Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Bali Trip #1 รู้จักบาหลี

$
0
0

เก็บตกทริปอินโดนีเซียเมื่อกลางปีครับ ไปสองเมืองคือยอกยาการ์ตา (บุโรพุทโธ, วังสุลต่าน, ถนน Malioboro, วัดพรามบานัน) ที่เหลือเป็นเรื่องของบาหลี เกาะสวาทหาดสวรรค์ที่ดังที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย (ว่ากันแบบไม่เกรงใจคนไทยด้วยกัน ผมว่าน่าจะดังกว่าภูเก็ตนะ)

Bali Map

ก่อนจะเข้าเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง ก็มาดูภาพรวมของเกาะบาหลีกันก่อนนะครับ

  • เกาะบาหลีอยู่ด้านตะวันออกของเกาะชวา เกาะหลักของอินโดนีเซีย มีช่องแคบขวางกั้นแต่ห่างกันนิดเดียวตามภาพ
  • เกาะบาหลีใหญ่กว่าภูเก็ตประมาณ 10 เท่า (5,780 ตร.กม. vs 543 ตร.กม.)
  • อินโดนีเซียนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก แต่ที่บาหลี กลับเป็นอารยธรรมฮินดู (ที่ครอบครองอินโดนีเซียมาก่อน ก่อนจะโดนอิสลามกลืน) โดยฮินดูที่นี่ก็ต่างไปจากฮินดูของอินเดียเยอะพอสมควร คือเข้ามานานและกลายพันธุ์ไปเยอะแล้ว ฝรั่งเรียกว่า Balinese Hinduism
  • บาหลีเป็นเกาะทรงสามเหลี่ยมหัวคว่ำ ด้านบนเป็นภูเขาทั้งหมด ติ่งด้านล่างเป็นทะเล (ภาพประกอบ) เมือง หาดทรายต่างๆ รวมถึงสนามบิน อยู่ด้านล่างทั้งหมด
  • เมืองหลักของบาหลีคือ เดนปาซาร์ (Denpasar) อยู่ทางตอนใต้ของเกาะ และอยู่ใกล้กับสนามบิน ส่วนเมืองชายหาดชื่อดังคือ Kuta ก็อยู่ติดกัน ใต้เดนปาซาร์
  • ถึงแม้บาหลีจะมีชื่อเสียงด้านทะเลและชายหาด แต่มาเที่ยวรอบนี้เน้นวัดและภูเขา (เป็นคนไทยมาดูทะเลก็คงไม่ตื่นเต้นมากนัก) เห็นทะเลนิดเดียวเอง
  • การเดินทางในบาหลีใช้รถยนต์ทั้งหมด และแน่นอนว่าในเมืองรถติด

ลำดับต่อไปจะทยอยเขียนบล็อกถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในบาหลี โดยอิงจากแผนที่ข้างต้นครับ


Concept: Nexus 11 Hybrid

$
0
0

พยายามตามหาโน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ตแบบ 2-in-1 ในดวงใจมานานพอสมควร แต่ก็ยังไม่ลงตัวสักที ที่ใกล้เคียงที่สุดคือ Surface Pro 3

เหตุผลหลักที่ยังไม่ลงตัว มาจากฝั่งซอฟต์แวร์เป็นหลัก เพราะ Windows 8.x มีจุดอ่อน 2 ประการที่สำคัญคือ ทำงานในจอความละเอียดสูงได้ไม่ดีนัก และปัญหาโลกแตกอย่าง "แอพน้อย" (อ่านที่เคยเขียนไว้ใน รีวิว Surface Pro 3) ส่วนเหตุผลฝั่งฮาร์ดแวร์สำหรับ Surface Pro 3 คือผมไม่ค่อยชอบ kickstand นัก (มันพิมพ์บนตักได้ไม่ดีเท่าโน้ตบุ๊กจริงๆ)

ก่อนหน้านี้เคยคิดว่า ถ้าจะหาอุปกรณ์สำหรับ "ทำงาน" (for work) ยังไงก็ต้องเป็น Windows เพราะระบบมัลติทาสกิงเหนือกว่าชาวบ้านไกลสุดกู่ แต่หลังจากมีข่าวว่า Android L จะมีฟีเจอร์ Multi-Windowก็รู้สึกว่าถ้ามาจริง ใช้แค่ Android ก็น่าจะพอแล้วนี่หว่า แอพเยอะกว่า รันบนจอละเอียดสูงๆ ได้ด้วย (ไม่ต้องมีสลับสองระบบปฏิบัติการด้วย เพราะเคยลองแล้วไม่เวิร์คอย่างแรง)

ว่าแล้วก็เลยลองหา "อุปกรณ์ในดวงใจ"ที่เป็นสาย Android แทน พบว่ายังไม่มีแบบโป๊ะเชะ ใกล้เคียงสุดคือ ASUS Transformer Pad TF103Cส่วนค่ายอื่นมี HP SlateBook x2 (เลิกทำแล้ว) กับ Lenovo Yoga Tablet 2ที่ไม่แน่ใจว่า mechanical ของตัวคีย์บอร์ดเป็นอย่างไร

วิดีโอสาธิต ASUS Transformer Pad TF103C

สรุปว่าอยากได้ประมาณข้างบนนี้แหละ แต่ขอเพิ่ม Multi-Window แบบ native หน่อย (แบบที่ซัมซุงทำอยู่ไม่ค่อยเวิร์ค) กับเพิ่มสเปกบางอย่างที่คิดว่าสำคัญ

ลองจินตนาการฮาร์ดแวร์ตัวนี้เล่นๆ ตั้งชื่อว่า Nexus 11ละกันครับ

  • หน้าจอ 10-11 นิ้ว พอใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กได้ และไม่ใหญ่เกินไปสำหรับใช้เป็นแท็บเล็ต จอละเอียดสัก 1080p ก็พอแล้ว ถ้าดีกว่านั้นคือของแถม
  • ซีพียูอะไรก็ได้ไม่ซีเรียส จะเป็น Tegra K1 แบบข่าว Nexus 9 ก็ยิ่งดี หรือจะเป็น Atom ก็ไม่มีปัญหา
  • แรมเยอะนิดนึงสัก 2GB ขึ้นไป
  • กล้องไม่ซีเรียส เท่าไรก็ได้ ไม่ค่อยได้ใช้หรอก
  • พื้นที่เก็บข้อมูล 16-32GB ขึ้นไป ที่สำคัญคือต้องมีช่องเสียบ Micro SD ที่อยู่ด้านนอกเครื่อง ถอดเปลี่ยนได้ง่าย (ทำแบบ Surface Pro 3 ก็ดูดี)
  • มีช่องเสียบซิมด้วย สำหรับคนใช้ทำงานต่อเน็ตแบบ Always On จะได้ไม่ต้องแชร์ Wi-Fi ให้เปลืองแบตมือถือ
  • แบตเตอรี่ขั้นต่ำสัก 10 ชั่วโมง
  • คีย์บอร์ดปุ่มใหญ่พิมพ์ง่าย ทำคีย์ลึกๆ หน่อยก็ได้ไม่ต้องบางมาก ที่สำคัญคือ layout อย่าพิสดาร
  • คีย์บอร์ดต้องเชื่อมต่อกับแท็บเล็ตแล้วตั้งได้แบบโน้ตบุ๊ก (ถ้าแปะเฉยๆ แบบ Surface ไม่เอา)
  • คีย์บอร์ดต้องมีทัชแพดในตัว เพราะการใช้มือจิ้มจอโดยตรงมันทรมานมาก ทัชแพดทำมาดีๆ เลย ใหญ่ๆ
  • ต้องมี Full-size USB อย่างน้อยหนึ่งพอร์ต จะอยู่ตรงฝั่งแท็บเล็ตหรือคีย์บอร์ดก็ได้
  • น้ำหนักรวมกันประมาณ 1 โลนิดๆ ถือว่ารับได้
  • เริ่มต้นด้วย Android L และการันตีการอัพเกรด
  • ฟีเจอร์เสริมพิเศษ บวกคะแนนเพิ่มถ้ามี Full-size USB พอร์ตที่สอง, Full-size SD Reader, ปากกาสไตลัส

ราคารุ่นล่างสุดสัก 399 ดอลลาร์นี่คงยอดเยี่ยมเป็นแน่แท้ หลังจากนั้นกูเกิลจะเอาฟีเจอร์ enterprise ทั้งหลายทั้งปวงมายัดลงไป แล้วขายยกล็อตสำหรับตลาดองค์กร ก็ไม่มีปัญหาอันใด

The Hobbit: The Desolation of Smaug

$
0
0

หนังภาคสามกำลังเข้าโรงพอดี เราก็ได้ฤกษ์ดูภาคสอง ดูช้าไปปีนึงพอดี (บล็อกเขียนถึงภาคแรก)

The Desolation of Smaug จับความต่อจากภาคแรก ที่คณะของบิลโบและคนแคระ เดินข้ามเทือกเขา Misty Mountain มาฝั่งตะวันออกแล้ว และต้องเดินผ่านป่าต้องสาบ Mirkwood ลุยทะเลสาบ Esgaroth ไปยังภูเขา Lonely Mountain เพื่อเผชิญหน้ากับมังกร Smaug ได้สำเร็จ

ตอนทราบข่าวว่า The Hobbit จะทำหนังแยกเป็น 3 ภาคก็สงสัยอยู่บ้างเพราะฉบับหนังสือมันบางมาก ดูภาคแรกยังคงเนื้อเรื่องเดิมอยู่เยอะก็ยังไม่เข้าใจเท่าไร พอมาภาคสองนี่ชัดเจนว่ายืดเรื่องขึ้นได้อย่างไร เท่าที่จำได้คือ

  • บทของ Legolas ถูกยัดเข้ามา (อันนี้เข้าใจได้เพราะมีฐานแฟนๆ ของ LotR เดิมอยู่มาก) และมีการสร้างตัวละครเอลฟ์หญิง Tauriel เข้ามาเป็นบทโรแมนซ์ด้วย (ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะไม่งั้นมันจะเป็นหนังชายล้วน)
  • เพิ่มฉากแอคชั่นเข้ามาอีกหลายจุด เช่น ตอนคนแคระหนีออกจากปราสาทเอลฟ์ด้วยถังไม้ลอยน้ำ ต้นฉบับลอยออกมาได้ง่ายๆ เลย ไม่มีฉากไล่ล่า, ในหนังสือไม่มีฉากต่อสู้กับมังกร Smaug คือบิลโบขโมยของออกมาได้แล้วก็หนีออกมาเลย เจอฉากเอาทองไปราดมังกรแล้วถึงกับอึ้ง

โดยรวมแล้วคิดว่าหนังสนุกขึ้นกว่าภาคแรก คือมีฉากแอคชั่นเยอะ (แต่กลายเป็นว่าหนังยาวยืดไปเกือบ 3 ชม.) แต่ก็เสียบรรยากาศบางส่วนในหนังสือไปอยู่บ้าง เช่น ฉากเจอ Smaug เป็นการประลองปัญญากันระหว่างบิลโบกับมังกร แต่สุดท้ายมันกลายเป็นหนังแอคชั่นไปแทน

ปัญหาที่สำคัญของหนังคือไม่ค่อยอธิบายแรงจูงใจหรือที่มาที่ไปของการกระทำต่างๆ สักเท่าไร ขนาดผมเคยอ่าน The Hobbit มาแล้วยังงงๆ ว่าฉากนี้ ตัวละครเจอสิ่งนี้ แล้วทำไมต้องทำอย่างนั้น (เช่น ไม่มีการอธิบายความสัมพันธ์ของเมือง Erebor กับ Dale หรือ Dale กับ Esgaroth)

House of Cards - First Episode

$
0
0

ช่วงปลายปีที่พอจะเริ่มว่างเพราะเคลียร์งานเสร็จไปเยอะ บิ๊กบอสก็เดินมาหาพร้อมกับยื่น DVD มาให้หนึ่งกล่องพร้อมคำสั่ง "ดูตอนแรกให้จบในคืนนี้ นี่คือการบ้าน"

กลับบ้านเลยจำใจหยิบขึ้นมาดู พบว่า โฮ! นี่มันสนุกมากเลยนะนาย

House of Cards เป็นซีรีส์ที่ทำมาเพื่อฉายบน Netflix โดยเฉพาะ (ซีรีส์เดี๋ยวนี้เค้าเลิกฉายบนทีวีแล้ว!) โดยมีทีมผู้สร้างคนสำคัญคือ David Fincher แห่ง The Social Network นั่นเอง

House of Cards เป็นซีรีส์ "การเมือง"ที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ Michael Dobbs อดีต ส.ส. อังกฤษในยุคของ Margaret Thatcher ที่สั่งสมประสบการณ์ด้านการเมืองรัฐสภามาอย่างเต็มเปี่ยม (แต่เวอร์ชัน Netflix เอาโครงเรื่องมาแปลงให้เป็นสหรัฐแทน) เรื่องจึงแน่นมากในแง่เหลี่ยมคมทางการเมือง และคนที่จะดูสนุกก็ต้องมีพื้นความรู้ด้านการเมืองสหรัฐอยู่บ้าง (ตัวอย่างเช่น ภาพโปรโมทหลักของเรื่อง เป็นรูปพระเอกนั่งท่าเดียวกับอนุสาวรีย์ลินคอล์นในวอชิงตัน แต่มือเปื้อนเลือด เป็นต้น)

เนื้อเรื่องแบบคร่าวๆ คือพระเอก ส.ส. มากประสบการณ์ Frank Underwood (แสดงโดย Kevin Spacey) แถมเป็นวิปสภาผู้แทนราษฏร มีบทบาทเป็นคุมเสียงในสภาล่างของสหรัฐ เขาหนุนนักการเมืองของพรรคคนหนึ่งลงชิงประธานาธิบดีและชนะการเลือกตั้ง ทำให้ Frank คาดหวังว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (Secretart of States) แต่ว่าที่ประธานาธิบดีกลับหักหลัง โดยบอกว่าอยากให้ Frank คุมเกมรัฐสภาต่อไปมากกว่า

House of Cards เริ่มต้นตอนแรกด้วย Frank ยอมรับสภาพ และเตรียมความพร้อมสำหรับการ "แก้แค้น"

ชื่อเรื่อง House of Cards หมายถึงบ้านที่สร้างด้วยไพ่ที่เปราะบาง พร้อมจะพังทลายลงมาเมื่อไรก็ได้ (แสดงให้เห็นถึงเกมอำนาจในวอชิงตันดีซี) และพ้องเสียงกับคำว่า "House"ที่หมายถึง "สภา"ด้วย ตัวเรื่องถูกจัดกลุ่มเป็น political thriller มีทั้งการหักเหลี่ยมเฉือนคมทางการเมือง และอาชญากรรม-ฆาตกรรม เพื่อให้เรื่องดูสนุกขึ้น ตัวแสดงในเรื่องนอกจากพระเอก Spacey แล้วยังมี Robin Wright (จำนางเอก Forest Gump กันได้ไหมครับ) มารับบทเป็นเมียพระเอกที่ทะเยอทะยานพอกันอีกด้วย

House of Cards ฉายมาสองซีซันแล้ว กำลังจะขึ้นซีซันที่สาม ที่ผ่านมาซีรีส์นี้ได้รับรางวัลมากมาย และถือเป็นซีรีส์ออนไลน์เรื่องแรกที่ได้รางวัล Emmy Awards ด้วย

ตอนนี้เพิ่งดูไป 1 ตอน ไว้ดูจบซีซันแรกแล้วจะมาเขียนวิจารณ์

New Rules for the New Economy

$
0
0

ผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่งโพสต์ไว้ใน Facebook เมื่อเช้านี้ ลองค้นดูพบว่ามาจากหนังสือชื่อ New Rules for the New Economyของ Kevin Kellyอดีตบรรณาธิการบริหารคนแรกของนิตยสาร Wired เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1999 (ต้นฉบับมีแจกบนเว็บ)

ลองอ่านดูแล้วพบว่าน่าสนใจ เพราะมันคือการเอา "คุณลักษณะ" (ในที่นี้หมายถึง attribution) ของ "เครือข่าย" (network) ในเชิงเทคโนโลยี มาแปลงเป็นแนวคิดด้านธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือฉบับเต็ม แต่แปลจากเวอร์ชันสรุปของผู้เขียนเองที่สร้าง "กฎของเศรษฐกิจใหม่"ไว้ทั้งหมด 10 ข้อดังนี้

1) Embrace the Swarm. As power flows away from the center, the competitive advantage belongs to those who learn how to embrace decentralized points of control.

กฎข้อแรกพูดถึงแนวคิดเรื่อง decentralize ที่มาคู่กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ต้น เมื่อสถาปัตยกรรมรากฐานเป็นการกระจายศูนย์ ไม่มีจุดใดเป็นศูนย์กลาง ทำให้เศรษฐกิจยุคใหม่ไม่สามารถถูกควบคุมด้วยจุดเดียวได้ ช่วงหลังๆ เราจึงเห็นแนวคิดอย่าง platform, ecosystem, user-generated, open source หรือ crowdsourcing ที่ใช้พลังของการประจายศูนย์ได้อย่างเต็มที่

2) Increasing Returns. As the number of connections between people and things add up, the consequences of those connections multiply out even faster, so that initial successes aren’t self-limiting, but self-feeding.

กฎข้อที่สองพูดถึงคุณลักษณะของเครือข่ายที่เชื่อมโยงไขว้กันได้หลายชั้น และมูลค่า (value) ของบริการก็ขึ้นกับจำนวนการเชื่อมโยงเหล่านั้น (ที่จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ไม่ได้โตแบบ linear เป็นเชิงเส้น)

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการสร้าง platform ให้คนใช้เยอะๆ แล้วเกิดมูลค่า เช่น Facebook หรือแนวคิด Halo Effectที่มักใช้อธิบายพลังของแอปเปิลก็ถือเป็นอีกตัวอย่างที่เข้าข่าย

3) Plentitude, Not Scarcity. As manufacturing techniques perfect the art of making copies plentiful, value is carried by abundance, rather than scarcity, inverting traditional business propositions.

แนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์คลาสสิคของอดัม สมิธ พูดถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด ให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่จำกัดให้ได้

แต่พอมาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่ "การทำซ้ำ" (copy หรือ duplicate) มีต้นทุนน้อยมาก และในเชิงเทคนิคแล้วเราสามารถทำซ้ำได้ไม่จำกัด ทำให้ปัญหาเรื่องทรัพยากรไม่พอใช้ (scarcity) หมดไป ทุกคนสามารถมีของแบบเดียวกันหรือทดแทนกันได้ไม่ยากนัก (ตัวอย่างเช่น มือถือ Samsung vs Zenfone) ทำให้วิธีคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ต้องเปลี่ยนไปด้วย

4) Follow the Free. As resource scarcity gives way to abundance, generosity begets wealth. Following the free rehearses the inevitable fall of prices, and takes advantage of the only true scarcity: human attention.

ข้อสี่ต่อเนื่องมาจากข้อสาม เมื่อทรัพยากรมีไม่จำกัด วิธีการตั้งราคาก็เปลี่ยนไป เราสามารถตั้งราคาขายสินค้าเหลือ 0 ได้ เพื่อดึงให้ผู้บริโภคอยู่กับเราไปนานๆ เพราะสุดท้ายแล้วทรัพยากรที่จำกัดจะเหลือเพียงแค่อย่างเดียวคือ "ความสนใจของคน" (human attention) หรือจะเรียกว่า "เวลาของแต่ละคน"ก็น่าจะพอได้

กฎข้อนี้อธิบายว่าทำไมบริการหลายๆ ตัวบนอินเทอร์เน็ตถึงฟรีแบบใจป้ำ คำตอบก็คือเขาต้องการทำเงินจาก "ความสนใจของเรา"ที่หาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

5) Feed the Web First. As networks entangle all commerce, a firm’s primary focus shifts from maximizing the firm’s value to maximizing the network’s value. Unless the net survives, the firm perishes.

กฎข้อที่ห้า คล้ายกับข้อแรก นั่นคือบริษัทต้องให้คุณค่าต่อ "เครือข่าย"แทนที่จะเป็นตัวองค์กรเองเพียงลำพังอย่างในอดีต เพราะบริษัทยุคใหม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายสูงมากๆ ไม่สามารถทำตัวหยิ่งแล้วอยู่คนเดียวได้อีกต่อไป (ตัวอย่างที่น่าจะเข้าข่ายคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า Sony ในอดีต อยู่คนเดียวได้เพราะคนซื้อตัวสินค้า แต่พอมาถึงยุคที่เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องต่อกันเป็นเครือข่าย Sony ก็ไปไม่เป็นเลยทีเดียว)

6) Let Go at the Top. As innovation accelerates, abandoning the highly successful in order to escape from its eventual obsolescence becomes the most difficult and yet most essential task.

แนวทางการบริหารแบบดั้งเดิมคือ ใช้ CEO ที่ฝึกฝนมาตามกรอบ เชี่ยวชาญในสาขาของตัวเอง แล้วจ่ายเงินให้แพงๆ เพื่อให้พาบริษัทไปสู่จุดหมาย บริษัทผลักดันจากบนลงล่าง มีระเบียบและโครงสร้างชัดเจน

แต่ในยุคที่ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่หมด ไม่มีใครเชี่ยวชาญในสาขานั้นเลย ธุรกิจยุคใหม่จึงไม่สามารถใช้แนวทางการบริหารแบบเดิมได้ บริษัทจึงต้องหาวิธีเปิดกว้างให้พนักงานได้ทดลองสร้างนวัตกรรม กล้าเดินออกจากเขตแดนเดิม (fringe) แนวทางนี้คือการทำงานขององค์กรไอทียุคใหม่อย่าง Google หรือ Facebook ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองและล้มเหลว

7) From Places to Spaces. As physical proximity (place) is replaced by multiple interactions with anything, anytime, anywhere (space), the opportunities for intermediaries, middlemen, and mid-size niches expand greatly.

ข้อจำกัดเชิงกายภาพถูกทำลายลงด้วยอินเทอร์เน็ต ทำให้เราไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับ "สถานที่" (place) เพื่อให้ได้เปรียบในแง่การแข่งขันอีกต่อไป (เช่น การเลือกทำเลร้านค้าปลีก) สิ่งที่มาแทนคือ "พื้นที่" (space) ในมิติที่เป็นไซเบอร์ ที่เปิดให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโมเดลของ eBay หรือ Amazon ที่ทำตัวเป็นพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากัน โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน (place) แบบในอดีต

8) No Harmony, All Flux. As turbulence and instability become the norm in business, the most effective survival stance is a constant but highly selective disruption that we call innovation.

อินเทอร์เน็ตคือความมั่ว จงยอมรับธรรมชาติข้อนี้ ดังนั้นธุรกิจออนไลน์จึงต้องมั่วๆ ไร้ระเบียบตามไปด้วย (อย่างน้อยก็มั่วกว่าธุรกิจแบบดั้งเดิมที่มีโครงสร้างตายตัว) การอยู่รอดให้ได้ในเชิงธุรกิจสมัยใหม่จึงต้องใช้คำว่า disruption หรือทำลายตัวเองแล้วสร้างใหม่ไปเรื่อยๆ เทพเจ้าในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น Netflix ที่สร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาทำลายธุรกิจเก่าของตัวเองลง เพื่อให้องค์กรอยู่รอดต่อไปได้

9) Relationship Tech. As the soft trumps the hard, the most powerful technologies are those that enhance, amplify, extend, augment, distill, recall, expand, and develop soft relationships of all types.

เศรษฐกิจยุคใหม่เน้นความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ (economic relationship) ระหว่างคนกับสิ่งต่างๆ ดังนั้นเทคโนโลยีที่ทรงพลังที่สุดคือ เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธ์ของคนกับสิ่งรอบตัว แนวคิดนี้พัฒนามาเป็น social network นั่นเอง

10) Opportunities Before Efficiencies. As fortunes are made by training machines to be ever more efficient, there is yet far greater wealth to be had by unleashing the inefficient discovery and creation of new opportunities.

ข้อสิบน่าจะคล้ายข้อแปด คือเมื่อทุกอย่างคือความมั่ว การออกไปหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ย่อมทำได้ง่ายกว่าการรีดประสิทธิภาพจากโมเดลธุรกิจเดิมๆ อันนี้คือแนวคิดแบบ startup นั่นเอง

Photo credit: Christopher Michel from Kevin Kelly site

New Pocket for Firefox

$
0
0

ใช้ Pocket บันทึกบทความต่างๆ ไว้อ่านในภายหลังมานานหลายปี โดยลงส่วนเสริมไว้ทั้งบน Firefox และ Chrome

ช่วงหลังๆ สังเกตว่า Pocket Add-onตัวเดิมมันมีปัญหากับ Firefox รุ่นเปลี่ยนธีม โดยปุ่มบันทึกเว็บที่เดิมอยู่ตรง URL bar มาๆ หายๆ แบบคาดเดาไม่ได้

วันนี้มานั่งสืบเสาะโดยละเอียดก็พบว่า ตัวเก่าเลิกทำแล้วจ้า โดย Pocket เปลี่ยนมารันเป็น Services แบบใหม่ของ Firefoxแทน

ขั้นตอนเปลี่ยนผ่านก็ง่ายๆ ลบ Add-on ตัวเดิมออก แล้วเข้าไปติดตั้ง Pocket Serviceคลิกเดียวจบข่าว ต่อจากนี้ไป Pocket บน Firefox ก็จะทำตัวเหมือน Chrome คือมีปุ่มเดียว กดแล้วเซฟอย่างเดียว ถ้าอยากดูรายการเว็บที่บันทึกไว้ก็เข้าจากเว็บ Pocket เอานั่นแหละง่ายที่สุดแล้ว

Resolution 2015

$
0
0

ไม่ได้ตั้ง New Year Resolution หรือเป้าหมายประจำปีไว้เสียนานด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง

จริงๆ ตั้งเป้าหมายของปี 2014 ไว้แบบเงียบๆ หนึ่งข้อคือ 'shut up and change the world'เพราะหลังจากปี 2013 ชีวิตเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ปี 2014 จึงตั้งเป้าว่าจะยุ่งเรื่องชาวบ้านให้น้อยลง ทำงานให้มากขึ้น ซึ่งก็ทำสำเร็จในระดับที่ตัวเองพอใจ เล่นโซเชียลน้อยลง ออกงานน้อยลง ทำงานมากขึ้น

เมื่อชีวิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ปี 2015 ก็อยากกลับมาตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่ เอาง่ายๆ 3 ข้อพอ

  1. ซ่อมบ้านเป็นภารกิจที่ทำไม่สำเร็จมาหลายปี คราวนี้จะต้องทุ่มเททุกสิ่งอย่างเพื่อพิชิตมันให้จงได้
  2. พูดคุยสองปีที่ผ่านมา ปฏิเสธและหลีกเลี่ยงการออกงานสังคมจำนวนมากมาย เพื่อเลือกจะเก็บตัวเพื่อเคลียร์หลังบ้านทั้งหลายทั้งปวง (นี่ขนาดปฏิเสธแล้วนะ!) ปี 2015 ตั้งใจว่าจะหวนคืนวงการในบางส่วน ที่อยากทำคือออกไปพูดคุยกับคนให้มากขึ้น มีคนเจ๋งๆ ที่เราอยากไปพูดคุย สัมภาษณ์ เรียนรู้ ทำความรู้จัก แต่ติดภารกิจมาโดยตลอด ครานี้ภารกิจเริ่มซา ก็ได้เวลาออกไปลุย!
  3. เสพสื่อสองปีที่ผ่านมา มีสื่อสารพัดมีเดียที่สั่งสมเอาไว้มาก ทั้งการ์ตูน เกม หนัง หนังสือ เมื่อเริ่มมีเวลามากขึ้นก็อยาก "เสพ"คอนเทนต์พวกนี้เข้ามาเสริมสมองอีกครั้ง เหมือนในสมัยที่ยังมีเวลามากกว่านี้

สวัสดีปีใหม่ครับ

Keyword: 

Tech Prediction 2015

$
0
0

สถิติที่ผ่านมาพบว่าพยากรณ์ไม่ค่อยแม่น แต่ก็เป็นเรื่องสนุกดี ถือเป็นโจทย์เอาไว้ท้าทายการวิเคราะห์ของตัวเอง

วงการเทคโนโลยีปี 2015 ถ้าให้สรุปเป็นภาษาหุ้นคือ "ปีปรับฐาน"เพราะรอบเทคโนโลยีเดิมกำลังจะจบลง (social+mobile) แต่รอบเทคโนโลยีใหม่ยังมาไม่ถึง บรรยากาศน่าจะคล้ายๆ วงการเว็บราวปี 2004-2005 ยุคก่อน web 2.0 อะไรแนวนี้

  • wearable computingจะไม่บูมทะลุฟ้าแบบเดียวกับสมาร์ทโฟน เพราะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าจะใส่ไปทำไม แอปเปิลจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักกับ Apple Watch แต่ก็ไม่มีผู้ผลิตรายไหนประสบความสำเร็จเช่นกัน
  • mobile paymentสายธนาคารจะตื่นตัวกันมากขึ้นจาก Apple Pay แต่ตลาดนี้จะโตไม่เร็วมาก เพราะสุดท้าย ecosystem จะไปคอขวดที่ฝั่ง retail ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ครั้งใหญ่ เทรนพนักงานใหม่หมด
  • car techน่าจะพอไปได้แต่ด้วยสปีดที่ช้ามาก ด้วยเหตุผลว่ารอบการเปลี่ยนรถของคนนั้นช้าอยู่แล้ว และผู้ผลิตรถยนต์จะไม่ค่อยไว้ใจบริษัทไอทีให้มายุ่มย่ามกับรถของตัวเองเท่าไร ตัวอย่างของ Ford ที่หันมาทำแพลตฟอร์มเองนั้นชัดเจนมาก
  • smart homeตลาดนี้น่าสนใจแต่มีความหลากหลายสูงมาก (กลับกับตลาดรถที่ผู้ผลิตควบคุมทุกอย่าง) น่าจะโตช้าด้วยเหตุว่ามีผู้เล่นเยอะ เทคโนโลยีเยอะ แต่เยอะจนงง ไม่มีรายไหน dominate
  • smart phoneน่าจะเป็นปีที่รายใหญ่เริ่มชะลอตัวกันถ้วนหน้า ทั้งแอปเปิล ซัมซุง โซนี่ แอลจี ส่วนบริษัทจีนก็ต้องปรับฐาน ปรับแบรนด์ของตัวเองสักพักก่อนไปลุยโลกตะวันตกแบบเต็มตัว ทั้ง Lenovo ซื้อ Moto, Huawei ปรับแบรนด์, ZTE เปลี่ยนโลโก้, TCL ซื้อแบรนด์ Palm, Xiaomi อนาคตไกลก็จริง แต่น่าจะต้องพัฒนา service ของตัวเองให้ดูฝรั่งกว่านี้ก่อน
  • tablet media tablet จะเริ่มอิ่มตัว ตลาดจะขยับไปเป็น tablet for work และอุปกรณ์จำพวก hybrid มากขึ้น
  • ปี 2015 อาจเป็นปีสุดท้ายที่เราจะได้เห็น Windows Phoneส่วน Windows 10 ไม่น่าจะเปรี้ยงปร้างมาก แต่ต้องมองว่ามันเป็นโครงการระยะยาวของไมโครซอฟท์ เป็น continuous improvement มากกว่า big release
  • กูเกิลจะเรื่อยๆ เอื่อยๆ กับ Android เพราะชนะเกมนี้แล้ว เราคงได้เห็นการหลอมรวมของ Chrome OS กับ Android มากขึ้นแต่คงไม่เร็วนัก สิ่งที่กูเกิลเน้นน่าจะไปซุ่มทำของใหม่ๆ ภายใต้ business unit ใหม่ที่อยู่นอกเหนือสายของ Sundar Pichai
  • แต่ YouTubeจะยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และตีตลาด online video รายอื่นๆ เละเทะ เราอาจได้เห็น YouTube original series แบบที่ Netflix เคยทำ
  • Securityปี 2014 ถือเป็นปีที่มีกรณีด้าน security เยอะมากๆ (iCloudgate, Heartbleed, Poodle, Sony Pictures, Shellshock, Target) ทำให้ปี 2015 คนจะตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น ฝั่งไอทีองค์กรใหญ่น่าจะเร่งอัพเกรดระบบกันแบบเงียบๆ (ไม่มีใครอยากโดนแบบ Sony Pictures) และเราน่าจะเริ่มเห็น startup สาย security หน้าใหม่ๆ เจ๋งๆ ผุดขึ้นมา
  • วงการอินดี้น่าจะเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจที่สุดในปี 2015 ทั้งสายระดมทุน crowdfunding และสายเกมอินดี้ที่หลังๆ มาแรงกว่าค่ายเกมยักษ์ใหญ่มาก
  • วงการสตาร์ตอัพไทยคงเข้าสู่ช่วงปรับฐานเช่นกัน เพราะคนที่มีศักยภาพจะทำสตาร์ตอัพได้ก็น่าจะออกมาทำกันหมดแล้วในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา (และรอบ่มเพาะอีกสักพักกว่าจะประสบความสำเร็จ) ส่วนคนรุ่นต่อมายังสั่งสมพลังกันไม่ทัน

Keyword: 


Final Fantasy V

$
0
0

achievement unlocked ชิ้นแรกของปี 2015

Final Fantasy V น่าจะเป็นเกม JRPG เกมแรกๆ ที่เคยเล่น (เกมแรกสุดจริงๆ จำไม่ได้แล้ว) แต่ก็เล่นไม่จบด้วยเหตุผลว่าตอนนั้นเด็กมากๆ ยังไม่ค่อยซาบซึ้งกับความซับซ้อน และเกมมีแต่ภาษาญี่ปุ่นอ่านไม่รู้เรื่อง (ที่จำได้คือรอบแรกตายเพราะหนีจากเรือกลไฟไม่ทัน)

หลังจากนั้นผมเล่น FFVI จบเป็นเกมแรก ตามด้วย FFIV ในภายหลัง ในขณะที่ FFV กลายเป็นความค้างคาใจมาโดยตลอดว่าเล่นไม่จบ

เวลาผ่านมายี่สิบปีได้ (นานเนอะ) Square Enix นำ FFV มาพอร์ตลงอุปกรณ์พกพา (Play Store) เลยตัดสินใจซื้อมาเพื่อเติมเต็มความฝันในวัยเยาว์ วันนี้ทำสำเร็จแล้ว

FFV เวอร์ชันมือถือถูกปรับแต่งให้เหมาะกับการเล่นบนจอสัมผัส กราฟิกสวยขึ้นกว่าเดิม 1 ขั้น (ตอนแรกรู้สึกแปลกๆ แต่เล่นไปก็คุ้น) ในแง่ของการ control ออกแบบมาค่อยข้างดี คือ ปุ่มทิศทางสามารถกดได้ทุกตำแหน่ง ในขณะที่ปุ่มคำสั่ง (ปุ่ม A บนซูเปอร์ฟามิคอมเดิม) ใช้การแตะจอโดยมี indicator คอยบอก (เช่น เวลาเจอสมบัติหรือต้องคุยกับคน จะมีเครื่องหมายตกใจโผล่ขึ้นมาบนหัว ให้รู้ว่าต้องแตะเจอ)

ระบบเมนูทุกอย่างเหมือนของเดิมหมด สิ่งที่เพิ่มมาเล็กน้อยคือระบบ Quick Save ช่วยให้เล่นเกมคล่องตัวขึ้น เหมาะกับการเล่นบนมือถือที่เรามักจะเล่นๆ หยุดๆ ไม่นั่งเล่นยาวแบบคอนโซล

ในฐานะที่เล่น Final มาครบแล้วตั้งแต่ภาค 4-7 ต้องยอมรับว่าเนื้อเรื่องของ FFV อ่อนที่สุด แทบไม่มีประเด็นดราม่าหรือซับซ้อนซ่อนเงื่อนเลย เป็นเกม RPG แฟนตาซีโลกสวยไม่มีพิษไม่มีภัย เนื้อหาเน้นไปที่การต่อสู้ของฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว โดยมี "คริสตัล"เป็นองค์ประกอบของเนื้อเรื่องเท่านั้น (เป็นภาคที่ใช้คริสตัลคุ้มสุดแล้วกระมัง) ที่น่าสนใจคือตัวละครหลักเป็นชาย 1 หญิง 3 น่าจะเป็นภาคเดียวที่มีตัวละครหญิงมากกว่าชาย แต่ไม่มีประเด็นเรื่องโรแมนซ์ใดๆ สักนิดเลย

ในประเด็นเรื่องเนื้อเรื่องของ FFV ไม่ถือว่าแย่มาก แต่เทียบกับพี่น้องในช่วงๆ เดียวกันที่แซบกว่าเยอะ ก็ต้องบอกว่าเนื้อเรื่อง FFV จืดไปสักหน่อย

จุดที่ทำให้ FFV โดดเด่นคือระบบอาชีพที่ยืดหยุ่นหลากหลายมาก ตัวละครทุกตัวเปลี่ยนได้ทุกอาชีพ ส่งผลให้ผู้เล่นสามารถออกแบบ flow การต่อสู้ได้ค่อนข้างอิสระ (มันสนุกตรงนี้แหละ) จุดอ่อนในมุมกลับคือมีอาชีพเยอะเกินไป และออกแบบจุดเด่นของอาชีพไม่ค่อย balance กันเท่าไร มันเลยมีอาชีพที่เราพึ่งพามันตลอด และอาชีพที่เราไม่สนใจมันเลย ไม่ต้องใช้งานก็เล่นจบได้สบาย (แค่รู้สึกไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง) ถ้า Square ลดจำนวนอาชีพลงสัก 1/3 แล้วปรับคุณสมบัติให้สมดุลกว่านี้จะดีขึ้นอีกมากๆ

เล่นจบมาหนึ่งรอบก็พบว่า ทักษะความสามารถ (ability) ที่สำคัญที่สุดในเกมคือ

  • ถือดาบสองมือของนินจา
  • Rapid Fire โจมตีสี่ครั้งของ Hunter (รวมกันสองอย่างแล้วจะฟันได้ 8 ครั้ง)
  • DualCast ของจอมเวทย์แดง (อาชีพที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลยยกเว้น DualCast)

Final Fantasy ภาคหลักส่วนใหญ่มีบอสใหญ่ที่ไม่ยากจนเกินไป กรณีของ FFV ผมเล่นจบด้วยเลเวล 49 (ใช้เวลารวม 41 ชั่วโมง) แต่ก็ยังมีบอสลับให้ท้าทายความสามารถอีกมาก เดี๋ยวค่อยๆ ไปเก็บให้ครบต่อไป (แต่เล่นเนื้อเรื่องหลักจบแล้วก็สบายใจละ)

เป้าหมายต่อไปคือ Chrono Trigger

จักรวาลวิทยาของดราก้อนบอล

$
0
0

วันก่อนดู Dragon Ball ภาคหนังโรงตอนใหม่ล่าสุด Battle of Godsแล้วสงสัยเรื่องระดับชั้นของ "เทพ"ที่ปรากฏตัวในเรื่อง (หนังไม่สนุกหรอกนะครับ ไม่ต้องดูก็ได้)

ไปค้นข้อมูลใน Dragon Ball Wikiaแล้วพบสิ่งที่น่าตกตะลึง!!! เพราะการ์ตูนผู้ชายต่อยกันอย่างดราก้อนบอลมีระบบจักรวาลที่ซับซ้อนกว่าที่คิดมาก!!!

จักรวาลของดราก้อนบอล

อย่างแรกสุดต้องอธิบายก่อนว่า ดราก้อนบอลเป็นการ์ตูนที่มีดาวหลายดวง (ที่ทุกคนรู้กันดีก็คือดาวไซย่ากับดาวนาเม็ก) และมี "พิภพ"หรือ "มิติ"ซ้อนกันหลายชั้น (เช่น โกคูตายแล้วไปอยู่บนพิภพของเทพ) ซึ่งเวลาเราดูในการ์ตูน จะอยู่ต่างดาวหรือต่างพิภพก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่าไรนัก

แต่พอนำมันมาจัดระบบเป็น "จักรวาลวิทยา" (cosmology) ว่าใครอยู่ตรงไหนอย่างไร ก็ออกมาได้ว่า "จักรวาล"หรือ Universeในเรื่องดราก้อนบอลมีลักษณะเป็น "ทรงกลม" (sphere)

เท่านั้นยังไม่พอครับ ในภาค Battle of Gods ได้อธิบายไว้ว่าดราก้อนบอลมีจักรวาลทั้งหมด 12 อัน!!! และจักรวาลที่ปรากฎในเรื่องคือจักรวาลลำดับที่ 7 เท่านั้น!!! (ไม่มีใครรู้ว่าจักรวาลอื่นๆ เป็นอย่างไร)

ตัดเรื่องจักรวาล 12 อันไปก่อน มาโฟกัสกันที่จักรวาลลำดับที่ 7 เพียงอย่างเดียว ทรงกลมของจักรวาลถูกแบ่งออกเป็นซีกบนกับซีกล่าง

โลกของสิ่งมีชีวิต (mortal universe)อยู่ในซีกล่าง ซึ่งก็คือดาวเคราะห์ทั้งหมดในเรื่อง ภูมิของอวกาศในเรื่องจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ควอเตอร์ 4 ทิศทาง สำหรับโลกเรานั้นอยู่ในควอเตอร์ทางทิศเหนือ

ส่วนครึ่งทรงกลมซีกบนคือ อาณาเขตของพระเจ้า (the other world)

ชั้นล่างสุดของ other world (และเป็นพรมแดนกับโลกของสิ่งมีชีวิต) ก็คือ "นรก" (hell)

สำหรับ "นรก"เป็นที่อยู่สำหรับตัวร้ายของเรื่อง (เช่น ฟรีเซอร์ หรือ เซลล์) ตอนที่ตายไปแล้ว โดยมี "ยมบาล" (King Yemma) เป็นผู้ดูแล ตอนที่โกคูตายแล้วโผล่ขึ้นมาบนนี้ก็ต้องเจอกับยมบาลก่อน

หมายเหตุ:ตรงนี้ต้องระวังเพราะดราก้อนบอลแยกความแตกต่างระหว่างนรกกับ "โลกปีศาจ" (Makai) ที่อยู่อีกสุดปลายของทรงกลมด้วย โลกปีศาจก็จะอาศัยอยู่โดยปีศาจอย่างดาบูราหรือพ่อมดบาบิดี้ในภาคจอมมารบูนั่นเองครับ

เหนือนรกขึ้นมาเป็นที่อยู่ของ "ไคโอ" (Kaio) หรือฉบับภาษาไทยเรียก "จ้าวพิภพ"คอยดูแลอยู่ ซึ่งไคโอเลี้ยงลิงและฝึกสอนวิชาหมัดเจ้าพิภพให้โกคูก่อนไปบุกดาวนาเม็ก ก็คือ "ไคโอแห่งทิศเหนือ"

ไคโอมีทั้งหมด 4 ตนแยกตาม 4 ทิศ แต่ละตนจะอยู่บนดาวของตัวเองที่อยู่ 4 ทิศใน other world (ที่เชื่อมกันด้วยเส้นทางมังกร)

โลกแห่งไคโอยังมี "ราชาแห่งไคโอ" (Grand Kaio หรือ Dai Kaio ในภาษาญี่ปุ่น) คอยปกครองอยู่ (โผล่มาเฉพาะในอนิเมของภาค Z เท่านั้น ช่วงหลังเซลล์ก่อนบู) ราชาของไคโอจะอาศัยอยู่บนดาวของตัวเองที่อยู่บนจุดสูงสุดของจักรวาล ซึ่งดาวแห่งไคโอจะอยู่เหนือ "สวรรค์" (Heaven) ซึ่งมีสถานะเป็นดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งอยู่ในระบบจักรวาลนี้ (สวรรค์อยู่ในอนิเมะภาคบู)

ลำดับของไคโอทั้ง 5 ก็ตามนี้

ไคโอชิน

แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ นอกจากเจ้าพิภพหรือไคโอแล้ว ยังมีเทพเจ้าที่ศักดิ์สูงไปกว่านั้นอีกขั้นหนึ่งคือ "ไคโอชิน" (Kaioshin) ซึ่งเราคุ้นหน้ากันดีจากภาคจอมมารบูนั่นเอง

ไคโอชินจะอาศัยอยู่นอกจักรวาลทรงกลม แต่อยู่ใน "โลกแห่งไคโอชิน" (Kaioshin Kai) ซึ่งเป็นทรงกลมขนาดเล็กที่โคจรอยู่รอบจักรวาลทรงกลมอีกทีหนึ่ง โลกแห่งไคโอชินนี้เคยปรากฎมาในดราก้อนบอลตอนที่โกฮังไปค้นหา "ดาบ Z"และได้วิชาฟิวชั่น จำกันได้ใช่ไหมครับ

ไคโอชินที่โผล่มาในภาคจอมมารบูนั้น แท้จริงแล้วยังเป็นแค่ 1 ใน 4 ไคโอชินเท่านั้น โดยเป็นไคโอชินประจำทิศตะวันออก ส่วนไคโอชินที่เหลืออีก 3 ทิศนั้นถูกบูฆ่าไปหมดแล้วเมื่ออดีตอันไกลโพ้น

ภาพแสดงไคโอชินทั้ง 4 ทิศ: ตะวันออก, ตะวันตก, ใต้, เหนือ ตามลำดับ

นอกจากไคโอชินทั้ง 4 ทิศแล้วก็ยังมี ราชาไคโอชิน (Grand Kaioshin หรือ Grand Supreme Kai) ที่เป็นเทพชั้นสูงสุดในจักรวาลดราก้อนบอลอีกด้วย น่าเสียดายว่าราชาไคโอชินถูกจอมมารบูดูดกลืนร่างไปนานแล้ว (ผลก็คือจอมมารบูตัวผอมเลยกลายเป็นบูอ้วนอารมณ์ดีไปแทน)

ลำดับและศักดิ์ของไคโอชิน

ไคโอชินอีกคนที่มีบทบาทเยอะในเรื่องคือ ไคโอชินเฒ่า (Old Kioshin) ที่สอนวิชาฟิวชั่นให้โกคู คนนี้เป็นไคโอชินแห่งทิศตะวันออกเมื่อหลายๆ รุ่นก่อนนั่นเอง

เหล่าไคโอและไคโอชินทั้งหลายกำเนิดขึ้นใน "ดาวไคโอชิน" (Kaioshin Sei) ที่อยู่ใน "โลกของไคโอชิน"อีกทีหนึ่ง โดยจะมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์คอยให้กำเนิดไคโอเหล่านี้ ดาวดวงนี้ไม่เคยปรากฎภาพในดราก้อนบอล มีแต่ตำนานเล่าขานเฉยๆ

เรื่องสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงคือ ไคโอชินนั้นเป็น "เทพผู้สร้าง" (God of Creation) ดาวเคราะห์ต่างๆ ซึ่งในมุมกลับก็มี "เทพแห่งการทำลายล้าง"หรือ God of Destructionที่คอยทำลายดาวเคราะห์เพื่อสร้างสมดุลของจักรวาลด้วยเหมือนกัน

เท่าที่มีข้อมูล ฝั่งของเทพแห่งการทำลายล้างจะมีเพียงแค่ตนเดียว (ในขณะที่ไคโอชินมี 5 ตน) ซึ่งเทพแห่งการทำลายล้างของจักรวาลที่เจ็ดก็คือ บีรุส ((Beerus) เทพหน้าแมวอียิปต์ที่โผล่มาในภาค Battle of Gods นั่นเอง

ใน Wiki ระบุไว้ว่าที่อยู่ของ Beerus ไม่ได้อยู่ใน other world แต่อยู่ในซีกล่างของจักรวาล ซึ่งก็ไม่มีพิกัดชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน แต่ในอนิเมะภาคหนังโรงก็โชว์ให้เห็นว่า Beerus และลูกน้องคือ Whis อยู่ในพิภพหรือมิติแยกเฉพาะของตัวเอง ไม่ได้อยู่ในอวกาศปกติแต่อย่างใดครับ

Note:สำหรับดราก้อนบอลภาคเกมคือ Dragon Ball Online และ Dragon Ball Xenoverse ยังขยายแนวคิดของเทพและมารออกไปอีกบ้างประมาณหนึ่ง ไว้เดี๋ยวรอเกมออกแล้วจะมาอัพเดตเนื้อหาในภายหลังนะครับ

Delegation

$
0
0

Fred Wilson เขียนภาคต่อจาก บทบาทของ CEO ที่ควรจะเป็นโดยยกประเด็นเรื่อง ทำเอง vs ให้คนอื่นทำแทน (DIY vs Delegate)

Fred บอกว่า CEO จำเป็นต้องกระจายงานให้คนอื่นเสมอ (CEOs must delegate) เพราะเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งแล้ว CEO จะต้องทำงานเพียง 3 อย่างตามบล็อกตอนก่อนคือ "กำหนดวิสัยทัศน์, จ้างคนเก่ง, ทำให้บริษัทมีเงินพอใช้"งานอย่างอื่นให้คนอื่นทำ

ปัญหาคือตอนเป็นสตาร์ตอัพ CEO จำเป็นต้องทำทุกอย่างเอง เพราะไม่สามารถให้ใครทำแทนได้ (แถมไม่ค่อยมีตังไปจ้างคนอื่นด้วย) ความยากคือเมื่อบริษัทค่อยๆ โตขึ้น เราต้องค่อยๆ กระจายงานออกไปทีละส่วน ซึ่งคนที่เพิ่งเคยเปิดบริษัทครั้งแรกมักทำพลาดตรงนี้ (กระจายงานช้าเกินกว่าที่ควร)

เรื่องจังหวะตรงนี้ นักลงทุนที่มีประสบการณ์กับสตาร์ตอัพช่วยแนะนำได้ เพราะเห็นมาเยอะแล้วว่าบริษัทก่อนๆ ผิดพลาดอย่างไร หรือทำแบบไหนแล้วดี คำแนะนำของ Fred คือต้องหา "คนที่ทำงานจิปาถะ" (utility infielder) มาช่วยแบ่งเบาตรงนี้ โดยจะอยู่ในช่วงที่บริษัทมีคนระหว่าง 5-50 คน

ตัวผมเองก็เป็นแนว DIY มีปัญหากับการ Delegate เหมือนกัน สุดท้ายก็เรียนรู้ว่าต้องกระจายงานออกไปไม่งั้นทำเองทุกอย่างแล้วตายหมด ปัญหาที่พบคือเรายังไม่ไว้ใจคนที่จะมารับช่วงงานเราต่อว่าจะทำได้สำเร็จ ซึ่งตรงนี้ต้องมีแผนการคร่าวๆ คอยสอนงานผ่านการกระจายงานให้ทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

อวสาน Zipang บทสรุปจากการเดินทางของ "อนาคต"

$
0
0

ในที่สุด การเดินทางอันยาวนานของเรือรบ "มิไร"และคนอ่านการ์ตูน Zipang ก็สิ้นสุดลงด้วยความยาว 43 เล่มถ้วน

ผมเคยเขียนบล็อกเกี่ยวกับ Zipang มาหลายครั้ง ในโอกาสที่ Zipang อวสาน ก็ควรเขียนบล็อกเป็นที่ระลึกสักหน่อย เป็นสรุปความคิดแบบง่ายๆ เร็วๆ ว่าคิดอะไรบ้างหลังอ่าน Zipang จบ (แน่นอนว่า spoil นะครับ)

ถึงแม้ Zipang เป็นการ์ตูนเรือรบยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ธีมหลักของเรื่องแล้ว มันคือการ์ตูน "แก้กรรม"

ตั้งคำไว้ให้มันเวอร์ๆ คำที่เหมาะสมกว่าคือ "แก้ปม"

"ปม"ที่ว่านี้คือปมในใจผู้เขียน Kaiji Kawaguchi ซึ่งสะท้อนไปยังจิตสำนึกร่วมของคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย (จะใช้ว่าทั้งประเทศก็มิกล้า)

"ปม"ที่ว่านี้คือความหดหู่ สิ้นหวังอยู่ลึกๆ ในใจคนญี่ปุ่นว่า "เราแพ้สงครามโลก"

ท่องไว้ครับ "แพ้สงครามโลกๆๆๆๆๆ"

จากชาติที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรถึงขนาดฝันจะยึดครองเอเชีย กลายเป็นพ่ายแพ้ระดับสูญเสียทุกอย่างในพริบตา ดีกรีของความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นหนักหน่วงกว่าของเยอรมนีในแง่ "สัญญะ"เพราะถึงแม้ไม่ถูกทหารสัมพันธมิตรบุกยึดเมืองหลวงเบ็ดเสร็จ แต่ก็เป็นชาติเดียวที่แผ่นดินโดน "ย่ำยี"ด้วยระเบิดปรมณูสองลูกซ้อน

ถึงแม้ญี่ปุ่นจะก้าวข้ามช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นมาได้ และผงาดขึ้นมาใหม่ด้วยพลังทางเศรษฐกิจ แต่ในใจลึกๆ ของคนญี่ปุ่นยังมีปมคาใจเรื่องนี้อยู่

Kaiji Kagaguchi หาทางแก้ปมที่ว่านี้ด้วยคำว่า what if "ถ้าหากว่า..."

เขา "จำลอง"สถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมา โดย "เล่น"ล้อไปกับปมเจ้าปัญหานี้ (อย่างชาญฉลาด) ซึ่งถ้าติดตามงานของเขามาโดยตลอดจะพบว่าการ์ตูนแทบทุกเรื่องเกี่ยวพันกับปมอันเดียวกันนี้ แต่ด้วยสถานการณ์หรือรูปแบบการพลิกแพลงที่ต่างกัน

  • ยุทธการใต้สมุทร Silent Serviceพยายามท้าทายความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในอดีต โดยสร้างพล็อตว่า "เรือดำน้ำลำเดียว" (แน่นอนว่าของญี่ปุ่น) พิชิตสหรัฐอเมริกาและระเบียบโลกใหม่ได้
  • ยุทธการจุดตะวัน A Spirit of The Sunพยายามท้าทายความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น โดยสร้างสถานการณ์ที่ร้ายแรงกว่านั้นขึ้นมาเทียบ (ในที่นี้คือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จนเสียชาติเสียแผ่นดิน) แล้วลองจินตนาการดูว่าคนญี่ปุ่นรุ่นหน้าจะอยู่กันอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายกว่าการแพ้สงคราม (เสียดายเขียนไม่จบ)
  • Eagleคล้ายกับ Silent Service โดยสร้าง "ลูกครึ่งญี่ปุ่น"ที่กลับมาทวงเกียรติยศของชาติกลับคืนมาด้วยการลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
  • Boku wa Beatlesแม้กระทั่งการ์ตูนดนตรีเบาๆ ยังมีปมลักษณะนี้เข้ามาเอี่ยวด้วยไอเดียว่า ถ้าญี่ปุ่นสามารถสร้าง The Beatles ขึ้นมาได้ก่อนอังกฤษ (Beatles ตัวจริง) โลกดนตรีจะเป็นเยี่ยงไร

กรณีของ Zipang นั้นชัดเจนที่สุด ท้าทายที่สุด โดยแต่งเรื่องให้กลุ่มตัวเอกสามารถย้อนเวลากลับไปยัง "สงครามโลกครั้งที่สอง"เพื่อเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้โดยตรง ถือเป็นการท้าทายทั้งคนเขียนและคนอ่านในประเด็นที่แหลมคมว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราจะสามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไม่ให้ญี่ปุ่นต้องแพ้สงครามได้อย่างไร

พล็อตเรื่องย้อนเวลาเพื่อเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ (ตั้งแต่โดเรมอน ทรังค์ แบ็คทูเดอะฟิวเจอร์ ไปจนถึงเซี่ยงเส้าหลง) แต่ Zipang เลือกจะ "ท้าทาย"ประวัติศาสตร์สงครามด้วยการให้กลุ่มตัวเอกย้อนเวลากลับไปเผชิญสมรภูมิแปซิฟิกปี 194x ด้วยเทคโนโลยีเรือรบ AEGIS รุ่นล่าสุดของปี 200x ที่เรือรบไฮเทคลำเดียวสามารถเอาชนะได้ทั้งกองเรือ

ถึงแม้เรือ "มิไร"ที่ย้อนเวลากลับไปจะเจอข้อจำกัดหลายๆ อย่าง (ตั้งแต่ซัพพลายอาหารและอาวุธ รวมถึงระบบช่วยสนับสนุนจากดาวเทียมที่ไม่มีอยู่ในยุค 1940s) แต่กระนั้น ศักยภาพของมิไรก็เปรียบดั่ง "เทพเจ้า"ที่สามารถเปลี่ยนกระแสของสงครามได้

พล็อตสำคัญอีกอย่างใน Zipang จึงเป็นเรื่องของ "ความหวัง"สะท้อนภาพของ "อนาคต" (mirai ในภาษาญี่ปุ่น) ของแต่ละฝ่ายในสมรภูมิแปซิฟิก หลังจากที่ได้เห็น "อนาคต"ผ่านเรือมิไรแล้ว

  • คนญี่ปุ่นปัจจุบันที่ผ่านความพ่ายแพ้สงครามโลกมาแล้ว คาดหวังอนาคตที่ญี่ปุ่นจะ "ไม่แพ้สงคราม"ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม (ไม่อยากเจ็บปวดกับความตายและความสูญเสียจากการแพ้สงครามอีก)
  • คนญี่ปุ่นยุคสงครามที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ยังไม่แพ้สงคราม แต่กลับมีโอกาสได้เห็นโลกอนาคตจากมิไร (ผ่านสายตาของคุซากะ ทาคุมิ) ย่อมมีปฏิกริยาที่แตกต่างกันออกไป และแสวงหาวิธีการถอนตัวออกจากสงครามอย่างมีเกียรติตามแบบฉบับของตัวเอง
  • สหรัฐอเมริกาที่รู้ว่าอย่างไรก็ตามตัวเองก็ชนะแน่ๆ แต่เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากมิไร กลับไม่ย่อท้อและอยากได้มิไรมาครอบครองเพื่อกุมอำนาจของโลกได้ในระยะยาว (สะท้อนผ่านคาร์เนลและประธานาธิบดีรูสเวลต์)

สงครามสุดท้ายในมิดเวย์ จึงเป็นการปะทะกันของภาพอนาคตทั้ง 3 แบบคือ ญี่ปุ่นปัจจุบัน (มิไร) ญี่ปุ่นอดีต (ยามาโตะ) และสหรัฐ (กองเรือแปซิฟิก) โดยใช้ทั้งอาวุธจริง การต่อรองทางการเมือง และการฟาดฟันของภาพอนาคตในแบบของแต่ละฝ่าย

สุดท้ายแล้ว เรื่องขมวดปมจบลงด้วย "ชัยชนะของทุกฝ่าย"มิไรหยุดสงครามสำเร็จ ญี่ปุ่นไม่แพ้สงครามและเจรจาสันติภาพกับสหรัฐ และสหรัฐเองก็ครองความเป็นผู้นำโลกเอาไว้ได้ (แม้จะไม่ได้มิไรก็ตาม)

แต่ในด้านกลับ ชัยชนะที่ได้มาก็ต้องแลกกับความสูญเสีย คุซากะใช้ชีวิตแลกกับญี่ปุ่นที่ไม่แพ้สงคราม รูสเวลต์เสียตำแหน่งประธานาธิบดี และคาโดะมัตสึก็ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชีวิตที่เหลือ

ผู้เขียน Kaiji Kawaguchi ยังทิ้งท้ายด้วยประเด็นคำถามว่า เรากลับไปเปลี่ยนอดีตเพื่อปลดล็อคปัญหาบางอย่างได้ แต่ก็ต้องแลกด้วยปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งในกรณีของ Zipang ญี่ปุ่นใหม่ไม่ได้แพ้สงครามก็จริง แต่กลับพัฒนาได้ช้ากว่าเดิมเพราะยังติดกรอบสถาบันเชิงสังคมแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้พังทลายไปตามสงครามด้วย (กรณีปัญหาของเมืองไทยในปัจจุบันก็น่าจะเข้าข่ายแบบเดียวกัน)

บทวิจารณ์

  • ฉากจบของ Zipang เคลียร์กว่า Silent Service แต่ดูไม่ค่อยยิ่งใหญ่เท่า
  • น้ำหนักของเรื่องเทไปยังคู่ขัดแย้ง ญี่ปุ่นใหม่ vs ญี่ปุ่นเก่า ที่สะท้อนผ่านสองตัวเอก (คาโดะมัตสึ vs คุซากะ) มากไปหน่อย ทำให้บทบาทของอเมริกาน้อยกว่าที่จะเป็นไปสักนิด ถ้าแต่งเรื่องให้รูสเวลต์มีบทบาทเยอะขึ้นอีกในฐานะผู้นำโลกจริงที่ต้องต่อกรกับคนในโลกอนาคต เรื่องจะมันส์ขึ้นอีกมาก)
  • ตัวละครอีกคนที่บทบาทน้อยไปอย่างน่าเสียดายคือคิคูจิ (หัวหน้ากองอาวุธ) ที่ลงจากเรือแล้วบทบาทหายไปเลย แม้จะกลับมามีบทบาทสำคัญในตอนท้ายก็ตาม
  • จุดที่น่าสนใจมากคือผู้เขียนกำหนดชะตาชีวิตของลูกเรือมิไรทุกคนแบบ realist มากๆ นั่นคือ "ตายเกือบหมด"โดยคนที่เหลืออยู่ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในโลกที่ไม่ใช่ของตัวเอง เศร้าแต่ก็ท้าทายมาก
  • เขียนมาตั้งยาวไม่มีเรื่องการทหารเลย :o บอกแล้วว่ามันคือการ์ตูนประวัติศาสตร์ที่มีการทหารเป็นฉากหลัง แต่ไม่ใช่การ์ตูนทหาร

Blind Trust

$
0
0

นั่งดู House of Cards Season 1แล้วพบคำศัพท์น่าสนใจ Blind Trust

ลองค้นดูแล้วพบว่า Blind Trustคือ "ทรัสต์"หรือ "กองทุน"ที่ให้มหาเศรษฐีหรือนักธุรกิจที่ต้องการเล่นการเมือง นำทรัพย์สินทั้งหมดมาเก็บไว้ในทรัสต์กองนี้ แล้วให้ "บุคคลอื่น"มาช่วยบริหารทรัพย์สินในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยที่เจ้าของทรัพย์สินไม่ทราบว่าผู้บริหารกองทุนนั้นคือใคร (blind)

ในทางกลับกัน ผู้บริหารกองทุนก็ไม่ทราบว่าเจ้าของทรัพย์สินคือใคร มีหน้าที่แค่บริหารกองทุนไปตามปกติให้ทรัพย์สินงอกเงยขึ้นจากเดิม

เป้าหมายของ Blind Trust คือลดปัญหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" (conflict of interest) ของนักการเมืองที่มีพื้นเพมาจากภาคธุรกิจ โดยนักการเมืองสามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเดิมของตนได้อย่างเต็มที่ (เพราะไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว) ป้องกันข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของตนได้

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของ Blind Trust คือถ้าโอนทรัพย์สินเข้าทรัสต์แล้ว ก็สะดวกตรงไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด แสดงแค่เป็น "ยอดรวมในทรัสต์"ก็พอแล้ว แนวทางนี้ช่วยให้นักการเมืองสะดวกใจมากขึ้น เพราะไม่ต้องแสดงทรัพย์สินโดยละเอียด แต่ก็ปลอดภัยจากคำครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ข้อมูลจากบทความใน Fortuneบอกว่าประธานาธิบดีสหรัฐเกือบทุกคนใช้วิธีโอนทรัพย์สินเข้าทรัสต์ แต่ในระดับของ ส.ส. หรือ ส.ว. ยังมีคนใช้วิธีนี้ไม่เยอะนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการอาจยุ่งยากเกินไป และต้องร่ำรวยมหาศาลจริงๆ ถึงจะคุ้มแก่การใช้งาน

Being CEO: Ones and Twos

$
0
0

อ่านหนังสือ The Hard Thing About Hard Things ของ Ben Horowitzเขียนเล่าประสบการณ์สมัยเขาเป็น CEO เอง และการทำงานร่วมกับ CEO ในฐานะนักลงทุน มีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง เดี๋ยวจะทยอยเขียนถึง

อันที่คิดว่าน่าสนใจมากคือ Ben จัดกลุ่ม "ทักษะ"ที่จำเป็นต่อการเป็น CEO ว่ามีด้วยกัน 2 อย่างคือ 1. รู้ว่าจะต้องทำอะไร 2. พาบริษัททำในสิ่งที่คิดให้ได้

ถึงแม้ CEO จำเป็นต้องมีทักษะทั้ง 2 อย่างนี้ แต่ CEO ส่วนใหญ่มักถนัดไปสักทาง ทำให้ Ben เรียกซีอีโอที่ถนัดเรื่องคิด/วิสัยทัศน์ว่าเป็นกลุ่ม "หนึ่ง" (Ones) ส่วนซีอีโอที่ชอบบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นกลุ่ม "สอง" (Twos)

Ones

คนในกลุ่มนี้จะชอบตัดสินใจ (making decision) แม้จะชอบให้มีข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ แต่ก็สามารถตัดสินใจได้อยู่ดีถ้าไม่มีทางเลือกและจำเป็นต้องทำจริงๆ วิธีคิดของคนกลุ่มนี้จะมองเชิงยุทธศาสตร์ (strategic mind) แต่จะไม่ชอบลงรายละเอียด งานดีเทล เช่น ประเมินพนักงาน ตั้งเป้าหมาย ออกแบบกระบวนการ ซึ่งก็ถือเป็นทักษะที่จำเป็นถ้าต้องบริหารงานบริษัท

กลุ่ม founder ส่วนใหญ่มักเป็น Ones และถ้าคนกลุ่มนี้ล้มเหลวในฐานะซีอีโอ เหตุผลส่วนใหญ่เกิดจากคนกลุ่มนี้เอาแต่คิด ไม่ค่อยทำงานลงรายละเอียดแบบกลุ่ม Twos จนเป็นผลให้องค์กรยุ่งเหยิง คุมไม่ได้ และสุดท้ายต้องเปลี่ยนตัวซีอีโอ

Twos

กลุ่ม Twos จะตรงข้ามกันคือสนุกกับการทำให้บริษัทเดินหน้าไปได้ดี คนกลุ่มนี้ต้องการเป้าหมายที่แน่ชัด และจะไม่พยามเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่ตั้งไว้จนกว่าจะจำเป็นจริงๆ

Twos มักมีปัญหากับการคิดเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ชอบการอ่าน เรียน ศึกษา และคิด แต่จะถนัดการปรับปรุงกระบวนการที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น ปัญหาของ Twos คือการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ หรือซับซ้อน

เราต้องการทั้ง One และ Two

ไม่ว่าคุณจะเป็น One หรือ Two แต่การเป็น CEO จำเป็นต้องมีทักษะทั้งสองแบบ หรือบางครั้งเราอาจทำงานทั้งสองแบบควบคู่กันไปได้ ถ้าแยกตำแหน่งกันชัดเจน เช่น หัวหน้าฝ่ายขาย คอยดูแลยุทธศาสตร์และภาพรวมด้านการขายมั้งหมด (Ones) แต่ในฐานะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่อยู่ใต้ CEO อีกที เขาก็ทำหน้าที่เป็น Twos คือบริหารงานฝ่ายขายให้องค์กร

โดยส่วนใหญ่แล้ว CEO มักมีลักษณะของ Ones มากกว่า เพราะผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ "ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ"ในเรื่องที่ยากและซับซ้อน แต่ถ้าผู้บริหารกลุ่ม One มีทีมงานเป็นพวก One เหมือนกัน ความซวยก็บังเกิดเพราะไม่มีใครทำหน้าที่เป็น Two ให้ ดังนั้นเบื้องหลังความสำเร็จของ CEO จำพวก One มักมีทีมงาน Two อยู่เบื้องหลัง

รูปแบบการรันองค์กรด้วย One/Two ลักษณะข้างต้นจะเริ่มมีปัญหาเมื่อต้องสืบทอดตำแหน่ง CEO เพราะถ้าลักษณะที่เหมาะสมกับการเป็น CEO คือ One แต่คนที่จะขึ้นเป็น CEO คนถัดไปมีลักษณะเป็น Two มากกว่า

ตัวอย่างองค์กรที่เผชิญปัญหานี้โดยตรงคือ Microsoft เพราะ Bill Gates มีลักษณะเป็น One โดยธรรมชาติ ในขณะที่ Steve Ballmer เป็น Two พอเปลี่ยนตัว CEO เป็น Ballmer ก็ทำให้ Microsoft สูญเสียพลังของ One ไป รวมถึงสูญเสียผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ที่มีลักษณะของ One ที่ต้องลาออกไปเพราะไม่สามารถทำงานกับ Ballmer ได้ด้วย

องค์กรบางแห่งแก้ปัญหานี้ด้วยการไม่ให้ Two ที่รอจ่อเป็น CEO ได้ขึ้น แต่ใช้วิธีตามหา The One คนใหม่ (ที่มักมีตำแหน่งต่ำกว่า Two) ขึ้นมาเป็น CEO แทน ซึ่งตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้คือ GE ในยุค 1980s ที่ดัน Jack Welch ขึ้นเป็น CEO อย่างไรก็ตาม ในมุมกลับแล้ว ผู้บริหารกลุ่ม Two ในรุ่นก่อนก็ไม่สามารถทำงานใต้ Welch ได้เช่นกัน จนสุดท้ายต้องลาออกไป

โดยสรุปแล้ว เรื่อง One/Two ไม่มีคำตอบในอุดมคติ เว้นแต่ว่าเราแต่งตั้ง One ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแล้วสมาชิกกลุ่ม Two คนอื่นๆ เห็นด้วยกับเรา ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก

ลิงค์ Store Locator สิ่งดีๆ ที่เว็บไทยควรมีเป็นมาตรฐาน

$
0
0

เว็บ Kasikorn Bank โฉมใหม่กลายเป็นประเด็นให้บรรดานักออกแบบเว็บเมืองไทยมาถกกันว่า เว็บแบบไหนดี-ไม่ดีอย่างไร

ผมขอใช้โอกาสงามๆ แบบนี้โฆษณา "ฟีเจอร์"ที่เว็บห้างร้านบริษัททั้งหลายควรมีเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ "Store Locator"ครับ

ฟีเจอร์นี้จำเป็นมากสำหรับบริษัทที่มีสาขาเยอะๆ เช่น ธนาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โอเปอเรเตอร์ เพราะมีโอกาสสูงมากที่ลูกค้าจะเข้าเว็บของคุณมาเพื่อหาข้อมูลว่า "สาขาที่ใกล้เราที่สุดอยู่ตรงไหน"ถ้าลูกค้าหาข้อมูลตรงนี้ได้เร็ว โอกาสที่ลูกค้าจะมาใช้บริการสาขาของเราก็มีมากขึ้น และช่วยลดปริมาณ customer support ลงได้มาก

จริงอยู่ว่าเว็บหลายแห่งมีหน้า Store Locator อยู่แล้ว ทำกันอย่างดีเลย มีแผนที่ให้ด้วย แต่ปัญหาคือในหน้าเว็บที่ซับซ้อนอยู่บ้าง คนเข้าเว็บหาหน้า Store Locator กันไม่ค่อยเจอหรอกครับ

ทางแก้ง่ายๆ ที่ผมเห็นเว็บเมืองนอกเขาทำกัน (โดยเฉพาะฝั่งอังกฤษ) ก็คือเอาลิงก์ Store Locator เล็กๆ ไปแปะไว้ตรงมุมขวาบนที่มักจะเป็นช่องค้นหาหรือลิงก์สำหรับล็อกอินครับ พอหลายๆ เว็บทำแบบนี้เข้า ลูกค้าก็เริ่มเรียนรู้ว่ามันต้องคลิกตรงนี้แหละ

ลองดูตัวอย่างกันดีกว่านะ

เริ่มจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผมเคยไปใช้บริการบ่อยๆ Sainsbury'sจะเห็นลิงก์อยู่ตรงมุมบน

upic.me

Tescoบริษัทแม่ของโลตัสบ้านเรา

upic.me

Walmartซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ฝั่งอเมริกา ใช้คำว่า Store Finder

upic.me

ลองเว็บโอเปอเรเตอร์บ้าง O2 (บางโอเปอเรเตอร์ก็ไม่ทำนะครับ)

upic.me

EEหรือ Orange+T-Mobile เดิม

upic.me

Carphone Warehouseร้านขายมือถือที่มีสาขาอยู่ทุกหัวถนน

upic.me

ไหนๆ เขียนเรื่องนี้แล้วก็ขอลองสำรวจเว็บไทยดูบ้างครับ

พบว่าสายธนาคารไม่ค่อยทำกันนะ ที่หาเจอมีแค่ KTB ใช้คำว่า "จุดบริการ KTB"

upic.me

แต่ฝั่งรีเทลทำกันเป็นมาตรฐานเลย Tesco Lotus "เลือกสาขาที่ใกล้คุณ"

upic.me

Big C ก็มี ตรงตัวนะ "สาขาบิ๊กซี"

upic.me

Jaymart ใช้คำว่า "Where to Buy"และแทรกอยู่ในเมนู มองผ่านๆ อาจพลาด

upic.me

สายโอเปอเรเตอร์ พบว่าไม่มีใครทำแบบนี้เลย โดย AIS/Dtac/True มีลิงก์อยู่ที่ footer ของหน้าแรก เท่านั้น

หวังว่าเหล่าคนทำเว็บในเมืองไทยมาเจอบล็อกนี้เข้า แล้วจะช่วยผลักดันให้ "ลูกค้าองค์กร"ต่างๆ หันมาเพิ่มลิงก์ลักษณะนี้กันมากขึ้นนะครับ

Keyword: 


House of Cards - Season 1 Recap

$
0
0

ดู House of Cards ซีซันแรกจบมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว (ซีรีส์อะไรไม่รู้โหดชิป) ได้เวลาเขียนลงบล็อกกันนะครับ (ตอนแรก) แน่นอนว่า spoil เต็มเหยียด ใครไม่อยากรู้เรื่องก่อนกรุณาข้ามบล็อกนี้ไป

House of Cards เป็นเรื่องของ ส.ส. จากพรรคเดโมแครตชื่อ Francis Underwood (หรือชื่อเล่นคือ Frank) แสดงโดย Kevin Spacey เขาเป็น ส.ส. อาวุโสที่รับบทบาทเป็น "วิป" (whip) ผู้คุมเสียง ส.ส. ฝั่งเดโมแครตในสภาล่าง/สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ (House of Representatives) ด้วย

Noteระบบสภาของสหรัฐจะแบ่งเป็นสภาผู้แทน กับวุฒิสภา (House of Senates) โดยแต่ละสภาจะมีประธานสภา (Speaker of the House) ที่มาจากพรรคเสียงข้างมาก (ในซีรีส์นี้ เดโมแครตครองสภาล่าง รีพับลิกันครองวุฒิสภา) จากนั้นแต่ละฝ่ายจะมี "ผู้นำ ส.ส. เสียงข้างมาก/น้อย" (Majority/Minority Leader) และ "วิป"ที่ทำหน้าที่คุมเสียงโหวต ซึ่งพระเอกของเราเป็นวิปฝั่งเดโมแครตในสภาผู้แทน

นอกจากเป็น ส.ส. แล้ว Francis ยังเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ เพราะเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภาด้วย

เปิดมาตอนแรก Francis ช่วยผลักดันให้นักการเมืองพรรคเดียวกัน Garrett Walker ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ได้สำเร็จ (ตอนแรกเป็นฉากสาบานตนรับตำแหน่งหรือ presidential inauguration ในเดือนมกราคม) เขาหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนด้วยการแต่งตั้งเป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ" (Secretary of State) ในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก (ฮิลลารี คลินตัน รับตำแหน่งนี้ในรัฐบาลโอบามา 1)

แต่ปรากฎว่าเขาโดน "หักหลัง"ด้วยเหตุผลว่าประธานาธิบดี Walker ต้องการให้เขาช่วยงานคุมเสียงที่สภาต่อไป เขายอมรับภาวะจำยอมนี้ และสาบานกับตัวเองว่าจะ "แก้แค้น"ให้สาสม

นี่คือโครงเรื่องหลักของ House of Cards

Francis กลับไปทำงานเป็นวิปดังเดิม แต่เขาใช้อิทธิพลทางการเมืองของเขาพร้อมแทคติคหลากรูปแบบ (รวมถึงผู้ช่วยฝีมือดี Doug Stamper ที่พร้อมทำงานสกปรกทุกทาง) ค่อยๆ "แซะ"คู่แข่งคู่แค้นไปเรื่อยๆ ทีละคน เริ่มจากแซะว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศที่มาแย่งตำแหน่งของเขา ด้วยการขุดประวัติงานเขียนในอดีตมาถล่มจนเสียชื่อเสียง

Francis สร้างสัมพันธ์กับ Zoe Barnes นักข่าวสาวแห่งหนังสือพิมพ์ Washington Herald ซึ่งเป็นเวอร์ชันสมมติของ Washington Post (แม้แต่เจ้าของหนังสือพิมพ์ที่เป็นเศรษฐินีสาว ยังลอกกันมา) โดยใช้วิธีปล่อยเอกสารหลุดให้ Zoe เอาไปเขียนข่าว ผลคือ Francis ประสบความสำเร็จในแง่การโจมตีคู่แข่ง ส่วน Zoe ก็ไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วในฐานะนักข่าวหน้าใหม่ผลงานดีเด่น จนเพื่อนร่วมงานหมั่นไส้

ความซับซ้อนของเรื่องเพิ่มไปอีกขั้นเมื่อนับ Claire Underwood ภรรยาจอมทะเยอทะยานเข้ามารวมอยู่ในพล็อตด้วย เธอมีคนรักเก่าเป็นช่างภาพชื่อดัง แต่เลือกแต่งงานกับ Francis เพราะเขาตอบโจทย์เรื่อง "อำนาจ"ของเธอได้ดีกว่า (และ Francis ก็รู้ทุกอย่างแต่รับได้เพราะเธอตอบโจทย์เรื่องความทะเยอทะยานของเขาเช่นกัน) Claire รับทราบว่า Francis มีเซ็กซ์กับ Zoe แต่เธอก็ไม่สนใจถ้ามันทำให้ทั้งคู่ทะยานขึ้นสู่อำนาจได้

Claire ทำงานเป็นซีอีโอของหน่วยงาน NGO เรื่องน้ำ (Clean Water Initiative) ที่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากบริษัทใหญ่ผ่านล็อบบี้ยิสต์ ในช่วงที่เงินหมด เธอก็แสดงความเด็ดเดี่ยวให้เห็นทั้งการปลดพนักงานคู่บุญลงเกือบหมด และพร้อมจะหักหลังแม้กระทั่งสามีเพื่อให้ได้เงินมาหล่อเลี้ยงองค์กร และภารกิจของตัวเธอเอง

ครึ่งหลังของซีซันแรก Francis ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดี Walker กับรองประธานาธิบดี Jim Matthews ที่เป็นอดีตผู้ว่าการรัฐเพนซิลวาเนีย โดย Matthews ถูก Walker ดองไว้ไม่ให้ทำงานอะไรที่มีบทบาทมากนัก และฝันถึงชีวิตผู้ว่าการรัฐที่เขามีอำนาจมากกว่ามาก

Francis ใช้วิธีผูกสัมพันธ์กับ Peter Russo ส.ส. หนุ่มดาวรุ่งแห่งรัฐเพนซิลวาเนีย ที่เติบโตมาจากคนงานชั้นล่างและมีปัญหาติดเหล้า-เซ็กซ์ และผลักดันให้ Russo เลิกเหล้าเพื่อลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเพนซิลวาเนีย อย่างไรก็ตาม Russo ไม่สามารถแบกรับความกดดันจากคนรอบข้างได้ บวกกับโดนแผนของ Francis/Stamper หลอกล่อให้เขากลับไปติดเหล้าอีกครั้ง จนทำพลาดเมาออกอากาศระหว่างหาเสียง

Francis/Stamper ตามหา Russo ที่สติแตกเพราะทำพลาด และ "ฆ่า"เขาทิ้งโดยจัดฉากว่าเป็นการฆ่าตัวตายของ Russo เอง (พระเอกโหดมากครับเรื่องนี้) พรรคเดโมแครตจึงไม่มีทางเลือกอื่นในการหาตัวแทนมาสมัครผู้ว่าการรัฐแทน Russo นอกจากการดึง Jim Matthews กลับมาเป็นผู้ว่าการรัฐอีกครั้ง (ซึ่งเขาก็ยินดี)

ตำแหน่งรองประธานาธิบดีว่างลง และ Francis ก็ชิงจังหวะเข้าไปใกล้ชิด "วงใน"ของประธานาธิบดี จนสุดท้ายเขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรองประธานาธิบดีคนใหม่ในตอนจบของซีซันแรก (เคยเขียนถึงเรื่องนี้นิดหน่อยในบล็อก Blind Trust)

ในอีกฝั่งหนึ่ง Zoe ที่รับรู้ข้อมูลหลายๆ อย่างของ Francis ก็เริ่มเอะใจ ดักทางได้ว่าการตายของ Russo ไม่ใช่อุบัติเหตุ และ Francis น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย (ซึ่งก็ไปว่ากันต่อในซีซันสอง)

โดยสรุปแล้วต้องบอกว่า House of Cards เป็นซีรีส์ที่สนุกมากๆ ถ้าชอบเรื่องหักเหลี่ยมเฉือนคม และสนใจการเมืองอเมริกันอยู่แล้ว ซีรีส์นี้แทบไม่มีฉากแอคชั่นใดๆ เลย มีแต่ผู้ชายแก่ๆ ใส่สูทคุยกันไปคุยกันมา แต่เทคนิคการถ่ายทำและตัดต่อทำมาได้น่าติดตามมากๆ

ข้อเสียของซีรีส์นี้คงเป็นว่าพระเอกโหดเกินจริงไปหน่อย (คนจะเป็นรองประธานาธิบดี ไปลงมือฆ่าคนด้วยตัวเอง) และซีรีส์เดินเรื่องฉับไวมาก อีกทั้งมองว่าคนดูฉลาด จึงไม่เสียเวลาจะอธิบายพฤติกรรมบางอย่างของตัวละครแบบชัดๆ คนดูต้องเข้าใจเองว่าที่ทำลงไปด้วยเหตุผลอะไร มีเป้าหมายอะไร (ผลคือมีบล็อก-บทความอธิบายความหมายของ House of Cards เป็นรายตอนจำนวนไม่น้อย)

คนที่สนใจการเมืองอเมริกันควรดูเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ควรมีพื้นความรู้ด้านระบบการเมืองบ้างเล็กน้อยถึงจะดูสนุก (เช่น ตอนที่พระเอกพยายามดันให้ผู้นำเสียงข้างมากไปแซะตำแหน่งประธานสภา ถ้าไม่เข้าใจลำดับชั้นของตำแหน่ง ก็จะไม่ค่อยเข้าใจว่ากำลังทำอะไรกัน)

หมายเหตุ: House of Cards มีเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจคือให้ตัวเอกหันมาพูดกันคนดูเพื่ออธิบายว่าเขากำลังคิดอะไร (breaking the fourth wall) ดังตัวอย่างในคลิปตอนแรก ที่ Francis แนะนำประธานาธิบดี-รองประธานาธิบดี-เลขาธิการ ให้คนดูรู้จัก

Sloth Machine ปลุกความขี้เกียจในตัวคุณ

$
0
0

Sloth Machine เป็นผลงานหนังสือเล่มใหม่ของ @iannnnn เน็ตไอดอลชื่อดังแห่งยุค... เดี๋ยวนะ

คุณ @iannnnn (ที่เวลาพิมพ์ต้องท่องว่า n ห้าตัว) ถือเป็นคนดังบนโลกออนไลน์แห่งยุคสมัยด้วยจำนวนฟอลโลเวอร์ 140,000 คนแล้วในขณะนี้

ผมติดตามผลงานแกมานานตั้งแต่สมัยยังไม่ค่อยดัง (รู้จักได้ไงไม่รู้ลืมหมดแล้ว) และมีสายสัมพันธ์พิเศษกับครอบครัวนี้ (ที่ไม่น่าจะมีใครอื่นมี) คือเป็น "พันธมิตรแห่งถั่ว"รวบรวมข้อมูลถั่วอร่อยแลกเปลี่ยนบนทวิตเตอร์

เรื่องของเรื่องคือคุณแอนของเรา ออกหนังสือเล่มใหม่ตั้งกะปลายปีที่แล้ว ชื่อว่า Sloth Machine กำเนิดมนุษย์ชิลครับ เนื้อหาก็ตามไปอ่านบล็อกโฆษณาเอง

ผมเห็นหนังสือเล่มนี้มาพักใหญ่ๆ แล้ว แต่เนื่องด้วยพฤติกรรมตัวเองในช่วงหลังๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปมาก นั่นคือเลิกเดินงานหนังสืออย่างสิ้นเชิง (ด้วยเหตุผลง่ายๆ เลยคือคนเยอะ+ขี้เกียจแบก) และจากนั้นก็ลืมหนังสือเล่มนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

จนวันก่อน ที่บ้านไม่มีอะไรกิน ต้องออกไปกินข้าวโลตัส แล้วก็เจอมันวางอยู่ในซีเอ็ด ก็เลย... ยืนอ่านฟรีจนจบอุดหนุนกันหน่อยสักเล่ม (ต้องขอบคุณพนักงานจัดชั้นของซีเอ็ดที่ทำให้เรามีวันนี้)

Sloth Machine

ซื้อมาแล้วก็ทำในสิ่งที่ควรทำคือ กลับบ้านแล้วเอามากองทิ้งไว้ทั้งถุงครับ เมื่อเช้านึกขึ้นได้พอดีเลยหยิบมาอ่านสักหน่อย

ผลคืออ่าน (เกือบ) รวดเดียวจบ มีพักไปทำอย่างอื่นแป๊บนึง

ให้วิจารณ์คือ คนที่อ่านบล็อกของ iannnnn มาอยู่แล้วคงคุ้นเคยกับวิธีเขียนแบบนี้ดี ให้ประเมินแบบไม่อวยกันเอง ผมคิดว่าแอนเป็นคนที่เขียนหนังสือสนุกมากคนหนึ่ง (ที่สำคัญกว่าคือสนุกแบบไม่เฟคให้มันพยายามสนุก) บวกกับการ์ตูนที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ทำให้ผลงานออกมาคุ้มค่าคุ้มราคา

เนื้อหาของหนังสือ Sloth Machine ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเขาที่มีเป้าหมายชีวิตเป็น "มนุษย์ชิล"ปลดภาระงานประจำแล้วมีชีวิตนั่งๆ นอนๆ ชิลๆ โดยไม่ต้องทำงานหนักมากนัก ไม่ต้องเผชิญรถติดทุกวัน (และสามารถทำได้แล้วในขณะนี้)

จริงๆ เรื่องนี้คงเป็นเป้าหมายของมนุษย์เงินเดือนทุกคน ที่ฝันอยากออกมาอยู่สบายๆ มี passive income (ที่กลายเป็นศาสนาไปแล้ว) หรือมีกิจการเล็กๆ ของตัวเอง เพียงแต่ในภาพฝันที่เราเห็นตามสื่อทั่วไป passive income ส่วนใหญ่มาในรูปการลงทุน เล่นหุ้น ซื้อคอนโด ฯลฯ ในขณะที่ภาพความจริงเวอร์ชันของ iannnnn และครอบครัวคือหันมาเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วยการตัดเสื้อแล้วขายผ่านเน็ต!

เส้นทางการตั้งตัวของแต่ละคนคงแตกต่างกันไปตามความถนัด ของแบบนี้เทียบกันตรงๆ ยาก (อย่างผมก็คือทำเว็บ) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีการนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ ที่เอาชีวิตของแอนไปเทียบกับตัวสล็อธ (Sloth) สัตว์สุดยอดขี้เกียจของโลก พอบวกกับการ์ตูนแนวแอนเข้าไป มันเลยน่าสนใจกว่าหนังสือเล่าไดอารี่ชีวิตคุณแอนแบบธรรมดาอีกหลายขั้น

ใครสนใจเรื่องแนวๆ นี้หรือบูชาแอนเป็นไอดอล ก็ไปตามหาซื้ออ่านกันได้ตามวิธีที่สะดวก ถ้าใครสนใจลองอ่านก่อนก็ไม่ต้องเดินไปถึงร้านหนังสือ เข้าไปดูในเว็บ Minimoreมีให้ลองอ่านฟรีสองบทแรก และถ้าหลวมตัวซื้อมาแล้ว ก็เอาโค้ดหลังเล่มไปอ่านการ์ตูนตอนพิเศษเพิ่มได้ด้วย (เป็นแนวคิดที่เจ๋งดีครับ)

จบละ

Keyword: 

ThinkPad X250 Mini Review

$
0
0

ซื้อโน้ตบุ๊กใหม่อีกแล้ว มาบันทึกลงบล็อกไว้สักหน่อย เดิมทีผมใช้ ThinkPad X230 ที่ออกมาในปี 2012ถือว่าพอใจกับมันในระดับหนึ่ง ผมสามารถพิมพ์คีย์บอร์ด chiclet ที่แฟนพันธุ์แท้เขาไม่ชอบกันได้อย่างไม่มีปัญหา (จะตินิดเดียวตรงที่ปุ่ม Function ไม่มีที่ว่างระหว่าง F4-F5 และ F8-F9) กับอายุแบตที่น้อยไปนิดนึงสำหรับยุคนี้

อย่างไรก็ตาม ใช้มาได้ 2 ปีกว่าก็เจอปัญหาว่าจอพังไปบางส่วน (เอามือกดตรงฐานจอแล้วจะหาย) เลยคิดว่าควรส่งซ่อม ซึ่งจำเป็นต้องหาโน้ตบุ๊กใหม่มาใช้แทน บวกกับ X250 ที่ใช้ Broadwell ตัวล่าสุดออกขายพอดี ก็เลยซื้อมาตัวนึงครับ (รอบนี้ซื้อจาก 2beshopเพราะราคาไม่ต่างจากหิ้วมากนัก)

เรื่องรีวิวลง Blognone คงไม่ต้องเพราะ @neizod เขียนไปเรียบร้อยแล้ว (ความเห็นล้นหลาม)แต่ไหนเลยใช้มาได้ 2 วันก็มีความเห็นบางส่วน โพสต์ลงคอมเมนต์ Blognone ไปแล้วแต่ก็มาบันทึกไว้ในบล็อกตัวเองหน่อย

  • ดีไซน์เปลี่ยนจาก X230 พอสมควร (เปลี่ยนตอน X240 แหละแต่ไม่เคยจับ พอ X250 ก็ปรับนิดเดียว) อารมณ์มันไม่ค่อยเหมือน ThinkPad รุ่นเดิมๆ แล้ว ที่ชัดเจนคือวัสดุมันเปลี่ยนไปหน่อยนึง สีก็อ่อนลง ไม่ดำสนิทแต่กลายเป็นเทาเข้มแทน
  • คีย์บอร์ดมันตื้นลงมากเมื่อเทียบกับ X230 ซึ่งเป็น chiclet แบบที่ยอมรับได้ จริงๆ มันเปลี่ยนตั้งกะ X240 แต่ไม่เคยลองใช้จริงจัง พอมาจอ chiclet แบบ X240/X250 รู้สึกพิมพ์ยากขึ้นเยอะ (@fordantitrust มาลองพิมพ์ดูแล้วบอกว่า X240 ดีกว่าเล็กน้อย)
  • ไฟแสดงสถานะหายไปหมด (อิทธิพล MacBook) อันนี้แย่มาก แย่สุดๆ
  • เครื่องมันบางลงจาก X230 พอสมควร แต่ถือแล้วรู้สึกเบาขึ้นไม่เยอะเท่าไร
  • ยางรองเครื่องแบบอุ้งตีนแมว หายไปแล้ว (เข้าใจว่าหายไปตั้งแต่ X240)
  • คุณภาพจอค่อนข้างแย่เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กรุ่นปัจจุบัน ไม่ค่อยสว่างและสีดูจางๆ แถมยังเป็นจอ 1336x768 ที่ยุคสมัยนี้อาจถือว่าด้อยแล้ว จริงๆ จอแบบดีๆ มีให้สั่งแต่เฉพาะเครื่องอเมริกาเท่านั้น บ้านเรามีแต่รุ่นโหล่สุด (แต่จริงๆ Lenovo ควรปรับจอรุ่นต่ำสุดให้มันดีกว่านี้)
  • แบตเตอรี่สองก้อนเจ๋งดี แต่ยังไม่ได้ลองอายุแบตละเอียด แต่ดูแนวโน้มแล้วน่าจะดี (เพราะ Broadwell ช่วย)
  • การคงพอร์ต VGA/Ethernet ไว้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นมาก ที่ออฟฟิศยังใช้จอ VGA เป็นจอนอกอยู่ เลยยังไม่ต้องเปลี่ยนจอ ไม่ต้องหาสายแปลง จิ้มได้เลย
  • เครื่องไม่ค่อยร้อนนัก มีได้ยินเสียงพัดลมบ้าง (ต้องห้องเงียบจริงๆ และต้องตั้งใจฟัง) ยังคงข้อดีของ ThinkPad ไว้
  • การถอดชิ้นส่วนน่าจะยากขึ้นกว่าเดิมมาก (ยังไม่ได้ลอง) ต้องถอดฝาใต้เครื่องออกหมดก่อนเสมอ แผงคีย์บอร์ดถอดแยกไม่ได้อีกแล้ว (เพิ่งสั่ง M2 SSD มา เดี๋ยวรอของมาถึงแล้วจะลอง)
  • เปลี่ยนหัวสายชาร์จเป็นแบบแบนเหมือน X1 Carbon (เปลี่ยนตั้งแต่ X240) แต่สามารถซื้อหัวแปลงมาเสียบกับสายหัวกลมแบบเดิมได้ (สั่งมาแล้ว เดี๋ยวลอง)

สรุปคือมันไม่ถึงแย่มาก แต่ก็ตกลงจากคุณภาพของ ThinkPad สมัยก่อนๆ ที่เคยทำไว้ดีกว่านี้ มันเลยน่าผิดหวัง เครื่องนี้คงใช้ได้อีก 2-3 ปี ตอนนั้นคงพิจารณาเปลี่ยนยี่ห้อใหม่แล้วเหมือนกัน ไม่ค่อยประทับใจกับ ThinkPad แล้ว

ThinkPad X250 with M2 SSD

$
0
0

เดิมทีนั้นผมใช้ ThinkPad X230 แบบใส่ SSD เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพอเปลี่ยนมาเป็น ThinkPad X250ก็เจอปัญหาแบบเดิมคือรุ่นที่ขายในไทยนั้นมีแต่แบบใส่ฮาร์ดดิสก์มาด้วย ไม่สามารถเลือกแบบ SSD ได้ (จริงๆ มีตัวท็อปแต่แพงระยับ) ทางออกจึงเหมือนเดิมคือซื้อ SSD มาใส่เอง

อย่างไรก็ตาม ThinkPad X250 เปลี่ยนรูปแบบพอร์ตสำหรับต่อ SSD จาก mSATA มาเป็น M.2 (ใช้แบบยาว 42 มิลลิเมตร) ซึ่ง SSD แบบ M.2 ในไทยยังมีไม่เยอะนักและมีราคาแพง หลายคนเลยแนะนำให้สั่งจาก Amazon เอาง่ายกว่า

สุดท้ายได้รุ่นพิมพ์นิยม Transcend MTS400 ขนาด 256GB มาครับ ราคาคิดเป็นเงินไทยแล้วประมาณ 4,800 กว่าบาท (รวมภาษีและค่าขนส่งแล้ว ถือว่าราคาลดลงไปเท่าตัวเมื่อเทียบกับตัวเก่า) รอประมาณไม่ถึงสองสัปดาห์ดี ของก็มาส่งที่ออฟฟิศเรียบร้อย เร็วจนน่าตกใจ

Transcend SSD

การใส่ SSD มันไม่น่าจะมีอะไรยาก แต่ Lenovo ก็ทำให้มันเป็นเรื่องยากจนได้ครับ เพราะ ThinkPad ตั้งแต่ X240 เป็นต้นมา เปลี่ยนรูปทรงของเครื่องและวิธีการแกะอุปกรณ์ไปมาก ของเดิมนั้นเราสามารถแกะเฉพาะส่วนที่วางมือแล้วยกคีย์บอร์ดขึ้นมาได้เลย แต่กรณีของ X240/X250 ต้องแกะฝาด้านล่างทั้งอัน

thinkpad-x250

เว็บไซต์ของ Lenovo มีคู่มือ service manualให้คำแนะนำอย่างละเอียด กรรมวิธีคือให้ปิดแบตก้อนใน (internal battery) ชั่วคราวก่อนในหน้า BIOS/UEFI แล้วแกะแบตด้านนอกออกมา จากนั้นก็เอาไขควงหมุนน็อตทั้งหมดใต้ฝาหลัง แล้วหาอะไรไปงัดฝาออกมา (จะเป็นไขควงปากแบนก็ได้ แต่แนะนำ plastic opener เพื่อไม่ให้เป็นรอย)

ลองแกะด้วยตัวเองแล้วพบว่ามันแกะยากมากครับ (คือแน่นมาก) สุดท้ายก็ยอมแพ้ ยกไปให้ร้าน Blueshop ที่ฟอร์จูนแกะให้แทน (ค่าบริการ 300 บาท) พบว่าขนาดช่างที่แกะทุกวัน ยังต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะแกะออกได้เลยแหละ (ที่ยากกว่าคือตอนใส่กลับคืนเพราะสายไฟมันยื่นออกมา)

ThinkPad X250 Repair

แกะฝสได้แล้วที่เหลือก็ง่ายแล้วครับ สล็อต M2 อยู่ตรงข้างๆ ฮาร์ดดิสก์อยู่แล้ว (SSD คืออันที่เขียน CE ในภาพ)

ThinkPad X250 Repair

พอปิดเคสกลับคืน เช็คใน Diagnosis Mode (กด F10) ดูว่าเห็น SSD โผล่มาแล้ว ที่เหลือก็คือลง OS ใหม่ใน SSD เพื่อใช้พลังจากมันให้เต็มที่ ส่วนฮาร์ดดิสก์ตัวที่มากับเครื่องก็ฟอร์แมตทิ้งซะ แล้วเอามาใช้เก็บข้อมูลอย่างเดียว

ผมใช้ Windows 10 Technical Preview รู้สึกว่าประสิทธิภาพมันแย่กว่า Windows 8.1 นะ (ของรุ่นทดสอบไม่ว่ากัน) ลองรันเบนช์มาร์คด้วยโปรแกรม AS SSD ได้ผลออกมาตามนี้

ssd-test

หวังว่าบล็อกนี้คงจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของ ThinkPad รุ่นใหม่ๆ ที่ใจร้อน ต้องการใส่ SSD เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนะครับ (ตอนแกะฝาก็ตัวใครตัวมันนะ)

WordPress เจอปัญหาหน้า Briefly unavailable ค้างไว้ตลอด

$
0
0

ช่วงหลังๆ มานี้ได้มาทำเว็บด้วย WordPress เยอะ เจอปัญหาบางอย่างก็มาจดเก็บไว้สักหน่อย

ปัญหาที่พบล่าสุดคือหลังอัพเดตปลั๊กอินแล้ว เจอหน้า "Briefly unavailable for scheduled maintenance. Check back in a minute."ที่ควรจะขึ้นมาแป๊บเดียว ค้างไว้ตลอด รอนานแค่ไหนก็ไม่หายไป แบบนี้ทำอย่างไรดี?

คำตอบคือ ปกติแล้วเวลา WordPress ทำการอัพเดต จะสร้างไฟล์ชื่อ .maintenance ขึ้นมาชั่วคราว เพื่อให้เว็บเข้าสู่โหมด Maintenance จากนั้นเมื่ออัพเดตเสร็จก็จะลบไฟล์นี้ทิ้งไป เว็บก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติ

ปัญหาคือเกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้ไฟล์ .maintenance ไม่ถูกลบทิ้ง ทำให้เว็บค้างอยู่ในโหมด Maintenance ซึ่งทางแก้ก็ง่ายๆ คือเข้า FTP/SSH ไปลบไฟล์นี้ทิ้งก็เรียบร้อยครับ (ไฟล์อยู่ใน DocumentRoot หรือไดเทคทอรีชั้นนอกสุด)

อ้างอิง WordPress Codex

Keyword: 

Viewing all 557 articles
Browse latest View live




Latest Images