Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Kingdom of Heaven

$
0
0

ช่วงนี้กำลังสนใจเรื่องสงครามครูเสด เพราะได้ไปเที่ยวปราสาท Kerak ที่ประเทศจอร์แดนมา พบว่าหนังเรื่อง Kingdom of Heaven มีฉากที่เกี่ยวข้องกับปราสาทนี้ เลยไปหามาดู

Kingdom of Heaven เป็นหนังปี 2005 (สิบปีแล้วรึนี่) นำแสดงโดย Orlando Bloom เอลฟ์สุดหล่อแห่ง Lord of the Rings, กำกับโดย Ridley Scott แห่ง Alien และ Gladiator

หนังได้คะแนนรีวิวไม่ค่อยดีนัก (Rotten Tomato ให้ 39%, Metacritic ให้ 62%) แต่ไม่เป็นไรมาก เพราะเราดูเอาประวัติศาสตร์เป็นหลัก

พล็อตเรื่อง

เนื้อหาของหนังจับใจความช่วงก่อนสงครามครูเสดครั้งที่สาม (Third Crusadeปี 1189-1192) โดยกลุ่มชาวคริสต์จากยุโรปในสงครามครูเสดครั้งก่อนๆ สามารถบุกยึดนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็มได้จากฝ่ายมุสลิม และสถาปนา "ราชอาณาจักรเยรูซาเล็ม" (Kingdom of Jerusalem) ขึ้นมาปกครองพื้นที่แถบนั้น

กษัตริย์ผู้ครองนครเยรูซาเล็มคือ Baldwin IV (แสดงโดย Edward Norton) มีความสามารถมาก แต่ดันเป็นโรคเรื้อนแต่เด็ก (ฉายา Leper King) จนต้องใส่หน้ากากเหล็กไว้ไม่ให้ใครเห็นหน้า สุขภาพโดยรวมไม่ค่อยดีนัก ส่วนกษัตริย์ฝั่งมุสลิมคือ Saladin ผู้ปกครองอียิปต์เก่งกล้า (แต่จริงๆ เป็นชาวเคิร์ดในแถบอิรัก) สามารถรวมชาวมุสลิมให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้

ฝ่ายคริสต์กับมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ในช่วงนั้น) โดย Baldwin อนุญาตให้ชาวมุสลิมเข้ามาสักการะมัสยิดในเยรูซาเล็มได้

พระเอกของเรา Orlando Bloom แสดงเป็น Balian ช่างตีเหล็กในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นลูกของบารอน Godfrey of Ibelin ขุนนางคนสำคัญของเยรูซาเล็ม (ในหนังไม่ได้บอกชัดเจน แต่เดาว่าคงเป็นลูกนอกสมรส อะไรแบบนี้) Balian เพิ่งมีปัญหาชีวิตคือลูกคลอดออกมาแล้วตาย เมียเสียสติฆ่าตัวตาย เลยไม่ศรัทธาในพระเจ้า

Godfrey ชวน Balian ไปร่วมศึกที่เยรูซาเล็ม ซึ่งตอนแรก Balian ไม่ไป แต่เขาไปฆ่าพี่ชายต่างพ่อที่ทำร้ายศพเมียเข้า เลยต้องหนีอาญาไปอยู่กับ Godfrey เพื่อไปยังนครศักดิ์สิทธิ์

ระหว่างการเดินทาง เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาจับ Balian แต่ Godfrey ปฏิเสธ เลยต่อสู้กันรัวๆ (ตัวละครเพิ่งโผล่มา ตายกันเป็นเบือ จำหน้ายังไม่ทันได้) สรุปว่าฝ่าย Godfrey ชนะ แต่ Godfrey บาดเจ็บ ทนพิษบาดแผลไม่ไหว ตายโดยมอบภาระให้ Balian เป็นผู้นำกองทัพของเขาแทน

Balian ได้เป็นผู้นำแบบงงๆ เลยขึ้นเรือไปเยรูซาเล็มที่อิตาลี ระหว่างทางเจอพายุ เรือล่ม! คนตายทั้งลำยกเว้นพระเอก! (หนังเล่นไปเกือบชั่วโมงยังไม่ถึงเยรูซาเล็มเลย) ตอนนั้นอารมณ์แบบตูดูหนัง "ต้องรอด"อยู่รึเปล่าเนี่ย

Balian รอดมาได้เลยเดินทางมาถึงเยรูซาเล็ม ได้รับการยอมรับทันทีในฐานะลูกของ Godfrey (ลูกน้องของ Godfrey บอกโอเค หน้าเหมือน ดีล!) จากนั้นเขาก็เข้าสู่แวดวงไฮโซของเยรูซาเล็ม และไปปิ๊งกับองค์หญิง Sibylla น้องสาวของกษัตริย์ (แสดงโดย Eva Green แห่ง Casino Royale)

Kingdom of Heaven Desktop Wallpaper 1680x1050 10

อย่างไรก็ตาม องค์หญิงแต่งงานแล้วกับผู้นำทัพครูเสดสายหัวรุนแรง Guy de Lusignan (แต่เป็นการแต่งงานกันทางการเมือง) ตามสเต็ปแล้ว เจ้าชายน้อย ลูกขององค์หญิงจะได้เป็นราชาองค์ต่อไปหลังจาก Baldwin ตาย และองค์หญิงจะมีสถานะเป็นผู้สำเร็จราชการ กุมอำนาจสูงสุดในเยรูซาเล็ม

ฝ่ายของ Guy รู้ว่าตัวเองคุมอำนาจอยู่ และ Baldwin จะตายในอีกไม่ช้า จึงเปิดศึกกับฝ่ายของมุสลิมโดยการฆ่าคาราวานของมุสลิม ทำให้ Baldwin ต้องเดินทางไปเจอ Saladin เพื่อสงบศึก ทำให้สุขภาพของเขาแย่ลงจนใกล้ตาย ฝ่ายของ Baldwin ถูกใจในฝีมือของ Balian และเสนอให้เขาขึ้นเป็นพระราชาของเยรูซาเล็มคนต่อไป โดยจะสั่งฆ่า Guy ฐานกบฎ แล้วให้ Balian แต่งงานกับ Sibylla อย่างไรก็ตาม พระเอกของเราเป็นคนดีก็เลยปฏิเสธ

จากนั้น Baldwin ตาย Guy กลายเป็นกษัตริย์ บ้าพลังเลยไปเปิดศึกกับ Saladin แต่แพ้หมดรูป ทหารตายหมด ทำให้เยรูซาเล็มไม่มีกองกำลังป้องกัน และต้องรอรับศึกจาก Saladin ที่จะบุกมา "ล้างเมือง"แก้แค้น ฮีโร่ที่เหลืออยู่คือ Balian ที่วางมาตรการป้องกันเมือง และต้านทานทัพของ Saladin ไว้ได้หลายวัน จนสุดท้ายบีบให้ Saladin ต้องออกมาเจรจา โดย Balian เสนอการยอมแพ้ ยกเมืองเยรูซาเล็มให้ แลกกับการไม่ฆ่าชาวคริสต์และอนุญาตให้ชาวคริสต์อพยพออกไปได้

Kingdom of Heaven 1680x1050 11

ตอนจบก็คือ Balian กลับไปเป็นช่างตีเหล็กอยู่ฝรั่งเศส โดยมี Sibylla ไปอยู่ด้วย (เพราะสถานะราชินีไม่มีค่าอีกแล้ว) ส่วนเยรูซาเล็มกลายเป็นของมุสลิม ทำให้กษัตริย์ริชาร์ดใจสิงห์แห่งอังกฤษ (กษัตริย์คนเดียวกับในโรบินฮู้ด) ต้องการจะมาชิงกลับไป และเป็นจุดเริ่มต้นของครูเสดครั้งที่สาม (ผลคือตีชิงได้บางเมืองแต่ชิงเยรูซาเล็มไม่สำเร็จ)

วิจารณ์

ครึ่งแรกของหนังมันเนิบมาก ดูแล้วจะหลับ ใช้วิธีแบ่งดูทีละ 20-30 นาทีอยู่หลายวัน พอดูจนจบแล้วได้ข้อสรุปว่า "มันควรทำเป็นซีรีส์มากกว่า"

ไอเดียของหนังเรื่องนี้คือเล่าชีวิตของ "วีรบุรุษสงคราม"ชื่อ Balian (ซึ่งในแง่ความถูกต้องตามประวัติศาสตร์จริงก็ไม่ตรงมากนัก แต่ในแง่การแต่งเรื่องเพิ่มเพื่อความดราม่า อันนี้เข้าใจและยอมรับได้) โดยมีธีมเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในมิติของครูเสดนั้น ทั้งสองฝ่าย (คริสต์/อิสลาม) อ้างอาณัติของพระเจ้าเป็นเหตุให้ทำสงครามด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายที่บ้าสงครามก็จะอ้างพระเจ้าตลอดเวลาเพื่อหาเหตุให้ไปถล่มฝ่ายตรงข้าม

แต่กลุ่มตัวเอกในเรื่องเป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อในพระเจ้านัก อย่าง Balian ที่เมียตายเลยไม่เชื่อในพระเจ้า (เขาไปถึงเยรูซาเล็มแล้วก็ไปนอนค้างบนเนินเขาที่พระเยซูตาย ก่อนจะพบว่าไม่ได้ยินอะไรจากพระเจ้าเลย) ทำให้วิธีคิดของเขาไม่ถูกผูกติดกับศาสนา และค่อนข้างเห็นใจเพื่อนมนุษย์ (มีลักษณะเป็น humanist ถ้าเรียกตามภาษาสมัยใหม่) มากกว่าคนร่วมยุคสมัยมาก ผลก็คือเขาถูกกีดกันจากฝ่ายเคร่งศาสนามาก

ในฝั่งของอิสลามเอง Saladin ก็เป็นพวก prgamatism เน้นภาพใหญ่ของอาณาจักรเป็นหลัก มากกว่าเป็นพวกบ้าสงครามเหมือนอย่างที่ปรึกษาของเขาหลายคน แต่กรณีของ Saladin คือเป็นพระราชา (แถมยังเก่ง) เลยไม่มีใครกล้าหือมากนัก แต่หนังก็แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะเป็น Saladin ก็ได้รับความลำบากจากบรรดานายทัพที่ต้องการ "รบเพื่อพระเจ้า"เช่นกัน

ชื่อของหนัง Kingdom of Heaven เป็นการสื่อถึง "อาณาจักรศักดิ์สิทธิ์"ในภาพฝันของชาวคริสต์ ว่าถ้าสามารถปกครองเยรูซาเล็มได้อย่างมั่นคง ก็จะสร้าง Kingdom of Heaven ขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม Kingdom of Heaven ก็ขึ้นกับการตีความของแต่ละคนในเรื่อง อย่างเช่น Godfrey พ่อพระเอกก็มีภาพฝันว่า Kingdom of Heaven คือนครที่ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อย่างไรก็ตาม ความย้อนแย้งที่หนังต้องการสื่อคือความคลั่งพระเจ้าของฝ่ายคริสต์ (Guy) ทำให้ชาวยุโรปต้องสูญเสียนครแห่งพระเจ้าไป

ผมรู้สึกว่าพล็อตของเรื่องผูกมาได้ดีมาก แต่ execution กลับทำได้ไม่ดีนัก เหตุเพราะพล็อตมันซับซ้อนเกินไปจนกว่าจะยัดให้ลงในหนังไม่กี่ชั่วโมง ทำให้แต่ละเหตุการณ์ดูรีบๆ และไม่สามารถ "บิ้ว"ประเด็นดราม่าหลักเรื่องความขัดแย้งของ Balian กับคนรอบข้างได้ดีเท่าไรนัก

หนังยังไม่ค่อยอธิบายบริบทและที่มาที่ไปของสถานการณ์ภายในเรื่องให้คนดูเข้าใจเท่าไร ขนาดผมดูไปหยุดพักอ่าน Wikipediaไป ยังต้องอ่านอยู่นานกว่าจะเข้าใจภาพรวม ดังนั้นถ้าไปนั่งดูในโรงแบบหยุดพักไม่ได้นี่มีงงแน่นอน

จุดที่หนังทำได้ดีคือบทบาทและการแสดงของพระราชาทั้ง 2 องค์คือ Baldwin กับ Saladin ที่ดูมีมิติดีมากๆ ส่วนจุดอ่อนในเรื่องคือบทของตัวร้าย Guy ที่ไร้ราคามาก (ตามบทแล้ว Guy ควรจะมีมิติมากกว่านี้เยอะ)

อีกปัญหาที่สำคัญคือบทของพระเอก Balian ที่มันดูหลุดๆ ออกจากคนอื่นในหนังไปมาก เพราะตอนแรก Balian ไม่เกี่ยวอะไรกับครูเสดเลย มาแบบงงๆ แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว (จนไม่ค่อยน่าเชื่อตามหนังมากนัก อารมณ์แบบเพิ่งเรือล่มมาแบบเกือบตาย มาถึงได้กองทัพ ได้ปราสาท ได้หญิง พระราชาชื่นชอบ) แถมตัวพระเอกเองก็มาบุคลิกแบบอินดี้สุดๆ จนผิดยุคสมัย แถมแต่งตัวก็ผิดยุคสมัย เหมือนส่งนายแบบอินดี้ แต่งตัวแบบ Johnny Depp ไปร่วมสงครามครูเสดยุคกลาง เขารบกันจะเป็นจะตาย พี่แกนั่งเหม่อมองฟ้าดูทะเลทรายอยู่คนเดียว

Kingdom of Heaven Desktop Wallpaper 1680x1050 06

ตามพล็อตแล้ว พัฒนาการของตัวละคร Balian ควรจะเป็นเรื่องเล่าหลักของหนัง ที่แสดงให้เห็นว่าเขาเปลี่ยนตัวเองจากช่างตีเหล็กเมียตาย มาเป็นวีรบุรุษผู้ปกป้องประชาชนเยรูซาเล็มได้อย่างไร แต่เนื่องจากเวลาเล่าเรื่องมีน้อย + เขียนบทพระเอกไม่ค่อยดี เลยกลายเป็นว่า Balian มาแบบงงๆ แต่คิดดี+โชคดี สถานการณ์ทุกอย่างเลยเข้าข้างเขาแบบไม่ต้องทำอะไรมากนักไปแทน

ดังนั้นแทนที่หนังจะสามารถสื่อเรื่อง "ตกลงแล้วอาณาจักรแห่งพระเจ้าควรเป็นเช่นไร"ตามชื่อเรื่อง มันเลยกลายเป็น "ชีวิตอินดี้ของ Balian"ไปแทนซะงั้น

โดยสรุปแล้วคิดว่าพล็อตแบบนี้ควรทำซีรีส์มากกว่า เพราะมีเหตุการณ์ให้ Balian ค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปทีละเปลาะ ให้ฟันธงคือ Kingdom of Heaven อยู่ในกลุ่มหนังที่ไม่ถึงกับแย่แต่ "ไม่ต้องดูก็ได้"


Gigaom กับบทเรียนของ Digital Media

$
0
0

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวช็อควงการสื่อออนไลน์ของฝรั่งคือเว็บไซต์ไอที Gigaom ประกาศปิดตัวฉับพลันโดยให้เหตุผลว่าเป็นหนี้เยอะ เงินไม่พอ เจ้าหนี้เลยตัดสินใจปลดพนักงานทั้งหมด

งานนี้ทุกคนงง ผมก็งง พอผ่านมาได้ 2-3 วัน ฝุ่นเริ่มหายตลบ เราเลยเห็นภาพรวมของปัญหาชัดเจนขึ้น ในฐานะคนทำสื่อออนไลน์ลักษณะใกล้เคียงกัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาและบันทึกไว้สักหน่อย

หมายเหตุ: แคปภาพหน้าจอโพสต์สุดท้ายของ Gigaom ไว้สักหน่อย เผื่ออนาคตเว็บหายไปแล้วจะได้มีหลักฐานเก็บไว้ดู

โพสต์ของ Om Malik ถึงการปิดตัวของ Gigaomแต่ไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก เป็นแค่การขอบคุณทีมงานเท่านั้น

เกริ่นนำ Gigaom

Gigaom เป็นเว็บบล็อกไอทีรุ่นแรกๆ ก่อตั้งในปี 2006 ไล่เลี่ยกับ TechCrunch (ก่อตั้ง 2005) และ Mashable (2005) โดยชาวอินเดียสัญชาติอเมริกันชื่อ Om Malik ซึ่งเคยเป็นนักเขียนของ Forbes และ Business 2.0

ตัวบล็อกต้นฉบับทำมาตั้งแต่ปี 2001 ในฐานะบล็อกส่วนตัวของ Om (ถึงได้ชื่อ Gigaom) แต่แกลาออกมาทำแบบฟูลไทม์ในปี 2006 ช่วงที่กระแสบล็อกกำลังเริ่มมาแรง (Blognone เริ่มปี 2004)

ผมมารู้จัก Gigaom น่าจะราวปี 2007-2008 ช่วงที่กระแสสตาร์ตอัพเมืองนอกกำลังดัง (โดยการนำของ TechCrunch ที่มาแรงมากในยุคนั้น) ที่ตลกคือผมเคยเห็น Om ตัวเป็นๆ ด้วยแต่ดันไม่รู้จักว่าเป็นใคร ตอนนั้นไปงาน FOWA 2007 ที่ลอนดอน มีคนดังๆ ฝั่งอเมริกาบินมาพูดมากมาย

(งานนั้นผมไปขอถ่ายรูปคู่กับ Leah Culver, Caterina Fake ส่วน @hohoteam ที่ไปด้วยกัน ได้กอดคอกินเหล้ากับ Kevin Rose)

แต่ตอนนั้นดันไม่รู้จักว่า Om Malik คือใคร! (คนกลางในภาพ คนขวาคือ Michael Arrington)

Om Malik & Michael Arrington

พอเริ่มรู้จัก Gigaom แล้วก็ตามอ่านมาเรื่อยๆ จุดที่ชอบคือ Gigaom ให้ข้อมูลเชิงลึก-เชิงวิเคราะห์ที่เว็บข่าวด่วนแบบ Engadget ไม่ค่อยมี เนื่องจากช่วงหลังผมค่อนข้างสนใจพัฒนาการของ online media ในฐานะธุรกิจ เลยชอบผลงานของนักเขียนอาวุโส Mathew Ingramมากเป็นพิเศษ (อีกเว็บที่ชอบคือ Paidcontent ซึ่งก็ถูก Gigaom ซื้อกิจการไปเมื่อปี 2012)

ในช่วงหลัง Om ในฐานะผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ไม่ได้ทำงานกับ Gigaom เพราะหันไปเป็น VC (บริษัทเดียวกับที่ลงทุนใน Gigaom) แต่ผลงานโดยรวมของเว็บไซต์ยังคงเส้นคงวาเหมือนเดิม เนื้อหาไม่หวือหวา ไม่เน้นข่าวด่วน แต่อ่านแล้วได้ประโยชน์

แต่ในยุคที่สื่อออนไลน์ดังๆ อย่าง Vox, Business Insider, Buzzfeed มีข่าวระดมเงินทุน ข่าวคนเข้าเยอะเป็นสถิติอยู่ตลอดเวลา เราก็รู้สึกว่าช่วงนี้น่าจะเป็น "ขาขึ้น"ของสื่อออนไลน์นี่นา การที่จู่ๆ Gigaom ประกาศว่าเลิกทำละ เงินหมด จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น

โมเดลธุรกิจของ Gigaom

หลัง Gigaom ล้ม ก็มีบทวิเคราะห์มากมายออกมานำเสนอ ที่คิดว่าควรอ่านคือ

คนส่วนใหญ่รู้จัก Gigaom ในนามของเว็บไซต์ แต่จริงๆ แล้วธุรกิจของ Gigaom แยกออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • เว็บไซต์ ข่าว บทวิเคราะห์ เนื้อหา - หารายได้จากโฆษณา
  • อีเวนต์ประชุม สัมมนา - หารายได้จากค่าบัตร/สปอนเซอร์
  • Gigaom Researchงานวิจัย ขายบทวิเคราะห์ รายงาน - รายได้จาก subscription หรือขายงานเป็นชิ้น

One of the most innovative aspects of the Gigaom model was that it had three legs: ad-funded editorial, events (conferences), and a subscription research arm where analysts wrote reports for corporate clients.

ส่วนของเว็บไซต์มีคนเข้าเดือนละ 6.5 ล้านคน บริษัทมีพนักงานทั้งหมด 75 คน โดยทีมเนื้อหาเว็บไซต์ประมาณ 22 คน ที่เหลืออยู่ในส่วนธุรกิจอื่น (ไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าเป็นอย่างไร)

โมเดลธุรกิจแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ "บริษัทสื่อ"ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว บริษัทที่เป็นต้นแบบในเรื่องนี้ (และ Gigaom เองก็ใช้เป็นโมเดล) คือ The Economist ที่มี

  • หนังสือพิมพ์/นิตยสาร The Economist ที่คนรู้จักกันดี เอาไว้สร้างแบรนด์ สร้างฐานผู้อ่าน
  • อีเวนต์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง การเงิน
  • Economist Intelligence Unitหรือ EIU เป็นหน่วยงานวิจัย ขายรายงาน คอนซัลต์ (อย่าแปลกใจที่ชื่อเหมือน SIU เพราะเราลอกมาเลย!)

โมเดลธุรกิจของ Gigaom ได้รับการยกย่องในหมู่บริษัทสื่อออนไลน์ว่าเจ๋ง (Adage) เพราะกระจายรายได้หลายทาง ไม่ขึ้นกับขาใดขาหนึ่งมากเกินไป

ข้อมูลของ Digiday อ้างอดีตซีอีโอของ Gigaom พูดไว้ในปี 2014 ว่าสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากโฆษณาบนเว็บไซต์ 15%, อีเวนต์ 25%, วิจัย 60%

แต่จุดที่เป็นปัญหาทำให้บริษัทเป็นหนี้จนไม่มีเงิน ก็คือ "วิจัย"ที่ทำรายได้ไม่ถึงเป้าที่กำหนดไว้ (และแน่นอนว่าไม่พอต่อรายจ่าย)

Insiders said GigaOm’s website and events were profitable, but that research failed to meet its goals.

ปัญหาทางธุรกิจของ Gigaom

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือข้อมูลจากตัว Mathew เอง ธุรกิจทั้ง 3 ส่วนของ Gigaom ก็มีปัญหาและต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างจริงจัง

เว็บไซต์

ปัญหาของเว็บ Gigaom คือเนื้อหาแบบที่นำเสนอนั้นเจ๋ง แต่ติดกับดักของเว็บไซต์ขนาดกลาง จนไม่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ดีนัก

  • สื่อออนไลน์ที่ใหญ่ๆ ไปเลยจะไม่เน้นเนื้อหาเชิงลึกมากนัก เน้นข่าวแมสเกาะกระแส (เช่น Buzzfeed, Huffington Post, Vice) หารายได้โฆษณาจากจำนวนยอดฮิต/วิว
  • สื่อออนไลน์รายเล็กๆ ที่เป็น niche เฉพาะทางไปเลย ก็ทำเนื้อหาที่ตัวเองถนัด และมีโมเดลธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ เพราะต้นทุนไม่สูงมากอยู่แล้ว ทำกันไม่กี่คน

แต่สื่อระดับกลางแบบ Gigaom ที่มีพนักงานหลัก 75 คน (หรือเฉพาะส่วนเนื้อหาคือ 22 คน แต่จริงๆ ก็ต้องนับรวมพนักงานส่วนกลางอีกอยู่ดี พวกการเงิน บัญชี กฎหมาย) กลับไม่สามารถแข่งยอดวิวกับเว็บใหญ่ๆ ได้ และมีโครงสร้างต้นทุนไม่ดีเท่ากับสื่อเฉพาะทางรายเล็กๆ

ตัวของ Mathew เองก็เขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน

There’s a sort of barbell effect: If you are super small and super focused and super niche you can succeed, arguably. And if you’re super huge and mass and gigantic and growing quickly, you can succeed. But in the middle, is death. The valley of death. So arguably we got caught in that valley of death.

ในภาพรวมแล้วคิดว่าตัวธุรกิจสื่อของ Gigaom พอไปได้ น่าจะกำไร แต่ไม่ถึงกับรวยมาก

อีเวนต์

การหารายได้จากค่าโฆษณาอย่างเดียวย่อมไม่พอเพียง สื่อที่มีฐานผู้อ่านจึงต้องผันตัวไปหารายได้จากการจัดอีเวนต์เป็นธรรมดา

Gigaom จัดงานอีเวนต์มากมาย ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเชิง enterprise เช่น Internet of Things, Infrastructure, big data (รายชื่องานทั้งหมด)

ธุรกิจอีเวนต์ทำเงินให้ Gigaom ไม่น้อย แต่สื่ออื่นๆ ก็มองเห็นโอกาสแบบเดียวกัน กระโจนลงมายังตลาดนี้กันหมด ทำให้กลายเป็นตลาดทะเลเลือดไปเลย

การทำธุรกิจอีเวนต์อาจได้เงินดี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ประเด็นนี้ Rafat Ali ผู้ก่อตั้ง Paidcontent ที่ขายให้ Gigaom (ปัจจุบันเปิดบริษัทใหม่แล้ว) ก็ยอมรับกับ Digiday ว่า

When I did my first conference, the company stopped for two months.

วิจัย

ส่วนของงานวิจัยก็เริ่มเป็นทะเลเลือดแบบเดียวกัน เว็บข่าวธุรกิจ Business Insider ออก BI Intelligence, เว็บการเมือง Politico ออก Politico Pro

ตรงนี้เราไม่รู้ข้อมูลด้านธุรกิจสายวิจัยมากนัก ข้อมูลจาก Re/code บอกว่าหน่วยธุรกิจนี้ทำเงิน 8 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ไม่พอ เลยไม่มีข้อมูลแน่ชัดแล้วว่าตกลงปัญหาจริงๆ เกิดจากอะไร

ปัญหาของเงินทุน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือแหล่งที่มาของเงินทุนของ Gigaom มาจากเงินของนักลงทุน (VC) และ "เงินกู้" (debt) ซึ่งจุดที่เป็นปัญหาที่ต้องปิดตัวก็เป็นเพราะไม่สามารถหาเงินสดมาใช้หนี้เงินกู้ได้นั่นเอง

Gigaom recently became unable to pay its creditors in full at this time. As a result, the company is working with its creditors that have rights to all of the company’s assets as their collateral. All operations have ceased.

ตรงนี้ค่อนข้างน่าสนใจเพราะธรรมชาติของธุรกิจไอทีกับธุรกิจสื่อค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร เพราะธุรกิจไอทีสตาร์ตอัพจะมีคุณลักษณะเรื่อง scalability หรืออัตราการขยายตัวเยอะกว่า เนื่องจากเป็นการสร้างแพลตฟอร์มที่ผลิตซ้ำต่อลูกค้ารายใหม่ๆ ได้ ในขณะที่ธุรกิจสื่อค่อนข้างใช้แรงงานสูงกว่า (labour-intensive) โดยเนื้อหาทุกชิ้นที่ผลิตขึ้นมานั้นมีต้นทุนเสมอ

คุณลักษณะนี้ทำให้บริษัทสื่อมีอัตรา scalability ต่ำกว่าไอที และนักลงทุนอาจไม่ชอบนักเพราะอัตราผลตอบแทนของเงินลงทุนย่อมน้อยกว่า (ถ้าวัดเป็นจำนวนเท่าของเงินที่ลงไป เช่น บริษัทสื่ออาจทำกำไรได้สูงสุด 5x ในขณะที่ Facebook/Twitter อาจทำได้ 50x)

อย่างไรก็ตาม กระแสสื่อออนไลน์ที่มาแรงแซงโค้งสื่อแบบดั้งเดิม ทำให้ช่วงหลังนักลงทุนต่างประเทศหันมาลงทุนในบริษัทสื่อออนไลน์เช่นกัน ซึ่ง Gigaom ก็รับเงินลงทุนกับเขาด้วย (ตามข่าวจาก Digiday บอกว่า raise ไปแล้ว 22 ล้านดอลลาร์)

แต่ 22 ดอลลาร์ก้อนนี้ก็ยังไม่พอใช้ ทำให้ Gigaom ใช้วิธี "กู้เงิน"จาก VC (venture debt) อีกก้อนหนึ่ง ตรงนี้ Re/code บอกว่ายอดรวม (equity and debt) คือ 40 ล้านดอลลาร์ พอมีหนี้ที่ต้องหาเงินสดมาจ่ายดอกเบี้ยคืน แล้วดันหาเงินไม่ได้ตามนั้น เลยเป็นปัญหา

ตรงนี้เลยเกิดคำถามขึ้นว่า ตกลงแล้วการเป็นบริษัทสื่อออนไลน์ จำเป็นต้องขอเงิน VC หรือไม่? เพราะถ้าขอมาแล้วมันกลายเป็นปัญหาจนต้องปิดตัว หรือเป็นพันธนาการของเราเอง มันก็ไม่สมควรเท่าไรนะ (Danny Sullivan แห่ง Search Engine Land เป็นคนตั้งคำถามนี้)

Third Door Media generates income in three diverse ways: direct ads on our sites; lead generation and conferences. I often joke that this is like our “nuclear triad” of revenue redundancy, so that we’re not vulnerable to any single thing. But none of this relies on a mass audience. In fact, our revenue would be worse if we had a broad audience. We produce content for digital marketers, so your typical BuzzFeed reader interested in that damn dress isn’t going to be much of value to us.

อันนี้เป็นคำถามที่ดีกับผมเหมือนกัน เพราะ Blognone ไม่เคยรับเงินนักลงทุนภายนอกเลย (เป็น self-funding ทั้งหมด) เราเลือกใช้วิธีโตช้าๆ ไปตามสภาพ แต่ถ้าต้องมาทำเว็บใหม่อีกรอบในตอนนี้ ใช้วิธีเดิมจะยังเวิร์คหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบ

Mathew Ingram ตอบคำถามนี้ว่าการขอเงิน VC ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วแต่คนจะเลือก ถ้าอยากโตเร็วก็อาจพิจารณาขอเงินจาก VC เพื่อให้มีเงินไปลงทุน ขยายตัวได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอค่อยๆ สะสมเงิน

VC money is a Faustian bargain of the first order: it gives you the freedom to grow quickly, but it also puts pressure on a company to show meteoric growth, and there is a harsh penalty for not doing so — and the media industry isn’t exactly known for meteoric growth of the kind VCs like to see.

ส่วนประเด็นเรื่องการกู้เงินนั้น Mathew บอกว่าเป็นการกู้เพื่อเร่งให้โตเร็วขึ้นไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหนี้นั้นไม่ใจดีเหมือนกับนักลงทุน (Creditors are orders of magnitude less accommodating than shareholders or equity investors)

ปัญหาของ Gigaom ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นว่าด้วยโมเดลของตัวเว็บ ทำให้สถานะเป็นเว็บขนาดกลางๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอรับเงินลงทุนไปแล้วจึงไม่สามารถ scale ได้เยอะเท่ากับเว็บที่ตั้งใจเป็นเว็บตลาดแมสมาตั้งแต่ต้นด้วย

โดยสรุปแล้วคงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับเรื่องนี้ แต่กรณีของ Gigaom คงสอนให้เรารู้ว่าการรับเงินลงทุนหรือกู้เงิน มันก็มีผลด้านกลับคือสร้างแรงกดดันมหาศาลด้วยเช่นกัน อันนี้คือตัวอย่างชัดๆ จะๆ ที่ให้เห็นว่ารับเงินมาแล้วทำไม่สำเร็จ จะมีผลอย่างไร

You make certain promises about your growth, and if that growth doesn’t materialize then VCs lose interest and your company fails.

Danny Sullivan กล่าวแบบเดียวกัน

Instead, it’s perhaps a warning to anyone taking VC. You’d better expect if you’re taking all that money, you have a plan so the VCs get a pay-off.

ปัญหาของการบริหาร

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจคือพนักงานของ Gigaom ไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทมีปัญหา นั่งทำงานเขียนบทความกันอยู่ จู่ๆ ผู้บริหารก็เรียกประชุมและประกาศปิดตัว ("We were writing right up until the announcement.") บริษัทไม่เคยประกาศรัดเข็มขัด ลดคน หรือมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายเลย มาถึงก็ซัดเลย ปลดคนทั้งหมดทันที

เรื่องนี้อาจเป็นความกากของผู้บริหารเองที่จัดการเงินไม่ดี สื่อสารกับพนักงานไม่ดี (คนนอกอย่างเราสุดแล้วแต่จะรู้ได้) เรื่องการเปิดเผยสถานะการเงินขององค์กรให้พนักงานรับทราบ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานและแนวคิดก็แบ่งเป็น 2 สายชัดเจน มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป อันนี้คงไม่มีแนวคิดไหนผิดถูกเช่นกัน (ตัวอย่างบริษัทสื่อที่เผยข้อมูลการเงินให้พนักงานรับรู้ เพื่อให้เข้าใจการตัดสินใจของผู้บริหารดีขึ้น)

สรุป

ความล้มเหลวของ Gigaom ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นฟองสบู่ของสื่อออนไลน์ และแนวคิดที่แตกต่างกันของสื่อที่รับเงินลงทุนเพื่อเร่งขยายตัว และสื่อที่โตตามธรรมชาติ (Blognone อยู่ในกลุ่มหลัง)

บทเรียนที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ business model ในการหารายได้ ซึ่งผมคิดว่า Gigaom ทำเรื่องการกระจายความเสี่ยงจากรายได้เพียงก้อนเดียวได้ค่อนข้างดี (และน่าเรียนรู้เป็นแบบอย่าง รวมถึงน่าตั้งคำถามว่าถ้าเจอการแข่งขันสูงๆ แบบเดียวกัน จะต้องทำอย่างไร) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะกระจายธุรกิจได้หลากหลาย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายมันสูงเกินไป (จากต้นทุน+หนี้) มันก็ไปไม่รอดอยู่ดี

สรุปแล้ว ประเด็นเรื่องแหล่งที่มาของเงินทุน กับโมเดลธุรกิจ จึงต้องไปด้วยกันและสอดคล้องกันนั่นเองครับ (ถ้าสามารถระดมทุนภายนอกได้ แล้วโมเดลธุรกิจโตต่อเนื่อง รายได้เข้ารัวๆ ก็พุ่งทะยานเลย)

รีวิว หัวแปลงสายชาร์จ ThinkPad จากหัวกลมเป็นหัวแบน

$
0
0

เนื่องจากไปซื้อ ThinkPad X250มาใช้งาน เลยมีปัญหาเรื่องสายชาร์จ เพราะสายเก่าแบบหัวกลมไม่สามารถใช้กับสายแบบใหม่ที่เป็นหัวแบน (เริ่มใช้ใน X1 Carbon) ได้

ก่อนหน้านี้ผมมีสายชาร์จ ThinkPad แบบหัวกลมทิ้งไว้ที่บ้านและที่ออฟฟิศ เวลาไปทำงานก็ขนไปเฉพาะโน้ตบุ๊กอย่างเดียว พอ Lenovo เปลี่ยนอินเทอร์เฟซใหม่ ชีวิตเลยยากลำบากเพราะต้องขนสายชาร์จติดตัวไปด้วยตลอด จะซื้อสายชาร์จแบบใหม่เพิ่มอีกอันก็รู้สึกไม่ค่อยคุ้มเท่าไรนัก

ทางออกที่ดีกว่าคือซื้อสายแปลง (adapter หรือ converter แล้วแต่จะเรียก) ที่เสียบเข้ากับสายชาร์จหัวกลมเดิม เพื่อเปลี่ยนเป็นหัวแบนครับ

หน้าตาของสายก็ตามภาพ ง่ายๆ ไม่มีอะไรพิสดาร

เสียบแล้วใช้ได้เลย เปลี่ยนแค่หัวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การสั่งซื้อสายแปลงครั้งนี้มีอุปสรรคอยู่พอสมควร เพราะตอนแรกผมไปสั่งใน eBay โดยไม่ระวัง ปรากฎว่ามันเสียบเข้ากับสายชาร์จหัวกลมไม่ได้ (ตัวขวาในภาพ) (ยังดีผู้ขายคืนเงินให้ ถึงแม้จะไม่กี่ตัง) ตอนหลังเลยเปลี่ยนมาสั่งจาก AliExpress แทน ของมาช้าหน่อยแต่ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาใดๆ

สำหรับคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน อยากสั่งบ้าง ลองดูใน AliExpress มีอยู่หลายเจ้า อันที่ผมสั่งคือร้าน Shenzhen Cooseelaราคา 1.91 ดอลลาร์ ค่าส่งฟรี ของใช้เวลาประมาณ 10 วันหลังสั่งถึงจะเริ่มส่ง พอสถานะเป็น shipping แล้วใช้เวลาประมาณ 3-4 วันก็มาถึงไทยแล้ว

House of Cards - Season 2 Recap

$
0
0

ความเดิม House of Cards - Season 1 Recap

นั่งดูๆ หยุดๆ House of Cards Season 2 มาได้สักพักใหญ่ๆ สุดท้ายก็ดูจบ มาบันทึกไว้เป็นที่ระลึกเช่นเคยครับ (spoiler alert)

หลังจาก Frank Underwood ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรองประธานาธิบดีในตอนจบของซีซันแรก พอขึ้นซีซันที่สองเขาก็เดินหน้าต่อไป เพื่อให้ตัวเองได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งก็แน่นอนว่าทำสำเร็จในตอนจบของซีซันสอง

เนื้อเรื่องของซีซันสองแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งใหญ่ๆ โดยครึ่งแรกคือคดีฆาตฏรรมโซอี้ บาร์นส์ (ช็อค!) ส่วนครึ่งหลังเป็นวิกฤตการค้ากับเมืองจีนที่ Frank เอามาใช้ประโยชน์จนแซะประธานาธิบดีสำเร็จ (จบลงด้วยรัฐสภาลงมติจะ impeachment ประธานาธิบดี ประธานาธิบดีเลยชิงลาออกก่อน)

ความเห็นไม่เรียงประเด็น เอาตามที่นึกออก

  • เรื่องสองครึ่งดูไม่ค่อยไปด้วยกันเท่าไรนัก รู้สึกกระโดดๆ พอสมควร ทีมเพื่อนโซอี้หมดท่าง่ายไปหน่อย รอดูว่าภาคสามจะกลับมาทำอะไรได้อีกไหม
  • ส่วนการเจรจาการค้าของครึ่งหลังก็ดูงงๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังเดินเรื่องเร็วมาก ไม่สนใจอธิบายคนดู (ถือว่าคนดูฉลาดต้องรู้เอง) เราเลยไม่สามารถซึมซับ "การบลัฟ"กันในเรื่องได้มากนัก
  • ซีซันแรกเพิ่มตัวละครมหาเศรษฐี Raymond Trust เข้ามา ภาคนี้เขากลายมาเป็นคู่แค้นของ Frank อย่างเต็มภาคภูมิ (ในฐานะ "คนสนิท"ของประธานาธิบดีเหมือนกัน) ซึ่งก็สนุกในแง่การฟาดฟันเชือดเฉือน แต่การกระทำหลายอย่างของ Raymond ก็ดูไม่ค่อยเมคเซนส์เท่าไรนัก
  • ในทางกลับกัน บทของประธานาธิบดี Garreth Walker ก็ดูอ่อนไปเยอะ จนน่าสงสัยว่าพี่แกชนะเลือกตั้งมาได้ยังไงกัน (วะ) ซึ่งในซีรีส์ไม่ได้บอกไว้ เพราะซีซันหนึ่งเริ่มมาตอนที่ Walker ชนะเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว
  • ซีซันสองมีการเฉือนคมทางการเมืองกันมากขึ้นกว่าภาคแรก แต่ก็มีพล็อตรั่วเยอะขึ้นเยอะเช่นกัน (คือดูสนุกแต่ไม่ค่อยสมจริงเท่าไร) อันที่ทำใจเชื่อได้ยากคือ ประธานาธิบดี Walker ถูก impeachment เพราะไปหาที่ปรึกษาปัญหาครอบครัวแล้วได้รับยามากิน (แล้วปกปิด) จนประชาชนอเมริกันไม่พอใจ ถึงแม้ตอนหลังจะมีเหตุอื่นๆ มาซ้ำเติม แต่ก็เชื่อได้ยากว่าเรื่องแค่นี้ถูกนำมาใช้ impeachment ได้ด้วย
  • เพิ่งรู้ว่ารองประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นประธานวุฒิสภา (President of the Senates) ในนาม ส่วนประธานสภาคนที่มาจากวุฒิสมาชิก มีตำแหน่งเป็นทางการคือ "ปฏิบัติหน้าที่ประธาน" (President pro tempore) อันนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวุฒิสภาสหรัฐอยู่แล้ว ไม่ว่าใครเป็น รอง ปธน. จะได้ควบตำแหน่งประธานวุฒิด้วย
  • ตัวละครที่น่าสนใจที่เพิ่มเข้ามาในภาคนี้คือ Jackie Sharp วิปสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ที่เป็นทั้งผู้หญิงและเป็นทหาร
  • Doug Stamper เป็นตัวละครที่น่าสนใจ และน่ารำคาญไปพร้อมกัน (ในเรื่องที่พี่แก obsess กับ Rachel มากจนรู้สึกเยอะ)
  • สิ่งที่ House of Cards ทำได้ดีเสมอมาคือ แอคติ้ง ของตัวละครแทบทุกตัว และ art direction งดงามมาก
  • ฉากที่น่าประทับใจคือ Frank ปะทะศึกกับ Raymond จนสูญเสียแทบทุกสิ่ง แม้กระทั่งมิตรภาพกับ Freddy คนขายบาร์บีคิว แต่สุดท้ายการเสี่ยงก็เห็นผล ได้อำนาจมาโดยแลกกับหลายอย่างไป #การเมือง
  • ไดอะล็อกน่าประทับใจของภาคนี้คือตอนสุดท้ายที่ Jackie Sharp บอก Frank ว่าการโค่นประธานาธิบดีนั้น "just shy of treason"เลยเชียวนะ และ Frank ตอบกลับมาว่า "Just shy, which is politics"
  • ฉากจบก็น่าประทับใจตรงที่ Claire บอกให้ Frank เดินเข้า Oval Office ไปก่อนคนเดียว เพื่อให้ "เสพ"กับอำนาจของการได้เป็นประธานาธิบดี (ที่ต่อสู้มาสองซีซัน) ได้เต็มอิ่ม
  • ฉากอึ้งๆ มีอยู่สองฉากคือ ฆาตกรรมโซอี้ (ตายกันง่ายๆ แบบนี้เลย) และฉาก threesome ในตอนที่ 11 (ทำกันแบบนี้เลย)
  • BlackBerry นี่มันเอามือหักทิ้งกันง่ายๆ ได้แบบนี้เลย?

โดยสรุปคือสนุก แต่พล็อตรั่วเยอะ ให้คะแนนรวมเป็นรองซีซันแรกเล็กน้อย

บทวิจารณ์ 'นารุโตะ'

$
0
0

หลังจากเขียนมา 15 ปี "นารุโตะ"อวสานไปเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนี้ผมไม่ได้อ่านรายสัปดาห์ ซื้อแต่รวมเล่ม (แถมซื้อช้าอีกตะหาก) เพิ่งได้อ่านตอนจบ ก็มาเขียนบันทึกไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย

ต้องบอกว่าตอนแรกผมไม่ได้สนใจนารุโตะมากนัก จนมีเพื่อนมาแนะนำให้อ่าน (มาอ่านเอาช่วงที่เริ่มสอบจูนินแล้ว) พบว่ามันเป็นการ์ตูนแอคชั่นเด็กผู้ชาย (โชเนน) รุ่นใหม่ที่สนุกมาก ถึงแม้คาแรกเตอร์ตัวละครจะตามแบบฉบับตัวเอกเลือดร้อนคิดน้อยไปสักหน่อย

จุดที่พีคที่สุดก็คือช่วงสอบจูนินจนถึง "ถล่มโคโนฮะ"จากนั้นแผ่วลงหน่อยตอนตามหาซึนาเดะ แต่ก็ปิดฉากภาคแรกลงอย่างคลาสสิคและสวยงาม

จนกระทั่งขึ้นภาคสองนั่นแหละ!

แต่ไหนเลยอ่านมาขนาดนั้นแล้วก็ต้องตามต่อให้จบครับ

สิ่งที่ดีงามล้ำเลิศที่สุดของนารุโตะ ผมยกให้การออกแบบฉากต่อสู้ที่ซับซ้อนและชาญฉลาด ฉากต่อสู้ของนารุโตะเต็มไปด้วยทริคและยุทธศาสตร์มากมาย วิชาหลากหลายสามารถข่มทับกันได้ขึ้นกับไหวพริบของผู้ใช้งาน การ์ตูนเรื่องที่วาดฉากต่อสู้ได้ดีเลิศในระดับเดียวกัน ที่นึกออกมีแค่ Jojo กับ Hunter x Hunter เท่านั้น

ข้อดีที่รองลงมาคือ การออกแบบตัวละครและวิชานินจา ผมว่าหลากหลาย แปลกใหม่ (ถึงแม้หลายอันมันจะดูไม่ใช่วิชานินจาก็เหอะ) ตัวละครทุกตัวมีจุดเด่น จุดต่างของตัวเองทั้งในแง่คาแรกเตอร์และความสามารถ ไม่ดูซ้ำซากจำเจ ถือว่าผู้เขียนทำได้ดีเลยแหละ

แต่ปัญหาสำคัญมากๆ ของนารุโตะคือ โครงเรื่องใหญ่ไม่ดีพอ และการดำเนินเรื่องระหว่างทางก็ไม่ดีด้วย

ปัญหาเรื่อง "โครงเรื่อง"ของนารุโตะคือ นารุโตะเป็นการ์ตูนที่สร้าง "โครงเรื่องใหญ่" (grand plot) อันเดียว แล้วร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องให้ถักทอเป็นผืนเดียวกัน

ตรงนี้จะต่างจากการ์ตูนผู้ชายหลายเรื่องที่วางเรื่องเป็นภาค (arc) เช่น ดราก้อนบอลตอนฟรีเซอร์ เซลล์ และจอมมารบู แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน (ผู้ร้ายชุดใหม่ ตัวละครหลักชุดเดิม) หรือวันพีซเองก็ใช้วิธีแยก arc ตามแต่ละเกาะ ที่เอื้อให้เนื้อเรื่องไม่จำเป็นต้องร้อยต่อกัน

กรณีของนารุโตะใช้ระบบโครงเรื่องเดี่ยว แล้วพยายามนำเรื่อง (lead) ผ่านแต่ละ arc เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางสุดท้าย แต่ปัญหาคือผู้เขียนกลับนำเรื่องได้ไม่ค่อยดีนัก

เอาง่ายๆ ว่าเราไม่รู้เลยว่า "ตัวร้าย"ของเรื่องนี้คือใคร เพราะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่กลุ่มของโอโรจิมารุ เก้าหาง แสงอุษา เพน มาดาระ ไปจนถึงคางุยะ บอสสุดท้ายที่มาได้ไงไม่รู้ (แถมความต่อเนื่องของพล็อตก็ไม่ค่อยดีนัก ตัวร้ายคั่นกลางอย่างโอโรจิมารุ หรือคาบูโตะ แทบจะไร้ค่าในช่วงหลัง) ตัวละครฝ่ายศัตรูที่ผมว่าเขียนได้ดีมีตัวเดียวคือ อิทาจิ

พล็อตเรื่องในภาคสองของนารุโตะยังถูก distract ไปกับเนื้อหาบางส่วนที่ไม่จำเป็นนัก ถ้าวิเคราะห์กันละเอียดแล้ว โครงเรื่องหลักของนารุโตะประกอบด้วย 2 พล็อตซ้อนกัน ได้แก่ ภาพใหญ่ที่เป็นการต่อสู้ของเหล่านินจากับขบวนการแสงอุษา (ที่มีมาดาระชักใยอยู่) และภาพย่อยการขับเคี่ยวกันระหว่างสองตัวละครหลัก นารุโตะกับซาสึเกาะ

ถ้ายึดสองพล็อตนี้เป็นแกนกลาง พล็อตเรื่องหลายจุดจึงกลายเป็นส่วนเกิน ที่ผมคิดว่าตัดทิ้งได้เลยคือช่วงของ "เพน"ที่แทบไม่มีค่ากับเรื่องเลย บ่วงกรรมระหว่างลูกชายสองคนของเซียนหกวิถี ถูกแทรกเข้ามาแบบจับยัด และถ้าเอาจริงๆ แล้ว ตัวละครอย่างโอบิโตะ อาจไม่จำเป็นต้องมีได้ (ถ้านารุโตะสามารถจบได้ใน 50 เล่ม จะดีกว่านี้หลายเท่า)

เพื่อความแฟร์ ปัญหาเรื่องโครงเรื่องเดียวแต่ทำได้ไม่ดี ไม่ได้เกิดกับนารุโตะเพียงเรื่องเดียวนะครับ มีการ์ตูนอีกหลายเรื่องที่เจอปัญหาแบบเดียวกันคือ โครงเรื่องมันซับซ้อนจนผู้เขียนเอาไม่อยู่ เท่าที่ผมนึกออกก็อย่างเช่น หุ่นเชิดสังหาร (อันนี้น่าเสียดายมาก) และ 20th Century Boys เป็นต้น

ประเด็นต่อมาที่นารุโตะทำได้ไม่ค่อยดีคือระดับ "ความสมจริง"ในเรื่อง ดีกรีความเก่งของแต่ละตัวละครไม่ค่อยคงเส้นคงวานัก (ความแตกต่างระหว่างเกะนิน จูนิน โจนิน คาเงะ แทบไม่มีเลยในตอนหลัง) ตัวนารุโตะเองได้พาวเวอร์อัพขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีประโยชน์มากนัก ในขณะที่ซาสึเกะเก่งได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องทำอะไรสักเท่าไร พอระดับความเก่งของสองคนนี้เกินมนุษย์ธรรมดาไปมาก การไปเปรียบเทียบกับนินจาคนอื่นๆ เลยยิ่งดูว่าคนอื่นไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

การคืนชีพคนที่ตายแล้วอย่างไม่มีเหตุผลและเงื่อนไขรองรับ เช่น การเรียกโฮคาเงะทุกรุ่นกลับมาช่วยสู้ได้แบบง่ายๆ วิชามาครบ พูดได้ ความทรงจำมี ถึงแม้จะช่วยให้ฉากต่อสู้ดูแปลกใหม่ขึ้น แต่กลับเป็นผลเสียให้คนรุ่นปัจจุบันดูหมดบทบาทลงไปเลย

จุดที่ทำให้แฟนๆ นารุโตะหลายคน (เท่าที่ถามมา) เสียศรัทธากันไปเยอะคือเหตุการณ์ "ดราก้อนบอลคืนชีพ"ที่เพนกลับใจ คืนชีพคนในหมู่บ้านกลับมาให้ (ถ้ากล้าปล่อยให้ตายหมดจริงๆ จะเป็นสุดยอดมังงะนัวร์)

ด่ามาเยอะแล้วควรจะต้องชมบ้าง ตอนจบของนารุโตะก็ถือว่าทำได้ดี นำกลับมาสู่การขับเคี่ยวกันระหว่างนารุโตะกับซาสึเกะที่วางพล็อตไว้ตั้งแต่ต้น ผลลงเอยก็ทำออกมาดี อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยอินกับแรงจูงใจของซาสึเกะเท่าไรนัก (คือเหตุผลในการแค้นมันดูไม่ค่อยสมจริงและชวนเชื่อเท่าไร) คิดว่าถ้าออกแบบคาแรกเตอร์ของซาสึเกะให้ลงตัวกว่านี้ เรื่องจะสนุกกว่านี้อีกมาก

โดยสรุปแล้ว นารุโตะเป็นการ์ตูนผู้ชายที่ดีมากเรื่องหนึ่ง แต่เสียดายว่าปั้นเรื่องตั้งต้นมาดีขนาดนี้แล้ว ควรจะทำได้ดีกว่านี้อีกมาก

Keyword: 

Startup Unicorns

$
0
0

เมื่อปี 2013 เคยเขียนบล็อกเรื่อง Unicorn Club: Founders Storyโดยอ้างอิงบทความจาก TechCrunch ที่ชื่อ Welcome To The Unicorn Club: Learning From Billion-Dollar Startups

เวลาผ่านมาราวปีครึ่ง คำว่า Unicorn กลายเป็นศัพท์ยอดฮิตของวงการ โดยหมายถึงบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์โดยยังไม่เข้าตลาดหุ้น

กระแสการระดมทุนของสตาร์ตอัพในปี 2014 ตลอดทั้งปี ทำให้มี Unicorn เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก เมื่อครั้งบทความต้นฉบับในปี 2013 มีบริษัทเข้าข่าย Unicorn เพียง 39 บริษัทเท่านั้น แต่จากการนับของ Fortune ในเดือนมกราคม 2015 เรามี Unicorn เกิน 80 ตัวเข้าไปแล้ว (รายชื่อทั้งหมด) รายละเอียดสามารถอ่านได้ในบทความ The Age of Unicorns

Unicorn 10 อันดับแรก (พร้อมมูลค่าตามบทความข้างต้น ตัวเลขคงเปลี่ยนแล้วแต่ขี้เกียจหา) ได้แก่

  1. Xiaomi - มูลค่า $46B
  2. Uber - $41B
  3. Palantir - $15B - บทความใน Blognone
  4. Airbnb - $13B - บทความใน Blognone
  5. Flipkart - $10B
  6. Dropbox - $10B
  7. Snapchat - $10B
  8. SpaceX - $10B
  9. Theranos - $9B
  10. Meituan - $7B

สำหรับผู้สนใจข้อมูลเรื่องนี้ ลองดู รายชื่อเวอร์ชันของ WSJคล้ายๆ กันแต่ไม่เหมือนซะทีเดียว

คำถามที่น่าสนใจคืออะไรเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิด Unicorn เยอะขนาดนี้ในเวลาอันรวดเร็ว คำตอบมีหลายประการ

  • เทคโนโลยีกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คน และเปลี่ยนแปลงธุรกิจ
  • ตลาดทุนสหรัฐก็อยู่ในวัฏจักรขาขึ้น (bull market) บวกกับดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ (นักลงทุนเอาเงินมาลงสตาร์ตอัพดีกว่า) และการผ่อนคลายกฎระเบียบของรัฐบาลสหรัฐใน JOBS Act ทำให้บริษัทขนาดเล็กระดมทุนได้ง่ายขึ้น
  • อันนี้ผมบวกให้เอง คือจังหวะขาขึ้นของบริษัทฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่สั่งสมความมั่งคั่งจากตลาดในประเทศ และเริ่มหันมากระจายพอร์ตในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งรวมโลกตะวันตกด้วย

สตาร์ตอัพดาวรุ่งเหล่านี้จึงฉวยจังหวะที่ "ต้นทุนการเงิน"มีราคาถูกพิเศษ (easy money) ระดมทุนกันรัวๆ (น้ำขึ้นให้รีบตัก) จนมีคนเริ่มทักว่า จะเกิดภาวะฟองสบู่หรือไม่ เราจะซ้ำรอย Dotcom Crash ในปี 2001 หรือเปล่า

เรื่องฟองสบู่แตกอันนี้คงไม่มีใครพยากรณ์ได้แม่นยำ (เห็นพูดกันมา 2-3 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่แตก ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ real economy ของไอทีนั้นใหญ่ขึ้นกว่าปี 2001 มาก) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของฟองสบู่แตกนั้นไม่จำกัดเฉพาะบริษัทสตาร์ตอัพเจ๊ง คนตกงานเท่านั้น แต่รวมไปถึงรายได้ของบริษัทที่ลอยตัวไปแล้วอาจกระทบด้วย เช่น รายได้ของ Facebook จำนวนไม่น้อยมาจากการลงโฆษณาของสตาร์ตอัพที่อยากโปรโมทแอพ ได้เงินลงทุนจากนักลงทุนไม่อั้น ก็เลยลงโฆษณาไม่อั้น ถ้าหากว่าบริษัทพวกนี้เจ๊งไป รายได้ของ Facebook ก็ย่อมลดลง

นอกจากประเด็นเรื่องฟองสบู่ของการลงทุนทั้งตลาดแล้ว บางบริษัทอาจได้รับการประเมินเกินศักยภาพที่แท้จริง จนทำให้ตอนขายหุ้นในตลาดจริงๆ ตลาดอาจตอบรับไม่ดีเหมือนกับนักลงทุน private funding ประเมินไว้ ตอนนี้จึงเริ่มบางบริษัทที่มูลค่าลดลงบ้างแล้ว

กรณีของเมืองไทยนั้นคงต้องใช้นิยาม Unicorn ที่ต่างออกไป (มีคนเคยเสนอผมว่า ควรจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ IPO สำเร็จด้วยตัวเอง อันนี้ค่อนข้างเห็นด้วยเหมือนกัน) ส่วนประเด็นเรื่องว่าเมืองไทยจะสามารถมี Unicorn ได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ตอบยากมากเพราะบริบทแตกต่างกันมาก แต่ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญคือการสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม จากรุ่นสู่รุ่นต่อไปเรื่อยๆ (เช่น เราไม่สามารถมีบริษัทระดับ 1,000 ล้านบาทได้ง่ายนัก ถ้าเรายังมีบริษัทระดับ 100 ล้านบาทไม่เยอะพอ) ซึ่งก็ต้องพยายามกันต่อไปครับ

Keyword: 

How to Play Local Video File to Chromecast

$
0
0

อยากดูหนังบนไฟล์ที่อยู่ในเครื่องพีซีแบบ local ขึ้นจอทีวีที่ต่อ Chromecast ทำอย่างไร?

จากที่ลองดูแล้ว พบว่ามี 2 วิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดครับ

วิธีแรกคือ Chrome สามารถเล่นไฟล์วิดีโอบางประเภท (เช่น MP4) ได้ตรงๆ อยู่แล้ว แค่ลากไฟล์ไปใส่ก็ใช้ได้ทันทีเลย จากนั้นเราก็ลงส่วนเสริม Google Castแล้วกด Cast แท็บที่เล่นวิดีโออยู่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเล่นมัลติมีเดียของ Chrome ค่อนข้างจำกัด เพราะเล่นไฟล์บางประเภท (เช่น MKV) ไม่ได้ เปิดซับไตเติลไม่ได้ ฯลฯ

วิธีที่สองเพิ่มขั้นตอนมาอีกหน่อยคือลงส่วนเสริมชื่อ Videostreamเพิ่มไปอีกตัวหนึ่ง แล้วเลือกไฟล์วิดีโอจากหน้าจอของ Videostream ส่งขึ้น Chromecast ได้เลย รองรับ MKV, รองรับการโหลดไฟล์ซับไตเติลแยก

Videostream มีเวอร์ชันพรีเมียมที่เพิ่มความสามารถบางอย่างเข้ามา เช่น ระบบ playlist, ระบบ custom subtitle ถ้าใครอยากได้เพิ่มก็จ่ายเงินเพิ่มได้ แต่เท่าที่ลองก็พบว่าเวอร์ชันฟรีสามารถใช้งานได้พอกับความต้องการพื้นฐานอยู่แล้ว

หมายเหตุ: จริงๆ ยังมีวิธีอื่นในการเล่นไฟล์วิดีโอขึ้น Chromecast เช่น ตั้งเซิร์ฟเวอร์ Plex แต่แบบนั้นดูจะเยอะเกินที่ต้องการไปหน่อย ใครสนใจก็ลองหาวิธีการกันเองได้ไม่ยากจากในเน็ตนะ

Keyword: 

The HP Way วิถีแห่งเอชพี

$
0
0

วันเดียวกับที่ HP เผยโลโก้ของบริษัทใหม่ที่จะแยกตัวออกมาผมก็อ่านหนังสือคลาสสิค The HP Way ที่เขียนโดยผู้ก่อตั้ง David Packardจนจบ (คนขวาในภาพคือ Packard คนซ้ายคือ Hewlett)

เลือกอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะได้ยินการอ้างถึง "HP Way"อยู่บ่อยครั้งในตำราด้านบริหารธุรกิจ บวกกับอยากรู้ประวัติศาสตร์ของซิลิคอนวัลเลย์ในยุคก่อตั้งด้วย (HP ก่อตั้งปี 1939 ตอนนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ และสตีฟ จ็อบส์ ยังชดใช้กรรมชาติก่อนอยู่เลยกระมัง) อ่านจบแล้วพบว่าได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดังที่ต้องการ และได้เรียนรู้ว่า "วิถีแห่งเอชพี"ว่าตกลงแล้ว HP Way คืออะไรกันแน่

ครึ่งแรกของหนังสือเล่าประวัติของตัว David Packard เอง (และคู่หูของเขาคือ Bill Hewlett) จากนั้นก็เป็นตำนานการก่อตั้ง HP จากโรงรถจนกลายมาเป็นบริษัทที่มีพนักงานระดับแสนคน (HP ถือเป็นต้นแบบของการก่อตั้งบริษัทไอทีในโรงรถ) ส่วนครึ่งหลังเป็นการอธิบายหลักการบริหารแบบเอชพี ที่ Packard เรียกมันว่า HP Way

ถึงแม้สไตล์การเขียนของ Packard จะโบราณไปนิด เรียบๆ ไม่เน้นดราม่าตื่นเต้น เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยลงลึกมากเหมือนหนังสือยุคนี้ (Packard เขียนและตีพิมพ์ในปี 1995) แต่รวมๆ แล้วก็ถือว่าดีทีเดียว คุ้มราคาที่จ่ายไปกับฉบับอีบุ๊กบน Kindle

HP Wayเป็นแนวทางการบริหารแบบ HP ที่

  • เน้นการสร้างนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลกำไรระยะยาวแทนกำไรระยะสั้น เชิดชูการต่อยอดธุรกิจด้วยความก้าวหน้าทางเทคนิค (HP ใช้คำว่า "contribution"คือถ้าธุรกิจอะไรที่ HP ไปสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาการให้ไม่ได้ เราไม่ทำ)
  • เน้นการส่งเสริมพนักงานให้ได้ทำในสิ่งที่รัก เน้นการผูกใจพนักงานให้อยู่กับองค์กรยาวๆ เปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดและทำอย่างมีอิสระ (โดยยังอยู่ภายใต้กรอบกว้างๆ ของบริษัท)
  • เน้นการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ทำงานเพื่อลูกค้า ส่งเสริมให้ทีมเซลส์ของ HP อยู่ข้างลูกค้า แม้ลูกค้าจะมีปัญหากับบริษัท HP
  • สนับสนุนการให้มูลค่ากลับคืนแก่ครอบครัวของพนักงาน ชุมชน และสังคม (ทั้งตัว Hewlett และ Packard ตั้งมูลนิธิของตัวเองเพื่อ philanthropy มานานมากก่อนใครๆ)

รายละเอียดที่เหลือของ HP Way สามารถอ่านได้ตามลิงก์ข้างต้น

มาถึงวันนี้ HP Way ไม่มีอะไรใหม่เพราะเป็นหลักการบริหารที่ยั่งยืน และมีการกำกับดูแลที่ดี (good governance) ที่ปฏิบัติกันทั่วไปอยู่แล้ว แต่ถ้ามองว่าวิถีแห่ง HP ถูกก่อร่างขึ้นตั้งแต่ปี 1939 ในสมัยที่ศาสตร์ด้านการบริหารธุรกิจ การบริหารคน ยังไม่พัฒนามากถึงทุกวันนี้ ก็ถือว่าก้าวหน้ามากๆ ในสมัยนั้น

แนวทางของ HP Way ถือเป็นรากฐานของ "วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์"ของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ (ซึ่งถูกพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมโดยบริษัทรุ่นหลังๆ อย่างแอปเปิล กูเกิล เฟซบุ๊ก) แต่เป็นมุมกลับของแนวทางบริหารแบบ IBM ที่เป็นมีความเป็น corporate/business สูง ในสมัยนั้น HP ถือเป็นตัวแทนของฝั่งซิลิคอนวัลเลย์ที่เน้นความเป็นอิสระทางความคิด แข่งกับสาย IBM ที่เน้นการตอบโจทย์ธุรกิจ

เราจะเรียกว่า HP เป็น anti-corporate ก็พอได้ แต่อารมณ์มันจะประมาณ "นายช่าง"หรือ "นักประดิษฐ์"มากกว่าเป็น "ศิลปิน"แบบแอปเปิล หรือ "ฮิปสเตอร์"แบบเฟซบุ๊ก ผมคิดว่าบริษัทที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับ HP มากที่สุดน่าจะเป็นกูเกิล แต่กูเกิลจะ playful กว่า

น่าเสียดายว่าจิตวิญญาณแบบ HP ที่เชิดชูความเป็นเลิศด้านเทคนิค (สโลแกนของ HP ช่วงหนึ่งคือ "invent") จางหายไปนานแล้ว เท่าที่ลองอ่านประวัติดู ผมคิดว่าหายไปตั้งแต่ช่วงซีอีโอหญิง Carly Fiorina เข้ามาช่วงปี 1999 จนบริษัทปั่นป่วน พอมาถึงยุคของ Mark Hurd ถึงแม้ผลประกอบการดี แต่มาจากการลดต้นทุนซะเยอะ นวัตกรรมแทบไม่มี และ Hurd ก็จากไปโดยทิ้งระเบิดกองใหญ่ไว้ให้มากมาย

ปัญหาของ HP ในรอบเกือบ 20 ปีให้หลัง จึงถูกอธิบายในเชิงว่า HP สูญเสีย "วิถี"ของตัวเองไป ตัวอย่างบทวิจารณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่พาดหัวในลักษณะเดียวกันหมด

HP ยุคล่าสุดของ Meg Whitman เริ่มขึ้นในปี 2011 ช่วงแรกเธอคงทำอะไรไม่ได้มากนอกจาก stabilize บริษัทที่แตกร้าว ตอนนี้ต้องรอดูว่าแผนการที่กล้าหาญอย่างการแบ่ง HP ออกเป็นสองครึ่ง จะสามารถฟื้นฟู HP Way กลับมาได้หรือเปล่า


How to Sell Your Company

$
0
0

เจอบทความของ Justin Kan เจ้าของชื่อ "Justin"ใน Justin.tv (ที่ปัจจุบันกลายร่างมาเป็น Twitch) ตอนนี้เขากลายมาเป็นหนึ่งในทีมนักลงทุนของ Y Combinator

Justin เขียนบทความเกี่ยวกับการ "ขายบริษัท"จากมุมมองของเขาในฐานะที่เป็นทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน เพื่อให้บรรดาสตาร์ตอัพในสังกัด Y Combinator นำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้งานต่อได้ บทความชื่อว่า The Founder’s Guide To Selling Your Company

ผมเองก็ไม่เคยขายบริษัท (เคยก็แปลกละ) แต่คิดว่าบทความน่าจะมีประโยชน์กับสตาร์ตอัพรายอื่นๆ ด้วย มาเขียนสรุปประเด็นไว้หน่อยครับ

เมื่อไรถึงควรขาย

Justin บอกว่าเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะขายกิจการ ก็คือช่วงที่กิจการของเรายังไปได้ดีมากๆ และเราไม่มีความคิดอยากขายเลยสักนิด

อันนี้จะกลับทิศกับธรรมชาติของเรา ที่มักอยากขายตอนหมดไฟแล้ว หมดใจแล้ว ไปไม่รอดแล้ว เหนื่อยจุงเบย ซึ่ง Justin บอกว่าถ้าขายตอนนี้ โอกาสที่คนจะมาซื้อย่อมน้อยลง ดังนั้นถ้าจะขายก็ควรขายในตอนที่เจริญรุ่งเรือง และเรามั่นใจว่าเราสามารถปฏิเสธข้อเสนอซื้อได้ (คือไม่ซื้อก็ไม่แคร์) จะดีที่สุด

เริ่มต้นเจรจา

Justin เตือนว่ากระบวนการเจรจาซื้อขายกิจการนั้นถือเป็นสิ่งที่กินพลังชีวิตมากที่สุด และส่งผลให้เราไม่มีสมาธิกับงานประจำอีกต่างหาก (ที่ซวยที่สุดคือ ขายไม่ได้ งานก็เสีย) ดังนั้นควรเริ่มการเจรจาเมื่อพร้อมขายจริงๆ เท่านั้น อย่าไปคิดเจรจาเล่นๆ เพื่อเช็คดูว่า "ไหนดูสิ บริษัทเราราคาเท่าไร"มันจะได้ไม่คุ้มเสีย

มูลค่าบริษัทควรเป็นเท่าไร

วิธีการประเมินมูลค่าบริษัท แบ่งออกเป็น 2 วิธีกว้างๆ คือ ประเมินจากมูลค่าทางการเงิน (financial value) ดูจากอัตรากำไรในปัจจุบัน และกระแสเงินสดในอนาคต กับประเมินจากมูลค่าเชิงยุทธศาสตร์ (strategic value)

สำหรับสตาร์ตอัพทั่วไปนั้น มูลค่าทางการเงินเท่ากับศูนย์ซะเป็นส่วนใหญ่ การขายจึงขึ้นกับมูลค่าเชิงยุทธศาสตร์ในสายตาของผู้ซื้อ

ตัวอย่างเหตุผลในการซื้อเพื่อ "เสริมยุทธศาสตร์"ที่พบบ่อย อาจดูแปลกๆ ในบางอัน แต่ก็เป็นแบบนี้จริงๆ

  • ซื้อเพราะ CEO ของบริษัทที่ซื้อสนใจบริษัทเรา หรือซื้อเพราะกันคู่แข่งมาซื้อ
  • ผู้บริหารอยากโชว์ว่ากล้าทำอะไรเจ๋งๆ ตามทิศทางของบริษัท เลยมาซื้อกิจการเพื่อโชว์เบื้องบน
  • บริษัทที่ซื้อมีคู่แข่งร่วมธุรกิจที่เจ๋งกว่า จึงต้องซื้อกิจการเราไปเสริมทีม
  • บริษัทที่ซื้อหาคนที่เจ๋งๆ ในสาขาที่ต้องการไม่ได้ เลยซื้อบริษัทเพื่อซื้อตัวทีมงาน (acquire-hire)
  • ธุรกิจของเรามีความเกี่ยวเนื่องหรือสอดคล้องกัน และการซื้อกิจการ "น่าจะ"เอามาเสริมให้แข็งแกร่งขึ้นได้ อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี
  • เป็นธุรกิจร่วมวงการเดียวกัน แต่เราทำได้ดีกว่า เลยมาซื้อเราซะเลยเพราะกลัวเราแซง

Justin เตือนไว้ว่า บริษัทเราต้องเป็นฝ่ายถูกซื้อ ไม่สามารถไปเร่ขายได้ (companies are bought, not sold) การทำให้เขามาสนใจซื้อเรา ต้องมี "คนใน"ของบริษัทนั้นเป็นคนผลักดัน (champion) ให้ผู้บริหารตัดสินใจซื้อกิจการ (ภาษาไทยก็เรียก "คนชงเรื่อง") ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราไปควบคุมให้มันเกิดขึ้นไม่ได้

เรื่องราคา ยังไงซะก็ไม่มีราคาที่ "เหมาะสม"หรอก ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการเจรจาต่อรองทั้งนั้น ราคาแรกที่เสนอมามักไม่ดีเสมอ จงอย่ากลัวที่จะปฏิเสธไม่รับข้อเสนอที่ราคานั้น

การจะเพิ่มราคาขายให้สูงขึ้นได้ มีปัจจัยแปรผันอยู่แค่ 2 อย่าง อย่างแรกคือเราต้องกล้าที่จะล้มกระดาน ยอมหักดิบไม่ขาย กับหาผู้ซื้อรายอื่นเพื่อเกิดสภาพแข่งขัน (competitive bidding)

ทำอย่างไรเขาถึงจะมาเสนอซื้อ

วิธีการที่ดีที่สุดในการทำให้คนอื่นมาเสนอซื้อเรา คือการไปเสนอโอกาสในการทำงานร่วมกัน (partner) ซึ่งเราจะต้องคุยกับคนหลายฝ่ายถ้าเป้าหมายเราเป็นบริษัทใหญ่ การตัดสินใจเสนอซื้อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้บริหารระดับสูงเห็นว่า การมาซื้อเราคุ้มกว่าการทำงานร่วมกับเรา (buying you is a better idea than partnering with you)

เมื่อได้รับข้อเสนอซื้อแล้ว ให้ดูว่าเรามีทางเลือกอะไรบ้าง เราอาจแจ้งให้คู่ค้าบางรายที่น่าจะมีโอกาสซื้อเรารับทราบ (เพื่อบีบให้เสนอราคาแข่ง) หรือไม่ก็ติดต่อนักลงทุนขอระดมทุนเพิ่มในช่วงเดียวกันเลย (เพราะจะได้ราคาดี)

ข้อเสนอห่วยๆ

Justin บอกว่าข้อเสนอซื้อส่วนใหญ่มักห่วยแตก (bullshit offers) ข้อเสนอที่ดีจะต้องมีเงื่อนไขเวลากำกับ เช่น ต้องตอบรับภายใน 24-48 ชั่วโมง เพื่อบีบไม่ให้เรามีเวลาไปเจรจากับผู้ซื้อรายอื่น (ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเขาอยากซื้อเราจริงจัง) ถ้าข้อเสนอใดไม่มีระยะเวลากำกับ ให้พึงระลึกว่าเขาไม่ได้สนใจเรามากนัก

Justin แนะนำว่าในการเจรจา ให้รีบคุยประเด็นสำคัญๆ อย่างราคา หรือเงื่อนไขในการอยู่ต่อของพนักงาน (retention package) ให้เร็วที่สุด เพื่อประหยัดเวลาในการประชุมพบปะกัน บีบให้กระชับไม่ยืดเยื้อจนเกินไป มิฉะนั้นจะเปลืองพลังงานชีวิต

จ้างนักการเงิน

การเจรจานั้นซับซ้อนและกินพลังเยอะ ควรใช้บริการนักการเงินมืออาชีพที่ทำ M&A เป็นประจำอยู่แล้วจะดีกว่าเราไปทำเอง ค่าใช้จ่ายย่อมสูงเพราะคิดเป็น % ของราคาขาย (เช่น 1-2%) แต่ก็มักคุ้มค่าถ้านักการเงินคนนั้นเก่งจริง เจรจาให้เราได้ประโยชน์มากที่สุด

เปิดข้อมูล

ถ้ามั่นใจจะเดินหน้าในการขายกิจการแล้ว ฝั่งผู้ซื้อจะส่งนักการเงินเข้ามาตรวจสอบสถานะการเงินของบริษัท (diligence) ซึ่งเราควรให้อีกฝ่ายเข้ามาดูข้อมูลของเราแต่เนิ่นๆ ดีกว่าไปดูตอนเจรจาใกล้เสร็จแล้ว เห็นข้อมูลแล้วเลิกซื้อไปซะอย่างนั้น จะกลายเป็นเจรจาเสียเปล่า

แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ถ้าฝ่ายที่จะมาซื้อขอคุยกับพนักงานของเรา ควรปฏิเสธอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้พนักงานเสียสมาธิ และให้ความรู้สึกว่าเรายอมเขาหมดทุกอย่าง

เซ็นเอกสารเงื่อนไข

จากนั้นผู้ซื้อจะส่งเอกสารเงื่อนไขการซื้อกิจการ (term-sheet) ให้เราเซ็นยินยอม จุดนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของการซื้อขายกิจการ เพราะก่อนเซ็นเรามีอำนาจต่อรองเต็มที่ หลังเซ็นแล้ว อำนาจต่อรองจะไปอยู่ที่ผู้ซื้อแทน

การเซ็นเอกสาร term-sheet แปลว่าเราให้คำมั่นว่าจะขายให้กับรายนี้แล้ว เราไม่สามารถไปเจรจากับบริษัทรายอื่นได้อีก แต่การเซ็นไม่ได้แปลว่าเราขายได้แน่นอน 100% เพราะเซ็นไปแล้วยังมีโอกาสดีลล่มได้

Justin แนะนำว่าเราควรกำหนระยะเวลาต่อรอง term-sheet ไม่เกิน 30 วัน (นับจากเริ่มต้นเจรจาจนถึงเซ็น) เพื่อไม่ให้การเจรจายืดเยื้อเกินไปจนรบกวนสมาธิของเรากับธุรกิจหลักของบริษัท

การปิดดีล

Justin บอกว่าช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด คือหลังเซ็น term-sheet ไปจนถึงการปิดดีล ขายได้สำเร็จ เพราะมีโอกาสที่ดีลจะล่ม หรือปรับลดมูลค่าลงได้เสมอ ช่วงเวลานี้เรามักฝันหวานเห็นอนาคตสดใสอยู่เบื้องหน้า แต่ขอให้ระวังเพราะดีลยังไม่จบ เราจะมั่นใจได้ก็ต่อเมื่อเห็นเงินโอนเข้ามาในบัญชีเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

จากนั้น งานเอกสารที่เหลืออื่นๆ มักเป็นหน้าที่ของทนาย เราไม่ต้องทำงานเยอะแล้ว แต่ก็ยังต้องคอยกำกับประเด็นเรื่องธุรกิจให้เป็นไปตามที่ต้องการด้วย

Justin อ้างข้อมูลของบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายที่เคยขายกิจการ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากระบวนการขายกิจการนั้นสิ้นเปลืองพลังและสมาธิมากกว่าการระดมทุนประมาณ 10 เท่าตัว

ภาพประกอบจาก Flickr โดย Gerard Stolk

Keyword: 

300: Rise of an Empire

$
0
0

ภาคต่อของหนังแอคชั่นหลั่งเลือดชาวสปาร์ตา 300 อันโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน โดยหนังภาคสองจะจับเอาเนื้อหาช่วงก่อนและหลัง 300 มาขยายความทั้งในแง่ที่มาที่ไป และชะตากรรมของชาวกรีกหลังเปอร์เซียเอาชนะนักรบสปาร์ตาทั้ง 300 คนได้ในภาคก่อน

พระเอกของภาคนี้คือนายพล Themistocles ของเอเธนส์ (กษัตริย์ Leonidas ของภาคแรกอยู่สปาร์ตา) โดยนายพลเคยมีผลงานการรบชนะเปอร์เซียเมื่อ 10 ปีก่อนเหตุการณ์ในภาคแรก ตอนนั้น Themistocles ยังสามารถทำร้ายกษัตริย์ Darius ของเปอร์เซียจนเสียชีวิตได้ด้วย

หลังกษัตริย์ Darius ตาย กษัตริย์ Xerxes เลยขึ้นครองราชย์ต่อ และมาล้างแค้นชาวกรีกใน 300 ภาคแรกนั่นเอง เหตุการณ์ภาคนี้เล่าเรื่องต่อจากนักรบสปาร์ตาทั้ง 300 สู้จนตัวตาย ว่า Xerxes บุกเข้ามาต่ออย่างไร

ตัวละครที่มีบทบาทในภาคนี้คือ Artemisia (Eva Green จาก Casino Royale) แม่ทัพเรือหญิงคู่ใจของ Darius และเป็นผู้ปั้น Xerxes ขึ้นมาครองบัลลังก์ จริงๆ แล้ว Artemisia เป็นทาสชาวกรีก แต่โดนกลั่นแกล้งรังแก พอได้รับการช่วยเหลือจากชาวเปอร์เซีย เลยตั้งใจว่าจะมาล้างแค้นกรีกให้ได้ (Artemisia มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์นะครับ)

หนังภาคนี้ไม่ค่อยมีเนื้อเรื่องเท่าไร เน้นรบกันเป็นหลัก เนื้อหาหลักๆ คือ Themistocles พยายามรวบรวมกองทัพกรีก (ที่เป็นระบบนครรัฐรวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่ขึ้นต่อกัน) เพื่อมาต่อสู้กับกองเรือของ Artemisia และแน่นอนว่าเผ่า Sparta ที่รบเก่งที่สุดก็เล่นตัวอยู่พักใหญ่ๆ กว่าจะมาร่วมด้วยตอนท้าย

ฉากรบในภาคนี้จึงเน้นกองทัพเรือเป็นหลัก แอคชั่นเลยไม่ค่อยสะใจเท่าภาคแรกเท่าไร ฉากสงครามในเรื่องมีสองครั้งสำคัญคือ Battle of Artemisiumที่ Artiemisia เอาชนะกองเรือของ Themistocres ได้ ส่วนฉากสุดท้ายคือ Battle of Salamisฝ่ายกรีกสามารถถล่มกองเรือของเปอร์เซียได้สำเร็จ และหยุดการรุกรานของเปอร์เซียลงได้ในระยะยาว

รวมๆ แล้วรู้สึกว่ามันเป็น 300 ภาค 1.5 มากกว่าภาค 2 คือเน้นขยายเรื่องราวต่อว่า จากภาคแรกแล้วมันเป็นอย่างไร ความโดดเด่นของภาพถือว่ายังไม่ดีเท่าภาคแรกที่มีฉากเจ๋งๆ เยอะ และที่ทำได้ไม่ดีนักคือคาแรกเตอร์ของ Themistocres ที่ดูแบนๆ ไม่ค่อยมีเอกลักษณ์เท่าไร (ส่วน Artemisia ถือว่าทำได้ดีทีเดียว โดดเด่นน่าสนใจ แต่มีฉากโชว์การรบน้อยไปหน่อย)

Keyword: 

Birdman

$
0
0

หนังชนะออสการ์ปีล่าสุด ถ้าดูจากชื่อเรื่องหรือโปสเตอร์แล้วต้องเข้าใจผิดว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับฮีโร่แน่นอน (ถ้าดูแล้วจะพบว่า Birdman ออกมาประมาณสองนาทีเองมั้ง)

ผมนั่งดูบนเครื่องบินแบบไม่รู้อะไรมาก่อนเลย (รู้แค่ว่าเป็นหนังออสการ์) หนังแปลกดีแต่ดูแล้วเหนื่อยเหมือนกัน

เรื่องย่อแบบรวบรัดคือ พระเอก (ไมเคิล คีตัน) เคยเป็นดาราหนังฮอลลีวู้ด แสดงเป็นฮีโร่ชื่อ Birdman โด่งดังแบบสุดๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ปัจจุบันแก่โทรม หย่าเมีย ตกอับ เขาจึงเปลี่ยนแนวมาเล่นละครเวทีบรอดเวย์ในนิวยอร์ก โดยทุ่มทุนสร้างเอง กำกับเอง แสดงเอง เพื่อหวังว่าจะกลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้ง

พระเอกของเรามีความลับที่ไม่เคยบอกใคร นั่นคือเขาได้ยินเสียงกระซิบจาก Birdman อีกตัวตนหนึ่งของเขาอยู่เสมอ และเข้าใจว่าตัวเองมีพลังจิต สามารถบินได้ และเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ (ซึ่งในความเป็นจริงนั่นมโนล้วนๆ)

Birdman จึงเป็นดราม่าผสมตลกร้าย (black comedy) ที่รายล้อมอยู่รอบละครเวทีเรื่องนี้นั่นเอง

  • มาทราบทีหลังว่าผู้กำกับเรื่องนี้คือ Alejandro González Iñárritu จากเรื่อง Babelซึ่งผมดูแล้วก็ชอบ แต่มันเป็นหนังเครียด ส่วนเรื่อง Birdman นี่เครียดน้อยกว่าเยอะ
  • ไมเคิล คีตัน เคยแสดงเป็น Batman คนแรกมาก่อน ตอนแรกเข้าใจว่าการสร้างฮีโร่ Birdman จงใจล้อเลียนประเด็นนี้ แต่เอาจริงแล้ว ผู้กำกับเขียนบทก่อนแล้วค่อยหาตัวนักแสดง ซึ่งก็มาลงเอยที่คีตัน (คีตันเองยังเข้าใจว่าบทเขียนล้อตัวเองเลย)
  • จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการถ่ายภาพแบบ long take ที่ดูเหมือนเป็นช็อตเดียวกันตลอดเรื่อง (จริงๆ ไม่ใช่นะครับ เป็นเทคนิคการถ่ายภาพ) หนังเลยรู้สึกแปลกใหม่ดี แต่ละฉากต่อเนื่องกันตลอด (แต่ในอีกทางก็ใช้พลังในการดูเยอะขึ้น เพราะไม่มีจังหวะพัก)
  • ช่วงแรกของหนังจะงงๆ เล็กน้อยเพราะเราต้องเรียนรู้บริบทในโลกของหนัง (และพยายามรับทราบว่ามันไม่ใช่หนังฮีโร่แบบที่คุ้นเคย) แต่พอผ่านไปสักพักแล้ว ก็จะเข้าใจไปกับหนังได้ตลอด
  • ละครเวทีในเรื่องชื่อ What We Talk About When We Talk About Love ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายสั้นของ Raymond Carver นักเขียนชาวอเมริกันชื่อก้อง อันนี้มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องสมมติขึ้นมา
  • นอกจากชีวิตของพระเอกแล้ว หนังยังพยายามเสนอประเด็นเรื่อง "สื่อ"ประเภทต่างๆ เช่น ละครเวที คอลัมน์หนังสือพิมพ์ รวมถึงการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วย
  • Edward Norton นี่ขโมยซีนสุดๆ ไปเลย

โดยสรุปแล้วถือว่าหนังทำมาดีใช้ได้เลย แต่ถ้าให้สรุปเป็นคำก็ต้องบอกว่า "แปลกดี"ทั้งแนวทางการเล่าเรื่องตามบท และเล่าเรื่องด้วยภาพ ส่วนประเด็นว่าสมควรเป็นหนังชนะออสการ์หรือไม่ อันนี้สุดแต่ใจจะใฝ่หาเลยครับ

Keyword: 

David S. Rose: How to pitch to a VC

$
0
0

นั่งดูคลิป TED Talk อันนี้บนเครื่องบินครับ เนื้อหาอาจพูดมานานสักหน่อยแล้ว (ตั้งแต่ปี 2007) แต่ก็ยังทันสมัยอยู่ คลิปยาวแค่ 15 นาที (ตามสไตล์ TED) ดูสั้นๆ ก็จบ ตรงประเด็น+ได้ความรู้ ขอแนะนำ

คนพูด David S. Rose เคยสวมบทบาทมาแล้วทั้งการเป็นผู้ประกอบการและเป็นนักลงทุน เขาจึงมาอธิบายว่าถ้าต้องไปนำเสนอผลงานให้นักลงทุน (pitching) เราควรนำเสนออะไรบ้าง อะไรที่ควรพูด อะไรที่ไม่ควรพูด

ศาสตร์พวกนี้มีสอนกันอยู่เรื่อยๆ แต่ผมคิดว่ามีเยอะเท่าไรก็ยิ่งดีนะ มันคงไม่มีสูตรตายตัว แต่ดูไว้หลายๆ แนวแล้วมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้

Big Hero 6

$
0
0

หลังจาก Disney ประสบความสำเร็จถล่มทลายกับ Frozen ในปี 2013 ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องต่อมาก็สลับกลับมาทำการ์ตูนผู้ชายอีกครั้ง (เรื่องก่อนหน้านี้คือ Wreck-It Ralph)

แต่ Big Hero 6 พิเศษไปกว่าการ์ตูนผู้ชายใดๆ ของ Disney เหตุเพราะมันเกิดขึ้นหลังจาก Disney ซื้อ Marvel เรียบร้อยแล้ว และนโยบายที่ฝ่ายบริหารกำหนดมาก็คือ "ลองเอาหนังสือการ์ตูนในคลังของ Marvel มาทำหนังสิ!"

ผลจึงออกมาเป็นการนำคอมมิก Big Hero 6ปี 1998 ที่แทบไม่มีใครรู้จักว่ามีอยู่ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่น โดยคงตัวละครบางตัวไว้ และปรับเปลี่ยนบางตัวให้เข้ากับฟอร์แมตของหนัง Disney ที่เน้นเด็กและครอบครัวมากกว่า Marvel

เนื้อเรื่องของ Big Hero 6 เกิดขึ้นในโลกจินตนาการแห่งอนาคต ในเมือง San Fransokyo (ลูกผสมระหว่างซานฟรานกับโตเกียว) พระเอกเป็นเด็กชายชื่อ Hiro เซียนหุ่นยนต์ที่มีโอกาสสร้างหุ่นยนต์จิ๋วพลิกโลก microbot ขึ้นมา แต่เมื่อหุ่นของเขาถูกขโมยโดยหน้ากากลึกลับ เขาจึงร่วมทีมกับเพื่อนๆ และหุ่นยนต์อีกตัวชื่อ Baymax (ซึ่งเป็นมาสค็อตของหนังเรื่องนี้) เพื่อกอบกู้สถานการณ์กลับมา

ดูจบแล้วพบว่าหนังมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก (แต่พอไปดูข้อมูลของการ์ตูนต้นฉบับจริงๆ พบว่าหนักกว่า) โดยรวมถือว่าสนุกดี ภาพสวย ลื่นไหลสมเป็น Disney ยุคใหม่ ข้อติที่นึกออกมีแค่ 2 อย่าง

  • มันสนุกแต่ยังไม่สุด เมื่อเทียบกับการ์ตูนแนวคล้ายๆ กันอย่าง The Incredibles ยังเป็นรองอยู่ในแง่พล็อต
  • หนังพยายามขายความน่ารักน่ากอดของหุ่น Baymax แต่ไม่รู้คิดไปเองคนเดียวหรือเปล่า รู้สึกว่ามันก็ยังน่ารักไม่สุด และคาแรกเตอร์ของมันไม่ค่อยชัดเท่ากับหุ่นตัวอื่นๆ อย่างในเรื่อง Wall E

สรุปคือถัดจาก Frozen แล้ว Disney ยังทำผลงานได้สม่ำเสมอดีทีเดียว (ถึงแม้จะไม่ขนาดสร้างปรากฏการณ์แบบ Frozen) น่าจับตามากว่า Disney ยุคใหม่จะสามารถรักษาระยะไปได้อีกนานแค่ไหนครับ

Keyword: 

The Theory of Everything

$
0
0

หนังชีวประวัติของศาสตราจารย์ Stephen Hawking หรือจะพูดให้ถูกก็คือชีวประวัติของ Jane Wilde Hawking ภรรยาคนแรกของศาสตราจารย์ เพราะเป็นการเล่าเรื่องในมุมของ Jane ซะเป็นส่วนใหญ่

หนังถอดความมาจากหนังสือของ Jane Hawking ชื่อ Travelling to Infinity: My Life with Stephen มีแปลภาษาไทยแล้วใน ชื่อว่า "สู่อนันตกาล" (ไม่เคยอ่านเองแต่เท่าที่เห็นคือเล่มหนาเหมือนกัน)

ประเด็นของหนังคือเล่าเรื่องชีวิตของ Stephen Hawking นักฟิสิกส์หนุ่มอนาคตไกลที่กำลังเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปัญหาคือเขาค้นพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) จนสูญเสียกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ไปเกือบทั้งหมด แต่สุดท้ายเขามีชีวิตต่อไปได้เพราะ Jane แฟนสาวที่รักและศรัทธาในตัวเขา ถึงขั้นยอมทิ้งทุกอย่างมาแต่งงานด้วย

แต่ชีวิตสมรสของทั้งคู่นั้นไม่ง่าย เพราะ Jane กลายเป็นผู้รับภาระหนัก ทั้งการดูแลสุขภาพของสามี ดูแลบ้าน และดูแลลูก รวมถึงวิธีคิดของ Stephen Hawking ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ซึ่งขัดแย้งอย่างมากกับ Jane ที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างเคร่งครัด

แค่ประโยคของ Stephen ตอนแนะนำตัวกันในช่วงแรกๆ แทบทำเอาตกเก้าอี้แล้ว

Jane Hawking: What about you? What are you?...
Stephen Hawking: Cosmologist, I'm a Cosmologist.
Jane Hawking: What is that?
Stephen Hawking: It is a kind of religion for intelligent atheists. 

หนังไม่ได้นำเสนอประเด็นเรื่องผลงานของ Stephen มากนัก แน่ล่ะเพราะเป็นหนังที่เล่าเรื่องในมุมของ Jane โดยขับเน้นดราม่าเรื่องความแตกต่างของทั้งคู่ (และข้อจำกัดในชีวิตครอบครัวของทั้งคู่ ที่ Stephen ไม่สามารถทำหน้าที่สามีและพ่อได้ดีเท่าที่ควร) ผลคือหนังทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังนำเสนอผลงานและความพิเศษของ Stephen ได้ดีในระดับหนึ่ง

  • นักแสดงนำชาย Eddie Redmayne เล่นเป็น Stephen ได้ดีมาก (จนชนะรางวัลออสการ์เลย) พอไปดูในหนังห่วยอย่าง Jupiter Ascending กลายเป็นคนละคน
  • ส่วนนางเอก Felicity Jones ก็เล่นเป็น Jane ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกได้ดี จุดติมีอยูตรงบทในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่ค่อยรู้สึกว่า Jane ผูกพันกับ Stephen จนมาแต่งงานด้วยกัน (ทั้งที่รู้ว่า Stephen ป่วยและกำลังจะตาย) ได้มากนัก
  • ตัวละครที่น่าสนใจมากคือ Dennis W. Sciama อาจารย์ของ Stephen ที่เป็นแกนหลักสำคัญในการปั้นนักฟิสิกส์รุ่นใหม่ เรียกว่าดูจบแล้วต้องมาหาข้อมูลเพิ่มเติมทันที
  • ว่าด้วยตัว Sciama ตอนดูรู้สึกว่านักแสดงหน้าคุ้นๆ ดูจบแล้วมาค้นข้อมูลเพิ่มก็พบว่า เขาคือคนเดียวกับที่เล่นเป็น Remus Lupin ใน Harry Potter
  • ชื่อหนัง The Theory of Everything คนที่สนใจฟิสิกส์คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว พอเอามาตั้งเป็นชื่อหนัง เข้าใจว่าพยายามจะสื่อถึงความต้องการของ Stephen ในการตามหาทฤษฎีสุดยอดอันนี้ ถึงแม้เขาจะยังทำไม่สำเร็จ และชีวิตครอบครัวก็ต้องหย่าขาดกับ Jane แต่สุดท้ายทั้งสองคนก็มีชีวิตที่ดี และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ในตอนท้าย

ดูจบแล้วก็ถือเป็นหนังดราม่าครอบครัวนักฟิสิกส์ที่ทำออกมาดี ภาพสวย แอบรู้สึกเล็กน้อยว่าหนังพยายามเสนอประเด็นความเป็นครอบครัวอบอุ่นมากไปสักนิด (เท่าที่ทราบ ชีวิตของ Stephen ของจริงน่าจะดาร์คกว่านี้พอสมควร) หนังเลยดูโลกสวยไปหน่อยไม่โหดร้ายเท่าที่ควรจะเป็น (ฮา)

สิ่งที่ชอบคือหนังไม่พยายาม judge ว่าใครถูกผิดระหว่าง Stephen และ Jane รวมถึงประเด็นเรื่องฟิสิกส์ vs พระเจ้า ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่จบลงด้วยการพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันของทั้งคู่

ใครอยากรู้ประวัติชีวิตของ Hawking มาดูหนังเล่มนี้น่าจะได้ข้อมูลรอบด้านกลับไปเยอะมาก จากที่เราเคยรู้จักเขาในแง่ผลงานด้านฟิสิกส์แต่เพียงอย่างเดียว

The Imitation Game

$
0
0

นักเรียนสาขาวิชาด้านคอมพิวเตอร์ทุกคนคงรู้จัก "อลัน ทัวริง" (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้วางรากฐานของ "คอมพิวเตอร์"ที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ (ทัวริงไม่ได้สร้างคอมพิวเตอร์ แต่คิดสถาปัตยกรรม Turing Machineที่เป็นคอนเซปต์ของเครื่องจักรอัตโนมัติ)

แต่ชีวิตของทัวริงมีอะไรมากกว่านั้นมาก เพราะเขาเป็นหนึ่งในแกนหลักของนักถอดรหัสในยุคสงครามโลก ที่สามารถถอดรหัสเครื่อง Enigma ของฝ่ายนาซีเยอรมันได้ จนฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเอาชนะสงครามข่าวกรอง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่พลิกกลับมาชนะในสงครามได้สำเร็จ ("ว่ากันว่า"การถอดรหัส Enigma ช่วยให้สงครามจบเร็วขึ้นสองปี ซึ่งจริงแท้แค่ไหนไม่มีใครรู้ได้ เพราะเป็นเงื่อนไขแบบ what if)

ชีวิตของทัวริงในช่วงนี้แหละ ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ The Imitation Game

หนังเล่าเรื่องด้วยวิธีการตัดสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ 3 ช่วง คือ ทัวริงสมัยเป็นนักเรียนที่ค้นพบโลกของการถอดรหัส, ทัวริงสมัยสงคราม และทัวริงยุคหลังสงคราม

ส่วนพล็อตหลักของเรื่องมี 2 พล็อตคือความพยายามในการเอาชนะ Enigma ในเหตุการณ์ส่วนที่สอง และชีวิตส่วนตัวของทัวริงที่เป็นเกย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากส่วนที่ 1 (ความรักสมัยเรียน) และลงเอยในส่วนที่ 3 (โดนจับในข้อหารักร่วมเพศ และเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน)

ผมพบว่าเนื้อหาส่วนของการถอดรหัส Enigma นั้นดูสนุกมาก ในขณะที่ประเด็นเรื่องความเป็นเกย์ของทัวริงนั้นยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก หนังพยายามสื่อว่าทัวริงสร้าง "คอมพิวเตอร์"เพื่อจำลองชีวิตของ "เพื่อนรัก"ของเขาสมัยเรียนกลับคืนมา ซึ่งยังไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร (และไปเปิดตำราดูก็พบว่า เครื่องจักรของทัวริงไม่ได้ชื่อ Christopher ซะด้วย หนังพยายามทำให้ดราม่า ของจริงชื่อ Victory)

ส่วนของการถอดรหัส Enigma หนังทำออกมาได้สนุก แต่รายละเอียดจริงในประวัติศาสตร์ ก็ไม่ได้เป็นฝีมือของทัวริงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเครื่อง Enigma เกิดขึ้นมาก่อนสงครามโลกนานอยู่ และหน่วยงานหลายแห่งก็พยายามถอดรหัส Enigma กันมานานแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่ทำมาก่อนอังกฤษคือหน่วยข่าวกรองของโปแลนด์ ซึ่งทีมของทัวริงก็นำเทคนิค Bombe ของโปแลนด์มาพัฒนาต่อในภายหลัง (ซึ่งหนังไม่ได้ลงรายละเอียดตรงจุดนี้)

รายละเอียดอีกส่วนที่หายไปคือ การเข้าแคมป์ที่ Bletchley Park ในหนังดูเหมือนไปอยู่กันแป๊บเดียว และทุกคนถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในแคมป์ ซึ่งในความเป็นจริงคืออยู่กันนานมาก นับตั้งแต่สงครามเริ่มปี 1939 ไปจนถึงจบสงครามในปี 1945 ระหว่างนั้นทัวริงยังมีแวะไปเยือนอเมริกาในช่วงปลายปี 1942 ถึงต้นปี 1943 เพื่อไปแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการถอดรหัส Enigma ด้วย (ช่วงที่ทัวริงไม่อยู่ก็เป็น Hugh Alexander ทำหน้าที่แทน)

เมื่อกล่าวถึง Enigma คนที่ดูหนังอาจสงสัยว่า เมื่อฝั่งคนถอดรหัสต้องใช้คนจำนวนมหาศาลช่วยกันหาวิธี แล้วคนคิด Enigma มันต้องโคตรเก่งเลยล่ะสิ ผมก็สงสัยแบบนี้เลยไปค้นข้อมูลดู พบว่า Enigma เองก็ไม่ใช่เครื่องที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนเพียงคนเดียว แต่เป็นผลงานต่อเนื่องของวิศวกรจากเยอรมันหลายต่อหลายรุ่น มีรุ่นยิบย่อยมากมายมหาศาล (เริ่มสร้างครั้งแรกปี 1918 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองยี่สิบปี แล้วพัฒนาเรื่อยมา)

ตัวละครในหนังหลายๆ คนที่ร่วมงานกับทัวริงที่ Bletchley Park ก็ตามมาทำงานต่อกับหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ GCHQ ที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงคราม (สมัยสงครามใช้ชื่อว่า GC&CS) เพราะถือว่าเป็นสุดยอดนักถอดรหัสและนักคณิตศาสตร์แห่งยุคสมัยกันอยู่แล้ว แถมเคยผ่านงานข่าวกรองสงครามมา

ประเด็นเรื่องชื่อของหนังพอมีพูดถึงบ้างนิดหน่อยในเรื่อง (อาจสั้นไปหน่อยจนคนที่ไม่เคยเรียนตามไม่ทัน) จริงๆ แล้ว Imitation Game หมายถึงผลงานเด่นอีกเรื่องของทัวริง (นอกเหนือจาก Turing Machine) นั่นคือ Turing Testซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์พื้นฐานที่สำคัญของวงการปัญญาประดิษฐ์ (AI)

แนวคิดของ Turing Test เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามว่า คอมพิวเตอร์สามารถ "คิด"ได้อย่างมนุษย์หรือไม่ ซึ่งทัวริงบอกว่าไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ตรงๆ ว่าคิดได้หรือไม่ แต่เราสามารถสร้าง "วิธีการประเมิน"ว่าคอมพิวเตอร์มีสติปัญญาเทียบเท่ามนุษย์แล้วหรือยัง ซึ่งก็คือ Turing Test ที่มีหลักการง่ายๆ ว่าเป็นเกมตอบคำถามโดยผู้ตอบคำถาม 2 ราย มีรายหนึ่งเป็นคน และรายหนึ่งเป็นคอม ถ้าคอมพิวเตอร์สามารถหลอกผู้ตรวจสอบ (ที่รู้ว่ามีคอมกับคน แต่ไม่รู้ว่าใคร) ให้เชื่อว่าตนเป็นมนุษย์ได้ ก็ถือว่าคอมพิวเตอร์มีสติปัญญาเทียบเท่าคนแล้ว

ดังนั้นเกมนี้จึงมีลักษณะเป็นเกมลอกเลียนแบบ หรือ Imitation Game นั่นเอง (ในหนังมีจังหวะนึงที่ทัวริงพูดประโยคนี้ ซึ่งก็สะท้อนถึงชื่อหนังนั่นเอง)

โดยรวมก็ถือว่าหนังทำได้ดีเลยครับ ดูแล้วเข้าใจประวัติชีวิตของทัวริงมากขึ้นเยอะ และน่าจะช่วยให้มีคนสนใจวิชาคณิตศาสตร์แนวนี้เพิ่มขึ้นอีกมาก (ใครทำสาย security นี่ห้ามพลาดอย่างแรง)

แต่ก็รู้สึกว่าถ้าหนังจับประเด็นเรื่องเกย์ให้ดีกว่านี้อีกหน่อย มันจะดีกว่านี้อีกมาก (อารมณ์เดียวกับ The Theory of Everythingคือดีแล้วแต่ยังไม่สุด)

ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือรู้สึกว่าเรื่องนี้ Keira Knightley หน้าดร็อปลงไปหน่อย จากแฟนคลับที่รู้สึกว่าเมื่อก่อนเธอสวยกว่านี้มาก (ผมดูเรื่องนี้โดยที่ไม่รู้ว่าเธอเล่นด้วย ตอนโผล่มาถึงกับตกใจ)


คิดอย่าง Elon Musk

$
0
0

Elon Musk เป็น "ผู้ประกอบการ"รายล่าสุดที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง เพราะเขาน่าจะเป็นผู้ประกอบการคนเดียวในยุคสมัยนี้ที่ยังกล้า "คิดใหญ่"ทั้งในเรื่องอวกาศ (SpaceX), พลังงาน (SolarCity) และการขนส่ง (Tesla)

คำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยคือ Elon Musk ทำได้อย่างไร

คำตอบมีอยู่บนเวทีงาน TED ปี 2013เพราะ Chris Anderson ผู้จัดงาน TED และเป็นผู้สัมภาษณ์บนเวที ก็ถามคำถามนี้ "How on Earth has one person been able to innovate in this way?"

Musk ตอบตรงไปตรงมาว่า เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่ง Anderson ก็เสนอทฤษฎีว่า Musk มีความสามารถในการคิดที่มองเป็นระบบ (a system level of design) โดยครอบคลุมมิติทั้งเทคนิค การออกแบบ และธุรกิจ ไว้ด้วยกัน จากนั้นเขาก็มี "ความมั่นใจ"และมี "เงินทุน"ของตัวเองที่กล้าเสี่ยงไปกับแนวคิดเหล่านี้ (พูดง่ายๆ คือ คิดดี กล้าลุย และมีทุน ครบถ้วน)

My theory is that you have an ability to think at a system level of design that pulls together design, technology and business, so if TED was TBD, design, technology and business, into one package, synthesize it in a way that very few people can and -- and this is the critical thing -- feel so damn confident in that clicked-together package that you take crazy risks. You bet your fortune on it, and you seem to have done that multiple times.

Anderson ถามต่อว่าเคล็ดลับของ Musk คืออะไร คราวนี้ Musk กล้าตอบว่าเป็นเรื่องของวิธีคิดที่ "กลับไปสู่รากฐาน" (fundamental truth) แล้วค่อยไปพัฒนาความคิดจากจุดนั้นขึ้นมาใหม่

Musk อธิบายว่าในชีวิตทั่วไป คนเราใช้วิธีคิดแบบเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือเคยประสบพบเจอมาก่อน (analogy) แล้วค่อยดัดแปลงเพียงเล็กน้อย (slight variations) เพื่อประหยัดแรงสมอง ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ถูกต้องสำหรับการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน

แต่ในกรณีที่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ Musk บอกว่าควรคิดแบบนักฟิสิกส์ ที่กลับวิธีคิดจากปกติทั่วไป (counterintuitive) มาเริ่มต้นใหม่ที่รากฐานจริงๆ จนทำให้สามารถค้นพบทฤษฎีอย่างควอนตัมได้

นอกจากนี้เขายังแนะนำว่าควรใส่ใจกับ negative feedback โดยเฉพาะจากเพื่อน (เพราะไม่มีความประสงค์ร้ายต่อเรา) ซึ่งจะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น

ช่วงต้นคลิป Musk จะทยอยเล่าถึงงานของเขาตั้งแต่ Tesla, SolarCity และ SpaceX ถึงแม้คลิปจะสั้น แต่ผมคิดว่าคำตอบของเขาพอจะแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของเขาในงานแต่ละอย่าง ที่มีจุดร่วม 2 ประการ คือ

  • มองภาพใหญ่มากๆ ตอนพูดถึง SpaceX เขามองถึงประวัติศาสตร์การคมนาคม กลับไปตั้งแต่การใช้ม้า ในขณะที่ตอนพูดถึง SolarCity เขามองถึงรูปแบบการใช้พลังงานของมนุษย์ในอีก 20 ปีข้างหน้า
  • ผนวกปัจจัยเรื่องธุรกิจ/เศรษฐกิจอยู่เสมอ ในทุกเรื่องเขาจะหาโมเดลทางเศรษฐกิจที่ทำให้แนวคิดเป็นจริงได้ เช่น Tesla มองเรื่องการค่อยๆ ลดราคารถยนต์ลงมาตามสเต็ป, ตอน SolarCity มองหาวิธีให้คนจ่ายเงินตั้งต้น (upfront) น้อยลง

คลิปยาวประมาณ 20 นาที ก็ขอแนะนำอย่างยิ่งให้ชมกันครับ

ลองใช้ Google Photos

$
0
0

ลองใช้ Google Photosมาได้สักพักหนึ่ง จดประสบการณ์การใช้งานแบบเร็วๆ ไว้ดังนี้

  • การใช้งานบนมือถือ-แท็บเล็ต แทบไม่ต่างอะไรกับ Google+ Photos นั่นคือแบ็คอัพอัตโนมัติ จุดต่างมีแค่ขยายขนาดไฟล์จาก 5MP -> 16MP ถือว่าเหลือเฟือสำหรับกล้องมือถือทั่วไป สามารถอัพโหลดได้แบบไม่ต้องคิดมากแล้ว
  • การใช้งานบนเดสก์ท็อป จำเป็นต้องใช้ web client เพียงอย่างเดียวสำหรับดูรูป ซึ่งหน้าตารวมๆ ก็เหมือนกับเวอร์ชันมือถือ และต่างจาก Google+ Photos เดิมไม่เยอะเช่นกัน
  • ส่วนการอัพโหลดภาพบนเดสก์ท็อป จำเป็นต้องใช้ Google Photos Uploader ช่วย ปัญหาของมันคือสามารถอัพโหลดไฟล์ได้อย่างเดียว (เลือกโฟลเดอร์แล้วอัพไปเรื่อยๆ) ไม่มีระบบซิงก์ภาพบนคอมกับภาพบนเน็ต ประเภทว่าลบภาพบนคอมแล้ว บนเน็ตถูกลบด้วย (เหมือนกับสมัย Picasa) นอกจากนี้มันยังดูสถานะการอัพโหลดได้ยาก ว่าอัพไฟล์อะไรไปแล้วบ้าง มีไฟล์ซ้ำหรือเปล่า
  • แน่นอนว่าการอัพโหลดในไทยช้ากว่าที่เมืองนอกมาก พอมีภาพหลักหลายหมื่นแล้วก็รอไปเถอะ ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไร
  • Assistant คล้ายกับ Autoawesome ของเดิม หลักๆ คือทำ storybook, ต่อภาพพานอรามา, ทำแอนิเมชันให้อัตโนมัติ ที่เจ๋งคือมันมี notification แจ้งเตือนให้ด้วย ความเจ๋งอย่างมากของฟีเจอร์นี้คือเวลาเราอัพรูปเก่าๆ เข้าไปแล้วมันช่วยแปลงภาพให้ ก็รู้สึกตื่นเต้นดีแบบว่า "เออ ถ้าสมัยนั้นมีอะไรแบบนี้นะ"
  • ระบบค้นหาไฟล์ถือว่าทำได้ดีเกินคาด แต่บางครั้งยังไม่แม่นเท่าไร และข้อจำกัดคือเราไม่สามารถช่วยให้มันแม่นขึ้นได้ เช่น ถ่ายรูปก๋วยเตี๋ยวแล้วหาด้วยคำว่า Noodle ไม่เจอ แม้ว่าเราจะไปใส่คำว่า Noodle ในช่อง Info ของภาพแล้ว มันก็ยังหาไม่เจออยู่ดี
  • เลยคิดว่ามันน่าจะมีระบบ Tag ด้วย วิธีคิดแบบกูเกิลคือพึ่งพาความฉลาดของบ็อตเป็นหลัก แต่ถ้าบ็อตไม่ฉลาดพอ ก็น่าจะมีช่องทางให้เราช่วยบ็อตได้ด้วย
  • สิ่งที่ขัดใจใน web client คือเวลาเราเข้าหน้าแรก กด search หาภาพที่ต้องการ แล้วกด Back หนึ่งที มันจะไม่กลับไปหน้าแรก แต่กลับไปยังหน้า search รวม
  • อีกฟีเจอร์ที่หายไปคือ Embed ภาพ ทำไม่ได้แล้ว วัยรุ่นเซ็ง
  • อยากได้ฟีเจอร์ Find Duplicate ด้วย
  • ยังหาวิธีดาวน์โหลดรูปกลับมาเก็บไว้เองไม่เจอ กำลังคิดถึงสถานการณ์แบบว่า คอมพัง รูปยังอยู่บนคลาวด์ แล้วจะเอากลับมาเซฟเก็บไว้ ไม่รู้ต้องทำอย่างไร

โดยรวมๆ ถือว่าดีกว่าที่คิด การให้พื้นที่ไม่จำกัด ช่วยให้มันกลายเป็น photo backup solution ที่น่าจะดีที่สุดในตลาด แต่พอมันไม่สามารถซิงก์ Photo Library ในเครื่องพีซีกับในคลาวด์แบบไปกลับได้ (ซิงก์ไปได้ทางเดียว ซิงก์กลับไม่ได้) เลยยังไม่ perfect 100% อย่างที่อยากให้เป็น

วิธีย้ายระบบเมล Windows Live Custom Domains มาเป็น Zoho Mail

$
0
0

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยช่วยสนับสนุนมิตรสหายท่านหนึ่งที่ประกอบธุรกิจ SME ของตัวเอง

ทีนี้เมื่อต้องมีระบบอีเมลที่เป็น domain name ของตัวเอง (อีเมลเป็น @mydomain.com) ช่วงเวลานั้น Google Apps รุ่นฟรีไม่เปิดให้สมัครแล้ว ทางเลือกสำหรับคนที่อยากมีระบบอีเมลแบบ hosted ที่กำหนด domain name เองได้ แต่ไม่ต้องการเสียเงิน จึงเหลือแค่ Windows Live Custom Domainของไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เก่าแก่มาตั้งแต่ยุค Windows Live Hotmail

ตอนนั้นไปช่วยเซ็ตอีเมลบน Windows Live Custom Domains จนเสร็จเรียบร้อย ใช้งานได้ดีมาเป็นเวลาหลายปี โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับระบบของมันอีกเลย

ล่าสุดกิจการของเพื่อนเริ่มขยายตัวขึ้น รับพนักงานเพิ่มเข้ามา ต้องการสร้างบัญชีอีเมลเพิ่มเติม เราก็พบความจริงกันว่า ไมโครซอฟท์เลิกให้บริการ Windows Live Custom Domains แล้วจ้า

ล่าก่อน Windows Live Custom Domains

ถ้าใครมี Windows Live Custom Domains แล้วล็อกอิน จะเห็นหน้าตาผู้หญิงคนนี้เศร้าๆ พร้อมประกาศดังภาพ

ไมโครซอฟท์ประกาศข่าวนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 (ข่าวบน ZDNet) แต่ไม่มีใครรู้เรื่อง (ตัวผมใช้ Google Apps หมดเลยไม่ได้ยุ่งกับ Windows Live Custom Domains เลย) ส่วนเหตุผลก็ตรงไปตรงมาคือรอบ 1-2 ปีมานี้ ไมโครซอฟท์หันมาจริงจังกับ Office 365 มาก ระบบเก่าของ Hotmail ทั้งหมดจึงเตรียมถูกโละ มาใช้ระบบใหม่ของ Office 365 แทน

ผลคืออีเมลที่วิ่งผ่าน Windows Live Custom Domains ยังใช้งานได้เหมือนเดิม แต่ไม่สามารถสร้างบัญชีใหม่ได้อีกแล้ว (ไมโครซอฟท์ยังไม่บอกว่าจะเลิกให้บริการ Windows Live Custom Domains อย่างถาวรเมื่อไรกันแน่)

ทางเลือกอื่นสำหรับอีเมลองค์กร

ทางออกที่ไมโครซอฟท์แนะนำก็ตรงไปตรงมาคืออัพเกรดไปใช้ Office 365 Businessซึ่งไม่มีรุ่นฟรีให้เลือกแล้วแหละ

ถ้าเราเอาเฉพาะอีเมล (Office 365 Business Essentials ซึ่งเป็นแพ็กเกจราคาถูกที่สุด) จะตกคนละ 5 ดอลลาร์ต่อคนต่อเดือน (ราคานี้เท่ากับ Google Apps) ผมถามเจ้าตัวแล้วว่ายินดีจ่ายหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าถ้าเลือกได้ขอเป็นหนทางสุดท้ายดีกว่า เพราะราคา 60 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (คิดเป็นเงินไทยก็ราว 2 พัน) ถือว่าเยอะอยู่เหมือนกันสำหรับธุรกิจ SME

หมายเหตุ:แต่ผมว่าถ้าอยากได้ Microsoft Office Desktop มาใช้งานด้วย ปลอดปัญหาลิขสิทธิ์ จ่ายแพ็กเกจ Office 365 Business Premium เดือนละ 12.5 ดอลลาร์ก็คุ้มอยู่นะครับ เผอิญว่าเคสนี้เจ้าตัวเขาไม่ต้องใช้

พอเจอปัญหาแบบนี้เลยต้องมาหาข้อมูลเพิ่มว่าเรามีทางเลือกอะไรบ้าง เท่าที่ลองหาดู ตัวเลือกในท้องตลาดมีไม่มาก ถ้าอยากได้อีเมลแบบ cloud hosting รายใหญ่ก็มีแค่ไมโครซอฟท์ (Office 365) กับกูเกิล (Google Apps) ที่คิดราคา 5 ดอลลาร์ต่อคนต่อเดือนเท่ากัน ส่วนจะไปใช้บริการอีเมลของโฮสติ้งทั่วไป คุณภาพของบริการคงห่างไกลกันมาก (ทั้งในแง่เสถียรภาพ ตัวกรองสแปม และไคลเอนต์บนเว็บ)

เอาไปเอามาก็เลยคิดถึงเว็บแอพรุ่นเก่าหน่อยอย่าง Zoho ที่ยังให้บริการอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ในแง่เสถียรภาพย่อมเชื่อถือได้ ในแง่ของไคลเอนต์ ลองใช้งานแล้วก็พบว่าโอเค หน้าตาสวยงาม ใช้ง่ายไม่ช้า (แม้ว่าอาจไม่คุ้นเคยเท่ากับ Gmail) ที่สำคัญคือในฐานะรายเล็ก Zoho ที่ต้องสร้างจุดดึงดูดมากกว่ารายใหญ่ ทำให้ Zoho มีบริการฟรีสำหรับบริษัทที่มีบัญชีน้อยกว่า 10 คน

ส่วนรุ่นแบบเสียเงิน แผน Pricing ของ Zohoก็ยังน่าสนใจกว่าพี่เบิ้มทั้งสองราย เพราะคิดราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่งคือ 2.50 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ดังนั้นถ้าบริษัทยังเล็กอยู่ ใช้รุ่นฟรีก็ช่วยประหยัดไปได้มาก และถ้าในอนาคตต้องใช้มากกว่า 10 บัญชี จะอัพเกรดไปใช้รุ่นเสียเงินก็ยังมีค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกกว่า Google Apps/Office 365 อยู่ดี

เมื่อหาเหตุผลให้ตัวเองได้ครบแล้ว ก็ได้เวลาย้ายระบบเมลจาก Windows Live มาเป็น Zoho กันครับ

วิธีการย้ายระบบเมลจาก Windows Live มาเป็น Zoho Mail

ขั้นตอนการย้ายระบบเมลจาก Windows Live มาเป็น Zoho แบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ

  1. ลงทะเบียนและเซ็ตระบบฝั่ง Zoho
  2. เปลี่ยนค่า MX Record
  3. Migrate อีเมลเก่าจาก Windows Live มาเป็น Zoho

แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้ (Howto อย่างละเอียดบนเว็บ Zoho)

1. เซ็ตระบบฝั่ง Zoho

ขั้นแรกสุดเลยก็ต้องมีบัญชี Zoho แล้วสมัครใช้บริการ Zoho แบบ Business ก่อนครับ เข้าไปที่หน้า Signupแล้วก็กรอกโดเมนเนมที่ต้องการ

จากนั้นเราจะเข้าสู่หน้า Wizard สำหรับเซ็ตอัพโดเมนให้พร้อมใช้งาน ไล่เป็นสเต็ปไปอยู่แล้ว

ขั้นถัดมาเราจะต้อง verify ว่าเราเป็นเจ้าของโดเมนนี้จริงๆ วิธีการมีให้เลือก 3 แบบคือ

  • เปลี่ยนค่า CNAME ใน DNS
  • เปลี่ยนค่า TXT ใน DNS
  • อัพโหลดไฟล์ขึ้นไปบนเว็บเพจ (แบบเดียวกับการยืนยันตัวตนใน Google Webmaster)

อันนี้จะเลือกแบบไหนก็แล้วแต่สะดวกครับ ผมมีสิทธิเข้าถึง FTP ของระบบอยู่แล้ว เลยเลือกวิธีสุดท้าย

ยืนยันตัวตนเสร็จแล้วก็ถึงเวลาเพิ่ม username ที่ต้องการให้มีอยู่ในระบบ ตรงนี้จะเพิ่มด้วยมือก็ได้ หรือจะ export ของเก่าเป็น CSV มา import ก็ได้อีกเหมือนกัน เนื่องจากกรณีของผมนี่มี user แค่ไม่กี่คน ก็แอดมือเอาแหละง่ายดี

เรื่องการเพิ่ม user นี่เราสามารถทำทีหลังได้ ถ้าขี้เกียจก็เอาบัญชีหลักๆ อันเดียวให้ได้ก่อนพอแล้ว

ขั้นที่สามเป็นการเพิ่ม group mail สำหรับเมลที่ส่งหาคนหลายๆ คนพร้อมกันครับ (เช่น hr@mydomain.com แล้ว forward ต่อ) ตรงนี้ถ้าไม่ใช้งานก็กด Skip ข้ามไปได้

เมื่อเรียบร้อยแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับ MX แล้ว

2. แก้ค่า MX Record

ในขั้นตอนนี้เราจะต้องล็อกอินเข้าไปยังระบบโฮสติ้งที่เราใช้อยู่ เพื่อแก้ค่า MX Record ให้ย้ายมาเป็นระบบของ Zoho แทนครับ

วิธีการแก้ไขค่า MX จะต่างกันตามแต่ละโฮสต์ที่ใช้งาน ทาง Zoho เตรียมคู่มือที่ค่อนข้างละเอียดสำหรับโฮสต์ยอดนิยมของฝรั่งไว้ให้ สำหรับคนไทยที่ไม่ได้ใช้บริการเหล่านี้ก็ต้องสอบถามไปยังผู้ให้บริการโฮสติ้งเอาเอง

กรณีของผม โฮสต์ที่ใช้อยู่นั้นใช้ DirectAdmin สำหรับการแก้ไขค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบโฮสติ้ง เราก็ล็อกอินเข้าไปยังหน้า DirectAdmin ตามปกติ แล้วก็หาหัวข้อที่เขียนว่า DNS Managementหรือ MX Recordsครับ (อันไหนก็ได้ มันเข้าหน้าเดียวกัน)

เข้าไปยังหน้าแก้ไขค่า MX Records แล้ว ให้ลบค่า MX ของเก่าทั้งหมดออก จากนั้นก็สร้าง MX Records เข้าไปเพิ่มอีก 2 อัน คือ mx.zoho.com.และ mx2.zoho.com.

ตรงนี้ชีวิตเริ่มยากลำบากเข้ามาหน่อย เพราะ Zoho สอนว่าตรงค่า host/domain ให้ใส่ตัว @ หรือเว้นว่างไว้ ปรากฎว่า DirectAdmin เวอร์ชันล่าสุดไม่ยอมรับการป้อนข้อมูลแบบนี้ (แล้วมันไม่บอกด้วยนะ!) หลังจากนั่งงมอยู่พักนึง เราก็พบว่าให้ป้อน Domain Name แทน (ใส่เป็น mydomain.com. อย่าลืมจุดข้างหลัง) ตามภาพ

ใส่เสร็จแล้ว เซฟค่าเรียบร้อยก็เทสต์เพื่อความมั่นใจกันหน่อยครับ เข้าไปที่ mxtoolbox.comแล้วกรอกชื่อโดเมนเนมของเรา ถ้าได้หน้าจอออกมาแบบที่เห็นในภาพ ก็แปลว่าทำถูกแล้ว

เพื่อความมั่นใจอีกรอบ ให้ลองส่งเมลทดสอบจากเมลอะไรก็ได้ (เช่น Gmail) เข้ามายังอีเมลที่เราเซ็ตไว้ในระบบของ Zoho (@mydomain.com) มาถึงตอนนี้เราน่าจะรับอีเมลผ่านไคลเอนต์จากเว็บ Zoho.com ได้แล้ว (ลองส่งกลับคืนด้วยว่าตอบได้มั้ย)

3. Migrate อีเมลเก่ามายัง Zoho

สถานะของเราในขั้นนี้คือ เราสามารถรับส่งอีเมล @mydomain.com บนระบบของ Zoho ได้แล้ว แต่กล่องอีเมลของ Zoho ยังเป็นกล่องอีเมลว่างๆ อยู่ คำถามคือเราจะย้ายอีเมลเก่ามาไว้บน Zoho ได้อย่างไร

Zoho มีระบบ Migration ให้พร้อมอยู่แล้ว วิธีใช้งานคือใช้ user ที่เป็นแอดมินระบบ กดตรงคำว่า Control Panel ที่มุมขวาบน แล้วเข้าหมวด Mail Administration > Migrationจะเจอหน้าจอดังภาพ

หน้าที่ของเราคือกรอกข้อมูลเซิร์ฟเวอร์เมลเก่า ซึ่งในที่นี้คือ Windows Live ให้ใส่ข้อมูลดังนี้

  • Migration Nameตั้งชื่อแผนการย้าย ใส่เป็นอะไรก็ได้
  • Migration Protocol IMAP
  • Server Type Other
  • Server Name imap-mail.outlook.com
  • Security SSL
  • Server Port 993

รายละเอียดดูได้จาก Microsoft Answer

กรอกข้อมูลเสร็จแล้ว เราจะเห็นชื่อ Migration Name โผล่เข้ามาในระบบของ Zoho (ในที่นี้ผมตั้งว่า Outlook) ตรงนี้ UI มันจะชวนงงนิดนึง ให้เราคลิกที่ชื่อ Outlook ตามที่ทำสีแดงไว้

เราจะเห็นหน้าจอเพิ่ม user สำหรับย้ายเมล โดยเราจะต้องใส่

  • Username ของต้นทางหรือเซิร์ฟเวอร์เมลเก่า
  • Password ของอีเมลเซิร์ฟเวอร์เก่า
  • Username ของเซิร์ฟเวอร์ Zoho ที่อยากให้ย้ายมา

ขั้นตอนละเอียดสามารถอ่านได้จาก Zoho Email Migration

ตรงนี้ความยุ่งยากจะเริ่มมาเยือนครับ เพราะผมลองกรอก Username/Password ไปแล้ว ได้รับข้อความ error ว่ารหัสผ่านผิดพลาด ทั้งที่เราลองทดสอบรหัสผ่านชุดเดียวกันกับโปรแกรมอีเมลอย่าง Thunderbird แล้วฉลุย ไม่มีปัญหาใดๆ

หลังจากงงอยู่พักใหญ่ๆ ลองหาข้อมูลในเว็บ Zoho ก็พบว่ามีคนเจอกันเยอะ 1, 2, 3, 4รวมถึงบนเว็บ Microsoft เองก็มี

สรุปว่าสาเหตุเกิดจากระบบของไมโครซอฟท์ดีเกินไป เห็นว่าเราล็อกอินมาจากสถานที่พิสดารที่เราไม่เคยใช้มาก่อน ระบบเลยบล็อคไม่ให้ Zoho เข้าถึง

ทางแก้คือกลับไปเข้าเว็บ Outlook.com แล้วล็อกอินด้วยบัญชีอีเมล @mydomain.com ครับ เลือกหน้า Account Settings แล้วเลือก Check recent activity (URL ตรง) จะเจอประวัติการล็อกอินของเรา ดังภาพ

จะเห็นว่าร้อยวันพันปีเราล็อกอินจาก Thailand เสมอ พอล็อกอินผ่านตัว Migration ของ Zoho จะทำให้ไมโครซอฟท์มองเห็นว่าเราล็อกอินมาจากแถบ Oakland และบล็อคการล็อกอินของเราซะเลย

ทางแก้คือกดปุ่ม This was me สีฟ้าครับ (อาจมีหลายอันตามความพยายามในการล็อกอินของเรา ก็ไล่ไปกดให้หมด) แล้วค่อยไปลองล็อกอินใน Zoho Migration อีกรอบ คราวนี้ของผมผ่านฉลุยแล้ว

เมื่อสร้างบัญชี Migration ในระบบของ Zoho ได้เรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถกดปุ่ม Start เพื่อเริ่มกระบวนการดูดเมลจากเซิร์ฟเวอร์เก่ามายังเซิร์ฟเวอร์ของ Zoho ได้เลย ตรงนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะรันเป็น batch ก็ปล่อยเซิร์ฟเวอร์คุยกันเองไปจนกว่าจะเสร็จครับ หมดหน้าที่ของเราแล้ว

ขั้นตอนอื่นๆ

ถ้าผ่านขั้นตอนข้างต้นทั้งหมด ตอนนี้เราจะสามารถรับส่งอีเมลผ่านหน้าเว็บ Zoho ได้แล้ว แต่ถ้าอยากได้ความสะดวกหรือฟีเจอร์อื่นๆ ก็ต้องตั้งค่าเพิ่มกันอีกเล็กน้อย

Referral รับเพิ่ม 5 บัญชี

สุดท้ายสำหรับคนที่สนใจใช้ Zoho แบบรุ่นฟรีกับเขาบ้าง ถ้าอยากได้โควต้าเพิ่มจาก 10 บัญชีเป็น 15 บัญชี สามารถขอ invite จากผมได้ครับ (คือจะได้เพิ่มฝั่งละ 5 บัญชี) ทิ้งอีเมลไว้ได้ในคอมเมนต์นะครับ

Brave

$
0
0

หนังแอนิเมชันของ Pixar ปี 2012 ที่เพิ่งจะได้มาดูเอาปีนี้ แถมเรื่องนี้แหวกขนบ เพราะถือเป็น "เทพนิยาย"เรื่องแรกของ Pixar (แถมเจ้าหญิง Merida ก็ติดทำเนียบ Disney Princessกับเขาด้วย ถือเป็นเจ้าหญิงคนแรกของ Pixar อีกเหมือนกัน)

เนื้อเรื่องแบบย่อๆ คือเจ้าหญิง Merida เป็นเจ้าหญิงนักบู๊ของเผ่าในสก็อตแลนด์ ที่กำลังจะโดนแม่ซึ่งก็คือพระราชินี จับแต่งงานตามขนบธรรมเนียมการแต่งงานเพื่อผูกสัมพันธ์ระหว่างเผ่า แน่นอนว่าเจ้าหญิงไม่ยอม ก็เลยต้องพึ่งพาไสยศาสตร์เข้าช่วยจนวุ่นวาย เนื้อเรื่องค่อนข้างเบาๆ เน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวเป็นหลัก และน่าสนใจว่าไม่มีเรื่องความรักระหว่างหญิงชายเข้ามาเกี่ยวข้องเลย (เรื่องนี้ไม่มีพระเอกนะครับ)

Brave ถือเป็นแอนิเมชั่นที่ดีตามมาตรฐานภาพยนตร์แอนิเมชั่นทั่วไป แน่นอนว่าภาพสวยตามสไตล์ของ Pixar แต่ความสนุกของเรื่องเมื่อเทียบกับมาตรฐาน Pixar ต้องบอกว่า ยังไม่สนุกเท่าที่ควร (ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมาตรฐาน Pixar สูงมากเป็นทุนเดิมด้วย)

ถ้าบริษัทแอนิเมชันอื่นทำคุณภาพขนาด Brave ถือว่าเจ๋งเลย แต่พอเป็นระดับ Pixar มาทำมันยังจืดๆ ไปหน่อยในแง่เนื้อเรื่อง สรุปคือให้คะแนนระดับดูก็ดี ไม่ดูก็ได้ครับ

Keyword: 

Cinderella 2015

$
0
0

ช่วงหลัง ดิสนีย์หันมาทำหนังคนแสดงแบบ live-action จากเทพนิยายภาคแอนิเมชั่นของตัวเองในอดีต ตัวอย่างหนังกลุ่มนี้ได้แก่ Alice และ Maleficent (อาจนับรวมเรื่อง Oz ด้วย) หนังเรื่องล่าสุดในชุดคือ Cinderella

Cinderella ฉบับคนแสดงปี 2015 ดัดแปลงมาจากแอนิเมชั่น Cinderella ฉบับปี 1950 แทบจะทุกประการ มีปรับบทบ้างเล็กน้อย เช่น เจ้าชายมีชื่อกับเขาแล้ว (จากเดิมที่เรียกแค่ว่า Prince Charming), เพิ่มบทของซินเดอเรลล่าตอนเด็กๆ กับครอบครัวเข้ามา ให้ดูมีแบ็คกราวน์มากขึ้น, ตัดบทสนทนากับพวกนกหนูสัตว์เลี้ยงออกไป (มันคงทำยากแหละนะ) และเนื่องจากหนังภาคนี้ไม่ใช่หนังเพลง ก็ตัดส่วนของการร้องเพลงออกไปทั้งหมด

ที่เหลือแทบจะเดินตามรอยเดิมเด๊ะๆ ฉากต่อฉาก ในแง่ความคลาสสิคก็ถือว่าดี แต่มันก็มีข้อเสียคือคนที่เคยดูต้นฉบับมาก่อนแล้วจะรู้พล็อตเรื่องทั้งหมด ไม่มีพลิกโผเลยสักนิด มันเลยไม่ค่อยมีอะไรให้ลุ้นสักเท่าไร (อุตส่าห์ลุ้นให้มี) การดูหนังในครึ่งหลังเลยเป็นการดูเพื่อสังเกตว่าเรื่องจะเดินยังไง เหมือนต้นฉบับแค่ไหน มากกว่าเป็นการติดตามเนื้อเรื่องดังเช่นหนังทั่วไป

เมื่อเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนคลาสสิกที่คนรู้จักกันทั้งโลก การหานักแสดงมารับบทเดียวกันจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก สำหรับซินเดอเรลล่าปี 2015 เลือกสาวอังกฤษ Lily James มาเล่น ตอนแรกผมดูในโปสเตอร์กับเทรลเลอร์ รู้สึกว่าเธอไม่ค่อยเหมาะเท่าไร (คิ้วหนาไปหน่อย) แต่พอได้ดูหนังแบบเต็มๆ ก็แบบว่า เออ น่ารักเหมือนกันนี่นา ดูสดใสร่าเริงดี ให้ผ่าน (อ่านข้อมูลเบื้องหลังมีบอกว่าตอนแรกจะเอา Emma Watson มาเล่นแต่เจรจากันไม่ลงตัว ไม่รู้ว่าถ้ามาจริงๆ แล้วจะออกมาดีแบบนี้หรือเปล่า)

ส่วนเจ้าชาย Prince Charming รับบทโดย Richard Madden ที่คนรู้จักเขาในฐานะ Robb Stark แห่ง Winterfell ในแง่ความหล่อและการแสดงคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ชะตาชีวิตของพี่แกในสองเรื่องนี้ช่างแตกต่างกันมาก ระหว่างจบแบบ Ever After กับ Red Wedding นี่คนละมุมโลกกันอย่างสิ้นเชิง

แง่ของโปรดักชั่นก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะหนังพยายามทำตามต้นฉบับ เรื่องเครื่องแต่งกาย กำกับศิลป์ สีสัน จึงไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากนัก โดยรวมแล้วก็ทำออกมาได้ดีตามมาตรฐานหนังใหญ่ของดิสนีย์ครับ

สรุปคือการดู Cinderella 2015 ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนัง ถือเป็นความบันเทิงในแง่ว่ามันถูกดัดแปลงอย่างไร แต่ในแง่ของความสนุกในฐานะหนังเดี่ยวๆ อันนี้ต้องให้คนที่ไม่เคยดูการ์ตูนต้นฉบับเป็นผู้พิจารณา คนเคยดูแล้วคงหมดสิทธิ (ตรงนี้ผมดูแล้วพบว่าหนังที่ออริจินัลอย่าง Enchanted สนุกมาก)

ป.ล. เพิ่งทราบจากใน Wikipedia เหมือนกันว่าความสำเร็จของ Cinderella (รายได้เกิน 500 ล้านดอลลาร์) ทำให้ดิสนีย์เตรียมทำหนังคนแสดงอีกชุดใหญ่ มีทั้ง Alice ภาคสอง, เมาคลี (Jungle Book), Beauty and the Beast, Mulan, Pinocchio, Peter Pan รวมถึง Dumbo/Winnie the Pooh ด้วย (สองเรื่องหลังมันจะแสดงกันยังไงล่ะเนี่ย)

Keyword: 
Viewing all 557 articles
Browse latest View live


Latest Images