเองก็หมดยุคทองไปแล้ว ตัวเด่นอย่างโรซิคกี้หรือบารอสเริ่มแก่ เนดเวดก็เลิกเล่น
  • ฝรั่งเศสไม่ต้องพูดถึงครับ เทียบกับชุด 98/2000 ห่างไกลแบบสุดกู่ หรือแม้แต่ชุด 2006 ซีดานโหม่งก็ยังดูดีกว่ามาก

ทีมที่ดารายังเยอะอยู่คงเป็นสเปน (อันเนื่องมาจากยุคทองของบอลสเปนในรอบ 5 ปีหลัง) ส่วนเยอรมันก็ยังมาเรื่อยๆ มีดาราอยู่บ้าง เพียงแต่เทียบกับชุด 2002 แล้วผมคิดว่าดาราก็ลดลงเหมือนกันนะ

เรื่องนี้ยังนึกสาเหตุไม่ค่อยออก ส่วนหนึ่งอาจเป็นได้ว่า เรากำลังหมดยุคทองของฟุตบอลในทศวรรษ 90s-2000s แล้วหรือเปล่า? หรืออีกส่วนหนึ่งคือฟุตบอลสมัยใหม่เน้นความเป็นทีมเวิร์คมากขึ้น จนดารามีความจำเป็นและความสำคัญน้อยลง

ไปอุบล

0
0

SIU จัดงานสัมมนา การเมืองภาคประชาชน: อุบลราชธานี ร่วมกับสโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ ม.อุบล ไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 55 (สรุปงาน) ก็เลยถือโอกาสลงพื้นที่ตามไปด้วยครับ

บล็อกนี้เขียนส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงาน เอาเท่าที่นึกออกละกัน

อุบลกำลังโตเร็วมาก ดูได้จากป้ายโฆษณาของมหาวิทยาลัยเอกชนในท้องที่ รวมถึง "ขนาด" ของร้านขายวัสดุก่อสร้าง (ผมได้ไปแวะ "ไทวัสดุ" แต่ก็มียี่ห้อท้องถิ่นอีกหลายอัน) พบว่าโคตรใหญ่เลย เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าเมืองกำลังขยายตัวอย่างมาก

ได้ข้ามไปที่ช่องเม็กนิดหน่อย จริงๆ อยากไปให้ถึงปากเซแต่ไม่มีเวลาเลยอด ตอนนี้เส้นทางแถวช่องเม็กกำลังทำถนนใหม่รองรับการจราจรในอนาคต เผอิญวันที่ไปเป็นเช้าวันจันทร์ ด่านเลยเงียบๆ แต่พี่คนขับรถตู้บอกว่าถ้าเป็นวันหยุด แค่รอทำหนังสือผ่านแดนก็ 2 ชั่วโมงแล้ว (ผมไปขอใช้เวลา 10 นาทีเพราะไม่มีคนเลย)

ไปกินอาหารกลางวันที่โขงเจียม ริมแพตรงแม่น้ำสองสี แต่ช่วงนี้หน้าฝน แม่น้ำสีไม่ต่างกันมาก (สีโคลนเหมือนๆ กัน) เสียดายว่าฝนตกปรอยๆ ทั้งวัน ว่าจะไปเที่ยวผาแต้มต่อเลยอด

หน้าตาเขื่อนปากมูล เห็นในข่าวมานานเพิ่งเคยเห็นของจริง ตัวเขื่อนใหญ่กว่าที่คิดแต่ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องม็อบ พี่คนขับรถตู้บอกอย่างดูแคลนว่า "เป็นพวกรับจ้างประท้วง" ไปได้ทุกที่ที่มีเงินจ้าง อันนี้ผมขอไม่ตัดสินใจเชื่อละกันเพราะเป็นข้อมูลด้านเดียวนะครับ (แต่ก็เป็นข้อมูลจากคนในพื้นที่โดยตรง)

สนามบินอุบล ถือว่าใหญ่ทีเดียวสำหรับสนามบินตามหัวเมือง ที่สำคัญคืออยู่ใกล้ตัวเมืองมาก (พอๆ กับสนามบินเชียงใหม่)

ม.อุบล บรรยากาศคล้ายกับ ม.สงขลานครินทร์ พอสมควร คือเป็นแคมปัสที่อยู่ห่างออกจากเมืองไปนิดหน่อย นักศึกษาที่นี่ฟิตกันมากในเรื่องกิจกรรม ต่างไปจาก นศ. ในกรุงเทพที่ออกจะเน้นเที่ยวเล่นเสียมาก

การเมืองอุบลก็น่าสนใจเพราะไม่มีพรรคไหนครองเด็ดขาด ถึงแม้เพื่อไทยจะคะแนนนำ แต่ประชาธิปัตย์ กับชาติไทยพัฒนา ก็ยังสอดแทรกมาได้อยู่เรื่อยๆ ส่วนภาคประชาชนเองก็มีประเด็นที่น่าสนใจเยอะ ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเขื่อน

มารอบนี้เวลาน้อย ยังไม่ค่อยเห็นอะไรเท่าไร หวังว่าจะได้ไปอีกในเร็ววัน

Fixing Education

0
0

"การศึกษา" น่าจะเป็นแพะรับบาปที่ตัวใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เพราะมีปัญหาอะไรทุกคนก็โทษ "การศึกษา" เอาไว้ก่อน (คนพูดจะดูดีขึ้น 7.2%) จากนั้นการสนทนาก็จะยุติลงโดยไม่มีทางออก (เพราะทุกอย่างไปตันที่ "การศึกษา")

ผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งเคยตั้งคำถามที่ท้าทายเอาไว้ว่า "ถ้าเราไม่เปลี่ยนคุณค่าในสังคมไทย เราจะปฏิรูปการศึกษาได้หรือ?"

คิดตามแล้วก็เห็นเป็นจริงดังนั้น เพราะระบบการศึกษาสายหลักของไทยที่ยึดเอาตามกรอบของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก เป็นการสร้างโครงสร้างตามระบอบการให้คุณค่า (value system) ที่ซ้อนทับกันมาเป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่น

  • การให้คุณค่ากับการเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ > การแข่งกันสอบเอนทรานซ์และการเรียนกวดวิชา
  • การให้คุณค่ากับการเรียนสายสามัญ > แรงงานสายวิชาชีพขาดแคลน
  • การให้คุณค่ากับการเรียนโรงเรียนดัง > ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ และการกระจายตัวที่ไม่เท่าเทียมของงบประมาณด้านการศึกษา

ผมเคยนั่งนึกดูเล่นๆ ว่าจะแก้ปัญหาพวกนี้ได้อย่างไร ก็พบว่าคิดไม่ออกเพราะมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่มาก แถมฝังลึกอยู่ในใจของคน ทางออกที่เป็นไปได้ก็คง "ลัด" การศึกษาในระบบไปเสีย พูดง่ายๆ ว่าถ้าการศึกษาตามระบบของกระทรวงมันแก้ไม่ได้ ก็ทำให้ทั้งระบบนั่นแหละมีความหมายลดลง แล้วสร้างระบบการศึกษาแบบใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมาแทน

ระบบการศึกษาทางเลือกไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการที่ไม่สามารถขึ้นมาทดแทนการศึกษาแบบของกระทรวงได้ เช่น

  • ระบบการศึกษาของ กศน. เป็นการย้ายเอาระบบชั้นเรียน (class-based system) มาทำงานทางไกล (remote) ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนลดลง จากการสอนปกติในห้อง (เช่น เสียปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน-ผู้สอน หรือ ทำให้ผู้เรียนขาดวินัยในการเข้าชั้นเรียน)
  • โรงเรียนนานาชาติ/โรงเรียนทางเลือก ได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพต่อตัวเด็ก แต่ก็มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและการกระจายตัว รวมถึงการไปติดเพดานที่สอบเอนทรานซ์อยู่ดี

ดังนั้นโจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ "ระบบการศึกษาทางเลือก" ทำลายข้อจำกัดพวกนี้ และก้าวขึ้นมาท้าทาย "ระบบการศึกษาสายหลัก" ให้ได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

เบื้องต้นเราคงต้องแยกแยะรูปแบบของ "วิธีการศึกษา" เสียก่อน เท่าที่ลองนึกดู คิดว่าแยกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

  1. ความรู้พื้นฐานที่ได้จากการอ่าน-ฟังบรรยาย (เช่น เรียนในห้อง อ่านหนังสือ)
  2. ความรู้ที่ได้จากการลองทดสอบจริงๆ (เช่น ทำแล็บ ดูแผนที่)
  3. ความรู้ที่ได้จากการสนทนา ถกเถียง อภิปราย

กลุ่มที่ 1 เป็นเรื่องที่แก้ได้ง่ายมากๆ (ขอเพียงแค่มีเงินจ่าย) นั่นคือเอาหนังสือหรือการบรรยายมาขึ้นไว้บนเน็ต เปิดให้ใครก็ได้ที่ต้องการอ่าน-ฟัง สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด การอัดวิดีโอการบรรยายมาขึ้น YouTube/iTunes U หรือโครงการอย่าง OpenCourseWare/Wikipedia/Gutenberg ก็ถือเป็นความพยายามในเรื่องนี้ (ซึ่งที่ผ่านมาทำได้ดี แต่ยังไม่พอ)

ในฝั่งผู้เรียนเอง ก็ควรจะหาวิธีเข้าถึงความรู้ข้างต้นให้ง่ายที่สุดที่เป็นไปได้เช่นกัน ผมคิดว่าโครงการ OLPC/OTPC เป็นความพยายามที่ดี เบื้องต้นแล้วนักเรียนควรเข้าถึงตำราทุกเล่มของกระทรวงศึกษาได้จากที่บ้าน (แต่นั่นก็ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ควรจะเป็นทั้งหมด)

กลุ่มที่ 2 อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมากทีเดียว เพราะการศึกษาแบบสื่อสารทางเดียวของกลุ่มที่ 1 นั้นสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุจริงๆ มันจะเริ่มเป็นเรื่องยากขึ้นมา

คนที่เคยตามเรื่อง OLPC มาหน่อยคงจะรู้ว่า ไอเดียเบื้องหลัง OLPC ไม่ใช่การแจกคอม ไม่ใช่การสร้างเครื่องอ่านอีบุ๊กแทนหนังสือ แต่คือทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เรียกว่า contructionism ที่สรุปแบบสั้นๆ คือให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างบทเรียนของตัวเองขึ้นมา

วิธีคิดของ contructionism จะกลับกับการศึกษาแบบเข้าชั้นเรียนอย่างสิ้นเชิง ผู้เรียนจะเป็นคนเรียนรู้ด้วยตัวเองตามเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างที่อธิบายแล้วเข้าใจได้ง่ายที่สุดคงเป็น LEGO ลองนึกภาพตามดูว่าเอา LEGO ชุดหนึ่งให้เด็กๆ โดยไม่บอกอะไร แล้วเขาจะเรียนรู้ "ด้วยตัวเอง" จากมันได้อย่างไร

แนวคิดของโครงการ OLPC จึงเดินรอยตามทฤษฎีสำนัก contructionism (คนคิดก็ทีมเดียวกัน) โดยสร้าง "คอมพิวเตอร์" ขึ้นมาเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้ให้เด็กๆ คอมพิวเตอร์ของ OLPC จึงเชื่อมต่อกันแบบไร้สาย (แบบ mesh) ได้ และพยายามสร้างระบบ UI ที่ผู้เรียนสามารถทดลองหรือสร้างบทเรียนของตัวเองได้ตามมา

ผมคิดว่า เป้าหมายของ OLPC ในเรื่องนี้ยังห่างไกลกับความสำเร็จมาก (คือชุดเครื่องมือฝั่งซอฟต์แวร์มันต้องใช้เวลาพัฒนาอีกพอสมควร เช่น เรายังไม่มีซอฟต์แวร์การทำแล็บฟิสิกส์บนโน้ตบุ๊ก) แต่ก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่โครงการ OTPC ของไทยควรพึงระลึกไว้ว่านี่คือเป้าหมายสุดท้ายของโครงการ ไม่ใช่แจกเครื่องแล้วจบๆ กันไป

กลุ่มที่ 3 เรื่องการอภิปราย คำถามคือเราจะสร้างชุมชนของผู้เรียนรู้ขึ้นมาได้อย่างไร? เวลามีคำถามหรือข้อสงสัยจะไปคุยกับใคร? (OLPC ใช้แนวคิดของ mesh จำลองสภาพห้องเรียนขึ้นมา) คิดว่าประเด็นนี้ อินเทอร์เน็ตน่าจะเข้ามาช่วยได้ไม่น้อย ตัวอย่างกระดานสนทนาแบบ Pantip, ชุมชนแบบ Gotoknow/Learners หรือเว็บเฉพาะเรื่องอย่าง StackOverflow น่าจะเป็นตัวอย่างของชุมชนการถาม-ตอบได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เราก็ต้องพัฒนาระบบการค้นหาหรือฟิลเตอร์ให้สามารถหาเรื่องที่ต้องการง่ายขึ้น

ถ้าทำได้สำเร็จทั้งหมด เราก็น่าจะสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าระบบห้องเรียนแบบปัจจุบันได้ ที่เหลือก็คงต้องเป็นการออกแบบระบบวัดค่าความสามารถ ที่เป็นกลางและสามารถ certify ความสามารถของผู้เรียนได้อย่างยุติธรรม ไม่ว่าจะมาจากระบบใดก็ตาม

Nexus Q is Google Gantz

0
0

มันคือ Gantz ชัดๆ

ผมคิดว่า Nexus Q ไม่น่าจะขายดีมากเท่าไรหรอกนะ (คือมันเฉพาะทางมาก) แต่ที่น่าสนใจคือในวิดีโอนี้ เราจะเห็นว่ากระบวนการสร้างไอ้ลูกกลมๆ ขึ้นมาเนี่ย มันใช้คนของกูเกิลทั้งหมด ไม่ใช่คนนอกแบบกรณีของ Nexus 7

ดังนั้นมันน่าจะมีนัยไปถึงกิจการด้านฮาร์ดแวร์ของกูเกิลในอนาคต คือ Nexus Q อาจล้มเหลว อาจมีผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮไฟทำของแบบเดียวกันได้ดีกว่า (ซึ่ง Nexus มันก็ถูกสร้างขึ้นมาเพราะจุดประสงค์นี้?) แต่ประสบการณ์การผลิตฮาร์ดแวร์ของกูเกิลในรอบนี้ น่าจะช่วยให้ไปทำของแปลกๆ ได้อีกในอนาคต

Xbox 360 ก็เกิดจากประสบการณ์ของทีม Web TV ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงนั่นเองครับ

Edited

  • AllThingsD เขียนถึงประเด็นเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน This is Google making a clear statement: Not only can it do hardware, it can do hardware well.
  • NYT มีเบื้องหลังเรื่องนี้อย่างละเอียด หัวหน้าทีมฮาร์ดแวร์ของกูเกิลเคยทำงานที่แอปเปิลมาก่อน

John Carter

0
0

เป็นหนังที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะที่ทำให้ประธานของ Disney Studio ถึงกับต้องลาออกแสดงความรับผิดชอบที่ทำหนังเจ๊ง พอมีโอกาสได้ดูบนเครื่องบินก็เลยขอลองดูหน่อยว่าเป็นยังไง

John Carter เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายไซไฟชุด Barsoom ของ Edgar Rice Burroughs ผู้เขียน Tarzan นิยายเรื่องนี้มีด้วยกันหลายภาค แต่ส่วนที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์คราวนี้คือภาคแรกภาคเดียว ซึ่งมีชื่อว่า A Princess of Mars

เนื้อเรื่องของ John Carter/A Princess of Mars ไม่ค่อยซับซ้อนนักตามฉบับไซไฟยุคบุกเบิก (นิยายเขียนปี 1917) เรื่องแบบคร่าวๆ คือ จอห์น คาร์เตอร์ อดีตนายทหารสมัยสงครามกลางเมืองสหรัฐ ไปสำรวจถ้ำอินเดียนแดงเพื่อจะขุดทอง แต่กลับกลายเป็นว่าถูกวาร์ปไปยังดาวอังคารแทน

ดาวอังคารในเรื่องมีด้วยกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเอเลี่ยนเขียว 4 มือ (Thark) ซึ่งเป็นเผ่าอิสระที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย กับฝ่ายมนุษย์ที่มีด้วยกัน 2 อาณาจักรทำสงครามกันมายาวนาน

ดาวอังคารยังมี "เทพผู้สร้าง" หรือ Thern ที่มาช่วยป่วนสถานการณ์ของการรบ โดยล่าสุดเทพพวกนี้ไปเข้าข้างมนุษย์ดาวอังคารฝ่ายหนึ่ง และมอบศาตราวุธพิเศษให้กับผู้นำของอาณาจักรนี้ ผลคือเกมการรบเปลี่ยนไปทันที

มนุษย์ฝ่ายที่สองรู้ตัวว่าสู้ลำบาก จึงจะยอมสงบสุขโดยส่งเจ้าหญิง Dejah Thoris ไปให้แต่งงานด้วย ซึ่งตัวเจ้าหญิงเองก็ไม่ยินยอมและหลบหนีไป

แน่นอนว่าตามพล็อตมาตรฐานก็ต้องเจอกับคาร์เตอร์ที่โผล่มาอยู่บนดาวอังคารแบบงงๆ แต่เนื่องจากโลกมีแรงโน้มถ่วงเยอะกว่าดาวอังคารทำให้โครงสร้างกระดูกของมุนษย์โลกเข้มแข็งกว่า ส่งผลให้คาร์เตอร์กลายเป็นยอดฝีมือบนดาวอังคาร กระโดดได้ไกลกว่าคนปกติ มีกำลังกายแข็งแกร่งกว่ามนุษย์ดาวอังคารเผ่าอื่นๆ

ที่เหลือก็น่าจะเดากันเองได้ไม่ยากคือคาร์เตอร์กลายเป็นผู้นำของชนเผ่าต่างๆ และทำศึกเอาชนะฝ่ายผู้ร้าย สร้างสันติสุขกลับสู่ดาวอังคาร และแต่งงานกับเจ้าหญิงผู้เลอโฉม

เนื่องจากผมดูเฉพาะเวอร์ชันหนัง ไม่ได้อ่านนิยาย ก็สรุปได้ว่าเวอร์ชันหนังได้กลิ่นของหนังไซไฟหลายเรื่องประกอบกันมาก

  • ในภาพรวมมันพยายามจะเป็น space opera แบบ Star Wars
  • บรรยากาศแบบดาวทะเลทรายเหมือนกับ Dune
  • แต่ชุดนักรบในเรื่องกลับเป็นเพราะแบบเดียวกับ 300
  • มีกลิ่นแบบ Conan the Barbarian เข้ามาอยู่บ้าง

แต่ปัญหาคือมันไปไม่สุดสักทาง ทำให้หนังมันดูกลางๆ ไปหมด คือพล็อตก็ธรรมดาไปแล้วสำหรับหนังสมัยนี้ ส่วนการนำเสนอส่วนอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรเด่น (ผมว่าพระเอกหล่อใช้ได้แต่ไม่ค่อยได้โชว์ความสามารถสักเท่าไร ส่วนนางเอกแก่มาก ไม่น่าหลงใหลเลยสักนิด) ก็ไม่น่าแปลกใจว่าหนังเจ๊งในสหรัฐ แม้ว่าจะถือว่าเป็นผลงานคุณภาพระดับ Disney Studio ก็ตาม

Keyword:

A Brief History of Germany

0
0

ไปเยอรมนีมาโดยไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์เยอรมันเลย มาไล่ความเข้าใจกันสักหน่อย ทั้งหมดจาก Wikipedia เช่นเคย

  • 486 - พวกแฟรงค์ยึดครองพื้นที่ของเยอรมัน หลังจากอาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายลง ตั้งเป็นอาณาจักร Carolingian
  • 800 - กษัตริย์ของแฟรงค์คือ พระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) ถูกรับรองจากสันตะปาปาแห่งกรุงโรมให้เป็นจักรพรรดิ
  • 962 - ก่อตั้ง อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) อย่างเป็นทางการ โดยกษัตริย์ Otto I the Great
    • 1806 - อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายอย่างเป็นทางการ หลังแตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยมาตั้งแต่ช่วงปี 1500 โดยจุดสิ้นสุดคือแพ้สงครามให้กับนโปเลียน
  • 1807 - รัฐเยอรมันต่างๆ ทางตะวันตก กลายเป็นเมืองขึ้นของนโปเลียน ในชื่อ Kingdom of Westphalia
    • 1815 - นโปเลียนแพ้สงคราม เยอรมันกลับเป็นอิสระ ก่อตั้งสหพันธ์แบบหลวมๆ ในชื่อ German Confederation
  • 1871 - รัฐที่เข้มแข็งที่สุดของเยอรมันคือปรัสเซีย (เยอรมันตะวันออก+โปแลนด์ในปัจจุบัน) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Otto von Bismarck สถาปนา จักรวรรดิเยอรมนี (German Empire) ได้สำเร็จ โดยกษัตริย์ Wilhelm I ของปรัสเซีย ขึ้นเป็นจักรพรรดิเยอรมันองค์แรก
    • จักรวรรดิเยอรมันยิ่งใหญ่มากจนร่วมก่อสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่แพ้ ประชาชนประท้วง กระแสประชาธิปไตย-สังคมนิยมมาแรง จักรพรรดิต้องสละบัลลังก์ จักรวรรดิล่มสลาย
  • 1919 - ประเทศเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ "Deutsches Reich" แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังเรียก "สาธารณรัฐไวมาร์" (Weimar Republic) ตามที่ตั้งของรัฐสภา มี Friedrich Ebert เป็นประธานาธิบดีคนแรก
  • 1933 - ฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อตั้งนาซีเยอรมัน เรียกตัวเองเป็น อาณาจักรไรช์ที่สาม (Third Reich) นับต่อจากอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจักรวรรดิเยอรมัน
    • 1945 - นาซีเยอรมันแพ้สงครามโลก ประเทศโดนแบ่งออกเป็น 4 ส่วน (พันธมิตร 3, รัสเซีย 1)
  • 1949 - แบ่งประเทศเป็นเยอรมันตะวันออก-ตะวันตก (ฝั่งตะวันตกมี Konrad Adenauer เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก)
  • 1990 - กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย รวมประเทศกลับเป็นเยอรมนีในปัจจุบัน

An ASEAN Film

0
0

เวลาอยู่เมืองนอกและแนะนำตัวเองว่าเป็นคนไทย มาจากประเทศไทย ปฏิกริยาที่พบเจออยู่บ่อยๆ มีอยู่ 2 อย่าง

  • ถ้าเป็นคนเอเชียโดยเฉพาะคนจีน จะบอกว่ามาดู lady boys ที่พัทยาแล้วชอบมาก o_O
  • ถ้าเป็นฝรั่งผู้ชาย มักจะบอกว่า ไอดูหนังของยูแล้วชอบนะ โทนี่จา แล้วก็พยายามออกเสียง "ong bak" แบบฝรั่งอ่าน (ซึ่งก็ไม่มีทางออกเสียงถูก)

ปรากฏการณ์ "โทนี่จา" ในหมู่ฝรั่ง เป็นเครื่องสะท้อนที่ดีมากว่า "อารยธรรมไทย" บางอย่างก็ขายออกในตลาดโลก ในยุคสมัยที่บรู๊ซลี ตายไปนานแล้ว เฉินหลงกับเจ็ตลีเริ่มซ้ำซาก ก็มี "ไทยมาเชียลอาร์ท" ผุดขึ้นมาแทรกตัวได้อย่างงดงาม แอคชั่นที่งดงาม มวยไทย ช้าง เศียรพระพุทธรูป กลายเป็นทูตอารยธรรมที่บุกทะลวงไปยังโลกตะวันตกได้ถึงขนาดที่เสี่ยเจียงหรือตัวจา พนมเอง ก็ไม่มีวันนึกถึง

แต่ว่าอนิจจา เราไม่สามารถต่อยอดความสำเร็จนี้ได้อย่างน่าเสียดาย ส่วนเพราะเหตุปัจจัยอันใดนั้น คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญในบล็อกอันนี้ และก็มีคนเขียนถึงไปเยอะแล้ว

คำถามต่อมาคือ ในยุคที่ ASEAN Community กำลังถาโถมเข้ามา เราสามารถสร้าง "ทูตวัฒนธรรม" ลักษณะคล้ายๆ กันที่เชื่อมโยงอาเซียนเข้าด้วยกันได้ไหม?

ผมกำลังคิดถึงหนังข้ามประเทศแบบ "สะบายดีหลวงพระบาง" นั่นแหละ แต่ป๊อปกว่า แมสกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่าหลายเท่า

ถ้าทำออกมาได้ประสบความสำเร็จแบบเดียวกับ "องค์บาก" ภาคแรก มันน่าจะเป็นสะพานวัฒนธรรมที่ดีสำหรับการเชื่อมอาเซียนเข้าด้วยกัน (คนที่ติดตามเรื่องอาเซียนมาก คงทราบดีว่า ASSC หรือ ASEAN Socio-Cultural Community นั้นเป็นเสาที่อ่อนแอมากเมื่อเทียบกับ AEC)

ลองคิดถึงหนังที่ "โทนี่ จา" เป็นพระเอก มี "มิเชล โหย่ว" เป็นอาจารย์สอนการต่อสู้ และบุกไปช่วย "คำลี่" โดยมีคิวบู๊สำคัญเป็น "ออชาร์ดโร้ด" มันก็น่าจะสนุกดีเหมือนกัน

Civilization V: Gods & Kings

0
0

เล่นมาได้เกือบจบเกมแรก พอสรุปได้ดังนี้

  • มันเป็น "ภาคเสริมที่ยิ่งกว่าภาคเสริม" ดังที่รีวิวฝรั่งว่าเอาไว้จริงๆ คือเหมือนเป็นอีกเกมเลย
  • สิ่งสำคัญที่เพิ่มเข้ามาคือ "ศาสนา" (Gods) ซึ่งต่างไปจากระบบของภาค IV มาก อันนี้ใช้วิธีสร้างทรัพยากรอันใหม่ที่เรียกว่า Faith ขึ้นมา (แยกจาก Culture) และอนุญาตให้เราสร้างศาสนาเองได้ (คล้ายๆ กับ Social Policy อีกอันหนึ่ง) ซึ่งพอมี Faith และ Religious เพิ่มเข้ามาแล้ว วิธีการเล่นเกมของภาค V ปกติต้องเปลี่ยนไปเยอะเลย ต้องคิดเรื่องประชากรในเมืองนับถือศาสนา และการสะสม Faith เพื่อใช้ซื้อยูนิตบางอย่างมากขึ้น
  • ผมพบว่าพอภาค V มีระบบ Culture ที่สะสมไปแลก Social Policy ได้, มีระบบ Heroes/Great Person และพอในภาคนี้มีระบบศาสนาเข้ามา ผลคือ Wonder ที่กลายเป็น "อาวุธ" สำคัญในการพลิกเกม ด้อยลงไปมากๆ (เทียบความยิ่งใหญ่ของ Wonder ใน Civ II ไม่ได้เลย)
  • อีกระบบที่เพิ่มเข้ามาคือ สปาย ซึ่งต่างไปจากภาคก่อนๆ เพราะภาคนี้ไม่มีเป็นยูนิตแล้ว มีหน้าจอ Espionage ที่ใช้ควบคุมสปายของเราได้จากระยะไกล จุดหลักของสปายในภาคนี้คือการขโมยเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งพอมาเจอวิธีการเล่นแบบผมที่จะเป็น science leader กลับไม่มีประโยชน์มากนัก แถมต้องมาพะวงว่าจะโดนคู่แข่งขโมยเทคโนโลยีอีกด้วย (แต่มันก็ทำให้เกมบาลานซ์ขึ้น คือจะไม่มีใครที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากนัก) นอกจากนี้ยังมีผลต่อพวกนครรัฐหรือ City-State อีกนิดหน่อย รวมๆ แล้วเพิ่มเข้ามาก็ให้แปลกใหม่ แต่ก็ไม่เยอะเท่าศาสนา (ซื้อสปายเพิ่มไม่ได้ ต้องรอมันแถมให้ตอนเปลี่ยนยุคเท่านั้น)
  • ประเด็นที่เปลี่ยนจนรู้สึกได้คือการขยายยุค Modern Era ให้มีช่วง Atomic Age (ประมาณสงครามโลก) นานขึ้น ยูนิตต่างๆ จะปรับให้เหมาะกับช่วงเวลานั้นๆ เช่น เครื่องบินแบบใบพัด หรือ รถถังสมัยเก่า เป็นต้น ส่วนระบบต่อสู้ก็ปรับ HP จากเต็ม 10 มาเป็นเต็ม 100 แทน
  • อย่างอื่นคือเพิ่ม Civ และ Leader ตามปกติ และเพิ่ม Scenario เข้ามา ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้ลองเล่นครับ
  • เท่าที่เล่นมาพบบั๊กพอสมควรในการสั่งงานยูนิตหรือเปลี่ยนสิ่งปลูกสร้างในเมือง จะดีเลย์บ้างเป็นบางระยะ โดยเฉพาะช่วงที่ยูนิตเยอะๆ อันนี้ทำให้หงุดหงิดพอสมควร คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรอแพตช์

แฟนๆ Civ คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก "ซื้อ"

The Nation Way ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา

0
0

ช่วงนี้มีโอกาสได้ไปงานสัมมนาด้านวิชาชีพสื่อมวลชนค่อนข้างบ่อย ก็เลยได้อยู่ในวงสนทนาเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสื่อในประเทศไทยหลายเรื่อง

ผมเองไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับ "วิชาชีพสื่อ" อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เรียนด้านนี้ก็ไม่เคยสักนิด (แต่คนที่เคยเรียนก็มักบอกว่า "ไม่เรียนน่ะดีแล้ว" เป็นงั้นไป) คงมีมุมมองที่ต่างออกไปจากพวกที่จบสายสื่อสารมวลชนไม่น้อย (และจากการไปฟังงานพวกนี้พบว่า ต่างกันมากๆ)

ประเด็นที่สื่อเมืองไทยให้ความสำคัญเยอะคือ "จริยธรรมสื่อ" ซึ่งผมยังไม่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้นัก คงวิจารณ์ลำบาก แต่วันนี้ไปงานสัมมนาของเว็บไซต์ข่าวเจาะ TCIJ มีการยกกรณี "คู่มือจริยธรรม" ของเครือเนชั่น เลยตามไปค้นดูพบว่าน่าสนใจ

เนชั่นเรียกคู่มือฉบับนี้ว่า The Nation Way พร้อมสโลแกน "ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา" (ซึ่งผมก็แอบก็อปไปใช้ในบทความนิดหน่อย ^_^)

อย่างที่บอกว่ายังไม่ค่อยเข้าใจมันถ่องแท้ เลยยังวิจารณ์ไม่ถูก เอามาแปะไว้เป็นหลักเป็นฐานไว้ในบล็อกก่อนละกัน (ต้นฉบับโหลดได้จากเว็บเนชั่น แต่ข้อมูลบนเว็บไทยไม่จีรัง เก็บไว้บน Scribd อีกชุดดีกว่า)

The Nation Way

ว่าแต่ข้อ 2.13 นี่ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับหนังสือสตีฟ จ็อบส์ ใช่ไหม (ฮา)

ความสำเร็จของกองกำลังขุนพลน้อย

0
0

เผลอไปหยิบ "มังกรคู่สู้สิบทิศ" มาอ่านอีกรอบ (รอบที่เท่าไรไม่รู้) แล้วยาวเลย

อ่านรอบนี้ก็ลองนึกว่าอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้ "กองกำลังขุนพลน้อย" ของโค่วจงประสบความสำเร็จ ทั้งที่เป็นกองกำลังเล็กๆ เพิ่งก่อตั้งแต่ก็สามารถเข้ามาช่วงชิงแผ่นดินกับหลี่ซื่อหมินได้ ลองเขียนถึงในมุมด้านกลยุทธ์และ MBA น่าจะได้ประมาณๆ นี้

  1. ความสามารถของผู้นำ - ตัวโค่วจงเองมีความสามารถในการนำทัพจับศึก ส่วนในแง่พลังฝีมือ โค่วจงกับฉีจื่อหลิงก็โดดเด่น ทะยานขึ้นเป็นยอดฝีมือรุ่นใหม่
  2. ความประพฤติของผู้นำ - สองมังกรคู่มีความประพฤติดีงาม มีความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่โหดร้ายทารุณกับประชาชน ทำให้ซื้อใจคนได้เยอะ ในอีกทางก็มีชาติกำเนิดเป็นคนชั้นต่ำ ไม่ใช่ขุนนางชั้นสูง ทำให้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน low class มากกว่า
  3. ทีมงานเกรด B ทีมงานสนับสนุนของโค่วจง ไม่ว่าจะเป็นกุนซือ ขุนพลหรือเสนาธิการ ล้วนเป็นทีมงานเกรด B/B+ ที่ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปยังราชสำนักตระกูลหลี่ (ที่อุดมไปด้วยทีมงานเกรด A ระดับซูเปอร์สตาร์อยู่แล้ว) ทำให้มีความ "กระหาย" ที่จะประสบความสำเร็จมากกว่ากันมาก ในขณะที่แง่ของฝีมือก็ไม่ได้ถูกทิ้งจากทีมงานเกรด A ของหลี่ซื่อหมินมากนัก
  4. มีพันธมิตรเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ความเคลื่อนไหวของโค่วจงกับฉีจื่อหลิงไม่ได้ทำกันแค่สองคน แต่ยังมี "พันธมิตร" เป็นยอดฝีมือ ขุนศึก หรือผู้นำทัพรุ่นใหม่ที่กำลังจะขึ้นมาโดดเด่นในอนาคต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปาฟงหัน คุณชายมากรัก ข่านถูลี่ ราชบุตรฝูเซียน เป็นต้น พวกนี้มาจับมือกับกองกำลังขุนพลน้อยแล้วส่งเสริมพลังกันได้เป็นอย่างดี (ประเด็นเรื่องเกรด B ยังนำมาใช้กับข้อนี้ได้ เช่น ปาฟงหันถือเป็นเกรด B เมื่อเทียบกับราชันย์บู๊ หรือ ถูลี่กับแสลี่ ก็คล้ายๆ กัน)
  5. ที่ตั้งและภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกชัยภูมิเมืองหลวงของกองกำลังขุนพลน้อยก็มีส่วน คือ อยู่ในจุดที่ห่างออกไปจากพื้นที่ขัดแย้งหลัก (ภาคกลางของประเทศ ระหว่างฉางอานกับลั่วหยาง) ช่วยให้เมืองพ้นการศึกเฉพาะหน้าไปได้ ส่วนการที่เมืองอยู่ติดทะเลก็ช่วยเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจได้
  6. ขุมทรัพย์ท่านหยาง พูดเป็นภาษา startup มันก็คือ seed fund ก้อนใหญ่ ช่วยให้กองกำลังขุนพลน้อยไม่มีปัญหาเรื่องการคลังในระยะตั้งตัว
  7. ดาบสวรรค์ซ่งเซวีย พูดเป็นภาษา startup อีกก็คือ VC ชั้นเลิศที่ช่วยสนับสนุนความเคลื่อนไหวของกองกำลังขุนพลน้อยอยู่ด้านหลัง ถ้าไม่มีดาบสวรรค์หนุนหลัง กองกำลังขุนพลน้อยคงสั่งสมอิทธิพลในสนามต่อสู้ได้น้อยกว่านี้มาก อำนาจต่อรองน้อยลงไปสิบเท่า

บทความอ่านประกอบ: “โคว่จง” แผ่นดินในวันนี้เป็นของผู้มีจิตปณิธาน ไม่ใช่สมบัติผูกขาดของตระกูลสูงศักดิ์อีกต่อไป

เมืองหลวงในอดีตของประเทศจีน

0
0

เจอมาจาก Wikipedia น่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์จีน เวลาอ่านชื่อเมืองพวกนี้จะได้นึกออกว่าอยู่ตรงไหน และมีนัยยะในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างไรบ้าง

ชุดแรกนี้เป็นเมืองหลวงโบราณของจีน คือนับทั้งหมดก่อนถึงปี 1900

เมืองหลวงสำคัญมี 4 เมือง (Four Great Ancient Capitals of China)

  • ปักกิ่ง (Beijing) เมืองหลวงตอนเหนือ เข้าใจว่าเริ่มเป็นเมืองหลวงจริงจังในสมัยราชวงศ์หยวนตอนกลาง (นคร "ต้าตู" ในดาบมังกรหยก พวกพระเอกโดนจับไปขังไว้ที่นี่) จากนั้นก็ใช้ต่อในสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิองค์ที่สองเป็นต้นมา (รายละเอียดอยู่ในเรื่อง เทพมารสะท้านภพ เล่มหลังๆ) จากนั้นก็ยาวมาถึงแมนจูเลย
  • นานกิง (Nanjing) เมืองหลวงด้านตะวันออก ปากแม่น้ำแยงซีเกียง เดิมทีชื่อนคร "เจี้ยนเย่" (Jianye) เมืองหลวงของแคว้นง่อในสมัยสามก๊ก ตอนหลังใช้ชื่อนคร "เจี้ยนคัง" (Jiankang) ในราชวงศ์จิ้น (เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ใต้ด้วย รายละเอียดอยู่ในเรื่อง จอมคนแผ่นดินเดือด) สุดท้ายมาเป็นเมืองหลวงทางภาคใต้ของพรรคก๊กมินตั๋งที่นำโดยเจียงไคเช็คอยู่อีกช่วงหนึ่ง
  • ฉางอาน (Chang'an) ปัจจุบันคือซีอาน (Xi'an) เป็นฐานที่มั่นของจิ๋นซีฮ่องเต้ในสมัยโบราณ เมืองหลวงทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ต่อด้วยราชวงศ์ฮั่น และตามด้วยราชวงศ์ถัง (ฐานที่มั่นของตระกูลหลี่ในมังกรคู่สู้สิบทิศ)
  • ลั่วหยาง (Luoyang) เมืองหลวงตอนกลางของประเทศ ชัยภูมิดีเกาะตามแนวแม่น้ำฮวงโห เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ฮั่น และเคยใช้เป็นเมืองหลวงของแคว้นเว่ยของตระกูลโจ (ยุคหลังโจโฉ) ในเรื่องมังกรคู่เป็นเมืองหลวงของหวังซื่อชง ที่โค่วจงมาช่วยป้องกันรักษาอยู่พักหนึ่ง

นอกจากนี้ก็มีเมืองสำคัญคือ ไคฟง (Kaifeng) ที่เรารู้จักกันจากเรื่องเปาบุ้นจิ้น ไคฟงเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ้องช่วงต้น ซึ่งถือเป็นยุคทองของจีนอีกราชวงศ์หนึ่ง (ส่วนราชวงศ์ซ้องใต้หนีลงไปด้านล่างๆ สุดท้ายไปอยู่ที่เมืองหลินอาน Lin'an หรือหางโจวในปัจจุบัน อันนี้อยู่ในเรื่อง ภูผามหานที ภาคสอง)

จะเห็นว่าถ้าตัดปักกิ่งที่เป็นนครหลวงภาคเหนือ และนานกิงที่เป็นนครหลวงตอนใต้ออกไปแล้ว เมืองหลวงของจีนในอดีต (ในยุคที่เป็นปึกแผ่น) จะเกาะแนวแม่น้ำฮวงโหเป็นหลัก แสดงให้เห็นถึงศูนย์กลาง (heartland) ของประเทศที่อยู่แถวๆ นี้นั่นเอง

ภาพชุดที่สองเป็นเมืองหลวงของรัฐจีนสมัยใหม่ นับตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นยุคที่จีนวุ่นวายแตกเป็นก๊กเป็นเหล่ามาโดยตลอด (อ่านบล็อก History of China: Late Qing to People's Republic ประกอบ)

เรื่องจะเริ่มจากศูนย์กลางของราชวงศ์ชิงที่ปักกิ่งเริ่มมีปัญหาคุมอำนาจไม่อยู่ ทำให้ด้านใต้เกิดแตกเป็นก๊กย่อยๆ ฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งจึงตั้งตัวที่นานกิง แล้วก็ค่อยๆ ย้ายลึกเข้ามาในประเทศเรื่อยๆ ตอนที่โดนญี่ปุ่นรุกราน สุดท้ายเมื่อสงครามกลางเมืองจบลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่ปักกิ่งดังเดิม

Keyword:


What Google Really Wants

Olympic Time Table

0
0

ตอนเย็นนั่งดูโอลิมปิก วิ่ง 100m ชาย รอบคัดเลือก มันส์มากจนอยากดูรอบถัดไป ทีนี้ไม่ชัวร์ว่าแข่งวันไหนเลยเข้าเว็บ london2012.com ไปเช็คข้อมูลดูหน่อย

ก็ดันไปพบกับการออกแบบตารางเวลาการแข่งขันที่น่าสนใจมาก เป็นการใช้ 2 แกนคือ (x) วันเวลา และ (y) ชนิดกีฬา เพียงแต่ตารางมันซับซ้อนมาก เค้าเลยมีวิธีการซ่อนรายละเอียดที่น่าสนใจ

  • สำหรับแกนเวลา ใช้ tab เข้าช่วยคือ tab แสดงวัน และแสดงเวลาเป็นแกนย่อย
  • สำหรับแกนชนิดกีฬา ใช้ group/tree เข้าช่วย แสดงชนิดกีฬาใหญ่ก่อน แล้วการแข่งขันแยกย่อยก็ค่อยอยู่ใน group อีกที

ถือว่าเป็นการออกแบบเพื่อนำเสนอ complex information ที่เจ๋งทีเดียวครับ

ใครสนใจก็เข้าไปดูกันเองที่ Schedule & Results (ไม่รู้เว็บจะถูกเก็บไว้นานแค่ไหนหลังโอลิมปิก)

Green Impact

0
0

วันนี้ SIU จัดงานระดมสมอง Agenda Bangkok เชิญผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ มาถกประเด็นปัญหาเชิงนโยบายของ กทม.

หนึ่งในประเด็นที่ถกกันคือ Green Bangkok หรือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกับกรุงเทพ เช่น การส่งเสริมการขี่จักรยาน ลดถุงพลาสติก ฯลฯ (ซึ่งก็เป็นประเด็นเก่าซ้ำซากแล้ว แต่ก็ยังต้องซ้ำซากต่อไป)

คำถามของผมคือ โอเคล่ะ เราทุกคนมีความตระหนักว่าต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องลดการใช้ถุงพลาสติก ตีความง่ายๆ คือเรารักจะทำดีต่อโลกนั่นแหละ ไม่มีใครตั้งใจคิดร้ายต่อโลกหรอก

แต่ผมเดินเข้า 7/11 ซื้อของ ได้ถุงพลาสติกมาหนึ่งใบ ผมไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างการรับถุงหรือไม่รับถุงเลย ว่ามันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างกันแค่ไหน เราไม่รู้เลยว่าคนหนึ่งคนใช้ถุงพลาสติกเพิ่มอีก 1 ใบ จะส่งผลต่อปริมาณขยะของ กทม. แค่ไหน เปลืองค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะมากน้อยเพียงใด

อันนี้แค่ตัวอย่างเดียวนะครับ คือคำถามนี้ใช้ได้กับประเด็นอื่นๆ เช่น ผมเลิกขับรถหันมาขี่จักรยานแทน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้น 1 ลิตรต่อวัน การประปาสามารถลดงบผลิตน้ำต่อปีได้เท่าไร

เมื่อเราไม่รู้ cost ตรงนี้แล้ว การใช้ถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นอีก 1 ใบ (ซึ่งมันก็อำนวยความสะดวกให้มากกว่าซื้อของแล้วเดินถือไปแบบไม่ใช้ถุง) ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลน่ะสิ (benefit ดีกว่ากันเห็นๆ แต่ cost แย่กว่าไหม ไม่รู้)

ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึง information พวกนี้ได้ มันก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะทีเดียว (ในระดับของปัจเจกบุคคลที่ช่วยๆ กันคนละไม้คนละมือ เหมือนอย่างที่ในโฆษณาโลกสวยต่างๆ ชอบนำเสนอเอาไว้)

ป.ล.1 แน่นอนว่ามันยังต้องใช้กระบวนการแก้ปัญหาอื่นๆ อย่างนโยบายรัฐเข้าช่วยด้วย เช่น ออกกฎคิดเงินค่าถุงพลาสติก ฯลฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือประเด็นของบล็อกนี้

ป.ล.2 มีอาจารย์สถาปัตย์ท่านหนึ่งฟังประเด็นเรื่องแจกถุงผ้าแล้วบอกว่า "ของขึ้น" ผมเลยนึกถึง @lewcpe ขึ้นมาทันทีทันใด

Android SDK on Linux x64

0
0

It's my first time for running Android SDK on 64-bit Linux (Ubuntu Precise). The Android SDK does not work out of the box for x64 environment. ADB fails to run due to the missing libraries. Emulator also fails and so on.

Here is my note on fixing issues. Hope it might help someone who come after this.

  1. Follow Ubuntu Document on AndroidSDK. It should cover most of normal stuffs.
  2. Install 32-bit libraries on 64-bit environment using apt-get install ia32-libs
  3. Install NDK, Eclipse and Eclipse ADT if you need them.

Official Android manual recommends installing sun-java6-jdk but sun-java is not included in recent Ubuntu releases anymore. I have no problem running Android SDK with openjdk-6-jdk though.

From my knowledge, Android does not work properly with Java 7. Sticking with Java 6 is the safe choice. You might follow this StackOverflow thread.

Google Everywhere

0
0

ว่าจะเขียนถึงมานานแล้วแต่ก็ยังไม่ได้เขียนสักที วันนี้ว่างก็เอาซะหน่อย

ผมไม่ค่อยซีเรียสนักกับประเด็นเรื่อง แอปเปิลจะทำแอพแผนที่เองใน iOS 6 รวมไปถึงการถอดแอพ YouTube ออกจาก iOS ด้วย คือในแง่ของการแข่งขันมันก็มีประเด็นเรื่องแอปเปิล vs กูเกิลอยู่แหละ แต่มันไม่ได้เป็นปัญหายิ่งใหญ่อะไรนัก

การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของกูเกิลนั้นต้องเปลี่ยน paradigm จากวิธีคิดแบบ retail (ทำสินค้ามาขายให้กับลูกค้าโดยตรง) ไปเป็นวิธีคิดแบบ service เสียก่อน ซึ่งมันไม่ได้ตรงไปตรงมาเท่ากับวิธีคิดแบบ retail ทำให้เข้าใจยากพอสมควร (กว่าผมจะเข้าใจเรื่องนี้ก็นานเหมือนกัน)

กูเกิลเป็นบริษัทที่โตขึ้นมาจากโมเดลธุรกิจแบบ service + ad ดังนั้นวิถีของบริษัทมันจึงเป็นแบบนี้มาโดยตลอด และมันสามารถอธิบาย movement ของกูเกิลในอดีตได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Chrome หรือ Android (รวมถึง Google+) แรงจูงใจข้างหลังไม่ใช่การขายสินค้าโดยตรง แต่เป็นการเสริมพลังให้กับ core product ของบริษัทนั่นก็คือ Search (+online services อื่นๆ ที่ทำรายได้จากโฆษณา เช่น Gmail, Maps หรือ YouTube)

ดังนั้นต่อให้ Safari เป็นเบราว์เซอร์ยอดนิยมบนมือถือ ถ้าผู้ใช้ Safari ยังเข้า Google Search เป็นหลัก กูเกิลก็ไม่มีปัญหาอะไร

(หมายเหตุ: ในแง่ประสิทธิภาพของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ mobile ผมคิดว่าแอปเปิลทำได้ดีกว่ามาก คือได้ทั้งเงินจาก direct retail product และ supported services อย่าง iTunes ในขณะที่กูเกิลได้เงินแต่เฉพาะ services)

สิ่งที่จะตามมาแน่ๆ คือกูเกิลออกแอพ Google Maps และ YouTube บน iOS ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือต่อให้แอปเปิลไม่ทำ กูเกิลก็จะทำ เพราะยังไงเสีย ultimate goal ของกูเกิลคือต้องการคนมาใช้ Maps/YouTube ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

สมมติฐานนี้อยู่บนฐานคิดที่ว่า คนของกูเกิลเองไม่ได้มองว่าแอปเปิลเป็นศัตรู (ถึงแม้คนของแอปเปิลจะมองแบบนั้น) เราจะเห็นการแสดงความชื่นชม "ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล" ในหมู่พนักงานกูเกิลอยู่มาก

คำถามคือ แล้วแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ล่ะ จะเป็นอย่างไร? เพราะที่ผ่านมากูเกิลมองว่าไมโครซอฟท์คือศัตรูหมายเลขหนึ่งที่จะต้องโค่นลงไป

ผลก็คือเรายังไม่เห็นผลิตภัณฑ์ของกูเกิลบน Windows Phone มากนัก (Google Search เป็น strategic product ที่ต้องมี มันเลยมีก่อน) คำถามคือพอเป็น Windows 8 ที่ฐานผู้ใช้เยอะกว่ากันมาก กูเกิลจะออกแอพบน Windows 8 มาเยอะเท่าๆ กับบน iOS หรือไม่

logically คำตอบควรจะเป็น yes แต่หลายครั้งโลกเราก็ไม่ได้หมุนด้วย logic

Viewing all 557 articles
Browse latest View live




Latest Images