Quantcast
Channel: Isriya Paireepairit blogs
Viewing all 557 articles
Browse latest View live

Tourists in Malaysia

$
0
0

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวสถิตินักท่องเที่ยวไทยประจำปี 2555 เพิ่มสูงเป็นพิเศษจากหลายปัจจัย ทำให้ปีนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 19 ล้านในปีก่อน มาเป็น 22 ล้านในปีนี้ (ฐานเศรษฐกิจ)

ทีนี้มีข่าวสักช่องนำสถิตินักท่องเที่ยว (ขาเข้า) แต่ละประเทศมาเทียบกัน ซึ่งอันดับหนึ่งเป็นของฝรั่งเศสตามมาตรฐาน ตามด้วยอเมริกา และจีน แต่ที่สะกิดความสนใจของผมมากๆ คือ มาเลเซีย ติดอันดับ 9 ของโลก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้า 24.7 ล้านคน (ตัวเลขปี 2011) เยอะเป็นอันดับสองของเอเชีย และมากกว่าไทยด้วยซ้ำ (Wikipedia)

นี่เลยเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมนักท่องเที่ยวขาเข้าของมาเลเซียถึงเยอะกว่าบ้านเรามากอย่างมีนัยยะสำคัญ มีหลายคนในทวิตเตอร์บอกว่าเป็นเพราะมาเลเซียมีวิธีนับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างไปจากที่อื่นๆ เช่น อาจนับจำนวนครั้งไม่ได้เป็นจำนวนคน

เจอคำถามแบบนี้ก็ต้องลองขุดข้อมูลดูครับ สถิตินักท่องเที่ยวมาจาก United Nations World Tourism Organization (UNWTO) ซึ่งเป็นหน่วยงานลูกของ UN และมีรายงานข้อมูลเผยแพร่เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว (รายงานของปี 2012 รวมสถิติปี 2011)

คัดมาเฉพาะส่วนของทวีปเอเชีย

จุดที่ควรสนใจคือคอลัมน์ที่สอง คำว่า Series ซึ่งระบุวิธีการนับจำนวน และเกือบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ใช้วิธีนับแบบ TF ส่วนวิธีนับแต่ละแบบเป็นอย่างไร ก็ยกคำอธิบายของ UNWTO มาเลยละกันครับ

  • TF: International tourist arrivals at frontiers (excluding same-day visitors)
  • VF: International visitor arrivals at frontiers (tourists and same-day visitors)
  • THS: International tourist arrivals at hotels and similar establishments
  • TCE: International tourist arrivals at collective tourism establishments

โดยสรุปคือ วิธีการวัด (ตามที่ UNWTO เก็บข้อมูล) คงไม่ต่างกันระหว่างไทยกับมาเลเซีย ส่วนประเด็นคำถามว่าทำไมมาเลเซียมีเยอะกว่า ก็ต้องหาคำตอบกันต่อไป


Few Facts of Myanmar

$
0
0

Kyat Bank Note

  • สกุลเงินของพม่าคือ "จ๊าด"ภาษาอังกฤษเรียก Kyat (Ky = จ แบบเดียวกับ Suu Skyi = ซูจี) ตัวย่อที่เห็นตามท้องถนนคือ Ks
  • วิธีแปลงหน่วยคือ 1000 จ๊าด = 40-43 บาท หรือ 1000 บาท = 23,000-25,000 จ๊าด
  • แบงค์ใบเล็กสุดที่ใช้กันเยอะคือ 500 จ๊าด แบงค์ 100 จ๊าดมีบ้างนานๆ ที (เช่น เข้าห้องน้ำวัด บางที 300 จ๊าด)
  • ในย่างกุ้งส่วนใหญ่รับเงินไทยตามสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป แต่ที่อื่นยังไม่ค่อยรับมากนัก

Yangon City

  • พม่าขับรถชิดขวา (คนละแบบกับเมืองไทย) แต่รถส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นพวงมาลัยขวา (แบบเมืองไทย เพราะนำเข้าจากญี่ปุ่น) นั่นแปลว่าเวลาลงรถ โดยเฉพาะรถบัส เราจะลงด้านที่ติดถนน ไม่ใช่ติดฟุตบาท
  • พม่ามี "ตัวเลข"ของตัวเอง โดยทั่วไปถ้าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวจะไม่ใช้เลขอารบิก แน่นอนว่าอ่านไม่ออกเลยยกเว้นเลขศูนย์
  • รถเก๋งเกือบทั้งหมดเป็นโตโยต้า มีสารพัดรุ่นตั้งแต่ Corona อายุสามสิบปี ไปจนถึง Alphard รุ่นล่าสุด (ที่ไม่เห็นมีแค่ Prius) ส่วนมอเตอร์ไซด์ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อจีน

Burmese Nun

Mandalay City

  • พม่ามีทั้งพระและชี โดยชีจะห่มผ้าสีชมพู ไม่ใช่สีขาว ส่วนคนที่ห่มขาวคือพวกเด็กๆ ที่ไปอยู่วัดก่อนบวชเป็นเณร
  • พระในพม่ามีเยอะมาก อารมณ์ว่าไม่รู้จะทำงานอะไรก็ไปบวช ตอนเช้าๆ เราจึงเห็นพระออกบิณฑบาตกันเยอะมาก ถ้าอยู่ในหมู่บ้านนอกเมืองก็เหมารถสองแถวมาบิณฑบาตในเมือง
  • พระ-ชีบางรูป ก็เดินมาขอเงินนักท่องเที่ยวกันดื้อๆ

Botataung Paya

  • สถานที่ท่องเที่ยวในพม่ามีแต่วัดและเจดีย์ ต้องถอดรองเท้าทุกกรณี (โอบาม่าก็ต้องถอด ในหลวงของเราเสด็จก็ต้องถอด) ดังนั้นห้ามอย่าใส่รองเท้าหุ้มส้นไปเที่ยวพม่า รองเท้าแตะเท่านั้น!
  • คนที่นี่ยังศรัทธาศาสนาพุทธกันมาก เชื่อว่าทำบุญด้วยแรงกายได้บุญมากกว่าแรงเงิน เราจึงเห็นการอาสามากวาด-ล้างลานวัดกันเป็นเรื่องปกติสามัญมาก

Mandalay Airport

Mandalay City

Bikes in Mandalay City

  • ผู้ชายพม่าที่มีอายุสักหน่อยนุ่งโสร่งกันหมด และนุ่งโสร่งขี่มอเตอร์ไซด์กันเป็นเรื่องปกติ เว้นแต่วัยรุ่นหน่อยจะใส่กางเกงยีนส์

Yangon City

Yangon Street

  • อาคารในพม่าจะสูงไม่เกิน 8 ชั้น และไม่มีลิฟต์ คนที่อาศัยอยู่ในอาคารแบบนี้จึงหย่อนเชือกลงมาด้านหน้าเพื่อขนของ

Myanmar Beers

  • พม่ามีเบียร์ของตัวเองหลายยี่ห้อ ไกด์บอกว่าเป็นบรรษัทของทหาร ที่ลองกินคือยี่ห้อ Myanmar ก็ใช้ได้นะครับ

Kuthodaw Temple

  • สาวพม่า (และเด็ก) จะทาแป้งที่เรียกว่า "ทานาคา"มันคือเปลือกไม้หอมที่เอามาฝนเป็นผง ว่ากันว่าทาแล้วผิวจะดี
  • บางรายไปไกลถึงขั้นเอาใบไม้มาแปะเป็นลวดลายแบบที่เห็น
  • ทานาคามีขายทั่วไป มีทั้งแบบท่อนไม้เป็นดุ้นๆ (ไกด์บอกว่ายิ่งแห้งยิ่งดี) และมีแบบกระปุกสำเร็จรูป

Keyword:

ครัวชายน้ำชายคา สมุทรสาคร

$
0
0

รีวิวร้านอาหาร จ. สมุทรสาคร ครับ ชื่อร้าน "ครัวชายน้ำชายคา"ขายอาหารทะเลอยู่แถวบางขุนเทียน วิธีเดินทางถ้ามาจากเส้นพระราม 2 ก็เลี้ยวซ้ายเข้าตรงทางไปศาลพันท้ายนรสิงห์ ตัวร้านจะอยู่เลยศาลไปอีกสักหน่อย มีป้ายบอกตลอดทาง (พิกัด Foursquare, พิกัด Google)

หน้าตาร้านก็ประมาณนี้ ใหญ่โต นั่งได้เกือบยี่สิบโต๊ะ

ครัวชายน้ำชายคา

ร้านอยู่ติดคลอง อากาศร่มรื่นดี

ครัวชายน้ำชายคา

เมนูแนะนำ (ไม่ได้สั่งสักอย่าง)

ครัวชายน้ำชายคา

เด็กที่ไปด้วยอยากกินปลาทู ก็เลยสั่งปลาทูทอดมาครับ เป็นปลาทูสด ไม่ใช่ปลาทูนึ่ง

ครัวชายน้ำชายคา

ทอดยังไม่ค่อยกรอบเต็มแม็กซ์เท่าไร แต่น้ำจิ้มโคตรอร่อย

ครัวชายน้ำชายคา

ต้มส้มปลากระบอก ถือเป็นต้มส้มที่อร่อยที่สุดที่ผมเคยกินมาในชีวิตเลย รสชาติกลมกล่อมมาก ให้ปลากระบอกมา 2 ตัวอัดแน่น (หม้อนี้ 285 บาท)

ครัวชายน้ำชายคา

อาหารเด็ดของร้านนี้ "หอยแซบ"เอาหอยแมลงภู่มาราดน้ำยำพริก-กระเทียมเต็มรูปแบบ หนึ่งฝาให้หอยมา 2-3 ตัว น้ำยำอร่อยมากแต่ก็เผ็ดสุดยอด

ครัวชายน้ำชายคา

ปลาหมึกไข่ย่าง ย่างแห้งดีมาก (แต่ย่างนานไปหน่อย) และน้ำจิ้มซีฟู้ดไม่ค่อยอร่อยนัก คือหวานไปนิดนึง (จานนี้ 180 บาท)

ครัวชายน้ำชายคา

จานนี้ซื้อกลับบ้านครับ ปลาหมอเทศแดดเดียว

ครัวชายน้ำชายคา

โดยสรุปแล้วร้านนี้น่าประทับใจมาก อาหารอร่อยมาก ราคาไม่แพง บรรยากาศดี เด็กเสิร์ฟบริการดี ใครผ่านไปแถวนั้นก็ควรหาโอกาสไปลิ้มลองครับ

Sukiya Gyudon

$
0
0

ปีใหม่นี้อยู่กรุงเทพ เลยถือโอกาสผู้คนหลบลี้ ไปเดินห้างที่ยามปกติไม่คิดจะไปเสียหน่อย ว่าแล้วก็ไปเดิน Gateway Ekamaiห้างแนวญี่ปุ่นที่อยู่ตรง BTS เอกมัยดูสักหน่อยครับ (ผมเคยผ่านแถวนั้นตั้งกะห้างยังสร้างไม่เสร็จ และยังไม่ได้แวะเวียนไปอีกเลย)

ห้างนี้เน้นธีมญี่ปุ่นจ๋าๆ เข้าใจว่าตั้งใจเจาะตลาดลูกค้าญี่ปุ่นในไทยด้วย เท่าที่เดินสำรวจดู จุดที่น่าสนใจคงเป็นชั้น 2 ที่รวมร้านอาหารญี่ปุ่นไว้ด้วยกันทั้งชั้น หลายร้านอิมพอร์ตเข้ามาจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ (ในอนาคตคงมีสาขาสองในห้างอื่นๆ ตามมา) ก็ลองมั่วๆ มาร้านหนึ่งที่คนไม่เยอะเท่าไรนัก (ขี้เกียจรอคิว)

Sukiya Gyudon

ร้านนี้ชื่อ "สุคิยะ"หรือ Sukiya เป็นร้านขายข้าวหน้าเนื้อ (Gyudon) โดยเฉพาะ (มีข้าวหน้าแกงกะหรี่ ข้าวหน้าไก่ย่าง ให้เป็นทางเลือกบ้าง แต่หลักๆ คือขายข้าวหน้าเนื้อ) ดูจากเมนูเห็นว่ามีสาขาที่อื่นๆ ด้วย เช่น เอสพลานาด

อ่านดูในเมนู เขาโฆษณาว่าเป็นร้านจากโยโกฮามา และปัจจุบันมีสาขาเยอะเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นเสียด้วย

Sukiya Gyudon

ร้านมาจากโยโกฮามา เลยแต่งธีมแบบท่าเรือสมัยญี่ปุ่นเปิดประเทศ

Sukiya Gyudon

เมนูก็ตามภาพครับ เลือกขนาดได้ เลือกท็อปปิ้งได้ แล้วก็บวกคอมโบน้ำ+ของว่างเพิ่มเข้ามา จริงๆ แล้วผมชอบร้านสไตล์นี้นะ คือเมนูไม่ต้องเยอะมาก แต่ทำเท่าที่มีให้มันดีจริงๆ ไปเลยดีกว่า

Sukiya Gyudon

เราเห็นร้านญี่ปุ่นมาเปิดในไทย โฆษณาโม้นู่นนี่มาเยอะ แต่เอาเข้าจริงเหลวเป๋ว ดังนั้นอย่าเชื่อโปรโมทมาก ลองของจริงกันเลยดีกว่า

เมื่อเรามาร้านข้าวหน้าเนื้อก็ควรสั่งข้าวหน้าเนื้อ อันนี้จานกลาง โปะท็อปปิ้งเป็นเห็ดผัดพริกกระเทียม บวกด้วยไก่ทอดคาราเกะ

ชิมคำแรกพบว่าเนื้อดีมาก นุ่มและไม่เหนียวเลย (ต่างกับ Yoshinoya ฟ้ากับเหว) ส่วนเห็ดผัดก็อร่อยดี ไก่ทอดพอได้แต่ยังไม่ถึงขั้นเทพมาก

Sukiya Gyudon

อีกคนที่ไปด้วยกันสั่งข้าวหน้าเนื้อราดผัดผงกะหรี่ ตัวผัดผงกะหรี่ยังรสชาติจืดจางไปหน่อย แต่เนื้ออร่อยเป็นทุนก็โอเค

Sukiya Gyudon

สรุปว่าเป็นร้านข้าวหน้าเนื้อแบบญี่ปุ่นอีกแห่งที่น่าประทับใจ ราคาก็อยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป มาตรฐานร้านญี่ปุ่นแบบกินเร็ว ถ้ามีโอกาสอีกก็คงเข้าไปกินอีกครับ

Keyword:

Howto Install CM10 on Galaxy Tab P1000

$
0
0

มี Galaxy Tab OG (P1000) ว่างอยู่หนึ่งตัว เลยจะเอามาลง CyanogenMod อัพเดตให้เป็นระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ สักหน่อย

CM10 on Galaxy Tab P1000

ไม่ได้ root และลง Custom ROM ให้กับเครื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตระกูล Nexus มานาน พบว่าง่ายจนน่าตกใจ!

Root and Install Custom ROM

ขั้นตอนอย่างละเอียดสามารถดูได้จาก The Unlockr: How to Root and Flash the ClockworkMod Recovery on the Galaxy Tab P1000

แบบสรุปๆ คือเราต้องมี 4 ไฟล์ก่อน

กลุ่ม root/recovery

  • Odin (ตัวช่วย root และติดตั้ง recovery) จริงๆ เวอร์ชันไหนก็ได้ ใหม่สุดเท่าที่เจอคือ 3.07 อันนี้หาดาวน์โหลดเองได้ไม่ยาก (Odin รันบนวินโดวส์เท่านั้น)
  • ClockworkMod Recovery ดาวน์โหลดได้จากลิงก์ของ The Unlockr

ได้สองไฟล์นี้แล้วก็ทำตามขั้นตอนใน The Unlockr ได้เลยครับ

กลุ่ม custom rom

ตรงนี้จะลงอะไรก็ได้ ผมเลือก CyanogenMod เพื่อความชัวร์ ตอนนี้สำหรับ Galaxy Tab รุ่นแรก (P1000 หรือ P1 ถ้าเรียกตามโครงการ CM) ยังมีแค่ CM10 หรือ Android 4.1 เท่านั้น ยังไม่มี CM10.1 หรือ Android 4.2 ให้ใช้งาน ก็เข้าไปดาวน์โหลดกันได้ที่ CM Download P1เลือก nightly ตัวที่ใหม่ที่สุดมาเลย

ตัวรอม CM มาแบบเปล่าเปลือยไม่มีแอพของกูเกิลหรือ gapps มาให้ด้วย ต้องดาวน์โหลดแยกต่างหาก โดยทั่วไปแล้วเค้าแนะนำให้โหลดที่ Goo.imเลือกเวอร์ชันให้ตรงก็ไม่มีปัญหา แต่ผมโหลดแล้วพบว่าไฟล์ขาดกลางตลอด เลยหาแหล่งสำหรับดาวน์โหลดอื่นแทน พบลิงก์ของ Team Androidไฟล์ชุดเดียวกัน โหลดได้ไม่มีปัญหาอะไร

ได้สองไฟล์นี้แล้วก็เข้าขั้นตอนมาตรฐานครับ ก็อปไฟล์ .zip ไปใส่ internal SD, รีบูตเข้า recovery (กด VolUp+Power ค้างไว้นานๆ หน่อย), wipe ทุกอย่าง, install from SD ตามลำดับ (CM > gapps) แล้วก็รีบูต

Fix Display Density

ความละเอียดของจอ Galaxy Tab P1000 มีแค่ 1024x600 เท่านั้น แต่ CM10 ดันอัดความละเอียดมาซะเต็มที่ ทำให้ฟอนต์ตัวเล็ก และไอคอนเรียงผิดพลาดหลายจุด (ไม่แน่ใจว่าบั๊กหรือตั้งใจ)

ทางแก้ก็คือเซ็ตความละเอียดกลับมาเท่าของเดิม อันนี้ต้องแก้ไฟล์คอนฟิกเล็กน้อย ขั้นตอนก็ตามนี้

  • ดาวน์โหลดตัวแก้ไขไฟล์คอนฟิก Build Prop Editor จาก Play Store (มีให้เลือกหลายตัว น่าจะใช้ได้ทั้งหมด ผมใช้ตัวนี้ Build Prop Editor)
  • ติดตั้งเสร็จแล้วเปิดแอพขึ้นมา กดหาคำว่า density
  • ค่าเดิมมันจะเป็น 160 แก้เป็น 240 แล้วรีบูต

เสร็จแล้วจะได้ความละเอียดหน้าจอกลับมาใหญ่สะใจ กดง่ายไม่เพี้ยนเหมือนเดิม

Grub Customizer

$
0
0

Grub2 มีระบบการคอนฟิกที่ยุ่งยากกว่า Grub1 มาก การแก้ไขด้วยมือทำได้ยาก วันนี้พบว่ามีทางเลือกที่ดีกว่าในการแก้ไขคอนฟิกของ Grub นั่นคือโปรแกรม GUI ที่ชื่อ Grub Customizer

sudo add-apt-repository ppa:danielrichter2007/grub-customizer
sudo apt-get update
sudo apt-get install grub-customizer

จากนั้นเรียกโปรแกรมขึ้นมา (ผ่านเมนูหรือ grub-customizer ก็ได้) ที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว

ที่มา - Ask Ubuntu

High Speed Train

$
0
0

โครงการรถไฟความเร็วสูง (high speed train หรือ high speed rails) เป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนอยากให้มี (โดยหลักการแล้วคงไม่มีใครขัด)

รายการ Wake Up Thailand ของ Voice TV มีสัมภาษณ์คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของรัฐบาล ในประเด็นด้านนโยบายเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูงด้วย ใครสนใจเรื่องรถไฟก็ดูรายละเอียดได้จากเทปนี้ครับ (ลิงก์)

เพิ่มเติม: สกู๊ป SIU สัมภาษณ์คุณพันศักดิ์ เมื่อปี 2010

300-baht Minimum Wage

$
0
0

ไม่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจแรงงานแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงไม่สามารถวิจารณ์เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทลงลึกในรายละเอียดได้

เผอิญประชาไทมีบทสัมภาษณ์ คุณวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและแรงงาน จาก TDRIก็ตามไปอ่านความเห็นผู้เชี่ยวชาญน่าจะดีกว่า

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • การขึ้นค่าแรง 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ (ไม่แยกโซนนิ่งรายจังหวัดแบบเดิม) ดูเผินๆ แล้วไม่น่าจะเวิร์ค เพราะค่าครองชีพแต่ละแห่งไม่เท่ากัน แต่ในมุมของแรงงานสากล มันมีเรื่อง "หลักการไม่เลือกปฏิบัติ"อยู่ และในมุมเรื่องการเมือง-สังคม มีเรื่อง "ความเป็นธรรม"ของการทำงานลักษณะเดียวกันที่ควรได้ค่าแรงเท่ากันอยู่ด้วย

การขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง หากเราประยุกต์เอาหลักการไม่เลือกปฏิบัติที่อยู่ในอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO หรือไกด์ไลน์ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว OECD ที่ใช้กับบรรษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศอื่นๆ เราก็ต้องมีดีเบทกันว่าทำไมคนงานลำพูนทำงานบริษัทเดียวกับที่สมุทรปราการ ที่ลำพูนได้ 165 บาท ที่สมุทรปราการ 215 บาท คนงานที่ทำการผลิตเหมือนกัน ทำไมได้รับค่าแรงที่ต่างกัน ซึ่งอันนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติสำหรับคนที่อยู่ต่างพื้นที่กันหรือไม่ทั้งๆที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน

  • ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน "ค่าแรง"จะมากหรือน้อยอาจไม่ใช่ประเด็นในการเลือกฐานการผลิตไปเสียทั้งหมด เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การมีหรือไม่มีสหภาพแรงงาน (ที่นายจ้างไม่ชอบ) ทำเลและการเชื่อมโยงกับลอจิสติกส์ กำแพงภาษีสำหรับการส่งออก เป็นต้น
  • อินโดนีเซีย ปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดคือ 45% มากกว่าไทย และเพิ่งมีประท้วงใหญ่ในอินโด เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (บ้านเราเป็นนายจ้างประท้วงแทน กลับกัน)
  • ใจความหลักของการขึ้น-ไม่ขึ้นค่าแรง อาจเป็นเรื่องอำนาจการต่อรองของฝั่งแรงงาน (ซึ่งเมืองไทย ระบบสหภาพไม่เข้มแข็งนัก)

ค่าจ้างไทยถูกแช่แข็งในหลายๆเรื่อง เพราะค่าจ้างไม่ได้ขึ้นโดยอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ค่าจ้างที่เกินขั้นต่ำแล้ว หากไม่มีสหภาพแรงงานก็แล้วแต่นายจ้างปราณีขึ้นมาเอง ดังนั้นการที่ช่องว่าระหว่างค่าจ้างกับผลิตภาพการผลิตที่ห่างเป็นผลมาจากอำนาจการต่อรองของคนงานต่ำ

ที่เหลือก็ตามไปอ่านกันเองในต้นฉบับครับ


Surapong Suebwonglee

$
0
0

ถัดจากเทป อ.พันศักดิ์ เมื่อวันก่อนวันนี้ Voice มีสัมภาษณ์ "หมอเลี้ยบ"นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตคีย์แมนคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน

สำหรับคอการเมืองแล้ว เทปนี้มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง โดยหมอเลี้ยบตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ ของการเมืองไทยในช่วงปี 49-51 เช่น

  • ทำไมทักษิณไม่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นิวยอร์ก
  • แก๊งออฟโฟร์ มีจริงหรือไม่
  • ทำไมพรรคพลังประชาชน ไม่โหวตสมัครเป็นนายกรอบที่สอง

Ubuntu Phone

$
0
0

รายละเอียดของ Ubuntu Phone เขียนไปแล้วบน Blognoneอันนี้เป็นความคิดเห็นอย่างเดียว

ก่อนอื่นถ้าใครยังไม่เห็นภาพ ลองดูคลิปที่ Engadget สัมภาษณ์ Shuttleworth มีเดโมมือถือตัวเป็นๆ ให้ดู ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า Ubuntu Phone เป็นอย่างไร

ที่เหลือเป็นบทวิจารณ์

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ของ Ubuntu Phone คือ "ระบบปฏิบัติการตัวเดียว"ที่ใช้ได้กับพีซี แท็บเล็ต ทีวี มือถือ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่มาก คำถามคือมันเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องหรือไม่?

ในแง่มุมมองภาพกว้างอาจจะถูก แต่ในรายละเอียดแล้ว อุปกรณ์ต่างชนิดกัน ขนาดหน้าจอต่าง น้ำหนักต่าง วิธีการป้อนข้อมูลต่าง มันควรจะใช้ระบบปฏิบัติการตัวเดียวกันหรือเปล่า? สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ไมโครซอฟท์กำลังเผชิญอยู่กับ Windows 8 และแอปเปิลเองก็ยังสงวนท่าทีในการเชื่อม iOS+OSX เข้าด้วยกัน

อันนี้ต้องปล่อยให้กาลเวลาเป็นเรื่องพิสูจน์ ซึ่งถ้ามันถูกต้องก็แปลว่า Ubuntu เสี่ยงแล้วเจอแจ๊คพ็อตเข้าเลย

Usability

สำหรับคนที่เคยใช้ N9 มาก่อน จะทราบดีว่า UI แบบ edge-swipe เป็นอะไรที่สุดยอดมาก ข้อติของผมต่อ N9 คือทุกอย่างมัน swipe ได้ยกเว้น back ต้องกดปุ่ม ซึ่งใน Ubuntu Phone แก้ปัญหานี้ไปแล้วเรียบร้อย

Ubuntu Phone ดึงจุดเด่นของ mobile OS มาผสมผสานกันได้อย่างน่าสนใจ เช่น

  • edge-swipe ของ MeeGo
  • notification ของ Android (แล้วเพิ่มเรื่องการเลื่อนตามไอคอนเข้ามา)
  • context menu ของ Windows 8 (ซึ่งผมไม่ชอบเท่าไรนัก)

ในแง่ของ UI แล้วถือว่าผ่านและน่าจะใช้งานได้ดี มีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ดึงดูดพอสมควร

Ecosystem

การเปิดตัว Ubuntu Phone ช่วยอธิบายท่าทีแปลกๆ บางอย่างของ Canonical ในรอบหลายปีให้หลังได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อตกลงกับ Amazon ที่เป็นปัญหาใน Ubuntu 12.10 กลับกลายเป็นจุดแข็งบน Ubuntu Phone เนื่องจากมันเติมเต็มเรื่อง digital content ได้ทั้งหมดทันที

  • Unity สร้าง standard UI แบบข้ามแพลตฟอร์ม
  • Ubuntu One ตอบโจทย์เรื่อง cloud sync + content store (เพลง)
  • Ubuntu Software Center ตอบโจทย์เรื่อง app distribution
  • ความใกล้ชิดของ Ubuntu กับ Qt (จาก Unity 2D) อธิบายเรื่อง Ubuntu SDK ได้
  • Amazon ตอบโจทย์เรื่อง content store (หนัง-เพลง-หนังสือ-ทีวี)

ผมคิดว่า Ubuntu มองเกมค่อนข้างขาดเรื่องการพัฒนาแอพที่มีทั้งแบบ native (แต่อยู่บน QML/Qt-based SDK) และ web app ซึ่งเป็นทางเลือกให้นักพัฒนาได้ทั้งคู่

กรณีของ web app ถือว่าช่วยเสริม web app movement ที่เราจะเห็นในเร็วๆ นี้ จากระบบปฏิบัติการมือถือหลายตัว เช่น Firefox OS (pure web app), BB10 (WebWorks), Tizen (jQuery-based)

ความสำคัญของ web app movement คือ Android+iOS (ซึ่งเป็น native ทั้งคู่) ยึดตลาดแทบจะเบ็ดเสร็จ ระบบปฏิบัติการใหม่ๆ เกิดยากมาก ถึงแม้จะมีแบ็คดีระดับ MS ยังดัน Windows Phone ให้รุ่งได้ยาก

รายเล็กจึงต้องหากระบวนท่าที่จะร่วมกันสร้างโมเมนตัมมาต่อกร ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ไม่อยากผูกชีวิตไว้กับคนอื่น หวยเลยมาออกที่ HTML5 ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางๆ และมีจุดเด่นเรื่อง cross platform (ในรายละเอียดไม่ cross จริง แต่ก็ถือว่ามากที่สุดเท่าที่มีในตอนนี้)

ผมเชื่อว่ากระแส web app movement จะช่วยกดดันให้บริการออนไลน์ดังๆ บางยี่ห้อ เช่น Flickr, Pinterest, Tumblr อะไรแบบนี้ สร้าง touch web app ที่มีความสามารถมากพอในระดับหนึ่ง (นอกเหนือไปจาก mobile app บน Android/iOS ที่ต้องทำอยู่แล้ว) และสามารถพอร์ตมาลงแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่รัน web app ได้ง่าย ช่วยสนับสนุนให้แพลตฟอร์มพวกนี้มีแอพมาตรฐานที่ควรจะมีเยอะขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนมากนัก (ความสามารถของแอพคงสู้ native ไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มี ไม่อย่างนั้น Ubuntu Phone ไม่มีวันมี Google Maps หรือ Gmail แน่)

ในอนาคตระยะที่มองเห็น แอพบน Ubuntu Phone น่าจะเป็น native (10-20%) และ web app (80-90%) แต่แอพสำคัญๆ ของระบบจะเป็น native ทั้งหมด + พาร์ทเนอร์เท่าที่ Canonical สามารถเจรจาได้

Key Factors

พูดข้อดีไปแล้ว ต่อไปเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้มันสำเร็จ/ล้มเหลว

  • Hardware partnersอันนี้สำคัญที่สุด คือต่อให้ระบบปฏิบัติการดีแค่ไหน ถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์ขายก็จบ ฮาร์ดแวร์ในที่นี้หมายถึงว่าคุณภาพต้องดีในระดับหนึ่ง แบรนด์ดังน่าสนใจ มีช่องทางจัดจำหน่ายมาก จะให้เลิศคงต้องระดับ LG/HTC/Sony ที่ยังไม่มีระบบปฏิบัติการของตัวเอง (Samsung คงไม่สนใจ, Moto ก็เป็น pure Android ไปแล้ว) แต่อันที่เป็นไปได้มากกว่าคือแบรนด์จีน-อินเดียที่กำลังรุ่งขึ้นมา สมมติว่า Canonical เซ็นสัญญากับ Huawei หรือ ZTE ได้ คงสบายไปอีกเยอะ
  • Carrier partnersบ้านเราคงไม่ค่อยมีผล แต่หลายประเทศมีผลมาก ซึ่งตรงนี้ค่ายอื่นๆ อย่าง Firefox OS ก็รู้ดี และรีบไปจับมือกับยักษ์ใหญ่อย่าง Telefonica ไว้แล้ว คำถามคือ Canonical มีพันธมิตรในระดับเดียวกันหรือไม่
  • Showcase appsจุดเด่นของ Ubuntu Phone เวลาเอาไปโฆษณาย่อมเป็นการรองรับทั้งโหมดมือถือ-พีซี (ลองคิดภาพเอามือถือเสียบ dock แล้วกลายเป็น fully functioned PC มันเท่มากเลยนะครับ) ดังนั้น Canonical ต้องรีบสร้าง "แอพตัวอย่าง"ที่แสดงให้เห็นพลังของการทำงานข้ามโหมด มาสาธิตให้คนเห็นกันให้จงได้สัก 2-3 ตัว
  • Software Qualityจากกรณีของ Unity ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นในลมปากของทีม Canonical มากนัก คือไอเดียดีตอนต้น แต่ทำจริงแล้วคุณภาพมันออกมาไม่ได้ตามนั้น (ทุกวันนี้ Unity ยังหน่วงๆ อยู่ และ Dash ก็ยังห่วยเหมือนเดิม) ถ้าซ้ำรอยเดิมก็อวสาน จบกัน

สรุป

ในมุมของ Canonical และ Ubuntu Project ผมคิดว่า "spread too thin"หรือทำหลายอย่างมากเกินไป โดยมีทรัพยากรจำกัดมาก

โอเคแหละ ถ้าทำได้ครบหมดจริงๆ ก็คงไปรุ่งแน่นอน แต่ลองคิดดูว่าการทำงานใหญ่ระดับนี้ (OS ข้ามแพลตฟอร์ม+ecosystem ขนาดใหญ่) แม้แต่พี่เบิ้มระดับไมโครซอฟท์ยังกระอัก กูเกิลยังเหนื่อย และแอปเปิลก็ไม่ได้ทำทั้งหมด โอกาสล้มเหลวในกระบวนการ implement มีสูงมาก ถึงแม้วิสัยทัศน์และไอเดียจะดีก็ตาม

Life of Pi

$
0
0

มีเพื่อนหลายคนแนะนำให้ไปดู ก็เลยตามไปดูสักหน่อย เพราะใกล้ออกโรงแล้ว

Life of Pi เป็นผลงานของผู้กำกับไต้หวัน "อั้งลี่"โดยอิงจากหนังสือชื่อเดียวกันในปี 2001 เนื้อหาในหนังสือเกี่ยวกับคนอินเดีย แต่คนเขียน Yann Martel เป็นฝรั่ง เกิดในสเปน พูดฝรั่งเศสเป็นหลัก มีสัญชาติแคนาดา และเขียนเป็นภาษาอังกฤษ

เนื้อเรื่องแบบสรุปๆ คือ เด็กหนุ่มชาวอินเดียชื่อ พาย (Pi) เรือล่มกลางมหาสมุทร รอดชีวิตมาได้บนเรือชูชีพกับเสือเบงกอลหนึ่งตัว และต้องเอาชีวิตรอดจากทั้งทะเลบ้าคลั่งและเสือขย้ำเพียงลำพัง

บทวิจารณ์สั้นๆ

  • ภาพสวยมาก และ art direction เทพมากถึงมากที่สุด
  • เนื้อหารวมๆ ของหนังเป็นเรื่องเกี่ยวกับศรัทธาต่อบททดสอบของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่แสดงออกถึงศาสนาว่าเป็นศาสนาอะไร (ช่วงต้นเรื่องเล่าว่า พายนับถือทั้งฮินดู คริสต์ อิสลาม) แต่จริงๆ แล้วผมว่าธีมหลักก็เป็นเรื่องศรัทธาของคริสต์เสียมาก เลยเสียความรู้สึกเล็กน้อย (คือจะเป็นคริสต์ก็ควรพูดมาตรงๆ แต่แรก อันนี้หมายถึงตั้งแต่เวอร์ชันหนังสือ)
  • ความเจ๋งของเนื้อเรื่องคงอยู่ที่ แก่นของเรื่องเป็น "การเอาตัวรอดของคนเรือล่ม"แบบธรรมดา แต่สามารถเล่าเรื่องให้ออกมาทั้งเชิงแฟนตาซี (ลอยคออยู่กลางทะเลกับเสือ เจอเกาะปริศนา) และออกมาในเชิงศาสนา (ศรัทธา) ได้ด้วย

โดยรวมถือว่าสนุกดีครับ เพียงแต่ไม่เจ๋งมากในระดับที่เพื่อนๆ หลายคนโฆษณาเอาไว้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

  • เสือเบงกอลดิจิตอล สร้างโดยทีมงานเดียวกับที่ทำสิงโตดิจิตอล อัสรัน ในเรื่อง Narnia
  • ฉากกลางทะเล (ซึ่งก็คือเกือบทั้งเรื่อง) ถ่ายในถังน้ำขนาดใหญ่ที่จำลองระบบคลื่น สร้างในสนามบินเก่าที่ไต้หวัน บ้านเกิดของอั้งลี่
  • ผู้กำกับจงใจไม่ใช่นักแสดงมีชื่อเลย เพราะจะเตะตาเกินไป ส่วนพระเอกก็เป็นพระเอกใหม่ แคสต์ใหม่หมด

Keyword:

Tomato Noodle

$
0
0

ได้ยินคนพูดถึง "ราเม็งมะเขือเทศ"มานาน และเดินผ่านร้านอยู่หลายครั้ง (ในหลายสาขา) วันนี้มีโอกาสไปแถวๆ สีลม ก็เลยแวะไปชิมสักหน่อย

สาขานี้เป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่สีลม ซ.2 ร้านก็จะเล็กๆ หน่อยครับ ร้านญี่ปุ่นของแท้ก็แบบนี้แหละ

Tomato Ramen

เมนูมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งราเม็งโชยุ-มิโซะตามมาตรฐาน แต่เราจะลองราเม็งมะเขือเทศ ก็อย่าไปหวั่นไหวกับสิ่งอื่นใด

Tomato Ramen

ชามที่ผมกินนี้เป็น "ราเม็งมะเขือเทศดีลักซ์"ชามเล็กราคา 160 บาท ขอดูขนาดชามก่อนสั่งอาหารพบว่าใหญ่พอแล้วสำหรับเรา ก็เลยแค่นี้แหละพอแล้ว กินอะไรกันเยอะแยะ

Tomato Ramen

สรุปรสชาติก็คือ เครื่องอย่างอื่นเหมือนราเม็งปกติ แต่น้ำซุปใส่มะเขือเทศเข้ามา พบว่ามะเขือเทศเป็นผักที่มีรสชาติแรง ผลคือรสชาติมะเขือเทศกลบรสชาติของทุกสิ่งหมด (เอาซอสมะเขือเทศเทใส่ราเม็งปกติ ก็คงไม่ต่างกันนัก แค่กลมกล่อมไม่เท่า)

ในความเห็นผมคิดว่ามะเขือเทศกับราเม็งไม่เข้ากันเท่าไร โอกาสหน้าคงลองสั่งแบบธรรมดาดูว่าเป็นอย่างไร เครื่องประกอบราเม็งของเขาก็เยอะดี เทียบราคาแล้วก็ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้เมื่อเทียบกับปริมาณ

ร้านนี้น้ำฟรี บริการดี ไปก่อนเที่ยงเล็กน้อยคนยังไม่เยอะ แต่ตอนกินเสร็จเริ่มมีคนเข้ามากินเกือบเต็มแล้วเหมือนกัน

Keyword:

The Social of Ingress

$
0
0

เล่น Ingress มาได้สักพักหนึ่งแล้ว พบว่าเป็นเกมที่น่าสนใจในหลายประเด็นมาก

ผมมีแผนจะเขียนถึง Ingress อย่างละเอียดในอนาคต เนื่องจากตอนนี้เลเวลยังต่ำและยังใช้งานองค์ประกอบต่างๆ ของเกมไม่ครบ บวกกับการหา invite ยังจำกัดมาก เขียนไปแล้วคนอยากเล่นก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร

แต่วันนี้มีหนึ่งประเด็นที่คิดว่าน่าบันทึกลงบล็อกไว้ก่อน เพราะมันคอนทราสต์มากๆ

นั่นคือ "Ingress เป็นเกม MMO ที่ไม่มีฟีเจอร์ด้านโซเชียลอยู่เลย"

สิ่งแรกที่ควรพูดถึงคือ ความเป็น MMO ของ Ingress ที่คนทั้งโลกเล่นเกมร่วมกันบนเซิร์ฟเวอร์เดียว ไม่มีการแยกเซิร์ฟเวอร์เพื่อกระจายโหลดแบบเกม MMO ในอดีตหรือปัจจุบัน โลกของ Ingress มีเพียงหนึ่ง และเป็นภาพสะท้อนของโลกจริงที่เราอาศัยอยู่

เกม MMO ที่ใหญ่ขนาดนี้ ย่อมต้องพึ่งพาการสื่อสารเยอะมาก

แต่แอพ Ingress กลับแทบไม่มีระบบการสื่อสารใดๆ มาให้ในตัวเลย (ยกเว้นการแจ้งข่าวแบบ broadcast ที่ไม่ใช่องค์ประกอบหลักของเกม) ไม่มีแม้กระทั่ง friend list หรือ private message

ความน่าสนใจของมันคือ การสื่อสารจำเป็นสำหรับการเล่น Ingress แต่ Ingress ตั้งใจมาแต่ต้นให้ "การสื่อสาร"อยู่นอกตัวแอพ ตัวแอพเองมีสถานภาพเป็นแค่ "เครื่องมือ"ของผู้เล่นในการเข้าถึงข้อมูลบนมิติของ Ingress เท่านั้น

เมื่อผู้เล่นได้ข้อมูลจากมิติของ Ingress มาแล้ว จะสื่อสารหรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่นๆ (เพื่อเอาชนะเกม เพราะมันออกแบบให้เล่นกันเป็นทีม) ได้อย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของผู้เล่นเอง

จะเป็นโทรศัพท์ SMS IM เปิดเว็บเฉพาะกลุ่ม คุยบนเว็บบอร์ด หรือ Facebook/Twitter/Google+ ทาง Ingress ไม่สนใจและไม่ขัดข้อง อะไรก็ได้ที่ทำการสื่อสารได้ ถือว่าตอบโจทย์ของเกม

รูปแบบของการ self-organize ของผู้เล่นจึงหลากหลายมาก และมี success story ของการรวมกลุ่มเพื่อพิชิตเกมในพื้นที่ของตัวเองเกิดขึ้นมากมาย (ผมว่าในภาพรวมแล้วมันจะคล้ายๆ กับการรวมกลุ่มของพวกขายตรง MLM)

ความเจ๋งของมันคือ มันเป็นความตั้งใจของทีมผู้สร้างเอง ที่ต้องการให้ "ประสบการณ์การเล่น Ingress อยู่นอกแอพ Ingress"นั่นเองครับ

ป.ล. ใครมี invite แล้ว ขอเชิญฝ่าย Resistance

Jolla Sailfish UI

$
0
0

เคยประทับใจกับ Swipe UI ของ MeeGo บน N9 อยู่มาก ปัญหาหลักที่ผมเจอตอนใช้ N9 คือทุกอย่าง swipe ได้ยกเว้น Back ที่ต้องกดปุ่ม ทำให้ประสบการณ์ใช้งานมันสะดุดอยู่พอสมควร

เรื่องนี้เคยเขียนไปบ้างแล้วใน Ubuntu Phone

ทีนี้ไปค้นเจอข่าวเก่าช่วงปลายปีที่แล้ว (เซฟเก็บไว้เพิ่งได้อ่าน) ทีมของ Engadget ได้สัมภาษณ์ทีม Jollaผู้สืบทอดของ MeeGo และได้ถ่ายวิดีโอการใช้งาน Sailfish OS มาด้วย ช่วยให้เราได้เห็นภาพว่าถัดจาก MeeGo แล้วไงต่อ

จากวิดีโอจะเห็นว่า

  • ปัญหาเรื่อง back/swipe ถูกแก้ไขแล้ว โดยใช้วิธี "ดึง"จากซ้ายไปขวาเพื่อกลับหน้าจอเดิม
  • ส่วนการ swipe จากขวาไปซ้าย จะกลับเข้าหน้า recent apps ที่เพิ่มแนวคิดเรื่อง widget เข้ามา คือ running app จะมี widget ควบคู่กันไปด้วย และสามารถควบคุมแอพได้ผ่าน widget เลย อันนี้จะคล้าย Android ผสม Windows Phone
  • ของใหม่จริงๆ คือ pull menu ที่ "ดึง"จากบนลงล่างแล้วเมนูจะไหลลงมาเรื่อยๆ และใช้วิธี "ปล่อย"เพื่อเลือก ถือว่าแปลกใหม่มากกับ UI สมาร์ทโฟนในยุค "กดเพื่อเลือก" (ผมว่ามันคล้ายๆ jog dial ของโซนี่ในอดีต)

ในภาพรวมแล้ว UI ของ Sailfish ใช้แนวทาง edge-swipe ตามสมัยนิยม และเพิ่มเรื่อง functionable widget เข้ามา

UI ที่คล้ายกันมากที่สุดคงเป็น BB10 ตามด้วย Ubuntu Phone แสดงให้เห็นว่าแนวทางการออกแบบ UI ของจอสัมผัส มันเริ่มหมุนไปทางนี้ และเริ่มแสดงให้เห็นเช่นกันว่า UI ของ iOS/Android เริ่มจะล้าสมัยบ้างแล้ว

ในกลุ่ม Smartphone OS ปี 2013มีสามค่ายคือ BB10, Ubuntu Phone, Sailfish ที่มาแนวเดียวกันหมด ปล่อยให้ Firefox OS ยังใช้ UI ค่อนข้างเก่าคร่ำครึ (Symbian+Android) ต่อไป

Key Success Factors of Android

$
0
0

อ่านบทความ Android challenges the iPhone in every categoryของ CNET แล้วประทับใจกับการวิเคราะห์ในหลายประเด็น (โดยเฉพาะ "Silicon Valley tech press for living in an iPhone echo chamber")

อ่านจบแล้วเกิดคำถามว่า Android มันประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้เพราะอะไรกันแน่ เพราะในแง่คุณภาพของซอฟต์แวร์มันก็ไม่ถือว่าดีที่สุดในตลาด (ขนาดผมใช้เองยังว่าห่วยหลายเรื่อง) ลองนั่งนึกๆ ดูก็ได้ออกมาดังนี้

Apple

อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญคือการบุกตลาดของ iPhone น่าสะพรึงกลัวมาก ไหลบ่าเหมือนน้ำป่า จนผู้ผลิตมือถือแทบทุกรายตื่นตระหนกว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี (ยกเว้นโนเกียที่พนักงานลาไปพักร้อนกันหนึ่งเดือนช่วงที่ iPhone รุ่นแรกเปิดตัว ชิวมาก)

จังหวะของ Android ถือว่าดีมากคือออกตามหลัง iPhone ประมาณปีนึง ตลาดสมาร์ทโฟนถูกบุกเบิกด้วย iPhone ไปแล้ว และบริษัทพวก Sony/LG/Moto/HTC/Samsung กำลังตระหนก ทางรอดทางเดียวที่ดูมีแวว (ในตอนนั้น) คือ Android ทำให้ผู้ผลิตทุกรายต้องคว้าเอาไว้ก่อน มันเลยกลายเป็น de facto standard ไปเลย

สรุปคือ Android เดี่ยวๆ ไม่มีทางเกิดแน่ ถ้าไม่มี Apple มาคุกคามผู้ผลิตมือถือ (สรุปแล้วมันมาจากความกลัวนั่นเอง) และ timing ของ Android ดีมากในตอนนั้นเพราะเป็นตัวเลือกเดียวที่มี สมมติว่าถ้าช่วงนั้นมี MeeGo หรือ webOS มาก่อน เกมอาจออกมาอีกหน้าเลยเหมือนกัน

Open License

สมมติว่ากูเกิลคิดราคาค่าใช้งาน Android มาตั้งแต่ต้น เครื่องละ 5 ดอลลาร์ ผมว่าด้วยบริบทในตอนนั้น หลายค่ายก็ยอมจ่ายเพื่อใช้งาน

แต่กูเกิลดันไปจนสุดทางในแง่ของ economics of mobile OS คือเปิดเสรีไปเลย ใครใคร่ใช้งานใช้ ใครใคร่แก้ไขจงแก้ เราเลยเห็นกองทัพ Android ถล่มโลก และขยายตัวไปอยู่ในสารพัดอุปกรณ์ (ล่าสุดเป็นเตาอบแล้ว) นั่นเอง

ข้อจำกัดอย่างที่เขียนไปตอนแรกคือเรื่องของ timing นั้นดีมาก ถ้าตอนนั้นปี 2008 มีระบบปฏิบัติการความสามารถพอๆ กันและใช้ very permissive license เหมือนกัน เกมอาจออกมาอีกหน้า

Google Apps

ในแง่ของการใช้งานจริง จุดขายของ Android รุ่นแรกๆ คงเป็นว่า "มันเชื่อมต่อกับบริการของกูเกิลได้ดี"มีทั้ง Gmail, Google Talk, Google Maps, YouTube มาให้ในตัว และทำงานได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ (ในตอนนั้น)

จากสายตาของผู้บริโภค มันเลยกลายเป็น killer app แบบอ่อนๆ ทำให้ตัวแพลตฟอร์มน่าสนใจในฐานะสินค้ามากขึ้น ส่วนโมเมนตัมของแพลตฟอร์มว่าคนใช้เยอะ แอพเยอะ อันนั้นเป็นเรื่องราวในช่วงหลังแล้ว

สมมติว่า MeeGo ในตอนนั้นออก OS โอเพนซอร์สได้พร้อมกับ Android แต่ถ้าไม่มี Google Apps แบบเดียวกัน ความน่าสนใจมันคงน้อยลงไปเยอะเลย

สรุป

การครองโลกของ Android ต้องยกความดีให้กับ

  1. Andy Rubin ในฐานะเจ้าของวิสัยทัศน์ "open source mobile OS"
  2. Larry Page ในฐานะคนแอบไปซื้อ Android, Inc. มา น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของกูเกิล
  3. Steve Jobs ผู้สร้างความกลัวให้กับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ค่ายอื่นๆ

History of Tibet

$
0
0

เผอิญมีมิตรสหายท่านหนึ่งกำลังศึกษาเรื่อง "วัชรยาน" (พุทธนิกายของทิเบต) ทำให้ทิเบตกลับมาอยู่ในความสนใจของผม และการสืบทอดผู้นำประเทศในตำแหน่ง "ทะไลลามะ"ด้วยการหาเด็กที่กลับชาติมาเกิด เป็นเรื่องน่าพิศวงและสงสัยมายาวนาน

วันนี้มีเวลาเลยนั่งอ่านประวัติศาสตร์ทิเบตใน Wikipediaสักหน่อย พบว่ามีประเด็นน่าสนใจมากพอสมควร โดยเฉพาะ "ศาสนาพุทธ"และ "ทะไลลามะ"เป็นสิ่งที่เพิ่งเข้ามายังทิเบตในระยะหลังนี้เอง

  • ทิเบตเป็นอาณาจักรขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ค่อนข้างปิด และอายุของชนเผ่าที่สืบทอดกันมานาน ทำให้มีระบบภาษา-วัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ต่างไปจากจีนหรืออินเดียอย่างมีนัยสำคัญ (ภาษากลุ่ม Tibeto-Burman ที่ไม่เหมือนกับภาษากลุ่ม Tai-Kadai ของบ้านเรา)
  • ศาสนาดั้งเดิมของทิเบตเรียกว่า Bonภายหลังก็หลอมรวมเข้ากับพุทธนิกายวัชรยาน
  • อาณาจักรทิเบต มีอายุอยู่ช่วงศตวรรษที่ 7-11 (ศาสนาพุทธเริ่มเข้ามาในช่วงนี้) หลังจากนั้นก็แตกกันไปตามสายตระกูลต่างๆ ไม่สามารถรวมตัวกันได้อยู่นาน
  • ทิเบตเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ตอนกลางของพื้นทวีปเอเชีย จึงหนีไม่พ้นถูกมองโกลรุกรานในศตวรรษที่ 13 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีนราชวงศ์หยวน (มองโกล) แต่ทิเบตก็ได้อิสระของตัวเองพอสมควร อารมณ์ประมาณประเทศราช
  • เมื่อจีนปลดปล่อยตัวเองจากมองโกลได้ และตั้งราชวงศ์หมิง ทิเบตก็เป็นอิสระอีกครั้ง โดยทิเบตกับมองโกลยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกันพอสมควร
  • การตั้งตำแหน่ง "ทะไลลามะ"เกิดจากหัวหน้าพระของทิเบตไปพบกับข่านมองโกล (ในยุคหลังจากราชวงศ์หยวนล่มสลาย) ในปี 1578 และได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งนี้จากข่านมองโกล ทิเบตกลายเป็นที่พึ่งทางศาสนาและจิตวิญญาณของมองโกล ถือเป็นสองรัฐเล็กด้านตะวันตกของจีน
  • ทะไลลามะองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากมองโกลนับเป็นองค์ที่สาม (สององค์ก่อนหน้า แต่งตั้งย้อนหลัง) แต่กว่าจะเริ่มมีบทบาททางการเมืองก็ต้องรอทะไลลามะองค์ที่ห้า ซึ่งผนวกรวมศาสนาและรัฐฆราวาสเข้ามาด้วยกัน กรุงลาซาและวังโปตาลาก็ถูกสร้างขึ้นในช่วงนี้
  • จีนช่วงราชวงศ์ชิง (แมนจู) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทิเบตมากขึ้น ทิเบตมีสถานะเป็นประเทศราชอีกครั้ง โดยมีทะเลาะกับรัฐใกล้เคียงอย่างเนปาลอยู่บ้าง ช่วงนั้นชาติตะวันตกเริ่มล่าอาณานิคม และอังกฤษเริ่มรุกเข้ามาทางอินเดีย จีนจึงรักษาทิเบตไว้ในฐานะ "รัฐกันชน"ระหว่างจีนกับอินเดีย
  • หลังจากราชวงศ์ชิงล่มสลายในปี 1911 และจีนวุ่นวายทางการเมืองภายในจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง (บล็อก: Late Qing to People's Republicทิเบตก็กลับมาเป็นอิสระอีกครั้ง
  • แต่พอเหมาเจ๋อตงยึดจีนได้ในปี 1949 ก็ส่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนมายึดทิเบตทันที ทำให้ทิเบตตกเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาจนถึงบัดนี้ ประชาชนทิเบตลุกฮือขึ้นในปี 1959 แต่แพ้ ทำให้ทะไลลามะองค์ปัจจุบันต้องลี้ภัยมาอินเดียตั้งแต่ตอนนั้น

How to Submit an Ingress Portal

$
0
0

เล่น Ingress แล้วพบว่าประเทศไทยมี portal น้อยกว่าที่ควรจะเป็น การเล่นเลยไม่สนุกเพราะ portal ไม่กระจายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่นอกใจกลางเมือง ที่อาจเรียกได้ว่า "ไม่สามารถเล่นได้เลยสักนิด"

ทางแก้คือผู้เล่นในไทยต้องช่วยกัน submit ขอเปิด portal ใหม่ไปเยอะๆ ก็เลยเป็นที่มาของบล็อกนี้ครับ

ข้อมูลทั้งหมดนำมาจาก New Portal Submissionsแต่เอามาเขียนใหม่ให้เข้าใจง่ายๆ เป็นภาษาไทย

หลักการเลือก portal

ต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ (คือไม่ใช่บ้านหรืออาณาเขตส่วนตัวของใคร)

ตัวอย่างสถานที่ที่เป็น portal ได้

  • รูปปั้น อนุสาวรีย์
  • สิ่งก่อสร้างที่เป็นเอกลักษณ์
  • งานศิลปะกลางแจ้ง
  • อาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่มีประวัติศาสตร์
  • สิ่งก่อสร้างกลางแจ้งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ
  • ธุรกิจท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง (ไม่ใช่ร้านค้าทั่วไป)

ตัวอย่างสถานที่ใน กทม. ที่เป็น portal แล้ว เช่น

  • อนุสาวรีย์ชัย + อนุสาวรีย์ ร.6 สวนลุม + พระบรมรูปทรงม้า ร.5
  • MRT ห้วยขวาง
  • อาคารเซ็นทรัลเวิลด์
  • รูปปั้นหน้าหอศิลป์ กทม.

วิธีการเสนอเปิด portal

ง่ายมากครับ เปิด GPS แล้วถ่ายรูปสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อ ตอนถ่ายให้เปิดตัวเลือก geo tag ด้วย (อาจเช็คตำแหน่งตัวเองจาก Google Maps ว่าตรงจุดแล้ว กันพิกัดเพี้ยน)

จากนั้นกดแชร์ภาพแล้วเลือก NIA Super Ops ป้อนชื่อสถานที่เป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นแอพอีเมลจะเด้งขึ้นมา เราก็กดส่งภาพนั้นไปยังแอดมินของ Ingress เป็นอันเสร็จสิ้น (ระบบส่งรูปมันดิบไปหน่อยนะ -_-')

ทีมงาน Ingress บอกว่าใช้เวลารีวิวข้อมูล 2-3 สัปดาห์ ถ้าผ่านจะแจ้งให้ทราบ ผ่านแล้วต้องรออีก 2-3 สัปดาห์กว่า portal จะเกิดขึ้นมาในเกม

Keyword:

Future of Gaming Platform

$
0
0

เขียนคอลัมน์เรื่อง "มิติใหม่ของเครื่องเล่นเกม"ลงไทยรัฐไปสองตอน

บทความในไทยรัฐคงเขียนให้ยากมากไม่ได้ แต่ไอเดียโดยรวมคงครบถ้วน

ใจความหลักที่ผมนำเสนอคือ วงการเกมกำลังเจอกับช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ การผูกขาดแพลตฟอร์มปิดของยักษ์ใหญ่ 2-3 รายที่ดำรงสืบทอดมาอย่างยาวนานนับ 20-30 ปี (หน้าตายักษ์เปลี่ยนไปบ้าง แต่นินเทนโดไม่มีวันตาย ฮา) กำลังถูกทำลาย

สิ่งที่เข้ามาทำลายการผูกขาดของแพลตฟอร์มปิด ไม่ใช่แพลตฟอร์มปิดอันใหม่ แต่เป็นแพลตฟอร์มเปิด ที่เปิดกว้างให้บริษัทใดๆ ก็สามารถสร้างเครื่องเล่นเกมที่มีคุณภาพ "ดีพอสมควร" (good enough) ได้ในราคาที่ถูกมาก

The Verge เขียนเรื่องเดียวกันนี้ไว้ที่ A modern gaming ecosystem emerges, with Microsoft gone and Sony silentสรุปไว้ดีมากว่า

But if iOS and Android have taught us anything in the past five years, it's that consumer electronics can play games, too.

อะไรบ้างที่สมควรเป็นข่าว

$
0
0

เจอคำถามนี้ใน Blognoneซึ่งเดิมทีผมคิดว่าเป็นเรื่อง common sense น่าจะพิจารณากันเองได้ไม่ยาก แต่เมื่อมีคนถามมา เรื่องนี้สามารถตอบด้วยหลักวิชาทางนิเทศศาสตร์ได้ครับ

ลองค้นหาข้อมูลดูแล้ว เอกสารที่เขียนได้ดีและกระชับมากที่สุดคือ หลักการเขียนข่าว การผลิตข่าว และการรายงานข่าว ของกรมประชาสัมพันธ์ (PDF)

สรุปแบบสั้นๆ สิ่งใดจะเป็น "ข่าว"นั่นแปลว่ามันต้องมี "ความพิเศษ"เหนือเหตุการณ์ธรรมดา ซึ่งความพิเศษนั้นก็มีได้หลายแนว เช่น ของใหม่ ของดีที่สุด ของแย่ที่สุด ความขัดแย้ง ดราม่า ผลกระทบต่อคนหมู่มาก ฯลฯ (ที่เหลืออ่านกันเองตามลิงก์)

ทีนี้ข่าวยังแยกเป็น "ข่าวเกรดธรรมดา"กับ "ข่าวเด่น"ซึ่งพื้นที่ในการแสดงผลข่าวเด่นมีจำกัดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในวิทยุ-ทีวี พื้นที่หนังสือพิมพ์หน้าแรก หรือหน้าแรกของเว็บไซต์ก็ตาม ดังนั้นการคัดเลือกข่าวขึ้นไปแสดงในพื้นที่เหล่านี้ จึงต้องมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าข่าวเกรดธรรมดา

มีผู้คน ห้างร้าน สินค้า จำนวนมหาศาลที่อยากเป็น "ข่าวเด่น"และพยายามทำทุกทางให้ได้เป็นข่าว (เช่น จ่ายเงิน) แต่ในแง่ของสื่อแล้ว ทุกข่าวไม่สามารถเป็นข่าวเด่นได้ (เพราะจะกลายเป็นว่าความสำคัญเท่ากันหมด) ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นข่าวประชาสัมพันธ์ของห้างร้านต่างๆ ต้องหลบไปอยู่ในหน้าก็อซซิปหรือหน้ารวมข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็คือได้แค่ "เป็นข่าว"แต่ "ไม่เด่น"นั่นเอง (กรณีของ Blognone คือ Press Release)

แน่นอนว่าในโลกออนไลน์ที่ปริมาณของ "พื้นที่"มีเยอะขึ้นมาก (เช่น เรามีบล็อกได้ไม่จำกัด ในขณะที่มีหน้ากระดาษในนิตยสารจำกัด หรือมีคลิปบนเว็บได้ไม่จำกัด เทียบกับเวลาบนทีวีที่มีจำกัด) การคัดเลือก "ข่าวทั่วไป"บนโลกออนไลน์จึงไม่เข้มงวดเท่ากับโลกออฟไลน์

แต่ "พื้นที่เด่น"มีจำกัดเสมอไม่ว่ากรณีใดๆ (ขนาดกูเกิลเอง พื้นที่ที่มีมูลค่าสูงยังมีแค่ผลการค้นหา 5 อันดับแรกสุด ไม่เยอะไปกว่านี้) ดังนั้นเราจึงต้องมีกระบวนการบางอย่างมาคัดกรองนั่นเอง ซึ่งกระบวนการจะเป็นอะไรก็ขึ้นกับนโยบายของพื้นที่นั้นๆ แต่โดยรวมก็ใช้หลักการเดียวกันคือ relevancy หรือความเกี่ยวโยงกับผู้อ่านกลุ่มเป้าหมาย

ไหว้พระสามวัด

$
0
0

วันเสาร์ที่ผ่านมาออกไป "ไหว้พระ"ตามสมัยนิยมครับ คนอื่นเขาไหว้กัน 9 วัด เราเอาแค่ 3 วัดพอ เพราะว่าแต่ละวัดต้องเดินกันเยอะเลย ส่วนหลักเกณฑ์การเลือกวัดก็ใช้ "พลัง"แห่งศรัทธานั่นเอง หึหึ

ถ่ายรูปมาด้วยแต่ขี้เกียจไปหากล้อง (การเอารูปลงคอมด้วย SD นี่มัน so 2000s) เอาเฉพาะรูปจาก Instagram ละกันนะ

วัดเบญจมบพิตร

วัดแรกที่ไปถึงแต่เช้า ค่าจอดรถ 20 บาท ค่าเข้าฟรีถ้าเป็นคนไทย มีคนไทยมาออกทริปถ่ายรูปกันเยอะพอสมควร วัดนี้จุดเด่นคือ "วิหารหินอ่อนอิตาลี"ที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น แต่ก็ยังมีสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ อยู่ด้านในของวัดอีกหลายตึก

Marble Temple

กล้องมือถือมีมุมมองค่อนข้างจำกัด ถ่ายมาได้แต่หลังคาโบสถ์ โชคดีมากมีนกบินผ่านมาพอดีเลยมี story

Marble Temple

รูปปั้นหลวงจีนอยู่ข้างสะพานเล็กๆ ข้ามคลองภายในวัด ด้านหลังเป็นวิหารหินอ่อนและทริปคนเล่นกล้อง

วัดอินทรวิหาร

อยู่ตรงแยกบางขุนพรหม ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ตีนสะพานพระราม 8 ถ้ามาจากฝั่งสามเสนก็เลี้ยวซ้ายตรงแยกบางขุนพรหม เลยมาอีกนิดนึงวัดอยู่ทางซ้าย

ที่จอดรถมีในวัดนิดหน่อย ค่าจอดชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงต่อไป 20 บาท

วัดนี้มีจุดเด่นคือ "พระพุทธรูปยืนทรงบาท"หรือ "หลวงพ่อโต"ขนาดใหญ่ เริ่มสร้างโดยหลวงพ่อโตวัดระฆัง เสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7

วัดอินทรวิหาร

วัดโพธิ์

หรือวัดพระเชตุพน อยู่ข้างวัดพระแก้วเลย การจอดรถสามารถจอดได้ที่ตรอกเล็กๆ ด้านหลังวัด ซึ่งถ้าไปสายหน่อยโอกาสได้ที่จอดมีน้อยมากๆ เพราะทัวริสต์มากันมืดฟ้ามัวดิน นั่งแท็กซี่มาสะดวกที่สุด (ผมใช้วิธีจอดรถทิ้งไว้ที่วัดอินทรวิหาร แล้วนั่งแท็กซี่ไปวัดโพธิ์ เสียประมาณ 60-70 บาท)

ไฮไลท์ในวัดโพธิ์มีหลายอย่าง ในวัดเองถึงกับทำรายการ "9 สิ่งมหัศจรรย์ของวัดโพธิ์"แต่เนื่องจากคนเยอะและร้อนแล้ว เลยถ่ายมาไม่หมด

Wat Pho

อย่างแรกเข้าประตูวัดฝั่งวัดพระแก้วมา เป็นวิหารพระนอนทองอร่ามสวยงาม เต็มไปด้วยทัวริสต์ที่ตื่นเต้นกับการทำบุญแบบหยอดเหรียญลงบาตรพระ (มันก็เท่ดีจริงๆ นะ)

Wat Pho

ตุ๊กตาจีนหรืออับเฉา มีจำนวนเยอะมากภายในวัด สภาพสมบูรณ์มาก

Wat Pho

สิงห์ (ใช่หรือเปล่าหว่า) หน้าวิหาร

Wat Pho

พระประธานในโบสถ์ กล้องมือถือควบคุมแสงยากเลยเบลอๆ เล็กน้อย

ป.ล.1 จริงๆ ยังมีเจดีย์ 4 รัชกาล แต่ไม่ได้ถ่ายรูปมาด้วยครับ

ป.ล.2 สิ่งเชิดหน้าชูตาอีกอย่างของวัดโพธิ์ตอนนี้คือ "โอบามา"มีรูปแปะไว้เต็มเลยตรงทางเข้าวัด (มีลายเซ็นโอบามาเซ็นให้ทางวัดด้วยนะ) ใครผ่านไปก็เข้าไปดูกันได้ คนไทยเข้าฟรี

Viewing all 557 articles
Browse latest View live


Latest Images