Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Inside Out

$
0
0

Inside Out หนังเรื่องล่าสุดของ Pixar กำกับและเขียนบทโดย Pete Docter เจ้าของผลงานยอดฮิตทั้ง Monsters, Inc. และ Up

  • Pixar กล้าหาญมากที่ทำหนังแบบนี้ออกมา เพราะคอนเซปต์มัน abstract มาก การเปลี่ยนเรื่อง abstract ระดับ "จิตใจ"ให้เป็น visual ที่เล่าเรื่องได้สนุกสำหรับเด็ก ไม่ใช่งานง่ายเลย
  • ในแง่คอนเซปต์ถือว่าสร้างสรรค์มาก ช่วงแรกเนื้อเรื่องสนุกน่าติดตาม ข้อเสียคือช่วงกลางๆ เรื่องมันดูหนืดๆ ไปหน่อย การเดินทางของ joy/sadness มันดูไม่มีเป้าหมาย คือรู้ว่าต้องกลับไป HQ แต่จะกลับไปอย่างไร คนดูไม่รู้สภาพในโลกแห่งจิตใจเลย จึงได้แต่ดูทั้งสองมั่วๆ ดั้นด้นไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
  • ปมไคลแม็กซ์เรื่อง joy/sadness ทำได้น่าประทับใจ เสียดายว่าตัวละครอีก 3 ตัวน่าจะมีบทบาทมากกว่านี้สักหน่อย
  • สรุปถือเป็นหนังของ Pixar ที่ทำได้ดี แม้จะไม่ใช่ระดับท็อปสุดอย่าง The Incredibles, Up, Wall-E แต่ก็ถือว่าดีมาก

ประเด็นที่น่าสนใจคือพัฒนาการของ Inside Out เองกว่าจะออกมาเป็นหนังได้แบบที่เห็น ใน Wikipediaบอกว่าไอเดียมาจากประสบการณ์ของตัวผู้กำกับ Docter เองทั้งในสมัยเด็ก และลูกสาวที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น อารมณ์แปรปรวน ทำให้เขาได้ไอเดียว่าน่าจะทำแอนิเมชันเกี่ยวกับอารมณ์

แต่การทำหนังแบบนี้ไม่ใช่ง่าย การพัฒนาบทใช้เวลาถึง 4 ปี มีบทหนัง 7 เวอร์ชัน ตอนแรกตัวละครหลักคือ joy/fear เพราะน่าจะเป็นคู่ที่ตลก แต่สุดท้าย Docter รู้สึกลึกๆ ว่ามันไม่น่าจะเวิร์ค และหวั่นใจว่าเขาอาจถูกไล่ออกจากบริษัทได้ เขารู้สึกแย่ที่ตีบตันกับ Inside Out และรู้สึกว่าความสำเร็จของตัวเองที่ผ่านมาเป็นเรื่องฟลุค ความเศร้านี้ทำให้เขาได้ไอเดีย เปลี่ยน fear เป็น sadness และหนังออกมาดีมากในที่สุด


Ever Since We Love

$
0
0

นักแสดงหญิงของจีนที่โด่งดังที่สุดแห่งยุคสมัย ไม่มีใครเกินเธอคนนี้ ฟ่านปิงปิง (Fan Bingbing) อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่นับ Lost in Thailand ที่เธอโผล่มาเป็นตัวแถมนิดเดียว (แถมแสดงเป็นตัวเอง) ผมก็ไม่เคยดูหนังของเธอสักเรื่องเลย

พอมีโอกาส เจอหนังของฟ่านปิงปิงบนเครื่องบิน (ช่วงที่ไม่รู้จะดูหนังอะไรอีกแล้ว) เลยลองเปิดดูสักหน่อยว่าเป็นอย่างไร เรื่องนี้คือ Ever Since We Loveหนังเพิ่งออกช่วงต้นปี 2015 นี้เอง

Ever Since We Love ดัดแปลงมาจากนิยายของจีนชื่อ Everything Grows ตัวเอกเป็นนักศึกษาแพทย์ (แสดงโดยนักร้องชื่อดัง หานเกิง Han Geng อดีตสมาชิก Super Junior) ที่มีความรักกับผู้หญิง 3 คน คนแรกเป็นรักแรกของเขาที่ทิ้งเขาไป คนที่สองเป็นแฟนคนปัจจุบัน นักศึกษาร่วมคณะ และคนสุดท้ายคือหญิงสาวทรงสเน่ห์สุดลึกลับ ที่แสดงโดยฟ่านปิงปิงนั่นเอง

เนื้อเรื่องไม่ค่อยมีอะไรน่าจดจำนัก หนังมีทั้งบทตลกของบรรดา นศ.แพทย์ขี้เมา (กินเหล้ากันทั้งเรื่อง) กับบทโรแมนซ์แบบงงๆ ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะดัดแปลงนิยายมาเป็นหนัง ทำให้อรรถรสบางอย่างเสียไป (เดาเอาเองว่าตัวนิยาย มันน่าจะเป็นเรื่องการค้นหาตัวเองของพระเอกซะเยอะ ซึ่งในหนังแทบไม่รู้สึกถึงเรื่องนี้เลย แถมตัวละครที่ไม่น่าจดจำมากที่สุดในเรื่องก็คือหานเกิงเนี่ยแหละ)

ข้อสรุปเดียวที่ได้คือ ฟ่านปิงปิงสวยจริง สวยแบบคลาสสิค (แม้จะเริ่มแก่บ้างแล้ว) เดี๋ยวคงต้องหาหนังเรื่องอื่นของเธอมาดูต่อ

Gundam: Iron-Blooded Orphans

$
0
0

กันดั้มภาคใหม่ล่าสุด (เดี๋ยวนี้ดูได้บน YouTube แบบถูกลิขสิทธิ์) ดูมาได้ 5 ตอนแล้ว วิจารณ์เท่าที่เห็น

  • ตอนโปรโมทเน้นเป็นกันดั้มภาคบอยแบนด์ เน้นความเป็นมิลิทารี่แข็งแกร่ง พอฉายจริงๆ แล้วรู้สึกว่าแกร่งน้อยกว่าที่คิดไว้ อาจเป็นเพราะลายเส้นด้วยส่วนหนึ่ง
  • 5 ตอนแรกถือว่าน่าติดตามในระดับหนึ่ง (ดีกว่า Gundam Reconguista in G ที่ผมดูไป 3 ตอนแล้วเลิก) แต่ยังไม่ถึงขนาดอดใจไม่ไหวไม่ดูไม่ได้ แบบที่เคยเป็นกับ Gundam Seed หรือ Build Fighter
  • แนวทางของภาคนี้ดูแปลกใหม่ดี คือเป็นกันดั้มบนดาวอังคารแทนบนโคโลนี (เท่าที่นึกออก มีภาคเดียวที่เคยอยู่บนดาวอังคารคือ F90) อย่างไรก็ตาม ไอเดียหลายอย่างก็เอามาจากภาคก่อนๆ เช่น กองร้อยทหาร (08th), การปลดปล่อยอาณานิคม (W), เตาปฏิกรณ์ในตัวหุ่น (00), โลกหายนะหลังสงครามใหญ่ (X และ Turn A)
  • หุ่น Gundam Barbatos ดูแปลกใหม่ บ้าพลังดี เหมือนนักรบกลาดิเอเตอร์โรมัน คือหลังๆ เบื่อหุ่นแนวปีกสยายแล้ว มาเจอแบบนี้ดู refresh
  • จุดที่แย่ในภาคนี้คืองานด้านภาพที่ดูวาดหน้าเบี้ยวๆ เกือบตลอด (งานเผาขั้นเทพ) อีกอันที่คิดว่ายังทำได้ไม่ดีเท่าไรคือ character design ที่มันดูกระจอกๆ ยังไงก็ไม่รู้ โดยเฉพาะพวกตัวละครรองๆ ทั้งหลาย ราวกับดูอนิเมะยุค 80s รวมถึงอุปนิสัยของตัวละครหลักหลายตัวที่ยังดูแปลกๆ
  • เห็นเขาแซวกันว่า คู่ตัวละครเอกคล้ายกับ Gurren Lagann อันนี้ก็ค่อนข้างเห็นด้วย
Keyword: 

วิจารณ์: ปัจจัยที่ทำให้ The Hunger Games โด่งดังทะลุฟ้า

$
0
0

The Hunger Games เป็นซีรีส์หนังสือ-หนังดังในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่ผมไม่ได้ติดตามเลย (คือเลิกเข้าโรงหนังไปนานแล้ว ส่วนหนังสือก็ดันไม่ได้อ่าน)

ปัญหาคือความดังของมันอยู่ในระดับที่ "ไม่สนใจแล้วคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง"ตัวอย่างเช่น ตอนที่ในไทยประท้วงรัฐประหารด้วยสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว เราก็ไม่ค่อยเก็ตเพราะไม่เคยอ่าน-ไม่เคยดู หรือ ตอนมีภาพหลุด Jennifer Lawrence ก็ไม่ค่อยรู้จักมากนักว่าเธอคือใคร

พอช่วงนี้ชีวิตเริ่มมีเวลาว่างกลับคืนมา ก็ได้ฤกษ์เข้าสู่วงการ The Hunger Games บ้าง ผมเลือกอ่านนิยายก่อนดูหนัง และพบว่าหนังสือเล่มแรกสนุกดี และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหนังสือ-หนังซีรีส์นี้ถึงโด่งดังแบบถล่มทลาย

เรื่องพล็อตเรื่องคงข้ามไป เพราะคนเขารู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว โดยสรุปคือหนังสือมี "ปัจจัยสู่ความสำเร็จ"หลายอย่างที่พอแยกแยะได้ดังนี้

  • ซีรีส์ The Hunger Games ใช้เซ็ตติ้งแนว dystopia โลกหลังหายนะสงคราม ซึ่งช่วงหลังวรรณกรรมเยาวชนรุ่นใหม่ หันไปเน้นแฟนตาซี พ่อมด จอมเวทย์ เอลฟ์ เทพเจ้ากรีก อะไรพวกนี้กันหมด ทำให้ The Hunger Games ดูแปลกใหม่พอสมควร
  • พล็อตเรื่องค่อนข้างโหดและจริงจัง คือฆ่าเป็นฆ่า ตายเป็นตาย ระดับของความโหดขยับจากวรรณกรรมเด็กที่ตัวละครหลักไม่ค่อยตาย มาเป็นความดาร์คที่มากขึ้น (Harry Potter ก็มีความดาร์คลักษณะนี้อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ The Hunger Games ไปไกลกว่านั้นอีกระดับ) ส่งผลให้วัยรุ่นที่เริ่มเติบโตและอยากเสพอะไรที่มัน "เรียล"ขึ้น ถูกใจกับ The Hunger Games ได้ไม่ยาก
  • พล็อตหลักคือการต่อสู้เอาชีวิตกันแบบ Battle Royal ถือเป็นของใหม่ในโลกตะวันตกด้วย คือฝั่งเอเชียที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่น พอคุ้นเคยกับพล็อตแบบ Battle Royal มาสักระยะแล้ว แต่โลกตะวันตกเพิ่งมีคนเอามาทำให้ popularize
    • แต่ Hunger Games เอาแนวคิดการต่อสู้แบบ Battle Royal มาผนวกกับความบันเทิงแบบ Reality Show ทำให้มันแปลกใหม่ขึ้นอีก นั่นคือการเป็นการต่อสู้เอาชีวิตกันแบบเอาใจคนดูทางบ้านด้วย แทคติกทั้งหลายจึงไม่ใช่แค่เอาตัวรอด แต่ยังมีเรื่องการเรียกความสนใจจากคนดูด้วย
  • ตัวเอกเป็นผู้หญิง อันนี้สำคัญเรื่องการสร้างฐานแฟนๆ เพศหญิง เพราะคนอ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวเอกเพศเดียวกันได้ง่ายขึ้น คาแรกเตอร์ของนางเอก "แคตนิส"ถูกสร้างขึ้นมาอย่างน่าสนใจในหลายประเด็น
    • อายุของเธอเป็นวัยรุ่นที่กำลังโต (tween/teen) และกำลังสับสนชีวิต (ซึ่งวัยรุ่นทุกคนต้องเผชิญ) มีชีวิตที่ไม่ดีนัก และเกลียดเกือบทุกสิ่งอย่างรอบตัว ผู้เขียนจับประเด็นนี้ได้ตรงจุด และนำความสับสนเหล่านี้มาใช้ในการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก เราจะเห็นแคตนิสสับสนกับทุกสิ่งอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เวิ้นเว้อไร้เหตุผล เพราะมีแบคกราวนด์อธิบายว่าเพราะเหตุใดเธอถึงคิดหรือรู้สึกแบบนี้
    • แต่ในอีกทาง แคตนิสก็มีความสามารถในระดับที่เป็นไอดอลได้ ซึ่งในที่นี้คือการยิงธนูและการเอาตัวรอดในป่า ซึ่งคนอ่านทั่วไปไม่มีทักษะแบบนี้ มันเลยเป็นแฟนตาซีแบบหนึ่งของคนอ่านในวัยที่ต้องการไอดอล (อันนี้คล้ายๆ กับ Lara Croft แห่ง Tomb Raider อยู่บ้าง)
    • รักสามเส้า อันนี้สำคัญมาก! ในระดับไม่มีไม่ได้ เมื่อกลุ่มคนอ่านหลักเป็นผู้หญิง การสับสนระหว่างชายหนุ่มสองคนที่เข้ามาในชีวิตช่วงไล่เลี่ยกัน เป็นเรื่องที่ชวนให้อินได้ง่าย (ถ้าไม่เชื่อ จงไปดูยอดขาย Twilight)
    • แฟชั่น! ปัจจัยอีกตัวที่ผมคิดว่าแปลกใหม่น่าสนใจมาก และยังไม่เคยเจอที่ไหน คือในนิยายเซอร์ไววัล เอาตัวรอดจากป่าดงดิบ กลับมีเรื่องแฟชั่นเข้ามาด้วย (แถมทำได้ดีซะอีก) ชีวิตของสาววัยรุ่นธรรมดาๆ ที่ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นสาวเก่งทั้งแง่ฝีมือและความงาม ถือเป็นพล็อตที่น่า romanticize มาก
  • แต่ถึงจะมีปัจจัยเอาใจผู้อ่านวัยรุ่นอยู่เยอะ เอาจริงแล้ว The Hunger Games ก็ยังมีพล็อตเรื่องซีเรียสแบบผู้ใหญ่ๆ มาให้ดูสมจริงและน่าตั้งคำถามอีกหลายจุด เช่น การเฟคบทบาทเพื่อเอาใจคนดู, และการเฟคของตัวแคตนิสเอง (ที่ก็คงไม่รู้ตัวว่าตกลงฉันคิดอย่างนั้นจริงๆ หรือเฟค) จนมีผลต่อความรัก, ไปจนถึงเรื่องระบอบการปกครองแบบกดขี่ ที่จะเล่าต่อในภาคต่อๆ ไป
  • นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้เรื่องน่าสนใจแล้ว การดำเนินเรื่องเองก็ทำได้ดี คือมันชวนลุ้นว่าจะรอดตายหรือไม่ (ทั้งที่รู้แน่ๆ ว่านางเอกต้องรอด แต่ก็อยากรู้ว่ารอดอย่างไร) มีการใช้สมองประลองปัญญาเยอะ และเล่าเรื่องอย่างมีจังหวะจะโคน ไม่ยืดเยื้อเวิ่นเว้อ (ช่วงเข้าป่า ผมอ่านแล้วนึกถึงเพชรพระอุมาเหมือนกันนะ)

ในภาพรวมคิดว่ามีความคล้ายกับ Ender's Gameอยู่หลายจุด คือเป็นนิยายเชิง coming of age ในโลกจินตนาการแห่งอนาคต ตัวเอกมีฝีมือแต่สับสนในตัวเอง ตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ และการต่อสู้ในนิยายเล่มแรก จะนำไปสู่ปมปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นมากในนิยายเล่มต่อๆ ไปในชุด

อ่านเล่มแรกจบแล้วก็เตรียมหาเล่มสองมาอ่านต่อไป

ป.ล. ผมสงสัยมานานมากว่า Mockingjay คืออะไร ได้คำตอบแล้วว่าเป็นนกพันธุ์ใหม่ที่มีเฉพาะในเรื่องนี้

Windows 10 First Update (1511)

$
0
0

อัพเกรดมาใช้ Windows 10 November Update (1511)พบว่าเป็นพัฒนาการต่อเนื่องของ Windows 10 ตามแนวทาง "Windows as a Service"ที่ไมโครซอฟท์สัญญาเอาไว้

ดูแล้วยังรู้สึกว่าเป็น minor upgrade อยู่พอสมควร (ซึ่งก็ไม่แปลกใจอะไร เหมือนเป็น Windows 10.1 ที่จะมีเลขรันไปเรื่อยๆ ทุก 3-6 เดือน) มาจดบันทึกการใช้งานไว้สักหน่อย

ฟีเจอร์ที่ได้ใช้และรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้

  • เปลี่ยนสี Titlebar มีแล้วก็ดีสำหรับคนไม่ชอบสีขาว มีแบบเปลี่ยนสีตาม tint ของ wallpaper ได้ด้วย (เหมือนกับ Windows 7/8) ลองใช้แล้วก็ปิดกลับคืน
  • Start Menu ใส่ tile ได้มากขึ้น (จาก 3 คอลัมน์เป็น 4 คอลัมน์ในแนวขวาง) อันนี้ก็ไม่ค่อยได้ใช้อีกเหมือนกัน
  • เมนูคลิกขวา (context menu) ถูก streamline ให้หน้าตาคล้ายๆ กันมากขึ้น อันนี้ดีและควรทำมานานแล้ว
  • ของเด็ดคือ Aero Snap บนเดสก์ท็อป สามารถเอาเมาส์ลากตรงรอยต่อระหว่าง 2 หน้าต่าง เพื่อขยับไซส์พร้อมกันแล้ว อันนึงเพิ่ม อันนึงลดขนาดได้ในการลากเมาส์ครั้งเดียว อันนี้ดีงามมาก
  • Edge เพิ่มฟีเจอร์พรีวิวแท็บ ก็ช่วยได้อีกนิดหน่อยแต่ไม่มาก, Sync Favorite/Reading List อันนี้ไม่ได้ใช้, อันที่รออยู่คือ Extension ยังไม่มา (เซฟลง Pocket ลำบากมาก) และใช้แล้วยังเจออาการแท็บค้าง ปิดไม่ลงอยู่บ้างนานๆ ที
  • แอพใหม่ในชุด Skype (Messaging, Skype Video, Phone) ห่วยมาก ใช้ Skype Desktop ดีกว่ามาก
  • ฟีเจอร์ Enterprise ไม่ได้ใช้เลย

อัพเกรดมาเป็น 1511 แล้วพบว่ามีปัญหาเรื่อง power management กับคอมบางตัวที่ใช้งาน (ThinkPad x250) ปัญหาคือบางทีเครื่องค้าง (โดยเฉพาะเวลามี Windows Update) และ sleep ไม่ลงในบางครั้ง ซึ่งไม่เจอกับ Windows 10 ตัวแรกสุด (10240)

รายการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ดูได้จาก บทความของ Ars Technica

ปีกแห่งไฟ Catching Fire

$
0
0

หลังจากอ่าน The Hunger Gamesเล่มแรก ก็ต่อด้วยเล่มสอง "ปีกแห่งไฟ" Catching Fire เลยดีกว่า

ครึ่งแรกของเล่มสามารถสรุปได้ว่า "แคตนิส ชีวิตเซเล็บที่ฉันไม่อยากเป็น"แคตนิสที่ชนะการแข่งขัน The Hunger Games #74 มีชีวิตที่ดีขึ้น สบายขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสนใจของผู้คน ต้องเฟคตลอดเวลา เพื่อเอาใจประธานาธิบดีสโนว์ ที่เห็นว่าเธอเป็นสัญลักษณ์ของ uprising ทำให้เธอต้องพยายามเฟคดูหวานแหววกับพีต้า ทั้งที่ชอบเกลมากกว่า (รักสามเส้าอันน่าเบื่อ)

จุดเปลี่ยนของเรื่องอยู่ที่แคตนิสเรียนรู้ว่า เขตต่างๆ เริ่มลุกฮือ และโลกนี้มีเขต 13 อยู่ เรื่องถัดจากนี้เราพอคาดเดาได้ว่า ฝ่ายกบฎจะต้องออกมา และแคตนิสจะต้องเข้ากับฝ่ายกบฎด้วยวิธีการสักทาง

แต่เรื่องครึ่งหลังกลับไม่เป็นตามนั้น The Hunger Games #75 เป็นงานใหญ่ทุก 25 ปี (Quarter Quell) มีกฎพิเศษ แคตนิสและพีต้าต้องกลับเข้าสมรภูมิ ไปเจอกับแชมป์ปีก่อนๆ ที่แต่ละคนมีบาดแผลทางใจแตกต่างกัน ความเห็นใจกันระหว่างอดีตแชมป์ดูเหมือนจะดีและเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่พอเข้าสนามแข่งก็ฆ่ากันเหมือนเดิมอยู่ดี (เพื่ออะไร)

การแข่งขันของภาคนี้ถือว่าน่าเบื่อเมื่อเทียบกับภาคแรก เพราะมันไม่ค่อยมีอะไรลุ้นแล้ว (และทำตัวเวิ่นเว้อพอกันทั้งแคตนิสและพีต้า) จะมีดีอย่างเดียวก็คือ plot twist ตอนท้าย (สไตล์ Asimov แต่ไม่คมเท่า ยังห่างชั้นอีกมาก) ว่าทุกอย่างเป็นแผนการของฝ่ายกบฎนั่นแหละ (ต่อเล่ม 3)

สรุปว่านิยายภาคแรกทำดีมาก ภาคสองทำตัวเหมือนเป็น bridge คอยเชื่อมระหว่างภาคแรกกับการกบฎในภาคสาม แต่ความสนุกในตัวมันเองกลับทำไม่ดีเท่า และความเวิ่นเว้อของแคตนิสเพิ่มขึ้นอีกมาก

ลองเล่น Drupal 8

$
0
0

ออกจากวงการ Drupal ไปนาน พอ Drupal 8 ออกตัวจริงเลยลองไปหามาเล่นดูหน่อย ลองเล่นสั้นๆ มีข้อสังเกตดังนี้

  • UI เปลี่ยนแปลงเยอะ จุดสำคัญคือแยก frontend กับ backend ออกจากกันแล้ว, เลิกใช้อินเทอร์เฟซแบบ overlay ที่ชวนให้สับสน (อันนี้ดีมาก)
  • การแบ่งหมวดหมู่ของ backend ยังคล้ายกับ Drupal 7 ซึ่งมันก็ค่อนข้าง logical อยู่แล้ว
  • จุดที่เปลี่ยนไปเยอะคือ editor ที่เป็น wysiwyg โดย default, รวม image module เข้ามาให้ในตัว, ย้าย settings ของโพสต์มาไว้ด้านข้าง (ของเดิมอยู่ล่าง) และเพิ่มปุ่ม save and unpublished เข้ามาเป็นอีกโหมดหนึ่ง (ถือว่าพัฒนาขึ้นเยอะ แต่ก็ยังห่างไกลจาก WordPress มาก)
  • การแก้ block ทำได้ง่ายขึ้น มีปุ่ม edit มาให้ที่หน้า frontend เลย
  • โมดูลหลายตัวถูกผนวกเข้ามาอยู่ใน Core เช่น Fields, Views, Multilingual
  • ตัว default theme (ทั้ง frontend และ backend) เป็น responsive แล้ว ถึงแม้จะไม่ค่อยสวยก็ตาม (ตามสไตล์ Drupal)

นับตั้งแต่ Drupal 8 เป็นต้นไป จะเปลี่ยนวิธีออกรุ่นเป็น point release ทุก 6 เดือนแทน (อ้างอิง) คิดว่าคงเพื่อลดปัญหาการอัพเกรดข้ามรุ่นใหญ่ เปลี่ยนมาใช้การออกรุ่นย่อยบ่อยๆ แทนตามสมัยนิยม คิดว่าเดี๋ยวรอ 8.1 หรือ 8.2 ออกแล้วจะลองอัพเกรดเว็บนี้ดู

Keyword: 

Mockingjay

$
0
0

หนังสือเล่มอวสานของตำนาน The Hunger Games สามารถสรุปได้ว่าเป็น "ความเวิ่นเว้อของแคตนิส ภาคสมบูรณ์"

ประโยคที่ define moment ของหนังสืออยู่ในหน้าแรกๆ

กระนั้น ฉันก็ยังเกลียดพวกเขา แต่ตอนนี้ฉันก็เกลียดแทบทุกคนอยู่แล้ว และเกลียดตัวเองมากกว่าใครๆ

ความเวิ่นเว้อกำลังดีของแคตนิสในเล่มแรก กลายมาเป็นความน่ารำคาญในเล่มสอง และพอมาถึงเล่มสาม เธอก็วิวัฒนาการเต็มขั้นกลายเป็นสุดยอดแห่งความน่ารำคาญ

เนื้อหาทั้งเล่มที่ควรจะเป็นเรื่องการลุกฮือขึ้นของฝ่ายกบฎต่อแคปปิตอล กลายเป็นความเอาแต่ใจของวัยฮอร์โมน ที่ไม่พอใจต่อทุกผู้ทุกคน (โลกไม่เข้าใจฉัน) เผ่ากบฎดูจะชนะใสๆ ถ้าจะแพ้ก็คงเป็นเพราะแคตนิสเนี่ยแหละ

ตัวละครในเรื่องก็ดูจะผิดฝาผิดตัวไปทั้งหมด นอกจากความเยอะของนางเอกแล้ว คนอื่นๆ ในเรื่องก็ไม่ได้เรื่องเช่นกัน

  • ที่น่าผิดหวังที่สุดคือ ประธานาธิบดีสโนว์ ที่ทำอะไรไม่ได้เลยสักนิด จากผู้นำสูงสุดที่น่าจะเก่งในเล่ม 2 กลายมาเป็นประธานาธิบดีที่จัดการอะไรไม่ได้ และนั่งเฉยๆ รอวันถูกโค่นล้ม ไม่มีแม้กระทั่งยานให้หลบหนี
  • พีต้า เป็นตัวละครที่น่ารำคาญไม่แพ้แคตนิส จากชายหนุ่มที่ดูจะมีมิติในภาคแรก กลายเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำในภาคสาม ภาคนี้เขามีบทแค่โดนจับ โดนฝังความทรงจำ โดนชิงตัว ป่วยอาละวาด และหายป่วยแล้วจิตตก แค่นี้จริงๆ ไม่ได้ทำอะไรอื่น
  • เกล น่าจะเป็นคนที่มีความคิดที่สุดแล้วในเรื่อง แต่ก็ไม่ได้โชว์ฝีมืออะไรมากนัก (จุดจบของเขาอาจดีที่สุดแล้วที่ไปให้พ้นจากชีวิตของแคตนิส)
  • เฮย์มิช ถ้าเขียนดีๆ ตัวของเฮย์มิชจะเป็นตัวพลิกเกมที่โดดเด่นมาก แต่บทของเขาดูจะหายไปเลยในภาค 3

สงครามระหว่างแคปิตอลและฝ่ายกบฎก็เป็นอะไรที่น่าผิดหวัง เพราะไม่มีความซับซ้อนอะไรมากนัก เกือบทุกเขตลุกฮือขึ้นจนแคปิตอลจนมุมไปเอง (ไม่ต้องหวังแทคติคการรบหรือการวางแผนใดๆ ในเรื่องนี้) พล็อตที่น่าสนใจคือความชั่วร้ายของฝ่ายกบฎเอง ที่ไม่ได้ดีกว่าแคปิตอลเลย ก็ไม่ถูกขยายอะไรมากนัก มีเพียงแค่บทจับยัดให้พริมโดนระเบิดตาย แล้วแคตนิสมาล้างแค้นเท่านั้น (ซึ่งการฆ่าประธานาธิบดีคอยน์คนเดียว ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนอะไรได้เลย)

สรุปว่าเล่ม 3 เข้าขั้นเสียเวลาอ่าน และความน่าผิดหวังเมื่อเทียบดีกรีจากเล่มแรก อยู่ในระดับเดียวกับ Matrix: Reloaded


ติโต มหาบุรุษผู้รวมชาติยูโกสลาเวีย

$
0
0

ติโตเป็นพระราชนิพนธ์แปลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เป็น 1 ใน 2 เล่มที่ทรงแปล อีกเล่มคือนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ) เป็นเรื่องของโจซิป โบรซ ติโต (Josip Broz Tito) ประธานาธิบดีผู้สร้างชาติยูโกสลาเวียช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

หนังสือไม่ยาวนัก มีแผนที่และภาพประกอบสวยงาม ในหลวงแปลจากหนังสือเรื่อง Tito ของ Phyllis Auty ตอนนี้ฉบับแปลยังมีขายอยู่ที่ร้านนายอินทร์ ราคา 250 บาท (ปกแข็งอย่างดี)

เราอาจคุ้นเคยชื่อ "ยูโกสลาเวีย" (Yugoslavia) จากสงครามช่วงยุค 90s กันมาบ้าง แต่ถ้าถามว่าประเทศยูโกสลาเวียเป็นอย่างไร จำนวนคนที่ตอบได้อาจไม่เยอะนัก เมื่อเทียบกับชาติยุโรปตะวันตกทั้งหลาย

ยูโกสลาเวีย ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan) ที่อยู่ทางตะวันออกของอิตาลี อยู่ด้านเหนือของกรีซ ด้านใต้ของออสเตรีย-ฮังการี

ดินแดนแถบนี้ปัจจุบันแยกเป็นหลายประเทศ ได้แก่ โครเอเชีย เซอร์เบีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ฯลฯ (ล้วนแต่เป็นประเทศเกิดใหม่หลังยุคสงครามเย็น) ประเทศทั้งหมดแตกออกมาจากยูโกสลาเวียเดิม ซึ่งรวมชาติโดยติโตในยุคหลังสงครามโลกนั่นเอง

ประเทศที่แยกออกมาจากยูโกสลาเวีย ภาพจาก Wikipedia

ประวัติของติโต ค่อนข้างคล้ายกับเหมาเจ๋อตงพอสมควร (แน่นอนว่ามีจุดที่ไม่เหมือนกันอยู่ดี) ติโตเป็นคนโครเอเชีย เกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบอาชีพเป็นช่างเครื่องยนต์ธรรมดาทั่วไป (เคยทำงานให้ Daimler ด้วยนะ) ตอนนั้นดินแดนโครเอเชียอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรียฮังการี ที่ดันไปแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 จนจักรวรรดิล่มสลายไป

ติโตเป็นทหารเกณฑ์ไปรบที่รัสเซีย พอแพ้สงครามเลยถูกจับเป็นเชลยสงคราม แต่คงเป็นฟ้าลิขิตพอดี รัสเซียตอนนั้นมีปฏิวัติบอลเชวิคพอดี (ล้มระบบกษัตริย์ สถาปนารัฐคอมมิวนิสต์โดยเลนิน) ติโตเลยจับพลัดจับผลูไปเป็น "เรดการ์ด"อยู่ช่วงหนึ่ง (แถมได้เมียเป็นรัสเซียด้วย)

หลังสงครามสิ้นสุด ติโตกลับมายังบ้านเกิดและประกอบอาชีพช่างเครื่องยนต์ดังเดิม แต่โลกยุคนั้นกระแสคอมมิวนิสต์กำลังมาแรง ทำให้ติโตที่เคยผ่านงานในรัสเซียช่วงบอลเชวิคมาก่อน ต้องกลับมารับบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียอีกครั้ง (ตอนแรกในพรรคมีแกนนำหลายคน แต่สุดท้ายติโตได้เป็นผู้นำ)

ภาพจาก Marxists Internet Archive / Wikipedia

ตอนนั้นยูโกสลาเวียเป็นราชอาณาจักร เป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภายใต้การนำของ Comintern หน่วยงานปฏิวัติสากลของโซเวียต ชื่อ "ติโต"ที่เป็นนามของสหายก็มาจากช่วงนี้ (ชื่อจริงของเขามีแค่ "โจซิป โบรซ")

อย่างไรก็ตาม ยูโกสลาเวียก็วุ่นวายอีกครั้ง เพราะนาซีเยอรมันบุกเข้ามาพอดี สถาบันกษัตริย์จึงล่มสลายไป กษัตริย์หนีออกจากราชอาณาจักร ฝ่ายต่อต้านนาซีแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พวก Chetnik ที่หวังจะฟื้นฟูระบบกษัตริย์ และพวก Partisan ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่มีติโตเป็นแกนนำ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายกลับต่อสู้กันเองมากกว่าสู้กับนาซีด้วยซ้ำ เพราะต่างก็รู้ว่าถ้าขจัดอีกฝ่ายได้สำเร็จก่อนสงครามจบ ตัวเองจะเป็นผู้ปกครองยูโกสลาเวียในอนาคตต่อไป

ฝ่าย Chetnik มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลพลัดถิ่นของยูโกสลาเวีย และได้รับกำลังเสริมจากฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก ในขณะที่ฝ่าย Partisan ที่ใกล้ชิดกับโซเวียต กลับไม่มีใครในโลกเสรีรู้จักเลย (แถมการสื่อสารในช่วงนั้นก็ยากลำบากมาก) ติโตในฐานะลูกหม้อของ Comintern ก็พยายามต่อสู้แบบกองโจรกับนาซี โดยหวังว่า Comintern จะส่งกำลังมาช่วย แต่ตอนนั้นรัสเซียก็ยังเอาตัวเองไม่ค่อยจะรอด ความผิดหวังในช่วงนั้นเป็นเหตุให้ติโตห่างเหินกับรัสเซียในช่วงหลังสงคราม และร่วมก่อตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในช่วงสงครามเย็น

ความจริงจังของ Partisan ในการต่อสู้กับนาซี พิสูจน์ตัวเองให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็น สมรภูมิยุโรปตอนนั้นน่าจะมีฝ่าย Partisan เพียงฝ่ายเดียวที่ต่อต้านนาซีแบบกองโจรอย่างต่อเนื่อง (เพราะยุโรปโซนอื่นแพ้เยอรมันไปหมดแล้ว) ช่วงที่โดนนาซีถล่มหนักๆ ฝ่าย Partisan ต้อง "เดินทางไกล"เข้าไปในเขตป่าเขา (เหมือน long march ของเหมาเจ๋อตงมาก)

แผนที่การต่อต้านของฝ่าย Partisan ตอนสงครามโลก (สีแดง) ภายใต้การบุกยึดของนาซี (สีเขียว) ภาพโดย Dada/Wikipedia

เมื่อรอดผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายมาได้ บวกกับฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มตีโต้ได้ ทำให้พันธมิตรเข้ามาช่วยฝ่าย Partisan แทนที่จะเป็นฝ่าย Chetnik ซึ่งเคยช่วยนาซีรบเพื่อจะปราบ Partisan แทน

หลังสงครามสงบ ติโตสถาปนารัฐยูโกสลาเวียขึ้นมาใหม่ ใช้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่ไม่เดินตามก้นของรัสเซีย เนื้อหาในพระราชนิพนธ์แปลจบลงตอนที่ติโตชนะสงครามในปี 1945 แต่ชีวิตของติโตยังเป็นประธานาธิบดีของยูโกสลาเวียจนเสียชีวิตในปี 1980

ดินแดนยูโกสลาเวีย แปลว่าดินแดนของเผ่าสลาฟใต้ (Yugo + Slav) ที่รวมเผ่าพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน มีวัฒนธรรมประเพณี ศาสนาแตกต่างกัน ไม่น่าจะสามารถรวมตัวกันได้ง่ายนัก แต่ภายใต้การคุกคามจากศัตรูภายนอก บวกกับภาวะผู้นำของติโต ส่งผลให้ยูโกสลาเวียสามารถผงาดขึ้นมาเป็นชาติที่มีพลังอำนาจต่อรองในเวทีโลกได้ (ติโตเป็นคนโครแอท คนละเผ่ากับพวกเซิร์บที่อยู่บริเวณเมืองหลวง แต่แนวคิดของติโตคือไม่สนใจชาตินิยมเฉพาะเผ่าโครแอทหรือเซิร์บ ต้องการสร้างรัฐยูโกสลาเวียต่างหาก)

อย่างไรก็ตาม หลังติโตตาย กาวที่ผนึกเอาไว้ก็เริ่มสลายคลาย เมื่อบวกกับภาวะสงครามเย็นสิ้นสุด ค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลาย สุดท้ายยูโกสลาเวียจึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ในปี 1992 ประเทศแตกตัวออกเป็นรัฐย่อยๆ ตามแต่ละเผ่าพันธุ์ และทำสงครามต่อกัน (ฝ่ายเซิร์บไม่อยากให้เผ่าอื่นๆ แยกออกไป) อยู่พักใหญ่ แต่สุดท้ายก็ต้องแยกกันอยู่ดี ปิดฉากความฝันของมหาบุรุษอย่างติโตไปอย่างน่าเสียดาย

แผนที่ชาติพันธุ์ของยูโกสลาเวีย ภายโดย historicair / Wikipedia

Before Sunrise

$
0
0

Before Sunrise เป็นหนังโรแมนติกปี 1995 (20 ปีมาแล้ว) โดยผู้กำกับ Richard Linklater

เนื้อเรื่องเกี่ยวกับคนแปลกหน้าสองคน ได้แก่ Jesse หนุ่มอเมริกัน (แสดงโดย Ethan Hawke) และ Céline สาวฝรั่งเศส (แสดงโดย Julie Delpy) มาเจอกันบนขบวนรถไฟระหว่างบูดาเปสต์ไปปารีส คุยกันไปมาเกิดคลิกกัน ผู้ชายต้องลงที่เวียนนาเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับอเมริกาในตอนเช้าวันถัดไป เลยชวนสาวเจ้าให้ลงมาเดทกับเขาหนึ่งคืน

ทั้งสองคนมีเวลาอยู่ด้วยกันเพียงคืนเดียว (คนแปลกหน้าในแดนแปลกถิ่น) จึงเปิดใจให้กันอย่างมากเกินปกติทั่วไป เพื่อเรียนรู้กันละกันให้มากที่สุด ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษ (magic moment) ก่อนที่จะต้องลาจากกันไปตอนเช้าวันรุ่งขึ้น (ชื่อหนังจึงหมายถึงช่วงเวลา "ก่อนจะเช้า"นั่นเอง) โดยมีกรุงเวียนนาเป็นแบ็คกราวนด์

หนังไม่ใช่แนวฮอลลีวู้ดทั่วไปที่ต้องมีไคลแมกซ์น่าติดตาม เพราะทั้งเรื่องคือคนสองคนคุยกันไปเรื่อยๆ เถียงกันเรื่องที่อาจไม่ค่อยมีสาระ ระหว่างเดินไปมาในกรุงเวียนนา (คนที่ไม่ชอบหนังแนวนี้อาจไม่ชอบไปเลย ผมดูแล้วเฉยๆ ไม่ได้เกลียดแต่ก็ไม่ได้ซาบซึ้งอะไรมาก)

ฉากที่เด่นที่สุดในเรื่องคงหนีไม่พ้นฉากคุยโทรศัพท์ และนางเอกก็ดูน่ารักสดใส ยิ้มสวยดี สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในเวียนนาที่ใช้ถ่ายทำ ดูได้จาก Movie-Locations

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือมีภาคต่ออีก 2 ภาคด้วยนักแสดงชุดเดิม คือ Before Sunset (ปี 2004) และ Before Midnight (ปี 2013) ความเจ๋งคือเวลาในเรื่องเดินตามเวลาของโลกจริงด้วย นั่นคือเหตุการณ์ในเรื่อง Before Midnight ห่างจาก Before Sunrise ถึง 18 ปี

Disqus vs Facebook Comments

$
0
0

ย้ายระบบคอมเมนต์ของเว็บ 2Baht.comจากเดิมใช้ Disqus มาเป็น Facebook Comments เลยคิดว่าควรบันทึกไว้สักหน่อย ว่าแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และเราควรเลือกใช้ตัวไหนดี

Disqus

  • ระบบคอมเมนต์มาตรฐาน รองรับการล็อกอินด้วย Facebook, Twitter, Google และ Disqus เอง แถมไม่บังคับต้องล็อกอินด้วย
  • ระบบจัดการคอมเมนต์ ผสานเป็นเนื้อเดียวกับ WordPress สามารถจัดการคอมเมนต์จาก WordPress ได้เลย จัดการ thread comment ได้ง่าย
  • ใต้ widget คอมเมนต์จะมีลิงก์ไปยัง "บทความที่น่าจะเกี่ยวข้อง" 4 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเว็บของเราเอง แต่บางครั้งมีเว็บอื่นที่มาลงโฆษณากับ Disqus อันนี้ปิดไม่ได้
  • ปลั๊กอินเพียบพร้อม มีทั้ง WordPressและ Drupal
  • สรุปว่าดีทุกอย่าง ยกเว้น UI ค่อนข้างซับซ้อน และระบบล็อกอินอาจยุ่งยากสำหรับคนท่องเว็บทั่วไป

Facebook Comments

  • ข้อดีประการสำคัญคือมันใช้ Facebook Account ซึ่งมวลมนุษย์ส่วนใหญ่มีใช้งาน และมักล็อกอินค้างไว้ ทำให้คอมเมนต์ได้ทันที ลัดกระบวนการล็อกอินทั้งหมด ลด friction ระหว่างเว็บไซต์กับคนมาคอมเมนต์
  • เชื่อมโยงกับ Facebook Page โดยตรง สามารถตั้งให้ notify ว่ามีคอมเมนต์ใหม่ใน Page Manager ได้ ซึ่งในแง่แบรนด์ถือว่าดี คือมี engagement กับทั้งเว็บและเพจ
  • ไม่มี official plugin สำหรับ CMS ต้องใช้ของ 3rd party (สำหรับ WordPress ลองใช้ TG Facebook Commentsแล้วเวิร์คที่สุด)
  • การฝัง Facebook Comments ในเพจเหมือนกับการฝัง iframe ลงไปท้ายบทความเพื่อให้มันดึงคอนเทนต์จาก Facebook มาแสดง ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับระบบ CMS เลย การบริหารคอมเมนต์ต้องทำผ่าน Facebook ทั้งหมด

เลือกอะไรดีกว่า

โดยสรุปคือ Disqus เหมาะกับเว็บที่ผู้อ่านมีความรู้อยู่บ้าง (บล็อกนี้จะยังใช้ Disqus ต่อไป) แต่ถ้าต้องการจับตลาดแมส Facebook Comments เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการที่ไม่ต้องล็อกอินช่วยลด friction ลงได้มาก และจากการเปลี่ยนระบบมาได้พักใหญ่ๆ พบว่าอัตราการคอมเมนต์สูงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อใช้ Facebook Comments

อย่างไรก็ตาม การย้ายจาก Disqus > Facebook Comments ไม่สามารถนำคอมเมนต์เก่าย้ายไปได้ เพราะ Facebook ไม่รองรับอะไรทั้งสิ้น ทางออกสำหรับคนเสียดายคอมเมนต์เก่าจึงมีแค่ 1) ปิดระบบของ Disqus ทิ้งไปเลย กับ 2) แสดงคอมเมนต์คู่ ซึ่งก็ดูแปลกๆ (กรณีนี้เลือกแบบแรก คือตัดใจยอมทิ้งคอมเมนต์ใน Disqus)

ส่วนการย้ายจาก Facebook Comments > Disqus สามารถอิมพอร์ตเข้า Disqus ได้ (บอกแล้วว่า Disqus ดีทุกอย่าง ยกเว้นมันไม่เหมาะสำหรับแมส)

The Intern

$
0
0

บล็อกตอนแรกของปี 2016 ขอเริ่มด้วยรีวิวหนัง The Intern เจาะชีวิตสตาร์ตอัพ หนังเรื่องนี้เพิ่งฉายในไทยช่วงกลางๆ ปี 2015 และเห็นมิตรสหายแวดวงไอทีหลายท่านไปดูกันแล้วชอบ เลยคาดหวังไว้ค่อนข้างสูง

พล็อตหนังคือ Robert De Niro รับบทเป็นชายวัยเกษียณ อดีตผู้บริหารบริษัท ชีวิตมีพร้อมทุกอย่างแล้ว แต่เมียตาย เวลาว่างเลยเยอะจนไม่รู้จะทำอะไร เขาจึงพยายามสร้างคุณค่าให้ตัวเอง โดยสมัครเข้าร่วมโครงการ "ฝึกงาน"ของผู้สูงอายุ กับบริษัทสตาร์ตอัพแฟชั่นชื่อ About the Fit ของผู้บริหารหญิงรุ่นใหม่ที่แสดงโดย Anne Hathaway

ตัวของ Anne สะท้อนผู้บริหารวงการไอทียุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็ว ฉับไว เธอสร้างธุรกิจขึ้นมาจากศูนย์ แต่พอกิจการเริ่มโตเร็วเกินไป เธอก็เริ่มรับมือไม่อยู่ ต้องใช้เวลาทำงานยาวนาน จนเริ่มมีปัญหาชีวิตครอบครัว (ลูก+สามีที่ลาออกมาเป็นพ่อบ้านเพื่อเลี้ยงลูกแทนเธอ)

หนังก็พยายามดึงให้ Robert De Niro ในฐานะ "ผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์"ค่อยๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน Anne อย่างช้าๆ และประทับใจ ปัญหาคือบทของ De Niro มันดูไม่ค่อย convincing มากนัก (คือจะใช้ประสบการณ์เข้ามาแก้ปัญหาให้บริษัทในแบบที่เด็กรุ่นใหม่ทำกันไม่ได้ หนังก็ไม่ได้แสดงให้เห็นเท่าไร เหมือนเป็นที่ปรึกษาชีวิตให้ Anne เพียงเท่านั้น) แถมคาแรกเตอร์ของแกก็ดู "ดีสมบูรณ์พร้อม"จนเกินจริงไปหน่อย ชีวิตไม่มีปมอะไรเลย เหมือนเป็นเทวดา godfather ประจำตัวนางเอก

ครึ่งแรกของหนังชวนติดตาม พยายามนำเสนอโลกสตาร์ตอัพผ่านมุมมองของคนรุ่นเก่าอย่าง De Niro แต่ครึ่งหลังกลับสานต่อปมในเรื่องได้ไม่ค่อยดีอย่างที่ควรจะเป็น หนังน่าจะพีคได้มากกว่านี้มากถ้าเขียนบทให้มี conflict ที่แก้ปัญหาด้วยคุณลักษณะเฉพาะของ De Niro อะไรเทือกนั้น (ของจริงกลายเป็นว่า อ้าว จบกันง่ายๆ แบบนี้เลยเหรอ จบแบบไม่มีข้อสรุปอะไร คือ ฉันจะพยายาม)

ปกติแล้วชอบ Anne Hathaway มาตั้งแต่ The Princess Diaries พอเห็นเธอมาเล่นเรื่องนี้ก็คิดว่าจะได้ดูอะไรสนุกๆ แบบ The Devil Wears Prada แต่หนังก็ยังไม่สามารถก้าวไปได้ถึงขั้นนั้น

Keyword: 

The Emperor in August - เกิดอะไรในญี่ปุ่น ก่อนสิ้นสุดสงครามโลก

$
0
0

หนังสงครามญี่ปุ่นที่เลือกดูแบบมั่วๆ บนเครื่องบิน ปรากฏว่าดีงามเกินคาด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนสนใจประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลก

The Emperor in August จับช่วงเวลาไม่กี่เดือนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการ (เดือนเมษายน-สิงหาคม 1945) ตอนนั้นสถานการณ์ชัดเจนว่ายังไงญี่ปุ่นก็แพ้ แต่จะแพ้อย่างไรนั่นคือคำถาม

สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์สงคราม คงจะพอทราบว่าจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่มี "ผู้นำ"กระหายสงครามแบบเดียวกับฮิตเลอร์หรือมุสโลลินี ผู้กลายเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์โลก แต่เป็น "พลังหมู่" (collective mind) ของผู้นำทางทหาร นักการเมือง ฯลฯ ในช่วงเวลานั้นที่มองไปในทางเดียวกันว่าต้องการขยายแสนยานุภาพในเอเชียด้วยสงคราม

ถึงแม้ในเชิงภาพลักษณ์ ตัวแทนของผู้นำฝ่ายทำสงครามคือนายพลฮิเดกิ โตโจ (Hideki Tojo) นายกรัฐมนตรีระหว่างปี 1941-1944 ที่เราเห็นหน้ากันบ่อยๆ ในหนังสงครามโลก (นายพลคนที่หัวโล้นและใส่แว่นกลมๆ) แต่แท้จริงแล้ว เรื่องราวซับซ้อนกว่านั้นมากเพราะนายทหารญี่ปุ่นคนอื่นๆ อีกมากก็ต้องการทำสงคราม

หนังเริ่มต้นในเดือนเมษายน 1945 หลังสถานการณ์การรบในแปซิฟิกของญี่ปุ่นย่ำแย่ จนนายกรัฐมนตรี Kuniaki Koiso ต้องลาออก ทำให้จักรพรรดิฮิโรฮิโต (Hirohito) ขอให้อดีตแม่ทัพเรือวัยชรา Kantarō Suzuki ที่อยู่ฝ่ายต่อต้านสงคราม มารับตำแหน่งแทน (ด้วยวัย 77 ปี)

นายก Suzuki เรียกใช้บริการนายพล Korechika Anami ที่จักรพรรดิเชื่อใจมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม (ในสมัยนั้นเรียกกระทรวงสงคราม) เขารับบทหนักเพราะเป็นตัวกลางระหว่างฝ่ายพลเรือน (รวมทั้งจักรพรรดิ) ที่ต้องการยอมแพ้เพื่อรักษาชีวิตประชาชน กับฝ่ายทหารที่ต้องการทำ "สงครามบนแผ่นดินเกิด"ให้อเมริกายกพลขึ้นบกแล้วสู้ตายเพื่อรักษาเกียรติยศ

ดังนั้น ช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 4 เดือนของรัฐบาล Suzuki ในปี 1945 จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในมากมาย ในส่วนของกองทัพก็ตีกันเอง ตีกับฝ่ายพลเรือน และยังมีกลุ่ม "ทหารหนุ่ม"ที่หัวรุนแรง และพยายาม "รัฐประหาร"ยึดอำนาจจักรพรรดิเพื่อไม่ให้ยอมแพ้สงคราม ในคืนสุดท้ายของวันที่ 14 สิงหาคม 1945 คืนก่อนจักรพรรดิจะอ่านแถลงการณ์ยอมแพ้ออกวิทยุไปทั่วประเทศ (เหตุการณ์นี้เรียกว่า Kyūjō incident)

ภาพยนตร์เรื่อง The Emperor in August จับเอาเหตุการณ์ช่วงสั้นๆ นี้มาเล่าผ่านมุมมองของบุคคลฝ่ายต่างๆ ในเรื่องไม่มีตัวละครเอกแบบภาพยนตร์ทั่วไป แต่ตัวละครที่มีบทเด่นที่สุดก็คือนายพล Anami (รับบทโดย Kōji Yakusho) ที่ชีวิตดราม่าที่สุด เพราะเขาต้องบาลานซ์ระหว่างอนาคตของบ้านเมือง เกียรติภูมิของทหาร และเกียรติยศของตนที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์จักรพรรดิ

แต่ในเรื่องก็ยังเล่าเหตุการณ์จากสายตาของบุคคลอื่นๆ ทั้งตัวจักรพรรดิฮิโรฮิโตเอง นายกรัฐมนตรี Suzuki และนายทหารหนุ่ม Hatanaka ผู้ก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ บทสรุปของเรื่องเป็นไปตามประวัติศาสตร์ว่าญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เล่าเหตุการณ์เบื้องหลังให้เรารับรู้ว่า แกนนำของญี่ปุ่นก็ขัดแย้งกันอย่างหนัก และมีคนตายจากงานนี้ไปหลายคน

หนังภาพสวยมาก และเล่าเรื่องด้วยภาพได้ดีมาก (เสียดายว่าดูบนเครื่องบิน จอเล็กแถมไม่ละเอียด เสียอรรถรสไปพอสมควร) สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่เยอะ (รวมถึงเป็นประเทศราชอาณาจักรเหมือนกัน) คงเข้าใจเรื่องความเคารพและสถานะต่อกษัตริย์ที่แสดงออกสัญลักษณ์หรือกริยาท่าทางที่ไม่ใช่คำพูด (แต่ถ้าเป็นฝรั่งมาดูอาจงงๆ อยู่บ้าง)

จุดด้อยของหนังเรื่องนี้คงเป็นว่า ไม่ได้ปูพื้นเหตุการณ์สงครามโลกให้ผู้ชมมากนัก ช่วงแรกๆ ของหนังเดินเรื่องเร็วมาก ถ้าไม่มีความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์อาจตามไม่ทัน

ป.ล. 1 หนังเรื่องนี้เป็นหนังประวัติศาสตร์สงครามก็จริง แต่แทบไม่มีฉากรบเลยนะครับ (เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดในโตเกียว ที่ไม่ได้เป็นพื้นที่สู้รบ ยกเว้นโดนทิ้งระเบิด) คุยกันอย่างเดียวแทบทั้งเรื่อง ใครคาดหวังว่าจะมีบทบู๊ต้องผิดหวังแน่นอน

ป.ล. 2 ถ้าใครอ่านการ์ตูนเรื่อง Zipang จะพอทราบว่ามีตัวละครบางส่วนซ้อนทับกันอยู่บ้าง เช่น ใต้เท้าโยนาอิ (Mitsumasa Yonai) แห่งกองทัพเรือ ที่มีบทบาทใน Zipang ด้วย แต่ในเรื่องนี้อาจไม่ใช่ตัวเด่นสักเท่าไร

The Force Awakens

$
0
0

เพิ่งมีโอกาสได้ดูกับเขาบ้าง หลังจากติดภารกิจอื่นมานาน ชาวบ้านเขาดูกันไปครึ่งโลกแล้ว (และเป็นการกลับเข้าโรงหนังครั้งแรกของผมในรอบ 3-4 ปีด้วย ประสบการณ์การดูหนังในโรงยังเป็นเรื่องแย่เหมือนเดิม: Eastville Cineplex ห้องน้ำพัง, เด็กข้างๆ คุยกับพ่อ "บิดานี่แปลว่าพ่อใช่มั้ย"เสียงอย่างดัง)

Star Wars Episode VII ถือเป็นความหวังของแฟนๆ ที่จะได้รับรู้เรื่องราวต่อจาก Return of the Jedi ที่ทิ้งช่วงห่างกัน 32 ปีในโลกความเป็นจริง (1983 กับ 2015) การขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้ Disney มาพร้อมกับความคาดหวัง ทีมงานใหม่ที่นำโดย J.J. Abrams ตัดสินใจปฏิวัติ ยึดอำนาจสิทธิ์ขาดในการกำหนดทิศทางของจักรวาล Star Wars ใหม่หมด

  • รีเซ็ตเรื่องราวที่เคยมีคน "แต่งต่อ"ทั้งหมดทิ้งไป ยกให้เป็นจักรวาลขนาน (Expanded Universe) แทน บรรดาแฟนตัวจริงที่เคย "จิ้น"แบบนี้มาตลอด 30 ปีก็ย่อมไม่พอใจ (Mara Jade ไม่มีตัวตนอีกต่อไปแล้วนะ)
  • ยึดอำนาจจาก George Lucas บิดาแห่ง Star Wars ซึ่งภายหลังเขาก็ออกมาให้สัมภาษณ์แบบเซ็งๆ ว่าเสนออะไรไปก็ไม่มีใครเอา และไม่เห็นด้วยกับแนวทางของหนังภาค 7 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะขายไปแล้ว เลยถอนตัวออกมาดีกว่า

นั่นแปลว่าความคาดหวังต่อ Episode VII สูงส่งมาก ถ้าทำออกมาห่วย ก็จะโดนกระแสตีกลับทันที (ดันไปลบหลู่ศาสดา+สาวกเหนียวแน่น)

แต่ J.J.Abrams ทำได้ หนังออกมาดีมากเกินความคาดหมาย

ผมคิดว่าความเก่งของ Abrams คือการผสานโลกเก่าที่แฟนเก่าคุ้นเคย มาผสมกับโลกใหม่ แฟนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว คนที่ดูภาค 7 ไม่จำเป็นต้องเคยดูภาคก่อนๆ มาก่อนก็ดูรู้เรื่อง แต่แฟนคลับดั้งเดิมก็จะซาบซึ้งขึ้นอีกเท่าตัวเมื่อเจอของเก่าๆ ที่ถูกแทรกเอาไว้อย่างแนบเนียน นอกจากนี้ พื้นฐานของตัวหนังเองยัง "สนุก"ดูง่าย เป็นหนังป๊อป ฉากแอคชั่นเยอะ ไม่พูดคุยเวิ่นเว้อ แต่ก็มีตรรกะเหตุผลในตัวเองครบถ้วน

The Force Awakens ยังหวนคืนสู่รากเหง้าของ Star Wars ภาคแรก A New Hope โดยใช้พล็อตหลักแบบเดิม ใครสักคนหลบหนีมายังดาวทะเลทรายอันไกลโพ้น มาเจอกับหนุ่มสาวบ้านนอกโนเนม และผจญภัยต่อสู้กับเหล่าร้าย "ไอ้หน้ากากดำ"ไปด้วยกัน และสามารถเอาชนะจักรกลขนาดใหญ่ของพวกวายร้ายได้ด้วยความสามารถและสามัคคี

อย่างไรก็ตาม The Force Awakens ก็มีส่วนที่ "ตีความใหม่"ของตัวเองหลายจุด เช่น เปลี่ยนดาว (ไม่ใช่ทาทูอีนอีกแล้ว), เปลี่ยนเพศตัวเอก, เพิ่มบทบาทของ Stormtrooper ที่คิดกบฎ (ซึ่งเป็นของใหม่ในจักรวาล Star Wars) เข้ามา, การตีความมนุษย์หน้ากาก Kylo Ren ใหม่ที่ซับซ้อนกว่าเดิม, เพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างรุ่นสู่รุ่นที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน (ตัวเอก gen ใหม่ร่วมรบกับฮานโซโล) และอย่างที่เขียนไปแล้วคือทำออกมาได้อย่างลงตัว

เรื่องนี้ผู้กำกับ J.J. Abrams อธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์ล่าสุดว่า Episode VII ไม่ใช่การโคลน Episode IV หรอก แต่ "สืบทอด" (inherit) มันมาต่างหาก

“I can understand that someone might say, ‘Oh, it’s a complete rip-off!’” he said. “We inherited Star Wars. The story of history repeating itself was, I believe, an obvious and intentional thing, and the structure of meeting a character who comes from a nowhere desert and discovers that she has a power within her, where the bad guys have a weapon that is destructive but that ends up being destroyed — those simple tenets are by far the least important aspects of this movie, and they provide bones that were well-proven long before they were used in Star Wars.”

จุดด้อยของ The Force Awakens คงเป็นการที่หนังเดินเรื่องเร็วไปหน่อย (แต่นี่ก็สอง ชม. กว่าแล้ว) ทำให้ยังไม่ได้อธิบายรายละเอียดหลายจุดไปบ้าง (ที่แฟนเก่าอยากรู้ แต่แฟนใหม่อาจบอกว่าไม่เป็นไร) เช่น First Order มาจากไหน เป้าหมายคืออะไร, สายสัมพันธ์ระหว่าง Republic ใหม่กับ Rebels เป็นอย่างไรกันแน่, บทบาทของ Maz Kanata ที่เหมือน Yoda ของภาคนี้ยังดูงงๆ และความหมายของ "พลัง" (The Force) ต่อตัวของ Rey ดูจะยังไม่แจ่มชัดมากนัก เมื่อเทียบกับการค้นพบพลังของตัวเอกในไตรภาคก่อนๆ แถมนี่เป็นชื่อหนังเลยนะ (io9 เขียนสรุปเรื่องนี้ไว้ดีมาก)

โดยสรุปคือหนังมีความคาดหวังสูงมาก แต่ทำออกมาได้ดี ตอบโจทย์คนทุกหมู่เหล่าไม่ว่าจะเป็นแฟนเก่าแฟนใหม่ ต้องยอมรับว่า J.J. Abrams มือถึงจริงๆ (แถมแกคุณภาพดีไม่มีตก ทำเรื่องไหนก็ดีหมด อันนี้คือความสามารถของแท้)

ป.ล. สำหรับคนที่สนใจอยากรู้ว่า เกาะสุดท้ายใน Episode 7 คืออะไร อ่าน เกาะ Skellig Michael ในไอร์แลนด์ สถานที่ถ่ายทำ Star Wars ภาค 7

Keyword: 

WordPress.com Calypso - ความเห็นหลังใช้งาน

$
0
0

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก WordPress ในรอบหลายปีคือ ระบบ backend ตัวใหม่ชื่อ Calypsoที่ต้องการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างของฐานโค้ดเดิม

ถ้าเราล็อกอินเข้าระบบ WordPress.com ในวันนี้ สิ่งที่เห็นคือ Calypso นั่นแหละ และถ้ายังไม่พอใจก็สามารถดาวน์โหลด desktop clientที่หน้าตาเหมือนกันทุกประการ (มันคือตัวเดียวกันนิ) ไปใช้งานได้ด้วย

ลองใช้ระบบ Calypso มาสักระยะหนึ่งแล้วก็ขอบันทึกความเห็นไว้ดังนี้

Calypso กับ JetPack

ส่วนแรกคืออรรถประโยชน์ใช้สอยของตัว Calypso ตรงนี้ต้องบอกว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ WordPress.com ในฐานะธุรกิจของบริษัท Automattic เป็นหลัก ไม่ใช่ WordPress.org ของมหาชนทั่วไป ดังนั้นตัว Calypso แทบจะไร้ค่าทันทีถ้าเราไม่คิดจะใช้มันกับ WordPress.com (ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำไม่ได้ด้วย เพราะมันบังคับล็อกอินด้วยบัญชี WordPress.com)

ในมุมมองของ Automattic นั้น ตัว WordPress.com จะค่อยๆ เปลี่ยนจาก "ซอฟต์แวร์"มาเป็น "บริการ"ที่ทั้งตัวมันอาจไม่ได้มีแค่ตัว WordPress CMS เพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงบริการเกี่ยวเนื่องประเภทอื่นๆ เช่น สารพัดเครื่องมือในชุด JetPack (ที่ไม่เปิดซอร์สโค้ดด้วย)

ดังนั้นในแง่ฟังก์ชันการใช้งาน Calypso จึงเป็น "หน้ากาก"สำหรับบริการ "ระบบ"ที่เป็น WordPress ปกติ โดยอาศัยพลังของ JetPack ที่รันอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของ Automattic คอยสื่อสารให้แทน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถใช้ Calypso โดยไม่มี JetPack ได้เลย และแปลว่าชีวิตเราก็จะไปฝากอยู่กับ Automattic นั่นเอง

สิ่งที่ชุมชน WordPress.org กังวลว่าจะถูก Calypso เข้ามาทดแทนหน้าที่ จึงไม่ได้เป็นปัญหานัก เพราะอนาคตของ Calypso ในโลกของ WordPress.org จะเดินหน้าไปได้ ก็ต่อเมื่อตัวโค้ด (ที่ Automattic ใจดีเปิดซอร์สให้) ถูกดัดแปลงให้ทำงานร่วมกับ WordPress.org เวอร์ชันโอเพนซอร์สได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา JetPack

(ถ้าให้เทียบ WordPress.org = Android AOSP ส่วน JetPack คือ Google Play Services)

ถามว่า Automattic อีวิลไหม ก็คงไม่ขนาดนั้นเพราะใจดีเปิดซอร์สให้ใช้ฟรี แต่ถ้าถามว่าใช้งานแล้วชีวิตจะขึ้นกับ Automattic เลยไหม ก็แน่นอน ไม่มีทางเลือกอื่น

ดีไซน์

ตอนที่ Calypso เปิดตัว ศาสดา Matt บอกว่ามันจะช่วยให้ WordPress ทันสมัยและใช้งานง่ายขึ้น ซึ่งถ้าดูจากหน้าตาของตัว Editor ของ Calypso จะเห็นว่ามันดูเรียบง่ายกว่าของเดิมมาก

WordPress Calypso Editor

แต่ผมใช้ๆ ไปแล้วกลับไม่ค่อยชอบ เพราะรู้สึกว่ามันเน้น simplicity มากไปจนละเลย action หลายอย่างที่สำคัญ เช่น ดูจะเน้นตัว editor เนื้อหาให้ distraction free เป็นหลัก (แนวทางเดียวกับ Medium) และย้ายทุกอย่างที่เหลือไปไว้ใน sidebar ด้านซ้ายมือ ส่งผลให้งานหลายอย่างที่เคยทำได้ง่ายและเด่นชัด (เช่น การใส่ excerpt หรือ slug ที่สำคัญมากในทุกรณี) ถูกเอาไปซ่อนไว้แทบจะใต้สุดของ sidebar เลย

นอกจากนี้ อย่างที่บอกไปว่า Calypso ออกแบบมาสำหรับ WordPress.com ที่พยายามทำตัวเป็นกึ่งๆ social network มีระบบติดตาม (follow) บล็อกของผู้เขียนท่านอื่น ลักษณะเดียวกับพวกแอพ/เว็บอ่านข่าวหรือบทความประเภท long form ทั้งหลาย (ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้อิทธิพลมาจาก Medium เยอะมาก) พอใส่ฟีเจอร์พวก Reader/Notification เข้ามา โดยที่บางคน (เช่นผม) ไม่ใช้งาน ก็ให้ความรู้สึกว่ามันเยอะและล้นเกินกว่าที่ควรจะเป็นไปพอสมควร

โดยสรุปคือประทับใจในความกล้าแหกกรอบของทีมงาน WordPress.com แต่ใช้งานแล้วยังไม่ค่อยประทับใจเยอะอย่างที่คาดหวัง และในแง่ผู้ใช้ทั่วไปที่ self-hosted เว็บเอง ก็ยังไม่เห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนไปใช้ Calypso เหนือการใช้ backend ตัวเก่าสักเท่าไรนัก

ป.ล. เจอบั๊กในระบบ tag ด้วย แจ้งบั๊กไว้บน GitHubแล้ว

Keyword: 

The Big Short ผู้ชนะจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

$
0
0

The Big Short เป็นหนังที่เล่าถึงโลกการเงินในวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐปี 2007-2008 ผ่านสายตาของคน 3 กลุ่มที่ดัน "ตาแหลม"เห็นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐที่เชื่อกันว่าแข็งแกร่งเหลือหลาย (ด้วยกลไกของโลกการเงินที่ชื่อ CDO ซึ่งมีคนอธิบายกันไปเยอะแล้ว คงไม่ขอเล่าซ้ำในที่นี้) กำลังจะล่มสลายในไม่ช้า เลยท้าพนันกับมันผ่านการเล่น "ประกัน" (short) แทงสวนไปว่าตลาดนี้เจ๊งแน่นอน

การแทงสวนตลาดกระแสหลัก (ตัวละครในเรื่องถึงกับบอกว่า You're betting against The American Economy) ย่อมโดนคนหัวเราะเยาะ (พร้อมกับเจ้ามือซึ่งก็คือธนาคารใหญ่ทั้งหลาย มองหน้าว่า "จะเอาจริงหรือ"แต่ก็รับเงินของเราไปอย่างดี) และแน่นอนว่าในกรณีของกองทุนที่ไม่ใช่เงินตัวเอง ก็ยิ่งต้องแบกรับความกดดันจากลูกค้าเจ้าของเงินทุนว่า "มึงจะเอาเงินกูไปทำแบบนี้ได้อย่างไร!!!"

แต่สุดท้ายเมื่อตลาดล่มสลายจริงๆ พวกเขาจึงชนะตลาดด้วยเงินมูลค่ามหาศาล (The Big Short ตามชื่อเรื่อง) แต่นั่นก็หมายถึงชัยชนะบนระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลาย คนตกงาน สูญเสียบ้านช่อง ฯลฯ ซึ่งหลังชัยชนะดังกล่าว ตัวเอกบางคนก็แทบจะรามือจากวงการนี้ไปกันเลย เพราะเศร้ากับชัยชนะบนซากปรักหักพังของชีวิตผู้คน

นักแสดงนำในเรื่องมีน่าสนใจหลายคน แต่ที่โดดเด่นที่สุดย่อมเป็น Steve Carell ผู้รับบทเป็น Mark Baum ผู้จัดการกองทุนฝีปากจัด แต่ไม่ชอบความยุติธรรมและความฉ้อโกงของระบบ ส่วนที่ขโมยซีนไม่แพ้กันคือแบทแมน Christian Bale รับบทเป็น Mike Burry แพทย์นิสัยแปลก เข้ากับคนไม่ค่อยได้ ที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการกองทุนแบบเนิร์ดๆ นั่งดูตัวเลขในห้องทำงานของตัวเองแบบข้ามวันข้ามคืน และสามารถเอาชนะระบบได้

ส่วนดาราใหญ่อย่าง Brad Pitt เล่นบทรองเป็น Ben Rickert อดีตนักการเงินเกษียณแล้ว ที่สวมเป็นบทอาจารย์ให้กับนักลงทุนรุ่นหลัง (ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของหนังอยู่นิดนึง เพราะดูยังไงมันก็ Brad Pitt ชัดๆ ไม่ใช่ Ben ทำให้บทไม่ค่อยเนียนนัก เอาดาราคนอื่นมาเล่นน่าจะ convincing กว่า แต่อย่างว่า หนังของแก โปรดิวซ์เองเล่นเอง)

เนื่องจากคอนเซ็ปต์เรื่องการเงิน โดยเฉพาะ CDO/CDS เป็นเรื่องยากและซับซ้อนมาก (ตอนวิกฤตเศรษฐกิจ ผมก็อ่านอยู่นานกว่าจะเข้าใจ) อุปสรรคสำคัญของหนังจึงเป็นการเอาชนะความซับซ้อนตรงนี้ ถ่ายทอดให้คนเข้าใจมันได้ง่ายๆ ซึ่งหนังก็มีกลเม็ดหลายอย่างในการอธิบาย เช่น ตัดเอาคนดังๆ ในโลกความเป็นจริง (ดาราอย่าง Margot Robbie หรือ Selena Gomez มาช่วยอธิบาย) การอธิบายบางจุดเปรียบเทียบได้ดีมาก เช่น ฉากที่ Ryan Gosling ในบทของพนักงานธนาคาร พยายามขายผลิตภัณฑ์ CDS ของ CDO ด้วยการเอาจิ๊กซอไม้ต่อกันให้ดู หรือ ฉากของ Selena Gomez ที่อธิบายเรื่องการพนันต่อๆ กันไปเป็นชั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ตัวคอนเซ็ปต์มันซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับหนังพยายามเล่าเรื่องให้เท่ๆ โดยไม่อธิบายการกระทำของตัวละครแบบโจ่งแจ้งมากนัก (คนดูต้องคิดเองได้) เมื่อบวกกับการตัดต่อที่รวดเร็ว กระชับ ตัดฉับๆ ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีคนงงอยู่ดี และเยอะด้วย (ขนาดผมรู้เรื่องอยู่แล้ว ยังเกือบหลุดๆ ตอนตลาดสินเชื่อบ้านพังแต่ราคา CDO ไม่ตก)

ในหนังมีฉากน่าสนใจหลายฉาก เช่น ฉากที่ Mark Baum คุยกับสาวนักเต้นรูดเสา, ฉากที่ Ben Rickert สอนเด็กๆ ว่าคุณกำลังชนะบนความฉิบหายของชาวบ้าน, ฉากที่สองเด็กแอบเข้าไปในออฟฟิศของบริษัทการเงินใหญ่ในวันที่ล่มสลาย

ฉากที่ผมชอบคือทีมของ Mark Baum ลงพื้นที่ตรวจสอบอสังหาริมทรัพย์ในไมอามี เพื่อดูว่าแท้จริงแล้วตลาดอสังหาเป็นอย่างไร (ซึ่งพวกเขาก็พบว่ามีปัญหาจริงๆ คนหนีผ่อนบ้านกันเต็ม) สาเหตุที่ชอบก็คือคนที่ลงมือทำงานจริงๆ ลงไปดูสภาพ on the ground แบบนี้เท่านั้นจะหาช่องโหว่ของระบบพบเจอ ซึ่งกลับกันกับบรรดานักการเงินหรือบริษัทเครดิตเรตติ้ง ที่พิจารณาทุกอย่างบนหน้ากระดาษ และทำกันไปแบบสั่วๆ ตามที่ช่องว่างของระบบเอื้อให้กระทำ

Keyword: 

S Note for PC

$
0
0

หลังจากใช้ Galaxy Note มาสองรุ่นติดกัน (Note 3 กับ Note 5) พฤติกรรมส่วนตัวที่เปลี่ยนไปมากคือเลิกพกสมุดจดทุกประเภท แล้วมาจดงานบนแอพ S Note แทน ด้วยเหตุผลว่าสะดวกกว่ามาก เพราะเป็นคนไม่ชอบถือกระเป๋า (เคยพกสมุดอยู่พักหนึ่งแล้วก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้จด เพราะไม่ได้ถือติดตัวตลอดเวลา)

ข้อจำกัดที่พบของแอพ S Note คือระบบ handwriting recognition ภาษาไทยยังแย่อยู่ (แต่ภาษาอังกฤษดีนะ) ซึ่งทางออกของผมก็คือจดทุกอย่างเป็นรูปแทน ถือว่าจดเอาไว้ remind ดูว่าเคยบันทึกอะไรเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องแปลงเป็น text อัตโนมัติก็ได้

ชีวิตปกติสุขอยู่นาน จนกระทั่งวันนี้เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือชั่วคราว (ทดลองใช้งานจริงเพื่อรีวิวอุปกรณ์) ปัญหาคือต้องใช้ข้อมูลที่เคยจดโน้ตไว้ ซึ่งอยู่ในโทรศัพท์ที่วางไว้ที่บ้าน

ก่อนหน้านี้ ซัมซุงเคยให้สิทธิ Evernote Premium ซิงค์โน้ตจาก S Note มาลง Evernote ฟรี แต่พอมันหมดอายุก็เลยไม่ได้ต่อ เพราะไม่เห็นความจำเป็นมากนัก (Evernote ก็ห่วยลงเยอะในแง่เสถียรภาพของแอพ) ตอนหลังผมเลยเปลี่ยนมาซิงก์ลง Samsung Account แทน

พูดง่ายๆ คือสถานการณ์ทำให้ต้องการใช้โน้ตที่เก็บอยู่บน Samsung Account แต่ไม่รู้จะเข้าถึงได้อย่างไร เพราะซัมซุงไม่มีอินเทอร์เฟซบนหน้าเว็บให้ใช้งาน

ลองค้นดูเลยได้ความรู้ใหม่ว่า S Note มีเวอร์ชันบนวินโดวส์กับเขาด้วย!!! สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งบนพีซีได้ตามปกติ ขนาดไฟล์ 114MB ติดตั้งเสร็จรอซิงก์ข้อมูลสักระยะ ทุกอย่างก็เรียบร้อย

แอพทำออกมาไม่ค่อยดีเท่าไร ช้าและกระตุก (มันวาดรูปได้ด้วยนะ) แต่เราต้องการแค่เอาข้อมูลออกมาเท่านั้น แค่นี้ก็เหลือเฟือครับ

ป.ล. เห็นซัมซุงมี S Note for Windows Storeด้วยแต่โหลดไม่ได้ รวมถึงมี S Note Viewer บน Androidแต่จำกัดเฉพาะอุปกรณ์ซัมซุงเท่านั้น (ไม่ใช่ตระกูล Note ก็โหลดได้ แต่ต้องเป็นซัมซุง)

HTTPS 301 Redirect for .htaccess

$
0
0

ยุคสมัยที่ HTTPS กำลังมาแทน HTTP กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก หลังจากเปิดใช้ HTTPS กับเว็บไซต์ของท่านแล้ว กรณีที่ใช้ CMS อยู่แล้วก็ควรสั่ง 301 redirect (move permanently) เพื่อให้ทราฟฟิกจากลิงก์ที่เป็น HTTP วิ่งไปเข้า HTTPS แทน

แต่เนื่องจากการเขียนสูตรใน .htaccess มีได้หลายท่า และหลายเว็บในอินเทอร์เน็ตก็ใช้ไม่เหมือนกัน จากที่ลองมาหลายสูตรแล้วก็พบว่าท่านี้ดีที่สุดครับ

<IfModule mod_rewrite.c>
    RewriteEngine On
    RewriteCond %{HTTPS} !=on
    RewriteRule ^/?(.*) https://%{SERVER_NAME}/$1 [R,L]
</IfModule>

โค้ดบางตัวที่ค้นเจอใช้วิธีดักสตริง http หรือ https แต่โค้ดข้างต้นดักที่ตัวโพรโทคอล https จากตัวแปร %{HTTPS} เลย (ในโค้ดคือตรวจว่าถ้าไม่ใช่ HTTPS ให้เขียน URL ใหม่) จากนั้นเปลี่ยนหัว URL เป็น https:// แล้วตามด้วยโดเมนแนมซึ่งตัดมาจากตัวแปร %{SERVER_NAME} อยู่แล้ว ก่อนปิดด้วยพาธในก้อน $1 (พารามีเตอร์ตัวแรก)

โค้ดถือว่าค่อนข้างสวยเพราะไม่มีอะไร hard code ลงไปเลย (ใช้ตัวแปรทั้งหมด) การใช้งานสามารถก็อปไปใช้ได้ทั้งยวง ไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย

กรณีที่ใช้ระบบแคช HTTPS เข้าช่วย (เช่น W3 Total Cache เปิดโหมด HTTPS) ต้องใส่โค้ดข้างต้นไว้ใน .htaccess ก่อนส่วนของ W3 Total Cache ด้วยนะครับ ไม่งั้นจะโดนมันจับ reconfig ใหม่

Firefox 45 with Synced Tabs Button

$
0
0

เคยเขียน Extension ให้ Firefox อยู่ตัวนึงคือ Tabs From Other Devices Buttonเพื่อแก้ปัญหาความห่วยของ Mozilla (ช่วงหลังห่วยลงเรื่อยๆ อย่างจับต้องได้) ที่ไม่ยอมสร้าง UI ในการเข้าถึงฟีเจอร์สำคัญอย่าง รายการแท็บที่ซิงก์มาจากเครื่องอื่น ได้ง่ายอย่างที่ควรจะเป็น

Extension ตัวนี้ทำในปี 2014 เวลาผ่านมาสองปี ตอนนี้ Firefox 45แก้ปัญหานี้สักที โดยมีปุ่ม Synced Tabs โผล่เข้ามาให้เลือกแล้ว (ปุ่มหน้าตาเหมือนกันเลย)

ข้อดีที่เหนือกว่า Extension ของผมคือกดแล้วมีเมนูรายชื่อแท็บขึ้นมาให้เลย (ของผมกดแล้วเข้าหน้า Tab ที่แสดงรายการแท็บอีกที)

สรุปว่าปิดจ็อบ เจ้าทำหน้าที่ของเจ้ามาสองปีแล้ว ได้เวลาปลดระวาง

My Top Tweets

$
0
0

นานทีปีหนจะมี Twitter ที่คน retweet เยอะเป็นพัน มาจดไว้ก่อน โอกาสหน้าเวลาต้องใช้จะได้หาง่ายๆ

แชมป์เก่า ตกอันดับไปแล้ว

Keyword: 
Viewing all 557 articles
Browse latest View live




Latest Images